ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
อันนนาถสูตร
[๖๒] ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้ อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับตาม กาลตามสมัย สุข ๔ ประการเป็นไฉน คือ สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ๑ สุขเกิด แต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ๑ สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ ๑ สุขเกิดแต่ประกอบ การงานที่ปราศจากโทษ ๑ ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์เป็นไฉน โภคทรัพย์ของกุลบุตรในโลกนี้ เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมของ เรามีอยู่ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การจ่าย ทรัพย์บริโภคเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำ บุญทั้งหลาย ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วย กำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับ ความสุขโสมนัสว่า เราย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วย โภคทรัพย์ ฯลฯ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมไม่เป็นหนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราไม่เป็น หนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความไม่ เป็นหนี้ ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อัน หาโทษมิได้ เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจาก โทษ ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้แล อันคฤหบดีผู้บริโภคกามพึงได้รับตาม กาลตามสมัย ฯ นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ รู้ความไม่เป็นหนี้ว่าเป็นสุขแล้ว พึงระลึกถึงสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ เมื่อใช้สอยโภคะเป็นสุข อยู่ ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญา ผู้มีเมธาดี เมื่อเห็นแจ้ง ย่อมรู้ ส่วนทั้ง ๒ ว่า สุขแม้ทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อัน จำแนกแล้ว ๑๖ ครั้ง ของสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ ปราศจากโทษ ฯ
จบสูตรที่ ๒
สพรหมสูตร
[๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของ ตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น ชื่อว่ามีพรหม มารดา และบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูล เหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูล เหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น ชื่อว่ามีอาหุเนยยบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมบุรพาจารย์ บุรพเทพ อาหุเนยยบุคคล นี้เป็นชื่อของมารดาและบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดา และบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ประคบประหงมเลี้ยงดูบุตร เป็นผู้แสดงโลกนี้ แก่บุตร ฯ มารดาและบิดาผู้อนุเคราะห์แก่บุตร ท่านเรียกว่า พรหม บุรพาจารย์ และอาหุเนยยบุคคลของบุตรทั้งหลาย เพราะ เหตุนั้นแหละ บุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงนอบน้อม พึงสักการะ ท่านด้วยข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม ที่นอน ที่นั่ง อบกาย ให้อาบน้ำ และชำระเท้า เพราะเหตุที่บุตรผู้เป็นบัณฑิตได้บำรุงบำเรอใน มารดาและบิดา บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขา ครั้นเขา ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์ ฯ
จบสูตรที่ ๓
นิรยสูตร
[๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อม เกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้มัก ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมา โยนลง ฯ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การคบหาภรรยาของผู้อื่น การ พูดเท็จ เรากล่าวว่า เป็นกรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายย่อม ไม่สรรเสริญเลย ฯ
จบสูตรที่ ๔
รูปสูตร
[๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวก เป็นไฉนคือ ผู้ถือประมาณในรูป เลื่อมใสในรูป ๑ ผู้ถือประมาณในเสียง เลื่อม ใสในเสียง ๑ ผู้ถือประมาณในความเศร้าหมอง เลื่อมใสในความเศร้าหมอง ๑ ผู้ถือประมาณในธรรม เลื่อมใสในธรรม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวก นี้แล มีปรากฏอยู่ในโลกนี้ ฯ ก็ชนเหล่าใด ถือประมาณในรูป และชนเหล่าใด คล้อยไป ตามเสียง ชนเหล่านั้น เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของฉันทราคะ ย่อมไม่รู้จักชนนั้น คือ ย่อมไม่รู้คุณภายในของเขา และ ไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขา บุคคลนั้นแล เป็นคน เขลา ถูกห้อมล้อมไว้โดยรอบ อันเสียงย่อมพัดไป อนึ่ง บุคคลไม่รู้คุณภายใน และไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขา แม้บุคคลนั้นเห็นผลในภายนอก ก็ยังถูกเสียงพัดไป ส่วน บุคคลรู้ทั่วถึงคุณภายในของเขา และเห็นแจ้งข้อปฏิบัติภาย นอกของเขา บุคคลนั้นเป็นผู้เห็นธรรมอันปราศจากเครื่องกั้น ย่อมไม่ถูกเสียงพัดไป ฯ
จบสูตรที่ ๕
สราคสูตร
[๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้มีราคะ ๑ มีโทสะ ๑ มีโมหะ ๑ มีมานะ ๑ บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ ชนทั้งหลาย กำหนัดนักในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพลิดเพลินในรูปที่น่ารัก เป็นสัตว์เลวทราม อันโมหะผูกไว้ ย่อมยังเครื่องผูกให้เจริญ เป็นผู้ไม่ฉลาด ย่อมกระทำอกุศล กรรมอันเกิดแต่ราคะบ้าง เกิดแต่โทสะบ้าง เกิดแต่โมหะบ้าง มีความคับแค้น ให้ทุกข์ต่อไป สัตว์ทั้งหลายอันอวิชชาหุ้ม ห่อแล้ว เป็นผู้มืดมน ไม่มีจักษุ พวกเขาย่อมไม่สำคัญ ว่าเราเป็นผู้มีสภาพเหมือนธรรม ๓ ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๖
อหิสูตร
[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ รูปหนึ่งในกรุงสาวัตถีถูกงูกัด ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งใน เมืองสาวัตถีนี้ถูกงูกัด ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่ เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ตระกูลพญางู ๔ เป็นไฉน คือ ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักขะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ ๑ ตระกูล พญางูชื่อฉัพยาปุตตะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางู ๔ จำพวกนี้เป็นแน่ ก็ถ้าเธอ พึงแผ่เมตตาไปยังตระกูลพญางูทั้ง ๔ นี้ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู ๔ จำพวกนี้ เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน ฯ ความเป็นมิตร ของเรา จงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อวิรูปักขะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อเอราปถะ ความเป็นมิตร ของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อฉัพยา- ปุตตะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสกุลพญางูทั้งหลายชื่อ กัณหาโคตมกะ ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่ ไม่มีเท้า ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๒ เท้า ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก ๔ เท้า ความเป็น มิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกมีเท้ามาก สัตว์ไม่มีเท้าอย่า เบียดเบียนเรา สัตว์ ๒ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ ๔ เท้า อย่าเบียดเบียนเรา สัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเรา ขอ สรรพสัตว์ทั้งปวงที่มีลมปราณ มีชีวิตเป็นอยู่ จงได้พบ เห็นความเจริญเถิด อย่าได้มาถึงโทษอันลามกน้อยหนึ่งเลย ฯ พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้ พระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง จะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู ล้วนมีประมาณ ความรักษาอันเรากระทำแล้ว ความป้องกันอันเรากระทำแล้ว ขอหมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย เรานั้น กำลังนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่ กำลังนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์อยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๗
เทวทัตตสูตร
[๖๘] สมัยหนึ่ง เมื่อพระเทวทัตต์หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภพระเทวทัตต์ ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ต้นกล้วยย่อมเผล็ดผลเพื่อฆ่าตน เมื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้ไผ่ย่อมตกขุยเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้อ้อย่อมผลิดอกเพื่อฆ่า ตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่ พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่ม้าอัสดรย่อมตั้งครรภ์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล ฯ ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อ ย่อมฆ่าต้นอ้อ ลูกม้าอัสดรย่อมฆ่าแม่ม้าอัสดร ฉันใด สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่ว ฉันนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๘
ปธานสูตร
[๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปธานคือความเพียร ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สังวรปธานเป็นไฉน ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อให้อกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า สังวรปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปหานธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรม วินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละอกุศลบาปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า ปหานปธาน ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็ภาวนาปธานเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อให้กุศลกรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนุรักขนาปธานเป็น ไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อความดำรงอยู่ เพื่อไม่หลงลืม เพื่อความเจริญยิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์ เพื่อเพิ่มพูน เพื่อความบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปธานคือความเพียร ๔ ประการ นี้แล ฯ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้มีความเพียร พึงถึงความสิ้นทุกข์ได้ด้วย ปธานเหล่าใด ปธาน ๔ ประการเหล่านี้ คือ สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑ อัน พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดง ไว้แล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๙
ธรรมิกสูตร
[๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พวกข้าราชการ ก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้ง อยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อ พราหมณ์และคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็ เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์ และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุน เวียนไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อคืนและวัน หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็หมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำ เสมอเมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไม่สม่ำเสมอ เมื่อลมพัดไม่ สม่ำเสมอ ลมก็เดินผิดทางไม่สม่ำเสมอ ย่อมพัดเวียนไป เมื่อลมเดินผิดทางไม่สม่ำ เสมอพัดเวียนไป เทวดาย่อมกำเริบ เมื่อเทวดากำเริบฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็สุกไม่เสมอกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าวที่สุกไม่เสมอกัน ย่อมเป็นผู้มีอายุน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมอง มีกำลังน้อย มีอาพาธมาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ข้าราชการก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อข้าราชการตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพราหมณ์และ คฤหบดีตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้น แม้ชาวนิคมและชาวชนบท ก็ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ ในธรรม เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระ อาทิตย์ก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนสม่ำ เสมอกัน หมู่ดาวนักษัตรก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรหมุนเวียน สม่ำเสมอ คืนและวันก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอ เมื่อคืนและวันย่อมหมุนเวียน สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ย่อมหมุนเวียนสม่ำเสมอกัน เมื่อ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหมุนเวียนสม่ำเสมอ ฤดูและปีก็ย่อมหมุนเวียนไปสม่ำ เสมอ เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอกัน ลมย่อมพัดสม่ำเสมอ เมื่อลม พัดสม่ำเสมอ ลมย่อมพัดไปถูกทาง เมื่อลมพัดไปถูกทาง เทวดาย่อม ไม่กำเริบ เมื่อเทวดาไม่กำเริบ ฝนย่อมตกต้องตามฤดูกาล เมื่อฝน ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าก็สุกเสมอกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ผู้บริโภคข้าว กล้าที่สุกเสมอกัน ย่อมมีอายุยืน มีผิวพรรณดี มีกำลัง และมีอาพาธน้อย ฯ เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปคด โคเหล่านั้นย่อม ไปคดทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปคด ในมนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม ประชาชนนอกนี้ก็จะประพฤติอธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้น ทั้งหมดจะได้ประสบความทุกข์ ถ้าพระราชาเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ ในธรรม เมื่อฝูงโคข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง โคเหล่า นั้นย่อมไปตรงทั้งหมด ในเมื่อโคผู้นำไปตรง ในหมู่มนุษย์ ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติ ธรรม ประชาชนนอกนี้ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน แว่น แคว้นทั้งหมดย่อมได้ประสบความสุข ถ้าพระราชาเป็นผู้ ตั้งอยู่ในธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบปัตตกรรมวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปัตตกรรมสูตร ๒. อันนนาถสูตร ๓. สพรหมกสูตร ๔. นิรยสูตร ๕. รูปสูตร ๖. สราคสูตร ๗. อหิสูตร ๘. เทว- *ทัตตสูตร ๙. ปธานสูตร ๑๐. ธรรมิกสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
อปัณณกวรรคที่ ๓
ปธานสูตร
[๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อม เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นอันปรารภเหตุ เพื่อความสิ้นอาสวะ ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็น พหูสูต ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นปรารภเหตุเพื่อ ความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๑
ทิฏฐิสูตร
[๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้ ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นอันปรารภเหตุ เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เนกขัมมวิตก ๑ อพยาบาทวิตก ๑ อวิหิงสา วิตก ๑ สัมมาทิฏฐิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ นี้แล เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นอันปรารภเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะ ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๒
สัปปุริสสูตร
[๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึง ทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อ ถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความ เสียหายของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของ ผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวสรรเสริญคุณผู้อื่นโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสีย หายของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดย ตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของ ตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามแล้วก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อม ค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่า เป็นอสัตบุรุษ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่า เป็นสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่ เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถาม เข้า ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวความเสียหายของผู้ อื่นโดยย่อไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลก แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่ หน่วงเหนี่ยว กล่าวความดีของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึง ทราบว่าท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหาย ของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่ อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ฯ อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึง ทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย หญิงสะใภ้ที่ถูกนำมาคืนหนึ่งหรือวันหนึ่งเท่านั้น นาง ตั้งหิริและโอตตัปปะได้อย่างแรงกล้าในแม่ผัว พ่อผัว และผัว โดยที่สุดใน คนรับใช้และคนทำงาน สมัยต่อมา นางอาศัยอยู่คุ้นเคย จึงกล่าวกะแม่ผัว บ้าง พ่อผัวบ้าง และผัวบ้าง อย่างนี้ว่า จงหลีกไป ก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้ ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพียงออกบวชได้วันหนึ่ง หรือคืนหนึ่งเท่านั้น เธอตั้งหิริและโอตตัปปะไว้อย่างแรงกล้า ในพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย โดยที่สุดในคนวัดและสามเณร สมัยต่อมา เธออาศัยความอยู่ร่วม จึงกล่าวกะอาจารย์บ้าง กะอุปัชฌาย์บ้าง อย่างนี้ว่า จงหลีก ไปก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เราจักมีใจเสมือนหญิงสะใภ้ซึ่งมาใหม่อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓
อัคคสูตรที่ ๑
[๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเลิศ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ศีลอันเลิศ ๑ สมาธิอันเลิศ ๑ ปัญญาอันเลิศ ๑ วิมุตติอันเลิศ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเลิศ ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๔
อัคคสูตรที่ ๒
[๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเลิศอีก ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็น ไฉน คือ รูปอันเลิศ ๑ เวทนาอันเลิศ ๑ สัญญาอันเลิศ ๑ ภพอันเลิศ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเลิศอีก ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕
กุสินาราสูตร
[๗๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ระหว่างต้นรังทั้งคู่ใน สาลวัน อันเป็นที่ประพาสของมัลลกษัตริย์ ใกล้กรุงกุสินารา ในปรินิพพานสมัย ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุสักรูปหนึ่งพึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ใน ธรรม ในพระสงฆ์ ในมรรค หรือในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด อย่าได้มี ความเสียใจในภายหลังว่า พระศาสดาได้ประทับอยู่เฉพาะหน้าของเราทั้งหลาย เรา ทั้งหลายไม่อาจจะสอบถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเฉพาะพระพักตร์ได้ เมื่อพระผู้มี พระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสักรูปหนึ่งพึงมี ความสงสัยหรือเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ในธรรม ในพระสงฆ์ ในมรรค หรือ ในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด อย่าได้เสียใจในภายหลังว่า พระศาสดา ประทับอยู่เฉพาะหน้าของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายไม่อาจจะสอบถามพระผู้มีพระภาค เฉพาะพระพักตร์ได้ ภิกษุเหล่านั้นก็ได้นิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส เตือนภิกษุทั้งหลายว่า เป็นได้ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่พึงถามแม้ด้วยความ เคารพต่อพระศาสดา แม้สหายก็จงบอกแก่สหายเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส อย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ได้นิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ข้าพระองค์เลื่อม ใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ แม้ภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุสงฆ์นี้ก็ไม่มีความสงสัย หรือความ เคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในมรรค หรือในปฏิปทา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เธอกล่าวด้วยความเลื่อมใสแท้ ญาณของ ตถาคตในข้อนี้ก็เหมือนกันว่า แม้ภิกษุรูปหนึ่งในภิกษุสงฆ์นี้ ไม่มีความสงสัยหรือ ความเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ในธรรม ในพระสงฆ์ ในมรรค หรือในปฏิปทา ดูกรอานนท์ แท้จริงบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ รูปสุดท้ายภายหลังเป็นโสดาบัน มีอัน ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะได้ตรัสรู้ต่อไป ฯ
จบสูตรที่ ๖
อจินติตสูตร
[๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัย ของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความ เป็นบ้า เดือดร้อน ฯ
จบสูตรที่ ๗
ทักขิณาสูตร
[๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทักขิณาวิสุทธิ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็น ไฉน คือ ทักขิณาบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกประการ ๑ ทักขิณา บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายกประการ ๑ ทักขิณาไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่าย ทายกทั้งฝ่ายปฏิคาหกประการ ๑ ทักขิณาบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกทั้งฝ่ายปฏิคาหก ประการ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทักขิณาบริสุทธิ์ฝ่ายทายกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร ทายกในโลกนี้ เป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ฝ่ายปฏิคาหก เป็นคน ทุศีล มีบาปธรรม ทักขิณาบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกอย่าง นี้แล ฯ ก็ทักขิณาบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายกเป็นอย่างไร คือ ทายกในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม ส่วนปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณ- *ธรรม ทักขิณาบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายกอย่างนี้แล ฯ ก็ทักขิณาไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกทั้งฝ่ายปฏิคาหกเป็นอย่างไร คือ ทายกใน โลกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม แม้ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม ทักขิณาไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกทั้งฝ่ายปฏิคาหก อย่างนี้แล ฯ ก็ทักขิณาบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกทั้งฝ่ายปฏิคาหกเป็นอย่างไร คือ ทายกใน โลกนี้ เป็นผู้มีศีล กัลยาณธรรม แม้ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทักขิณาบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกทั้งฝ่ายปฏิคาหกอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทักขิณา วิสุทธิ ๔ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๘
วณิชชสูตร
[๗๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลก นี้ ทำการค้าขายขาดทุน อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำการค้าขายไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคล บางคนในโลกนี้ ทำการค้าขายได้กำไรตามที่ประสงค์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำการค้าขายได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์ พระผู้มี พระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือ พราหมณ์แล้ว ย่อมปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์ เขากลับไม่ ถวายปัจจัยที่เขาปวารณา ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขา ทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมขาดทุน อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไป หาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ย่อมปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์ แต่เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ไม่เป็นไปตามประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้น มาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมไม่ได้กำไรตามที่ ประสงค์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ย่อม ปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ต้องประสงค์ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ตามที่ ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขาย อย่างใดๆ เขาย่อมได้กำไรตามที่ประสงค์ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไป หาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ต้องประสงค์ เขา ถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ยิ่งกว่าที่ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้น มาสู่ความ เป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์ ดูกร สารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำการค้าขาย ขาดทุน นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำการค้าขายไม่ได้ กำไรตามที่ประสงค์ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำการ ค้าขายได้กำไรตามที่ประสงค์นี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำการค้าขายได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์ ฯ
จบสูตรที่ ๙
กัมโมชสูตร
[๘๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้ เมืองโกสัมพี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มาตุคาม นั่งในสภาไม่ได้ ประกอบการงานใหญ่ๆ ไม่ได้ ไปนอกเมืองไม่ได้ ๑- พระผู้มี พระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ มาตุคามมักโกรธ มักริษยา มีความตระหนี่ มี ปัญญาทราม ดูกรอานนท์ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้มาตุคามนั่งในสภาไม่ ได้ ประกอบการงานใหญ่ๆ ไม่ได้ ไปนอกเมืองไม่ได้ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบอปัณณกวรรคที่ ๓
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปธานสูตร ๒. ทิฏฐิสูตร ๓. สัปปุริสสูตร ๔. อัคคสูตรที่ ๑ ๕. อัคคสูตรที่ ๒ ๖. กุสินาราสูตร ๗. อจินติตสูตร ๘. ทักขิณาสูตร ๙. วณิชชสูตร ๑๐. กัมโมชสูตร ฯ
-----------------------------------------------------
@๑. ไปเก็บเงินไกลๆ ไม่ได้
มจลวรรคที่ ๔
ปาณาติปาตสูตร
[๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อม เกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้มัก ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ บุคคลผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือน ถูกเชิญมา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ จาก การลักทรัพย์ ๑ จากการประพฤติผิดในกาม ๑ จากการพูดเท็จ ๑ บุคคลผู้ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนถูกเชิญมา ฯ
จบสูตรที่ ๑
มุสาสูตร
[๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อม เกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ มักพูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ บุคคลผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือน ถูกเชิญมา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ ๑ จาก การพูดส่อเสียด ๑ จากการพูดคำหยาบ ๑ จากการพูดเพ้อเจ้อ ๑ บุคคลผู้ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนถูกเชิญมา ฯ
จบสูตรที่ ๒

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑๘๔๖-๒๒๖๐ หน้าที่ ๗๙-๙๗. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1846&Z=2260&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=21&item=62&items=21              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=21&item=62&items=21&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=21&item=62&items=21              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=21&item=62&items=21              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=62              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_21 https://84000.org/tipitaka/english/?index_21

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]