ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
เวสสันตรปัญหา ที่ ๕
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรจึงมีพระราชโองการตรัสถามปัญหาอื่นสืบต่อไปว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้จำเริญ สพฺเพ โพธิสตฺตา บรรดาพระโพธิสัตว์แต่ปางก่อน ย่อมบริจาคบุตรและภรรยาให้เป็นทานเหมือนกันทุกพระองค์มาหรือว่าบริจาคแต่พระเวส- สันดรพระองค์เดียว              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ พระโพธิ- สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริจาคบุตรและภรรยาให้เป็นทาน เป็นพระเพณีสืบมา จะบริจาคแต่พระเวส- สันดรพระองค์เดียวหามิได้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร จึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระ ผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ บริจาคบุตรและภรรยาให้เป็นทานนั้น บุตรและภรรยา ยินดีด้วยทานของพระองค์หรือหามิได้              พระนาคเสนจึงถวายวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพร อันว่าภรรยานั้นย่อมยินดี ด้วย แต่บุตรนั้นไม่อาจเลื่อมใสยินดี เพราะยังเป็นเด็จอยู่ไม่รู้เดียงสา จึงร้องไห้ปริเทวนารำพัน เพ้อไปต่างๆ ถ้าแม้ว่าบุตรนั้นเป็นผู้ใหญ่อาจรู้เหตุผลได้แล้ว ก็จะยินดีอนุโมทนาไม่ร้องไห้ร่ำไร ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร จึงมีพระราชโองการตรัสถามต่อไปว่า ภนฺเต ข้าแต่ พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระเวสสันดรโพธิสัตว์ทรงบริจาคพระโอรสรักอันเลิศจากอกให้เป็นทาน แก่พราหมณ์ อันจะพาไปเป็นทาสนั้น เป็นกรรมยากที่สามัญชนจะทำได้เป็นข้อที่ ๑ เมื่อ พราหมณ์เอาเครือเถาผูกข้อพระกรสองพระโอรสแล้วและโบยรันตีต้อนไปต่อหน้า พระองค์ก็ งดอดกลั้นซึ่งความวิหิงสาไว้ได้ ดำรงพระทัยในอุเบกขาญาณ อันนี้ก็เป็นกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำ ได้เป็นข้อนี้ ๒ อนึ่งเล่า เมื่อสองพระโอรสดิ้นหลุดจากเครื่องผูกในมือพราหมณ์ด้วยกำลังตน แล้วพากันวิ่งเข้ามาวิงวอนให้ช่วย พระองค์ก็ไม่ทรงช่วยเหลือประการหนึ่งประการใดเลย อันนี้ก็เป็น กรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้ข้อนี้ ๓ อนึ่งเล่า เมื่อสองพระโอรสร้องไห้รำพันว่า ข้าแต่สมเด็จ พระบิดา พราหมณ์ชรานี้เห็นจะเป็นยักษ์ปลอมแปลงมา ตาแกจักนำเอาลูกยาทั้งสองนี้ไปเคี้ยว กินเป็นอาหาร พระโพธิสัตว์ได้สวนาการก็ทรงนิ่งเฉยอยู่ มิได้ตรัสประการใด ที่สุดเพียงจะตรัส ปลอบว่า เจ้าทั้งสองอย่ากลัวเลยฉะนี้ก็หามิได้ อันนี้เป็นกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้เป็นข้อ ๔ อนึ่งเล่า เมื่อพระชาลีกุมารกลิ้งเกลือกเสือกสนซบอยู่แทบพระบาทยุคลทั้งคู่แล้ว ทูลวิงวอนว่า ข้าแต่สมเด็จพระบิดา ขอพระองค์จงให้พระนางน้องกัณหาอยู่เถิด ลูกจะไปกับด้วยยักษ์แต่ผู้เดียว ยอมให้ยักษ์เคี้ยวกินเป็นอาหาร พระองค์ก็มิทรงรับและไม่ตรัสจำนรรจาประการใด อันนี้ก็เป็น กรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้เป็นข้อที่ ๕ อนึ่งเล่า เมื่อพระชาลีไปทูลว่า ข้าสมเด็จพระบิดา เฒ่า ชราตาแกผูกมัดลูกแน่นหนาตึงนัก เสมือนหนึ่งว่าเอาหินมาถ่วงไว้สุดที่ลูกจะทนทานแล้ว เหตุ ไฉนทูลกระหม่อนแก้วไม่ห้ามพราหมณ์ ยอมให้พราหมณ์อันมีใจดุร้ายอำมหิตเป็นมหายักษ์พา ลูกรักไปในไพรวันอันเปล่าเปลี่ยว พระองค์ก็มิได้แลเหลียวทรงกรุณาพระโอรส อันนี้ก็เป็น กรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้เป็นข้อที่ ๖ อนึ่ง เมื่อพระชาลีร้องไห้ด้วยเสียงอันน่าสังเวชสยดสยอง ควรที่จะกรุณา พราหมณ์ฉุดลากกระชากพาไปต่อหน้าพระที่นั่ง พระองค์ (น่าจะเป็นพระโอรส) มีพระหฤทัยดุจหนึ่งว่าจะภินท์พังแตกแยกออกไปได้ร้อยภาคและพันเสี่ยง อันนี้ก็เป็นกรรม ยากที่ผู้อื่นกระทำได้เป็น ข้อที่ ๗ รวม ๗ ประการฉะนี้ นี่แหละพระผู้เป็นเจ้า พระเวสสันดร โพธิสัตว์เป็นมนุษย์มีพระหฤทัยปรารถนาจะทรงสร้างกุศลบำเพ็ญบารมี ด้วยหวังพระโพธิญาณ มาบริจาคพระโอรสและพระชายาให้เป็นทานอันเป็นเครื่องก่อความลำบากยากเข็ญให้ผู้อื่นเช่นนี้ เป็นการสมควรละหรือ โยมนี้สงสัยนักหนา พระผู้เป็นเจ้าจงได้โปรดวิสัชนาแก้ไขให้โยมแจ้งก่อน              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ซึ่งมี พระราชโองการตรัสว่า พระเวสสันดรโพธิสัตว์เจ้าทรงกระทำกรรมซึ่งยากที่ผู้อื่นทำได้นั้นเที่ยง แท้จะแปรผันผิดเพี้ยนไปหามิได้ กิตติศัพท์ของพระองค์ย่อมฟุ้งขจรตลอดไปในเทวดาและ มนุษย์ทั่วหมื่นโลกธาตุ เทวดาอสูรสุบรรณนาคกับสมเด็จอัมรินทราธิราชแลยักษ์ทั้งหลาย ก็ ซ้องสาธุการสรรเสริญ ต่างพากันขนพองสยองเกล้าทุกแหล่งหล้า กิตติศัพท์ของพระองค์ ย่อมระลือเลื่องมาโดยลำดับ ตราบเท่าจนทุกวันนี้ ที่เราทั้งสองนำเอามานั่งซักไซ้ไต่ถามกัน อยู่เช่นนี้ จะว่าทานนั้นเป็นอันพระองค์ให้ด้วยดีหรือชั่วช้าประการใดเล่า มหาราช ขอถวาย พระพร อาตมาจักรถวายวิสัชนาให้เข้าพระทัย กิตติศัพท์เสียงที่เล่าลือกันกระฉ่อนนั้น แสดงให้ เห็นปรากฏอานิสงสคุณ ๑๐ ประการ ของพระโพธิสัตว์ผู้นักปราชญ์อย่างเอก และพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ อานิสงสคุณ ๑๐ ประการนั้นคือ อคฺเค ททตา ได้ให้ทานในเขตอันเลิศประการ ๑ นิราลยตา ไม่มีความอาลัยในของที่รักประการ ๑ จาโค บริจาคได้ประการ ๑ ปหานํ สละได้ ประการ ๑ อนิวตฺติ ไม่คิดหวนเสียดายสอดแคล้วกันแหนงประการ ๑ สุขุมตฺตํ ความเป็นทาน สุขุมประการ ๑ มหนฺตตฺตํ ความเป็นใหญ่ประการ ๑ ทุโพธตฺตํ ความเป็นทานอันบุคคลรู้ได้ ยากประการ ๑ ทุลฺลภตฺตํ ความเป็นอันบุคคลได้โดยยากประการ ๑ อสทิสตฺตํ ความเป็น ทานไม่มีใครจะให้เสมอเทียมถึงได้ ประการ ๑ สิริเป็นอานิสงสคุณ ๑๐ ประการด้วยกัน มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ กิตติศัพท์นั้นแสดงอานิสงสคุณ ๑๐ ประการ ดังถวายวิสัช- นามาฉะนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร จึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระ ผู้เป็นเจ้า ทานที่บริจาคยังผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์เป็นการเดือดร้อน จะให้ผลเป็นสุข ส่งให้เกิด ในสวรรค์ได้ละหรือ              พระนาคเสนจึงถวายวิสัชนาว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ มหาบพิตรตรัสอะไร ซึ่งว่าทานของพระโพธิสัตว์นั้นจะไม่มีผล อย่าพึงกล่าเลย              พระเจ้ากรุงมิลินท์ จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้ เป็นเจ้าจงชักเหตุมาแสดงอุปมาอุปไมยให้โยมแจ้งในกาลบัดนี้ก่อน              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาก่อน มหาราช ขอถวายพระพร ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ ผิดแล ว่าพึงมีสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีลมีจิตเป็นกุศลเป็นง่อยเปลี้ยเสียขาหรือป่วยไข้ได้ทุกข์อาพาธ ครอบงำเป็นประการใดก็ดี จะเดินไปไหนก็ไม่ได้ ยังมีบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ปรารถนาบุญกุศล พึง ยกเอาสมณะและพราหมณ์ชีต้นนั้นขึ้นสู่ยาน นำไปส่งให้ถึงประเทศสถานอันเป็นสุขสบาย ตามที่สมณะและพราหมณ์นั้นมุ่งหมายปรารถนาจะไป บุรุษผู้นั้นจะได้กุศลผลบุญที่เป็นความสุข และจะได้บังเกิดในสุคติภพบ้างหรือว่าหามิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์มีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษผู้ ส่งสมณะและพราหมณ์เห็นปานนั้นจะพึงได้ยวดยานคานหามอันเป็นทิพย์ และจะได้รถรัตน์ หัตถีและม้าและยายพาหนะ ที่จะไปทางบกและทางน้ำทุกประการ ถเล ถลยานํ เมื่อไป ทางบกจะได้ยานทางบก ชเล ชลยานํ เมื่อไปทางน้ำจะได้ยานทางน้ำ เมื่อไปเกิดในเทวโลกก็ได้ ยานในเทวโลก เมื่อมาบังเกิดในมนุษยโลก ก็จะได้ยานในมนุษยโลก จะได้ยานอันสมควรแก่กำ เนิดของตนทุกชาติทุกภพไป ไม่เลือกว่าเกิดในที่ได้จะมีแต่ความสุขสำราญเสมอไป และเมื่อจะ บังเกิดนั้นก็จะเกิดแต่ในสุคติภพเท่านั้น ที่จะต้องไปสู่ทุคติหามิได้ และกุศลนั้นจะอุปถัมภ์เป็นดัง ยานพาแล่นเลี้ยวไปสู่เมืองแก้ว อันกล่าวแล้วคือพระอมตมหานฤพาน อันเป็นที่เกษมศานต์ แสนสบายสุดที่จะพรรณนา              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ ถ้าบุรุษที่ยกเอา สมณพราหมณ์ที่อาพาธหนักขึ้นสู่ยาน แล้วนำไปให้ถึงสถานอันสบายได้ผลเป็นสุข กุศลนั้นนำ ไปบังเกิดในสวรรค์ได้แล้ว ทานที่ให้ด้วยก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ก็มีผลเป็นสุขให้เกิดในสวรรค์ ได้เหมือนกัน พระเวสสันดรโพธิสัตว์นั้น ถึงจะให้สองพระโอรสได้รับทุกข์ ด้วยพราหมณ์ทำเข็ญ ผูกรัดด้วยเถาวัลย์ ก็จะได้เสวยวิบากผลเป็นสุข เหมือนบุรุษที่ส่งสมณพราหมณ์ผู้อาพาธนั้น              อปรํปิ มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ บพิตรจงทรงพระสวนาการเหตุอย่างอื่น ยิ่งขึ้นไปอีก ผิแลว่า พึงมีสมเด็จบรมกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ให้เรียกส่วยเก็บพลีซึ่ง พระองค์ควรจะได้โดยชอบธรรม จากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหล่าราษฎร ถ้าผู้ใดมิให้ เอาตัวไป เร่งรัดจำจองไว้ใช้งาน เป็นการทำให้ราษฎรต้องรำคาญเดือดร้อน อาณาปวตฺเตน ทานํ ทเทยฺย ้ถ้าแลพระบรมกษัตริย์นั้น พึงทรงบริจาคทานด้วยทรัพย์ที่รีดเร่งเก็บมาจากราษฎรนั้น จะได้ผล เป็นสุขบังเกิดในสวรรค์ หรือเป็นประการใด บพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นภูมิบาล จึงมีพระราชโองการตรัสว่า อาม ภนฺเต ข้าแต่พระผู้ เป็นเจ้า สมเด็จพระบรมกษัตริย์พระองค์นั้นจะได้ผลยิ่งล้นเหลือคณนา จะได้เป็นพระยาล่วงเสีย ซึ่งพระยาทั้งปวง เป็นเทวดาล่วงเสียซึ่งเทวดาทั้งปวง เป็นพรหมและสมณพราหมณ์ล่วงเสียซึ่ง เหล่าพรหมและสมณพราหมณาจารย์ทั้งหลาย ถ้าได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์มีคุณธรรม พิเศษยิ่งกว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย              พระนาคเสนจึงมีเถราภิปรายตอบว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ ผิแลว่า พระ มหากษัตริย์เก็บส่วยเร่งรัดรีดจากราษฎรด้วยพระราชอาญา ได้ทรัพย์มาบริจาคก็ได้ผล คือยศ และสุขอันเลิศเห็นปานนั้น ไฉนทานของพระสัตว์ที่บริจาคด้วยให้สองพระโอรสต้องลำบาก จักไม่มีผลเล่า ทานนั้นจะให้สุขเป็นผลและพาไปเกิดในสวรรค์ได้โดยแท้แล บพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นภูมิบาลจึงตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา ซึ่งพระเวสสันดรโพธิสัตว์บริจาคพระชายาของพระองค์ เพื่อให้เป็นภรรยาของผู้อื่น และบริจาค พระโอรสทั้งสองให้เป็นทาสแห่งผู้อื่นนั้น ชื่อว่าเป็นทานที่พระองค์บริจาคยิ่งเกิน บัณฑิตทั้ง หลายในโลกย่อมพากันติเตียนนินทา จะได้สรรเสริญหามิได้ มีอุปมาเหมือนหนึ่งเกวียน ถ้าบรรทุกมากนักเพลาก็หัก เรือถ้าบรรทุกหนักนักก็จม บริโภคอาหารเกิดขนาด อาหารนั้นย่อย ไม่ทันข้าวก็กลายเป็นพิษให้โทษแก่ผู้บริโภค ฝนตกชุกมากเกินไป น้ำมากล้นจะท่วมข้าวตาย คนที่ให้ทานมิได้เหลียวหลังคิดดูทุนทรัพย์ ก็ต้องตกอับถึงความสิ้นสมบัติ ไม่มีโภคทรัพย์จะใช้ สอย ร้อนจัดหนักแผ่นดินก็จะพึงลุกเป็นไฟขึ้น คนที่ราคะจักจนเกินไปจะต้องกลายเป็นบ้ากาม ลุอำนาจแก่โทสะไม่อดกลั้น ย่อมจะพาให้ต้องรับโทษ บุคคลที่โมหะกล้ายิ่งไม่มีสติ ก็หลงเพ้อไป ในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ จะต้องถึงความฉิบหาย เป็นคนโลภมากอยากได้ทรัพย์ของเขาจนทนอยู่ ไม่ได้จะต้องกลายเป็นโจร พูดมานักมักจะพลาด น้ำมากนักซัดตลิ่งพัง ลมจัดยักย่อมพัด อสุนิบาตให้ตก ไฟมากนักย่อมเผาน้ำให้กลายเป็นไอขึ้นไปในอากาศ คนที่เรียนมากนักย่อม จะชักให้เป็นบ้า คนกล้านักอายุจักไม่ยืน ยถา ความเปรียบทั้งหลายเหล่านี้ มีครุวนาฉันใด ทานที่พระเวสสันดรโพธิสัตว์บริจาค บัณฑิตย่อมติเตียนนินทาว่า เป็นทานที่ให้เกินให้ยิ่ง ฉันนั้น จะพึงหวังผลอะไรในทานนั้นเล่า พระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาก่อน มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ ซึ่งว่าทานให้เกินให้ยิ่งนั้น บัณฑิตในโลกจะติเตียนนินทาหามิได้ ย่อมจะพากันเชยชมสรรเสริญทั่วไป แล้วต่างพากันบริจาค ให้ ผู้ที่ให้ทานเช่นนี้ ย่อมถึงกิตติศัพท์เลื่องลือไปในโลก เปรียบเหมือนคนปล้ำ จะปล้ำสู้เข้าได้ ผลักไสให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ม ก็เพราะมีกำลังยิ่งกว่า แผ่นดินจะรับรองทรงไว้ได้ซึ่งบุคคลชายหญิง และเนื้อนกภูเขาต้นไม้และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะเป็นของใหญ่ยิ่ง อากาศไม่มีที่สุดก็เพราะ กว้างเกิน พระอาทิตย์กำจัดหมอกทั้งหลายเสียได้ ก็เพราะมีแสงสว่างไสวยิ่งนัก พระยาราชสีห์ หมดภัยไม่คิดกลัวต่อสัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็เพราะเป็นสัตว์มีชาติล่วงเสียซึ่งสัตว์ทั้งปวง แก้วมณีเป็นของให้สำเร็จความปรารถนาได้ทุกประการ ก็เพราะเป็นของมีคุณยิ่งล้น พระ บรมกษัตริย์ได้เป็นใหญ่เป็นประธาร ก็เพราะมีบุญยิ่งกว่าชนทั้งปวง อัคคีไหม้สรรพวัตถุให้เป็น จุณวิจุณไปได้ ก็เพราะมีเดชยิ่งนัก แก้ววิเชียรเจียระไนแก้วมณีแก้วมุกดาและแก้วผลึกได้ ก็ เพราะเป็นของกล้าแข็งยิ่ง หมู่ชายหญิงยักษ์อสูรจะยอมยอบหมอบกายก้มลงกราบเท้าของภิกษุ ก็เพราะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งศีลอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าหาผู้ใดจะเปรียบปานมิได้ ก็เพราะเป็นผู้ ประเสริฐยิ่ง ยถา ความดังกล่าวมานี้ มีครุวนาฉันใด เอวเมวโข มหาราช ขอถวายพระพร ทานที่ให้เกินให้ยิ่งนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ทั้งหลาย ก็สรรเสริญชมเชยแล้วต่างพากันบริจาคให้ มีกิตติศัพท์เลื่องลือกระฉ่อนทั่วโลก มีอุปไมยฉันนั้น พระเวสสันดรโพธิสัตว์ให้ทานอันยิ่งเกิน นั้นแล้ว ได้รับความเลื่องลือกระฉ่อนไปทั่วไป อันเทวดาและมนุษย์นาคครุฑทั้งหลายสรรเสริญ แล้วในหมื่นโลกธาตุ ในปัจฉิมชาติที่สุดได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นองค์พระพุทธ- เจ้าอันเลิศในโลกนี้ ก็เพราะบริจาคทานยิ่งกว่านั้น มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ อาตมา จะขอถาม การให้ทานในโลกนี้โดยอนุมานมีกำหนดอยู่หรือหามิได้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา ทานที่ไม่นับว่าเป็นทานกระทำผู้บริจาคให้ไปสู่อบายมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ อิตฺถีทานํ ให้หญิงเป็นภรรยาชายด้วยหมายเมถุนธรรมประการ ๑ อุสภทานํ ให้แม้โคแก่ พ่อโคประการ ๑ มชฺชทานํ ให้น้ำเมา คือ สุราและเมรัยประการ ๑ จิตฺตกรณทานํ ให้รูปภาพ รูปเขียนประการ ๑ สตฺถทานํ ให้ศาสตราวุธประการ ๑ วิสทานํ ให้ยาพิษประการ ๑ สงฺขลิก- ทานํ ให้โซ่ให้ตรวนที่จะพึงใส่จองจำประการ ๑ กุกฺกุฏทานํ ให้แม่ไก่แก่พ่อไก่ ประการ ๑ สุกร- ทานํ ให้แม่สุกรแก่พ่อสุกรประมาณ ๑ มานกุฏตุลากุฏนาฬิกุฏทานํ ให้คะแนนเครื่องนับและตรา ชูเครื่องชั่งทะนานเครื่องตวงอันจักใช้โกงกันได้ประการ ๑ สิริเป็น ๑๐ ประการด้วยกันฉะนี้ ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทาน ๑๐ ประการนี้ บัณฑิตไม่นับว่าเป็นทาน ผู้ใดให้ทาน ๑๐ ประการนั้น ผู้นั้นจะพึงต้องไปสู่อบาย นะพระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีเถราภิปรายว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ อาตมาจะได้ถาม ทานที่มินับว่าทานกับบพิตรนั้นหามิได้ อาตมถามว่า การให้ทานว่าโดยอนุมาน ท่านกำหนด เขตไว้เป็นประการใดหรือหามิได้เท่านั้น ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้จำเริญ การให้ทานว่าโดยอนุมานจะมีกำหนดเขตไว้อย่างไรก็หามิได้ สุดแต่ว่าที่มี จิตเลื่อมใส บางคนก็ให้ข้าวน้ำ บางคนก็ให้ผ้านุ่งผ้าห่ม บางคนก็ให้ที่นอนและเสื่อสาดอาสนะ บางคนก็ให้ทาสหญิงชาย เรือกสวนไร่นา สัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า บางคนก็ให้ทรัพย์ ร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง หรือเป็นอันมาก ที่ให้ราชสมบัติให้ชีวิตก็มี มีต่างกันเช่นนี้แหละ พระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ ผิแลว่าจะให้ชีวิตของผู้อื่น ก็ได้ ทำไมบพิตรจึงติเตียนพระเวสสันดรโพธิสัตว์ว่า ให้พระโอรสและพระชายาเป็นนักหนา ที เดียวเล่า มหาราช ขอถวายพระพร โดยความคิดของชาวโลกตามปรกติ เมื่อบิดาเป็นหนี้เขา ก็ดี ยากจนไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีวิตก็ดี บิดาจะให้บุตรรับใช้หนี้แทนหรือขายบุตรเลี้ยงชีวิต จะได้หรือหามิได้ นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นภูมิบาล มีพระราชโองการตรัสตอบว่า อาม ภนฺเต บิดาจะให้ บุตรรับใช้หนี้แทนหรือขายเลี้ยงชีวิตได้อยู่ ไม่มีใครที่จะติเตียน              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ พระเวสสันดาโพธิ- สัตว์ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ แต่ยังไม่ได้ เวลานั้นพระองค์ก็ขัดสนจนทรัพย์ จะเอาพระ โอรสและพระชายาให้ทานซื้อเอาพระสัพพัญญุตญาณ ทำไมบพิตรจึงไม่เลื่อมใส ติเตียนเป็น นักหนาเล่า ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา โยมนี้จะได้ติเตียนทานของพระเวสสันดรหามิได้ โยมติเตียนพระเวสสันดร ว่าให้โอรสและพระชายาต่างหาก ที่ถูกเมื่อยาจกมาขอโอรสและชายา พระเวสสันดรปรารถนา สัพพัญญุตญาณ ควรจะให้ตัวเองแลจะดีกว่าให้พระโอรสและพระชายา              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ เขาขอพระโอรสและ พระชายาไพล่ไปให้ตัวเองนั้น จะเป็นกรรมอันนักปราชญ์ผู้เป็นสัตบุรุษจะพึงทำนั้นหามิได้ เขา ขอสิ่งใดให้สิ่งนั้นจึงเป็นกรรมของสัตบุรุษ มหาราช ขอถวายพระพร ถ้ามีคนขอน้ำจะให้ข้าว จะนับว่าได้ทำกิจธุระให้เขาได้ละหรือ              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงตรัสตอบว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ เขาขอน้ำให้ข้าว หาถูกไม่ ที่ถูกเขาขอน้ำก็ต้องให้น้ำ กระทำดังนี้จึงจะนับว่าได้ทำกิจธุระให้เข้าได้              พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า ความที่ว่านี้มีครุวนาฉันใด เอวเมว โข การที่พระ เวสสันดรโพธิสัตว์ให้พระโอรสและพระชายาเป็นทานก็มีอุปไมยฉันนั้น พราหมณ์มาขอพระโอรส และพระชายา มิได้ขอพระองค์เอง พระองค์จะให้ตัวพระองค์เองอย่างไรได้ จึงต้องให้พระโอรส และพระชายาแก่พราหมณ์ตามที่ทูลขอ มหาราช ขอถวายพระพร ผิแลว่าพราหมณ์นั้นพึงขอ ตัวพระองค์เองแล้ว พระองค์จะเสียดายหรือห่วงใยประการใดก็หาไม่ จะบริจาคให้ทีเดียว ไม่ ต้องรอให้ขอเป็น ๒ คำ แม้ถ้าพยัคฆ์หรือสุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก จะเข้าไปขอพระองค์เอาไปกิน เป็นอาหาร พระองค์จะเนิ่นนานชักช้าอยู่ก็หามิได้ จะบริจาคให้ในทันที พระกายของพระเวสสัน- ดรโพธิสัตว์นี้ เป็นสาธารณ์ทั่วไปแก่สัตว์เป็นอันมาก มีครุวนาเหมือนชิ้นเนื้อชิ้นเดียวที่ทั่วไปแก่ สัตว์เป็นอันมากฉะนั้น ประการหนึ่งเหมือนต้นไม่ที่เผล็ดดอกออกผล ย่อมสาธารณ์ทั่วไปแก่หมู่ นกต่างๆ และมนุษย์เป็นอันมาก ไม่เลือกว่าผู้ใด เมื่อต้องประสงค์ก็เก็บเอาได้ทั้งนั้น ด้วย พระองค์มามั่นหมายในพระทัยว่าซึ่งพระองค์ปฏิบัติดังนั้น จักได้บรรลุแก่พระสรรเพชญโพธิญาณ อนึ่ง พระเวสสันดรโพธิสัตว์นั้นเป็นผู้แสวงหาโพธิญาณ จึงบริจาคทรัพย์และข้าว เปลือกยานพาหนะ ทาสหญิงทาสชายและสมบัติทั้งหลายสิ้นทั้งมวล ตลอดจนพระโอรสพระชายา หนังเนื้อโลหิตหัวใจและชีวิตของพระองค์เป็นที่สุด ให้ทานได้ทั้งภายในทั้งภายนอกเพื่อได้ความ ยินดีเลื่อมใสในพระพุทธคุณและธรรมคุณแลกเอาพระโพธิญาณ ปานดังบุรุษที่ขัดสนจนทรัพย์ เมื่อต้องการทรัพย์ก็เที่ยวแสวงไปในดงในป่า ค้าขายทั้งทางน้ำและทางบก รวบรวมทรัพย์สมบัติ มาด้วยกายบ้างด้วยวาจาบ้าง ใช้ความคิดอ่านหามาด้วยใจบ้าง พยายามจะให้ได้ทรัพย์มาสม แก่ความปรารถนา ยถา มีครุวนาฉันใด พระเวสสันดรโพธิสัตว์เจ้าก็แสวงหาโพธิญาณโดย อาการต่างๆ มีอุปไมยฉันนั้น แม้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายแต่ปางก่อน หรือจะมีมาภายหลัง พระ องค์ก็ทรงพยายามแสวงหาโพธิญาณเช่นนี้ทุกๆ พระองค์ จะได้ผิดเพี้ยนกันหามิได้              มหาราช ขอถวายพระพร ประการหนึ่ง มหาอำมาตย์ของสมเด็จพระบรมกษัตริย์ เป็นผู้ใคร่ต่อความเจริญ อยากจะกระทำตนให้เป็นใหญ่ เป็นที่จงรักภักดีและนับถือของมหาชน ทั้งหลาย เมื่อได้ราชสมบัติในภายหลัง จึงแจกจ่ายทรัพย์และข้าวเปลือกเงินทองแก้วแหวนทั้งปวง ของตนบรรดามีให้แก่มหาชนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งหลาย ยถา มีครุวนาฉันใด พระเวสสันดร โพธิสัตว์ก็บริจาคทรัพย์ทั้งภายในและภายนอกให้เป็นทาน เพื่อได้บรรลุแก่พระอนุตรสัม- โพธิญาณ มีอุปไมยฉันนั้น มหาราช ขอถวายพระพร ประการหนึ่ง พระเวสสันดรโพธิสัตว์ มาทรงดำริอย่างนี้ว่า พราหมณ์ขอสิ่งใดควรเราจะให้สิ่งนั้น จึงจะได้ชื่อว่า ทำกิจธุระให้ สมความประสงค์ของพราหมณ์ พระองค์จึงบริจาคพระโอรสและพรชายาให้เป็นทาน พระองค์ จะมีพระหฤทัยคิดจะให้พระโอรสและพระชายาได้รับความลำบากแล้วบริจาคไปก็หาไม่ หรือจะ เป็นผู้มักมากบริจาคไปก็หาไม่ หรือบริจาคให้ไปด้วยทรงดำริว่าเราได้อาจเลี้ยงดูก็หาไม่ หรือ พระองค์เกลียดชังไม่รักใคร่ ประสงค์จะไล่ส่งไปเสียให้พ้นหูพ้นตาก็หาไม่พระโอรสและพระชายานั้น เป็นที่รักใคร่พอพระทัยของพระองค์เสมอด้วยชีวิต พระองค์บริจาคให้ด้วยรักใคร่ปรารภนาพระ สัพพัญญุญาณ อันเป็นรัตนะอย่างประเสริฐโดยแท้ทีเดียว ขอถวายพระพร แม้เมื่อพระองค์ได้ ตรัสรู้แก่อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นบรมศาสดาเป็นเทวดาล่วงเสียซึ่งเทวดาทั้งปวงแล้ว ก็ได้ มีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ในจริยาปิฎกว่า                           น เม เทสฺสา อุโภ ปุตฺตา มทฺที เทวี น อปฺปิยา                           สพฺพญฺญุตํ ปิยํ มยฺหํ ตวฺมา ปิเย อทาสีหํ ดังนี้              ใจความในพุทธฎีกานั้นว่าพระโอรสทั้งสอง เราจะได้เกลียดชังก็หาไม่ พระนางมัทที เทวีเล่า ใช่ว่าเราจะไม่รักเมื่อไร แต่เรารักพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่ยิ่ง เพราะฉะนั้น เราจึง บริจาคของที่รักให้เป็นทาน พระพุทธบริหารนั้นมีความดังนี้ มหาราช ขอถวายพระพร ก็แหละพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ครั้นให้ทานแล้วมีจิตผ่องแผ้ว ในทาน แต่ด้วยความสงสารสองพระโอรส จึงเข้าไปสู่บรรณศาลา ตรอมพระหฤทัยทรงพระ กรรแสงให้เศร้าโศกเป็นกำลัง จนพระหฤทัยร้อนรนพระนาสิกไม่พอจะหายใจ ต้องปล่อยให้ลม อัสสาสะปัสสาสะออกทางช่องพระโอษฐ์ พระอัสสุธาราก็กระเซ็นเป็นโลหิต นี่แหละบพิตรพระ ราชสมภาร พระเวสสันดรบรมกษัตริย์หวังจะให้พระทานบารมีเสื่อม จึงสู้ทนยาก บริจาคพระ โอรสพระชายาให้เป็นทาน              มหาราช ขอถวายพระพร ประการหนึ่ง พระเวสสันดรบรมกษัตริย์มาพิจารณาเห็น อานิสงส์ ๒ ประการ จึงบริจาคโอรสทั้งสองให้เป็นทานแก่พราหมณ์ อานิสงส์ ๒ ประการนั้น คือ พระองค์พิจารณาเห็นว่า ทานตโป อปริหีโน พระทานบารมีของพระองค์จักไม่เสื่อมไป อยฺยโก โปเสสฺสติ พระโอรสทั้งสองของพระองค์อยู่ในป่าต้องเสวยมูลผลาเป็นภักษาหาร ได้รับความทุกข์ยากลำบากเหลือ เมื่อให้พราหมณ์แล้ว พราหมณ์จักพาไปกรุงพิชัยเชตุตร สมเด็จพระอัยกาจักถ่ายไว้เลี้ยงให้เป็นสุขสำราญ ดังนี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง พระองค์ พิจารณาเห็นว่า บุคคลเหล่าอื่นที่จะไม่ใครอาจสามารถเอาพระโอรสของพระองค์ไปใช้เป็น ทาสนั้นหามิได้ เมื่อพราหมณ์พาสองพระโอรสไป พระอัยกาจะถ่ายเอาไว้ อันนั้นแลจักเป็นเหตุ ให้มารับพระองค์กลับหลังยังพระนคร ด้วยพระเวสสันดรโพธิสัตว์ทรงพิจารณาเห็นเหตุ ๒ ประการฉะนี้ จึงบริจาคพระโอรสให้เป็นทานแก่พราหมณ์              มหาราช ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง พระเวสสันดรโพธิสัตว์มาทรงพิจารณา ทรงทราบชัดในพระกมลหฤทัยว่า พราหมณ์ทชีชูชกนี้เป็นคนแก่เฒ่าชราทุพพลภาพมีอายุล่วง เข้าปัจฉิมวัยใกล้จะถึงความตายอยู่แล้ว และตาแกเป็นคนมีบุญวาสนาน้อยสัญชาติถ่อยต่ำ ช้า ไม่อาจใช้สอยพระโอรสของพระองค์เป็นทาสได้ ขอถวายพระพร พระจันทร์และพระอาทิตย์ มีฤทธาศักดานุภาพเป็นอันมาก จะมีใครอาจสามารถหยิบเอาไปใส่ในหีบหรือในกล่องใช้ตาม ต่างประทีปโคมไฟได้ละหรือ มหาบพิตร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงตรัสตอบว่า น หิ ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ใครจะเอา พระจันทร์พระอาทิตย์ไปใส่หีบใส่กล่องใช้ตามต่างไฟได้ ไม่มีใครอาจสามารถกระทำได้เลย              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ ความที่ว่านี้ ยถา มีครุวนาฉันใด เอวเมว โข ทชีชูชกพราหมณ์พฤฒาจารย์เป็นคนแก่เฒ่าชราวาสนาน้อยก็ไม่อาจ ใช้สอยพระโอรสของพระองค์เป็นทาสได้ มีอุปไมยฉันนั้น              อปรํปิ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรจงทรงพระสวนาการอุปมาข้ออื่นอีก พระ โอรสทั้งสองของพระเสสันดรนั้น ใครๆ จะใช้เป็นทาสได้ มีอุปมาเหมือนหนึ่งแก้วมณีรัตนะ อันวิเศษ อันเป็นของสำหรับบุญญานุภาพของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราช มีรัศมีงามโอภาส ผ่องใสยาวได้ ๔ ศอก โตประมาณเท่าดุมเกวียน ใครหรือจะอาจเอาผ้าห่อไว้ไม่ให้รัศมีสว่างไสว ได้ ถึงจะห่อไว้ก็เปล่งรัศมีออกไปได้ดึงร้อยโยชน์โดยปรกติ บุคคลที่มีบุญน้อยไม่อาจเอาไปใช้ สอยได้ ยถา มีครุวนาฉันใด เอวเมว โข พระโอรสทั้งสองของพระเวสสันดร ใครๆ ก็ไม่อาจ เอาไปเป็นทาสช่วงใช้ได้ มีอุปไมยฉันนั้น              อปรํปิ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรจงทรงพระสวนาการอุปมาใหม่อีกเล่า อุโปสโก นาคราชา ช้างกุญชราชาติอุโบสถเผือกผู้ผ่องหมดทั่วสรรพางค์ เป็นเจ้าฝูงแห่งช้างทั้ง หลาย มีกายสูงได้ ๘ ศอ ประดับด้วยสรรพาภรณ์สมสกุลหัตถี น่าดูน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ใคร หรือจักอาจขึ้นขับขี่ช้างนั้นได้ ประการหนึ่ง ใครๆ จะปิดบังช้างนั้นได้ด้วยกระด้งดังลูกโค น้อยๆ ที่ยังดื่มนมเล่า ยถา ความที่ว่านี้ครุวนาฉันใด เอวเมว โข ใครๆ ก็ไม่อาจช่วงใช้ สองพระโอรสเป็นทาสได้ มีอุปไมยฉันนั้น              อปรํปิ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรจงทรงพระสวนาการอุปมาใหม่อีก สมุทฺโท อันว่ามหาสมุทรทั้งยาวทั้งลึกประมาณไม่ได้ จะหยั่งก็ไม่ถึงและกว้างขวางมองไม่เห็นฝั่ง มีน้ำ เค็มอยู่เป็นนิตย์ ไม่มีใครอาจปิดให้มิดหมดแล้วเว้นบริโภคใช้สอยแต่ท่าเทียว ยถา มีครุวนา ฉันใด เอวเมว โข พระโอรสทั้งสองของพระเวสสันดรก็ไม่มีใครอาจเอาไปช่วงใช้เป็นทาส ได้มีอุปไมยฉันนั้น              อปรํปิ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรจงทรงพระสวนาการเหตุอื่นอีก นนฺโทปนนฺ- ทนาโค อันว่าพระยานันโทปนันทนาคราช สตฺตกฺขตฺตุ ํ ปริเวเฐตฺวา นอนพันภูเขาสิเนรุราช ได้ถึง ๗ รอบ ผู้ใดมิอาจรวบรัดจัดพระยานาคนั้นใส่ลงในหีบหรือในกล่องเล่นได้ ยถา มีครุวนา ฉันใด เอวเมว โข พระโอรสทั้งสองของพระเวสสันดรเจ้าก็ไม่มีใครอาจเอาไปใช่เป็นทาสได้ฉันนั้น              อปรํปิ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรจงทรงพระสวนาการเหตุใหม่ให้ยิ่งไปกว่านี้ ธรรมดาว่าหิมวันตราชคิรีเขาเอก อจฺจุคฺคโต นเภ สูงเทียมเมฆจะคณนาได้ ๕๐๐ โยชน์ โดย ส่วนยาวและส่วนกว้างนั้นคณนาได้ ๓,๐๐๐ โยชน์ จตุราสีติกูฏสหสฺเสหิ ปฏิมณฺฑิโต ประดับด้วยยอดนั้นมากมายหนักหนาจะคณหาได้ ๘๔,๐๐๐ ยอด ปญฺจมหานทีปภโว เป็นที่หล่อหลั่งน้ำให้ไหลไปยังมหานทีแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ มหาภูตคณาลโย มีหมู่สัตว์น้อยใหญ่ อาศัยอยู่เป็นอันมาก ทิพฺโพสถลคสมลงฺกโต ประดับด้วยเครือเถาวัลย์อันเป็นยาทิพย์ นภพลา- หโก วิย แลดูลิบสูงสุดเวหา อุปมาดุจเมฆอันลอยฟ้า ยถา มีครุวนาฉันใด เอวเมว โข อันว่า สองราชดนัยพระโอรสแห่งพระเวสสันดรนั้นก็มีบุญเป็นมหันตโอฬาร น สกฺกา เกหิจิ บุคคลผู้ใด จะอาจหาญช่วงให้เป็นทาสนั้นหามิได้ เหตุว่าเป็นสกุลสูงใหญ่ระบือลือทั่วไปต่างอาณาเขตประเทศ ไกลๆ ปรากฏดังเขาหิมพานต์อันโตใหญ่ฉันนั้น              อปรํปิ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรจงทรงพระสวนาการสดับเหตุอันอื่นให้ยิ่งขึ้นไป อุปริ ปพฺพตคฺเค อคฺคิ อันว่าไฟที่ตามไว้บนยอดภูเขาในเวลาราตรีอันมืดมัว ไฟนั้นย่อมจะส่องแสง ไปได้ ถึงอยู่ในที่ไกลก็แลเห็น ยถา มีครุวนาฉันใด เอวเมว โข อันว่าสองพระโอรสนั้น ก็มีเกียรติ ยศปรากฏไป อุปไมยเหมือนไฟที่ตามไว้บนยอดภูเขาฉันนั้น              อปรํปิ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรจงทรงพระสวนาการเหตุให้ยิ่งขึ้นไปอีก นาคปุปฺผสมเย ในฤดูที่ต้นกากะทิงบนยอดภูเขาหิมพานต์ออกดอก ดอกกากะทิงย่อม บานสิ่งกลิ่นขจรหอมระรื่นฟุ้งไปตามลมไกลได้ ๑๒ โยชน์ ยถา มีครุวนาฉันใด เอวเมว โข อันว่า กิตติศัพท์แห่งสองหน่อไทยพระโอรส ก็ลือสะท้านปรากฏไปในแดนมนุษย์ได้ ๖๐๐ โยชน์ ใน เบื้องบนนั้นโสดก็ตลอดอสัญญีภพพรหมโลก เอตฺถนฺตเร ใต้นั้นลงมาก็อสูรคนธรรพ์ยักษา ผีเสื้อน้ำนาคกินนรและอินทรพิภพจบในกามาปรเมสณ์ประเทศไกลได้ ๑๒ โยชน์นั้น เมื่อมหันตา- นุภาพแผ่ไปดังนี้ ใครที่ไหนจะกระทำซึ่งสองพระโอรสให้เป็นทาสช่วงใช้ได้              มหาราช ขอถวายพระพร ประการหนึ่ง เมื่อสมเด็จไทยธิเบศร์เวสสันดรจะประสาท สองบังอรให้แก่พราหมณ์ จึงตีค่าพระบรมเชษฐาชาลีเป็นทองพันตำลึง (บาลีว่า ๙,๐๐๐) ตี ค่าพระน้องกัณหาเป็นทองร้อยตำลึง (บาลีว่า ๙๐๐) กับทรัพย์หลายประการ มีคชสารรถ ยานม้ามิ่งทาสกรรมกรหญิงชาย วัวควายเรือกสวนไร่นาเป็นอาทิ นับให้ได้สิ่งละร้อยๆ พระองค์ มาตีค่าตัวพระชาลีและกัณหาน้องทั้งนี้ หวังว่าจะให้พระอัยกาตามไถ่ จึงตรัสสั่งสอนไทยทารกเล่า ว่าเจ้าจงกระทำตามถ้อยคำพระบิดา ถ้าพระอัยกาจักไม่ไถ่เจ้า แย่งเอาจากพราหมณ์ด้วยข่มเหง อยฺยกสฺส วจนํ น กยิราถ เจ้าทั้ง ๒ อย่ากระทำตามคำของพระอัยกา อนุยายิโน จงก้มหน้าไป เป็นข้าพราหมณ์ตามอัธยาศัย พระลูกเอ่ยจงฟังคำพระบิดาไว้ให้จงได้ เอวเมว อนุสาสิตฺวา สมเด็จพระบรมราชธิเบศร์เวสสันดรสั่งสอนพระโอรสดังนี้ จึงบริจาคให้ทวีชูชกใจฉกรรจ์ ตโต ลำดับนั้นมา เมื่อพราหมณ์พาสองพระโอรสไป เทพเจ้าดลใจให้หลงไปสู่สำนักพระอัยกา พระชาลี จึงทูลพระอัยกาให้ถ่ายค่าตัวตามพระราชบิดาสั่ง นี่แหละจะว่าพระเวสสันดร ให้ทานยังผู้อื่นให้ ลำบากละหรือ เมื่อพระองค์เห็นว่าพระโอรสอยู่ป่านั้นลำบากจึงบริจาคมา หวังจะให้พระอัยกา ไถ่เลี้ยงไว้ให้ได้รับความสุข เช่นนี้จะว่าพระองค์ให้ทานทำพระโอรสให้ต้องทุกข์ยากหรือให้ได้สุข เป็นประการใด บพิตรจงสันนิษฐานเข้าพระทัยให้จงดีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี ได้สวนาการฟังพระนาคเสนวิสัชนาฉะนี้ จึงมีพระ ราชโองการสรรเสริญว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา อันว่าปริศนานี้พระผู้เป็น เจ้าวิสัชนาแจ่มแจ้งเป็นอันดี ทีนี้แหละจะได้ทำลายเสียซึ่งคำเดียรถีย์ทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้า ขยายความนี้ประกอบด้วยอรรถพยัญชนะเป็นอันดี พระผู้เป็นเจ้าว่าถ้วนถี่ให้แจ้งทุกประการ ในกาลบัดนี้
เวสสสันตรปัญหา คำรบ ๕ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๔๐๓ - ๔๑๔. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=169              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_169

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]