ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส
ว่าด้วยภูมิธรรมของพระอรหันต์
[๑๖๙] คำว่า ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้งสอง ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ เพื่อภพน้อย ภพใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า มีความว่า ใด ได้แก่พระอรหันตขีณาสพใด. คำว่า ส่วนสุด คือ ผัสสะเป็นส่วนสุดที่ ๑ ผัสสสมุทัยเป็นส่วนที่ ๒. อดีตเป็นส่วนสุดที่ ๑ อนาคตเป็นส่วนสุดที่ ๒. สุขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๑ ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดที่ ๒. นามเป็นส่วนสุดที่ ๑ รูปเป็น ส่วนสุดที่ ๒. อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๑ อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วนสุดที่ ๒. กายของตนเป็นส่วนสุดที่ ๑ สมุทัยแห่งกายของตนเป็นส่วนสุดที่ ๒. ตัณหาเรียกว่าความตั้งไว้ ได้แก่ความกำหนัด ความกำหนัดกล้า ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล. คำว่า เพื่อภพน้อยภพใหญ่ ได้แก่เพื่อภพน้อยภพใหญ่ คือ เพื่อกรรมวัฏและวิปากวัฏ เพื่อกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ เพื่อกรรมวัฏเป็น เครื่องเกิดในรูปภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ เพื่อกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ เพื่อความเกิดบ่อยๆ เพื่อความไปบ่อยๆ เพื่อความเข้าถึง บ่อยๆ เพื่อปฏิสนธิบ่อยๆ เพื่อบังเกิดขึ้นแห่งอัตภาพบ่อยๆ. คำว่า โลกนี้ คือ อัตภาพของตน. คำว่า โลกหน้า คืออัตภาพของผู้อื่น. คำว่า โลกนี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของตน. คำว่า โลกหน้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของผู้อื่น. คำว่า โลกนี้ คือ อายตนะภายใน ๖. คำว่า โลกหน้า คือ อายตนะภายนอก ๖. คำว่า โลกนี้ คือ มนุษยโลก. คำว่า โลกหน้า คือ เทวโลก. คำว่า โลกนี้ คือ กามธาตุ. คำว่า โลกหน้า คือ รูปธาตุ อรูปธาตุ. คำว่า โลกนี้ คือ กามธาตุ. รูปธาตุ. คำว่า โลกหน้า คือ อรูปธาตุ. คำว่า ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ใด เพื่อภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า คือ ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ แก่พระอรหันต์ใด เพื่อภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า คือความตั้งไว้นั้น ย่อมเป็นกิริยา อันพระอรหันต์ใดละ ตัดขาด สงบ ระงับเสียแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟ คือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ใด เพื่อภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า. [๑๗๐] คำว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ มีความว่า เครื่องอยู่ ได้แก่ เครื่องอยู่ ๒ อย่าง คือ เครื่องอยู่คือตัณหา ๑ เครื่องอยู่คือทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าเครื่องอยู่คือ ตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าเครื่องอยู่คือทิฏฐิ. คำว่า นั้น ได้แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น. คำว่า พระอรหันต์นั้น ย่อมไม่มีเครื่องอยู่ คือ เครื่องอยู่นั้นไม่มี ไม่ปรากฏ ย่อมไม่เข้าไปได้ คือ เป็นธรรมอันพระอรหันตขีณาสพนั้นละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้ว ด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ. [๑๗๑] คำว่า ย่อมไม่มีการถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น มีความว่า ในธรรมทั้งหลาย คือในทิฏฐิ ๖๒. คำว่า ถึงความตกลง มีความว่า ตัดสินแล้ว ชี้ขาด ค้นคว้า แสวงหา เทียบเคียง ตรวจตรา สอบสวน ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ทำให้เป็นแจ้งแล้ว จึงจับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือความถือ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนี้จริง แท้ แน่ เป็นตามสภาพ เป็นตามจริง มิได้วิปริตดังนี้ ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ คือ เป็นธรรมอันพระอรหันตขีณาสพนั้น ละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมไม่มีการถึงความ ตกลงในธรรมทั้งหลายทั้งหลายแล้วถือมั่น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ความตั้งไว้ซึ่งส่วนสุดทั้งสอง ย่อมไม่มีแก่พระอรหันตขีณาสพใด เพื่อ ภพน้อยใหญ่ ในโลกนี้หรือโลกหน้า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่มีเครื่อง อยู่อะไรๆ ย่อมไม่มีการถึงความตกลงในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น. [๑๗๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทิฏฐิสัญญาให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ที่สัญญากำหนดแล้ว ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่อรหันต์นั้น ใครๆ ในโลกนี้ พึงกำหนด ซึ่งพระอรหันต์นั้น เป็นผู้พราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิ ด้วยกิเลสอะไรเล่า.
ว่าด้วยพระอรหันต์ได้ชื่อว่าพราหมณ์
[๑๗๓] คำว่า ทิฏฐิที่สัญญาให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ที่สัญญากำหนดแล้วในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์นั้น มีความว่า ทิฏฐิอัน สัญญาให้เกิดขึ้น อันสัญญากำหนด ปรุงแต่งตั้งไว้ เพราะเป็นทิฏฐิมีสัญญาเป็นประธาน มีสัญญา เป็นใหญ่ และความถือต่างด้วยสัญญา ในรูปที่เห็นบ้าง ในความหมดจดเพราะรูปที่เห็นบ้าง ใน เสียงที่ได้ยินบ้าง ในความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ในอารมณ์ที่ทราบบ้าง ในความหมดจด เพราะอารมณ์ที่ทราบบ้าง ย่อมไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น คือทิฏฐิ นั้น อันพระขีณาสพ ละ ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาเสียแล้วด้วยไฟคือ ญาณ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐิที่สัญญาให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ที่สัญญากำหนดแล้ว ในรูป ที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบ ในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์นั้น. [๑๗๔] คำว่า ซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิ มีความว่า พราหมณ์ ได้แก่พระอรหันต์ผู้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยเสียแล้ว ซึ่งธรรม ๗ ประการ ฯลฯ ผู้อัน ตัณหา ทิฏฐิไม่อาศัย เป็นผู้คงที่ เรียกว่าเป็นพราหมณ์. คำว่า ซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิ มีความว่า ซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึด ไม่ถือเอา ไม่ถือมั่น ไม่ยึด มั่น ซึ่งทิฏฐิ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิ [๑๗๕] คำว่า ใครๆ ในโลกนี้พึงกำหนด ... ด้วยกิเลสอะไรเล่า มีความว่า กำหนด ได้แก่ความกำหนด ๒ อย่าง คือความกำหนดด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อ ว่าความกำหนดด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ. บุคคลนั้นละความกำหนดด้วย ตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืน ความด้วยกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดบุคคลนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัยอะไรเล่าว่า เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ผูกพัน ถือมั่น ถึงความ ฟุ้งซ่าน ถึงความไม่ตกลง หรือถึงโดยเรี่ยวแรง. กิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้น อันบุคคลนั้นละ แล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้นแล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดคติแห่งบุคคลนั้น กิเลสอะไรเล่าว่า เป็นผู้เกิดในนรก เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน เกิดในเปรตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็น เทวดา เป็นสัตว์มีรูป เป็นสัตว์ไม่มีรูป เป็นสัตว์มีสัญญา เป็นสัตว์ไม่มีสัญญา หรือเป็นสัตว์ มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่. บุคคลนั้นไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณะอันเป็นเครื่อง กำหนด กำหนดวิเศษ ถึงความกำหนด. คำว่า ในโลก คือในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ใครๆ ในโลกนี้พึงกำหนด ... ด้วยกิเลส อะไรเล่า. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ทิฏฐิที่สัญญาให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ที่สัญญากำหนดแล้ว ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่ทราบ ในโลกนี้ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์นั้น ใครๆ ในโลกนี้ พึงกำหนดซึ่งพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึด ถือทิฏฐิด้วยกิเลสอะไรเล่า. [๑๗๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิ ไว้ในเบื้องหน้า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลาย อันพระอรหันต์เหล่านั้น ไม่ปรารถนาเฉพาะแล้ว พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆ ไม่พึงนำ ไปได้ด้วยศีลและพรต ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่.
พระอรหันต์ได้ชื่อต่างๆ
[๑๗๗] คำว่า พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและ ทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า มีความว่า กำหนด ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ ความกำหนด ด้วยตัณหา ๑ ความกำหนดด้วยทิฏฐิ ๑. ความกำหนดด้วยตัณหาเป็นไฉน? วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็น แผนก กำหนดถือเอา ยึดถือเอาว่าของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือ เอาว่าของเราซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านั้นว่า สิ่งนี้ของเรา สิ่งนั้นของเรา สิ่งมีประมาณเท่านี้ของเรา สิ่งของๆ เรามีประมาณเท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสีและ ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แว่นแคว้น ชนบท ฉาง คลัง เป็นของเรา ย่อมยึดถือว่าเป็นของของเรา แม้ซึ่งแผ่นดินใหญ่ทั้งสิ้นด้วย สามารถแห่งตัณหา ตลอดถึงตัณหาวิปริต ๑๐๘ นี้ชื่อว่า ความกำหนดด้วยตัณหา. ความกำหนดด้วยทิฏฐิเป็นไฉน? สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันต- *คาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ทิฏฐิ ความไปคือทิฏฐิ รกเรี้ยวคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือ ทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องประกอบคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น ความ ยึดถือ ทางผิด คลองผิด ความเห็นผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือโดยแสวงหาผิด ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือแน่นอนว่าจริงในสิ่งไม่จริง อันใดเห็นปานนี้ และทิฏฐิ ๖๒ มีประมาณเท่าใด นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยทิฏฐิ. พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ละความกำหนดด้วยตัณหา สละคือความกำหนดด้วย ทิฏฐิแล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยตัณหา สละคืนความกำหนดด้วยทิฏฐิแล้ว พระ- อรหันต์เหล่านั้น จึงไม่กำหนดความกำหนดด้วยตัณหา หรือความกำหนดด้วยทิฏฐิ คือไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดพร้อม ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดแล้วเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่กำหนด. คำว่า ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า มีความว่า ทำไว้ในเบื้องหน้า ได้แก่ ความทำไว้ในเบื้องหน้า ๒ อย่าง คือ ความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา ๑ ความทำไว้ในเบื้อง หน้าด้วยทิฏฐิ ๑ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความทำไว้ในเบื้อง หน้าด้วยทิฏฐิ พระอรหันตขีณาสพทั้งหลายนั้น ละความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา สละคืน ความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิเสียแล้ว เพราะเป็นผู้ละความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยตัณหา สละ คืนความทำไว้ในเบื้องหน้าด้วยทิฏฐิแล้ว จึงไม่กระทำตัณหาหรือทิฏฐิ ไว้ในเบื้องหน้าเที่ยวไป คือเป็นผู้ไม่มีตัณหาเป็นธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นธงยอด ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็นธงยอด ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ จึงชื่อว่าเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แวดล้อมเที่ยวไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิ ไว้ในเบื้องหน้า. [๑๗๘] คำว่า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลาย อันพระอรหันต์เหล่านั้นไม่ปรารถนาเฉพาะ แล้ว มีความว่า ทิฏฐิ ๖๒ เรียกว่า ธรรม. คำว่า เหล่านั้น คือพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น. คำว่า ไม่ปรารถนาเฉพาะแล้ว คือไม่ปรารถนาเฉพาะว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ไม่ปรารถนาเฉพาะว่า โลกไม่เที่ยง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อม ไม่เกิดอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลาย อันพระอรหันต์เหล่านั้น ไม่ปรารถนาเฉพาะแล้ว. [๑๗๙] คำว่า พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆ ไม่พึงนำไปได้ด้วยศีลและพรต มีความว่า ศัพท์ว่า น เป็นปฏิเสธ. คำว่า พราหมณ์ คือ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยเสียแล้วซึ่งธรรม ๗ ประการ ฯลฯ ผู้อันตัณหาทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่ เรียก ว่าเป็นพราหมณ์. คำว่า พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆ ไม่พึงนำไปได้ด้วยศีลและพรต คือ พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ ย่อมไม่ไป ไม่ออกไป ไม่เลื่อนลอยไป ไม่แล่นไป ด้วยศีล หรือด้วยพรต หรือด้วยศีลและพรต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อัน ใครๆ ไม่พึงนำไปได้ด้วยศีลและพรต. [๑๘๐] คำว่า ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่ มีความว่า อมตนิพพาน เรียก ว่าฝั่ง ได้แก่ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา ความ สำรอก ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด. ผู้ใดไปถึงฝั่ง บรรลุฝั่งแล้ว ไปถึง ส่วนสุด บรรลุส่วนสุดแล้ว ไปถึงที่สุด บรรลุที่สุดแล้ว ฯลฯ ภพใหม่มิได้มีแก่ผู้นั้น เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง. คำว่า ย่อมไม่กลับ คือ กิเลสเหล่าใด อันอริยบุคคลละแล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค อริยบุคคลนั้นย่อมไม่ถึงอีก ไม่กลับถึง ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น กิเลส เหล่าใดอันอริยบุคคลละแล้วด้วยสกทาคามิมรรค อริยบุคคลนั้น ย่อมไม่ถึงอีก ไม่กลับถึง ไม่กลับ มาสู่กิเลสเหล่านั้น กิเลสเหล่าใดอันอริยบุคคลละแล้วด้วยอนาคามิมรรค อริยบุคคลนั้น ย่อม ไม่ถึงอีก ไม่กลับถึง ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น กิเลสเหล่าใดอันอริยบุคคลละแล้วด้วยอรหัต- *มรรค อริยบุคคลนั้นย่อมไม่ถึงอีก ไม่กลับถึง ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา. คำว่า ผู้คงที่ คือพระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ โดยอาการ ๕ คือ เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่าสละแล้ว เป็นผู้คงที่เพราะ อรรถว่าข้ามแล้ว เป็นผู้คงที่เพราะอรรถว่าพ้นแล้ว เป็นผู้คงที่เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ. พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์อย่างไร? พระอรหันต์เป็น ผู้คงที่แม้ในลาภ แม้ในความเสื่อมลาภ แม้ในยศ แม้ในความเสื่อมยศ แม้ในสรรเสริญ แม้ ในนินทา แม้ในสุข แม้ในทุกข์. หากว่าชนทั้งหลายพึงลูบไล้แขนข้างหนึ่งแห่งพระอรหันต์ด้วย เครื่องหอม พึงถากแขนข้างหนึ่งด้วยมีด พระอรหันต์ย่อมไม่มีความยินดีในการลูบไล้ด้วยเครื่อง หอมโน้น และไม่มีความยินร้ายในการถากด้วยมีดโน้น เป็นผู้ละการยินดียินร้ายเสียแล้ว เป็นผู้ล่วง เลยการดีใจและการเสียใจแล้ว เป็นผู้ก้าวล่วงความยินดีความยินร้ายเสียแล้ว พระอรหันต์ชื่อว่า เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์อย่างนี้. พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าสละแล้วอย่างไร? พระอรหันต์สละ คาย ปล่อย ละ สละคืนเสียแล้ว ซึ่งความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความ ผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความ กระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าสละแล้วอย่างนี้. พระอรหันต์ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะอรรถว่าข้ามแล้วอย่างไร? พระอรหันต์ข้ามแล้ว ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวล่วงด้วยดี เป็นไปล่วงซึ่งกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ และ คลองแห่งสงสารทั้งปวง พระอรหันต์นั้นอยู่จบแล้ว ประพฤติจรณะแล้ว ฯลฯ ภพใหม่มิได้มี แก่พระอรหันต์นั้น เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าข้ามแล้วอย่างนี้. พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าพ้นแล้วอย่างไร? พระอรหันต์มีจิตพ้นแล้ว พ้นวิเศษ พ้นดีแล้ว จากความกำหนัด ความขัดเคือง ความหลง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอ ความริษยา ความตระหนี่ ความลวง ความโอ้อวด ความกระด้าง ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความเมา ความประมาท กิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง ความกระวนกระวายทั้งปวง ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุสลาภิสังขารทั้งปวง พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะอรรถว่าพ้นแล้วอย่างนี้. พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ อย่างไร? พระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีศีล ในเมื่อศีลมีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดง ออกว่า เป็นผู้มีศรัทธา ในเมื่อศรัทธามีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีความ เพียร ในเมื่อความเพียรมีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีสติ ในเมื่อสติมีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้ตั้งมั่น ในเมื่อสมาธิมีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดง ออกว่า เป็นผู้มีปัญญา ในเมื่อปัญญามีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีวิชชา ๓ ในเมื่อวิชชามีอยู่. ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ในเมื่ออภิญญามีอยู่. พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้คงที่ เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ย่อมไม่ทำตัณหาและทิฏฐิ ไว้ในเบื้องหน้า แม้ธรรมคือทิฏฐิทั้งหลายอันพระอรหันตขีณาสพเหล่า นั้นไม่ปรารถนาเฉพาะแล้ว พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ อันใครๆ ไม่พึงนำไปได้ด้วยศีลและพรต ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่ ดังนี้.
จบปรมัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๕.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๒๔๐๘-๒๕๘๕ หน้าที่ ๑๐๑-๑๐๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=2408&Z=2585&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=5              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=146              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [169-180] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=29&item=169&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=5510              The Pali Tipitaka in Roman :- [169-180] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=29&item=169&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=5510              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :