บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า ปจฺฉาชาตา ความว่า ธรรมที่เกิดภายหลังจะเป็นปัจจัยแก่ภายใด จะต้องเกิดขึ้น ในเมื่อกายนั้นเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่. บทว่า ปุเรชาตสฺส คือ เป็นปัจจัยแก่ธรรมที่เกิดก่อนว่า อุปาทขณะของปัจจัยธรรมเหล่านั้นล่วงเลยขณะเกิดไปถึงขณะตั้งอยู่. สองบทว่า อิมสฺส กายสฺส คือ เป็นปัจจัยแก่กายนี้ กล่าวคือมหาภูตรูปและอุปาทายรูป ที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ และสมุฏฐาน ๓. ก็ในข้อนี้ คำว่า กายที่เกิดจากสมุฏฐาน ๓ ผู้ศึกษาพึงทราบกายแห่งพรหมปาริสัชชา เป็นต้น เพราะไม่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน. นี้เป็นการอธิบายบาลีในอธิการนี้. ก็ชื่อว่า ปัจฉาชาตปัจจัย นี้ ว่าโดยสังเขป ได้แก่ อรูปขันธ์ใน ๔ ภูมิที่เหลือ เว้นอรูปวิบาก. ปัจฉาชาตปัจจัยนั้น ว่าด้วยอำนาจแห่งชาติมี ๔ ชาติ โดยแจกเป็นกุศล อกุศล วิบากและกิริยา. ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยโดยการจำแนกด้วยประการต่างๆ ในปัจฉาชาตปัจจัยนี้ ดังแสดงมาแล้ว. ในปัจฉาชาตปัจจัยที่จำแนกได้ดังข้าพเจ้าได้แสดงมาแล้วนี้ กุศลที่เกิดขึ้นในภูมิ ๔ และอกุศลในปัญจโวการภพ เป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่รูปกายที่มีสมุฏฐาน ๔ และสมุฏฐาน ๓ อันล่วงเลยอุปาทขณะมาถึงฐิติขณะ. แม้ในฝ่ายวิบาก กามาวจรวิบากและรูปาวจรวิบากที่เหลือ เว้นวิบากที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิ เป็นปัจฉาชาตปัจจัยโดยส่วนเดียวแก่รูปที่มีสมุฏฐาน ๔ และสมุฏฐาน ๓ นั้นเอง. แม้โลกุตตรวิบากที่เกิดขึ้นในปัญจโวการภพ ก็เป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่รูปกายนั้นเหมือนกัน. กิริยาจิตที่เป็นไปในภูมิ ๓ เฉพาะที่เกิดขึ้นในปัญจโวการภพเท่านั้น เป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่กาย มีประการดังกล่าวแล้ว. ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยแม้โดยธรรมที่เป็นปัจจยุบบันในปัจฉาชาตปัจจัยนี้ ดังพรรณนามาแล้วแล. วรรณนานิทเทสแห่งปัจฉาชาตปัจจัย จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา มหาปัฏฐานปกรณ์ ภาค ๑ มาติกานิกเขปวาร ปัจจยวิภังควาร ปัจฉาชาตปัจจัย จบ. |