บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
[พรรณนาหมวด ๑] สมถะ ๗ ชื่อธรรมก่ออาบัติ. สองบทว่า อาปตฺติ ชานิตพฺพา ได้แก่ พึงรู้จักอาบัติที่ท่านกล่าวไว้ในสิกขาบทและวิภังค์นั้นๆ. บทว่า อนาปตฺติ ได้แก่ พึงรู้จักอนาบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุ ไม่เป็นอาบัติ แก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีอยู่. บทว่า ลหุกา ได้แก่ พึงรู้จักอาบัติ ๕ อย่าง โดยความหมดจดด้วยวินัยกรรมที่เบา. บทว่า ครุกา ได้แก่ พึงรู้จักอาบัติสังฆาทิเสส โดยความหมดจด โดยวินัยกรรมที่หนัก และพึงรู้จักอาบัติปาราชิก โดยความเป็นอาบัติที่ไม่สามารถเพื่อน้อมเข้าไปสู่ความเป็นอนาบัติ โดยอาการไรๆ. บทว่า สาวเสสา ได้แก่ พึงรู้จักอาบัติที่เหลือ เว้นปาราชิกเสีย. บทว่า อนวเสสา ได้แก่ อาบัติปาราชิก. อาบัติ ๒ กอง หยาบร้าย. อาบัติที่เหลือ ไม่หยาบร้าย. อาบัติที่ยังทำคืนได้ ๒ หมวด เช่นกับอาบัติที่มีส่วนเหลือ ๒ หมวด อาบัติที่เป็นเทสนาคามินี ๒ หมวด รวมเข้ากับอาบัติเบา ๒ หมวด. อาบัติทั้ง ๗ กอง ชื่อว่า ธรรมทำอันตราย. อาบัติที่ภิกษุแกล้งละเมิด ย่อมทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพาน เพราะฉะนั้น อาบัติที่ภิกษุแกล้งละเมิด จึงชื่อว่าทำอันตราย. ส่วนอาบัติที่มีโทษตามพระบัญญัติ อันภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ละเมิดแล้วหาทำอันตรายแก่สวรรค์และนิพพานไม่ เพราะฉะนั้น อาบัติที่มีโทษตามพระบัญญัติ จึงชื่อว่าไม่ทำอันตราย. ทางแห่งสวรรค์และนิพพาน อันอันตรายิกาบัติไม่ห้ามแล้ว แม้แก่ภิกษุผู้ต้องอันตรายิกาบัติแล้ว แสดงอาบัติที่เป็นเทสนาคามินีเสีย ออกจากอาบัติที่เป็นวุฏฐานคามินีเสียแล้วถึงความบริสุทธิ์ และผู้ตั้งอยู่ในภูมิของสามเณรฉะนี้แล. อาบัติที่มีโทษทางโลก ชื่อว่า อาบัติที่ทรงบัญญัติพร้อมทั้งโทษ. อาบัติที่มีโทษตามพระบัญญัติ ชื่อว่า อาบัติที่ทรงบัญญัติไม่มีโทษ. ภิกษุทำอยู่จึงต้องอาบัติใด อาบัตินั้น ชื่อว่าเกิดเพราะกระทำเหมือนอาบัติปาราชิก. ภิกษุยังไม่ทำอยู่ จึงต้องอาบัติใด อาบัตินั้น ชื่อว่าเกิดเพราะไม่ทำเหมือนอาบัติที่ต้องเพราะไม่อธิษฐานจีวร. ภิกษุทำอยู่ด้วย ไม่ทำอยู่ด้วย ย่อมต้องอาบัติใด อาบัตินั้น ชื่อว่าเกิดเพราะทำและไม่ทำ เหมือนอาบัติในกุฏการสิกขาบท. อาบัติที่ต้องทีแรก ชื่อว่าปุพพาบัติ. อาบัติที่ภิกขุผู้อยู่ปริวาสเป็นต้น ต้องในภายหลัง ชื่อว่าอปราบัติ. อันตราบัติแห่งวิธีเครื่องหมดจด อันสงฆ์ให้ในอาบัติเดิม ชื่อว่าอันตราบัติแห่งปุพพาบัติทั้งหลาย. อันตราบัติแห่งวิธีเครื่องหมดจด กล่าวคืออัคฆสโมธาน ชื่อว่าอันตราบัติแห่งอปราบัติ. ส่วนในกุรุนทีแก้ว่า อาบัติที่ต้องก่อน ชื่อปุพพาบัติ อาบัติที่ต้องในเวลาที่ควรแก่มานัตต์ ชื่ออปราบัติ อาบัติที่ต้องในปริวาส ชื่ออันตราบัติแห่งปุพพาบัติ อาบัติที่ต้องในขณะประพฤติมานัตต์ ชื่ออันตราบัติแห่งอปราบัติ. แม้คำนี้ ก็ถูกโดยปริยายอันหนึ่ง. อาบัติใด อันภิกษุทำความทอดธุระแสดงเสีย ด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ต้องอีก อาบัตินั้น ชื่อว่าอันภิกษุแสดงแล้ว นับเข้าในจำนวน (อาบัติที่แสดงแล้ว). อาบัติใด อันภิกษุไม่ทำความทอดธุระ แสดงเสียด้วยจิตที่ยังมีความอุกอาจ ไม่บริสุทธิ์ทีเดียว อาบัตินั้น ชื่อว่าอันภิกษุแสดงแล้ว ไม่นับเข้าในจำนวน. จริงอยู่ อาบัตินี้แม้แสดงแล้ว ก็ไม่นับเข้าในจำนวนอาบัติที่แสดงแล้ว. ในวัตถุที่ ๘ ย่อมเป็นเฉพาะปาราชิก แก่ภิกษุณี. ใน ๙ บท มีบทที่ว่า ปญฺญตฺติ ชานิตพฺพา เป็นอาทิ พึงทราบวินิจฉัย ตามนัยที่กล่าวแล้วในข้อถามถึงปฐมปาราชิกนั่นแล. อาบัติหนัก ที่ทรงบัญญัติเพราะโทษล่ำ ชื่อว่าอาบัติมีโทษล่ำ อาบัติเบา ชื่อว่าอาบัติมีโทษไม่ล่ำ. อาบัติของพระสุธัมมัตเถระ และอาบัติที่ต้องเพราะแกล้งทำคำรับที่เป็นธรรมให้คลาดเคลื่อน ชื่อว่าอาบัติเนื่องโดยตรงกับคฤหัสถ์. อาบัติทั้งหลายที่เหลือ ชื่อว่าอาบัติไม่เนื่องโดยตรงกับคฤหัสถ์. อาบัติที่นับว่าเป็นอนันตริยกรรม ๕ ชื่อว่าอาบัติเที่ยง. อาบัติที่เหลือชื่อว่าอาบัติไม่เที่ยง. ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ มีพระสุทินนเถระเป็นต้น ชื่อว่าภิกษุผู้ทำทีแรก. ภิกษุผู้ก่ออนุบัญญัติ มีพระมักกฏีสมณะเป็นอาทิ ชื่อว่าภิกษุ ผู้ไม่ได้ทำทีแรก. ภิกษุใด ต้องอาบัติในบางคราวบางครั้ง ภิกษุนั้น ชื่อว่าผู้ต้องอาบัติ ไม่เป็นนิตย์. ภิกษุใด ต้องเป็นนิตย์ ภิกษุนั้น ชื่อว่าต้องอาบัติเนืองๆ. ภิกษุใด ฟ้องภิกษุอื่นด้วยวัตถุหรืออาบัติ ภิกษุนั้น ชื่อว่าโจทก์. ฝ่ายภิกษุใด ถูกฟ้องอย่างนั้น ภิกษุนี้ ชื่อว่าจำเลย. ภิกษุผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ๑๕ ประการ ฟ้องด้วยวัตถุไม่จริง ชื่อว่าผู้ฟ้องไม่เป็นธรรม. ภิกษุผู้จำเลยถูกโจทก์นั้นฟ้องอย่างนั้น ชื่อว่าผู้ถูกฟ้องไม่เป็นธรรม. โจทก์และจำเลยที่เป็นธรรม พึงทราบโดยปริยายอันแผกกัน. บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมทั้งหลาย อันเที่ยงโดยความเป็นธรรมผิดก็ดี อันเที่ยงโดยความเป็นธรรมชอบก็ดี ชื่อว่าผู้เที่ยง. บุคคลผู้แผกไป ชื่อว่าผู้ไม่เที่ยง. พระสาวกทั้งหลาย ชื่อว่าผู้พอเพื่อต้องอาบัติ. พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าผู้ไม่พอเพื่อต้องอาบัติ. บุคคลที่ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม ชื่อว่าผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร. บุคคลที่ถูกสงฆ์ลงกรรม ๔ อย่างที่เหลือ มีตัชชนียกรรมเป็นต้น ชื่อว่าผู้ไม่ถูกสงฆ์ยกวัตร. จริงอยู่ ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรมเป็นต้นนี้ ไม่ยังอุโบสถหรือปวารณาหรือธรรมบริโภค หรืออามิสบริโภคให้กำเริบ. เฉพาะบุคคลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ฉิบหายเสียด้วยลิงคนาสนาทัณฑกัมมนาสนาและสังวาสนาสนา อย่างนี้ว่า สงฆ์พึงยังเมตติยาภิกษุณีให้ฉิบหาย บุคคลผู้ประทุษร้ายพึงให้ฉิบหาย สมณุทเทสชื่อกัณฏกะ สงฆ์พึงให้ฉิบหาย ดังนี้ ชื่อว่าผู้ถูกนาสนา บุคคลทั้งปวงที่เหลือ ชื่อว่าผู้ไม่ถูกนาสนา. ธรรมที่เป็นที่อยู่ร่วมกัน มีอุโบสถเป็นอาทิ กับบุคคลใดมีอยู่ บุคคลนี้ชื่อว่าผู้มีสังวาสเสมอกัน. บุคคลนอกนั้น ชื่อว่าผู้มีสังวาสต่างกัน. บุคคลผู้มีสังวาสต่างกันนั้น มี ๒ พวก คือกัมมนานาสังวาสพวกหนึ่ง ลัทธินานาสังวาสพวกหนึ่ง. สองบทว่า ฐปนํ ชานิตพฺพํ มีความว่า พึงทราบการงดปาฏิโมกข์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย การงดปาฏิโมกข์ไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ฉะนี้แล. พรรณนาหมวด ๑ จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ปริวาร เอกุตตริกะ หมวด ๑ จบ. |