ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
ลาวุลตาวรรค ที่ ๒
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสถามด้วยองค์แห่งน้ำเต้าต่อไป ว่า องค์อัน ๑ แห่งน้ำเต้านั้นอย่างไรเล่า              พระนาคเสนเถรเจ้าจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ ธรรมดา เถาน้ำเต้าย่อมเลื้อยไป เองงวงพันเหนี่ยวหน่วงซึ่งย่อมหญ้าและไม้แห้ง แล้วเลื้อยผ่านไปใน เบื้องบนงอกงามอยู่ ณ เบื้องบนนั้น ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงกระทำอารมณ์ให้ เหมือนเถาน้ำเต้าอันมีงวง หน่วงเอาพระอรหัตด้วยใจ ให้จำเริญอยู่ในพระอรหัตนั้น มหาราช ดูกรบรมบพิตรผู้มีศักดิ์ เป็นอัครกษัตริย์อันประเสริฐ นี่แหละเป็นองค์อัน ๑ แห่งน้ำเต้า ยุติ ด้วยคำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเจ้ากล่าวไว้                                        ยถา ลาวุลตา นาม ติเณ กฏฺเฐ ลตาย วา                                        อาลมฺพิตฺวา โสณฺฑิกาหิ ตโต วฑฺฒติ รูหติ                                        ตเถว พุทฺธปุตฺเตน อรหตฺตผลกามินา                                        อารมฺมเณ อาลมฺพิตฺวา วฑฺฒิตพฺพํ อเสขผลํ มีความว่า ธรรมดาเถาน้ำเต้าย่อมเอางวงเหนี่ยวเลื้อยไปบนหญ้าและไม้แห้งหรือเถาวัลย์ เจริญงอกงามอยู่บนสิ่งเหล่านั้นฉันใด พระพุทธบุตรผู้ใคร่จะบรรลุพระอรหัตผล ก็พึงหน่วง อารมณ์เจริญพระอเสขผลฉันนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จบรมกษัตราธิบดี ทรงพระนามชื่อว่ามิลินท์ปิ่นสาคลราชธานี จึงมีพระราชโองการ ตรัสถามด้วยองค์แห่งประทุมชาติสืบต่อไปว่า องค์แห่งประทุมชาติ ๓ ประการนั้น อย่างไรเล่า              พระนาคเสนเถรเจ้าจึงถวายวิสัชนาว่า ธรรมดาว่าประทุมชาติบัวหลวงเกิดเนื่องเจริญ ขึ้นด้วยอาศัยซึ่งอุทกัง และมิได้ติดไปด้วยอุทกัง ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้ามิได้ ยินดีด้วยตระกูลและหมู่คณะ และลาภยศศักดิ์และการบูชานับถือ และจตุปัจจัยที่บริโภค และ จะได้มีอารมณ์ติดไปด้วยสรรพกิเลสหามิได้ ดุจประทุมชาติอันมิได้ติดด้วยอุทกังนั้น นี่เป็นองค์ แห่งประทุมชาติเป็นปฐม              มหาราช ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่งเล่า ประทุมชาตินั้น ย่อมลอยน้ำอยู่เสมอ มิรู้จม ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็ครอบงำเสียได้ซึ่งสรรพภัยและความโศกลอย อยู่ในโลกุตรธรรมเหมือนประทุมชาติฉะนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งประทุมชาติเป็น คำรบ ๒              มหาราช ดูกรบพิตรผู้เป็นอัครกษัตริย์อันประเสริฐ ประการหนึ่งเล่า ประทุมชาติ นั้น อันลมมีประมาณน้อยพัดถูกต้องแล้ว ก็สะเทือนหวั่นไหว ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจร เจ้าก็พึงสำรวมในกิเลส แม้มีประมาณน้อย และมีปรกติเห็นภัยทั้งปวงย่อมหวั่นไหวต่อกิเลส- ภัยเหมือนประทุมชาตินั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งประทุมชาติที่คำรบ ๓ สมด้วยพระพุทธฎีกาที่ สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดประทานไว้ว่า              อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ.              มีความว่า อันว่าพระโยคาวจรเจ้านั้น ถึงโทษจะน้อยก็กลัวนัก ย่อมสมาทานศึกษาอยู่ ในสิกขาบททั้งหลายดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จบรมกษัตราธิบดี ทรงพระนามว่ามิลินท์ปิ่นสาคลราชธานี จึงมีพระราชโองการ ตรัสถามพระนาคเสน ด้วยองค์แห่งพืชสืบต่อไปว่า องค์แห่งพืช ๒ ประการนั้น อย่างไรเล่า              พระนาคเสนเถรเจ้าจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบรมบพิตรผู้ประเสริฐ พีชํ นาม ขึ้นชื่อว่าพืชพรรณข้าว อปฺปปมตฺติกมฺปิ แม้มีประมาณน้อยอันบุคคลหว่านลงแล้วในเนื้อนา อันดี ทั้งฝนก็ชุกชุมชุ่มรากและใบ พืชที่หว่านลงนั้นไซร้ ก็ให้ผลมากนักหนา ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็พึงพิจารณาดูศีลทีมีโทษอันน้อย มิให้ด่างพร้อย เป็นสามัญผล แล้วก็พึง ปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นี่แหละเป็นองค์แห่งพืชเป็นปฐม ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่ง มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าพืชอันบุคคลหว่านลงในเนื้อนาที่เขาชำระดีแล้ว คือถากถางพรวนดินไว้เป็นอันดี ย่อมงอกงามเจริญโดยเร็ว ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงกระทำน้ำใจให้ดี อยู่ในที่สงัด แล้วหว่านลงซึ่งจิตนั้นในพระสติปัฏฐานอันเป็นเนื้อนาอันเลิศ ก็จะเกิดผลเจริญงอกงามโดยเร็ว พลันฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์ที่ ๒ แห่งพืช ยุติด้วยคำอันพระอนุรุทธเถระผู้เป็นเจ้ากล่าว ไว้ว่า                                        ยถาปิ เขตฺเต ปริสุทฺเธ พีชญฺจสฺส ปติฏฺฐิตํ                                        โหติ วิปุลํ ผลนฺตสฺส ปริโตเสติ กสฺสโก                                        ตเถว โยคินา จิตฺตํ สุญฺญาคาเร วิโสริตํ                                        สติปฏฺฐานเขตฺตวเร ขิปฺปเมว วิรูหติ              มีความว่า พืชที่หว่านลงในเนื้อนาอันดีบริสุทธิ์เป็นที่งอกงาม ย่อมมีเมล็ดผลไพบูลย์ ให้เจ้าของนาชื่นชมยินดี ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็ชำระจิตให้สะอาดในที่อันสงัดแล้ว ย่อมเจริญ งอกงามในเนื้อนาอันประเสริฐ คือพระสติปัฏฐานโดยเร็วพลันดุชพืชนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามพระนาคเสนต่อไปว่า องค์ ๑ แห่งไม้ขานางนั้น อย่างไรเล่า              พระนาคเสนจึงถวายวิสัชนาว่า มหาราช ดูกรบรมบพิตรผู้มีศักดิ์เป็นอัครกษัตริย์ อันประเสริฐ ธรรมดาว่าไม้ขานางนั้น ย่อมเจริญในภายในแผ่นดิน งอกขึ้นได้ประมาณ ๑๐๐ ศอก ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็แสวงหาพระสามัญผล ๔ พระปฏิสัมภิทา ๔ พระอภิญญา ๖ และสมณธรรมทั้งปวงในเรือนอันสงัด (คือในป่าอันสงัด) ย่อมเจริญขึ้น ดุจต้นขานางคุดอยู่ ใต้ดิน เกิดขึ้นได้ประมาณ ๑๐๐ ศอกฉะนั้น นี่เป็นองค์อัน ๑ แห่งไม้ขานาง ยุติด้วย คำที่พระราหุล เถรเจ้ากล่าวไว้ว่า                                        สาลกลฺยาณิกา นาม ปาทโป ธรณีรุโห                                        อนฺโตปฐวิยํเยว สตหตฺเถ ปวฑ์ฒติ                                        ยถา กาลมฺหิ สมฺปตฺเต ปริปาเกน โส ทุโม                                        อุพฺพิชฺชิตฺวาน เอกาหํ สตหตฺเถ ปวฑฺฒติ                                        เอวเมวโข มหาวีโร สาลกลฺยาณิกา วิย                                        อพฺภนฺตเร สุญฺญาคาเร ธมฺมโต อภิวฑฺฒติ มีความว่า ธรรมดาว่าต้นขานาง มีรากหยั่งไปใต้ดินได้ ๑๐๐ ศอก ครั้นถึงกาลอันแก่แล้ว ก็งอกขึ้นวันเดียวได้ ๑๐๐ ศอก ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเจ้า ย่อมเจริญขึ้นในที่สงัดโดยธรรมดา ดุจต้นขานางฉะนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินทภูมิทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสถามองค์แห่งนาวาต่อไปว่า องค์แห่งนาวา ๓ นั้น อย่างไรเล่า              พระนาคเสนเถรเจ้าจึงถวายวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่านาวานั้นคนต่อด้วยเครื่องไม้ มีกงวาน กระดาน ตะปูตอกหมันชันยา เป็นต้น และมี เครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ย่อมยังฝูงชนทั้งปวงให้ข้ามไปได้สำเร็จตามความปรารถนา ยถา มีครุวนา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็พึงรื้อขนสัตว์ในมนุษย์และเทวโลกให้ข้ามถึงฝั่งด้วยความพร้อมเพรียง กล่าวคือเครื่องปรุงคือธรรมต่างๆ ได้แก่มารยาทและศีลคุณ และวัตรปฏิบัติ เปรียบเหมือน นาวาอันเป็นที่จะบรรทุกบุคคลให้ข้ามถึงฝั่งฉะนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนาวาเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า ดูรานะบพิตรพผู้มีศักดิ์เป็นอัครกษัตริย์อันประเสริฐ ธรรมดาว่านาวาคือสำเภากำปั่นนั้นอดกลั้นมั่นคง ทนระลอกและคลื่นได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็พึงอดกลั้นซึ่งคลื่นคือกิเลส มีประการเป็นอันมากและลาภสักการะและบูชา วันทนานบไหว้และนินทาประสังสาสุขทุกข์ในสงสาร และโทษมีประการต่างๆ อันเป็นกิเลส ดุจ นาวาอันอดทนระลอกคลื่นได้ฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนาวาคำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรผู้ประเสริฐ สำเภา นาวานั้นย่อมแล่นไปในมหาสมุทรอันลึกประกอบด้วยปลาใหญ่อันร้าย ก็หาภัยมิได้ ยถา มี ครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงทรงไว้ซึ่งจิตอันรอบรู้ซึ่งพระจตุราริยสัจปริวัตรสามอาการสิบสอง และขวนขวายซึ่งบารมีอันจะข่มขี่เสียซึ่งสัญญาทั้งปวง ดุจนาวาอันแล่นไปในมหาสมุทร ไม่มีภัย ฉะนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนาวาคำรบ ๓ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าตรัส พระสัทธรรมเทศนาไว้ ในสัจจสังยุตต์อันมีในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่าดังนี้              จินฺเตยฺยาถ ตุมฺเห ภิกฺขเว อิทํ ทุกฺขนฺติ ฯลฯ จินฺเตยฺยาถ อิทํ ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา              มีความว่า ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งปวง ท่านจงคิดถึงสัทธรรมทั้ง ๔ ว่า อิทํ สิ่งนี้เรียกว่า กองทุกข์ สิ่งนี้แหละเรียกว่าทุกขสมุทัย สิ่งนี้แหละเรียกว่าทุกขนิโรธ สิ่งนี้แหละเรียกว่าทุกข- นิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสถามองค์แห่งนาวาอันติด โสโครกอยู่ในมหาสมุทร ๒ ประการต่อไป พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่านาวา ที่ ติดโสโครกอยู่ในมหาสมุทรนั้น ย่อมจะกระทบไปด้วยคลื่นและระลอกเป็นอันมาก นาวานั้นติด แน่นมิหลุดแล่นไปสู่ที่อื่นได้ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงยังจิตที่จะให้ข้องอยู่ใน สภาวะที่จะประหาณซึ่งมหาวิตกอันมาก และราคะโทสะโมหะมิให้เกิดในสันดานได้ เร่งรักษาจิต ไว้อย่างให้เตร่ไปในที่อื่นได้ ดุจนาวาอันติดในโสโครกข้องอยู่ในมหาสมุทร มิได้ไปในที่อื่นนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งนาวาเป็นปฐม              มหาราช ดูรานะบพิตรผู้เป็นจอมกษัตริย์อันประเสริฐ องค์แห่งนาวาข้องอยู่ในมหา- สมุทร อีกอย่างนั้น คือนาวามิได้หวั่นไหวจมดิ่งลงอยู่ในน้ำลึกแล้วมิได้เลื่อนไปอื่น จมอยู่ที่ เดียว ยถาฒ มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้ามิได้จมอยู่ในลาภสักการะ และที่เคารพนบนอน นับถือ พึงหาเลี้ยงชีวิตพอเป็นยาปนมัต ตั้งจิตไว้แน่นแน่ดิ่งอยู่ ดุจนาวาจมอยู่ในน้ำ นี่แหละเป็นองค์ แห่งนาวาอันข้องอยู่ในมหาสมุทรที่คำรบ ๒ ยุติด้วยคำอันพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเจ้ากล่าว ไว้ว่า                            ยถา สมุทฺเท ลคฺคนกา น ปลวติ วิสีทติ                                        ตถา ลาภสกฺกาเรน มา ลคฺเคถ ปสีทถ              มีความว่า นาวาเมื่อจมลงในมหาสมุทร มิได้หวั่นไหวและตั้งอยู่ที่เดียวฉันใด พระโยคา วจรเจ้าก็มิได้จมอยู่ในลาภและสักการะดุจนาวาอันติดอยู่ในมหาสมุทรฉันนั้น ดังนี้ ขอถวายพระพร              พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสถามด้วยองค์แห่งเสากระโดงสืบไปว่า องค์ ๑ แห่งเสากระโดงนั้นอย่างไรเล่า              พระนาคเสนเถรเจ้าวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้มีศักดิ์เป็นอัครกษัตริย์อัน ประเสริฐ กูโป นาม ชื่ออันว่าเสากระโดง ย่อมทรงไว้ซึ่งใบและเชือกและรอกได้ฉันใด พระโยคาวจร เจ้าพึงประกอบทรงไว้ซึ่งสติสัมปัญญะรู้รอบคอบ คือ ในเวลาจะเดิน ยืน นั่ง นอนก็ดี ใน เวลาก้าวไปถอยหลังกลับก็ดี ในเวลาเหลียวไปและมาก็ดี ในเวลาคู้เข้าเหยียดออกก็ดี ในเวลา ห่มผ้าสังฆาฏิหรือจีวรหรืออุ้มบาตรก็ดี ในเวลาฉันหรือเคี้ยวและลิ้มรสก็ดี ในเวลาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะก็ดี ในเวลาเดินไปและนั่งอยู่ยืนอยู่นอนอยู่ตื่นอยู่พูดอยู่นิ่งอยู่ก็ดี พึงมีสติสัมปชัญญะ ประจำอยู่ทุกเมื่อ ดุจเสากระโดงอันทรงไว้ซึ่งใบและรอกและเชือกนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งเสา กระโดงประการ ๑ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่พระมหากรุณาเจ้าหากตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า                           สโต ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิหเรยฺย สมฺปชาโน อยํ ตุมฺหากํ อนุสาสนี มีความว่า ภิกฺขเว ดูกรท่านทั้งหลาย ภิกษุพึงสติสัมปชัญญะแล้ว จงบำเพ็ญสมณธรรม อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ นี้เป็นอนุสาสนีคำสั่งสอนที่เราให้ท่านทั้งหลาย ดังนี้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสถามซึ่งองค์ ๓ แห่งล้าต้า ต้นหนสืบไป              พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ นิยามโก นาม ชื่ออันว่าต้นหนย่อมมีสติ มัธยัสถ์ตั้งอยู่ทั้งกลางวันกลางคือคอยดูสำเภา ยถา มีครุวนา ฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงกระทำเหมือนต้นหนนั้น อย่าประมาททั้งกลางวันกลางคืน พึงรักษา จิตของอาตมาด้วยโยนิโสมนสิการปัญญาเหมือนฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์อันหนึ่งแห่งต้นหน จัด เป็นปฐม มหาราช ขอถวายพระพร สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีพระพุทธฎีกาตรัสไว้ใน พระธรรมบทว่า                                        อปฺปมาทรตา โหถ สจิตฺตมนุรกฺขถ                                        ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร              มีความว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาไว้ซึ่งจิตของตน เพียรที่จะให้พ้นกิเลส ดุจพระยากุญชรอันติดอยู่ในเปือกตม อันเพียรจะขึ้นจากเปือกตมฉะนั้น              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ขอถวายพระพร ธรรมดาว่าต้นหนย่อมรู้ว่า ที่ นั้นเป็นโสโครก ที่นั้นไปสวัสดีในนทีทางสมุทร ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็กำหนดไว้ ว่า ธรรมสิ่งนี้เป็นโทษ ธรรมสิ่งนี้หาโทษมิได้ สิ่งนี้ควรเสพ สิ่งนี้ไม่ควรเสพ สิ่งนี้แล้ว สิ่งนี้ประณีต สิ่งนี้ดำเป็นกัณหปักษ์ สิ่งนี้ขาวเป็นสุกปักษ์ มีอุปไมยเหมือนต้นหนนั้น นี่แหละเป็นองค์ แห่งต้นหนที่คำรบ ๒              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่งเล่า มหาราช ขอถวายพระพร ธรรมดาว่าต้นหนย่อม ตั้งเข็ม ด้วยตนเอง มิให้ผู้อื่นถูกต้อง ระวังเรือไม่ให้เป็นอันตราย ยถา มีครุวนาฉันใดพระโยคาวจรก็พึง ตั้งเข็มคือความสำรวมจิตเป็นอันดี ระวังมิให้ตรึกไปในอกุศลวิตกอันลามกเหมือนฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งต้นหนที่คำรบ ๓ ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายว่า              มา ภิกฺขเว ปาปเก อกุสเล วิตกฺเถ, เสยฺยถีทํ กามวิกตฺกํ พฺยาปาทวิตกฺกํ วีหึสาวิตกฺกํ.              มีความว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุทั้งหลาย ท่านอย่าได้วิตกถึงอกุศลอันเป็นบาป อกุศลที่ เป็นบาปคือสิ่งใด คือกามวิตกประการ ๑ พยาบาทวิตกประการ ๑ วิหิงสาวิตกประการ ๑ ดังนี้ ขอถวายพระพร สมเด็จเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงตรัสถามด้วยองค์แห่งคนทำการงานต่อไปนี้ องค์ ๑ แห่งคนทำการงานนั้น อย่างไรเล่า              พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ บุคคลกระทำการงานนั้น ิคิดดังนี้ว่า อหํ อันว่าอาตมา ภตฺตฺโก จะกระทำการจ้างท่านด้วยหวังว่าาจะได้ค่าจ้างมาก ทีนี้ อาตมาไม่ประมาณแล้วจะกระทำให้ได้การงานความนี้เปรียบฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงคิด ดังนี้ว่า อหํ อันว่าอาตมาจะพิจารณาซึ่งมหาภูตกายทั้ง ๔ คือ พิจารณากายเป็นปฐพี อาโป เตโช วาโย ให้เนืองๆ ไม่ประมาท ให้จิตเป็นเอกัคคตา มีสติสัมปชัญญะรู้รอบคอบ อาตมาก็จะ พ้นจากชาติชราพยาธิมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ทีนี้อาตมาไม่ประมาทแล้ว พึงคิด เหมือนกันกับคนกระทำภัตติกรรมฉะนี้ นี่แหละเป็นองค์แห่งคนกระทำการงานอัน ๑ ยุติด้วย คำที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเจ้ากล่าวไว้ดังนี้                                        กายํ อิมํ สมฺมสถ ปริชานาถ ปุนปฺปุนํ                                        กาเย สภาวํ วิทิตฺวา ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสถ              มีความว่า ท่านทั้งหลายจงพิจารณากำหนดซึ่งกายของอาตมานี้เนืองๆ ท่านทั้งหลาย รู้ความเป็นจริงในกายนี้แล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงตรัสถามด้วยองค์แห่งสมุทรต่อไปว่า องค์ แห่งมหาสมุทร ๕ นั้น คืออะไรบ้าง              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรานะบพิตรผู้มีศักดิ์เป็นอัครกษัตริย์อัน ประเสริฐ ธรรมดาว่ามหาสมุทรนั้นมิได้มีซากศพติดอยู่ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรเจ้า มิได้ติดอยู่ด้วย ราคะ โทสะ โมหะ มานะ มักขะ คือ ลบหลู่คุณท่านละตระหนี่ ริษยา มายา สาไถย ใจบ่มิโกง โกหร ทุจริต มลทิน กิเลส ดุจพระมหาสมุทรอันมิได้เจือไปด้วยอสุภ ฉะนั้น นี่แหละ เป็นองค์อัน ๑ แห่งมหาสมุทร จัดเป็นปฐม              ปุน จ ปรํ มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อีกประการหนึ่งเล่า มหาสมุทรทรงไว้ซึ่งแก้วมุกดาแก้วไพฑูรย์แก้วประพาฬ แก้วผลึกมีประการต่างๆ มิได้เรี่ยราย ไปในภายนอก ยถา มีอุปมาฉันใด พระโยคาวจรเจ้าได้แล้วมรรคและผล วิโมกข์สมาธิสมาบัติ และพระวิปัสสนาพระอภิญญา ๖ ซึ่งจัดเป็นแก้วอันเลิศต่างๆ ก็พึงรักษาไว้ภายในจิต มิได้ ให้แพร่ไปภายนอก ดุจมหาสมุทรทรงไว้ซึ่งแก้วต่างๆ นั้น นี่แหละเป็นองค์ที่คำรบ ๒ แห่ง มหาสมุทร ปุน จ ปรํ มหาราช ดูรานะบพิตรผู้มีศักดิ์เป็นอัครกษัตริย์อันประเสริฐ ธรรมดาว่า มหาสมุทร ย่อมเป็นที่อยู่แห่งมหาภูตเป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรเจ้าพึงเข้าไปใกล้แล้วซึ่ง พรหมจารีเป็นกัลยาณมิตร อุปฺปิจฺฉํ สนฺตุฏฺฐํ อันมักน้อยสันโดษ และกล่าวสรรเสริญซึ่งธุดงค์ และประพฤติสัลเลขความขัดเกลา และประกอบด้วยมารยาทเป็นลัชชีภิกษุ มีศีลเป็นที่รักควร จะเคาระควรจะสรรเสริญ เป็นผู้อดตามถ้อยคำ มีใจหนักแน่น และตักเตือนให้รู้ ติเตียนคนบาป ให้โอวาทความสั่งสอน ชักชวนให้รู้ ให้สมาทาน ว่าให้เกิดอุตสาหะ สรรเสริญซึ่งใจเป็นกุศล ดุจมหาสมุทรอันเป็นที่อยู่แห่งมหาภูตทั้งหลายฉันนั้น นี่แหละเป็นองค์ที่คำรบ ๓ แห่งมหาสมุทร              ปุน จ ปรํ มหาราช ดูรานะบพิตรผู้ประเสริฐ ประการหนึ่ง สมุทรย่อมเต็มไปด้วยน้ำ อันไหลมาแต่แม่น้ำทั้งหลาย คือคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี และน้ำในอากาศเป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรเจ้าก็มิได้ล่วงเสียซึ่งสิกขาบท เพราะยินดีซึ่งลาภสักการะ และการสรรเสริญ และ นับถือไหว้นบบูชา แม้เหตุเลี้ยงชีวิต พึงทรงสิกขาบทไว้ให้บริบูรณ์ ดุจสมุทรอันเต็มไปด้วยน้ำ ฉะนั้น นี่แหละเป็นองค์ที่คำรบ ๔ แห่งมหาสมุทร ยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระมหากรุณา โปรดประทานไว้ดังนี้              เสยฺยถาปิ มหาราช สมุทฺโท ฐิตธมฺโม เวลํ นาติกฺกมติ เอวเมวโข มหาราช ยํ มยา สาวกานํ สิกฺขาปทํ ปญฺญตฺตํ ตํ มม สาวกา ชีวิตเหตุปิ นาติกฺกมนฺติ.              พระพุทธฎีกานี้ตรัสแก่บรมกษัตริย์องค์หนึ่ง มีนามมิได้ปรากฏมีใจความว่า มหาราช ขอถวายพระพร ธรรมดาว่าสมุทรเต็มด้วยน้ำ ยังมิได้ลดทดถอยน้อยแห้งเหือดไป ยถาปิ แม้ฉัน ใด อันว่าสิกขาบทอันใดที่ตถาคตบัญญัติไว้แก่สาวกทั้งหลาย สาวกของตถาคตจะได้ละวางหา มิได้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต สิกขาบทบ่มิได้ด่างพร้อยถอยไปได้ ดุจสมุทรอันเปี่ยมด้วยน้ำดังนี้ ขอถวายพระพร              ปุน จ ปรํ อีกประการหนึ่ง สมุทรไม่รู้เต็มด้วยน้ำอันไหลมาแต่แม่น้ำทั้งปวง คือคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี และน้ำอันตกจากอากาศด้วยฉันใดก็ดี พระโยคาวจรเจ้าจะได้เบื่อ หน่ายในที่จะฟังซึ่งอรรถกถาบาลี และพระอภิธรรม พระวินัย พระสูตรเป็นบทวิคคหะ และเป็น บทวิภัติและสั่งสอนของสมเด็จพระมหากรุณามีองค์ ๙ ประการนั้น หามิได้ ดุจสมุทรมิได้รู้เต็ม ด้วยน้ำฉะนั้น นี่แหละเป็นองค์แห่งมหาสมุทร คำรบยุติด้วยพระพุทธฎีกาที่สมเด็จพระมหา กรุณาเจ้าตรัสไว้ในมหาสุตตโสมชาดกว่า                                                     อคฺคิ ยถา ติณกฏฺฐํ ฑหนฺโต                                                     น ตปฺปติ สาคโร วา น นทีหิ เอวํปิ เว ปณฺฑฺตร ราชเสฏฺฐ                                                     ธมฺมํ สุตฺวา น ตปฺปนฺติ สุภาสิเตน              มีใจความว่า ราชเสฏฺเฐ ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ธรรมดาว่าเพลิง ไหม้หญ้าแห้งแล้วมิได้รู้อิ่ม และสมุทรอันใหญ่มิรู้เต็มด้วยน้ำ ยถา มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจร เจ้าก็มิได้อิ่มด้วยสุภาษิต ดุจเพลิงและสมุทรฉันนั้นดังนี้ ขอถวายพระพร
จบลาวุลตาวรรคที่ ๒ แต่เท่านี้
             ในที่สุดวรรคนี้ พระคันถรจนาจารย์เจ้า ผูกอุทานคาถากล่าวหัวข้อบทมาติกา ที่แสดง มาข้างต้นไว้ว่า                                        ลาวุลตา จ ปทุมํ พีชํ สาลกลฺยาณิกา                                        นาวา จ นาวาลคฺคนํ กูโป นิยามิโก ตถา                                        กมฺมากาโร สมุทฺโท จ วคฺโค เตน ปวุจฺจติ              มีใจความว่า องค์แห่งน้ำเต้า องค์แห่งประทุม องค์แห่งพืช องค์แห่งไม้ขานาง องค์แห่งเรือ องค์แห่งเรือที่ติดโสโครก องค์แห่งเสากระโดง องค์แห่งต้นหน องค์แห่งคนทำการ งาน องค์แห่งสมุทร เหล่านี้ท่าจัดเป็นวรรคอันหนึ่ง ดังนี้แล

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๕๑๙ - ๕๒๗. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=186              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_186

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]