![]() |
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
![]() |
![]() | |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() อธิบายมรรคจิตดวงที่ ๒ บรรดาคำเหล่านั้น คำเหล่านี้ว่า กามราคพฺยาปาทานํ ตนุภาวาย (เพื่อบรรเทากามราคะและพยาบาท) ได้แก่ เพื่อบรรเทาสังกิเลสทั้งหลายในคำว่า เพื่อบรรเทาสังกิเลสเหล่านั้น พึงทราบการทำให้เบาบางด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ การเกิดขึ้นบางคราวและการกลุ้มรุมอย่างอ่อน. จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้นเนืองๆ แก่พระสกทาคามี เหมือนมหาชนผู้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏะ ย่อมเกิดขึ้นบางครั้งบางคราว แม้เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นการเกิดขึ้นที่เบาบาง เหมือนหน่อพืชในนาที่เขาหว่านไว้ห่างๆ แม้เมื่อเกิดขึ้นก็แผ่ไปปกปิดเบาบาง ไม่เกิดขึ้นทำการมืดมนเหมือนมหาชนผู้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏะ ก็เพราะถูกมรรคทั้งสองประหาณแล้วจึงเกิดขึ้นเบาบาง ย่อมเกิดขึ้นเป็นสภาพเบาบางเหมือนแผ่นหมอกบางๆ และเหมือนปีกแมลงวัน ฉะนั้น. ในข้อนี้ พระเถระบางพวกกล่าวว่า กิเลสเกิดขึ้นแก่พระสกทาคามีนานๆ ครั้งแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็เป็นกิเลสหนาเทียวเกิดขึ้น เพราะว่า พระสกทาคามีนั้นยังมีบุตรและธิดาปรากฏอยู่ ดังนี้. แต่ข้อนี้ไม่เป็นประมาณ เพราะว่าบุตรและธิดาย่อมมีด้วยเหตุสักว่าการลูบคลำอวัยวะน้อยใหญ่ก็มี แต่ความที่กิเลสยังหนาไม่มี เพราะความที่กิเลสทั้งหลายท่านละด้วยมรรคทั้งสองแล้ว. พึงทราบความเบาบางแห่งกิเลสทั้งหลายของท่านด้วยเหตุทั้ง ๒ คือ ด้วยการเกิดขึ้นบางคราวและเพราะกลุ้มรุมอย่างอ่อน ด้วยประการฉะนี้. คำว่า ทุติยาย (ที่๒) ได้แก่ ชื่อว่า ที่ ๒ ด้วยการนับบ้าง ด้วยการเกิดขึ้นครั้งที่ ๒ บ้าง. บทว่า ภูมิยา ปตฺติยา (เพื่อบรรลุภูมิ) ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การได้สามัญผล. แม้ในคำว่า เพื่อบรรลุภูมิที่ ๓ ที่ ๔ ก็นัยนี้แหละ ข้าพเจ้าจักกล่าวแต่เฉพาะเนื้อความที่ต่างกันเท่านั้น. บทว่า อญฺญินฺทฺริยํ (อัญญินทรีย์) ได้แก่ อินทรีย์ที่รู้ทั่ว. มีอธิบายว่า อินทรีย์ที่รู้สัจจธรรมทั้ง ๔ เหล่านั้นนั่นแหละอันสกทาคามิมรรคนั้นรู้แล้ว ไม่เกินขอบเขตที่ปฐมมรรครู้. แม้ในนิทเทสวารแห่งอัญญินทรีย์นั้นก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยแม้นี้. ในโกฏฐาสวาระรวมกับอินทรีย์นี้ก็เป็นอินทรีย์ ๙. คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแหละ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม โลกุตตรกุศลจิต มรรคจิตดวงที่ ๒ จบ. |