บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาจิกฺขนา ความว่า นี้ชื่อว่าทุกขอริยสัจ ฯลฯ นี้ชื่อว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. อนึ่ง ในที่นี้ การตั้งสัจจะมีทุกขสัจเป็นต้น ชื่อว่าการบัญญัติ. ก็บุคคลตั้งอาสนะ เรียกว่าบัญญัติอาสนะ. บทว่า ปฏฺฐปนา คือ การบัญญัติ. บทว่า วิวรณา คือ การทำเปิดเผย. บทว่า วิภชนา คือ ทำการจำแนก. บทว่า อุตฺตานีกมฺมํ ได้แก่ ทำให้ปรากฏ. บทว่า อนุคฺคาหกา ความว่า อนุเคราะห์ด้วยการสงเคราะห์ แม้ ๒ อย่าง คือ อามิสสงเคราะห์ ธรรมสงเคราะห์. บทว่า ชเนตา คือ มารดาผู้ให้เกิด. บทว่า อาปาเทตา คือ ผู้เลี้ยง. ทรงแสดงว่า โมคคัลลานะดุจมารดาผู้เลี้ยง. ก็มารดาผู้ให้เกิด งดเว้นของเค็มและของเปรี้ยวเป็นต้น ตลอด ๙ เดือนหรือ ๑๐ เดือน ทรงทารกไว้ในท้อง ให้มารดาเลี้ยง คือแม่นม รับทารกที่ออกจากท้อง. มารดานั้นเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมและเนยสดเป็นต้นให้เจริญ. ทารกนั้นอาศัยความเจริญ เที่ยวไปตามสบาย. พระสารีบุตรเถระก็เป็นอย่างนั้น สงเคราะห์บรรพชิตทั้งหลายในสำนักของตนหรือของภิกษุเหล่าอื่น ด้วยการสงเคราะห์ ๒ อย่าง ปฏิบัติบรรพชิตผู้ไข้ ชักชวนในกัมมัฏฐาน รู้ความเป็นพระโสดาบันแล้ว จำเดิมแต่กาลบรรพชิตเหล่านั้นออกจากภัยในอบายทั้งหลาย บัดนี้ ก็เป็นผู้ไม่สนใจในบรรพชิตเหล่านั้นว่า พวกเขาจักยังมรรคเบื้องสูงให้เกิดขึ้นด้วยการกระทำของบุรุษ เฉพาะตนแล้ว กล่าวสั่งสอนบรรพชิตใหม่ๆ เหล่าอื่น. ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานะสงเคราะห์บรรพชิตทั้งหลายในสำนักของตน หรือของภิกษุเหล่าอื่นเช่นนั้นเหมือนกัน ชักชวนในกัมมัฏฐาน ย่อมไม่ถึงความเป็นผู้ไม่สนใจในบรรพชิตทั้งหลาย แม้บรรลุแล้วซึ่งผล ๓ ในเบื้องต่ำ. ทราบว่า เพราะเหตุไร พระมหาโมคคัลลานะนั้นจึงมีความคิดอย่างนี้. สมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คูถแม้มีประมาณน้อยก็มีกลิ่นเหม็น มูตร น้ำลาย น้ำหนอง เลือดแม้มีประมาณน้อยก็มีกลิ่นเหม็นแม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญภพแม้มีประมาณน้อยโดยที่สุด แม้สักว่าแอบอิงนางฟ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดังนี้. เพราะฉะนั้น พระมหาโมคคัลลานะจึงไม่ถึงความเป็นผู้ไม่สนใจในบรรพชิตเหล่านั้น จนกว่าพวกเขายังไม่บรรลุอรหัต ย่อมถึงความเป็นผู้ไม่สนใจในบรรพชิตทั้งหลาย แม้ผู้บรรลุอรหัตแล้ว. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเหมือนมารดาผู้บังเกิดเกล้า โมคคัลลานะเหมือนมารดาเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำในผลที่สูงขึ้นไป ดังนี้. บทว่า ปโหติ ได้แก่ ย่อมอาจ. บทว่า ทุกฺเข ญาณํ ได้แก่ ญาณในการแทงตลอดด้วยการฟังและการพิจารณา. ในทุกขสมุทัยก็เหมือนอย่างนั้น. ปฏิเวธญาณในการฟัง ย่อมควรในทุกขนิโรธ. ย่อมควรในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเหมือนกัน. ในสังกัปปะทั้งหลายมีเนกขัมมสังกัปปะเป็นต้น ความดำริว่า สังกัปปะเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้พิจารณากาม ด้วยอรรถว่ากามเป็นข้าศึก หรือโดยความสลัดออกจากกามก็ดี สังกัปปะทำการกำจัดกาม คือความเข้าไปสงบระงับกามเกิดขึ้นแล้วก็ดี สังกัปปะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสงบจากกามก็ดี ชื่อว่าเนกขัมมสังกัปปะ. แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็สังกัปปะเหล่านั้นแม้ทั้งหมดในบุพภาคได้ในจิตต่างๆ ในขณะแห่งมรรคย่อมได้ในจิตเดียว. จริงอยู่ ย่อมได้สังกัปปะเดียวเท่านั้นที่ทำลายมิจฉาสังกัปปะ เจตนาในเอกจิตนั้น ย่อมไม่ได้สังกัปปะต่างๆ. แม้สัมมาวาจาเป็นต้นก็ย่อมได้ในจิตเดียว ในขณะแห่งมรรคโดยนัยกล่าวแล้ว ในบรรดาจิตต่างๆ ในบุพภาค. ในที่นี้ มีความสังเขปเพียงเท่านี้. ส่วนความพิสดารได้กล่าวแล้วในสัจจกถาวิสุทธิมรรค และในสัมมาทิฏฐิสูตรนั้นเทียวแล. จบอรรถกถาสัจจวิภังคสูตรที่ ๑๑ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค สัจจวิภังคสูตร จบ. |