ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 66อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 70อ่านอรรถกถา 2 / 74อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑๐

               จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑๐               
               พรรณนาราชสิกขาบท               
               ราชสิกขาบทว่า เตน สมเยน เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในราชสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถมูลเหตุปฐมบัญญัติ]               
               สองบทว่า อุปาสกํ สญฺญาเปตฺวา ได้แก่ ให้อุบาสกเข้าใจแล้ว. อธิบายว่า กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ท่านจงซื้อจีวรด้วยมูลค่านี้แล้ว ถวายพระเถระ.
               บทว่า ปญฺญาสพนฺโธ มีคำอธิบายว่า ถูกปรับ ๕๐ กหาปณะ. ปาฐะว่า ปญฺญาสมฺพนฺโธ ก็มี.
               หลายบทว่า อชฺชุณฺโห ภนฺเต อาคเมหิ มีความว่า ท่านขอรับ! วันนี้ โปรดหยุด คือยับยั้ง ให้กระผมสักวันหนึ่ง.
               บทว่า ปรามสิ แปลว่า ได้ยืดไว้.
               บทว่า ชิโนสิ มีความว่า ท่านถูกพวกเราชนะ คือชนะท่าน ๕๐ กหาปณะ. อธิบายว่า ท่านจะต้องเสียให้ ๕๐ กหาปณะ.
               บทว่า ราชโภคฺโค มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่าราชอำมาตย์ เพราะมีเบี้ยเลี้ยงจะพึงบริโภคหรือพึงใช้สอย จากพระราชา. ปาฐะว่า ราชโภโค ก็มี. ความว่า ผู้มีโภคะ (ความเป็นใหญ่) จากพระราชา.
               บทว่า ปหิเณยฺย แปลว่า พึงส่งไป. แต่เพราะมีอรรถตื้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมิได้ตรัสบทภาชนะแห่งบทว่า ปหิเณยฺย นั้นไว้.
               ก็บทว่า ปหิเณยฺย นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสบทภาชนะไว้ฉันใด, แม้บทว่า จีวรํ อิตฺถนฺนามํภิกฺขุํ เป็นต้นก็ฉันนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ไม่ได้ตรัสบทภาชนะไว้ เพราะมีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               บทว่า อาภฏํ แปลว่า นำมาแล้ว.
               สองบทว่า กาเลน กปฺปิยํ คือ โดยกาลอันถึงความสมควร.
               ความว่า พวกเราจะรับจีวรที่ควรในเวลาพวกเรามีความต้องการ.
               บทว่า เวยฺยาวจฺจกโร ได้แก่ ผู้ทำกิจ.
               ความว่า กัปปิยการก (ผู้ทำของให้สมควร).
               ข้อว่า สญฺญตฺโต โส มยา มีความว่า คนที่ท่านแสดงเป็นไวยาจักรนั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เข้าใจแล้ว คือสั่งโดยประการที่เมื่อท่านมีความต้องการด้วยจีวรเขาจะถวายจีวรแก่ท่าน.
               คำว่า อตฺโถ เม อาวุโส จีวเรน นี้เป็นคำแสดงลักษณะแห่งการทวง (ด้วยวาจา). จริงอยู่ คำสำนวนนี้ ควรกล่าว.
               อีกอย่างหนึ่ง อรรถแห่งคำว่า อาวุโส! รูปมีความต้องการด้วยจีวรนั้น ควรกล่าวด้วยภาษาหนึ่ง. ลักษณะนี้ ชื่อว่าลักษณะแห่งการทวง. ส่วนคำว่า จงให้จีวรแก่รูป เป็นต้น ตรัสไว้เพื่อแสดงอาการที่ไม่ควรกล่าว. จริงอยู่ คำเหล่านี้หรือเนื้อความของคำเหล่านี้ไม่ควรกล่าวด้วยภาษาใดภาษาหนึ่ง.
               ข้อว่า ทุติยํปิ วตฺตพฺโพ ตติยํปิ วตฺตพฺโพ มีความว่า ไวยาวัจกรนั้นอันภิกษุพึงกล่าวคำนี้แลถึง ๓ ครั้งว่า อาวุโส! รูปมีความต้องการจีวร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกำหนดการทวง ที่ยกขึ้นแสดงในคำว่า พึงทวงพึงเตือนสองสามครั้ง อย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงใจความโดยสังเขปแห่งบทเหล่านี้ว่า ทฺวิตฺติกฺขตฺตุํ โจทยมาโน สารยมาโน ตํ จีวรํ อภินิปฺผาเทยฺย อิจฺเจตํ กุสลํ จึงตรัสว่า ถ้าภิกษุสั่งไวยาวัจกรนั้นให้จัดสำเร็จ การให้จัดสำเร็จได้อย่างนี้นั้น เป็นการดี. เมื่อทวงถึง ๓ ครั้งอย่างนี้ ถ้าจัดจีวรนั้นให้สำเร็จได้ คือย่อมอาจเพื่อให้สำเร็จ ด้วยอำนาจ (ทำ) ให้ตนได้มา, การจัดการให้สำเร็จได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี คือให้สำเร็จประโยชน์ ดีงาม.
               คำว่า จตุกฺขตฺตุํ ปฺจกฺขตฺตุํ ฉกฺขตฺตุปรมํ ตุณฺหีภูเตน อุทฺทิสฺส ฐาตพฺพํ นี้ เป็นการแสดงลักษณะแห่งการยืน. ก็คำว่า ฉกฺขตฺตุปรมํ นี้บอกภาวนปุงสกลิงค์.
               จริงอยู่ ภิกษุนี้พึงยืนนิ่งเฉพาะจีวร ๖ ครั้งเป็นอย่างมาก. ไม่พึงกระทำกิจอะไรๆ อื่น. นี้เป็นลักษณะแห่งการยืน. เพื่อจะทรงแสดงความเป็นผู้นิ่ง (ที่ตรัส) ไว้ในบทว่า ตุณฺหีภูเตน นั้น ซึ่งเป็นสาธารณะแก่การยืนทุกๆ ครั้งก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ตตฺถ คนฺตฺวา ตุณฺหีภูเตน เป็นต้น ในบทภาชนะ.

               [อธิบายการทวงและการยืน]               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า น อาสเน นิสีทิตพฺพํ มีความว่า ภิกษุแม้อันไวยาวัจกรกล่าวว่า โปรดนั่งที่นี้เถิด ขอรับ! ก็ไม่ควรนั่ง.
               สองบทว่า น อามิสํ ปฏิคฺคเหตพฺพํ มีความว่า แม้อันเขาอ้อนวอนอยู่ว่า โปรดรับอามิสต่างโดยยาคูและของเคี้ยวเป็นต้น สักเล็กน้อย ขอรับ! ก็ไม่ควรรับ.
               สองบทว่า น ธมฺโม ภาสิตพฺโพ มีความว่า แม้ถูกเขาอ้อนวอนอยู่ว่า โปรดกล่าวมงคล หรืออนุโมทนาเถิด ก็ไม่ควรกล่าวอะไรเลย. เมื่อถูกเขาถามอย่างเดียวว่า ท่านมาเพราะเหตุอะไร? พึงบอกเขาว่า จงรู้เอาเองเถิด ผู้มีอายุ!
               จริงอยู่ คำว่า ปุจฺฉิยมาโน นี้ เป็นปฐมาวิภัตติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ศึกษาพึงเห็นใจความในบทว่า ปุจฺฉิยมาโน นี้ แม้อย่างนี้ว่า ถูกเขาตั้งปัญหาถาม. จริงอยู่ บุคคลใดย่อมตั้งปัญหาถาม, ภิกษุควรตอบบุคคลนั้นเท่านี้แล.
               สองบทว่า ฐานํ ภญฺชติ คือ ย่อมหักซึ่งเหตุแห่งการมา.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงการเพิ่มและการลดในการทวง ๓ ครั้ง และการยืน ๖ ครั้งที่พระองค์ตรัสไว้แล้ว จึงตรัสคำเป็นต้นว่า จตุกฺขตฺตุํ โจเทตฺวา เป็นต้น. อนึ่ง ในพระบาลีนี้ตรัสให้ลดการยืน ๒ ครั้ง โดยเพิ่มการทวงครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันทรงแสดงลักษณะว่า การทวงหนึ่งครั้งเท่ากับการยืนสองครั้ง.
               มีคำอธิบายว่า โดยลักษณะดังกล่าวมานี้ ภิกษุทวง ๓ ครั้ง พึงยืนได้ ๖ ครั้ง, ทวง ๒ ครั้ง พึงยืนได้ ๘ ครั้ง, ทวงครั้งเดียว พึงยืนได้ ๑๐ ครั้ง, เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ทวง ๖ ครั้งแล้ว ไม่พึงยืนฉันใด ยืน ๑๒ ครั้งแล้ว ก็ไม่พึงทวงฉันนั้น ดังนี้ก็มีเหมือนกัน.
               เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในการทวง และการยืนทั้งสองนั่นอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุทวงอย่างเดียวไม่ยืน ย่อมได้การทวง ๖ ครั้ง. ถ้ายืนอย่างเดียว ไม่ทวง ย่อมได้การยืน ๑๒ ครั้ง. ถ้าทวงบ้าง ยืนบ้าง พึงลดการยืน ๒ ครั้งต่อการทวงครั้ง ๑.
               บรรดาการทวงและการยืนนั้น ภิกษุใดไปทวงบ่อยๆ วันเดียวเท่านั้นถึง ๖ ครั้ง, หรือว่าไปเพียงครั้งเดียว แต่พูด ๖ ครั้งว่า ผู้มีอายุ รูปต้องการจีวร. อนึ่ง ไปยืนบ่อยๆ วันเดียวเท่านั้นถึง ๑๒ ครั้ง, หรือว่าไปเพียงครั้งเดียว แต่ยืนในที่นั้นๆ ๑๒ ครั้ง, ภิกษุแม้นั้นย่อมหักการทวงทั้งหมด และการยืนทั้งหมด ก็จะป่วยกล่าวไปไย ในเรื่องหักการทวงและการยืนของภิกษุผู้กระทำอย่างนี้ ในต่างวันกันเล่า?
               ข้อว่า ยตสฺส จีวรเจตาปนํ อาภฏํ มีความว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร ที่เขานำมาเพื่อภิกษุนั้น จากพระราชา หรือจากราชอำมาตย์ใด. ปาฐะว่า ยตฺราสฺส ก็มี. เนื้อความอย่างนี้เหมือนกัน. อาจารย์บางพวกสวดว่า ยตฺถสฺส ก็มี และกล่าวอรรถว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรอันเขาส่งมาเพื่อภิกษุนั้นในที่ใด. แต่ว่า พยัญชนะไม่สมกัน.
               บทว่า ตตฺถ มีความว่า ในสำนักแห่งพระราชา หรือว่าราชอำมาตย์นั้น.
               จริงอยู่ คำว่า ตตฺถ นี้ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่าใกล้.
               ข้อว่า น ตํ ตสฺส ภิกฺขุโน กิญฺจิ อตฺถํ อนุโภติ มีความว่า ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรนั้น ไม่ให้สำเร็จกรรมน้อยหนึ่ง คือแม้มีประมาณเล็กน้อย แก่ภิกษุนั้น.
               ข้อว่า ยุญฺชนฺตายสฺมนฺโต สกํ มีความว่า ท่านทั้งหลายจงทวงเอาทรัพย์ของตน คือจงตามเอาทรัพย์นั่นคืนไปเสีย.
               ข้อว่า มา โว สกํ วินสฺส มีความว่า ทรัพย์ส่วนตัวของท่านจงอย่าสูญหายไปเลย, อนึ่ง ภิกษุใดย่อมไม่ไปเอง ทั้งไม่ส่งทูตไป, ภิกษุนั้นย่อมต้องทุกกฏ เพราะละเลยวัตร.

               [ว่าด้วยกัปปิยการกและไวยาวัจกร]               
               ถามว่า ก็ในกัปปิยการกทั้งปวง จะพึงปฏิบัติอย่างนี้หรือ?
               แก้ว่า ไม่ต้องปฏิบัติ (อย่างนี้เสมอไป).
               แท้จริง ชื่อว่า กัปปิยการกนี้ โดยสังเขปมี ๒ อย่าง คือ ผู้ที่ถูกแสดง ๑ ผู้ที่มิได้ถูกแสดง ๑. ใน ๒ พวกนั้น กัปปิยการกผู้ที่ถูกแสดงมี ๒ คือ ผู้ที่ภิกษุแสดงอย่างหนึ่ง ผู้ที่ทูตแสดงอย่างหนึ่ง. แม้กัปปิยการกที่ไม่ถูกแสดงก็มี ๒ อย่าง คือ กัปปิยการกผู้ออกปากเป็นเองต่อหน้า ๑ กัปปิยการกลับหลัง ๑. บรรดากัปปิยการก ที่ภิกษุแสดงเป็นต้นนั้น กัปปิยการกที่ภิกษุแสดง มี ๔ อย่าง ด้วยอำนาจต่อหน้าและลับหลัง. กัปปิยการกที่ทูตแสดงก็เช่นเดียวกันแล.
               อย่างไร?
               คือบุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมส่งอกัปปิยวัตถุไปด้วยทูต เพื่อประโยชน์แก่จีวรสำหรับภิกษุ. ทูตเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น กล่าวว่า ท่านขอรับ! ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ ส่งอกัปปิยวัตถุนี้มาเพื่อประโยชน์แก่จีวรสำหรับท่าน, ขอท่านจงรับอกัปปิยวัตถุนั้น.
               ภิกษุห้ามว่า อกัปปิยวัตถุนี้ ไม่สมควร.
               ทูตถามว่า ท่านขอรับ! ก็ไวยาวัจกรของท่านมีอยู่หรือ?
               และไวยาวัจกรทั้งหลายที่พวกอุบาสกผู้ต้องการบุญสั่งไว้ว่า พวกท่านจงทำการรับใช้แก่ภิกษุทั้งหลาย หรือไวยาวัจกรบางพวกเป็นเพื่อนเคยเห็นเคยคบกันมา ของภิกษุทั้งหลายมีอยู่. บรรดาไวยาวัจกรเหล่านั้นคนใดคนหนึ่ง นั่งอยู่ในสำนักของภิกษุ ในขณะนั้น.
               ภิกษุแสดงเขาว่า ผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ดังนี้.
               ทูตมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมือของไวยาวัจกรนั้น สั่งว่า ท่านจงซื้อจีวรถวายพระเถระ ดังนี้ แล้วไป. นี้ชื่อว่าไวยาวัจกรที่ภิกษุแสดงต่อหน้า.
               ถ้าไวยาวัจกรมิได้นั่งอยู่ในสำนักของภิกษุ, อนึ่งแล ภิกษุย่อมแสดงขึ้นว่า คนชื่อนี้ ในบ้านชื่อโน้น เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย. ทูตนั้นไปมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมือของไวยาวัจกรนั้นสั่งว่า ท่านพึงซื้อจีวรถวายพระเถระ มาบอกแก่ภิกษุแล้วจึงไป. ไวยาวัจกรนี้ ชื่อว่าผู้อันภิกษุแสดงไม่พร้อมหน้า อย่างหนึ่ง.
               ก็แล ทูตนั้นมิได้มาบอกด้วยตนเองเลย แต่กลับวานผู้อื่นไปบอกว่า ท่านขอรับ! ทรัพย์สำหรับจ่ายค่าจีวร ผมได้มอบไว้ในมือผู้นั้น, ขอท่านพึงรับเอาจีวรเถิด. ไวยาวัจกรนี้ ชื่อว่าผู้อันภิกษุแสดงไม่พร้อมหน้า อย่างที่สอง.
               ทูตนั้นมิได้วานคนอื่นไปเลย, แต่ไปบอกภิกษุเสียเองแลว่า ผมจักมอบทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไว้ในมือแห่งผู้นั้น ขอท่านพึงรับเอาจีวรเถิด. ผู้นี้ชื่อว่า ไวยาวัจกรที่ภิกษุแสดงไม่พร้อมหน้า อย่างที่สาม.
               ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ไวยาวัจกร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ ผู้ที่ภิกษุแสดงต่อหน้าจำพวกหนึ่ง ผู้ที่ภิกษุแสดงไม่พร้อมหน้า ๓ จำพวก ชื่อว่าไวยาวัจกรที่ภิกษุแสดง. ในไวยาวัจกร ๔ จำพวกนี้ ภิกษุพึงปฏิบัติโดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในราชสิกขาบทนี้แล.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งถูกทูตถามแล้วโดยนัยก่อนนั่นแล เพราะไวยาวัจกรไม่มี หรือเพราะไม่อยากจะจัดการ จึงกล่าวว่า พวกเราไม่มีกัปปิยการก และในขณะนั้นมีคนบางคนผ่านมา, ทูตจึงมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมือของเขา แล้วกล่าวว่า ท่านพึงรับเอาจีวรจากมือของผู้นี้เถิด แล้วไปเสีย. ไวยาวัจกรนี้ ชื่อว่าผู้อันทูตแสดงต่อหน้า.
               ยังมีทูตอื่นอีกเข้าไปยังบ้านแล้ว มอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมือของผู้ใดผู้หนึ่งที่ชอบพอกับตน แล้วมาบอกหรือวานผู้อื่นไปบอกโดยนัยก่อนนั่นแล หรือกล่าวว่า ผมจักให้ทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไว้ในมือของคนชื่อโน้น, ท่านพึงรับเอาจีวรเถิด ดังนี้ แล้วไปเสีย. ไวยาวัจกรที่ ๓ นี้ชื่อว่าผู้ที่ทูตแสดงไม่พร้อมหน้า.
               ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ไวยาวัจกร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือไวยาวัจกรที่ทูตแสดงต่อหน้าจำพวกหนึ่ง ไวยาวัจกรที่ทูตแสดงไม่พร้อมหน้า ๓ จำพวก ชื่อว่าไวยาวัจกรที่ทูตแสดง. ในไวยาวัจกร ๔ จำพวกเหล่านี้ ภิกษุพึงปฏิบัติโดยนัยดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเมณฑกสิกขาบทนั่นแล.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย! มีอยู่ พวกมนุษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใส, มนุษย์เหล่านั้นย่อมมอบหมายเงินและทองไว้ในมือแห่งกัปปิยการกทั้งหลายสั่งว่า พวกท่านจงจัดของที่ควร ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยเงินและทองนี้ ภิกษุทั้งหลาย! เราอนุญาตให้ยินดีสิ่งของซึ่งเป็นกัปปิยะจากเงินและทองนั้น,
               ภิกษุทั้งหลาย! แต่เราหากล่าวไม่เลยว่า ภิกษุพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน โดยปริยายไรๆ.
               ในอธิการแห่งไวยาวัจกร ๔ จำพวกที่ทูตแสดงนี้ ไม่มีกำหนดการทวง.
               การที่ภิกษุผู้ไม่ยินดีมูลค่า ยินดีแต่กัปปิยภัณฑ์โดยการทวงหรือการยืน แม้ตั้งพันครั้ง ก็ควร. ถ้าไวยาวัจกรนั้นไม่ให้ แม้จะพึงตั้งกัปปิยการกอื่น ให้นำมาก็ได้. ถ้ากัปปิยการกอื่นปรารถนาจะนำมา ภิกษุพึงบอกแม้แก่เจ้าของเดิม. ถ้าไม่ปรารถนา ก็ไม่ต้องบอก.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งถูกทูตถามโดยนัยก่อนเหมือนกัน กล่าวว่า พวกเราไม่มีกัปปิยการก. คนอื่นจากทูตนั้น ยืนอยู่ใกล้ๆ ได้ยินจึงกล่าวว่า ผู้เจริญ! โปรดนำมาเถิด, ผมจักจ่ายจีวรถวายพระคุณเจ้า ดังนี้. ทูตกล่าวว่า เชิญเถิด ท่านผู้เจริญ! ท่านพึงถวาย แล้วมอบไว้ในมือของผู้นั้น ไม่บอกแก่ภิกษุเลย ไปเสีย. นี้ชื่อว่ากัปปิยการกผู้ออกปากเป็นเองต่อหน้า.
               ทูตอีกคนหนึ่งมอบอกัปปิยวัตถุไว้ในมืออุปัฏฐากของภิกษุ หรือคนอื่นสั่งว่า ท่านพึงถวายจีวรแก่พระเถระ แล้วหลีกไปจากที่นั่นทีเดียว. นี้ชื่อว่า กัปปิยการกลับหลัง ฉะนั้น กัปปิยการกทั้งสองนี้จึงชื่อว่า กัปปิยการกที่ทูตไม่ได้แสดง.
               ในกัปปิยการกทั้ง ๒ นี้ พึงปฏิบัติเหมือนในอัญญาตกสิกขาบทและอัปปวาริตสิกขาบทฉะนั้น. ถ้ากัปปิยการกที่ทูตมิได้แสดงทั้งหลาย นำจีวรมาถวายเอง ภิกษุพึงรับ, ถ้าไม่ได้นำมาถวาย อย่าพึงพูดคำอะไรๆ.
               ก็คำว่า ทูเตน จีวรเจตาปนํ ปหิเณยฺย นี้ สักว่าเป็นเทศนาเท่านั้น.
               ถึงในพวกกัปปิยการกแม้ผู้นำอกัปปิยวัตถุมาถวาย เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้นด้วยตนเอง ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. ภิกษุจะรับเพื่อประโยชน์แก่ตนเองอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สมควร.

               [วิธีปฏิบัติในเรื่องเงินและทองที่มีผู้ถวาย]               
               ถ้าใครๆ นำเอาทองและเงินมากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทองและเงินนี้แก่สงฆ์, ท่านทั้งหลายจงสร้างอาราม วิหาร เจดีย์หรือหอฉันเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม, จะรับทองและเงินแม้นี้ไม่ควร.
               ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ว่า ด้วยว่าเป็นทุกกฏแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น. ก็ถ้าเมื่อภิกษุปฏิเสธว่า ภิกษุทั้งหลายจะรับทองและเงินนี้ ไม่สมควร. เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกร, ท่านทั้งหลายจงรับทราบการงานที่เขาทำดี และไม่ดีอย่างเดียว ดังนี้แล้ว มอบไว้ในมือพวกช่างไม้หรือพวกกรรมกรเหล่านั้นจึงหลีกไป, จะรับก็ควร.
               ถ้าแม้น เขากล่าวว่า ทองและเงินจักอยู่ในมือของพวกคนของผมเอง, หรือว่าจักอยู่ในมือของผมเอง, ท่านพึงส่งข่าวไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่เราจะต้องให้ทองและเงินเขาอย่างเดียว, แม้อย่างนี้ก็ควร.
               ก็ถ้าว่าพวกเขาไม่ระบุสงฆ์ คณะหรือบุคคล กล่าวว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายเงินและทองนี้แก่เจดีย์, ถวายแก่วิหาร, ถวายเพื่อนวกรรม ดังนี้ จะปฏิเสธไม่สมควร. พึงบอกแก่พวกกัปปิยการกว่า ชนพวกนี้กล่าวคำนี้. แต่เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงรับเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เจดีย์เป็นต้นเถิด พึงปฏิเสธว่า การที่พวกเรารับไว้ไม่สมควร.
               แต่ถ้าคนบางคนนำเอาเงินและทองมามากกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอถวายเงินและทองนี้แก่สงฆ์ ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด, ถ้าสงฆ์รับเงินและทองนั้น เป็นอาบัติทั้งเพราะรับ ทั้งเพราะบริโภค.
               ถ้าบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งปฏิเสธว่า สิ่งนี้ไม่ควร. และอุบาสกกล่าวว่า ถ้าไม่ควรจักเป็นของผมเสียเอง ดังนี้แล้วไป, ภิกษุนั้นอันภิกษุบางรูปไม่พึงกล่าวคำอะไรๆ ว่า เธอทำอันตรายลาภของสงฆ์, เพราะภิกษุใดโจทเธอ, ภิกษุนั้นเองเป็นผู้มีอาบัติติดตัว. แต่เธอรูปเดียวกระทำภิกษุเป็นอันมากไม่ให้เป็นอาบัติ.
               ก็ถ้าว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิเสธว่า ไม่ควร. เขากล่าวว่า จักอยู่ในมือของพวกกัปปิยการก หรือจักอยู่ในมือของพวกคนของผม หรือในมือของผม ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ดังนี้ สมควรอยู่.
               อนึ่ง เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จตุปัจจัย พึงน้อมไปเพื่อปัจจัยที่ต้องการ. เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่จีวร พึงน้อมไปในจีวรเท่านั้น. ถ้าว่าไม่มีความต้องการจีวรนั้น สงฆ์ลำบากด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้น พึงอปโลกน์เพื่อความเห็นดีแห่งสงฆ์แล้วน้อมไป แม้เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตเป็นต้น. แม้ในอกัปปิยวัตถุที่เขาถวาย เพื่อประโยชน์แก่บิณฑบาตและคิลานปัจจัย ก็นัยนี้.
               อนึ่ง อกัปปิยวัตถุที่เขาถวายเพื่อประโยชน์แก่เสนาสนะ พึงน้อมไปในเสนาสนะเท่านั้น เพราะเสนาสนะเป็นครุภัณฑ์. ก็ถ้าว่า เมื่อพวกภิกษุละทิ้งเสนาสนะไป เสนาสนะจะเสียหาย, ในกาลเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย แม้จำหน่ายเสนาสนะแล้วบริโภค (ปัจจัย) ได้.
               เพราะฉะนั้น เพื่อรักษาเสนาสนะไว้ ภิกษุอย่ากระทำให้ขาดมูลค่า พึงบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไป. และมิใช่แต่เงินทองอย่างเดียวเท่านั้น, แม้อกัปปิยวัตถุอื่นมีนาและสวนเป็นต้น อันภิกษุไม่ควรรับ.

               [วิธีปฏิบัติในบึงและสระน้ำเป็นต้นที่มีผู้ถวาย]               
               ถ้าใครๆ กล่าวว่า บึงใหญ่ให้สำเร็จข้าวกล้า ๓ ครั้งของข้าพเจ้ามีอยู่ ข้าพเจ้าขอถวายบึงใหญ่นั้นแก่สงฆ์, ถ้าสงฆ์รับบึงใหญ่นั้น เป็นอาบัติทั้งในการรับ ทั้งในการบริโภคเหมือนกัน. แต่ภิกษุใดปฏิเสธบึงใหญ่นั้น ภิกษุนั้นอันภิกษุบางรูปไม่ควรว่ากล่าวอะไรๆ โดยนัยก่อนเหมือนกัน. เพราะว่าภิกษุใดโจทเธอ, ภิกษุนั่นเองมีอาบัติติดตัว. แต่เธอรูปเดียวได้ทำให้ภิกษุมากรูปไม่ต้องอาบัติ.
               อนึ่ง ผู้ใดแม้กล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายบึงใหญ่เช่นนั้นเหมือนกัน ถูกพวกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร, ถ้ายังกล่าวว่า บึงโน้นและบึงโน้นของสงฆ์ มีอยู่, บึงนั้นย่อมควรได้ อย่างไร? พึงบอกเขาว่า เขาจักทำให้เป็นกัปปิยะแล้วถวายกระมัง? เขาถามว่า ถวายอย่างไร จึงจะเป็นกัปปิยะ? พึงกล่าวว่า เขากล่าวถวายว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิดดังนี้. ถ้าเขากล่าวว่า ดีละขอรับ! ขอท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิดดังนี้, ควรอยู่.
               ถ้าแม้น เขากล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับบึงเถิด ถูกพวกภิกษุทั้งหลายห้ามว่าไม่ควรแล้วถามว่า กัปปิยการกมีอยู่หรือ? เมื่อภิกษุตอบว่า ไม่มี จึงกล่าวว่า คนชื่อโน้นจักจัดการบึงนี้ หรือว่า จักอยู่ในความดูแลของคนโน้น หรือในความดูแลของข้าพเจ้า ขอสงฆ์จงบริโภคกัปปิยภัณฑ์เถิด ดังนี้, จะรับควรอยู่.
               ถ้าแม้นว่า ทายกนั้นถูกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วกล่าวว่า คนทั้งหลายจักบริโภคน้ำ จักซักล้างสิ่งของ, พวกเนื้อและนกจักดื่มกิน, แม้การกล่าวอย่างนี้ ก็สมควร.
               ถ้าแม้นว่า ทายกถูกภิกษุปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วยังกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงรับโดยมุ่งถึงของสมควรเป็นใหญ่เถิด, ภิกษุจะกล่าวว่า ดีละ อุบาสก! สงฆ์จักดื่มน้ำ จักซักล้างสิ่งของ พวกเนื้อและนกจักดื่มกินดังนี้ แล้วบริโภค ควรอยู่.
               แม้หากว่า เมื่อทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายบึงหรือสระโบกขรณีแก่สงฆ์ ภิกษุจะกล่าวคำเป็นต้นว่า ดีละ อุบาสก! สงฆ์จักดื่มน้ำ แล้วบริโภคใช้สอย สมควรเหมือนกัน.
               ก็ถ้า พวกภิกษุขอหัตถกรรม และขุดกัปปิยปฐพีด้วยมือของตนเอง ให้สร้างสระน้ำเพื่อต้องการใช้น้ำ, ถ้าพวกชาวบ้านอาศัยสระนั้นทำข้าวกล้าให้สำเร็จแล้วถวายกัปปิยภัณฑ์ในวิหาร ควรอยู่.
               ถ้าแม้นว่า พวกชาวบ้านนั่นแหละขุดพื้นที่ของสงฆ์เพื่อต้องการอุปการะแก่สงฆ์ แล้วถวายกัปปิยภัณฑ์จากกล้าที่อาศัยสระน้ำนั้นสำเร็จแล้ว, กัปปิยภัณฑ์แม้นี้ ก็สมควร. ก็เมื่อเขากล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงตั้งกัปปิยการกให้พวกผมคนหนึ่ง แม้ภิกษุจะตั้งก็ได้.
               อนึ่ง ถ้าพวกชาวบ้านนั้นถูกราชพลีรบกวนพากันหนีไป, ชาวบ้านอื่นจักทำอยู่ และไม่ถวายอะไรๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย, พวกภิกษุหวงห้ามน้ำก็ได้. ก็แลการหวงน้ำนั้น ย่อมได้ในฤดูทำนาเท่านั้น ไม่ใช่ในฤดูข้าวกล้า (สำเร็จแล้ว). ถ้าพวกชาวบ้านกล่าวว่า ท่านขอรับ! แม้เมื่อก่อนพวกชาวบ้านได้อาศัยน้ำนี้ทำข้าวกล้ามิใช่หรือ? เมื่อนั้นพึงบอกพวกเขาว่า พวกนั้นเขาได้กระทำอุปการะอย่างนี้ และอย่างนี้แก่สงฆ์ และได้ถวายแม้กัปปิยภัณฑ์ อย่างนี้. ถ้าว่า พวกเขากล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็จักถวาย ดังนี้, อย่างนี้ก็ควร.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุบางรูปไม่เข้าใจ รับสระหรือให้สร้างสระโดยอกัปปิยโวหาร, สระนั้นพวกภิกษุไม่ควรบริโภคใช้สอย. แม้กัปปิยภัณฑ์ที่อาศัยสระนั้นได้มา ก็เป็นอกัปปิยะเหมือนกัน.
               ถ้าเจ้าของ (สระ) บุตรและธิดาของเขา หรือใครๆ อื่นผู้เกิดในสกุลวงศ์ของเขา ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายสละแล้ว จึงถวายด้วยกัปปิยโวหารใหม่, สระนั้น ควร. เมื่อสกุลวงศ์ของเขาขาดสูญ ผู้ใดเป็นเจ้าของชนบทนั้น ผู้นั้นริบเอาแล้วถวายคืน เหมือนราชมเหสีนามว่า อนุฬา ทรงริบเอาฝายน้ำที่ภิกษุในจิตตลดาบรรพตชักมาแล้ว ถวายคืนฉะนั้น, แม้อย่างนี้ก็ควร.
               จะทำการโกยดินขึ้นและกั้นคันสระใหม่ ในสระที่รับไว้ด้วยอำนาจแห่งน้ำ แม้เป็นกัปปิยโวหาร ย่อมควรแก่ภิกษุผู้มีจิตบริสุทธิ์. แต่การที่ภิกษุเห็นพวกชาวบ้านอาศัยสระนั้น กระทำข้าวกล้าอยู่ จะตั้งกัปปิยการก ไม่ควร. ถ้าพวกเขาถวายกัปปิยภัณฑ์เสียเอง ควรรับ, ถ้าพวกเขาไม่ถวาย ไม่ควรทวงไม่ควรเตือน. การที่จะตั้งกัปปิยการกในสระที่รับไว้ด้วยอำนาจแห่งปัจจัย ควรอยู่. แต่จะทำการโกยดินขึ้นและกั้นคันสระเป็นต้น ไม่ควร, ถ้าพวกกัปปิยการกกระทำเองเท่านั้น จึงควร.
               เมื่อลัชชีภิกษุผู้ฉลาดใช้พวกกัปปิยการกทำการโกยดินขึ้นเป็นต้น สระน้ำจะเป็นกัปปิยะในเพราะการรับ แม้ก็จริง, ถึงอย่างนั้นก็เป็นการบริโภคไม่ดี ดุจบิณฑบาตที่เจือยาพิษ และดุจโภชนะที่เจืออกัปปิยมังสะฉะนั้น เพราะกัปปิยภัณฑ์ที่เจือด้วยสิ่งของอันเกิดจากประโยคของภิกษุเป็นปัจจัย เป็นอกัปปิยะแก่พวกภิกษุทั่วไปเหมือนกัน.
               แต่ถ้ายังมีโอกาสเพื่อน้ำ ภิกษุจะจัดการเฉพาะน้ำเท่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงทำโดยประการที่คันของสระจะมั่นคง จุน้ำได้มาก คือจงทำให้น้ำเอ่อขึ้นปริ่มฝั่ง ดังนี้ ควรอยู่.

               [วิธีปฏิบัติในพืชผลที่ได้เพราะอาศัยสระน้ำของวัดเป็นต้น]               
               ชนทั้งหลายกำลังดับไฟที่เตาไฟ จะกล่าวว่า พวกท่านจงได้อุทกกรรมก่อนเถิด อุบาสก ดังนี้ ก็ควร. แต่จะกล่าวว่า ท่านจงกระทำข้าวกล้าแล้วนำมา ไม่ควร. ก็ถ้าว่า ภิกษุเห็นน้ำในสระมากเกินไป ให้ชักเหมืองออกจากด้านข้างหรือด้านหลัง ให้ถางป่า ให้ทำคันนาทั้งหลาย ไม่ถือส่วนปกติในคันนาเดิม ถือเอาส่วนที่เกิน, กะเกณฑ์เอากหาปณะว่า ท่านทั้งหลายจงให้กหาปณะประมาณเท่านี้ ในข้าวกล้านอกฤดูกาล หรือในข้าวกล้าใหม่ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้, เป็นอกัปปิยะแก่ภิกษุทุกรูป.
               อนึ่ง ภิกษุใดไม่ได้กล่าวว่า พวกท่านจงไถ จงหว่าน กะพื้นที่อย่างนี้ว่า สำหรับพื้นที่เท่านี้ มีส่วนชื่อประมาณเท่านี้ก็ดี เมื่อพวกชาวนากล่าวว่า พวกผมกระทำข้าวกล้าในส่วนพื้นที่เท่านี้, ท่านทั้งหลายจงถือเอาส่วนชื่อประมาณเท่านี้ เอาเชือกหรือไม้เท้าวัดเพื่อกำหนดประมาณพื้นที่ก็ดี ยืนรักษาอยู่ที่ลานก็ดี ให้ขนออกจากลานไปก็ดี ให้เก็บไว้ในฉางก็ดี ผลที่เกิดขึ้นจากพื้นที่นั้น เป็นอกัปปิยะแก่ภิกษุรูปนั้นเท่านั้น.
               ถ้าชาวนาทั้งหลายนำกหาปณะมากล่าวว่า กหาปณะเหล่านี้พวกผมนำมาเพื่อสงฆ์, และภิกษุรูปใดรูปหนึ่งกล่าวว่า ท่านจงนำผ้ามาด้วยกหาปณะเท่านี้ จงจัดข้าวยาคูเป็นต้นด้วยกหาปณะประมาณเท่านี้ ด้วยความสำคัญว่า สงฆ์ไม่รับกหาปณะ. สิ่งของที่พวกเขานำมา เป็นอกัปปิยะแก่พวกภิกษุทั่วไป.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะภิกษุจัดการกหาปณะ.
               ถ้าพวกชาวนานำข้าวเปลือกมากล่าวว่า ข้าวเปลือกนี้ พวกผมนำมาเพื่อสงฆ์, และภิกษุรูปใดรูปหนึ่งกล่าวว่า พวกท่านจงนำเอาสิ่งนี้และสิ่งนี้มาด้วยข้าวเปลือกประมาณเท่านี้ โดยนัยก่อนนั่นแล สิ่งของที่พวกเขานำมา เป็นอกัปปิยะเฉพาะแก่ภิกษุนั้นเท่านั้น. เพราะเหตุไร? เพราะภิกษุจัดการข้าวเปลือก.
               ถ้าพวกเขานำเอาข้าวสารหรืออปรัณชาติมากล่าวว่า พวกผมนำสิ่งของนี้มาเพื่อสงฆ์. และภิกษุรูปใดรูปหนึ่งกล่าวว่า พวกท่านจงนำเอาสิ่งนี้และสิ่งนี้มาด้วยข้าวสารมีประมาณเท่านี้ โดยนัยก่อนนั่นแล, สิ่งของที่พวกเขานำมา เป็นกัปปิยะแก่ภิกษุทั้งหมด. เพราะเหตุไร? เพราะภิกษุจัดการข้าวสารเป็นต้นที่เป็นกัปปิยะ. ไม่เป็นอาบัติแม้ในเพราะซื้อขาย เพราะบอกกัปปิยการก.
               แต่ในครั้งก่อน ภิกษุรูปหนึ่งที่จิตตลดาบรรพต ได้กระทำมณฑล (รูปดวงจันทร์) ไว้ที่พื้นดิน ใกล้ประตูศาลา ๔ มุข เพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่พวกคนวัดโดยรำพึงว่า โอหนอ! พวกคนวัดพึงทอดขนมประมาณเท่านี้ เพื่อสงฆ์ในวันพรุ่งนี้.
               อารามิกชนผู้ฉลาด เห็นมณฑลนั้น (รูปดวงจันทร์) แล้ว ได้ทำอย่างนั้น ในวันที่สอง เมื่อพวกเขาตีกลองประชุมสงฆ์แล้ว จึงถือขนมไปเรียนพระสังฆเถระว่า ท่านขอรับ! ในกาลก่อนนี้ พวกผมไม่เคยได้ยินบิดามารดา ไม่เคยได้ฟังปู่ย่าตายาย (บอกเล่าเหตุการณ์) อย่างนี้เลย, พระคุณเจ้ารูปหนึ่งได้ทำเครื่องหมายที่ประตูศาลา ๔ มุข เพื่อประโยชน์แก่ขนม, บัดนี้จำเดิมแต่นี้ไป พระคุณเจ้าทั้งหลายจงบอกตามความพอใจของตนๆ เถิด แม้พวกผมก็จักอยู่เป็นผาสุก.
               พระมหาเถระกลับจากที่นั้นทันที. แม้ภิกษุรูปหนึ่งก็ไม่รับขนมเลย. ในกาลก่อน ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ฉันแม้ขนมที่เกิดขึ้นในอารามนั้น อย่างนี้.
               เพราะฉะนั้น
                         ภิกษุผู้ไม่ประมาท ไม่ละการปฏิบัติขัดเกลา
                         ไม่พึงกระทำความโลเล เพื่อประโยชน์แก่อามิส
                         แม้ในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ฉะนี้แล.

               อนึ่ง แม้ในสระโบกขรณี ฝายและเหมืองเป็นต้น ก็มีนัยดังนัยที่กล่าวไว้แล้วในสระนี้เหมือนกัน. แม้เมื่อทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายนาหรือว่าสวน อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่เพาะปลูกบุพพัณชาติ อปรัณชาติ อ้อยและมะพร้าวเป็นต้น. ภิกษุพึงปฏิเสธว่า ไม่ควร แล้วปฏิบัติโดยนัยดังกล่าวแล้วในสระนั่นแล.
               ในเวลาเขากล่าวด้วยกัปปิยโวหารว่า ข้าพเจ้าถวายเพื่อประโยชน์แก่การบริโภคปัจจัย ๔ ภิกษุควรรับ, ก็เมื่อเขากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายสวน, ถวายป่า ควรจะรับไว้.
               ถ้าพวกชาวบ้านมิได้ถูกภิกษุบังคับเลย ตัดต้นไม้ในป่านั้น ยังอปรัณชาติเป็นต้นให้ถึงพร้อมแล้ว ถวายส่วนแก่ภิกษุทั้งหลาย จะรับก็ควร. พวกเขาไม่ถวาย ไม่ควรทวง ไม่ควรเตือน.
               ถ้าเมื่อพวกเขาพากันอพยพไป เพราะอันตรายบางอย่าง คนพวกอื่นทำ และไม่ถวายอะไรๆ เลยแก่ภิกษุทั้งหลาย, พึงห้ามชนเหล่านั้น. ถ้าพวกเขากล่าวว่า แม้เมื่อก่อน พวกชาวบ้านได้กระทำข้าวกล้าในที่นี้มิใช่หรือ ขอรับ! ลำดับนั้น พึงบอกเขาว่า พวกนั้นเขาได้ให้กัปปิยภัณฑ์อย่างนี้ๆ แก่สงฆ์. ถ้าพวกเขากล่าวว่า แม้พวกผมก็จักถวาย. อย่างนี้ ควรอยู่.
               พวกเขากล่าวหมายถึงภูมิประเทศที่เพาะปลูกข้าวกล้าบางแห่งว่า ข้าพเจ้าจะถวายเขตแดน ควรอยู่. แต่ภิกษุทั้งหลายไม่ควรปักเสาหรือวางหิน เพื่อกำหนดเขตแดนเอง. เพราะเหตุไร? เพราะธรรมดาว่า แผ่นดินมีค่านับไม่ได้, ภิกษุจะพึงเป็นปาราชิก แม้ด้วยเหตุเล็กน้อย. แต่พึงบอกพวกอารามิกชนว่า เขตของพวกเราไปถึงที่นี้. ก็ถ้าแม้นว่าพวกเขาถือเอาเกินไปไม่เป็นอาบัติ เพราะกล่าวโดยปริยาย. ก็ถ้าว่าพระราชาและราชอำมาตย์เป็นต้น ให้ปักเสาเองแล้วถวายว่า ขอท่านทั้งหลายจงบริโภคปัจจัย ๔ เถิด การถวายนั้น ควรเหมือนกัน.
               ถ้าใครๆ ขุดสระภายในเขตแดนสีมา หรือไขเหมืองไปโดยท่ามกลางวัด ย่อมทำลายลานพระเจดีย์และลานโพธิ์เป็นต้น พึงห้าม. ถ้าสงฆ์ได้อะไรๆ บางอย่างแล้ว ไม่ห้าม เพราะหนักในอามิส, ภิกษุรูปหนึ่งห้าม ภิกษุรูปนั้นเท่านั้นเป็นใหญ่. ถ้าภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า พวกท่านจงไขไป ไม่ห้าม คือเป็นพรรคพวกของชาวบ้านเหล่านั้นนั่นแล, สงฆ์ห้าม สงฆ์เท่านั้นเป็นใหญ่.
               จริงอยู่ ในกรรมอันเป็นของสงฆ์ ภิกษุรูปใดทำกรรมเป็นธรรม. ภิกษุรูปนั้นเป็นใหญ่. ถ้าแม้บุคคลที่ถูกภิกษุห้ามอยู่ ยังขืนกระทำ, พึงกลบดินร่วนที่เขาคุ้ยไว้ข้างล่างถมข้างล่าง กลบดินร่วนที่เขาคุ้ยไว้ข้างบนถมข้างบนให้เต็ม.
               พระมหาสุมเถระกล่าวว่า ถ้าใครๆ ประสงค์จะถวายอ้อย หรืออปรัณชาติ หรือผลไม้เถา มีน้ำเต้าและฟักเป็นต้น ตามที่เกิดแล้วนั่นแหละ กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะถวายไร่อ้อย ไร่อปรัณชาติ หลุม (เพาะปลูก) ผลไม้เถาทั้งหมดนี้ ดังนี้, ไม่ควร เพราะเขาระบุพร้อมวัตถุ (ไร่). ส่วนพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า นั่นเป็นแต่เพียงโวหาร เพราะภูมิภาคนั่นยังเป็นของพวกเจ้าของอยู่นั่นเอง เพราะเหตุนั้น จึงควร.

               [วิธีปฏิบัติในทาส คนวัด และปศุสัตว์ที่มีผู้ถวาย]               
               ทายกกล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายทาส การถวายนั้น ไม่ควร. เมื่อเขากล่าวว่า ข้าพเจ้าถวายคนวัด ถวายไวยาวัจกร ถวายกัปปิยการก ดังนี้ จึงควร.
               ถ้าอารามิกชนนั้นทำการงานของสงฆ์เท่านั้นทั้งก่อนภัตและภายหลังภัต ภิกษุพึงกระทำแม้การพยาบาลด้วยยาทุกอย่างแก่เขาเหมือนกับสามเณร. ถ้าเขาทำการงานของสงฆ์ก่อนภัตเวลาเดียว ภายหลังภัตไปกระทำการงานของตน ไม่พึงให้อาหาร ในเวลาเย็น. แม้ชนจำพวกใดกระทำงานของสงฆ์ตามวาระ ๕ วัน หรือตามวาระปักษ์ ในเวลาที่เหลือทำงานของตน พึงให้ภัตและอาหารแม้แก่บุคคลพวกนั้น ในเวลากระทำเท่านั้น. ถ้าการงานของสงฆ์ไม่มี พวกเขากระทำงานของตนเองเลี้ยงชีพ. ถ้าพวกเขานำเอามูลค่าหัตถกรรมมาถวาย พึงรับ. ถ้าพวกเขาไม่ถวาย ก็อย่าพึงพูดอะไรๆ เลย. การรับทาสย้อมผ้าก็ดี ทาสช่างหูกก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยชื่อว่า อารามิกชน ควรอยู่.
               ถ้าพวกทายกกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายโคทั้งหลาย ดังนี้ ภิกษุพึงห้ามพวกเขาว่า ไม่สมควร. เมื่อมีพวกชาวบ้านถามว่า โคเหล่านี้ ท่านได้มาจากไหน? พึงบอกเขาว่า พวกบัณฑิตถวายไว้เพื่อประโยชน์แก่การบริโภคปัญจโครส. เมื่อพวกเขากล่าวว่า แม้พวกผมก็ถวาย เพื่อประโยชน์บริโภคปัญจโครส ดังนี้ ควรอยู่.
               แม้ในปศุสัตว์มีแม่แพะเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
               พวกชาวบ้านกล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายช้าง, ถวายม้า, กระบือ, ไก่, สุกร ดังนี้, จะรับไม่ควร. ถ้าพวกชาวบ้านบางหมู่กล่าวว่า ท่านขอรับ! ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด พวกผมจักรับสัตว์เหล่านี้แล้ว ถวายกัปปิยภัณฑ์แก่ท่านทั้งหลาย แล้วรับไป ย่อมควร. จะปล่อยเสียในป่าด้วยกล่าวว่า ไก่และสุกรเหล่านี้จงอยู่ตามสบายเถิด ดังนี้ ก็ควร. เมื่อเขากล่าวว่า พวกข้าพเจ้าถวายสระนี้ นานี้ ไร่นี้ แก่วิหาร ภิกษุจะปฏิเสธไม่ได้ฉะนี้แล.
               คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้น ดังนี้แล.
               บรรดาสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทแม้นี้ก็มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ฉะนี้แล.

               พรรณนาราชสิกขาบทในอรรถกถาพระวินัย.               
               ชื่อสมันตปาสาทิกา จบ               
               และจบวรรคที่ ๑               
               ------------------------------------------------------------               
               หัวข้อประจำเรื่อง               
               ๑. ทสาหปรมสิกขาบท ว่าด้วยการทรงอติเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง.
               ๒. เอกรัตติสิกขาบท ว่าด้วยการอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้ราตรีหนึ่ง.
               ๓. มาสปรมสิกขาบท ว่าด้วยการเก็บจีวรไว้ได้เดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง.
               ๔. ปุราณจีวรโธวาปนสิกขาบท ว่าด้วยการให้ภิกษุณีซักจีวรเก่า.
               ๕. จีวรปฏิคคหณสิกขาบท ว่าด้วยการรับจีวรจากมือภิกษุณี.
               ๖. อัญญาตกวิญญัตติสิกขาบท ว่าด้วยการขอจีวรต่อเจ้าเรือนผู้มิใช่ญาติ.
               ๗. ตทุตตริสิกขาบท ว่าด้วยการขอจีวรเกินกำหนด.
               ๘. อุททิสสิกขาบท ว่าด้วยมูลค่าจีวรของเจ้าทรัพย์รายเดียว.
               ๙. อุภินนอุททิสสิกขาบท ว่าด้วยมูลค่าจีวรของเจ้าทรัพย์สองราย.
               ๑๐. ทูตสิกขาบท ว่าด้วยมูลค่าจีวรที่เจ้าทรัพย์ส่งมาถวายฯ.

               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑๐ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 66อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 70อ่านอรรถกถา 2 / 74อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=1482&Z=1668
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=4247
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=4247
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :