บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยความแน่นอนโดยส่วนเดียว ในเรื่องนั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธินิกายอุตตราปถกะบางพวกว่า ปุถุชนมีความแน่นอนโดยส่วนเดียว เพราะอาศัยพระสูตรว่า บุคคลนั้น คือผู้ประกอบด้วยธรรมฝ่ายอกุศลเป็นธรรมดำโดยส่วนเดียว เป็นผู้จมลงแล้วครั้งหนึ่ง ก็จมอยู่นั่นเอง ดังนี้. คำถามของสกวาทีหมายชนเหล่านั้น คำตอบเป็นของปรวาที. คำว่า บุคคลผู้ทำมาตุฆาตเป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อท้วงว่า เมื่อมิจฉัตตนิยามแห่งนิยตมิจฉาทิฏฐิบุคคลด้วย บุคคลผู้ทำกรรมทั้งหลายมีฆ่ามารดาเป็นต้นด้วย มีอยู่ แม้บุคคลผู้ฆ่ามารดาเป็นต้นเหล่านั้นก็พึงเป็นผู้แน่นอนที่สุดมิใช่หรือ ดังนี้. ปรวาทีตอบปฏิเสธว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะลัทธิว่า บุคคลผู้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐินี้เป็นผู้มั่นคงในสังสารวัฏ เป็นผู้เที่ยงแท้แม้ในภพที่สอง แต่ว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้เที่ยงแท้ในอัตตภาพเดียวเท่านั้น ดังนี้. คำว่า วิจิกิจฉาพึงเกิดแล้วแก่ผู้แน่นอนโดยส่วนเดียว ความว่า สกวาทีย่อมกล่าวว่า บุคคลผู้นี้เป็นผู้เที่ยงก็ตามไม่เที่ยงก็ตาม วิจิกิจฉาก็พึงเกิดอย่างนี้ ดังนี้. ปรวาทีเมื่อไม่เห็นเหตุอันไม่เกิดขึ้นของวิจิกิจฉา จึงตอบรับรอง. ถูกถามว่า วิจิกิจฉาไม่พึงเกิดแก่ผู้แน่นอนโดยส่วนเดียวหรือ ปรวาทีตอบรับรองโดยหมายเอาความไม่เกิดขึ้นของวิจิกิจฉาที่บุคคลซ่องเสพทิฏฐิใดแล้วก้าวลงสู่นิยามในนิยามนั้น. แต่นั้นถูกถามว่า ผู้นั้นละวิจิกิจฉาได้หรือ ก็ตอบปฏิเสธเพราะความที่วิจิกิจฉานั้นละไม่ได้ด้วยมรรค คือมิจฉามรรค แต่ก็ตอบรับรองว่าละได้ เพราะความที่บุคคลปรารภทิฏฐินั้นแล้ว หมายเอาทิฏฐิเป็นประธาน มิได้หมายเอาโมหะที่สัมปยุตด้วยวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาก็ไม่เกิดขึ้น. ลำดับนั้น สกวาทีกล่าวคำว่า ละได้ด้วยโสดาปัตติมรรคเป็นต้น เพื่อท้วงด้วยอำนาจแห่งโสดา คำว่า อุจเฉททิฏฐิเกิดแก่ผู้แน่นอนโดยสัสสตทิฏฐิหรือ ความว่า สกวาทีย่อมถามซึ่งความเกิดขึ้นแห่งนิยามที่ ๒. ปรวาทีตอบรับรอง เพราะพระบาลีว่า นัตถิกวาทะ อกิริยวาทะ อเหตุกวาทะเหล่านี้มีอยู่แก่บุคคลผู้มีหูชัน คือหูชันหมายถึงการไม่รับรู้เหตุผลอะไรทั้งนั้น แม้เหล่าใดเหล่านั้น นิยตมิจฉาทิฏฐิแม้ทั้ง ๓ ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เดียวได้. ลำดับนั้น สกวาทีจึงกล่าวคำว่า หากว่า เป็นต้น เพื่อท้วงด้วยคำว่า ก็ชื่อว่าบุคคลผู้หนึ่งผู้มีความเห็นผิดนั้นย่อมไม่ใช่ผู้เที่ยงที่สุดหรือ. จริงอยู่ นิยามที่ ๒ มิใช่จุดหมายของผู้มีความเห็นว่าเที่ยงแท้. ในปัญหาว่า อุจเฉททิฏฐิไม่พึงเกิด เป็นต้น ปรวาทีตอบรับรองโดยหมายเอาความไม่เกิดขึ้นแห่งอุจเฉททิฏฐิ เพราะถือเอาความเห็นว่า ความเที่ยงของสัสสตทิฏฐิอันใดมีอยู่ (อุจเฉท) ทิฏฐิอันนั้นแหละอันเขาขจัดเสียแล้ว. ถูกถามว่า ละอุจเฉททิฏฐิได้หรือ ปรวาทีตอบปฏิเสธเพราะอุจเฉททิฏฐินั้นยังไม่ได้ละด้วยมรรค และตอบรับรองว่าละได้เพราะความไม่เกิดขึ้น โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว. แม้ในคำทั้งหลายมีคำว่า สัสสตทิฏฐิพึงเกิดเป็นต้น ก็นัยนี้นั่นแหละ. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในวาระว่าด้วยวิจิกิจฉานั่นแหละ. คำถามว่า ไม่พึงกล่าว เป็นต้น เป็นของปรวาที. คำตอบรับรองว่า ใช่ เพราะความที่พระสูตรเช่นนั้นมีอยู่ เป็นของสกวาที. ในอธิการนี้มีอธิบายว่า ก็บุคคลผู้ไม่จมลงแม้ในภพถัดไปนั่นแหละ มีอยู่ เพราะว่าเขาเป็นอภัพพบุคคลไม่อาจเพื่อละทิฏฐินั้นในภพนี้เท่านั้น ดังนี้. เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้ไม่สำเร็จว่าความแน่นอนมีอย่างเดียว อีกอย่างหนึ่งนั้นหมายถึงอริยมรรค. คำว่า ข้อกำหนดที่สุดมีอย่างเดียวนี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงว่า ปรวาทีพึงแสวงหาอรรถกระทำซึ่งสักแต่คำว่า บุคคลนั้นโผล่ขึ้นแล้วกลับจมลงตลอดกาล ดังนี้ให้เป็นที่อาศัยตั้งลัทธิ ด้วยประการฉะนี้แล. อรรถกถาอัจจันตนิยามกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๑๙ อัจจันตนิยามกถา จบ. |