ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระชตุกัณณิกเถระ
(พระชตุกัณณิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๒๗๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรเศรษฐีอยู่ในกรุงหงสวดี เพียบพร้อมห้อมล้อมอยู่ด้วยกามคุณทั้งหลาย [๒๗๗] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าขึ้นสู่ปราสาท ใช้สอยโภคสมบัติมากมาย แวดล้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องอยู่ในปราสาทนั้น ในครั้งนั้น [๒๗๘] นักดนตรีมีเครื่องประโคมอย่างดีมาประโคมให้ข้าพเจ้า หญิงทั้งปวงยั่วยวน ทำใจของข้าพเจ้าให้ลุ่มหลง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน

[๒๗๙] พวกนางเจลาวกา พวกนางวามนิกา พวกนางมัชฌิตา พร้อมด้วยนางกุญชวาสี พวกนางลังฆิกา และพวกนางโสกัชฌายี ต่างแวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ [๒๘๐] คนตีฉิ่ง คนตีกลอง นักฟ้อน นักรำ ตัวละครและพวกนาฏศิลป์จำนวนมาก แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ [๒๘๑] ช่างกัลบก คนจัดแจงเครื่องอาบน้ำ พ่อครัว ช่างร้อยดอกไม้ คนทิ้งมูล(คนทิ้งอุจจาระ) นักกายกรรมและนักมวยเหล่านั้น ทั้งหมดแวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ [๒๘๒] เมื่อคนเหล่านั้นเล่นอยู่ เมื่อข้าพเจ้าชื่นชมการบำเรอที่คนเหล่านั้นทำ ข้าพเจ้าย่อมไม่รู้วันและคืน เปรียบเหมือนพระอินทร์ในเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๒๘๓] คนเดินทาง คนกำพร้า คนขอทาน นักสืบ จำนวนมาก เข้ามาขอข้าพเจ้าจนถึงเรือนเป็นนิตย์ [๒๘๔] สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะให้ข้าพเจ้าเจริญบุญ มาจนถึงเรือนข้าพเจ้า [๒๘๕] พวกนิครนถ์นุ่งผ้า ใช้มูลไถทา ใช้ดอกไม้กรองนุ่ง ถือไม้ ๓ อัน ไว้ผมหนึ่งปอย มาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๘๖] พวกอาชีวก พวกโจรปล้น พวกประพฤติวัตรเหมือนโค พวกประพฤติเทวธรรม พวกคนทิ้งขยะเหล่านั้นต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน

[๒๘๗] พวกนักสวด พวกรักสิทธิ (เสรีภาพ) พวกโกธปุคคนิกะ พวกบำเพ็ญตบะ และพวกฤๅษีเที่ยวอยู่ป่าจำนวนมาก ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๘๘] ชาวแคว้นอันธกะ (โอฑฑกะ) ชาวทมิฬ ชาวสากุฬะ ชาวมะละยาฬกะ ชาวสะวะระ และชาวโยนก ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๘๙] ชาวแคว้นอันธกะ พวกสมณะโล้นทั้งหมด ชาวกุฏฐละ ชาวสานุวินทกะ ชาวอาฬวีจีนรัฐ ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๐] ชาวอลสันทกะ ชาวปัลลวกะ ชาวปัพพตะ ชาวนัคคมารุหะ ชาวพาหิกะ และชาวแคว้นเจตปุตตะ ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๑] ชาวแคว้นมธุระ ชาวแคว้นโกศล ชาวแคว้นกาสี ชาวหัตถิบุรี ชาวแคว้นอิสินทะ ชาวแคว้นมักกละ ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๒] ชาวเจลาวกะ ชาวอารัมพะ ชาวโอภาสะ ชาวเมฆละ ชาวขุททกะ ชาวสุททกะ จำนวนมาก ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๓] ชาวโรหกชนบท ชาวลุ่มแม่น้ำสินธุ ชาวจิตกา ชาวเอกกัณณิกนิคม ชาวสุรัฏฐา และชาวอปรันตชนบท ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๔] ชาวสุปปารกะ ชาวกุมาร (ชาวมะละกา) ชาวมะลัยชนบท ชาวสุวรรณภูมิ และชาววัชชี เหล่านั้นทั้งหมด ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน

[๒๙๕] ช่างสาน ช่างหูก ช่างหนัง ช่างถาก คนงาน และช่างหม้อ ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๖] ช่างแก้ว ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างเย็บผ้า และช่างดีบุกเหล่านั้นทั้งหมด ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๗] ช่างศร ช่างกลึง คนส่งของ ช่างปรุงของหอม ช่างย้อม และช่างชุน ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๘] พวกคนขายน้ำมัน คนหาบฟืน คนหาบน้ำ คนรับใช้ คนหุงต้ม คนตักน้ำ ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๒๙๙] พวกคนเฝ้าประตู ทหาร ช่างร้อยดอกไม้ คนทิ้งขยะดอกไม้ ควาญช้าง คนเลี้ยงช้าง ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน [๓๐๐] ข้าพเจ้าได้ทูลถวายของทุกอย่าง แก่พระราชาพระนามว่าอานันทะ ผู้พร้อมเพรียง ข้าพเจ้าทำความพร่องให้เต็มด้วยรัตนะ ๗ สี [๓๐๑] ข้าพเจ้ารู้จิตของชนจำนวนมากมีวรรณะต่างกัน ที่ข้าพเจ้ายกย่องทั้งหมดให้พึงพอใจแม้ด้วยรัตนะ [๓๐๒] เมื่อดนตรีมีเสียงไพเราะบรรเลงอยู่ เมื่อกลองดังก้องอยู่ เมื่อสังข์เขาเป่าอยู่ ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเรือนของตน [๓๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ พร้อมด้วยภิกษุขีณาสพจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ รูป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน

[๓๐๔] พระองค์ ผู้มีจักษุพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย เสด็จดำเนินไปตามถนน ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่างโชติช่วง เหมือนต้นพฤกษาประทีป [๓๐๕] เมื่อพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกกำลังเสด็จดำเนินไป กลองทั้งปวงยังดังก้องอยู่ รัศมีของพระองค์พวยพุ่งดุจดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น [๓๐๖] ขณะนั้น แสงสว่างจ้าส่องเข้าไปภายในเรือนของข้าพเจ้า ด้วยพระรัศมีที่ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่าง [๓๐๗] ข้าพเจ้าเห็นพระรัศมีของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กล่าวกับพวกบริวารว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดเสด็จมาถึงถนนนี้แน่แล้ว [๓๐๘] ข้าพเจ้ารีบลงจากปราสาทแล้ว ได้ไปยังระหว่างทาง ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กราบทูลคำนี้ว่า [๓๐๙] ขอพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ โปรดทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระมุนีพระองค์นั้นพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ องค์ ทรงรับนิมนต์ [๓๑๐] ครั้นข้าพเจ้านิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้นำเสด็จพระองค์มายังเรือนของตน อังคาสพระมหามุนีให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำในเรือนนั้น [๓๑๑] ข้าพเจ้ารู้เวลาที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ผู้คงที่ กำลังเสวย ได้บำรุงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ด้วยการขับร้องและดนตรี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน

[๓๑๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งอยู่ภายในเรือน ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๓๑๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่บำรุงเราด้วยดนตรี และได้ถวายข้าวน้ำแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๓๑๔] คนผู้นี้จักเป็นผู้มีอาหารมาก มีเงิน มีโภชนะ ครองเอกราชในทวีปทั้ง ๔ [๓๑๕] จักสมาทานศีล ๕ ยินดีในกรรมบถ ๑๐ ครั้นสมาทานแล้ว ก็ประพฤติ ให้บริวารศึกษาด้วย [๓๑๖] เครื่องดนตรี ๑๐๐,๐๐๐ ชิ้น กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม จักบรรเลงให้ผู้นี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบำรุง [๓๑๗] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๖๔ ชาติ [๓๑๘] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๔ ชาติ จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๓๑๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๓๒๐] ผู้นี้เกิดในกำเนิดใด คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ในกำเนิดนั้น เขาจักเกิดเป็นมนุษย์มีโภคะไม่บกพร่อง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน

[๓๒๑] จักเป็นผู้คงแก่เรียน จบไตรเพท เที่ยวแสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุดอยู่ทั่วแผ่นดินนี้ [๓๒๒] และภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนออกบวชแล้ว จักยินดียิ่งในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม [๓๒๓] ผู้นี้จักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ ผู้ประเสริฐทรงพอพระทัย เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว จักเป็นพระอรหันต์ [๓๒๔] วันนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามอยู่ ในศาสนาของพระศากยะผู้ประเสริฐ ดุจพญาเสือโคร่งและราชสีห์ พญาเนื้อในป่าใหญ่ [๓๒๕] ข้าพเจ้าไม่เห็นการบังเกิดของข้าพเจ้าในตระกูลที่ขัดสน หรือยากจนในเทวโลก หรือในมนุษยโลก นี้เป็นผลแห่งการบำรุง [๓๒๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้ขวนขวายในวิเวก สงบระงับ ไม่มีอุปธิ ตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๓๒๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๓๒๘] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๑๐. อุเทนเถราปทาน

[๓๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระชตุกัณณิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ชตุกัณณิกเถราปทานที่ ๙ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๖๙๐-๖๙๗. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=32&siri=411              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=32&A=9353&Z=9436                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=411              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=411&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5466              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=411&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5466                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap411/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :