ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
มหาภูมิจลนปาตุภาวปัญหา ที่ ๔
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่ พระนาคเสนผู้ปรีชา สมเด็จพระมหากรุณาเจ้ามีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุผู้ ตั้งอยู่ในศีล พื้นแผ่นดินจะกัมปนาทหวาดหวั่นไหวด้วยเหตุ ๘ ประการ และปัจจัย ๘ ประการ เท่านั้น อตฺถญฺโญ นวโม เหตุ และจะมีเศษเหตุอีกเป็นคำรบ ๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ในคัมภีร์ที่ไหนมามิได้ ก็ทำไมพระเวสสันดรโพธิสัตว์เข้าให้ทานแผ่นดินไหวนี้มีเศษเหตุคำรบ ๙ โยมคิดๆ ก็สงสัย ถ้าว่าพระพุทธฎีกาตรัสไว้ว่าแผ่นดินไหวด้วยเหตุ ๘ ประการ ด้วยปัจจัย ๘ ประการแน่นอนฉะนี้ พระพุทธฎีกาตรัสว่า สมเด็จพระเวสสันดรให้ทานเป็นมหาทานอันใหญ่ แผ่นดินไหว ๗ ครั้ง พระพุทธฎีกาตรัสด้งนี้ก็ผิด แม้นสมเด็จพระพิชิตมารตรัสว่า พระเวสสันดร ให้มหาทานอันใหญ่แผ่นดินไหว ๗ ครั้งจริง พระพุทธฎีกาที่ตรัสว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุทั้งหลาย อันทรงปาติโมกขสังวรวิสุทธิศีล พสุธาตลํ แผ่นดินจะกัมปนาทหวาดหวั่นไหวก็ด้วยเหตุ ๘ ประการและปัจจัย ๘ ประการ พระพุทธฎีกาตรัสฉะนี้ โยมคิดดูเห็นว่าพระพุทธฎีกานี้เป็นสอง ไม่ต้องกัน อยํ อุภโต โกฏิโก ปญฺโห ปัญหานี้มีที่สุดเป็นสองเงื่อน ชื่อว่าอุภโตโกฏิ นิมนต์ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาไปให้สิ้นความสงสัยวิมติกังขาในกาลบัดนี้ เถโร พระนาคเสนผู้มีศีลอันมั่นคงองค์อรหันต์ มีอริยวาจาวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ซึ่งสมเด็จพระบรมโลกุตตมาจารย์ มีพระพุทธฎีกา โปรดประทานไว้ว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุทั้งหลาย อันทรงปาติโมกขสังวรศีล แผ่นดินจะไหวก็ ด้วยเหตุ ๘ ประการและปัจจัย ๘ ประการดังนี้ และพระพุทธฎีกาซึ่งได้ตรัสว่า พระเวสสันดร ให้มหาทานแผ่นดินไหว ๗ ครั้งนี้ เป็นโดยอกาลิกใช่กาลที่จะไหว และจะได้ยกเข้าในเหตุ ๘ ประการนี้หามิได้ ต่างกันไม่เหมือนกัน ความอันนี้จะรู้แท้ด้วยกระแสอุปมา มหาราช ขอ ถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจเมฆ ๓ ประการ อันมีในฤดู ๓ คือ วสันต์ คิมหันต์ เหมันต์ อญฺโญ เมโฆ ถ้าว่าเมฆอื่น คือห่าฝนอื่นไม่ประกอบในฤดูทั้ง ๓ นั้น บันดาลตกลงมาเหมือนเมฆคือพ้น ๓ ฤดูนั้น ก็ควรจะเรียกว่าเป็นอกาลเมฆ ความนี้มีอุปมา ฉันใด คำที่ว่าพระเวสสันดรให้ทาน แผ่นดินไหวนี้ แผ่นดินไหวใช่กาล เป็นกาลวิมุติ มิได้นับเข้า ในเหตุ ๘ ประการ ปานดุจอกาลเมฆ มิได้นับเข้าในเมฆอันประกอบในกาลทั้ง ๓ คือวสันต์ คิมหันต์เหมันต์นั้น อนึ่ง อุปมาดุจหนึ่งว่า แม่น้ำ ๕๐๐ อันไหลไปแต่หิมวันตบรรพตนั้น ลำแม่น้ำ ๕๐๐ นั้นมีแต่ ๑๐ แถวที่เรียกว่านที และแม่น้ำทั้งหลาย ๑๐ นี้ คือ คงคา ๑ ยมุนา ๑ อจิรวดี ๑ สรภู ๑ มหี ๑ สินธุ ๑ สรัสวดี ๑ เอตภวดี ๑ อีตังสา ๑ จันทภาคา ๑ แม่น้ำนอกออกไปนั้น จะเรียกว่านทีหามิได้ กึการณา เป็นเหตุไฉน เหตุว่ามิได้มีน้ำไหลอยู่เป็นนิจอัตรา ยถา จะมีครุวนาฉันใด ซึ่งบรมหน่อไทยทานาธิบดีศรีพิเศษเวสสันดรพระปสาทมหาทานแผ่นดิน ไหว ๗ ครั้งนี้ มิได้นับเข้าในเหตุแปดประการ กึการณา เป็นเหตุดังรือ เหตุว่าทานพระเวส- สันดรนั้น มิได้ให้แผ่นดินไหวอยู่อัตรา              ยถา วา ปน มหาราช อนึ่งโสด ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจ อำมาตย์ของสมเด็จบรมกษัตราธิราช สตํปิ เทฺวสตํปิ ร้อยคนก็ดี สองร้อยคนก็ดี ล้ำอำมาตย์ เหล่านั้นที่จะนับว่าอำมาตย์ก็แต่ ๖ คน คือคนถือพระขรรค์คน ๑ พนักงานพระกลดคน ๑ ภณฺฑรกฺโข ชาวคลังทรัพย์คน ๑ อกฺขทสฺโส คนดูถ้อยความคน ๑ ปุโรหิตคน ๑ เสนาบดีคน ๑ คนบรรดาอยู่ในตำแหน่งที่เฝ้าเหล่านี้ เรียกว่าอำมาตย์ เหตุว่าประกอบอยู่ในราชกิจ ของบรมกษัตริย์เจ้าธรณี นอกกว่านี้มิได้นับ คงเรียกแต่อำมาตย์ มหาราช ขอถวายพระพร ความข้อนี้เปรียบฉันใด และพระยาเวสสันดรให้มหาทานแผ่นดินไหวถึง ๗ ครั้งนี้ จะได้นับเจ้า ในธรณีไหวด้วยเหตุแปดประการหามิได้ ดุจคนทั้งหลายเศษมิได้นับเข้าในพวกอำมาตย์ ๖ คนนั้น              สุยฺยติ มหาราช ขอถวายพระพร บพิตรพระราชสมภารได้ทรงพระสวนาการฟังบ้าง หรือไม่ว่า ในศาสนาของสมเด็จพระพุทธเจ้าของเรานี้ คนทั้งหลายกระทำกุศลเป็นทิฏฐธัมม- เวทนีย์ มีชื่อลือชาปรากฏไปในมนุษย์โลกและเทวโลกนั้น อาม ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เออ โยมได้ยินเขาเล่าอยู่              มหาราช มีกี่คน บพิตรพระราชสมภาร              พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์มีพระราชโองการตรัสว่า มีอยู่ ๗ คนที่กระทำกุศลเสวยผล เป็นทิฏฐธัมมเวทนีย์              พระนาคเสนมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพร คน ๗ คนซึ่งกระทำกุศลเสวยผล เป็นทิฏฐะเห็นในปัจจุบัน ๗ คนนั้น คือใครบ้าง บพิตรตรัสไปก่อน              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรมีพระราชโองการว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ ปรีชาญาณ คน ๗ คนนั้น คือ นายมาลาการ ๑ เอกสาฏกพราหมณ์ ๑ นายบุญลูกจ้าง ๑ นางมัลลิกาเทวี ๑ โคปาลมาตาเทวี ๑ สุปปิยอุบาสก ๑ ปุณณทาสี ๑ สิริเป็นคนเจ็ดคนเท่านี้              พระนาคเสนมีเถรวาจาถามว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุคคลที่ได้กระทำสักกาบูชาแก่สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์อื่นที่ล่วงไปนั้น และได้ไปสู่สวรรค์ทั้งเป็น บพิตรพระราชสมภารได้ฟังบ้างหรือประการใด              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสว่า โยมได้ยินอยู่              พระนาคเสนผู้ปรีชาถามว่าคือใครบ้างๆ นะบพิตรพระราชสมภาร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์มีพระราชโองการว่า ภนฺเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คนที่ไปสวรรค์ ทั้งเป็นนั้นมีอยู่ ๔ คนคือ โคตติลผู้เป็นคนธรรพ์ ๑ พระยาสาธินราช ๑ พระยาเนมิราช ๑ พระยามันธาตุราช ๑ สิริเป็น ๔ คนเท่านี้              พระนาคเสนมีเถรวาจาถามว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ได้ทรงพระ สวนาการฟังบ้างหรือว่า บุคคลชื่อนี้กระทำทานและอัศจรรย์บันดาลเกิดแผ่นดินไหวครั้ง ๑ ก็ดี ๒ ครั้งก็ดี จะมีมาในอดีตกาลและปัจจุบันนี้ มีหรือไม่นะ บพิตรพระราชสมภาร              พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีตรัสว่า น หิ ภนฺเต ข้าแต่พระเป็นเจ้า โยมไม่เคยฟังหามิได้              พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ฝ่ายพระไตร- ปิฎก ฝ่ายปฏิเวธธรรมก็ได้ฟัง ลักษณะการที่เล่าเรียนต่ออาจารย์ก็ได้เคยเล่าเรียน การศึกษาก็ ได้ประพฤติ ความตั้งใจที่จะฟังและจะถามก็ทำมามากแล้ว แต่แผ่นดินไหวด้วยบุคคลให้ทานไหว ครั้ง ๑ และ ๒ ครั้ง อาตมายังบ่มิได้ฟัง ตั้งแต่ศาสนาพระศากยมุนีเจ้าถอยหลังลงไป จน ศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นโสด ในระหว่างร้อยโกฏิปีนั้น ยกจากทานพระเวสสันดร เสีย และบุคคลให้ทานและแผ่นดินไหวครั้งหนึ่ง สองครั้ง อาตมามิได้ฟัง อันแผ่นดินจะไหวด้วย กำลังบุคคลเพียรให้ทานเท่านั้นหามิได้ อันลักษณะแผ่นดินจะไหวด้วยคุณภาวะอันหนักสุดที่ ธรณีจะทรงได้ ธรณีจึงไหว มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้เป็นใหญ่ในราชมไหศวรรย์ เปรียบประดุจเกวียนอันบุคคลบรรทุกเต็มด้วยภาระอันหนักนี้ เพลากำกงคงจะหักไป ยถา มี ครุวนาฉันใด แผ่นดินอันใหญ่มิอาจทรงไว้ซึ่งวิริยคุณของพระโพธิสัตว์สั่งสมนั้น แผ่นดินก็ กัมปนาทหวาดไหว อนึ่งเปรียบไปต่อพื้นอากาศ อันมิอาจทรงไว้ซึ่งฝนและลมเป็นภาระอันหนัก ก็กึกก้องไป ยถา มีครุวนาฉันใด มหาปฐวี แผ่นดินอันใหญ่บ่มิอาจจะทรงไว้ซึ่งภาระแห่ง กำลังท่านอันไพศาลแห่งพระยาเวสสันดรได้ก็กัมปนาทหวาดไหว มีอุปไมยเหมือนพื้นอากาศนั้น อนึ่งเล่า จิตแห่งพระเวสสันดรเจ้าเมื่อให้ทานนั้น จะได้น้อมไปต่ออำนาจราคะหามิได้ จะได้น้อม ไปต่อความโกรธหามิได้ จะได้น้อมไปต่อมานะทิฐิก็หามิได้ จะได้น้อมไปด้วยอรติความยินดีหา มิได้ อถโข อนึ่งโสด จิตพระเวสสันดรนั้นมากไปในการให้ทาน คือมีความปรารถนาว่า ยาจกที่ยังไม่มาก็ให้มาเถิด ที่มาแล้วก็ให้ได้ข้าวน้ำเป็นต้น พระเวสสันดรเจ้ามีแต่ทรงพระวิตก ที่จะให้ยาจกชื่นชมยินดีมารับทาน อนึ่ง พระเวสสันดรนั้นตั้งอยู่ในทสฐาน ที่ ๑๐ ประการ ทเม คือทรมานอินทรีย์ประการ ๑ สญฺญเม คือสำรวมอินทรีย์ประการ ๑ ขนฺติยา คือถือ ขันติประการหนึ่ง สํวเร คือสำรวมศีลประการหนึ่ง นิยเม คือนิยมในการกุศลธรรม ประการ ๑ อโกเธ คือไม่โกรธประการ ๑ อวิหึสาย คือมิได้ริษยาพยาบาทแก่สัตว์ทั้งหลาย ประการ ๑ สจฺเจ คือตั้งอยู่ในสัจจะประการ ๑ โสเจยฺเย คือตั้งอยู่ในกุศลอันสะอาด ประการ ๑ เมตฺเตยฺเย คือตั้งอยู่ในเมตตาประการ ๑ สิริเป็นฐาน ๑๐ ด้วยกัน อนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐสถาพร น้ำพระทัยพระเวสสันดรนั้นละเสีย ซึ่ง กาเมสนา คือกิริยาอันจะแสวงหากามคุณ ภเวสนาปติปสฺสทฺธา ระงับเสียซึ่งกิริยาอันยินดี ที่จะท่องเที่ยวเวียนตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ มีพระทัยปรารภ ขวนขวายที่จะรักษาพรหมจรรย์ อนึ่ง ขอถวายพระพร สมเด็จพระเวสสันดรละเสียซึ่งความรัก พระองค์ทรงรักสัตว์ทั้งหลาย อุสฺสกํ อาปนฺโน มีน้ำพระทัยขวนขวายว่าสัตว์ทั้งหลายจง สมัครรักใคร่อย่าได้วิหิงสาซึ่งกันและกัน จงมีทรัพย์มีอายุยืนนาน ททมาโน เมื่อจะให้ทาน นั้น ก็มิได้ให้เพื่อประโยชน์จะได้สมบัติในภพหน้า มิได้ให้เพื่อประโยชน์จะหาทรัพย์ มิได้ให้เพื่อ ประโยชน์จะให้เจ้าให้ตอบ มิได้เพื่อประโยชน์จะได้ลาภ มิได้ให้เพื่อประโยชน์จะให้เจริญชันษา มิได้ให้เพื่อประโยชน์จะให้สรรเสริญ มิได้ให้เพื่อนประโยชน์จะให้จำเริญสุข มิได้ให้เพื่อประ โยชน์จะให้มีกำลัง มิได้ให้เพื่อประโยชน์จะได้ยศ มิได้ให้เพื่อประโยชน์จะได้บุตร มิได้ให้เพื่อประ โยชน์จะรักษาชีวิต สมเด็จพระเวสสันดรบพิตรให้ทานหวังจะให้ได้สำเร็จแก่สร้อยสรรเพชญดาญาณ เหตุดังนี้ เมื่อสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์สำเร็จแก่พระสัพพัญญุตญาณ จึงตรัสโปรดประทานธรรม- เทศนาด้วยพระคาถานี้ว่า                                        ชาลีกณฺหาชินํ ปุตฺตํ มทฺทีทวี ปติพฺพตํ                                        ททมาโน น จิตฺเตสึ โพธิยาเยว การณาติ              ในกระแสพระพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุทั้งหลาย คถาคตเมื่อยังขวน ขวายสร้างพระโพธิญาณอยู่นั้น ตถาคตเป็นพระยาเวสสันดร ยกพระลูกเกิดในอุทรคือพระชาลี กัณหากับพระมัทรีอัครชายายอดรัก ให้เป็นทานอันยิ่ง น จินฺเตสึ ที่จะได้คิดว่าจะเป็น อินทรพรหมยมเรศสิ่งไรหามิได้ ตถาคตให้ดังนี้ โพธิยาเยว การณา เพราะมีพระทัย ปรารถนาพระโพธิญาณสิ่งเดียว อนึ่ง บพิตรพระราชสมภาร ใช่ว่าคุณจะสิ้นแต่เท่านั้น สมเด็จ พระเวสสันดรเจ้านี้ ผจญคนโกรธด้วยไม่มีความโกรธ พระองค์ผจญคนโฉดชาติอสัตบุรุษ ด้วยน้ำพระทัยเป็นสัตบุรุษแท้สัตบุรุษดี ผจญคนตระหนี่กระด้างด้วยให้ทาน ผจญคนพูดพาล เหลาะแหละด้วยกล่าวคำสัจ กำจัดเสียซึ่งอกุศลด้วยตั้งอยู่ในกองกุศลอันวิเศษ เหตุดังนั้น ททนฺตสฺส เมื่อพระเวสสันดรเจ้าให้ทาน เหฏฺฐิมวาตา ลมล่างต้านอุทกังไว้ภายใต้มหาปฐพี นั้น สกึ วายนฺติ พัดทีเดียวก็หวั่นไหว โน้มน้อมมา คุมฺพคุมฺพา วายนฺติ ก็รำพายพัดเป็น หมวดหมู่เป็นพวกๆ กระพือพายุใหญ่ อนึ่ง ภายในอากาศดาษไปด้วยเมฆอันเป็นแท่งทั้งนั้น ลมพัดให้ป่วนปั่นกระทบกระทั่งกัน มหาภีโม สทฺโท เสียงพิลึกพึงกลัวนี่กระไร เตสุ วาเตสุ ในเมื่อลมทั้งหลายนั้น ปริกมฺปิเตสุ พัดผันให้หวั่นไหวไปมา ส่วนว่าอุทกังนั้นก็หวั่นไหวไป พร้อมกัน กุมฺภิลา ติมิมจฺฉกจฺฉปา อันว่าจระเข้เหราปลาชื่อว่าติมีเป็นปลาวาฬเต่าปู ก็ว่ายวน เป็นหมู่ๆ วุ่นวาย สลีลอุมฺมิโย ลูกระลอกเป็นหมู่ๆ คู่ๆ กันก็ปรากฏ ชลจรา สตฺตา จรนฺติ สัตว์ทั้งหลายอันว่ายคล่ำอยู่ในน้ำนั้นก็สัญจรไปมา วิจิโย นาทํ นทนฺติ ลูกระลอกนั้นก็นับลือ ลั่นเสียงพิลึกโครมครืน พุพฺพุลา ลูกคลื่นพัดเสียงพิลึกแล่นไปมา เฬณุมาลา ก็ลอยกล่น เกลื่อน พระสมุทรสะเทือนสะท้าน ลมโต้ต้านให้ไหล ท้องกระแสแปรทั่วทิศา นาคครุฑอสุร ยักษา ขุภิชึสุ ก็พากันตื่นต้น ให้อัศจรรย์จิตคิดไปมาว่า กินฺนุโข กถํ นุโข โอหนอนี้เสียง อะไรนั่นเสียงอะไร ก็ตกใจแสวงหาแต่ที่จะคมนาการไปให้พ้นภัย ยิ่งแลไปที่สมุทรนั้นแล้วก็หวั่น พรั่นจิตคิดจะหลีกหนี ขณะนั้นมหาปฐพีก็หวั่นหวาด สิเนรุราชสีขริทรอันเป็นปิ่นเสลราช มิอาจดำรงทรงอยู่ได้ก็โน้มน้อมไปมา อหินกุลา แมวกันหนูงูกับพังพอนครุฑกับนาคซึ่งขอบกัด กันก็วางกัน แมวนั้นก็วางหนู งูก็มิได้กัดพังพอน ลูกครุฑที่ยังอ่อนพึ่งสอนบินก็ร้องดิ้นอยู่ใน รังดังสนั่น หมู่ยักษ์นั้นก็พากันหวั่นไหวสัญจรเที่ยวไปมา ตกว่ามหาปฐพีไหวทั้งนี้ ด้วยทาน บารมีอันพระองค์กระทำวิริยอุตสาหะยิ่งไพศาล อนึ่งเล่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจหนึ่งว่าบุคคลตั้งหม้อหุงข้าว ครั้นก้นหม้อนั้นต้องไฟร้อน อุทกังในหม้อนั้นก็ร้อนเดือด พล่าน ข้าวสารในหม้อนั้นก็ร้องกระฉ่อนไหวไปมา ครั้นว่าข้าวสารร้อนทั่วแล้ว อุทกังนั้นก็ เดือดแล้วก็ไหลล้นท้นเป็นฟองฟูมไป ยถา มีครุวนาฉันใด เมื่อสมเด็จพระเวสสันดรให้ ทานนั้นแผ่นดินไหว เดิมลมอันใหญ่ที่พัดต้านน้ำรองแผ่นดินนั้น มิอาจทรงอยู่ได้ด้วยเดชแห่งมหา ทาน ลมนั้นบันดาลกำเริบพัดอยู่ข้างล่างก่อน อุทกังจึงกระฉ่อนไหวเหมือนหม้อข้าวแรกหุงตั้ง เหนือเตาไฟนั้น น้ำในหม้อนั้นพล่านไหวก่อนแล้ว เมื่อน้ำรองแผ่นดินนั้นไหวแล้ว แผ่นดินก็ไหว ดุจข้าวสารในหม้ออันไหวด้วยน้ำร้อนนั้น นี่แลทานของพระเวสสันดรนั้น ยังลมรองน้ำยังน้ำรอง แผ่นดินและแผ่นดินสิ่งสามประการนี้ให้สะท้านสะเทือนไหว ทานของผู้ใดที่จะให้สิ่งสามประการ นี้ไหว เปรียบดุจทานสมเด็จพระเวสสันดรนี้ไม่มี มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปานดุจแก้วทั้งหลายมีประการต่างๆ ในพื้นแผ่นดินนี้ คืออินทนิลและมหานิลและโชติรส แก้วไพฑูรย์ แก้วอุมมาระบุปผา แก้วมโนหรา แก้วสุริยกัณฑ์ แก้วจันทกัณฑ์ แก้ววิเชียร แก้วบุษราคัม แก้วแดง แก้วลาย แก้วทั้งหลายนี้จะมีรัศมีดีขึ้นไปกว่าแก้วมณีของบรมจักร พรรดิราชหามิได้ ตกว่าแก้วมณีแห่งสมเด็จบรมจักรพรรดิราชนี้มีรัศมีแผ่ไปโดยรอบคอบ สว่างไปโยชน์หนึ่ง แก้วทั้งหลายจึงไม่ดียิ่งกว่าจักรวรรดิมณี ความนี้จะเปรียบฉันใด ทานคน ทั้งหลายซึ่งให้นั้นจะได้มีคุณเท่ากันกับทานพระเวสสันดรนี้ไม่มี เปรียบดุจมณีทั้งหลายในพื้น ปฐพีอันจะดีล่วงไปจากจักรวรรดิรัตนะไม่มีหามิได้ เหตุดังนั้น เมื่อสมเด็จบรมทานาธิบดีศรีเพส- สันดรบพิตร ทรงพระยาประสาทอำนวยทานนั้น แผ่นดินไหวสิ้นเจ็ดครั้ง บพิตรจงทรงพระสวนา- การฟังให้เข้าพระทัยในกาลบัดนี้              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีได้ฟังพระนาคเสนวิสัชนาดังนี้ก็สิ้นสงสัย ก็สรรเสริญ พระนาคเสนโดยนัยวิสัชนามาแต่หนหลังนั้น
มหาภูมิจลนปาตุภาวปัญหา คำรบ ๔ จบเท่านี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๒๐๕ - ๒๑๐. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=98              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_98

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]