ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 88อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 89อ่านอรรถกถา 26 / 90อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปฐมวรรค
๔. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ

               อรรถกถาปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุที่ ๔               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ทรงปรารภทานของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี ได้ตรัสคำนี้ เริ่มต้นว่า ยงฺกิญฺจารมฺมณํ กตฺวา ดังนี้ :-
               ได้ยินว่า พี่เลี้ยงของเด็กหญิง ธิดาของลูกสาวท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี ได้ให้ตุ๊กตาแป้งด้วยสั่งว่า นี้ลูกสาวของเจ้า เจ้าจงอุ้มมันไปเล่นเถอะ.
               เด็กหญิงนั้นเกิดความเข้าใจในตุ๊กตาแป้งนั้นว่า เป็นลูกสาว.
               ครั้นวันหนึ่ง เมื่อเธออุ้มตุ๊กตานั้นเล่น ตุ๊กตาตกแตก เพราะความเลินเล่อ. แต่นั้นเด็กหญิงจึงร้องร่ำไห้ ลูกสาวเราตายแล้ว. เธอกำลังร้องไห้อยู่ คนในเรือนบางคนก็ไม่สามารถจะชี้แจงให้เธอเข้าใจได้.
               ก็สมัยนั้น พระศาสดาประทับนั่งบนปัญญัตาอาสน์ ในเรือนของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี และท่านมหาเศรษฐีก็ได้นั่งอยู่ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า. หญิงพี่เลี้ยงได้พาเด็กหญิงนั้นไปหาท่านเศรษฐี.
               ท่านเศรษฐีเห็นเข้า จึงกล่าวว่า เด็กหญิงนี้ร้องไห้เพื่ออะไรกัน. พี่เลี้ยงได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ท่านเศรษฐีแล้ว.
               เศรษฐีได้ให้เด็กหญิงนั้นนั่งบนตักแล้วให้เข้าใจว่า ฉันจะให้ทานอุทิศแก่ลูกของหนู ดังนี้แล้วจึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะให้ทานอุทิศแก่ตุ๊กตาแป้ง ซึ่งเป็นลูกสาวของหลานของข้าพระองค์, ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปจงรับทานนั้นของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.
               ครั้นในวันที่สอง พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปเสด็จไปยังเรือนของท่านเศรษฐี เสวยพระกระยาหารแล้ว เมื่อจะทำอนุโมทนาจึงได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                                   บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
                         คือ ปรารภถึงบุรพเปตชน เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน หรือ
                         ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลก ผู้มียศ คือท้าวธตรฐ ๑
                         วิรุฬหก ๑ วิรูปักษ์ ๑ และท้าวกุเวร ๑ ให้เป็นอารมณ์
                         แล้วพึงให้ทาน ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อันบุคคลบูชาแล้ว
                         ทั้งทายกก็ไม่ไร้ผล ความร้องไห้ ความเศร้าโศกหรือ
                         ความร่ำไห้อย่างอื่นไม่ควรทำเลย เพราะความร้องไห้
                         เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ญาติ
                         ทั้งหลายคงตั้งอยู่ตามธรรมดาของตนๆ อันทักษิณา
                         ทานนี้ ที่ท่านเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์ให้แล้ว
                         ย่อมสำเร็จประโยชน์โดยฉับพลัน แก่บุรพเปตชนนั้น
                         สิ้นกาลนาน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยงฺกิญฺจารมฺมณํ กตฺวา ความว่า ปรารภ คืออุทิศ เหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาเหตุมีเหตุที่เป็นมงคลเป็นต้น.
               บทว่า ทชฺชา แปลว่า พึงให้.
               บทว่า อมจฺฉรี ความว่า ชื่อว่าอมัจฉรี เพราะไม่มีความตระหนี่อันมีลักษณะไม่อดทนต่อสมบัติของตนที่ทั่วไปกับผู้อื่น, อธิบายว่า ผู้มีปกติบริจาค ทำมลทินแห่งจิตมีมัจฉริยะและโลภะเป็นต้นให้ห่างไกลแล้ว พึงให้ทาน.
               บทว่า ปุพฺพเปเต จ อารพฺภ ได้แก่ อุทิศบุรพเปตชน.
               มีวาจาประกอบความว่า บทว่า วตฺถุเทวตา ปรารภเทวดาผู้สิงอยู่ในสถานที่ต่างๆ มีที่เรือนเป็นต้น. ด้วยคำว่า อถ วา นี้ทรงแสดงว่า ปรารภเปตชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีเทวดาและมนุษย์เป็นต้น แม้เหล่าอื่นแล้ว พึงให้ทาน.
               ในคำเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเทพผู้ปรากฏบางพวกในบรรดาเทพเหล่านั้นก่อน จึงตรัสว่า จตฺตาโร จ มหาราเช เมื่อจะระบุเทพเหล่านั้นโดยชื่ออีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า กุเวรํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุเวรํ ได้แก่ ท้าวเวสสวรรณ.
               บทว่า ธตรฏฐํ เป็นต้นเป็นชื่อของท้าวโลกบาลทั้ง ๓ ที่เหลือ.
               บทว่า เต เจว ปูชิตา โหนฺติ ความว่า ก็ท้าวมหาราชเหล่านั้นและบุรพเปตชนและวัตถุเทวดาเป็นผู้อันเขานับถือ ด้วยการทำอุทิศ.
               บทว่า ทายกา จ อนิปฺผลา ความว่า และทายกผู้ให้ทาน ย่อมไม่ไร้ผล เพราะเหตุเพียงการอุทิศแก่เปตชนเหล่าอื่น ทั้งเป็นผู้มีส่วนแห่งผลทานของตนเหมือนกัน.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่า การร้องไห้เป็นต้นนั้นของเหล่านั้นผู้ร้องไห้ ร่ำไร เศร้าโศก เพราะญาติของตนตายไป ไม่มีประโยชน์ เป็นแต่เพียงทำตนให้เดือดร้อนเท่านั้น จึงตรัสคาถาว่า น หิ รุณฺณํ วา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุณฺณํ แปลว่า ร้องไห้คือหลั่งน้ำตา. บาลีที่เหลือพึงนำมาเชื่อมเข้าด้วยบทว่า น หิ กาตพฺพํ.
               บทว่า โสโก ได้แก่ ความเศร้าโศก คือความเร่าร้อนภายในใจ. อธิบายว่า ความหม่นไหม้ในภายใน.
               บทว่า ยา จญฺญา ปริเทวนา ได้แก่ ความพิไรรำพันอย่างอื่นจากการร้องไห้และความเศร้าโศกอย่างหนึ่ง ได้แก่การบ่นเพ้อด้วยวาจามีอาทิว่า ลูกคนเดียวอยู่ไหน? อธิบายว่า แม้การบ่นเพ้อด้วยวาจานั้นก็ไม่ควรทำ.
               วาศัพท์ในบททั้งปวง เป็นวิกัปปัตถะ แปลว่า บ้าง, หรือ, ก็ดี,
               บทว่า น ตํ เปตสฺส อตฺถาย ความว่า เหตุมีอาทิว่า การร้องไห้ก็ดี ความเศร้าโศกก็ดี การร่ำไรก็ดีทั้งหมดนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่มีอุปการะแก่ผู้ละไปแล้ว คือผู้ตายไปแล้ว ฉะนั้น เหตุมีการร้องไห้เป็นต้นนั้นจึงไม่ควรทำ. อธิบายว่า แม้ถึงอย่างนั้น พวกญาติก็ไม่รู้เรื่องด้วยคงดำรงอยู่อย่างนั้น.
               พระศาสดาครั้นทรงแสดงถึงเหตุแห่งทุกข์ธรรมมีการร้องไห้เป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงทักษิณาที่ทายกปรารภบุรพเปรตเป็นต้น แล้วถวายแด่พระสงฆ์ว่าเป็นสิ่งมีประโยชน์ จึงตรัสคาถาว่า อยญฺจ โข ทกฺขิณา ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อยํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะแสดงถึงทานที่ทายกให้แล้วนั้น โดยประจักษ์จึงตรัสไว้.
                ศัพท์เป็นพยติเรกัตถะ แปลว่า อัน.
               ด้วย ศัพท์นั้นย่อมส่องอรรถอันพิเศษเฉพาะที่กำลังจะกล่าวว่า ทักษิณานี้หาได้เป็นเหมือนเหตุมีการร้องไห้เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ผู้ละไปแล้วไม่ อันทักษิณานี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ละไปแล้วนั้นตลอดกาลนาน.
               ศัพท์ว่า โข ใช้ในอรรถว่าอวธารณะ แปลว่า ห้ามเนื้อความอื่น.
               บทว่า ทกฺขิณา ได้แก่ ทาน.
               บทว่า สงฺฆมฺหิ สุปติฏฺฐิตา ได้แก่ ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยม.
               บทว่า ทีฆรตฺตํ หิตายสฺส ได้แก่ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้น ตลอดกาลนาน.
               บทว่า ฐานโส อุปกปฺปติ ได้แก่ ย่อมสำเร็จในขณะนั้นนั่นเอง. อธิบายว่า ไม่ใช่ในกาลอื่น.
               จริงอยู่ นี้เป็นธรรมดาในข้อนั้นว่า หากเปรตอนุโมทนาทาน ในเมื่อทายกถวายทานอุทิศเปรต เปรตก็จะหลุดพ้นไปด้วยผลแห่งทานนั้น ในขณะนั้นนั่นเอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงธรรมอย่างนี้แล้ว ทรงกระทำให้มหาชนมีใจยินดียิ่งในทานที่อุทิศเปรตแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป.
               วันรุ่งขึ้น ภริยาเศรษฐีและพวกญาติที่เหลือ เมื่อคล้อยตามเศรษฐี จึงให้มหาทานเป็นไปประมาณ ๓ เดือนด้วยอาการอย่างนี้.
               ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงไม่ไปเรือนของหม่อมฉันประมาณ ๑ เดือนแล้ว.
               เมื่อพระศาสดาตรัสบอกเหตุนั้นแล้ว ฝ่ายพระราชาเมื่อจะทรงคล้อยตามเศรษฐี จึงให้มหาทานเป็นไปแก่ภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน.
               ชาวเมืองเห็นดังนั้น เมื่อจะอนุวัตรตามพระราชา จึงให้มหาทานเป็นไปประมาณ ๑ เดือน. ชาวเมืองให้มหาทานซึ่งมีตุ๊กตาแป้งเป็นเหตุเป็นไปตลอด ๒ เดือนด้วยประการฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปฐมวรรค ๔. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 88อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 89อ่านอรรถกถา 26 / 90อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3008&Z=3020
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=365
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=365
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :