ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
ทุกกรการิกปัญหา ที่ ๖
             ราชา สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีวาจาตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา สพฺเพ โพธิสตฺตา สมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ กระทำ ซึ่งทุกรกิริยาเหมือนพระโคดมโพธิสัตว์เจ้าหรือประการใด              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร พระ โพธิสัตว์เข้าทั้งหลายอื่นจะกระทำทุกรกิริยาเหมือนพระโคดมบรมโพธิสัตว์เจ้านั้นหามิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา ถ้าว่าฉะนั้นจะควรที่ไหน เหตุไรจึงไม่เหมือนกัน ตกว่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย นั้นเป็นเวมัติต่างกันหรือประการใด              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ตกว่าพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายนั้นเป็นเวมัติต่างกัน อตูหิ ฐาเนหิ ด้วยฐาน ๔ ประการ กุลเว- มตฺตตา คือต่างด้วยตระกูล บางทีเป็นตระกูลกษัตริย์ บางทีเป็นตระกูลพราหมณ์ อย่างนี้ ประการ ๑ อทฺธานํ เวมตฺตตา คือ ต่างด้วยสร้างพระบารมี บางทีบารมีมี ๑๖ อสงไขยแสนกัลป์ บางที ๘ อสงไขยแสนกัลป์ บางที ๔ อสงไขยแสนกัลป์ ต่างกันฉะนี้ประการ ๑ อายุเวมตฺตตา คือ ต่างกันด้วยพระชนมายุ บางทีน้อย เหมือนหนึ่งสมเด็จพระสัพพัญญูบรมครูเจ้าของเรานี้ บางทีก็มากกว่านี้ เหมือนพระชนมายุแห่งสมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกันอย่างนี้ ประการ ๑ ปมาณํ เวมตฺตตา ต่างกันด้วยประมาณ คือประมาณพระรูปบ้าง บางทีเล็กบางทีใหญ่ ประการ ๑ สิริเป็นต่างกันถ้วน ๔ ประการเท่านี้ ส่วนการกระทำทุกรกิริยานี้ไม่เหมือนกันเป็น อัทธานเวมัติ ต่างกันด้วยกระทำบ้างมิได้กระทำบ้าง แต่เมื่อได้ตรัสเป็นสมเด็จพระสัพพัญญูแล้ว ก็ตรัสรู้เหมือนกัน ประกอบด้วยพระสิริรูปและฌาน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัส- สนะและ จตุเวสารัชญาณ ทศพลญาณ จุททสพุทธญาณ อัฏฐารพุทธธรรมเหมือนกัน จะได้ แปลกต่างกันหามิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา ตกว่าพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จะตรัสเป็นเป็นสมเด็จพระสัพพัญญูรู้ธรรม นั้นรู้เหมือนกันเท่ากัน เมื่อเช่นนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าของเรากระทำทุกรกิริยาเพื่อประโยชน์ประการใด              พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร อันพระ โพธิสัตว์เจ้าแต่กาลก่อนนั้นต่อบารมีแก่กล้าท่านจึงออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ พระโคดมโพธิสัตว์ เจ้าออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ แต่บารมียังอ่อนอยู่ เหตุนี้จึงต้องกระทำทุกรกิริยาเพื่อจะให้พระญาณ แก่กล้า ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ นาคเสนผู้ปรีชา เหตุไฉนพระโคดมโพธิสัตว์เจ้าจึงออกสู่มหาภิเนษกรมณ์แต่บารมียังอ่อนให้ ผิดกว่าพระโพธิสัตว์แต่ก่อนเล่า              พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร พระ โคดมโพธิสัตว์เห็นวิปปการแห่งพระสนมกรมคณานางนอนหลับกรนครางน้ำลายไหล สารพัด จะวิการไปทุกอย่าง ปรางค์ปราสาทสงัดเหมือนชัฏแห่งป่าช้า พระนิพพิทาญาณก็บังเกิดในพระ บวรราชสันดานในอัฑฒรัตติกสมัยเที่ยงคืน พระองค์ก็บังเกิดเหนื่อยหน่าย หนีออกสู่มหา ภิเนษกรมณ์ บรรพชาเสียแต่พระญาณยังอ่อน เพราะเหตุฉะนี้ จึงผิดกว่าโพธิสัตว์แต่ก่อน              ข้อหนึ่ง เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เดือดร้อนมิได้อารมณ์ด้วยนิกรนางสนม ดำริในพระ อารมณ์ จะเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์นั้น ยังมีมารผู้หนึ่งรู้ในจิตพระบรมโพธิสัตว์ เข้าใจ สันทัดว่าพระโพธิสัตว์ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ไม่ช้าก็จะได้ตรัส จะนำสัตว์พ้นวิสัยแห่งมารเป็น แม่นมั่น เหตุดังนั้น มารจึงเหาะลอยอยู่บนเวหาตรงพระพักตราสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์แล้ว ร้องทัดทานห้ามปรามว่า โภ มาริส ข้าแต่พ่อสิทธารถ ผู้เนียรทุกข์มีแต่ความจำเริญ พ่อจะ กระสันเป็นทุกข์ ทำไม่ นับแต่วันนี้ไป ๗ วัน ทิพยจักรแก้วจะเลื่อนลอยมาสู่สมบรมโพธิสมภารท่าน ตํ ปน สหสารํ อันว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์นั้นแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์มีทั้งกงและดุมเดิมอยู่ใต้ปฐพีพื้น มหาสมุทรจะผุดลอยมาสู่สมบรมโพธิสมภารพ่อแล้วอย่างสงสัย พ่อจะมีพระราชอาญาแผ่ไป จะ ได้เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ แต่ละทวีปนั้นมีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร นานไปก็จะได้พระราช- โอรสมีฤทธิ์เดชรูปโฉมงามตามเสด็จดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ ยังอีก ๗ วันท่านจะได้เป็น จอมทวีป จะรีบออกบรรพชาต้องการอะไร โส ตสฺส ตํ สุตฺวา ฝ่ายว่าพระบรมโพธิสัตว์ได้ ทรงพระสวนาการถ้อยคำมารว่าดังนี้ ก็สังเวชพ้นกำลัง ดังบุรุษถือหลาวเหล็กลุกเป็นเปลว ร้อนรนอยู่ยังค่ำแล้ว มิหนำยังมีบุคคลเอาหลาวเหล็กตำเข้าทั้ง ๒ โสตซ้ายขวา ยถา มีครุวนา อุปมาฉันใด เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ได้ฟังมารว่า ก็ไม่สบายพระโสตแสนสังเวชพระทัยมีอุปไมย เหมือนฉะนั้น นะบพิตรพระราชสมภาร ถ้ามิฉะนั้นปานดุจหนึ่งกองเพลิงอันใหญ่ อันรุ่งโรจน์ โชตนาการเป็นกำลัง อญฺเญน กฏฺเฐน ยังมีบุคคลผู้หนึ่งเอาไม้แห้งอื่นๆ มาทุ่มเข้า กองเพลิง ใหญ่นั้นเล่าก็รุ่งโรจน์โชตการเป็นเปลวร้อนยิ่งกว่าประมาณ ยถา จะมีครุวนาอุปมาฉันใด น้ำพระทัยพระโพธิสัตว์ สิเหนื่อยหน่ายจากราชสมบัติโทมนัสกระสันอยู่โดยปรกติแล้ว ครั้นได้ ฟังมาว่ายังมีอีก ๗ วันจะได้เป็นบรมจักร น้ำพระทัยก็สลดสังเวชสุดกำลังมีอุปไมยฉันนั้น นั้น มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่ง อันว่าพื้นปฐพีที่ชุ่มชื้นเปียก แฉะด้วยน้ำเลอะลื่ออยู่แล้ว และมิหนำยังมีมหาเมฆตกซ้ำลงมาก็พึงซึ่งวิกลเปียกเลอะชื้นหนักไป ยถา มีครุวนาฉันใด น้ำพระทัยพระบรมโพธิสัตว์เจ้า โดยเป็นปรกติก็เหนื่อยหน่ายต่อสมบัติซึ่ง มีอยู่แล้ว มารยิ่งมาว่าดังนี้เล่า น้ำพระทัยพระโพธิสัตว์เจ้ายิ่งกระสันเบื่อหน่ายหนักไป มีอุปไมย ฉันนั้น นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า แต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า เมื่อมารว่ายังอีก ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์จะบังเกิดนั้น ทำไมพระ โพธิสัตว์เจ้าจึงไม่กลับพระทัยคอยอยู่ ให้จักรแก้วอันเป็นทิพย์บังเกิดเล่า              พระนาคเสนเจ้ามีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เทวดา ผู้เป็นมารมาเจรจาประโลกลวงนั้นหาจริงไม่ ถึงมาตรว่าจักรแก้วจะเกิดไป ๗ วันก็ดี สมเด็จ พระสิทธารถบรมโพธิสัตว์ก็ไม่กลับ เหตุไฉน เหตุว่าน้ำพระทัยพระโพธิสัตว์นั้น ทฬฺหตหิโต ถือ มั่นคงในองค์พระอนิจจัง ถือมั่นคงในองค์พระทุกขัง ถือมั่งคงในองค์พระอนัตตา อุปาทานกฺขยปฺ- ปตฺโต พระบรมโพธิสัตว์ขาดสูญจากตัวอุปาทาน อันถือมั่นสำคัญใหลหลง พะวงอยู่ด้วยรูป เสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสัมผัส จำเดิมแต่เห็นวิปปการของนางสนมทั้งหลายก็เบื่อหน่ายชิงชัง ทรงเห็นว่าเกิดมามีแต่ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ อนิจฺจํ ไม่เที่ยงแท้ หนุ่มสาวก็ จะแก่ จะตาย ไม่เที่ยงแท้ลงตรงไหน อนตฺตา จะถือว่าตัวกระไรได้ พระองค์ปลงเห็นเป็นอุปาทา- นักขันธ์ ไม่ปรารถนาที่ว่าจะเกิดในภพทั้ง ๓ สืบไป อย่างนี้หรือน้ำพระทัยจะกลับประหวัดยินดี ด้วยสมบัติบรมจักรจอมทวีปเล่า เห็นว่าสมบัตินั้นเปล่าจะยั่งจะยืนหามิได้ หน่อยหนึ่งก็สิ้นสูญไป เหตุฉะนี้ น้ำพระทัยจึงไม่ปรารถนา              มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ดังอาตมาจะขอถามพระ องค์บ้าง เหมือนหนึ่งว่าอุทกังอันไหลหลั่งพังออกมาจากมหาสระอโนดาตนั้นก็ย่อมไหลลงสู่คงคา อุทกังในคงคาก็ไหลมาสู่มหาสมุทร อุทกังในมหาสมุทรก็ไหลไปสู่ปากบาดาลเป็นธรรมดาฉะนี้ หรือ บพิตรพระราชสมภาร หรือว่าอุทกังที่บาดาลมุข คือ อุทกังที่ไหลออกจากปากบาดาลนั้น ไหลกลับมาสู่มหาสมุทร อทุกังในมหาสมุทรไหลมาสู่คงคา อุทกังในคงคาไหลกลับสู่สระอโนดาต              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า น หิ ภนฺเต ข้าแต่พระผู้ เป็นเจ้าใช่กระนั้น อันว่าอุทกังที่ไหลมานั้น จะได้ไหลกลับทวนมาหามิได้ นะพระผู้เป็นเจ้าผู้ ปรีชาญาณ              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภาร ข้อนี้มีอุปมาฉันใด พระบรมโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญพระราชกุศลสร้างพระบารมีถ้วน ๔ อสงไขยแสนกัลป์ จนบรรลุอัต- ภาพนี้เป็นที่สุด ปริปกฺกํ โพธิญาณํ พระโพธิญาณของพระองค์แก่กล้าแล้ว ยังอีก ๖ พระวรรษา ก็จะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษก โลเก อุตฺตมปุริโส เป็นเออัครบุคคลอุดมในโลก จะลับมา ยินดีด้วยจักรแก้วต้องการอะไร อุปไมยดุจอุทกังอันไหลหลั่งลงสู่ปากบาดาลแล้ว มิได้นิวัตนา การไหลกลับหลังฉะนั้น อปิจ อนึ่งโสด นุโข ดังอาตมาจะถาม มหาราช ขอถวายพระ พรบพิตรพระราชสมภาร เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ปรารถนาพระโพธิญาณ ทรงสร้างพระบารมีมา นานนับ ๔ อสงไขยแสนกัลป์ จะสำเร็จพระโพธิญาณอยู่แล้ว น้ำพระทัยจะมาอาลัยอยู่ด้วย สมบัติบรมจักรเจียวหรือ บพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า น หิ ภนฺเต ข้าแต่พระผู้ เป็นเจ้า ที่ไหนน้ำพระทัยพระโพธิสัตว์จะกลับรักสมบัติบรมจักรนั้น เป็นอันว่าหามิได้              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ ประเสริฐ พื้นปฐพีใหญ่จงล่มจมไปก็ตามที บรรพตคีรีทั้งหลายจงหักทำลายไปก็ตามที น้ำใน มหาสมุทรทั้งสี่จงแห้งเหือดไปก็ตามที น้ำพระทัยของพระโพธิสัตว์เจ้ายังมิได้สำเร็จแก่พระโพธิ- ญาณตราบใด ที่จะกลับพระทัยรักซึ่งสมบัติบรมจักรนั้นหามิได้ ตั้งพระทัยแต่จะให้สำเร็จพระ โพธิญาณเป็นอย่างยิ่ง              มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในมนุษย์ อันว่ามหาสมุทรอันใหญ่ อปริ- มิตชลธโร ทรงไว้ซึ่งอุทกังจะนับจะคณนามิได้ อุทกังในมหาสมุทรอันใหญ่นั้นจะแห้งลงไป ยัง เหลืออยู่น้อยเท่ารอยเท้าโคก็ตามที พระบรมโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสตราบใด จะให้พระองค์กลับ พระทัยเสียนั้นมิได้เลยเป็นอันขาด ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่ง อัน ว่าน้ำในมหาคงคามิได้ไหลกลับทวนกระแสไปฉันใด น้ำพระทัยพระโพธิสัตว์แม้ยังมิได้ตรัส ก็มิได้ กลับเหมือนดังนั้น              อนึ่ง มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ถึงมาตรว่าเขาสิเนรุราชจะแตก ออกเป็นร้อยภาคพันภาคประการใดก็ดี อันน้ำพระทัยพระโพธิสัตว์นี้ ถ้ายังมิได้ตรัส จะได้ คิดกลับนั้นหามิได้เป็นอันขาด              มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่ง แม้อากาศจะกลับน้อย เข้าเท่าเสื่อลำแพนก็ดี น้ำพระทัยพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสตราบใด จะรู้กลับไปเป็นว่าหาบ่มิได้              มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่งอันว่าพระอาทิตย์พระ จันทร์และดวงดาวทั้งหลาย ที่ไหนจะพึงตกลงมาเหนือแผ่นพื้นพสุธานี้ได้ น้ำพระทัยพระบรม- โพธิสัตว์ผู้สร้างพระบารมีถ้วน ๔ อสงไขยแสนกัลป์ยังเหลืออยู่อีก ๖ พระวรรษาเท่านั้นก็จะได้ ตรัส เมื่อในระหว่างนั้นพระยามารจะมาว่าให้กลับ พระองค์จะกลับที่ไหน เหตุว่าสรรพพันธนา ห่วงทั้งปวงนั้น ปทาลิตา องค์พระบรมโพธิสัตว์ทำลายเสียสิ้นแล้ว              สมเด็จพระเจ้ามิลินทภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา โลเก พนฺธนานิ อันว่าห่วงจะจำสัตว์ผูกสัตว์ไว้ในโลกนี้ มีประการเท่าใดเล่า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า ทส โข อิมานิ ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ห่วงคือเครื่องจำมี ๑๐ ประการ จำสัตว์ไว้ในสงสารให้ทรมานเกิดตายอยู่ในโลกนี้ มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เครื่องจำ ๑๐ ประการนั้นคือมารดาประการ ๑ บิดาประ การ ๑ ภรรยาประการ ๑ บุตรประการ ๑ ญาติประการ ๑ มิตรประการ ๑ ทรัพย์ประการ ๑ ลาภสักการะประการ ๑ อิสริยยศประการ ๑ กามคุณ ๕ ประการ ๑ สิริถ้วน ๑๐ ประการเท่านี้ ห่วงที่จำสัตว์มนุษย์บุรุษหญิงชายไว้ในโลก ๑๐ ประการนี้ ถึงมาตรว่าสัตว์จะสละไป ก็ย่อมจะ เป็นห่วงเป็นใยอาลัยต้องกลับมา ทสพนฺธนานิ อันว่าเครื่องจำ ๑๐ ประการนั้น ปทาลิตานิ อันองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราทำลายเสียไม่ใฝ่ฝัน ตสฺมา เหตุดังนั้น สมเด็จพระ บรมโพธิสัตว์เจ้าเมื่อพระยามารมาว่า ยังอีก ๗ วันจะได้เป็นบรมจักรนั้น พระองค์เจ้าจึงมิได้กลับ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ นาคเสนผู้ปรีชา นี่หากจะว่าไป เมื่อพระญาณยังอ่อนอยู่นี้ ถึงมาตรว่าเทวดาผู้เป็นมาร จะมาว่า ให้กระสันด้วยคำของตนว่าด่วนออกสู่มหาภิเนษกรมณ์กระทำทุกรกิริยาไปให้ลำบาก ต้องการอะไร เมื่อพระยามารมาว่าดังนี้ ทำไมพระองค์จึงไม่คอยอยู่ให้ญาณแก่เล่า ถ้าว่าพระโพธิสัตว์เจ้าจะ นิ่งอยู่ในราชฐานโดยช้าให้พระญาณแก่กล้าแล้ว จึงออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ตรัสเป็นพระที เดียวจะไม่ได้หรือ              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคล ๑๐ ประการนี้เป็นที่โลกดูหมิ่นนินทาไม่มีคารวะยำเกรง ข่มเหงดูถูกสบประมาทหมิ่นได้ บุคคล ๑๐ ประการนั้นไซร้ วิธวา คือ ได้แก่สตรีที่เป็นหม้ายเป็นที่คนทั้งหลายดูหมิ่นประการ ๑ ทุพฺพโล ืคือ บุคคลทุพพลภาพประการ ๑ อมิตฺตญาติ คือ บุคคลหามิตรหาญาติมิได้ประการ ๑ มหคฺฆโส คือ คนมีค่าตัวมากประการ ๑ ครุกาพาธิโก คือ บุคคลเจ็บปวดเป็นไข้หนักประการ ๑ ปาปมิตฺโต คือ บุคคลมีมิตรชั่วประการ ๑ ธนหีโน คือ บุคคลถอยจากทรัพย์ หาทรัพย์มิได้ ประการ ๑ อาหารหีโน คือ คนจนขัดสนด้วยอาหารประการ ๑ กมฺมหีโน คือ คนจนหางานทำมิได้ประการ ๑ วโยปริหีโน คือ คนเสื่อมจากวัย พ้นจากความเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นคนแก่เฒ่าประการ ๑ สิริ จำนวนถ้วน ๑๐ ประการเท่านี้ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรามาทรงพระดำริถึงเหตุ ๑๐ ประการ ดุจวิสัชนามานี้แล้ว เกิดความรู้สึกขึ้นอย่างนี้ว่า มา เม กมฺมหีโน อสฺสํ เราอย่าเป็นผู้เสื่อม จากการงานของเรา เพราะบุคคลผู้เกียจคร้านถอยจากความเพียร ย่อมเป็นที่ติเตียนแห่งเทว- ดาและมนุษย์ทั้งหลาย ยนฺนูนาหํ กมฺมสฺสามิ อย่ากระนั้นเลย อาตมานี้จะเป็นนายงาน กมฺมคุรุ จะเป็นครูผู้ชี้แจงการงาย กมฺมาธิปเตยฺโย จะเป็นใหญ่ยิ่งในการงาน กมฺมสีโล จะเป็นผู้มี ปรกติกระทำการงาย กมฺมธาเรยฺโย จะทรงไว้ซึ่งการงาน กมฺมนิเกตวาสี จะมีอุตสาหะในการ งานอยู่เป็นนิตย์ กมฺมพนฺธเนน อมุตฺโต จะไม่ปล่อยปละละอยู่ให้เป็นผู้พ้นว่างจากการงาน อปฺปมตฺโต ควรจะรีบขวนขวายเป็นคนไม่ประมาท ตั้งใจบำเพ็ญการกธรรมเสีย ประมาทอยู่หา ควรไม่ พระโพธิสัตว์จ้ามาสัญญาในพระทัยฉะนี้จึงกระทำทุกรกิริยาเพื่อว่าจะให้พระญาณแก่กล้า              พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาค- เสนผู้ปรีชา เมื่อสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้ากระทำทุกรกิริยานั้น มาตรัสอย่างนี้ว่า อหํ อันว่า อาตมากระทำทุกรกิริยามาลำบากนักหนา อาตมาก็หาได้ซึ่งอุตตริยมนุสสธรรมอันพระอริยะ เห็นประจักษ์ด้วยอริยญาณไม่ ดังอาตมาวิตกไป หรือว่าทางอื่นที่ไหนกระมังจะเป็นที่ตั้งที่ให้ สำเร็จแก่พระโพธิญาณ พระโพธิสัตว์เจ้ามาปรารภรำพึงการกระทำนี้ พระองค์มีสติเคลิ้มไป กระนั้นหรือ              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ธรรมที่จะ กระทำจิตให้ทุพพลภาพมิให้สมาธิตั้งมั่นสิ้นอาสวะลงได้นี้มี ๒๕ ประการ ขอถวายพระพร อัน ว่าธรรม ๒๕ ประการนั้น กตเม คือธรรมสิ่งใด อันว่าธรรม ๒๕ ประการนั้น คือ โกโธ ความโกรธ ประการ ๑ อุปนาโห ผูกโกรธไว้ไม่รู้หายประการ ๑ มกฺโข ลบหลู่คุณท่านประการ ๑ ปลาโส ตีเสมอท่านประการ ๑ อิสฺสา ริษยาท่านประการ ๑ มจฺฉริยํ ตระหนี้ประการ ๑ มายา มารยา ประการ ๑ สาเถยฺยํ โอ้อวดประการ ๑ ถมฺโภ ใจกระด้างหัวดื้อ อาจารย์ว่าไม่ได้ประการ ๑ สารมฺโก แข่งดีประการ ๑ มาโน ถือตัวประการ ๑ อติมาโน ดูหมิ่นท่าน ประการ ๑ ทโม มัวเมา ประการ ๑ ปมาโท ประมาทประการ ๑ ถีนมิทฺธํ ความง่วงเหงาหาวนอนประการ ๑ ตนฺที ความคร้านกายเพราะกินอาหารมากประการ ๑ อาลสฺยํ คือเกียจคร้านประการ ๑ ทุพฺพลํ ความเป็นผู้อ่อนแอประการ ๑ ปาปมิตฺตุปฺปเสวี เสพมิตรเป็นบาปประการ ๑ รูปํ ยินดีในรูป ประการ ๑ สทฺทํ ยินดีในเสียงประการ ๑ คนฺธํ ยินดีในกลิ่น ประการ ๑ รสํ ยินดีในรส ประการ ๑ โผฏฺฐพฺพํ ยินดีในโผฏฐัพพะ เคล้าคลึงลูบต้องประการ ๑ ขุทฺทาปิปาสา อยาก ข้าวกระหายน้ำประการ ๑ สิริเป็นธรรม ๒๕ ประการด้วยกัน อันว่าธรรม ๒๕ ประการนี้ กระ ทำให้จิตทุพพลภาพมิให้จิตเป็นสมาธิตั้งลงสู่อาสวักขัยญาณได้ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรพระราชสมภาร โพธิสตฺโต ปน แม้อันว่าสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์กระทำ ทุกรกิริยาครั้งนั้น เสวยอาหารน้อยลงๆ พระองค์ก็หิวอ่อนด้วยอดอาหาร น้ำจิตจึงทุพพลภาพ ไป ไม่ได้สมาธิอันจะตั้งมั่นเป็นอาสวักขัยได้ สมเด็จพระโพธิสัตว์สร้างพระบารมีถ้วน ๔ อสงไขยแสนกัลป์ จะเกิดในชาติใดๆ ยังสร้างพระบารมีอยู่ในชาตินั้นๆ ก็ย่อมแสวงหาที่จะให้ ได้พระจตุราริยสัจทุกชาติมา ก็ไฉนเมื่ออภิสมัยชาติจะได้สำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชญ์ โพธิญาณในปัจฉิมที่สุดชาตินี้จะได้เคลิ้มพระสติไปเล่า พระองค์จะมีสติเคลิ้มไปหามิได้ เป็นแต่ เพียงพระองค์มีปัญญาสำคัญไปว่า มรรคาอันอื่นดอกกระมัง จะเป็นที่ตั้งที่จะให้ได้ตรัสแก่พระ โพธิญาณ มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร อย่างว่าแต่ความประการนี้เลย ปุพฺเพว แต่เมื่อแรกพระองค์ประสูติได้เดือนหนึ่งนั้น พระนมพาตามเสด็จพระปิตุเรศร์ไปแรกนา พระนมทั้งปวงนั้นแต่งที่สิริไสยาสน์ ใต้ร่มรุกขชาติชมพู่หว้าต้นหนึ่ง จึงเชิญให้พระบรมโพธิสัตว์ เจ้าบรรทมอยู่ใต้ร่มไม้หว้านั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ครั้นแม่นมพากันไปดูแรกนา ละพระองค์ไว้ผู้เดียว พระองค์จึงทรงลุกขึ้นทรงนั่ง ปลฺลงฺกํ อาภุชฺชิตฺวา คู้บัลบังก์นั่งขัดสมาธิ พระทัยสงัดจากกามอกุศลธรรมทั้งปวง ก็ได้ปฐมฌาน อันประกอบด้วยองค์คือวิตก วิจาร มีปีติ สุขเกิดจากวิเวกแล้วได้ทุติยฌานจตุตถฌานต่อไป พระองค์จะได้เปล่าไปจากความเพียรนั้นหา มิได้ กระทำทั้งนี้เพราะปรารถนาที่จะให้พระบารมีแก่กล้าสำเร็จแก่พระโพธิญาณ บพิตรพึง สันนิษฐานเข้าพระทัยเถิด จะว่าพระองค์มีพระสติเคลิบเคลิ้มฟุ้งซ่านไปนั้นหามิได้ ที่ว่าทรง กระทำทุกรกิริยานั้น เพื่อจะให้พระบารมีแก่กล้าขึ้นเท่านั้น ขอถวายพระพร สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร มีพระราชโองการตรัสว่า สาธุ ภนฺเต ข้าแต่พระ ผู้เป็นเจ้า สมฺปฏิจฺฉามิ โยมจะรับคำของพระเป็นเจ้าไว้ พระโพธิสัตว์เจ้าของเรานี้ พระองค์ กระทำทุกรกิริยาเพื่อว่าจะให้พระบารมีแก่กล้าอย่างนั้นหรือ โยมพึ่งจะมนสิการเข้าใจใน กาลบัดนี้
ทุกกรการิกปัญหา คำรบ ๖ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๔๑๔ - ๔๒๑. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=170              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_170

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]