ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
หีนายาวัตตนปัญหา ที่ ๑๐
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชามหากษัตริย์ขัตติยาธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสถาม อรรถปัญหาอีกว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชาญาณ อิทํ สาสนํ อันว่าพระ ศาสนาของสมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ของเรานี้ขาวบริสุทธิ์ประเสริฐเลิศล้น ซึ่งจะ บวชปุถุชนอันชัฏด้วยกิเลสตัณหาเข้าไว้ในบวรพุทธศาสนานี้ เห็นไม่ดีไม่สมควรนักหนาทีเดียว ถ้าว่าได้ธรรมวิเศษถึงจะไม่สำเร็จพระอรหัตจะได้แต่มรรคผลอันใดอันหนึ่ง คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลเป็นต้นตามแต่จะได้ บวชเข้าไปในบวรพุทธศาสนาอุตส่าห์เจริญไป ก็จะได้พระอรหัต ตัดกิเลสยั่งยืนไป จึงจะเห็นสมควรในพระศาสนา ถ้าคฤหัสถ์ปุถุชนแท้ แต่มรรคอันใดอันหนึ่ง อย่างต่ำเพียงชั้นพระโสดาก็ไม่ได้ ครั้นบวชเข้าในพระบวรพุทธศาสนามักกระทำไม่ต้องด้วยกิจ ไม่สำเร็จด้วยธรรมวิเศษสิ่งหนึ่งสิ่งใด อยู่ไม่ได้ในพระศาสนา สึกหาจากพระศาสนา มหาชน ชวนกันนินทาว่า ผู้นั้นแน่บวชเข้าในพระบวรพุทธศาสนาของสมเด็จพระสมณโคดมบรมครู เจ้าของเราก็เปล่าไป มรรคผลสิ่งใดก็ไม่ได้ กลับสึกออกมา คำครหามีฉะนี้ เหตุดังนั้นโยมจึงว่า คฤหัสถ์ปุถุชนเช่นนั้นจะพากันบรรพชาบวชเข้าในพระพุทธศาสนาไม่ได้ ด้วยพระศาสนานี้ บริสุทธิ์ประเสริฐดี จะกลับเป็นที่นินทา โยมเห็นว่าคฤหัสถ์ปุถุชนแท้ไม่ควรแก่พระพุทธศาสนา บวชเข้าจะพาให้เขาติเตียน              พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ตฬากํ ภเวยฺย เปรียบด้วยสระอันลึกซึ้งเต็มด้วยอุทกังอันใสและเย็น คือน้ำอาบน้ำสรง ยังมี ชายหนึ่งเดินตรงเข้าไปที่สระน้ำ ชายนั้นมีกายอันติดต้องไปด้วยธุลี ควรที่ชายนั้นจะไปสู่บ่อน้ำ ชำระเสียซึ่งมลทินธุลีให้สำราญ บุรุษชายนั้นเกียจคร้านไม่อาบน้ำชำระกายเดินกรายหนีเลี่ยง เลยสระน้ำมา มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ประชาชนทั้งหลายได้ทัศนาการ เห็นชายเกียจคร้านไม่อาบน้ำนั้น ก็ชวนกันติเตียนชวนกันครหาชวนกันนินทาว่า บุรุษชายคนนี้ มีกายติดไปด้วยมลทินน่าเกลียด เดินเฉียดมากับสระน้ำ น่าจะชำระเสียให้หมดมลทิน ชำระ เสียไม่ได้ โสมมนี้กระไรนักหนา คนทั้งหลายชวนกันว่าอย่างนี้ เขาจะนินทาสระว่า สระนี้ กระไรใจชั่ว คนตัวเปื้อนมลทินเดินเฉียดมา ชั้นจะเรียกให้อาบน้ำชำระมลทินเสียให้หมดสิ้นก็ไม่มี ประชาชนเขาจะนินทาฉะนี้หรือประการใด นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชาญาณ การอะไรเขาจะนินทาสระ สระมีจิตมีวิญญาณเมื่อไรเล่า ฝูงคนเขาก็ นินทาว่าชายผู้นั้นเป็นคนโสมมไม่ดีกระนั้นซิ พระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ข้อความประการนี้ ยถา แลมีครุวนาฉันใด พระพุทศาสนาของสมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดา บริสุทธิ์หามลทินมิได ผ่องใสขาวสะอาด กุลบุตรบวชในบวรพุทธศาสนาพระบรมโลกนาถ ศาสดาจารย์แล้ว กุลบุตรนั้นเกียจคร้านมีแต่กินกับนอน บาตรและจีวรก็ไม่ครอง มีแต่จะมอง สาวๆ ไม่เล่าเรียนคันถธุระวิปัสสนาธุระ ไม่สมาทานธุดงค์และปฏิบัติวินัยน้อยใหญ่ ตั้งใจแต่ จะห้อมยับซึ่งทุนทรัพย์อันเกิดมาแต่ศรัทธาไทย เอาไปให้คฤหัสถ์บุตรภรรยาญาติชู้สาวสู่กันกิน กระทำแต่มลทินด่างพร้อยลอยตัวอยู่ในพระพุทธศาสนา ถือใจว่าหากินง่าย ครั้นนานเล่าหมาย จะมีบุตรภรรยา พาเอาทรัพย์ศรัทธาไทย สึกหาด้วยโลภเจตนา ถือว่าหาบาปไม่ ธรรม- วิเศษสิ่งไรก็ไม่ได้ ทีนั้นก็สึกออกมาแต่ตัว เริงร่าเดินกราบอยู่กลางถนน ฝูงคนเขาก็นินทาว่า ชั่วช้า บวชเข้าในพระศาสนาหามีวัตรปฏิบัติเล่าเรียนไม่ กระทำชั่วอย่างไรเขาก็นินทาอย่างนั้น ชวนกันว่าต่างๆ ไป ก็การอะไรเขาจะนินทาพระพุทธศาสนา เอวเมว เมาะ ตถา มีครุวนา ดุจชายมีกายอันแปดเปื้อนด้วยมลทินธุลี มาถึงสระศรีแสนสบายไม่ชำระกายให้หมดมลทินนั้น อนึ่งเล่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจแพทย์ผู้หนึ่งเป็นหมอยารู้สึก รู้ซึ้งในคัมภีร์โรคนิทาน ประกอบการกระทำยาไว้รักษา ยานั้นก็ดีดุจทิพย์โอสถ ถ้าแพทย์นั้น ได้จดจำรักษาโรคเข้าแล้วโรคนั้นก็อันตรธานหาย ยังมีบุรุษชายผู้หนึ่งเป็นพยาธิทั้งกาย บุรุษ ผู้นั้นอยู่ใกล้แพทย์คนนั้น แต่มิได้หาให้แพทย์นั้นรักษา เขาจะนินทาว่าบุรุษชายกายเป็นพยาธินี้ อยู่ใกล้หมอ แต่ว่าขี้เกียจกินยา ไม่ให้หมอรักษา น่าเกลียดนี้กระไร หรือว่าเขาจะนินทาว่าหมอ และยาของหมอนั้นไม่ดีเล่า              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า แต่พระนาคเสนผู้ปรีชาญาณ ก็การอะไรเขาจะติเตียนหมอนั้น ฝูงชนเขาก็ชวนกันครหานินทา ชายกายเป็นพยาธินั้น              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจา มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ก็การ อะไรเล่าคนทั้งหลายเขาจะนินทาพระศาสนา เขาสรรเสริญเสียอีกว่าพระบวรพุทธศาสนานี้ เป็นที่สบาย เขาซ้ำจะนินทาชายที่สึกหานั้นว่า อนิจจา ชายคนนี้หนอบวชเข้าในพระพุทธศาสนา หากังวลธุระมิได้ ยังว่าไม่สบายทุรนทุราย ไม่ได้วิชาสำหรับกาย โง่เง่าบวชกินข้าวเล่าเท่านี้ สึกออกมานี้จะหาห่วงใยใส่ตัว มิได้ธรรมวิเศษที่จะกำจัดโรคคือกิเลสด้วย เอวเมว เมว ตถา มีครุวนาดุจบุรุษชายกายเป็นพยาธิสันนิวาสใกล้หมอ มิได้ให้หมอรักษาฉะนั้น มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ปานประหนึ่งว่าบุรุษชายผู้หนึ่งอยากข้าวเต็มประดา บุรุษ ชายผู้นั้นจึงสัญจรเที่ยวแสวงหาอาหาร คมนาการไปสู่สำนักท่านผู้ดีอันมีข้าวปลาอาหาร ท่าน ได้ทัศนาการเห็นบุรุษชายนั้นหิวโหยมา จึงให้ยกสำหรับกับข้าวมาแล้วเรียกหาให้ชายนั้นกินอาหาร ชายนั้นไม่รับประทาน นี่แหละเขาจะนินทาผู้ที่แต่งสำรับกับข้าว หรือจะนินทาบุรุษนั้นเล่า              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เขาจะนินทาท่านผู้ให้อาหารทำไม่เล่า เขาก็นินทาว่าบุรุษชายนั้นสันดานเย่อหยิ่ง หารับประทาน ข้าวที่ท่านหาให้กินไม่              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ข้อความเปรียบประการนี้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระศาสนาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ศาสดาจารย์ เปรียบดุจโภชนาหารเครื่องบริโภค กล่าวคือพระกายคตาสติอันมีรสโอชา อันว่า พระกายคตาสติ คือธรรมสิ่งอันใด ได้แก่พระทวัตติงสาการ มีเกสาเป็นต้นตลอดจนมัตถลุงคังนั้น ท่านจัดเป็นอาหาร ๓๒ ร้องเรียกว่าพระกายคตาสติ โยคาวจรภิกษุจำเริญไป อาจได้พระจตุตถฌาน สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ มีพระพุทธฎีกาโปรดประทานไว้ว่า บุคคลผู้ใดมีอุตสาหะ จำเริญไปในพระกายคตาสติเป็นอารมณ์ได้ชื่อว่าดื่มกินซึ่งธารารสแห่งน้ำอมฤตอันมีในห้องสวรรค์ อนึ่ง กำลังพระกายคตาสติที่ภาวนา ถึงแม้มาตรว่าบุคคลที่ภาวนาพระกายคตาสตินั้น จะถึงแก่ กรรมกระทำกาลกิริยาตาย ก็มิได้ไปบังเกิดในจตุราบายทั้ง ๔ ที่จะไปนรก ไปเป็นเปรต ไปเป็น อสุรกาย ไปเป็นเดียรัจฉานทั้งหลาย เป็นว่าหามิได้ ผู้นั้นจะไปสู่คติอันดี นี่แหละพระกาย- คตาสติ นี้มีรสโอชา กุลบุตรบวชเข้าในพระพุทธศาสนา หาเป็นอันที่จะจำเริญซึ่งพระ กายคตาสติให้เป็นกันกิเลสตัณหาไม่ มิได้จำเริญเลย อยู่เฉยๆ ก็สึกออกมา บรรพชาเสียเปล่าๆ ไม่เข้าการพากิเลสตัณหาเข้าบ้าน เหมือนชายเมื่อท่านให้อาหารไม่รับประทาน พาท้องหิวกลับ มาหาอาหารรับประทานที่บ้านตน กว่าจะหาอาหารเสร็จก็แทบไม่ได้สมปฤดีหัวแทบตาย อนึ่ง มี อธิบายว่าพระกายคตาสตินี้ เป็นที่กำจัดภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ผู้ใดภาวนา เป็นนิตย์คิดถึงตัวไปก็จะมิได้เกิดในภพทั้ง ๓ อาจข้ามสงสารสาครคือกิเลสเข้าสู่นิเวศน์นิพพาน กายคตาสตินี้ สมเด็จพระศาสดาจารย์ทรงประทานไว้ในบวรพุทธศาสนามีรสโอชาถึงเพียงนี้ กุลบุตรมีตัณหาราคะบวชในพระบวรพุทธศาสนา ชอบแต่วาจะให้เบาจากกิเลสตัณหาบ่ายหน้า ไปสู่พระนิพพาน ก็เมื่อไพล่ไปบวชเอาลาภสักการะ ได้มากหลายแล้วบ่ายหน้าเข้าบ้าน สึกออก เลี้ยงบุตรภรรยา เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาย่อมจะนินทาผู้นั้น เขาจะติเตียนพระศาสนาต้องกาตอะไร นะบพิตรพระราชสมภาร              ประการหนึ่ง การบรรพชาเป็นการขัดเกลากิเลสให้หมดจดปราศจากสันดาน ผิแล พระตถาคตจะทรงพระกรุณาโปรดให้แต่คฤหัสถ์ อันพระองค์ทรงแนะนำให้ตั้งอยู่ในผลอันหนึ่ง แล้วได้บวชในพระพุทธศาสนาจำพวกเดียวเท่านั้นไซร้ กิจด้วยบรรพชาก็ย่อมจะไม่มีแก่เขา เปรียบเหมือนชายผู้มีวาสนาผู้หนึ่งใช้ให้บริษัทบ่าวของอาตมาจะนับจะคณนาได้มากกว่าร้อยมาขุด เป็นสระใหญ่ ครั้นขุดได้สำเร็จดังปรารถนาแล้วสั่งบริษัทบ่าวของอาตมาว่า สูชาวเจ้าที่มีกาย เศร้าหมองขะมุกขะมอมอย่าลงสู่สระนี้ ชาวเจ้าที่อาบน้ำชำระเหงื่อไคลทำตนให้บริสุทธิ์แล้ว จงลงสู่สระนี้ เมื่อบุรุษผู้มีวาสนากล่าวดังนี้ กิจด้วยสระน้ำจะพึงมีแก่บุรุษผู้ชำระเหงื่อไคลทำตน ให้บริสุทธิ์แล้วนั้นหรือประการใด              พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า น หิ ภนฺเต ไม่เช่นนั้นพระ ผู้เป็นเจ้า ชนทั้งหลายพึงข้าไปสู่สระนั้นเพื่อประโยชน์แต่กรรมใด กรรมอันนั้น บุคคลผู้ไม่มี เหงื่อไคลกายบริสุทธิ์กระทำเสร็จแล้ว เขาจะต้องการอะไรต้องสระนั้นล่า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า ข้อนี้ฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราช- สมภาร ผิแลพระตถาคตจะทรงพระกรุณาโปรดให้แต่คฤหัสถ์ผู้อันพระองค์ทรงแนะนำให้อยู่ใน ผลอันหนึ่ง ได้บวชในพระพุทธศาสนาจำพวกเดียวเท่านั้นไซร้ กิจที่จะพึงกระทำในผลนั้นได้ ชื่อว่า อันคนเหล่านั้นกระทำแล้ว เขาจะต้องการอะไรด้วยบรรพชาเล่า ประการหนึ่ง เปรียบ เหมือนแพทย์ผู้หนึ่งเข้าไปหาพระฤษีแล้วเรียนมนต์เสกยา เรียนเอาตำรายาพระฤษี พระฤษี ประสิทธิ์ให้ แล้วแพทย์นั้นก็ประกอบยาตามโรคนิทานที่ได้เรียนมา ครั้นประกอบยาตำราโรค นิทานสำเร็จแล้ว ก็กลับมาป่าวร้องว่า ผู้ใดเป็นโรคจงมาหาเราเจียดเอายาไปกิน เมื่อแพทย์ ป่าวร้องฉะนี้คนที่เป็นพยาธิจะไปหาหมอหรือหรือว่าคนที่ไม่เป็นพยาธิจะไปหาหมอด้วยประการใด              พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า หมอนั้นป่าวร้องแต่ที่คนเป็นโรค คนที่เป็นโรคจึงไปหา คนที่ไม่เป็นโรคนั้นจะไปหาต้องการอะไร หมอเขาไม่ได้ป่าวร้องนี่ พระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จ พระบรมโลกนาถศาสดาจารย์จะไม่ให้คฤหัสถ์ที่ไม่ได้มรรคผลบวชหามิได้ พระองค์โปรดให้บวช สิ้นด้วยกัน มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีบ่าวไพร่ มาก ให้หุงข้าวแล้วให้คดข้าวใส่ชามตั้งไว้มากกว่าร้อย ตั้งเรียงไว้แล้วร้องเรียกไปว่า ดูรานะสูชาว เจ้าใครอยากข้าวมาเอาข้าวไปกินตามปรารถนา คนทั้งหลายที่อยากข้าวนั้นก็พากันรับข้าวไปกิน หรือ หรือว่าคนทั้งหลายที่ไม่อยากนั้นจะมารับเอาไปกินด้วยประการใด นะบพิตรพระราชสมภาร              พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จะ มารับข้าวแต่ที่คนอยาก ที่เขาไม่อยากจะมาต้องการอะไร              พระนาคเสนมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ผิว่า สมเด็จพระบรมโลกุตตมาจารย์เจ้าจะทรงพระกรุณาโปรดให้คฤหัสถ์ผู้อันพระองค์ทรง แนะนำ ให้ตั้งอยู่ในมรรคแล้ว ได้บวชในพระพุทธศาสนาจำพวกเดียวเท่านั้น กิจที่จะพึงกระ ทำในผลฉะนี้ ได้ชื่อว่าอันเขากระทำเสร็จแล้ว เขาจะต้องการอะไรด้วยบรรพชาเล่า              อปิจ ประการหนึ่งโสต คฤหัสถ์ที่เขาโปรดบวชเป็นภิกษุภาวะแล้วให้ร้อนรนไป บวชอยู่มิได้ ก็สึกไปจากพระศาสนานั้น ปญฺจ อตุลิยคุเณ ทสฺเสนฺติ จะสำแดงซึ่งอตุลิยคุณ ๕ ประการ ขอถวายพระพร กตเม ปญฺจ อตุลิยคุณ ๕ ประการนั้นเป็นดังฤๅเล่า ขอถวายพระ พรบพิตรพระราชสมภารเจ้า อันว่าอตุลิยคุณ ๕ ประการนั้น ภูมิมหนฺตภาวํ คือบรรพชา นี้เป็นภูมิใหญ่ กุลบุตรสร้างกุศลไว้น้อยบวชมิได้ประการ ๑ บรรพชานี้บอกซึ่งภาวะบริสุทธิ์ ประการ ๑ บรรพชานี้บอกภาวะมิได้เสพด้วยคนใจบาปประการ ๑ บรรพชานี้บอกภาวะจะให้ ได้ธรรมวิเศษ อันได้โดยยกประการ ๑ บรรพชานี้บอกภาวะให้รักษาสังวรศีลประการ ๑ สิริ เป็นอตุลิยคุณ ๕ ประการเท่านี้              ที่ว่าบรรพชาสำแดงซึ่งภาวะเป็นภูมิใหญ่ ภูมิสูง ภูมิประเสริฐนั้นอย่างไรเล่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารเจ้า เปรียบด้วยบุรุษเข็ญใจ อธโน หาทรัพย์มิได้ หีน- ชจฺโจ ภูมิที่เกิดต่ำช้า พุทฺธิปริหีโน ทั้งปัญญาโฉดเขลาไม่มีฉลาด ถึงแม้มาตรว่าจะได้ครองราช สมบัติเป็นบรมขัตติยาธิบดี ก็มิได้สถิตในราชสมบัติ คงจะฉิบหายเป็นอันตรายจากราช- สมบัติเป็นแม่นมั่น เหตุว่าราชสมบัตินั้นควรแก่ท่านที่มีอิสริยยศสูงสกุลบุญมาก ประกอบ ด้วยสติปัญญา ยถา มีครุวนาฉันใด ฆราวาสหาบุญหามิได้ สร้างสมไว้น้อยแต่หลังมา ครั้น บรรพชาเข้าในบวรพุทธศาสนาก็ถึงซึ่งภาวะร้อนรนเกิดวิกลต่างๆ ไป อยู่มิได้ ต้องสึกออกมา เหตุว่าบรรพชานี้เป็นภูมิประเสริฐ ไม่คู่ควรด้วยคนบุญน้อย อุปไมยดุจราชสมบัติอันเป็น อิสริยยศอันหาคู่ควรแก่บุรุษอันเป็นหินชาติไร้ทรัพย์อันเป็นปัญญาฉะนั้นไม่ วิสัชนาในบทที่ ว่าบรรพชาเป็นภูมิใหญ่ไม่ควรแก่คนใจบาป เป็นอตุลิยคุณ คำรบ ๑ ยุติกาลลงแต่เพียงนี้              ต่อนี้จะแสดงในอตุลิยคุณ คำรบ ๒ ที่ว่า บรรพชาสำแดงซึ่งภาวะบริสุทธิ์นั้นเป็นอย่างไร มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบประดุจน้ำอันเคลื่อนคลาดตกลงในใบบัว ไม่สามารถที่จะแทรกซึมเข้าไปในบัวนั้นได้ มีแต่จะกลิ้งกลับตกไปเท่านั้น เหตุไร เหตุว่าใบ บัวนั้นบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ยถา มีอุปมาฉันใด มหาราช ขอถวายพระพร คนที่โอ้อวด คดโกง ไม่ซื่อตรง มีความเห็นวิปลาส เมื่อบรรพชาเข้าในชินศาสนาแล้ว ประพฤติตนให้ เป็นคนมัวหมอง ไม่สามารถจะทรงอุดมเพศไว้ได้ เพราะพระศาสนาบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ไม่ช้านักก็ต้องสึกออกไป เอวเมว โข ข้อนี้มีอุปไมยดุจน้ำในใบบัวฉะนั้น แสดงมาในอตุลิยคุณ คำรบ ๒ ยุติกาลจบลงเพียงนี้              ต่อนี้จะแสดงในอตุลิยคุณ คำรบ ๓ ที่วา บรรพชาไม่ควรที่คนใจบาปจะสังวาสสถิตนั้น เปรียบดุจมหาสมุทรอันใหญ่บริสุทธิ์หามลทินมิได้ มาตรว่าซากอสุภสัตว์ใหญ่น้อยจะเลื่อนลอย ไหลตามกระแสชลาลัย ลอยไปสู่พระมหาสมุทรสาคร คลื่นระลอกก็กระฉ่องซัดพัดอสุภนั้นขึ้น ค้างเสียบนฝั่งสมุทร มิให้ซากอสุภลงสะสมอยู่ได้ เหตุดังนี้จึงว่ามหาสมุทรอันใหญ่ชำระมหาภูตรูป ให้พ้นไป กระทำอุทกังให้บริสุทธิ์ผ่องใส ยถา ฉันใด คนทั้งหลายที่ใจบาปหยาบช้าทารุณ ทุจริตสันดาน และเป็นคนเกียจคร้านอนธการมืดมน คนหาสติปัญญามิได้ มิอาจบวชเข้าอยู่ใน พระบวรพุทธศาสนาได้ เหตุว่าบรรพชาเป็นเหตุจะให้บริสุทธิ์แห่งมหาภูตรูป เราท่านให้บริสุทธิ์ จากอาสวะกิเลส เหตุฉะนี้จึงว่าบรรพชาไม่สมควรที่คนใจบาปจะส้องเสพ แสดงมาในอตุลิยคุณ คำรบ ๓ ได้ใจความเท่านี้              ต่อนี้จะแสดงอตุลิยคุณคำรบ ๔ ที่ว่าบรรพชาสำแดงซึ่งภาวะรู้ธรรมวิเศษได้ยากนั้น อย่างไร มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบดุจบุรุษอันไม่ได้ศึกษา วิชาการ ไม่ได้เรียนศิลปศาสตร์ต่างๆ เป็นต้นว่าวาลัคคเวท คือเอาธนูยิงปลายขนทรายจามรี มติวิปฺปหีโน ปราศจากแบบแยบคาย ครูอันแนะที่ตั้งที่ยิงธนูบอกลัทธิสำคัญ มิได้เอาปัญญา กำหนดไว้ให้มั่น บุรุษชายผู้นั้นจึงไปยิงขนทรายนั้น วิคฺคหนฺติ ยิงก็พลาดเพลี่ยงไปไม่ถูกและละ เสีย เหตุว่าขนทรายจามรีนั้น สณฺหํ สุขุมํ ละเอียดสุขุมนัก จะรู้จักลัทธิยิงเป็นอันยากฉันใด คนบาจำพวกที่มีอกุศลหนหลังกระทำมา ทุปฺปญฺญา มีปัญญาชั่วโฉดเขลานักหนา ชฬา เป็นคน เงอะ เอฬมูคมุฬฺหา พูดจาน้ำเขฬะไหลฟูมปาก เป็นคนมักหลงมักลืมมิอาจกระทำสิ่งใดได้ ชิน- สาสเน ปพฺพชฺชนฺติ มาบวชเข้าในพระบวรพุทธศาสนาของสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธ- สัพพัญญู คนพวกนั้นมิอาจตรัสรู้จตุสัจจปฏิเวธ คือพระอริยสัจ ๔ ประการ อันมีลักษณะ สุขุมนัก ละเอียดนัก มิอาจเห็น มิอาจรู้ ด้วยปราศจากปัญญาที่จะโยนิโสมนสิการเข้าใจได้ ทีนั้นก็ให้เกียจให้คร้านร้อนรำคาญ อยู่มิได้ ก็สึกหาลาเพศบรรพชาออกมา เอวเมว เมาะ ตถา เหมือนคนไม่มีวิจารณปัญญา ไม่ศึกษาตามลัทธิครู ยิงธนูไม่ถูกขนทราบก็ละเสีย เหตุว่าพระ อริยสัจทั้ง ๔ สุขุมละเอียด กุลบุตรเกียจคร้านมิอานรู้ฉะนั้น แสดงมาในอตุลิยคุณ คำรบ ๔ จบลงเพียงเท่านี้              ต่อนี้จะแสดงอตุลิยคุณ ที่ ๕ ข้อซึ่งบรรพชาบอกภาวะให้รักษาสังวรศีลนั้นด้วยอย่างไร มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบดังบุรุษคนใดคนหนึ่งซึ่งเข้าไปสู่สมรภูมิ กลัวตัวสั่น ไม่สามารถจะตั้งมั่นอยู่ได้ ก็ปลาสนาการหนีไป เหตุไร เหตุว่ากลัวข้าศึกอันมีกำลัง มาก ยถา มีอุปมาฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ชนเหล่าหนึ่งเหล่าใด ใจบาปหยาบช้า อสํวุตา ไม่มีความสำรวม อหิริกา ไม่มีความละอาย อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เป็นคนมีใจกลับกลอก ครั้นมาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ชนเหล่านั้นไม่สามารถ รักษาสิก- ขาบทให้เป็นอันบริสุทธิ์ได้ โอสกฺกิตฺวา ให้ย่นย่อท้อใจ ไม่นานเท่าไรก็สึกออกมา เหตุไร เหตุว่า ชินศาสนามีกิจที่จะต้องรักษามากอย่าง เอวเมว มีอุปไมยดุจบุรุษผู้กลัวต่อข้าศึกซึ่งมีกำลังมาก ฉะนั้น แสดงมาในอตุลิยคุณ คำรบ ๕ จบลงแต่เพียงนี้              มหาราช ขอถวายพระพรบรมบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่ง เปรียบเหมือน พุ่มชาตบุษย์ซึ่งนับว่าเป็นไม้อันสูงสุดกว่าไม้ทั้งปวงบรรดาที่เกิดบนบกด้วยกัน เมื่อมีหนอน มารังแกเจาะดอกเสีย ดอกนั้นๆ ยังมิทันแก่ก็พากันแกนหล่นร่วงเสียในระหว่างนั้น ชนทั้ง หลายจะพากันติเตียนพุ่มชาตบุษย์ เพราะดอกนั้นๆ หล่นร่วงหามิได้ ดอกใดยังตั้งอยู่ในพุ่มนั้น ดอกนั้นๆ ก็ย่อมมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไปสู่ทิศน้อยและทิศใหญ่ ยถา มีครุวนาฉันใด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ชนเหล่าหนึ่งเหล่าใดบวชในชินศาสนาแล้ว เวียนมาเพื่อ ความเป็นคนเลว ชนเหล่านั้นก็เป็นคนดุจดอกชาตบุษย์ที่หนอนเจาะ หมดสีหมดกลิ่น ไม่ได้รับ ผลอันไพบูลย์ในชินศาสนา ชนทั้งหลายจะพากันค่อนว่าติเตียนนินทานพระชินศาสนาหามิได้ ภิกษุเหล่าใดตั้งอยู่ในชินศาสนาได้ ภิกษุนั้นย่อมจะมีกลิ่นคือศีลหอมอบตลบไปสู่มนุษยโลกและ เทวโลก เอวเมว มีอุปไมยดังดอกชาตบุษย์อันมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไปฉันนั้น              มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่ง เปรียบดุจข้าวสาลีชาติ กรุมพกะเกิดขึ้นในระหว่างข้าวสาลีชาติโลหิตกะซึ่งงอกงามเจริญแน่นหนาหาระหว่างมิได้ แล้ว พินาศฉิบหายไปในระหว่างนั้น ชนทั้งหลายจะพากันติเตียนข้าวโลหิตกะสาลี เพราะเหตุที่กรุมพกะ สาลีเกิดขึ้นแล้วพินาศฉิบหายไปหามิได้ กลับจะเป็นพระกระยาหารสำหรับทรงเสวยแห่งพระ ราชาเสียอีก ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ภิกษุที่บวชในชินศาสนาแล้ว ยังมิทันได้รับผลอันไพบูลย์ในชิน- ศาสนา สึกออกมาเสียในระหว่าง ก็เป็นดุจกรุมพกะสาลีเกิดขึ้นในระหว่างโลหิตกะสาลีแล้วตาย ไปในระหว่างโลหิตกะสาลีฉะนั้น ชนทั้งหลายเขาไม่ติเตียนชินศาสนา เพราะเหตุที่ชนเหล่านั้น บวชแล้วอยู่ไม่ได้ สึกออกมา ภิกษุเหล่าใดตั้งอยู่ในชินศาสนาได้ ภิกษุเหล่านั้นย่อมสมควร แก่พระอรหัตผล              ประการหนึ่ง เปรียบเหมือนแก้วมณีอันให้ความประสงค์สำเร็จทุกอย่าง แม้จะเป็น ตำหนิสักแห่งหนึ่ง ชนทั้งหลายก็ไม่ติแก้วมณีเพราะเหตุที่เป็นตำหนินั้น ส่วนใดบริสุทธิ์ ส่วนนั้น ย่อมนำความชื่นบานให้เกิดแก่มหาชน มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ผู้ที่ บวชในชินศาสนาแล้วสึกออกไป ก็เท่ากับเป็นกระเพาะในพระศาสนา ชนทั้งหลายจะติเตียน พระศาสนาเพราะผู้ที่บวชแล้วสึกหามิได้ ภิกษุใดตั้งอยู่ในชินศาสนาได้ ภิกษุนั้นย่อมกระทำ ความชื่นบานให้เกิดแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนจันทนชาติ จันทน์แดงแท้ แม้จะมีส่วนเสียกลิ่นน้อยสักแห่งหนึ่ง ชนทั้งหลายเขาก็ไม่ติจันทร์แดง ส่วนใดไม่ เสีย ส่วนนั้นก็ย่อมหอมฟุ้งขจรไปโดยรอบ ยถา มีครุวนาฉันใด มหาราช ขอถวายพระ พรบพิตรพระราชสมภาร ชนเหล่าใดบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว อยู่ไม่ได้ สึกออกมา ชน เหล่านั้นเขาก็ย่อมตำหนิติฉินผู้นั้น เขาจะพากันติฉินพระศาสนาหามิได้ผู้ใดดำรงอยู่ในชินศาสนาได้ ผู้นั้นย่อมมีกลิ่นหอมเฟื่องฟุ้งขจรไปสู่มนุษย์โลกกับทั้งเทวโลก เอวเมว มีอุปไมยดังจันทน์แดง แท้ฉะนั้น ซึ่งกระแสพระดำริจะให้บวชแต่คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล ปุถุชนจะทรงห้าม จะเป็น การถูกต้องด้วยพระพุทธฎีกานั้นหามิได้ ขอบพิตรจงเข้าพระทัยด้วยประการฉะนี้              ราชา สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีได้ทรงฟังก็มีน้ำพระทัยชื่นบานหรรษา ทรง พระโสมนัสศรัทธาซึ่งถ้อยคำของพระนาคเสน แล้วตรัสสรรเสริญโดยนัยดังวิสัชนามาข้างต้น ทุกประการ
หีนายาวัตตนปัญหา คำรบ ๑๐ จบเพียงนี้
จบฉัฏฐวรรค

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๓๖๘ - ๓๗๕. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=154              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_154

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]