ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
๑๑. เกวัฏฏสูตร
เรื่องนายเกวัฏฏ (ชาวประมง)
[๓๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขตเมือง นาลันทา. ครั้งนั้น เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ ล้วนแต่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มี- *พระภาคทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อ เป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง สุดที่จะประมาณ เมื่อ เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรกราบทูลดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ เรามิได้แสดง ธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็น ธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ แก่คฤหัสถ์ ผู้นุ่งขาวห่มขาวดังนี้. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตร ได้กราบทูล เป็นคำรบสองว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้จำกัด พระผู้มีพระภาค เพียงแต่กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้ คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ ล้วนแต่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาส เถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่ง ที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง สุดที่จะประมาณ แม้ครั้งที่ ๓ เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรก็ได้กราบทูลอย่างนั้น.
ปาฏิหาริย์ ๓ ประการ-อิทธิปฏิหาริย์
[๓๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงได้ประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ๑ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ๑ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ๑ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว ก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดิน ก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วย ฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจด้วยกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่มี ศรัทธาเลื่อมใส เห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ครั้นแล้วเขาจะบอกแก่คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่า อัศจรรย์จริงหนอ ท่านไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์ มาก ความที่สมณะมีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... เมื่อเป็น เช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนี้ว่า ท่าน มี วิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ได้ด้วยวิชาชื่อว่า คันธารี นั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึง กล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นบ้างไหม พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็น โทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหาริย์.
อาเทสนาปฏิหาริย์
[๓๔๐] ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของ ท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคล ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความ ตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้. ครั้นแล้วเขาบอกแก่คนที่ยังไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่า อัศจรรย์จริงหนอ ท่าน ไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก ความที่สมณะมีอานุภาพ มาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้ทายใจ ทายความรู้สึกนึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรอง ของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ ... เมื่อเป็นเช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น พึงกล่าวกะเขาว่า ท่าน มีวิชาอย่างหนึ่งชื่อว่า มณิกา ภิกษุรูปนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นก็ได้ ... ด้วยวิชาชื่อว่า มณิกานั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะ สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น พึงกล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธา เลื่อมใสกันบ้างไหม? พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์ อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอาเทสนาปาฏิหาริย์.
อนุสาสนีปาฏิหาริย์
[๓๔๑] ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำ สอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าทำในใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด นี้เรียกอนุสาสนีปาฏิหาริย์. [๓๔๒] ดูกรเกวัฏฏ์ อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก บุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระองค์นั้นทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและ มนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้ เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อ ได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทาง ปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวช เป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติ- *โมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อม ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.
จุลศีล
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้ก็เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่ เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตก ร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อม เพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เรียกอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิง อรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๘. เธอเว้นจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ ตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอม และ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็น ปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่อง ประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคน จัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่น การพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนี- *ปาฏิหาริย์. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มี สัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและ เสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและ เงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาด หลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมีขน อ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับ ข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนี- *ปาฏิหาริย์. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถา เห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องมหา- *อำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่อง ทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง จำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่นว่า ท่าน ไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าว ก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง มาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะ เสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่าน ล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
มหาศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็น ปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธี ซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชา ภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชา ภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาว นักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทร- *คราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหาง จักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผล เป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็น ปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์ พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทย ให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยา แก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวร นั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกกำจัดราชศัตรูได้แล้วย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะ ราชศัตรูนั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุก็ฉันนั้นสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน ดูกรเกวัฏฏ์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
อินทรียสังวร
ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้นรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็น อริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันบริสุทธิ์ ไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วย บิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรเกวัฏฏ์ นกมีปีก จะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษอันเป็น อริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์อุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
อุปมานิวรณ์
ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึง สำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขา จะพึงมี เหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความ โสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และ มีกำลังกาย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมี กำลังกายเป็นปรกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจาก เรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อน เราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้อง เสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจาก เรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหน ตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้น จากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ พึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้าน อันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุ ถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณา เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือน การพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.
รูปฌาน ๔
เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตนย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์ แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ตกเวลาเย็นก้อนจุรณสีตัวซึ่งยาง ซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่ว ทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือน ห้วงน้ำลึก มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำ นั้นแหละให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมดที่ น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่ สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศ ไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือน ในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มแช่เอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอดตลอดเหง้า ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาวทั่วทุกส่วน ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกาย ของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจ อันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะ ด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ แห่งของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์.
วิชชา ๘
วิปัสสนาญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัด อย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วย ข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนแก้ว ไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุจะพึง หยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาวหรือนวลร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรา นี้แล มีรูป ประกอบด้วย มหาภูต ๔ เกิด แต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ ในกายนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
มโนมยิทธิญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้อง อย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักงูออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเอง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อม จิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
อิทธิวิธญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธี หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ใน แผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือน นกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงาชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือของช่างทอง ผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้ สำเร็จได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไป ในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้ อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
ทิพพโสตญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อม ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาพึงเข้าใจว่า เสียงกลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียง เปิงมางดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
เจโตปริยญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อม กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็น มหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่น ยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์ สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่า หน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ เจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิต ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็น อันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้ อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืน อย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมาสู่บ้าน ของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพ โน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอระลึกถึง ชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
จุตูปปาตญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วง จักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้ง อยู่ ณ ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลัง เข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คนเหล่านี้เข้าสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนคร ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
อาสวักขยญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ เหล่านี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อม หลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวด และ ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหิน บ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ปาฏิหาริย์ ๓ เหล่านี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้.
เรื่องภิกษุแสวงหามหาภูต
[๓๔๓] ดูกรเกวัฏฏ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง ได้เกิดความ ปริวิตกอย่างนี้ว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหนหนอ. ลำดับนั้น เธอได้เข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่ เทวโลกปรากฏได้. ครั้นแล้วเธอได้เข้าไปหาพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชถึงที่อยู่ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับ ไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว เทวดาชั้นจาตุมหาราชจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้า ก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีหลือ แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้เหมือนกัน แต่ยังมีท้าวมหาราชอยู่ ๔ องค์ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าวเธอคงจะทราบ. ลำดับนั้นภิกษุนั้นจึงไปหาท้าวมหาราช ทั้ง ๔ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ภิกษุนั้นจึงเข้าไปหาเทวดาชั้นดาวดึงส์ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีท้าวสักกะ จอมเทพซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก ท้าวเธอคงจะทราบ. ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้ ไปหาท้าวสักกะจอมเทพแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? ดูกรเกวัฏฏ์ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น แต่ยังมีเทวดาชั้น ยามะ ... ท้าวสุยามะ ... เทวดาชั้นดุสิต ... ท้าวสันดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... ท้าวสุนิมมิต ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ... ท้าวปรนิมมิตวสวดี ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าข้าพเจ้า อยู่อีก ท้าวเธอคงทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ได้. [๓๔๔] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้นแล เธอได้เข้าไปหาวสวดีเทวบุตรแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือใน ที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว วสวดีเทวบุตรตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีเทวดา ผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกเราอยู่อีก เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ลำดับนั้น ภิกษุได้เข้าสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกปรากฏได้. [๓๔๕] ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อนั้น เธอได้เข้าไปหาเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมโลกแล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับ ไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้า ก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพรหมผู้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ ผู้ใช้อำนาจเป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วและยังจะเกิดต่อไป ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าว มหาพรหมนั้นแล คงจะทราบ ก็บัดนี้ท้าวมหาพรหมนั้นอยู่ที่ไหน แม้พวกเราก็ไม่รู้ที่อยู่ของพรหม หรือทิศทางที่พรหมอยู่ แต่ว่านิมิตทั้งหลายย่อมเห็นได้ แสงสว่างย่อมเกิดเอง โอภาสย่อมปรากฏ เมื่อใด พรหมจักปรากฏองค์เมื่อนั้น การที่แสงสว่างเกิดเอง โอภาสปรากฏนั้นแล เป็นบุพพนิมิต สำหรับความปรากฏแห่งพรหม ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อมาไม่นาน มหาพรหมนั้นได้ปรากฏแล้ว. [๓๔๖] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น เธอได้เข้าไปหามหาพรหมแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาพรหมนั้นได้ตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิตร เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว และยังจะเกิดต่อไป แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้น ดังนี้ว่า ข้าพเจ้า มิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ ต่างหาก แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ท้าวมหาพรหมก็ได้ตอบเธออย่างนั้นเหมือนกัน แม้ครั้งที่ ๓ เล่า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้นดังนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ต่างหาก. [๓๔๗] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น จับแขนภิกษุนั้นนำไป ณ ที่ควร ข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุ พวกเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมเหล่านี้เข้าใจเราว่า อะไรๆ ที่พรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ประจักษ์ ไม่มี ดังนี้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตอบต่อหน้า เทวดาเหล่านั้นไม่ได้ว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล การที่ท่านละพระผู้มีพระภาค เสีย แล้วมาเสาะหาการพยากรณ์ปัญหานี้ในภายนอกนั้น เป็นอันท่านทำผิดพลาดแล้ว นิมนต์กลับ เถิด ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามปัญหานี้ พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านฉันใด ท่าน พึงทรงจำข้อนั้นไว้ ฉันนั้น.
อุปมาด้วยนกตีรทัสสี
[๓๔๘] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้หายไปที่พรหมโลก มาปรากฏข้างหน้าเรา เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดไว้เข้ามา ฉะนั้น. ต่อนั้น เธอไหว้เราแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ถามเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าเดินเรือทะเล ย่อมจับนกตีรทัสสี (นกดูฝั่ง) ลงเรือไปด้วย เมื่อไม่เห็นฝั่ง เขาย่อมปล่อยนกตีรทัสสี มันบินไปยังทิศบูรพา ทิศทักษิณ ทิศปัศจิม ทิศอุดร ทิศเบื้องบน ทิศน้อย ถ้ามันแลเห็นฝั่ง โดยรอบมันก็บินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดยรอบ มันก็จะกลับมายังเรือนั้นอีก ดูกรภิกษุ เธอก็ฉันนั้นแล เที่ยวแสวงหาจนถึงพรหมโลก ก็ไม่ได้รับพยากรณ์ปัญหานี้ ในที่สุดก็ต้องกลับ มาหายังสำนักเรานั่นเอง ปัญหาข้อนี้เธอมิควรถามอย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้.
แถลงปัญหามหาภูต
[๓๔๙] ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้. ในปัญหานั้น มีพยากรณ์ดังต่อไปนี้ [๓๕๐] ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใส โดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้. อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ใน ธรรมชาตินี้. นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้. เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรมีใจชื่นชม เพลิดเพลิน ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบเกวัฏฏสูตร ที่ ๑๑.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๗๓๑๗-๗๘๙๘ หน้าที่ ๓๐๖-๓๒๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=7317&Z=7898&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=9&siri=11              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=338              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [338-350] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=9&item=338&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=8429              The Pali Tipitaka in Roman :- [338-350] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=9&item=338&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=8429              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i338-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i338-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.11.0.than.html https://suttacentral.net/dn11/en/sujato https://suttacentral.net/dn11/en/rhysdavids-brasington

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :