ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
จักกวัตติวรรค ที่ ๓
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลาช จึงมีพระราชโองกการประภาษถามในองค์ ๕ แห่งปฐพีกะพระนาคเสนสืบต่อไป              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า องค์แห่งปฐพีนั้น บุคคลจะเรี่ยรายลงซึ่งของพึงใจ และ มิได้พึงใจ คือเสมหะและน้ำมูกน้ำลาย ถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงก็ดี ปฐพีมิได้ยินดียินร้าย ยถา มี ครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้านั้น จะได้ลาภอันพึงใจก็ดี จะมียศหรือความเลื่อมยศก็ดี จะได้สรรเสริญนินทาสุขทุกข์สิ่งใดๆ ก็ดี ก็มีอารมณ์เป็นอุเบกขาคือคงที่ไม่หวั่นไหว ดุจปฐพี ฉะนั้น นี่เป็นองค์แห่งปฐพีเป็นปฐม อนึ่ง องค์แห่งปฐพีที่ ๒ คือ ธรรมดาแผ่นดินห่อนถึงความประดับด้วยเครื่องประดับและ ลูบไล้ ต้องอบด้วยกลิ่นของอาตมา ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าย่อมประดับประดาคือ นุ่งห่มกาสายะ อย่าได้ละเสียซึ่งกลิ่นแห่งตน กล่าวคือพระจตุปาริสุทธิศีล และปาฏิโมกขสังวรศีล และปัจจยสันนิสิตศีล และอินทรียสังวรศีล มีอุปมาดังนั้น นี่เป็นองค์แห่งปฐพีที่ คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าปฐพีย่อมต้น มิได้ป็นโพรง เป็นแท่งเดียวฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเจ้าพึงรักษาศีล บริสุทธิ์เป็นแท่งเดียว มิได้ด่างพร้อยเป็นช่องเป็นโพรงดุจปฐพีฉะนั้น นี่เป็นองค์แห่งปฐพีที่ คำรบ ๓              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ แผ่นดินที่ทรงไว้ซึ่งคามนิคมชนบท พฤกษาบรรพตแนวนที สระโบกขรณีมฤคปักษีนรนารี มิได้ รู้เบื่อหน่ายเกียจคร้าน ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าย่อมให้โอวาทความสั่งสอน ยัง สัตว์ให้รู้กระแสธรรม ตักเตือนให้อุตสาหะอาจหาญ และมิได้รู้เบื่อที่จะฟังพระสัทธรรมเทศนา ดุจแห่งดินฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์ที่ ๔ แห่งปฐพี              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ แผ่นดินนั้นที่จะคิดร้ายเบียดเบียนสัตว์หามิได้ หรือจะยินดีต่อผู้ใดก็หา มิได้ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็พึงปราศจากความยินดีและความยินร้าย ดุจพื้นพสุธาฉะนั้น นี่ เป็นองค์คำรบ ๕ แห่งปฐพี ยุติด้วยคำอันอุบาสิกาชื่อว่า จุลสุภัททากล่าวไว้ว่า                                        เอกญฺจปาหํ วาสิยา คจฺเฉ กมฺปิตมานโส                                        เอกญฺจปาหํ คนฺเธน อาลิมฺเปยฺย ปโมทิโต                                        อหมสฺหิ ปฏิฆํ นตฺถิ ราโค อสฺมิ น วิชฺชติ                                        ปฐวิสมํ จิตฺตํ ตว ตาทิสา สมณา มม              มีความว่า แต่ก่อนข้าได้มีใจกำเริบ ฆ่าสัตว์ด้วยอาวุธมีดพร้าอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง ข้าลูบทาของหอมแล้วชื่นชมยินดี บัดนี้จิตข้าไม่มีปฏิฆะโทสะและราคะอัสมิมานะ จิตของท่าน เป็นดุจหนึ่งพื้นพสุธา สมณะของข้าก็เช่นนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามองค์ ๕ แห่งน้ำสืบไป              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าน้ำที่ไม่ขุ่นไม่มัว ใสอยู่เป็นปรกติ บริสุทธิ์นักฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็มิได้พูดจา อุบายแยบคายจะหาลาภ มีจิตบริสุทธิ์เป็นอันดี ดุจน้ำอันบริสุทธิ์ฉะนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งน้ำ เป็นปฐม              ปุน จ ปรํ ประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าน้ำแล้ว เย็นอยู่เป็นปรกติ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าประกอบด้วยขันตี เมตตา มิได้มีวิหิงสา คิดกรุณาสัตว์ มีจิตเมตตาจริงๆ ดุจน้ำอันเย็นฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์ แห่งน้ำที่คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า อยํ อาโป อันว่าน้ำนี้มีชาติอันสะอาด สิ่งใดเป็นมลทิน ก็ซักล้างให้สะอาดได้ฉันใด พระโยคาวจรเจ้า จะเข้าไปป่าก็ดี จะเข้าไปบ้านก็ดี ก็พึงกระทำ มิให้ มีโทษในอุปัชฌาย์และอาจารย์ หมดมลทินดุจน้ำฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งน้ำที่คำรบ ๓              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ผู้เป็นอัคร กษัตริย์อันประเสริฐ อยํ อาโป อันว่าน้ำนี้เป็นที่ปรารถนาแห่งคนเป็นอันมาก ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงยังจิตให้สัลเลขสันโดษ ก็จะเป็นที่ปรารถนาทำบุญแห่งมนุษย์นิกรและเทวา ทั้งปวง ดุจน้ำอันเป็นที่ปรารถนาแห่งคนเป็นอันมากฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งน้ำคำรบ ๔              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อยํ อาโป อันว่าน้ำนี้ย่อมให้สำเร็จประโยชน์แก่คนทั้งปวงอันดื่มกิน ยถา มีครุวนาฉันใด พระโย- คาวจรเจ้าจะได้ทะเลาะวิวาทและจะได้ประมาทด้วยกายวาจาใจ แก่บุคคลผู้อื่นนั้นหามิได้ มีแต่ จะให้สัตว์เป็นสุข ดุจน้ำอันเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งน้ำที่คำรบ ๕ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระมหากรุณาเจ้า ตรัสไว้ในกัณหชาดกว่า                           วรญฺเจ เม อโท สกฺก สพฺพภูตานมิสฺสร                           น มโน วา สรีรํ วา มํ กเต สกฺก กสฺสจิ                           กทาจิ อุปหญฺเญตฺถ เอตํ สกฺก วรํ วเร              มีความว่า ข้าแต่สมเด็จอมรินทราธิบดีอันมีนามว่าสักกะ ผู้เป็นอิสระเลิศยิ่งใหญ่กว่า สรรพสัตว์ ถ้าแลว่า พระองค์จะพระราชทานพรแก่ข้าพระบาทแล้วไซร้ ข้าพระบาทจะขอเลือก เอาพรนี้ คือข้าพระบาทมีความปรารถนา มิให้ผู้ใดผู้หนึ่งรบกวนใจให้เดือดร้อน และเบียด เบียนร่างกายให้เจ็บป่วยเวทนา แม้ในเวลาบางคราวบางสมัย ขอพระองค์จงประสาทประสิทธิ์ พรอันนี้ ให้แก้ข้าพระบาทตามประสงค์ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามว่า องค์ ๕ แห่งเพลิงนั้น คืออะไรบ้าง พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อันว่าองค์แห่งเพลิงเป็นปฐมนั้น คือ ธรรมดาว่าเพลิงย่อมเผาเอาซึ่งสิ่งทั้งปวง เป็นต้นว่า หญ้า แห้งนั้นให้ไหม้ได้ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงเผาเสียซึ่งกิเลสอันเป็นภายในและภายนอก อันเป็น อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ด้วยเพลิงคือเมตตาญาณฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งเพลิงเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้เป็นอัคร กษัตริย์อันประเสริฐ เตโช อันว่าเพลิงนี้ นิทฺธิโย อการุณิโก จะได้กรุณารักใคร่เชื้อหญ้าและไม้ ผุทั้งหลายหามิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็มิได้รักใคร่มิได้เอ็นดูกรุณาต่อกิเลส ทั้งปวง ดุจไฟฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งเพลิงที่คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ โตโชนั้นห้ามเสียซึ่งหนาวได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้า ก็ พึงทำให้ร้อน คือ กระทำความเพียรฆ่าเสียซึ่งกิเลส ดุจเพลิงอันห้ามเย็นและหนาวฉันนั้น นี้ เป็นองค์แห่งเพลิงที่คำรบ ๓              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ เตโช อันว่าเพลิงนั้น มีแต่จะพลุ่งไปให้ร้อนให้อุ่น ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าอย่าพึงคิด มัวเมาและเบียดเบียนผู้ใด พึงกระทำใจดุจเพลิงอันร้อนทำให้อุ่นฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งเพลิงที่ คำรบ ๔              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ องค์ แห่งเพลิงเป็นคำรบ ๕ นั้น ได้แก่แสงเพลิงอันสว่าง กำจัดเสียซึ่งมือมนอนธการ ยถา มีครุวนา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงสำแดงซึ่งญาณาโลก กำจัดเสียซึ่งอวิชชันธการ คือกองอวิชชาอันมืด ฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งเพลิงที่คำรบ ๕ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ- ภควันตบพิตร ตรัสโปรดประทานสั่งสอนพระบวรพุทธปิโยรสราหุลเถระ ด้วยบาลีว่า              เตโชสนํ ราหุล ภาวนํ ภาเวหิ เตโชสมํ หิ เต ราหุล ภาวกรํ ภาวยโต เย อุปฺปนฺนา กุสลา ตสฺส จิตฺตํ น ปริยาทาย ฐสฺสติ              พระพุทธฎีกานี้สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธภควันตบพิตรตรัสโปรดว่า ดูกรราหุล ภาวนาเสมอด้วยเตโช เธอจงจำเริญภาวนากระทำจิตของอาตมาให้เหมือนเตโช เมื่อเธอเจริญ ภาวนาดังนี้ จะเกิดมีแต่กุศล อกุศลก็จะไม่ครอบงำจิตของเธอดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสถาว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้ เป็นเจ้าผู้ปรีชาเฉลิมปราชญ์ องค์ ๕ แห่งวาโยนั้นอย่างไร พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ ธรรมดาว่าวาโยย่อมพัดหอบหวนกลิ่นดอกไม้ในแถวแนวป่าให้ หอมหวนเฟื่องฟุ้งไป ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงยินดีในราวป่ามีดอกไม้อันหอม บริสุทธิ์ คือพระวิมุตติธรรม ดุจวาโยพัดไปในป่าฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งวาโยเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ มหาราช อีกประการหนึ่ง ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์อันประเสริฐ วาโย อันว่าลมย่อมพัดหมู่ไม้ทั้งปวงให้วินาศ ทำให้โค่นได้หมดตลอดถึงรากแก้วฉันใด พระ โยคาวจรเจ้าก็พึงพิจารณาไปในราวป่าคือสังขารธรรม แล้วพึงกำจัดเสียซึ่งกิเลส ทำให้พินาศ หลุดถอนจากสันดานดุจวาโยฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งวาโยที่คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็นอัครกษัตริย์ อันประเสริฐ ธรรมดาว่าวาโยย่อมพัดไปในอากาศฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงกระทำจิตให้เที่ยว ไปในโลกุตรธรรม ดุจลมอันพัดไปในอากาศฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งวาโยที่คำรบ ๓              ปุน จ ปรํ ประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ วาโย อันว่าลมย่อมพัดพากลิ่นฟุ้งไปฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็พึงเสพกลิ่นศีลแห่งตน ดุจลมอันหอบ หวนให้กลิ่นฟุ้งไปฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งวาโยที่คำรบ ๔              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า วาโย อันว่าลม นิราลโย ปราศจากที่อยู่หาอาลัยมิได้ มิได้ปรากฏว่าอยู่ที่ไหน ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้ามิได้อาลัยด้วยที่อยู่ พ้นจากสัน- ถวะรักใคร่ท่านผู้ใด ดุจวาโยฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งวาโยที่คำรบ ๕ ยุติด้วยพระพุทธฎีกา ที่สมเด็จ พระมหากรุณาธิคุณเจ้า ตรัสไว้ในสุตตนิบาติว่า                           สนฺถวโต ภยํ ชาตํ นิเกตา ชายเต รโช                           อนิเกตมสนฺถวํ เอวํ เว มุนิทสฺสนํ              มีความว่า เมื่อไม่มีที่อยู่ ไม่มีสันถวะคือรักใคร่แล้ว ความกลัวและธุลีก็หามีไม่ นี้เป็น ความเห็นของนักปราชญ์ทั้งหลาย ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้ เป็นเจ้าผู้ปรีชาเฉลิมปราชญ์ องค์ ๕ แห่งบรรพตนั้นอย่างไร              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ ธรรมดาว่าภูเขาเป็นของไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน ตั้งอยู่คงที่แม้จะถูก ลมพัดสักเท่าใดๆ ก็ไม่สะเทือนได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงเป็นผู้คงที่ ไม่หวั่น ไหวในความนับถือและไม่นับถือ ในความทำดีและทำชั่ว ความเคารพและไม่เคารพ ในยศและ ความเสื่อมยศ ความนินทาสรรเสริญและทุกข์สุข และรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อันบุคคลพึง ปรารถนาและไม่ปรารถนาไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองใน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ไม่ลุ่มหลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง เป็นผู้ที่ ดุจภูเขาฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งบรรพตเป็นปฐม สมเด็จพระพุทธฎีกา อันสมเด็จพระมหากรุณา ธิคุณเจ้าตรัสไว้ว่า                                        เสโล ยถา เอกฆโน วาเตน น สมีรติ                                        เอวํ นินฺทาปสํสาสุ น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา              มีความว่า ภูเขาเป็นแท่งเดียวไม่มีโพรง ย่อมไม่สะเทือนหวั่นไหวด้วยลมฉันใด บัณฑิต ทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหว ในเพราะความนินทาและสรรเสริญเหมือนฉันนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่ง ภูเขาเป็นของแข็งกระด้าง จะได้ระคนคลุกคลีด้วยสิ่งใด สิ่งหนึ่งหามิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็พึงกระด้าง ไม่พึงระคนคลุกคลีด้วย บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ดุจบรรพตฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งบรรพคำรบ ๒ ยุติด้วยพระพุทธฎีกา ที่สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธภควันตบพิตรตรัสไว้ว่า                                        อสํสฏฺฐํ คหฏฺเฐหิ อนคาเรหิ จูภยํ                                        อโนกฺกาสารี อปฺปิจฺฉํ ตมหํ พูรูมิ พฺราหฺมณํ              มีความว่า พระโยคาวจรเจ้าองค์ใด เป็นผู้ไม่มีความห่วงใยอาลัยที่อยู่และมักน้อยสันโดษ มิได้ระคนปนอยู่ด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย ตถาคตกล่าวว่า พระโยคาวจรนั้นเป็น พราหมณ์ ดังนี้ ขอถวายพระพร              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้เป็นอัคร กษัตริย์อันประเสริฐ วีชํ อันว่าพืชมิได้งอกขึ้นเหนือภูเขาอันมิศิลาเป็นแท่งเดียว ยถา มีครุวนา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้ามิให้กิเลสงอกขึ้นในสันดาน ปานดุจภูเขาฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งบรรพต ที่คำรบ ๓ ยุติด้วยคำอันพระสุภูติเถรเจ้ากล่าวไว้ว่า                                        ราคูปสํหิตํ จิตฺตํ ยทา อุปฺปชฺชเต มม                                        สยเมว ปจฺจเวกฺขิตฺวา เอกโก ตํ ทเมมหํ                                        รชฺชสิ รชนีเยสุ ทุสฺสนีเยสุ ทุสฺสติ มุยฺหเส มุยฺหนีเยสุ นิกฺขมสฺส วนา ตุวํ                                        วิสุทฺธานํ อยํ วาโส นิมฺมลานํ ตปสฺสินํ                                        มา โว วิสุทฺธํ ทุสฺเสสิ นิกฺขมสฺส วนา ตุวํ              มีความว่า จิตอันประกอบด้วยราคจริต เกิดในสันดานของเราเมื่อใดแล้ว เราก็พิจารณา ด้วยตนเอง เราผู้เดียวทรมานตัวเรา ใครจะได้ช่วยทรมานหามิได้ ตัวท่านนี้ยังกำหนัดยินดีอยู่ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ยังขัดเคืองในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ยังหลงในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ท่านอย่าได้อยู่ในป่านี้ ท่านจงออกไปจากป่านี้ อันว่าป่านี้เป็นที่อยู่ แห่งท่านผู้หมดจดทั้งหลายผู้มีศีลมีตบะ จะได้เป็นที่อยู่แห่งคนทุศีลหามิได้ ท่านอย่าประทุษร้าย ซึ่งท่านผู้บริสุทธิ์ จงรีบออกไปจากป่าเสีย ดังนี้ ขอถวายพระพร              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ผู้เป็นอัครกษัตริย์ อันประเสริญ ธรรมดาว่าบรรพตย่อมสูงปรากฏ ยถา มีครุวานาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าผู้ ประเสริฐก็ประกอบด้วยปัญญาอันสูงสุดดุจภูเขาฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งบรรพตคำรบ ๔ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาอันพระสัมมาสัมพุทธภควันตบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดประทานไว้ว่า                                        อปฺปมาทํ ปมาเทน ยทา นูทติ ปณฺฑิโต                                        ปญฺญาปาสาทมารุยฺห อโสโก โสกินึ ปชํ                                        ปพฺพตฏฺโฐว ภุมฺมฏฺเฐ ธีโร พาเล อเวกฺขติ              มีความว่า บัณฑิตย่อมบรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาทเมื่อใด เมื่อนั้น ท่านขึ้นสู่ปัญญาเพียงดังปราสาท หาความเศร้าโศกมิได้ พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้เศร้าโศกอยู่ นักปราชญ์ย่อมพิจารณาเห็นคนพาล ดุจบุรุษผู้ยืนอยู่บนภูเขาแลเห็นคนผู้ยืนอยู่บนแผ่นดิน ฉะนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าบรรพตมิได้โอนเอนไป ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็มิได้โอนเอนไปใน ด้วยคำอันนางสุภัททาอุบาสิกกล่าวไว้ว่า                                        ลาเภน อุนฺนโต โลโก อลาเภน จ โอนโต                                        ลาภาลาเภน เอกฏฺฐา ตาทิสา สมณา มม มีความว่า ธรรมดาสัตว์โลกเป็นโลกีย์ แม้ว่าได้ลาภแล้วก็ฮักเหิมเพ้อไป เมื่อ เสื่อมลาภก็เศร้าโศกเสียในอกตรอม อันสมณะของเรานี้ จะได้น้อมไปด้วยลาภใช่ลาภหามิได้ ตั้งอยู่คงที่ จะเป็นดุจโลกียสัตว์นั้นหามิได้ ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ปรีชาเฉลิมปราชญ์ องค์ ๕ แห่งอากาศนั้น อย่างไรเล่า              พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อากาโส นาม ชื่อว่าอากาศ อเคยฺโห หาผู้จะถือเอามิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึง กระทำ น้ำใจ อย่าให้กิเลศถือเอาได้ ดุจอากาศฉันนั้น นี่เป็นองค์แห่งอากาศเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าอากาศเป็นที่เที่ยวแห่งฤษีและดาบส ยถา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็พึงกระทำ อารมณ์ให้เที่ยวไปในสังขาร พิจารณาเห็นเป็นพระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา นี่แหละเป็นองค์ แห่งอากาศที่คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ อากาโส นาม ชื่อว่าอากาศ อสณฺฐิโต มิได้เป็นที่ตั้ง ยถา มีครุวนา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงกระทำอารมณ์ให้ปราศจากลาภทั้งปวง มิได้ยินดีในภพ ดุจอากาศ อันหาที่ตั้งมิได้ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งอากาศที่คำรบ ๓              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ อากาโส อันว่าอากาศ อนนฺโต หาที่สุดมิได้ อปฺปเมยฺโย อปฺปมาโณ จะนับจะประมาณไปว่ากว้างใหญ่เท่าไร ก็ประมาณมิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระ โยคาวจรเจ้าก็พึงมีศีลมารยาทประมาณมิได้ และมีพระปัญญาประมาณมิได้ ดุจอากาศฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งอากาศที่คำรบ ๔              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้มีศักดิ์ เป็นอัครกษัตริย์อันประเสริฐ อากาโส อันว่าอากาศมิได้ขัดข้องเปล่าอยู่ หาปลิโพธมิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงกระทำอารมณ์มิได้ขัดข้องอยู่ในกิเลสทั้งปวง และมิได้เป็น ปลิโพธด้วยลาภและอาวาสและตระกูล ย่อมละหมู่และคณะ ดุจอากาศอันหาที่ตั้งมิได้ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งอากาศคำรบ ๕ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดา สัมมาสัมพุทธบพิตรเจ้า ทรงพระกรุณาให้โอวาทแก่พระพุทธโอรสราหุลเถรเจ้าดังนี้ว่า เสยฺยถาปิ ราหุล อากาโส กตฺจถจิ ปติฏฺฐิโต เอวเมว โข ตฺวํ ราหุล เต อากาสสฺส สมภาวนํ ภาเวตพฺพํ.              มีความว่า ดูรานะราหุล อันว่าอากาศหาที่ตั้งมิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด ดุรานะราหุล เธอจงจำเริญภาวนาให้จิตนั้นเปล่า ดุจอากาศฉันนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามต่อไปว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้านาคเสนผู้ปรีชาญาณ องค์แห่งพระจันทร์ ๕ นั้นอย่างไร              พระผู้เป็นเจ้านาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ จนฺโท นาม ธรรมดาว่าพระจันทร์ ครั้นสุกปักษ์ข้างขึ้นแล้วจำเริญ พระรัศมีสว่างขึ้นไป ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงเจริญอาจาระและศีลคุณวัตรปฏิบัติ เป็นอันดี ยังไตรปิฎกและโลกุตระ และชมฌานให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป พึงประกอบสำรวมอินทรีย์ ประมาณที่จะบริโภคอาหาร และประกอบความเพียรเครื่องปลุกใจให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ดุจพระจันทร์ อันมีพระรัศมีรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปในสุกปักษ์ข้างขึ้นฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระจันทร์เป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ พระจันทร์นั้นก็จัดเป็นอธิบดีอย่างหนึ่ง ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงประพฤติใน เรื่องที่เป็นใหญ่เป็นฉันทาธิบดี ปรารถนาสัลเลขเหมือนพระจันทร์ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์ แห่งพระจันทร์ที่คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบิตรพระราชสมภาร ผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ ธรรมดาว่าพระจันทร์นั้นย่อมเที่ยวไป เห็นปรากฏในราตรี ยถา มี ครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงเที่ยวไปในที่สงัดพระจันทร์ฉันนั้น นี่แหละเป็น องค์แห่งพระจันทร์ที่คำรบ ๓              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า พระจันทร์นั้นมีวิมานเป็นธงชัยฉันใด พระโยคาวจรเจ้า ก็มีศีลเป็นธงชัย ดุจพระจันทร์ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระจันทร์ที่คำรบ ๔              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าพระจันทร์เจ้าอันบุคคลไม่อ้อนวอนไม่ปรารถนาก็ย่อมขึ้นส่องโลก ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้า เมื่อตระกูลไม่อาราธนาไม่ปรารถนา ก็พึงเข้าไปสู่มาหา ดุจพระจันทร์ฉันนั้น นี่แหละเห็นองค์แห่งพระจันทร์ที่คำรบ ๕ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระมหากรุณาสัมมา- สัมพุทธสัพพัญญูบรมครูเจ้า ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า จนฺทูปมา ภิกฺขเว กุลานิ อุปสงฺกมถ อวงฺกสฺส กายํ อวงฺกสฺส จิตฺตํ นิจฺจํ วิริยํ อปคพฺโภ.              มีความว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเขาไปสู่ตระกูลเหมือนพระจันทร์ แต่อย่าคะนองกายคะนองจิต อุตสาหะสำรวมด้วยดี เข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายของผู้อื่น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองกาตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้านาคเสนผู้เป็นปรีชาเฉลิมปราชญ์ องค์แห่งพระอาทิตย์ ๗ นั้น เป็นอย่างไรเล่า              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ ธรรมดาว่าพระอาทิตย์ย่อมเผาพืชทั้งปวงให้แห้งไป ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงเผาเสียซึ่งกิเลสทั้งปวงให้แห้งไปเหมือนฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระ อาทิตย์เป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อัน ว่าพระอาทิตย์ย่อมกำจัดเสียซึ่งอันธการคือมืดให้สว่าง ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้า พึงกำจัดเสียซึ่งราคะทั้งปวงอันมืด และโทสะทั้งปวงอันมืด และโมหะทั้งปวงอันมืด และทิฐิอันมืด และกิเลสอันมืด และทุจริตอันมืด ให้สว่างจากสันดานฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระอาทิตย์ ที่คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้มีศักดิ์เป็น อัครกษัตริย์อันประเสริฐ ธรรมดาว่าพระอาทิตย์ย่อมเวียนไปตาม คือเที่ยวไปเนืองๆ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้า พึงทำโยนิโสมนสิการในปฏิบัติ อย่ารู้ขาดดุจพระอาทิตย์อัน เวียนไปฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระอาทิตย์ที่คำรบ ๓              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าพระอาทิตย์ย่อมมีระเบียบพระรัศมี ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็มี ระเบียบในอามรณ์ดุจพระอาทิตย์ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระอาทิตย์ที่คำรบ ๔              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ พระสุริยะย่อมยังคนทั้งหลายให้ร้อนด้วยรัศมี ยถา มีครุวนาฉันใด พรโยคาวจรเจ้าก็ยังมนุษย์ โลกกับทั้งเทวโลกให้ร้อนด้วยมารยาท ศีลคุณ วัตรปฏิบัติ และฌานวิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ และอินทรีย์ และพระโพชฌงค์และสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท ดุจพระอาทิตย์อันมี โอภาสอันร้อนฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์ที่คำรบ ๕ แห่งพระอาทิตย์ ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าพระอาทิตย์เที่ยวไปย่อมกลัวภัยคืออสุรินทราหูเป็นอันมาก ยถา มีครุวนาฉันใด พระ โยคาวจรเจ้าเห็นสัตว์โลกอันทุกข์อยู่ในทุคติ หรือมีสันดานข้องอยู่ด้วยกิเลสและทิฐิ อันลามก ปฏิบัติผิดทาง ก็มีน้ำใจสลดสังเวช ดุจพระอาทิตย์อันกลังอสุรินทราหูฉันนั้น นี่แหละ เป็นองค์แห่งพระอาทิตย์ที่คำรบ ๖              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ พระ อาทิตย์ย่อมส่องให้เห็นช่องดีชั่วได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงแสดงธรรมเป็น โลกียะและโลกุตระ ด้วยอินทรีย์ พละ โพชฌงค์สติปัฏฐานสัมมัปปธานอิทธิบาท ให้แจ้งประจักษ์ ดุจพระอาทิตย์ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระอาทิตย์ที่คำรบ ๗ ยุติด้วยคำอันพระผู้เป็นเจ้า วังคีสเถระกล่าวไว้ว่า                                        ยถา สุริโย อุทยนฺโต รูปํ ทสฺเสติ รูปินํ                                        สุจิญฺจ อสุจิญฺจาปิ กลฺยาณญฺจาปิ ปาปกํ                                        ตเถว ภิกฺขุ ธมฺมธโร อวิชฺชาย ปิหิตํ ชนํ                                        ปชํ ทสฺเสติ วิวิธํ อาทิจฺโจ อุทยํ ยถา              มีความว่า พระอาทิตย์เมื่ออุทัยขึ้น ย่อมส่องให้เห็นรูปแห่งของที่มีรูปทั้งหลาย ย่อม ส่องให้เห็นของสะอาดและสกปรก ทั้งส่องให้เห็นของดีของชั่วได้ ยถา มีครุวนาฉันใด ภิกษุผู้ ทรงธรรมย่อมยังหมู่ชนอันอวิชชาปกคลุมแล้ว ให้แลเห็นธรรม ดุจพระอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นมาส่อง ให้เห็นสิ่งต่างๆ ฉันนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามต่อไปว่า ภนฺเต ข้าแต่ พระผู้เป็นเจ้าผู้ปรีชาญาณ องค์ ๓ แห่งท้าวสักกะนั้นอย่างไรเล่า              พระผู้เป็นเจ้านาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ขึ้นชื่อ ว่าท้าวสักกเทวราช ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขส่วนเดียว ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจร เจ้าก็ยินดีใดความสุขเกิดแต่วิเวกอย่างยิ่งโดยส่วนเดียวเหมือนฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งท้าว สักกะเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่ง มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ท้าวสักกะผู้เป็น ใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลายพบเห็นพระธรรมแล้ว ย่อมยกย่องทำความร่าเริงให้เกิด ยถา มีครุวนา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็พึงประคองไว้ซึ่งใจให้เบิกบาน ไม่เกียจคร้าน สงบระงับ ยังความร่าเริง ใจให้เกิดในธรรมเป็นสุขทั้งหลาย และพึงลุกขึ้นทำความเพียรพยายาม เหมือนกับท้าวสักกะ ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งท้าวสักกะที่คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ท้าวสักกเทวราช จะได้เกิดความเบื่อหน่ายในสมบัติของพระองค์หามิได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าไม่ พึงทำความเบื่อหน่ายในเรือนอันว่างเปล่งให้เกิดขึ้น เหมือนท้าวสักกเทวราชฉันนั้น นี่แหละ เป็นองค์แห่งท้าวสักกะที่คำรบ ๓ ยุติด้วยคำอันพระผู้เป็นเจ้าชื่อว่าสุภูติเถรเจ้ากล่าวไว้ว่า                                        ตว สาสเน มหาวีเร ยโต ปพฺพชิโต อหํ                                        เอกสญฺญํ นาภิชานามิ อุปฺปนฺนํ กามสญฺหิตํ              มีความว่า ข้าแต่ท่านผู้มีเพียรใหญ่ เราบวชแล้วในศาสนาของท่าน มิได้ทราบชัดซึ่ง สัญญาอันหนึ่ง ที่อาศัยกามคุณเกิดขึ้นดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้ เป็นเจ้าผู้ปรีชาเฉลิมปราชญ์ องค์ ๔ แห่งสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราชนั้น เป็นไฉน              พระผู้เป็นเจ้านาคเสนจึงถวายวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ผู้ประเสริฐ ธรรมดาพระเจ้าจักรพรรดิราชย่อมยึดเหนี่ยวน้ำใจไพร่ฟ้าประชาราษฎรไว้ได้ด้วย สังคหวัตถุ ๔ ประการ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็ยึดเหนี่ยวน้ำใจของบริษัท ๔ ไว้ ได้และประคองทำใจของบริษัทให้ร่าเริง ดุจพระเจ้าจักรพรรดิราชฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์ ของพระเจ้าจักรพรรดิราชเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร พวกโจรที่เป็น เสี้ยนหนามแห่งแผ่นดินหาเกิดมีไม่ในพระราชอาณาจักรของพระเจ้าจักรพรรดิราช ยถา มีครุ วนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็ไม่พึงให้วิตกทั้งหลาย คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เกิดขึ้นในสันดานได้ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชที่คำรบ ๒ ยุติด้วยคำอัน สมเด็จพระสัพพัญญูบรมครูเจ้าตรัสไว้ว่า                                        วิตกฺกูปสเม จ โย รโต อสุภํ ภาวยตี สทา สโต                                        เอส โข พฺยนีติกาหติ เอส เฉชฺชติ มารพนฺธนํ              มีความว่า ก็ภิกษุรูปใด ยินดีแต่ในธรรมเป็นที่ระงับวิตก มีสติเจริญอสุภะอยู่ทุกเมื่อ ภิกษุนั้นแหละจักกระทำให้สิ้นสุดได้ จักตัดบ่วงมารได้ ดังนี้ ขอถวายพระพร ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระเจ้า จักรพรรดิราชทรงพระคำนึงถึงบุญและบาปทรงสั่งสอนไพร่ฟ้าประชาราษฎรที่อาศัยอยู่ในพระ ราชอาณาจักร ตลอดขอบเขตมีมหาสมุทรเป็นที่สุดเสมอทุกวัน ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจร เจ้าก็พึงพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อยู่ทุกวันๆ ว่า วันแห่งเราผู้ไม่ข้องอยู่ด้วยฐานะ ทั้ง ๓ นี้ ล่วงไปบ้างหรือไม่ แล้วก็ชำระกายวาจาใจให้บริสุทธิ์ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่ง พระเจ้าจักรพรรดิราชที่คำรบ ๓ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เอกนิบาต อังคุตตรนิกายอันประเสริฐว่า บรรพชิตควรพิจาราณาทุกวันๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ดังนี้ ขอถวายพระพร              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร พระเจ้าจักร- พรรดิราชทรงปกครองพระราชอาณาจักรเป็นกวดขันทั้งภายในภายนอก ยถา มีครุวนาฉันใด สันดานได้ ดุจพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้รักษาพระราชอาณาจักรของพระองค์อย่างกวดขันฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชที่คำรบ ๔ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาอันพระมหากรุณา เจ้าตรัสไว้ว่า สติโทวาริโก ภิกขฺเว อริยสาวโก ดังนี้เป็นอาทิ ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระ อริยสาวกมีนายประตูคือสติประจำอยู่ ย่อมละอกุศลเสีย ทำอกุศลให้เกิดได้ และละธรรมที่มีโทษ เสีย เจริญธรรมที่ไม่มีโทษได้ บริหารรักษาตัวทำให้บริสุทธิ์ ดังนี้ ขอถวายพระพร
จบจักกวัตติวรรคที่ ๓ แต่เพียงนี้
             ในที่สุดวรรคนี้ พระคันถรจนาจารย์ประพันธ์คาถาแสดงข้อบทมาติกาที่กล่าวมาข้างต้น ไว้ว่า                                        ปฐวี จ อาโป จาปิ เตโช วาโย จ ปพฺพโต                                        อากาโส จนฺทสุริโย จ สกฺโก จ จกฺกวตฺติ จ              มีความว่า องค์แห่งแผ่นดิน องค์แห่งน้ำ องค์แห่งไฟ องค์แห่งลม องค์แห่งบรรพต องค์แห่งอากาศ องค์แห่งพระจันทร์ องค์แห่งพระอาทิตย์ องค์แห่งท้าวสักกะ องค์แห่งพระเจ้า จักรพรรดิราช องค์เหล่านี้ท่านจัดไว้เป็นวรรคหนึ่งดังนี้แล

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๕๒๗ - ๕๓๙. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=187              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_187

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]