ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 125อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 126อ่านอรรถกถา 26 / 127อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๖. กุมารเปตวัตถุ

               อรรถกถากุมารเปตวัตถุที่ ๖               
               พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเปรต ๒ ตน จึงตรัสพระคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า สาวตฺถิ นาม นครํ ดังนี้
               ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี พระเจ้าโกศลมีพระโอรส ๒ พระองค์น่าเลื่อมใส กำลังอยู่ในปฐมวัย มัวเมาในความเป็นหนุ่ม กระทำกรรมคือคบหาภรรยาของคนอื่น ทำกาละแล้ว บังเกิดเป็นเปรตที่หลังคู. ในเวลากลางคืน เปรตเหล่านั้นพากันรำพันด้วยเสียงอันน่าสะพรึงกลัว.
               พวกมนุษย์ได้ฟังเสียงนั้น พากันสะดุ้งกลัว คิดว่า เมื่อพวกเราทำอย่างนี้ อวมงคลนี้ย่อมสงบ จึงพากันถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย เพราะได้ยินเสียงนั้น อันตรายอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่พวกท่าน เพื่อจะตรัสบอกเหตุแห่งเสียงนั้นแล้วแสดงธรรมแก่มนุษย์เหล่านั้น จึงได้ตรัสพระคาถาว่า :-
               ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ว่า มีพระกุมารสองพระองค์ เป็นพระราชโอรสอยู่ในกรุงสาวัตถี ข้างหิมวันตประเทศ พระราชกุมารทั้งสองพระองค์นั้นเป็นผู้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ทรงเพลิดเพลินด้วยอำนาจความยินดีในกาม ทรงติดอยู่ในความสุขปัจจุบัน ไม่ทรงเห็นสุขในอนาคต ครั้นจุติจากความเป็นมนุษย์ไปจากโลกนี้สู่เปตโลกแล้ว เกิดเป็นเปรตไม่แสดงกายให้ปรากฏ ร้องประกาศกรรมชั่วของตนที่ได้กระทำไว้ในกาลก่อนว่า
               เมื่อพระทักขิไณยบุคคลมีอยู่เป็นอันมาก และไทยธรรมอันเขาเข้าไปตั้งไว้ก็มีอยู่ พวกเราไม่อาจทำบุญอันนำมาซึ่งความสุขต่อไปแม้เล็กน้อย และทำตนให้มีความสวัสดีได้ อะไรจะพึงลามกกว่ากามนั้น พวกเราจุติจากราชสกุลแล้วไปบังเกิดในเปตวิสัย พรั่งพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย
               เมื่อก่อนในโลกนี้เคยเป็นเจ้าของในที่ใด ย่อมไม่ได้เป็นเจ้าของในที่นั้นอีก มนุษย์ทั้งหลายเจริญขึ้นแล้วกลับเสื่อมลง ย่อมตาย เพราะความหิวและความกระหาย นรชนรู้โทษอันเกิดด้วยอำนาจความถือตัวว่าเป็นใหญ่อย่างนี้แล้ว ละความมัวเมาในความเป็นใหญ่ได้แล้ว พึงไปสู่สวรรค์ นรชนผู้มีปัญญาเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิติ เม สุตํ ความว่า เราได้เห็นด้วยญาณของตนอย่างเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ โดยที่แท้ เราได้ฟังมาอย่างนี้โดยที่ปรากฏในโลก.
               บทว่า กามสฺสาทาภินนฺทิโน ได้แก่ มีปกติเพลิดเพลินด้วยอำนาจความยินดีในกามคุณ.
               บทว่า ปจฺจุปฺปนฺนสุเข คิทฺธา ได้แก่ เป็นผู้ติด คือข้องในอารมณ์รักว่าความสุขที่เป็นปัจจุบัน.
               บทว่า น เต ปสฺสึสุนาคตํ ความว่า พระราชกุมารทั้งสองนั้นละทุจริต ประพฤติสุจริต ไม่คิดถึงสุขที่จะพึงได้ในเทวดาและมนุษย์ในอนาคต คือในกาลต่อไป.
               บทว่า เตธ โฆเสนฺตุทิสฺสนฺตา ความว่า เปรตเหล่านั้นเมื่อก่อนเป็นราชโอรส มีรูปไม่ปรากฏ ร้องคร่ำครวญอยู่ในที่ใกล้กรุงสาวัตถีนี้. เพื่อจะเลี่ยงคำถามว่า คร่ำครวญว่าอย่างไร? ท่านจึงกล่าวว่า ตนได้ทำกรรมชั่วไว้ในกาลก่อน.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงจำแนกเหตุแห่งการคร่ำครวญของเปรตเหล่านั้น โดยเหตุและผล ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อพระทักขิไณยบุคคลมีอยู่มาก ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหูสุ วต สนฺเตสุ ได้แก่ เมื่อพระทักขิไณยเป็นอันมากมีอยู่.
               บทว่า เทยฺยธมฺเม อุปฏฺฐิเต ความว่า แม้เมื่อไทยธรรมที่ควรให้อันเป็นของตนอันไว้แล้วในที่ใกล้. อธิบายว่า อันจะได้อยู่.
               บทว่า ปริตฺตํ สุขาวหํ มีวาจาประกอบความว่า เราไม่อาจทำบุญอันเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขในอนาคตแม้มีประมาณน้อย แล้วทำตนให้มีความสวัสดี คือให้ปราศจากอุปัทวันตราย.
               บทว่า กึ ตโต ปาปกํ อสฺส ความว่า ชื่อว่ากรรมอันเป็นบาปคือลามกกว่านั้น จะพึงกลายเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร.
               บทว่า ยํ โน ราชกุลา จุตา ความว่า เพราะบาปกรรมอันใด พวกเราจึงจุติจากราชสกุล เกิดในเปตวิสัยนี้ คือบังเกิดในหมู่เปรตเพียบพร้อมไปด้วยความหิวกระหายเที่ยวไปอยู่.
               บทว่า สามิโน อิธ หุตฺวาน ความว่า เมื่อก่อน ราชบุตรเป็นเจ้าของเที่ยวไปในที่ใดในโลกนี้ แต่ไม่เป็นเจ้าของในที่นั้นนั่นเอง.
               ด้วยบทว่า มนุสฺสา อุนฺนโตนตา ท่านแสดงว่า ในเวลาเป็นมนุษย์ ราชกุมารเหล่านั้นเป็นเจ้าของ ทำกาละแล้วเสื่อมลงด้วยอำนาจกรรม เพราะความหิวกระหาย ท่านจงเห็นปกติของสงสาร.
               บทว่า เอตมาทีนวํ ญตฺวา อิสฺสรมทสมฺภวํ ความว่า นรชนรู้โทษ กล่าวคือการเกิดในอบายอันเกิดด้วยความเมาในความเป็นใหญ่นี้ แล้วละความเมาในความเป็นใหญ่เสีย ขวนขวายเอาแต่บุญ.
               บทว่า ภเว สคฺคคโต นโร ความว่า พึงไปสวรรค์ คือเทวโลกเท่านั้น.
               พระศาสดาครั้นตรัสประวัติของเปรตเหล่านั้นด้วยประการดังนี้แล้ว ทรงให้อุทิศทานที่มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นกระทำแก่พวกเปรตเหล่านั้น แล้วทรงแสดงธรรมอันเหมาะแก่อัธยาศัยของบริษัทผู้ประชุมกัน.
               เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถากุมารเปตวัตถุที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๖. กุมารเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 125อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 126อ่านอรรถกถา 26 / 127อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4741&Z=4758
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=6201
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=6201
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :