ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
นิพพานสัจฉิกรณปัญหา ที่ ๖
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา ตุมฺเห ภณถ พระผู้เป็นเจ้าเจรจาไว้กับโยมว่า พระนิพพานนั้น น อดีตํ ใช่ อดีตล่วงไป น อนาคตํ ใช่อนาคตจะมาเบื้องหน้า น ปจฺจุปฺปนฺนํ ใช่ปัจจุบัน น อุปฺปทานียํ ใช่สิ่ง อันใครๆ จะให้เกิดขึ้นได้ โย โกจิ ปุคฺคโล อันว่าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง อิธ สาสเน ในพระศาสนานี้ แม้ว่าปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิบัติแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน โส ปุคคฺโล อันว่าบุคคลที่ ปฏิบัติกระทำให้แจ้งซึ่งทางพระนิพพานนั้น ได้ชื่อว่ากระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันยังมิได้ บังเกิด หรือได้ชื่อว่ายังพระนิพพานให้บังเกิดแล้ว จึงกระทำให้แจ้ง              พระนาคเสนจึงเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลที่ ปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิบัติกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้น ทำให้แจ้งพระนิพพานที่เกิดแล้วก็ได้ที่ยัง มิได้บังเกิดก็ได้ หรือจะว่าให้พระนิพพานบังเกิดขึ้นแล้ว จึงกระทำให้แจ้งก็ได้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระ นาคเสนผู้ปรีชา ที่พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ ยังเคลือบแคลงกำบังอยู่ โยมนี้อุตส่าห์ถามเพื่อจะให้รู้ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาให้เข้าใจตามที่ได้ศึกษามา ด้วยชนทั้งหลายนี้ประกอบไปด้วยวิมัติ สงสัยใหลหลง จงวิสัชนาให้แจ้งก่อน              พระนาคเสนวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เอสา- นิพฺพานธาตุ อันว่านิพพานธาตุนี้มีอยู่ สุขา ปณีตา มีสุขประณีตและละเอียดยิ่งนัก สมฺมา- ปฏิปนฺโน อันว่าบุคคลปฏิบัติดี สงฺขาเร สมฺมสนฺโต เมื่อพิจารณาซึ่งสังขารธรรม ชินานุ- สิฏฺฐิยา ตามคำสมเด็จพระชินสีห์สั่งสอนมา ปญฺญาย ก็จะกระทำให้แจ้งได้ด้วยปัญญา เปรียบ อุปมาดุจศิษย์ที่เรียนวิชาในสำนักอาจารย์เชื่อถือตามที่อาจารย์สั่งสอนมา วิชฺชํ ปญฺญาย ก็ กระทำวิชชาให้แจ้งได้ด้วยปัญหา มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารความเปรียบ ประการนี้ ยถา มีครุวนาฉันใดก็ดี พระโยคาวจรบุคคลที่ปฏิบัติตามกระแสพระพุทธฎีกาเป็น สัมมาปฏิบัติ สำเร็จธรรมวิเศษแล้ว ก็กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานธาตุนั้น เอวเมว ก็มีอุปไมย เหมือนศิษย์ที่เชื่อถือตามที่อาจารย์สั่งสอนมาแล้ว กระทำวิชชาให้แจ้งด้วยปัญญานั้น ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร มีพระราชโองการถามว่า ก็พระนิพพานนั้น จะพึง เห็นได้อย่างไรเล่า พระผู้เป็นเจ้า              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ พระนิพพานนั้นเป็น ที่ปราศจากทุกข์ หาอุปัทวันตรายมิได้ พึงเห็นได้โดยลักษณะที่เป็นของละเอียดและเกษม สำราญจืดสนิทประณีตสะอาดและเยือกเย็นนัก เปรียบปานดุจบุรุษผู้หนึ่งอยู่ใกล้กองเพลิงร้อน ด้วยเพลิงอันติดอยู่ที่กองเพลิงนั้น บุรุษผู้นั้นก็หลีกออกไปให้พ้นกองเพลิงนั้น ไปอยู่เสียในที่อื่น อันปราศจากเพลิงอันร้อน บุรุษผู้นั้นก็อยู่เป็นสุขสำราญ มหาราช ขอถวายพระพรบพิตร พระราชสมภาร ความเปรียบประการนี้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าร้อนอยู่ด้วย เพลิงทั้ง ๓ กอง คือราคะโทสะโมหะหากเผาผลาญอยู่ เมื่อปฏิบัติชอบตามพระพุทธฎีกาด้วย โยนิโสมนสิการแล้ว ก็ออกห่างจากเพลิง ๓ กองนั้นได้ ไปอยู่ในโอกาสอันเป็นที่เย็นสบาย ดับ เสียซึ่งเพลิงเหล่านั้น อันนี้ได้แก่พระอรหัต ชื่อว่ากระทำพระนิพพานให้แจ้ง มีอุปไมยเหมือน บุรุษร้อนไฟ หลีกเข้าไปสู่ที่อันสบายฉะนั้น              มหาราช ขอถวายพระพรบพิตพระราชสมภาร อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ อันบ่ายหน้าเข้าสู่ป่า เพื่อจะแสวงหาฟืนมาเผาซากศพแห่งงูสุนัขและมนุษย์ บุรุษผู้นั้นเมื่อเผา ศพนั้นร้อนรนด้วยเปลวไฟที่เผาศพ ครั้นว่าเผาศพแล้วหลีกจากที่นั้นมาสู่โอกาสแห่งหนึ่ง ก็ เป็นสุขสำราญ ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ซากศพนั้นได้แก่เบญจกามคุณ บุรุษผู้ เผาศพนั้น ได้แก่พระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติ และกิริยาที่หลีกจากที่นั้นมาสู่ที่โอกาสแห่งหนึ่ง อัน เป็นสุขสำราญนั้น ได้แก่พระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข นะพระราชสมภาร              มหาราช ขอถวายพระพร สมเด็จบรมบพิตรจงทรงสวนาการอุปมาอีกสถานหนึ่งให้ ยิ่งขึ้นไป เอโก ปุริโก ยังมีบุรุษผู้หนึ่งอยู่ในที่อันประกอบไปด้วยภัย มีจิตหวาดไหวเป็นนิรันดร์ จึงหลีกจากสถานที่นั้นเข้าสู่ที่อันหาภัยมิได้ บุรุษนั้นก็เป็นสุขสำราญ ได้แก่พระโยคาวจรเจ้า ท่านกลัวซึ่งทุกข์ ๔ กองคือชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ ก็หลีกออกจากที่อันประ กอบด้วยภัยคือทุกข์ทั้ง ๔ นั้นมาสู่พระนิพพานอันปราศจากทุกข์ทั้งปวงนั้น              มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ประการหนึ่ง เปรียบปานดุจบุรุษอัน สัญจรไป ในที่อันมีเลนตมเดินลำบาก บุรุษผู้นั้นเพียรหลีกออกจากที่นั้น มาสู่ที่อันดอนบริสุทธิ์ อันสะอาดก็เดินสำราญ ความประการนี้ มีครุวนาฉันใด ขอถวายพระพร ได้แก่พระโยคาวจรเจ้า เมื่อแรกนั้นยังเดินในทางอันมีเลนตมกล่าวคือกิเลส ครั้นหลีกออกได้ สิ้นอาสวะแล้วก็เข้าสู่ที่อัน แผ้วคือที่ดอน เดินเล่นเย็นสำราญกล่าวคือพระนิพพานนั้น บพิตรจงทราบโดยอุปมาอุปไมยฉะนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร มีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา กินฺตํ สจฺฉิกโรติ ก็พระโยคาวจรเจ้าปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่าได้กระทำ พระนิพพานให้แจ้งเล่า พระผู้เป็นเจ้าพระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ พระโย- คาวจรเจ้ามาพิจารณาซึ่งสังขารโดยจำเพาะเจาะจง ก็เห็นกองทุกข์ทั้ง ๔ คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ แต่ยังแลเห็นสุขเจืออยู่เล็กน้อย ในเบื้องต้นบ้าง ในท่ามกลางบ้าง ในที่ สุดบ้าง ทีนั้นจิตก็งงงวยไป ไม่รู้ว่าจะจับเอาที่ตรงไหน เปรียบปานดุจดังบุรุษอันแลไม่เห็น เบื้องต้นและท่ามกลางและที่สุดแห่งก้อนเหล็กแดงที่ลุกเป็นไฟโชนอยู่ตลอดวันอันรุ่งเรือนร้อนร้ายนัก ไม่รู้ที่ว่าจะดับตรงไหนได้ ยถา ความที่ว่านี้ มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้านั้น ถึงเห็นชาติ ชราพยาธิมรณะในกองสังขารก็ดี แต่ไม่แน่นอนตามเป็นจริงอย่างไร ยังเห็นมีสุขเจืออยู่บ้างใน เบื้องต้นและท่ามกลางและที่สุด อันนั้นทำให้งวยงงไป ไม่เห็นศูนย์ที่จะจับตรงไหน จึงจะกระทำ พระนิพพานให้แจ้งได้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของพระโยคาวจรเจ้านั้นก็ไม่มีความ ยินดี จะปรกติหามิได้ กายก็เร่าร้อน เป็นผู้หาที่พึ่งพำนักอาศัยมิได้ ขณะนั้น ก็เบื่อหน่ายในภพทั้ง ๓ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ หมดความยินดีที่จะเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ดังหนึ่งว่าบุรุษที่เข้า ไปอยู่ในกองเพลิงฉะนั้น ตกว่าบุรุษที่เข้าไปอยู่ในกองเพลิงที่ลุกรุ่งเรืองร้อนร้ายนั้น เป็นผู้ไม่มี อาลัยในกองเพลิง เบื่อหน่ายอยากจะหลีกหนีให้พ้นกองเพลิงฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่มีอาลัย เบื่อหน่ายต่อภพทั้ง ๓ ฉันนั้น เมื่อพระโยคาวจรนั้นมีความเบื่อหน่ายเช่นนี้ก็มิได้ประคองจิตอย่างไร ปล่อยไปตามลำพัง ที่นั้นความเห็นแจ้งก็เกิดประจักษ์แก่ท่านจิตนี้เกิดๆ ดับๆ ต่อเนื่องกัน ไปเป็นตัวปฏิสนธิ นำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ทุกชาติทุกภพ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก สิ่งที่ละเอียดประณีตนั้น ก็คือความระงับดับสังขารทั้งหลายสละกิเลสและตัณหาให้สิ้นเชิง ดับ เสียซึ่งราคะทั้งปวง อันได้แก่พระอมตมหานฤพานนั้นเอง เมื่อพระโยคาวจรเจ้ารำพึงการเห็นฉะนี้ จิตก็เลื่อมใสยินดีร่าเริงว่า ได้ที่พึ่งที่อาศัย ดีใจที่สุด เหมือนบุรุษอันหลงทานไม่รู้ว่าจะไปแห่ง หนตำบลใด เที่ยวเสาะแสวงไฟพบทางเข้าก็ยินดีว่า ได้พบทางแล้วฉะนั้น ครั้นทานบำเพ็ญเพียร เป็นสัมมาปฏิบัติต่อไป ประคองสติและวิริยะให้มั่งคง เมื่อได้บรรลุพระนิพพานมนสิการไปๆ มาๆ มิช้าก็ล่วงโลกิยภูมิ ย่างขึ้นสู่โลกุตรภูมิ บรรลุธรรมวิเศษคือพระอรหัตผล อันไม่เป็นที่ทำ ให้เวียนวนในสงสารวัฏต่อไป มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ พระโยคาวจรปฏิบัติดังถวาย วิสัชนามานี้แล ท่านกล่าวว่า ได้ทำพระนิพพานให้แจ้ง ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร ได้ทรงสวนาการก็สิ้นสงสัยทรงสาธุการว่า สาธุ ภนฺเต ข้าแต่พระนาคเสนผู้ปรีชา ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ไพเราะนักหนา สมฺปฏิจฺฉามิ โยมจะ รับไว้ปฏิบัติสืบไปในกาลบัดนี้
นิพพานสัจฉิกรณปัญหา คำรบ ๖ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๔๕๙ - ๔๖๑. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=180              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_180

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]