ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑. เกวัฏฏสูตร]

เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

๑๑. เกวัฏฏสูตร
ว่าด้วยบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ
เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ
[๔๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขต เมืองนาลันทา ครั้งนั้นบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใส ในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มี พระภาคโปรดมีพระบัญชาให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดย อุตตริมนุสสธรรม๑- ได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระ ภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ” เมื่อเขากราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราไม่ได้แสดง ธรรมแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิด พวกเธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยอุตตริมนุสส- ธรรมแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว” [๔๘๒] แม้ครั้งที่ ๒ บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้คาดคั้นพระผู้มีพระภาคเลย แต่ข้าพระองค์ขอกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมือง หนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดมีพระบัญชาให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดง อิทธิปาฏิหาริย์โดยอุตตริมนุสสธรรมได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใส ในพระผู้มีพระภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ” @เชิงอรรถ : @ อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ @สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ความที่จิตปลอดจากนิวรณ์ ความ @ยินดีในเรือนว่าง (วิ.มหา. ๑/๑๙๘/๑๒๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑. เกวัฏฏสูตร]

ปาฏิหารย์ ๓ อย่าง ๑.อิทธิปาฏิหาริย์

แม้ครั้งที่ ๓ บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้า พระองค์ไม่ได้คาดคั้นพระผู้มีพระภาคเลย ฯลฯ พากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค มากขึ้นสุดจะประมาณ”
ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง
[๔๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงได้ประกาศให้รู้กัน ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคืออะไรบ้าง คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์
๑. อิทธิปาฏิหาริย์
[๔๘๔] เกวัฏฏะ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคน เดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง(และ)ภูเขาไปได ้ไม่ติด ขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำ โดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนก บินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลาย อย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึง พรหมโลกก็ได้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า ‘น่าอัศจรรย์ จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้าเพิ่งเคยเห็น ท่านนี้ที่แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้ อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใส ว่า ‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่าคันธาริ๑- ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ @เชิงอรรถ : @ วิชาคันธาริ หมายถึง วิชาที่ฤๅษีคันธาระเป็นผู้ทำ อีกนัยหนึ่ง หมายถึง วิชาที่เกิดขึ้นในแคว้นคันธาระ @ซึ่งมีฤๅษีพำนักอยู่มาก (ที.สี.อ. ๔๘๔/๓๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑. เกวัฏฏสูตร]

ปาฏิหารย์ ๓ อย่าง ๒.อาเทสนาปาฏิหารย์

คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ เพราะมีวิชานั้น’ เกวัฏฏะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูด กับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่” เขากราบทูลว่า “ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้ จึงเหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์
[๔๘๕] เกวัฏฏะ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่าน เป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้ เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไป โดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้า เพิ่งเคยเห็นท่านนี้ที่ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคล อื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้’ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้มีศรัทธาเลื่อมใสว่า ‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่ามณิกา๑- ภิกษุรูปนั้นทายจิต ทายเจตสิก ทายความ วิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการ อย่างนี้ เป็นดังนี้ เพราะมีวิชานั้น’ @เชิงอรรถ : @ วิชามณิกา ได้แก่ วิชาจินดามณี ผู้รู้วิชาจินดามณี สามารถรู้ใจคนอื่นได้ (ที.สี.อ. ๔๘๕/๓๒๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑. เกวัฏฏสูตร]

เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

เกวัฏฏะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ผู้ที่ยังไม่ศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับ ผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่” เขากราบทูลว่า “ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้ จึง เหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์
[๔๘๖] เกวัฏฏะ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงตรึกตรองอย่างนี้ อย่าตรึกตรองอย่างนั้น จงใส่ใจ อย่างนี้ อย่าใส่ใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด’ นี้จัดเป็นอนุสาสนี- ปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ยังมีอีก เกวัฏฏะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง โดยชอบ ฯลฯ๑- (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่า สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ อย่างหนึ่ง ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ฯลฯ น้อม จิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึง ประกาศให้รู้กัน
เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป
[๔๘๗] เกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุเกิดความคิดคำนึง ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ ไหนหนอ @เชิงอรรถ : @ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบจนถึงข้อ ๒๔๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑. เกวัฏฏสูตร]

เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

[๔๘๘] ทีนั้นแล ภิกษุจึงเข้าสมาธิถึงขั้นที่จิตตั้งมั่นจนเห็นทางไปเทวโลก ครั้น แล้วเธอเข้าไปหาพวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกา แล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูต- รูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกาตอบว่า ‘พวกเราไม่ทราบที่ ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือน กัน แต่ท้าวมหาราช ๔ องค์ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’ [๔๘๙] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ แล้วถามว่า ‘ท่าน ผู้มีอายุ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับ สนิทที่ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ตอบว่า ‘แม้พวกเรา ก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิท ไปเหมือนกัน แต่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’ [๔๙๐] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพชั้นดาวดึงส์ตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่ทราบที่ที่ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน แต่ท้าวสักกเทวราชผู้ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’ [๔๙๑] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาท้าวสักกเทวราชแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวสักกเทวราชตอบว่า ‘แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน แต่ พวกเทพชั้นยามา ฯลฯ เทพบุตรชื่อสุยาม ฯลฯ พวกเทพชั้นดุสิต ฯลฯ เทพบุตร ชื่อสันดุสิต ฯลฯ พวกเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ เทพบุตรชื่อสุนิมมิต ฯลฯ พวก เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ เทพบุตรชื่อวสวัตดีซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเรา คงจะทราบ’ [๔๙๒] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาเทพบุตรชื่อวสวัตดีแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑. เกวัฏฏสูตร]

เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

เมื่อเธอถามอย่างนี้ เทพบุตรชื่อวสวัตดีตอบว่า ‘แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน แต่พวก เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าเราคงจะทราบ’ [๔๙๓] ทีนั้นแล ภิกษุจึงเข้าสมาธิถึงขั้นที่จิตตั้งมั่นจนเห็นทางไปพรหมโลก ครั้นแล้วเธอเข้าไปหาพวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่ทราบที่ ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน แต่พระพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้ กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็น บิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’ เธอถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เวลานี้ท้าวมหาพรหมอยู่ที่ไหน’ พวกเทพเหล่านั้นตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่รู้ที่อยู่ของท้าวมหาพรหมหรือ ทิศทางที่ท้าวมหาพรหมอยู่ แต่มีนิมิตที่สังเกตได้ (คือ) แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาส ปรากฏขึ้น ท้าวมหาพรหมก็จะปรากฏพระองค์ด้วย การที่แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาส ปรากฏขึ้นนี้ จัดเป็นบุรพนิมิตแห่งการปรากฏของท้าวมหาพรหม’ ต่อมาไม่นาน ท้าวมหาพรหมได้ปรากฏพระองค์ขึ้น [๔๙๔] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นเข้าไปหาท้าวมหาพรหมแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวมหาพรหมตอบว่า ‘เราเป็นพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่ง ใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด’ แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุนั้นกล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อาตมาไม่ได้ ถามท่านว่า ท่านเป็นพระพรหมผู้เป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดหรือ แต่อาตมาถามท่านอย่างนี้ว่า มหา ภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑. เกวัฏฏสูตร]

อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวมหาพรหมก็คงตอบว่า ‘เราเป็นพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้ ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด’ แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุนั้นกล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อาตมาไม่ได้ ถามท่านว่า ท่านเป็นพระพรหมผู้เป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็น ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดหรือ แต่อาตมาถามท่าน อย่างนี้ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อม ดับสนิทที่ไหน’ [๔๙๕] ทันใดนั้น ท้าวมหาพรหมนั้นจับแขนภิกษุนั้นพาไป ณ ที่สมควรแล้ว กล่าวว่า ‘ภิกษุ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่พระพรหมไม่ได้ รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ทราบ ไม่ได้ประจักษ์แจ้ง ดังนั้น เราจึงไม่ตอบต่อหน้าพวกเทพ เหล่านั้นว่า แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุดับสนิทเหมือนกัน ฉะนั้น การที่ท่านละเลยพระผู้มีพระภาคแล้วมาหา คำตอบเรื่องนี้ภายนอก นับว่าทำผิด นับว่าทำพลาด ไปเถิด ภิกษุ ท่านจงไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหานี้ และพึงจำไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ’ [๔๙๖] ลำดับนั้น ภิกษุได้หายไปจากพรหมโลกมาปรากฏต่อหน้าเรา เปรียบ เหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือพับแขนเข้าฉะนั้น เธอกราบเราแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหนหนอแล’
อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง
[๔๙๗] เมื่อเธอถามอย่างนี้ เราได้ตอบว่า ภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวก พ่อค้าเดินเรือทะเลนำนกตีรทัสสีลงเรือไป เมื่อมองไม่เห็นฝั่ง พวกเขาจึงปล่อยนก ตีรทัสสีไป นกนั้นบินไปยังทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศเบื้องบน และทิศเฉียง ถ้ามันยังแลเห็นชายฝั่งรอบๆ ก็จะบินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑. เกวัฏฏสูตร]

อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

รอบก็จะบินกลับมาที่เรือนั้นอีก ภิกษุ เธอก็เช่นกัน เที่ยวเสาะหาไปจนถึงพรหมโลก ก็ยังไม่ได้คำตอบของปัญหานี้ ในที่สุดต้องกลับมาหาเรา ปัญหานี้เธอไม่ควรถามว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ ไหนหนอแล [๔๙๘] แต่ควรถามอย่างนี้ว่า ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้ง อยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียด และหยาบ งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน นามและรูปย่อมดับสนิทในที่ไหน [๔๙๙] ในปัญหานั้น มีคำตอบดังนี้ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้ง อยู่ไม่ได้ในวิญญาณ๑- ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีที่สุด แต่มีท่าข้าม๒- โดยรอบด้าน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียด และหยาบ งามและไม่งาม ก็ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ในวิญญาณ๑- นี้เช่นเดียวกัน นามและรูปย่อมดับสนิท ในวิญญาณ๑- นี้เช่นเดียวกัน เพราะวิญญาณ๓- ดับไป นามและรูปนั้นก็ย่อมดับสนิทในที่นั้น” [๕๐๐] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะมีใจยินดี ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
เกวัฏฏสูตรที่ ๑๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ วิญญาณ ในที่นี้หมายถึง พระนิพพาน (ที.สี.อ. ๔๙๙/๓๒๖) @ ท่าข้าม ในที่นี้หมายถึง กรรมฐาน ๓๘ ประการ (ที.สี.อ. ๔๙๙/๓๒๗) @ จริมกวิญญาณบ้าง อภิสังขารวิญญาณบ้าง (ที.สี.อ. ๔๙๙/๓๒๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๒๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๒๑๓-๒๒๐. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=9&siri=11              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=9&A=7317&Z=7898                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=338              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=9&item=338&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=8429              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=9&item=338&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=8429                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i338-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i338-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.11.0.than.html https://suttacentral.net/dn11/en/sujato https://suttacentral.net/dn11/en/rhysdavids-brasington



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :