ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 20อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 27อ่านอรรถกถา 12 / 53อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
ภยเภรวสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นภัยและน่าหวาดกลัว

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               [๔๕] บทว่า ตสฺส มยฺหํ มีอนุสนธิ (การสืบต่อลำดับความ) เป็นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์กำหนดอารมณ์ ๑๖ อย่างเหล่านี้อยู่ ครั้นมองไม่เห็นความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัว จึงได้ทำการค้นหาความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัว (นั้น) ดำริว่า ธรรมดาความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัวย่อมจะปรากฏในเสนาสนะอย่างนี้ในราตรีเช่นนี้ เอาเถอะเราจะค้นหาดูความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นในเสนาสนะอย่างนั้นในราตรีเช่นนั้น จึงได้แสวงหาภัยและอารมณ์ที่น่ากลัว.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้แก่พราหมณ์จึงได้ตรัสคำว่า ตสฺส มยฺหํ ดังนี้เป็นต้น.


               ราตรี-กำหนดดิถีแห่งปักษ์               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยา ตา นั่น เป็นคำยกราตรีอย่างเดียวขึ้นแสดง.
               ศัพท์ว่า อภิ ในบทว่า อภิญฺญตา นี้เป็นอุปสรรคใช้ลงในความหมายว่า ลักษณะ (การกำหนด) เพราะฉะนั้น ในบทว่า อภิญฺญาตา พึงทราบว่า ราตรีทั้งหลายท่านกำหนดด้วยลักษณะทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า พระจันทร์เพ็ญ พระจันทร์ดับ.
               (ส่วน) ศัพท์ว่า อภิ ในบทว่า อภิลกฺขิตา เป็นเพียงอุปสรรคเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงมีความหมายว่า อภิลกฺขิตา ก็คือ ลกฺขณียา (พึงกำหนด) นั่นเอง..
               ขยายความว่า ราตรีทั้งหลายอันบัณฑิตพึงกำหนด. อธิบายว่า พึงกำหนดด้วยดี คือพึงกำหนดให้มั่น เพื่อกระทำกิจมีการสมาทานอุโบสถ การฟังธรรมและการบูชาสักการะเป็นต้น.
               ที่ชื่อว่า จาตุทฺทสี ได้แก่ ราตรีหนึ่งซึ่งทำให้ครบ ๑๔ วัน จำเดิมแต่วันแรกแห่งปักษ์. ปัญจทสีและอัฏฐมีก็ (มีความหมาย) เป็นอย่างนั้น.
               บทว่า ปกฺขสฺส ได้แก่ แห่งสุกกปักษ์และกัณหปักษ์. เพราะรวมราตรีเหล่านั้นเข้าด้วยกันปักษ์ละ ๓ ราตรี จึงเป็น ๖ ราตรี ฉะนั้น จึงควรประกอบคำว่า "ปักษ์" เข้าไว้ในทุกบทว่า ปกฺขสฺส จาตุทฺทสี ดิถีที่ ๑๔ แห่งปักษ์ ปกฺขสฺส ปญฺจทสี ดิถีที่ ๑๕ แห่งปักษ์ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี ดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรท่านจึงไม่จัดดิถีที่ ๕ เข้าไว้ด้วย?
               ตอบว่า เพราะดิถีที่ ๕ มิได้มีตลอดกาล ทราบมาว่า ในตอนก่อนๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ดี เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ยังไม่ปรินิพพานก็ดี ดิถีที่ ๕ ท่านมิได้กำหนดไว้เลย ต่อเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายจึงพากันคิดว่า การฟังธรรมจะมีได้ก็นานๆ ที. แต่นั้นจึงสมมติกำหนดดิถีที่ ๕ ให้เป็นวันธรรมสวนะ. นับแต่นั้นมาดิถีที่ ๕ นั้นจึงกลายเป็นวันที่ท่านกำหนดไว้แล้ว เพราะเหตุที่ดิถีที่ ๕ มิได้มีตลอดกาลอย่างนี้แล ท่านจึงไม่จัดรวมไว้ในที่นี้.
               บทว่า ตถารูปาสุ ก็คือ ตถาวิธาสุ (อย่างนั้น).

               เจดีย์               
               บทว่า อารามเจติยานิ ความว่า ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ทั้งหลาย เช่นสวนดอกไม้ สวนผลไม้เป็นต้นนั่นแล ชื่อว่าอารามเจดีย์ เพราะว่าสถานที่เหล่านั้นเรียกว่าเจดีย์ เพราะหมายความว่าเป็นที่ยำเกรง. อธิบายว่า เพราะหมายความว่าเป็นสถานที่ที่บุคคลพึงบูชา.
               บทว่า วนเจติยานิ ความว่า ป่าทั้งหลายเช่นราวป่าสำหรับนำเครื่องสังเวยไปสังเวย (เทวดา) ป่าสุภัควันและป่าที่ตั้งศาลของเทวดาเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่าวนเจดีย์.
               บทว่า รุกฺขเจติยานิ ความว่า ต้นไม้ที่ควรบูชาตามประตูเข้าหมู่บ้านและนิคมเป็นต้นนั่นแล ชื่อว่า รุกขเจดีย์.
               เพราะชาวโลกสำคัญอยู่ว่าเทวดาสิงสถิตบ้าง มีความสำคัญในสถานที่เหล่านั้นนั่นแลว่าเป็นทิพย์บ้าง จึงพากันทำความเคารพคือบูชาสวนป่าและต้นไม้ทั้งหลาย ฉะนั้น สวนป่าและต้นไม้เหล่านั้นทั้งหมด เขาจึงพากันเรียกว่าเจดีย์.
               บทว่า ภึสนกานิ แปลว่า ให้เกิดความกลัว คือยังความกลัวให้เกิดทั้งแก่ผู้เห็นอยู่ทั้งแก่ผู้ได้ยินอยู่.
               บทว่า สโลมหํสานิ เป็นไปกับความชูชันแห่งขน เพราะเมื่อใครเข้าไปก็จะเกิดขนชูชัน.
               บทว่า อปฺเปว นาม ปสฺเสยฺยํ ความว่า ทำไฉนหนอเราจะพึงได้ประสบภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นบ้าง.
               บทว่า อปเรน สมเยน ความว่า โดยกาลอื่นจากกาลที่คิดไว้แล้วอย่างนี้ว่า (ตถาคตนั้น) ได้มีความคิดดังนี้ว่า ทำไฉนเรา.
               บทว่า ตตฺถ จ เม พฺราหฺมณ วิหรโต (ดูก่อนพราหมณ์ ก็เมื่อเราตถาคตอยู่ในสถานที่เหล่านั้น) ความว่า บรรดาเสนาสนะเหล่านั้น เสนาสนะแห่งใดๆ ซึ่งเป็นสถานที่สิงสถิตของยักษ์ ที่มนุษย์ทั้งหลายควรบนบานและนำเครื่องสังเวยเข้าไปสังเวย มีพื้นธรณีเกลื่อนกล่นด้วยเครื่องบูชาและเครื่องสังเวยทั้งหลาย เช่น ดอกไม้ ธูป เนื้อ เลือด มันเหลว มันข้น ม้าม ปอด สุราและเมรัยเป็นต้น เป็นเหมือนสถานที่ที่รวมชุมนุมกันของพวกยักษ์รากษสและปิศาจ ซึ่งเมื่อคนทั้งหลายมาเห็นเข้าในตอนกลางวัน ดูเหมือนหัวใจจะวายตาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาสถานที่นั้น จึงตรัสว่า ตตฺถ จ เม พฺราหฺมณ วิหรโต.

               ความหมายของมิคะและโมระ               
               บทว่า มิโค วา อาคจฺฉติ ความว่า เนื้อซึ่งแยกประเภทเป็นกวาง แรด เสือเหลืองและหมูป่าเป็นต้น เดินประเขาหรือเตะกีบเท้ากันมา ก็คำว่า มิโค ในที่นี้เป็นชื่อสัตว์ ๔ เท้าทุกชนิด. แต่ในที่บางแห่ง มิคะ (เนื้อ) ท่านกล่าวว่า ได้แก่ สุนัขจิ้งจอกตาบอดบ้าง.
               เหมือนอย่างที่สัตว์กล่าว (เยินยอสุนัขจิ้งจอกตาบอด) ว่า
                         คอของท่านช่างสง่างามเหมือนคอของโคอุสภะและเหมือน
                         คอของราชสีห์ฉะนั้น ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอความนอบน้อม
                         จงมีแด่ท่าน พวกเราจะได้อะไรบ้างไหม?
               บทว่า โมโร วา กฏฺฐํ ปาเตติ ความว่า นกยูงทำไม้แห้งให้ตกจากต้นไม้ และด้วยศัพท์ว่า โมระ ในคำนี้ ท่านหมายเอานกทุกจำพวก. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงแก้ว่า ได้แก่ โย โกจิ ปกฺขี นกตัวใดตัวหนึ่งก็ตาม.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วย วา ศัพท์ในคำว่า โมโร วา ท่านแก้ว่า ได้แก่นกชนิดอื่นหรือลางตัว. แม้ใน มิคะ ศัพท์ ซึ่งเป็นศัพท์แรก (ก่อนศัพท์ว่า โมโร) ก็มีนัยนี้.
               บทว่า วาโต วา ปณฺณกสฏํ เอเรติ ความว่า ลมพัดใบไม้กุมฝอย.
               บทว่า เอตํ นูน ตํ ภยเภรวํ อาคจฺฉติ ความว่า สิ่งใดย่อมมา (ปรากฏ) สิ่งนั้นจัดเป็นภัยและอารมณ์อันน่ากลัวแน่นอน และตั้งแต่บัดนี้ไป อารมณ์นั้นแลพึงทราบว่าเป็นภัยและอารมณ์อันน่ากลัว. เพราะมีภัยทั้งเล็กน้อยและมีประมาณยิ่งเป็นอารมณ์ อารมณ์จึงชื่อว่าภัยและสิ่งที่น่ากลัว เปรียบเหมือนรูปที่มีความสุขเป็นอารมณ์ ก็ชื่อว่าเป็นสุขด้วยฉะนั้น.
               บทว่า กินฺนุโข อหํ อญฺญทฏฺฐุํ ภยปาฏิกงฺขี วิหรามิ ความว่า ตถาคตแลหวังอยู่ คือปรารถนาอยู่ซึ่งเหตุอะไรว่าเป็นภัยโดยส่วนเดียวนั่นแลจึงอยู่.
               บทว่า ยถาภูตสฺส ยถาภูตสฺส ความว่า เป็นอยู่ คือเป็นไปอยู่ หรือพรั่งพร้อมด้วยอิริยาบถใดๆ.
               บทว่า เม คือ ในสำนักของเราตถาคต.
               บทว่า ตถาภูโต ตถาภูโต วา ความว่า เป็นอยู่ คือเป็นไปอยู่ หรือพรั่งพร้อมด้วยอิริยาบถนั้นๆ นั่นแล.
               บทว่า โส โข อหํ ฯเปฯ ปฏิวิเนมิ ความว่า ได้ยินว่า เมื่อพระโพธิสัตว์จงกรมอยู่ ครั้นเมื่ออารมณ์คือภัยและสิ่งที่น่ากลัวมีประเภทเช่นเขาเนื้อและเสียงกีบเท้าเป็นต้นมาปรากฏ องค์พระมหาสัตว์ก็ไม่ประทับยืน (นิ่งๆ) ไม่ประทับนั่ง ไม่เสด็จเข้าบรรทม. ตรงกันข้ามกลับเสด็จจงกรมต่อไป ใคร่ครวญไป พินิจพิเคราะห์ (จนกระทั่ง) มองไม่เห็นว่าเป็นภัยและสิ่งที่น่ากลัว มันเป็นเพียงเขาเนื้อและเสียงกีบเท้าเป็นต้นเท่านั้น. ครั้นทราบอารมณ์นั้นว่า มันชื่อนี้ ไม่ใช่เป็นภัยและสิ่งที่น่ากลัว ดังนี้แล้ว ต่อนั้นไป พระองค์จึงหยุดประทับยืน ประทับนั่งหรือเสด็จเข้าบรรทม.
               เมื่อจะทรงแสดงความหมายอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า โส โข อหํ ดังนี้เป็นต้น. ในทุกๆ เปยยาลก็มีนัยนี้.

               ความฉลาดในการออกจากสมาบัติ               
               และต่อจากนี้ไป พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอิริยาบถไว้ตามลำดับที่ใกล้ชิดกัน หาได้ตรัสไว้ตามลำดับอิริยาบถไม่.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ตามลำดับที่ใกล้ชิดกันแห่งอิริยาบถนั้นๆ อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเราตถาคตจงกรมอยู่ เมื่อภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏ เราตถาคตก็ไม่หยุดยืน ไม่นั่ง ไม่นอน แม้เมื่อเราตถาคตหยุดยืน เมื่อภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏ เราตถาคตก็ไม่เดินจงกรม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความที่พระองค์ไม่มีภัยและอารมณ์ที่น่าสะพึงกลัวอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงการที่พระองค์ประทับอยู่อย่างไม่ลุ่มหลงในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลงของบุคคลผู้ได้ฌานทั้งหลาย จึงตรัสคำว่า สนฺติ โข ปน พฺราหฺมณ ดังนี้เป็นต้น.
               [๔๖] บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺติ เท่ากับ อตฺถิ มีอยู่คือ สํวิชฺชนฺติ มีอยู่พร้อม ได้แก่ อุปลพฺภนฺติ ได้อย่างแน่นอน.
               บทว่า รตฺตึเยว สมานํ แปลว่า เวลา ที่เป็นกลางคืน.
               บทว่า ทิวาติ สญฺชานนฺติ แปลว่า สำคัญอยู่ว่า เวลานี้เป็นเวลากลางวัน.
               บทว่า ทิวาเยว สมานํ แปลว่า เวลาที่เป็นกลางวัน.
               บทว่า รตฺตีติ สญฺชานนฺติ แปลว่า สำคัญอยู่ว่า เวลานี้เป็นเวลากลางคืน.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร บุคคลผู้ได้ฌานอย่างนี้จึงมีความสำคัญอย่างนี้?
               ตอบว่า เพราะไม่มีความฉลาดในการออกจากฌาน หรือเพราะเสียงนกร้อง.
               ถามว่า เป็นอย่างไร?
               ตอบว่า บุคคลผู้ได้โอทาตกสิณบางคนในโลกนี้เกิดมนสิการขึ้นว่า เราทำบริกรรมในตอนกลางวัน เข้า (ฌาน) ในตอนกลางวันแล้วจะออกในตอนกลางวันนั้นแหละ แต่ว่าท่านก็ไม่ฉลาดในการกำหนดเวลาออกไว้ ท่านจึงเข้าฌานล่วงเลยเวลากลางวันไปออกในตอนกลางคืน และด้วยอำนาจการแผ่ไปแห่งโอทาตกสิณ กสิณของท่านจึงผ่องใสแจ่มแจ้งชัดเจน ท่านก็สำคัญเวลาที่เป็นกลางคืนนั้นแหละว่าเป็นกลางวัน เพราะเหตุที่เกิดมนสิการว่า จะออกในตอนกลางวัน และเพราะการแผ่ไปแห่งโอทาตกสิณผ่องใส แจ่มแจ้ง.
               แต่บุคคลผู้ได้นีลกสิณบางคนในโลกนี้เกิดมนสิการว่า เราทำบริกรรมในตอนกลางคืน เข้าในตอนกลางคืนแล้วจะออกในตอนกลางคืนนั้นแหละ แต่ว่าท่านไม่ฉลาดในการกำหนดเวลา (ออก) ท่านจึง (เข้าฌาน) ล่วงเลยเวลากลางคืนไปออกในตอนกลางวัน และด้วยอำนาจการแผ่ไปแห่งนีลกสิณ กสิณของท่านจึงไม่ผ่องใส ไม่แจ่มแจ้ง ท่านก็สำคัญเวลาที่เป็นกลางวันนั้นแหละว่ากลางคืน เพราะเหตุที่เกิดมนสิการว่า จะออกในตอนกลางคืน และเพราะการแผ่ไปแห่งนีลกสิณไม่ผ่องใส ไม่แจ่มแจ้ง. เพราะไม่มีความฉลาดในการออก (จากฌาน) อย่างนี้ก่อน บุคคลผู้ได้ฌานจึงมีความสำคัญดังพรรณนามาฉะนี้.
               ส่วนที่ว่าเพราะเสียงนกร้อง (เป็นอย่างนี้) คือ บุคคลผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้นั่งอยู่ภายในเสนาสนะ ทีนั้น สัตว์ป่าทั้งหลายมีนกและกาเป็นต้นที่มักร้องในตอนกลางวัน สำคัญอยู่ว่า เป็นเวลากลางวัน เพราะแสงจันทร์จึงส่งเสียงร้องในตอนกลางคืน หรือส่งเสียงร้องเพราะเหตุอื่นๆ ท่านได้ยินเสียงของสัตว์ป่าเหล่านั้นแล้ว สำคัญเวลาที่เป็นกลางคืนนั้นแหละว่าเป็นเวลากลางวัน. แต่ว่าบุคคลผู้ได้ฌานบางคนในโลกนี้นั่งอยู่ในถ้ำภูเขาที่ปกปิดด้วยป่าทึบซึ่งอยู่ลึกในซอกเขา ในเวลาที่มีแสงสว่างหายไปคราว ฝนตกพรำตลอด ๗ วัน ทีนั้น สัตว์ป่าทั้งหลายมีนกที่ร้องในตอนกลางคืน และนกฮูกเป็นต้นจับเจ่าอยู่ในที่มืดนั้นๆ แม้ในเวลาเที่ยงวันแล้ว ส่งเสียงร้องด้วยสำคัญ (ผิด) ว่าเป็นเวลากลางคืนหรือด้วยเหตุเหล่าอื่น.
               บุคคลผู้ได้ฌานนั้นได้ยินเสียงของสัตว์ป่าทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมสำคัญเวลาที่เป็นกลางวันอยู่แท้ๆ ว่าเป็นเวลากลางคืน. เพราะเสียงนกร้องดังพรรณนามาอย่างนี้ บุคคลผู้ได้ฌานจึงมีความสำคัญอย่างนี้แล.

               ปเทสญาณ (ญาณเครื่องกำหนดเวลา)               
               บทว่า อิทมหํ ความว่า เราตถาคตย่อมกล่าวสิ่งนี้ คือการกำหนดหมายอย่างนี้.
               บทว่า สมฺโมหวิหารสฺมึ วทามิ มีอธิบายว่า เราตถาคตย่อมกล่าว (การกำหนดหมาย) ว่า เป็นการอยู่ที่นับเนื่อง คือจัดอยู่ภายในการอยู่อย่างงมงาย ได้แก่กล่าวว่าเป็นการอยู่อย่างงมงายอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า อหํ โข ปน พฺราหฺมณ ฯลฯ สญฺชานามิ ความว่า การกำหนดเวลากลางคืนกลางวันของพระโพธิสัตว์ปรากฏแล้ว แม้ในเวลาที่ฝนตกพรำตลอด ๗ วัน ถึงพระจันทร์และพระอาทิตย์จะไม่ส่องแสง พระโพธิสัตว์ก็ย่อมรู้ได้เองทีเดียวว่า ระยะเวลาเท่านี้ถึงเวลาอาหารเช้า ระยะเวลาเท่านี้ถึงเวลาหลังอาหาร ระยะเวลาเท่านี้ถึงปฐมยาม ระยะเวลาเท่านี้ถึงมัชฌิมยาม เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้แล้วอย่างนั้น และก็ไม่น่าอัศจรรย์เลยที่พระโพธิสัตว์ผู้มีบารมีได้บำเพ็ญมาแล้วจะรู้อย่างนี้.
               แม้เหล่าพระอริยสาวกที่ดำรงอยู่ในปเทสญาณ ก็ปรากฏว่ากำหนดเวลากลางคืนและกลางวันได้. มีเรื่องเล่าว่า พระโคทัตตเถระในกัลยาณิมหาวิหารรับภัตรในเวลา ๒ องคุลี แล้วฉันในเวลา ๒ องคุลี (นั้นเอง) เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ปรากฏดวง ก็เข้าเสนาสนะแต่เช้าๆ ออกมาในเวลา (เดียวกัน) นั้น. วันหนึ่งพวกคนวัดคิดกันว่า พวกเราจะพบท่านได้ในเวลาที่ท่านออกมาตอนพรุ่งนี้ จึงจัดแจงภัตรแล้วนั่ง (คอย) อยู่ที่ใกล้หลักบอกเวลา (หลักวัดเงาแดด). พระเถระออกมาในเวลา ๒ องคุลีเหมือนเดิม. ทราบมาว่า ตั้งแต่นั้นมาแม้พระอาทิตย์จะยังไม่ปรากฏดวง พวกคนวัดก็จะตีกลองด้วยสัญญาณที่พระเถระออกมา.
               แม้ในธชาครวิหาร พระกาลิเทวเถระเคาะระฆังบอกยามภายในพรรษา การเคาะระฆังบอกยามนั้นเป็นกิจวัตรประจำวันของพระเถระ แต่ว่าพระเถระไม่ยอมใช้นาฬิกาเครื่องจักร. ส่วนภิกษุพวกอื่นใช้. ครั้นต่อมาเมื่อปฐมยามล่วงเลยไป พอพระเถระถือไม้เคาะ (ระฆัง) ยืนอยู่ หรือเคาะได้ครั้ง ๒ ครั้งเท่านั้น นาฬิกาเครื่องจักรก็ตี. เมื่อเป็นอย่างนี้ พระเถระจึงบำเพ็ญสมณธรรมในยามทั้ง ๓ แล้วเข้าไปบ้านแต่เช้าตรู่ รับบิณฑบาตกลับมาวัด ในเวลาจะฉันก็ถือบาตรไปยังที่พักกลางวัน บำเพ็ญสมณธรรม. ภิกษุทั้งหลายเห็นหลักบอกเวลาแล้วได้ส่งภิกษุไปเพื่อต้องการ (ในการกราบเรียน) ให้พระเถระมา. ภิกษุ (รูปที่ไป) นั้นได้พบพระเถระ (ขณะ) กำลังออกมาจากที่พักกลางวันบ้าง ในระหว่างทางบ้าง. แม้เหล่าพระสาวกที่ดำรงอยู่ในปเทสญาณย่อมกำหนดเวลาว่า เป็นกลางคืนและกลางวันได้อย่างนี้. ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงบรรดาพระโพธิสัตว์.

               ตถาคตอุบัติมาเพื่อประโยชน์สุข               
               ก็ในคำว่า ยํ โข ตํ ฯปฯ วเทยฺย นี้ นักศึกษาพึงทราบบทสัมพันธ์ (การเชื่อมบท) อย่างนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ใครๆ เมื่อจะกล่าวถ้อยคำใดว่า สัตว์ผู้มีความไม่งมงายเป็นธรรมดา อุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงจะชื่อว่ากล่าวโดยชอบ คือเป็นผู้กล่าวอย่างถูกต้อง กล่าวไม่คลาดเคลื่อน เขาเมื่อกล่าวคำนั้นต่อเราตถาคตเท่านั้น จึงจะชื่อว่ากล่าวโดยชอบ คือเป็นผู้กล่าวอย่างถูกต้อง กล่าวไม่คลาดเคลื่อน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสมฺโมหธมฺโม แปลว่า มีความไม่งมงายเป็นสภาพ.
               บทว่า โลเก ได้แก่ ในมนุษยโลก.
               บทว่า พหุชนหิตาย แปลว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนจำนวนมาก.
               อธิบายว่า (สัตว์นั้น) เป็นผู้ชี้แนะประโยชน์เกื้อกูลทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพด้วยความถึงพร้อมแห่งปัญญา.
               บทว่า พหุชนสุขาย แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก.
               อธิบายว่า (สัตว์นั้น) เป็นผู้ให้สมบัติอันเป็นอุปกรณ์แห่งความสุขด้วยความถึงพร้อมแห่งจาคะ (การเสียสละ).
               บทว่า โลกานุกมฺปาย แปลว่า เพื่อประโยชน์อนุเคราะห์โลก.
               อธิบายว่า (สัตว์นั้น) เป็นผู้รักษา เป็นผู้คุ้มครองโลกเหมือนบิดามารดา (คุ้มครองบุตร) ด้วยความถึงพร้อมแห่งเมตตากรุณา.
               และด้วยศัพท์ว่า เทวมนุสฺส ในคำว่า อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ นี้ นักศึกษาพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเฉพาะเหล่าเวไนยสัตว์ผู้เป็นภัพพบุคคล (บุคคลที่ควรจะตรัสรู้) แล้ว แสดงการอุบัติของพระองค์ ก็เพื่อต้องการให้เวไนยสัตว์เหล่านั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพาน. เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อตฺถาย (เพื่อประโยชน์) ย่อมหมายถึงว่า เพื่อประโยชน์แก่ปรมัตถ์คือเพื่อนิพพาน.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า หิตาย (เพื่อประโยชน์เกื้อกูล) ย่อมหมายถึงว่า เพื่อประโยชน์แก่มรรคเครื่องให้บรรลุนิพพานนั้น. เนื่องจากว่า ขึ้นชื่อว่าประโยชน์เกื้อกูลที่ยิ่งไปกว่ามรรคเครื่องให้บรรลุนิพพานไม่มีเลย.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สุขาย (เพื่อความสุข) ย่อมหมายถึงว่า เพื่อประโยชน์แก่ความสุขที่เกิดจากผลสมาบัติ. เพราะว่าไม่มีความสุข (อื่น) ที่ยิ่งไปกว่าความสุขที่เกิดจากผลสมาบัตินั้น.
               สมด้วยคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า สมาธินี้อำนวยความสุขที่เป็นปัจจุบันให้และยังมีความสุขเป็นวิบากต่อไป.

               ปฏิปทาเครื่องบรรลุอสัมโมหวิหาร               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้งทรงแสดงการอยู่อย่างไม่งมงาย (อสมฺโมหวิหารํ) ของพระองค์ ซึ่งมีการได้บรรลุคุณแห่งพุทธะเป็นที่สุดดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทาเป็นเหตุให้บรรลุการอยู่อย่างไม่งมงายอันถึงที่สุดแล้วนั้นตั้งแต่เวลาเริ่มต้นจึงตรัสคำว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ ดังนี้เป็นต้น.
               ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พราหมณ์ได้สดับการอยู่อย่างไม่งมงายนี้แล้ว ได้เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมบรรลุการอยู่อย่างไม่งมงายนี้ด้วยปฏิปทาอะไรหนอแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์นั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า ตถาคตได้บรรลุการอยู่อย่างไม่งมงาย อันสูงสุดนี้ด้วยปฏิปทานี้ จึงตรัสไว้อย่างนี้.
               [๔๗] บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ วิริยํ อโหสิ มีอธิบายว่า ดูก่อนพราหมณ์ การอยู่อย่างไม่งมงายอันสูงสุดนี้ ไม่ใช่ว่าตถาคตจะเกียจคร้าน หลงลืมสติ มีกายกระสับกระส่าย หรือมีจิตฟุ้งซ่านได้บรรลุมา แท้จริงแล้วเราตถาคตได้ปรารภความเพียร เพื่อบรรลุการอยู่อย่างไม่งมงายนั้น คือเราตถาคตนั่งอยู่ที่ควงไม้โพธิ์ ได้ปรารภประคับประคองความเพียรมีองค์ ๔ ให้เป็นไปไม่ย่อหย่อน. ก็เพราะปรารภแล้วนั่นแล ความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ นั่นของเราตถาคต จึงไม่ย่อหย่อน.
               บทว่า อุปฏฺฐิตา สติ อปฺปมุฏฺฐา ความว่า และไม่ใช่แต่ความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น ถึงสติของเราตถาคตก็ตั้งมั่นโดยภาวะที่มุ่งหน้าไปจับอารมณ์ และเพราะตั้งมั่นแล้วนั่นแหละ มันจึงไม่หลงลืม.
               บทว่า ปสฺสทฺโธ กาโย อสารทฺโธ ความว่า เพราะมีกายและจิตสงบ แม้กายของเราตถาคตก็สงบด้วย.
               ในบทนั้นอธิบายว่า เพราะเหตุที่เมื่อนามกายสงบ แม้รูปกายก็ย่อมสงบด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส (รวมๆ) ว่า กายสงบ โดยมิได้ตรัสแยกว่า นามกาย รูปกาย.
               บทว่า อสารทฺโธ ความว่า ก็เพราะสงบแล้วนั่นแล กายนั้นจึงชื่อว่าไม่กระสับกระส่าย. อธิบายว่า ปราศจากความกระวนกระวาย.
               บทว่า สมาหิตํ จิตฺตํ เอกคฺคํ ความว่า แม้จิตอันเราตถาคตตั้งใจไว้โดยชอบแล้ว คือเป็นเหมือน (จับ) วางไว้ด้วยดี และเพราะตั้งไว้โดยชอบแล้วนั่นแล จึงมีชื่อว่าเป็นอารมณ์เดียวเป็นเลิศ ไม่หวั่นไหว ไม่ดิ้นรน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งฌานไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.

               ประโยชน์ของฌาน ๔               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงคุณวิเศษเริ่มต้นตั้งแต่ปฐมฌานจนกระทั่งถึงวิชชา ๓ เป็นที่สุดที่พระองค์ทรงบรรลุแล้วด้วยปฏิปทานี้ จึงตรัสคำว่า โส โข อหํ ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระดำรัสนั้น คำใดที่จะต้องกล่าวในตอนนี้ว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ฯเปฯ จตุตฺถํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช วิหาสึ คำนั้นทั้งหมดได้กล่าวไว้แล้วในตอนว่าด้วยปฐวีกสิณในคัมภีร์วิสุทธิมรรค. ความจริงมีแปลกกันแห่งเดียวเท่านั้น ดังนี้ (คือ) ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นบทกิริยามาว่า อุปสมฺปชฺช วิหรติ (แต่) ในที่นี้มาว่า วิหาสึ.
               ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำอย่างไรจึงเข้าฌานเหล่านี้อยู่ได้.
               ตอบว่า ทรงเจริญกรรมฐาน.
               ถามว่า กรรมฐานข้อไหน?
               ตอบว่า อานาปานสติกรรมฐาน.
               ก็แล ฌาน ๔ เหล่านี้ สำหรับบางท่านมีความเป็นหนึ่งแห่งจิตเป็นผล สำหรับบางท่านเป็นบาท (พื้นฐาน) แห่งการเจริญวิปัสสนา สำหรับบางท่านเป็นบาทแห่งการได้อภิญญา สำหรับบางท่านเป็นบาทแห่งการเข้านิโรธ (พระนิพพาน) สำหรับบางท่านมีการก้าวลงสู่ภพเป็นผล.
               บรรดาบุคคลเหล่านั้น สำหรับพระขีณาสพ ฌาน ๔ มีความเป็นหนึ่งแห่งจิตเป็นผล ด้วยว่า พระขีณาสพเหล่านั้นทำบริกรรมกสิณอย่างนี้ว่า เราจักเข้าฌานมีจิตมีความเป็นหนึ่งอยู่เป็นสุขตลอดวัน ดังนี้แล้วทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด.
               สำหรับพระเสขะและปุถุชนคิดว่า เราออกจากสมาบัติแล้วมีจิตเป็นสมาธิจักเห็นแจ้ง ดังนี้แล้วทำวิปัสสนาให้บังเกิด (อย่างนี้) ฌานย่อมชื่อว่าเป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา.
               ส่วนฌานลาภีบุคคลเหล่าใดทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดได้แล้ว เข้าฌานที่เป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากสมาบัติแล้วปรารถนาอภิญญาซึ่งมีนัยดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า แม้เป็นคนคนเดียวก็ทำให้เป็นหลายคนได้ ดังนี้แล้วทำอภิญญาให้บังเกิด สำหรับฌานลาภีบุคคลเหล่านั้นฌานย่อมเป็นบาทแห่งอภิญญา.
               ส่วนพระอริยบุคคลเหล่าใดทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดได้แล้ว เข้านิโรธสมาบัติได้คิดว่า เราจักบรรลุนิโรธ คือนิพพานในปัจจุบันอยู่เป็นสุขโดยไม่มีจิตสังขารตลอด ๗ วัน ดังนี้แล้วทำสมาบัติให้บังเกิด ฌานของพระอริยบุคคลเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเป็นบาทแห่งการเข้านิโรธ.
               ส่วนฌานลาภีบุคคลเหล่าใดทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดได้แล้วคิดว่า เราจักเป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมเกิดในพรหมโลก ดังนี้ทำสมาบัติให้บังเกิด (อย่างนี้) ฌานของบุคคลเหล่านั้นย่อมมีการก้าวลงสู่ภพเป็นผล.
               ก็จตุตถฌานนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทำให้บังเกิดแล้วที่ควงโพธิ์พฤกษ์ จตุตถฌานนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้เป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา เป็นบาทแห่งการได้อภิญญาและให้สำเร็จกิจทุกอย่าง จึงพึงทราบว่า อำนวยคุณที่เป็นโลกิยะและโลกุตระให้ได้ทุกอย่าง. และจตุตถฌานนั้นได้อำนวยคุณเหล่าใดให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะแสดงเพียงบางส่วน (เอกเทศ) แห่งคุณเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต ดังนี้เป็นต้น.

               ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ               
               วิชชา ๒ ในพระสูตรนั้น (คือปุพเพนิวาสานุสสติญาณและจุตูปปาตญาณ) มีการพรรณนาไปตามลำดับบทและวิธีเจริญได้กล่าวไว้แล้วอย่างพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               แท้จริงในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกับในที่นี้มีความแปลกกันแห่งเดียวเท่านั้นดังนี้ คือในวิสุทธิมรรคนั้นท่านกล่าวบทกิริยาไว้ว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต ฯเปฯ อภินินฺนาเมติ (แต่) ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบทกิริยาไว้ว่า อภินินฺนาเมสึ. และวาระว่าด้วยอัปปนาอย่างนี้ว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ก็มิได้มาในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส คือ โส อหํ เราตถาคตนั้น.
               บทว่า อภินินฺนาเมสึ แปลว่า นำไปเฉพาะ. เพราะพระดำรัสว่า อภินินฺนาเมสึ ในคำว่า โส นี้ จึงพึงทราบความหมายอย่างนี้ว่า โส อหํ เราตถาคตนั้น.
               ก็เพราะเหตุที่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้มาแล้วด้วยอำนาจของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้น จึงพึงทราบการประกอบความอย่างนี้ในคำนี้ว่า เราตถาคตนั้นจุติจากภพนั้นแล้วมาอุบัติในภพนี้. ในคำนี้พึงทราบ (อธิบายเพิ่มเติมอีก) ว่า คำว่า เราตถาคตนั้นจุติจากภพนั้นแล้ว เป็นการพิจารณาของพระโพธิสัตว์ผู้พิจารณาย้อนกลับ เพราะฉะนั้น พึงทราบความว่า ในคำว่า อิธูปปนฺโน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาภพดุสิตว่า เราตถาคตอุบัติในภพดุสิตโน้นก่อนจะมาอุบัติในภพนี้.
               บทว่า ตตฺราปาสึ เอวํนาโม ความว่า ในภพดุสิตแม้นั้น เราตถาคตได้เป็นเทพบุตรนามว่า เสตเกตุ.
               บทว่า เอวํโคตฺโต คือ มีโคตรเดียวกับเทวดาเหล่านั้น
               บทว่า เอวํวณฺโณ คือ มีผิวพรรณผุดผ่องดังทองคำ.
               บทว่า เอวมาหาโร คือ มีทิพพสุธาหาร.
               บทว่า เอวํ สุขทุกฺขปฏิสํเวที ความว่า เป็นผู้มีปกติเสวยทิพยสุขอย่างนี้ ส่วนทุกข์มีเพียงทุกข์ประจำสังขารเท่านั้น.
               บทว่า เอวมายุปริยนฺโต ความว่า มีอายุ ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี.
               บทว่า โส ตโต จุโต ความว่า ตถาคตนั้นจุติจากภพนั้น คือภพดุสิต.
               บทว่า อิธูปปนฺโน ความว่า บังเกิดในภพนี้ คือในพระครรภ์พระนางสิริมหามายาเทวี.
               บทว่า เม ในคำว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ เป็นต้น คือ มยา.
               บทว่า วิชฺชา ความว่า ที่ชื่อว่า วิชฺชา เพราะหมายความว่า กระทำให้รู้แจ้ง.
               ถามว่า วิชชาทำให้รู้แจ้งซึ่งอะไร?
               ตอบว่า ซึ่งขันธ์ (ภพ) ที่เคยอยู่อาศัยในชาติก่อน.
               บทว่า อวิชฺชา ความว่า เพราะหมายความว่าไม่ทำให้รู้แจ้งซึ่งขันธ์ที่อาศัยอยู่ในชาติก่อน อวิชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า โมหะ (ความหลง) ซึ่งปกปิดขันธ์ที่อาศัยอยู่ในชาติก่อนนั้น.
               บทว่า ตโม ความว่า โมหะนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตมะ (ความมืด) เพราะหมายความว่าปกปิด.
               บทว่า อาโลโก ความว่า วิชชานั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อาโลกะ (แสงสว่าง) เพราะหมายความว่าทำแสงสว่างให้.
               ก็ในพระดำรัสที่ตรัสมานี้ย่อมมีความหมายดังนี้ว่า วิชฺชา อธิคตา แปลว่า วิชชาตถาคตได้บรรลุแล้ว. คำที่เหลือเป็นคำกล่าวสรรเสริญ.
               อนึ่ง ในพระดำรัสตอนนี้มีการประกอบความดังนี้ว่า วิชชานี้แลเราตถาคตได้บรรลุแล้ว เมื่อเราตถาคตนั้นได้บรรลุวิชชาแล้ว อวิชชาจึงถูกขจัด. อธิบายว่า พินาศไป.
               ถามว่า เพราะเหตุไร อวิชชาจึงพินาศไป?
               ตอบว่า เพราะวิชชาเกิดขึ้น.
               แม้ในสองบทนอกนี้ก็นัยนี้.
               บทว่า ยถา ในคำว่า ยถาตํ ใช้ในความหมายว่า อุปมา (เปรียบเทียบ).
               บทว่า ตํ เป็นนิบาต. บุคคลชื่อว่าไม่ประมาท เพราะความไม่อยู่ปราศจากสติ ชื่อว่ามีความเพียรเครื่องเผากิเลสด้วยธรรมเครื่องทำกิเลสให้เร่าร้อนทั่วคือวิริยะ ชื่อว่ามีตน (จิต) อันส่งไปแล้ว เพราะไม่มีความห่วงใยในร่างกายและชีวิต.
               บทว่า ปหิตตฺตสฺส ความว่า มีตนอันส่งไปแล้ว. มีอธิบาย (เพิ่มเติม) ดังนี้ว่า เมื่อโยคาวจรบุคคลไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่ อวิชชาพึงถูกกำจัด วิชชาพึงเกิดขึ้น ความมืดพึงถูกกำจัด แสงสว่างพึงเกิดขึ้นฉันใด สำหรับเราตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน อวิชชาถูกขจัดแล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น ความมืดถูกขจัดแล้ว แสงสว่างก็เกิดขึ้น เราตถาคตได้ผลที่สมควรกับการบำเพ็ญเพียรนั้น.
               กถาว่าด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณจบ.               

               กถาว่าด้วยจุตูปปาตญาณ               
               [๔๙] ในกถาว่าด้วยจุตูปปาตญาณพึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้
               ก็เพราะเหตุที่ในที่นี้ บาลีมาแล้วด้วยอำนาจพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปสฺสามิ ปชานามิ (เราตถาคตเห็นอยู่รู้อยู่). ความแปลกกันมีอยู่เท่านี้.
               คำที่เหลือเหมือนกับที่ได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเลยทีเดียว.
               ก็ในกถานี้ บทว่า วิชฺชา ได้แก่ วิชชา คือทิพยจักษุญาณ.
               บทว่า อวิชฺชา ได้แก่ อวิชชาที่ปกปิดจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย.
               คำที่เหลือเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วทีเดียว.
               ก็เพราะเหตุที่พระมหาสัตว์ทั้งหลายได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำบริกรรม เพราะว่าท่านเหล่านั้นพอน้อมจิตไปเท่านั้น ก็จะระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในกาลก่อนได้มากมาย จะเห็นสัตว์ทั้งหลายด้วยทิพยจักษุ.
               ฉะนั้น วิธีเจริญวิชชาเหล่านั้นเริ่มต้นตั้งแต่ทำบริกรรมที่กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น จึงไม่จำเป็นต้องนำมาแสดงไว้ในที่นี้.

               กถาว่าด้วยอาสวักขยญาณ               
               [๕๐] ในวิชชาที่ ๓ พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ในคำว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต เราตถาคตนั้น เมื่อจิตตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว จิตที่ตั้งมั่นพึงทราบว่า คือจตุตถฌานอันเป็นพื้นฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา.
               บทว่า อาสวานํ ขยญาณาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่อรหัตตมรรคญาณ.
               แท้จริง อรหัตตมรรคเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะทำอาสวะให้พินาศ และญาณนี้ย่อมมีในอรหัตตมรรคนั้น เพราะนับเนื่องในอรหัตตมรรคนั้น.
               สองบทว่า จิตฺตํ อภินินฺนาเมสึ คือน้อมจิตที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาไป.
               ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า โส อิทํ ทุกฺขํ นักศึกษาพึงทราบความหมายอย่างนี้ว่า
               เราตถาคตได้ทราบคือรู้ ได้แก่แทงตลอดซึ่งทุกขสัจแม้ทั้งหมดว่า ทุกข์มีจำนวนเท่านี้ ไม่มียิ่งไปกว่านี้ ตามความเป็นจริงด้วยการแทงตลอดลักษณะที่แท้จริง. ได้ทราบ คือได้รู้ ได้แก่แทงตลอดซึ่งตัณหาที่ยังทุกข์นั้นให้เกิดว่า นี้เป็นทุกขสมุทัย. ได้ทราบ คือได้รู้ ได้แก่แทงตลอดซึ่งที่ที่ทุกข์และสมุทัยทั้ง ๒ มาถึงแล้วดับไป ได้แก่นิพพานอันเป็นแดนที่ทุกข์และสมุทัยทั้ง ๒ นั้นไม่เป็นไปว่า นี้เป็นทุกขนิโรธ. ได้ทราบ คือได้รู้ ได้แก่แทงตลอดซึ่งอริยมรรคที่ให้บรรลุนิพพานนั้นว่า นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ตามความเป็นจริงด้วยการแทงตลอดลักษณะที่แท้จริง.

               มรรค-ผล-ปัจจเวกขณญาณ               
               ครั้นทรงแสดงสัจจะทั้งหลายโดยสรูปอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงสัจจะทั้งหลาย โดยอ้อมด้วยอำนาจกิเลส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า อิเม อาสวา ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ตสฺส เม เอวํ ชานโต เอวํ ปสฺสโต แปลว่า เมื่อเราตถาคตนั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้. (ด้วยคำนี้) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงมรรคที่ถึงที่สุดพร้อมทั้งวิปัสนา.
               บทว่า กามาสวา แปลว่า จากกามาสวะ.
               ด้วยบทว่า หลุดพ้นแล้ว นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงขณะแห่งผล. เพราะว่าจิตกำลังหลุดพ้นในขณะแห่งมรรค. จัดว่าหลุดพ้นแล้วในขณะแห่งผล. ด้วยคำว่า เมื่อหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้วนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปัจจเวกขณญาณ. ด้วยคำว่า ชาติสิ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงภูมิของปัจจเวกขณญาณนั้น. เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาอยู่ด้วยญาณนั้น จึงทรงทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น.
               ถามว่า ก็ชาติไหนของพระผู้มีพระภาคเจ้าสิ้นแล้ว และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบชาตินั้นได้อย่างไร?
               ตอบว่า ไม่ใช่ชาติอดีตของพระองค์สิ้นไป เพราะชาติอดีตนั้นสิ้นไปแล้วก่อนทีเดียว ไม่ใช่ชาติอนาคตของพระองค์สิ้นไป เพราะพระองค์ไม่มีความพยายามในอนาคต ไม่ใช่ชาติปัจจุบันสิ้นไป เพราะชาติปัจจุบันยังมีอยู่. แต่ว่าชาติ (ความเกิด) ใด ซึ่งแยกประเภทเป็น (ความเกิดของ) ขันธ์ ๑ ในเอกโวการภพ ขันธ์ ๔ ในจตุโวการภพ และขันธ์ ๕ ในปัญจโวการภพจะพึงเกิดขึ้นได้ เพราะยังมิได้ทำ (อริยะ) มรรคให้เกิด ชาตินั้น (แหละ) จัดว่าสิ้นไปแล้ว เพราะถึงความเป็นสภาวะที่มีการไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เหตุที่ได้ทำ (อริยะ) มรรคให้เกิดมีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบชาตินั้นโดยทรงพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วด้วยมรรคภาวนา (การทำมรรคให้เกิดมี) แล้วทรงทราบอยู่ว่า เมื่อกิเลสไม่มี การกระทำแม้จะยังมีอยู่ก็จะไม่ก่อให้เกิดปฏิสนธิอีกต่อไปดังนี้แล.
               บทว่า วุสิตํ แปลว่า อยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว.
               อธิบายว่า กระทำแล้ว คือประพฤติแล้ว ได้แก่สำเร็จแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์.
               พระเสขะ ๗ จำพวกรวมทั้งกัลยาณปุถุชน ชื่อว่ากำลังอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ พระขีณาสพเป็นผู้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาอยู่ถึงการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของพระองค์ จึงทรงทราบว่า พรหมจรรย์เราตถาคตอยู่จบแล้ว.
               บทว่า กตํ กรณียํ ความว่า กิจทั้ง ๑๖ อย่าง คือปริญญา การกำหนดรู้, ปหานะ การละ, สัจฉิกิริยา การทำให้แจ้ง, และภาวนา การทำให้เกิดมีด้วยมรรค ๔ ในสัจจะ ๔ อันเราตถาคตให้สำเร็จลงแล้ว. เพราะว่า พระเสขะ ๗ จำพวกรวมทั้งกัลยาณปุถุชนกำลังทำกิจนั้นอยู่ (ส่วน) พระขีณาสพมีกิจที่ควรทำนั้น ทำเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาอยู่ถึงกิจที่ควรทำของพระองค์จึงทรงทราบว่า กิจที่ควรทำเราตถาคตได้ทำเสร็จแล้ว.
               บทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า บัดนี้ กิจด้วยการทำมรรคให้เกิดมีเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก คือเพื่อเกิดกิจ ๑๖ อย่าง หรือเพื่อความสิ้นกิเลสอย่างนี้อีกของตถาคตไม่มี.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อิตฺถตฺตาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าขันธสันดาน (ความสืบต่อแห่งขันธ์) อย่างอื่นจากความเป็นอย่างนี้ คือจากประการอย่างนี้ ได้แก่จากความสืบต่อแห่งขันธ์ที่เป็นไปอยู่ในบัดนี้ของเราตถาคตไม่มี แต่ขันธ์ ๕ เหล่านี้อันเราตถาคตกำหนดรู้อย่างรอบคอบแล้ว ตั้งอยู่เหมือนต้นไม้รากขาดฉะนั้น เพราะวิญญาณดวงสุดท้ายดับไป ขันธ์ ๕ เหล่านั้นก็จักดับเหมือนไฟที่หมดเชื้อฉะนั้น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการบรรลุญาณเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายนั้น ซึ่งพระองค์ทรงกำหนดแล้วด้วยปัจจเวกขณญาณอย่างนี้แก่พราหมณ์ จึงตรัสคำว่า อยํ โข เม พฺราหฺมณ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิชฺชา ได้แก่ วิชชาในอรหัตตมรรคญาณ.
               บทว่า อวิชฺชา ได้แก่ อวิชชาที่ปกปิดสัจจะ ๔.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วทีเดียว.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศสงเคราะห์คุณแห่งความเป็นพระสัพพัญญูแม้ทั้งหมดด้วยวิชชา ๓ อย่างนี้ คือทรงสงเคราะห์อตีตังสญาณด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงสงเคราะห์ปัจจุปปันนังสญาณและอนาคตังสญาณด้วยทิพยจักษุญาณ (และ) ทรงสงเคราะห์โลกุตตรคุณทั้งหมดด้วยอาสวักขยญาณ ด้วยพระดำรัสดังกล่าวมานี้ จัดว่าได้ทรงแสดงการอยู่อย่างไม่งมงาย (ธรรมเครื่องอยู่อย่างไม่งมงาย) ของพระองค์แก่พราหมณ์.

               ประโยชน์ของการอยู่ป่า ๒ อย่าง               
               [๕๑] ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์คิดว่า พระสมณโคดมทรงปฏิญาณความเป็นพระสัพพัญญู แต่แม้ในวันนี้ พระองค์ก็ยังไม่ยอมทิ้งการอยู่ในป่า กิจที่ควรทำอะไรๆ แม้อย่างอื่นของพระองค์ยังมีอยู่หรือหนอแล.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของพราหมณ์นั้นแล้ว ได้ตรัสคำว่า สยา โข ปน เต ดังนี้เป็นต้น เพื่อคล้อยตามอัธยาศัย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิยา โข ปน เต พฺราหฺมณ เอวมสฺส ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ บางครั้งท่านพึงมีความคิดอย่างนี้.
               บทว่า น โข ปเนตํ พฺราหฺมณ เอวํ ทฏฺฐพฺพํ ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ก็แลเมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ว่า การอยู่ในเสนาสนะอันสงัดของเราตถาคต เป็นเพราะสาเหตุมีความที่ราคะยังไม่หมดเป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่ (ดังกล่าวมานั้น) ในการอยู่ในเสนาสนะอันสงัดอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงถึงเหตุ (บ้าง) จึงตรัสคำว่า เทฺว โข อหํ ดังนี้เป็นต้น.
               ประโยชน์นั่นแหละในคำว่า อตฺถวเส นั้น ชื่อว่าอำนาจแห่งประโยชน์ เพราะฉะนั้น ในคำว่า เทวฺ โข อหํ พฺราหฺมณ อตฺถวเส จึงมีคำอธิบายว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราตถาคตแลเห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ ๒ อย่าง คือเหตุ ๒ อย่าง.
               ในคำว่า อตฺตโน จ ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารํ (การอยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบันของตน) อัตภาพที่เห็นประจักษ์อยู่นี้ ชื่อว่า ทิฏฐธรรม. การอยู่ด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ อย่างผาสุก ชื่อว่า สุขวิหาร (การอยู่อย่างเป็นสุข).
               พึงทราบอรรถาธิบายนี้ว่า เพราะว่าคนแต่ละคนมีอิริยาบถอื่นๆ ทั้งหมด โดยที่สุดการถ่ายอุจจาระปัสสาวะสะดวกสบาย เพราะฉะนั้น การอยู่อย่างเป็นสุขของอัตภาพที่เห็นประจักษ์อยู่ จึงชื่อว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร.
               คำว่า ปจฺฉิมํ ชนตํ อนุกมฺปมาโน (อนุเคราะห์หมู่ชนรุ่นหลัง) พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์หมู่ชนรุ่นหลังด้วยการอยู่ป่า อย่างไร?
               อธิบายว่า กุลบุตรทั้งหลายที่บวชด้วยศรัทธาเห็นการอยู่ป่าของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพากันคิดว่า แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ซึ่งไม่มีทุกขสัจที่จะต้องกำหนดรู้ ไม่มีสมุทัยสัจที่ต้องละ ไม่มีมัคคสัจที่ต้องทำให้เกิดมี ไม่มีนิโรธสัจที่ต้องทำให้แจ้ง ก็ยังไม่ยอมละทิ้งเสนาสนะป่าเลย ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงเราทั้งหลายเล่า ดังนี้ แล้วจักพากันสำคัญเสนาสนะป่าว่าอันตนควรอยู่แท้ทีเดียว ด้วยอาการอย่างนี้ พวกเขาก็จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้โดยเร็วพลัน พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าทรงอนุเคราะห์หมู่ชนรุ่นหลังอย่างนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้จึงตรัสว่า ปจฺฉิมญฺจ ชนตํ อนุกมฺมาโน ดังนี้.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค ภยเภรวสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นภัยและน่าหวาดกลัว
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 20อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 27อ่านอรรถกถา 12 / 53อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=517&Z=751
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=3019
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=3019
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :