ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

เรื่องมาณพชื่อสุภะ

๑๐. สุภสูตร
ว่าด้วยสุภมาณพ
เรื่องมาณพชื่อสุภะ
[๔๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานไปไม่นาน ท่านพระ อานนท์พำนักอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตร๑- มีกิจธุระพำนักอยู่ในกรุงสาวัตถี [๔๔๕] ครั้งนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตรเรียกมาณพคนหนึ่งมาสั่งว่า “มานี่แน่ะ พ่อหนุ่ม เธอจงเข้าไปหาพระสมณะชื่ออานนท์ แล้วเรียนถามพระสมณะชื่ออานนท์ ถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำของเราว่า สุภมาณพโตเทยยบุตรถามท่านพระอานนท์ถึงสุขภาพ ความมี โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และเธอจงเรียนว่า ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์สละเวลาเข้าไปเยี่ยมสุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง” [๔๔๖] มาณพนั้นรับคำของสุภมาณพโตเทยยบุตรแล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ สนทนากันพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควรแล้วกล่าวว่า “สุภมาณพโตเทยย บุตรถามท่านพระอานนท์ถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มี พลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และสั่งมาว่า ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์ สละเวลาเข้าไปเยี่ยมสุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง” [๔๔๗] เมื่อมาณพนั้นกล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า “เวลานี้ไม่ เหมาะ วันนี้อาตมาดื่มยาถ่ายเข้าไปแล้ว เอาไว้พรุ่งนี้ เมื่อมีเวลาอาตมาจะเข้าไป เยี่ยม” เขารับคำของท่านพระอานนท์แล้วลุกจากที่นั่งกลับไปหาสุภมาณพโตเทยยบุตร บอกว่า “ข้าพเจ้าได้บอกท่านพระอานนท์ตามคำของท่านว่า ‘สุภมาณพ ... ไปเยี่ยม @เชิงอรรถ : @ สุภมาณพเป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์ผู้ตระหนี่ อยู่ที่หมู่บ้านตุทิ เขตกรุงสาวัตถี (ที.สี.อ. ๔๔๔/๓๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

สีลขันธ์

สุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง’ เมื่อข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า ‘วันนี้ ไม่เหมาะ ... เมื่อมีเวลาอาตมาจะเข้าไปเยี่ยม’ ข้าพเจ้าได้ดำเนินการให้ท่านพระ อานนท์สละเวลามาฉันในวันพรุ่งนี้ด้วยเหตุดังว่ามานี้” [๔๔๘] ครั้นล่วงราตรีนั้น ยามเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือ บาตรและจีวร มีพระเจตกะเป็นปัจฉาสมณะ๑- เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพ- โตเทยยบุตรแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ สุภมาณพโตเทยยบุตรเข้าไปหาท่านพระอานนท์ สนทนากันพอคุ้นเคยดีแล้ว นั่งลง ณ ที่สมควรแล้วถามว่า “ท่านอานนท์เป็นพระอุปัฏฐาก อยู่เฝ้าใกล้ชิดเบื้อง พระยุคลบาทของท่านพระโคดมมานาน ท่านอานนท์คงจะทราบธรรมที่ท่านพระโค ดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ ท่านอานนท์ ธรรมเหล่า ไหนหนอแลที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่” [๔๔๙] ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและ ทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ในขันธ์ ๓ แล ขันธ์ ๓ อะไรบ้าง คือ อริยสีลขันธ์ อริยสมาธิขันธ์ และอริยปัญญาขันธ์ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้ ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ในขันธ์ ๓ นี้แล”
สีลขันธ์
[๔๕๐] เขาถามว่า “อริยสีลขันธ์ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์” ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น พระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ฯลฯ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก ฯลฯ ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดีหรือ อนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาใน @เชิงอรรถ : @ ปัจฉาสมณะ คือพระผู้ติดตาม พระอานนท์ก็เคยเป็นปัจฉาสมณะของพระผู้มีพระภาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

สีลขันธ์

พระตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็น ทางแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิงดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและ หนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมาเขาละทิ้งกอง โภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาว- พัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวร ในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้ เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรม อันเป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ(และ) เป็นผู้สันโดษ [๔๕๑] ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ละ เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่ง ประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ข้อนี้จัดเป็นศีลของภิกษุอย่างหนึ่ง (ต่อจากนี้พึง ขยายศีลทุกข้อให้พิสดาร)๑- ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้ เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉาน- วิชาอย่างนี้ คือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี ตั้งศาลพระภูมิ ทำกะเทย ให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์ รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยาแก้โรคลมตีขึ้นเบื้องบน ยาแก้โรคลมตีลงเบื้องต่ำ ยาแก้ปวดศีรษะ น้ำมันหยอดหู น้ำมันหยอดตา ยานัตถุ์ ยาหยอดตา ยาป้ายตา เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก(กุมารเวช) การให้ สมุนไพรและยา การใส่ยาแล้วล้างออกเมื่อโรคหาย ข้อนี้จัดเป็นศีลของภิกษุอย่างหนึ่ง [๔๕๒] ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากการ สำรวมในศีลเลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระราชา กำจัดข้าศึก ได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอริยสีลขันธ์ @เชิงอรรถ : @ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

สมาธิขันธ์

อย่างนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็น อย่างนี้แล [๔๕๓] มาณพ อริยสีลขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้ ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก” เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสีลขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ไม่ บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสีลขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น นอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็นอริยสีลขันธ์ที่ บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้สำเร็จแล้ว เราได้ บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้อีก’ แต่ท่านยังบอก ว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก’
สมาธิขันธ์
[๔๕๔] อริยสมาธิขันธ์ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์” ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาป อกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมใน จักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ เพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขที่ไม่ระคนกับกิเลส ในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

อุปมานิวรณ์ ๕

[๔๕๕] มาณพ ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร คือ ภิกษุ ในพระธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิบาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง มาณพ ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างนี้แล [๔๕๖] มาณพ ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ มาณพ ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษ เป็นอย่างนี้แล [๔๕๗] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร อริยสติ- สัมปชัญญะ และอริยสันโดษอย่างนี้แล้ว พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า [๔๕๘] เธอละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)ในโลก มีใจปราศจาก อภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มี สติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความ ฟุ้งซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก อุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉา ในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
อุปมานิวรณ์ ๕
[๔๕๙] เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่ เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อน เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดี ได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว กำไรก็ยัง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

อุปมานิวรณ์ ๕

มีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา’ เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ เขาจึงได้รับ ความเบิกบานใจและความสุขใจ [๔๖๐] เปรียบเหมือนคนไข้อาการหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมา หายป่วยบริโภคอาหารได้ กลับมีกำลัง เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราป่วยอาการหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง เวลานี้หายป่วย บริโภคอาหารได้ มีกำลังเป็นปกติ’ เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ [๔๖๑] เปรียบเหมือนคนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมา พ้นโทษออก จากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราต้อง โทษถูกคุมขังในเรือนจำ เวลานี้พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพไม่ต้องเสียค่า ใช้จ่ายใดๆ’ เพราะการพ้นจากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ ความสุขใจ [๔๖๒] เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไป ไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ ต่อมา พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเอง ไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ เวลานี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัว เองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความเป็น ไทแก่ตัวเองเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ [๔๖๓] เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหาร ได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า ต่อมา ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็น ปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า เวลานี้ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบ ร่มเย็นปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้ รับความเบิกบานใจและความสุขใจ [๔๖๔] มาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนยังละไม่ได้ เหมือนหนี้ โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

ทุติยฌาน

[๔๖๕] มาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว เหมือนความ ไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตัวเอง และภูมิสถาน อันสงบร่มเย็น [๔๖๖] เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความ เบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ ย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น
ปฐมฌาน
[๔๖๗] ภิกษุนั้น สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอัน เกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนานหรือลูกมือพนักงานสรงสนาน ผู้ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสัมฤทธิ์แล้วเอาน้ำประพรมให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น ก้อนถู ตัวที่ยางซึมไปจับก็ติดกันหมด ไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและ สุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ
ทุติยฌาน
[๔๖๘] ยังมีอีก มาณพ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมี ความผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและ สุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจาก สมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกเป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ ทั้งด้าน ตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก และด้านเหนือ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

จตุตถฌาน

น้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่นเอิบอาบเนืองนองไปด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบ อิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติ และสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ
ตติยฌาน
[๔๖๙] ยังมีอีก มาณพ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ- สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึก ซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว(อุบล) กอบัวหลวง(ปทุม)หรือกอบัวขาว(บุณฑริก) ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวงหรือดอกบัวขาวบางเหล่าที่เกิดเจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่ พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำ เย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่ม ชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มี ปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ
จตุตถฌาน
[๔๗๐] ยังมีอีก มาณพ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส ดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนคนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย ที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม ฉันใด ภิกษุมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มี ส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิ อย่างหนึ่งของภิกษุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

วิชชา ๘ ประการ ๑.วิปัสสนาญาณ

[๔๗๑] มาณพ สมาธิขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้ ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสมาธินี้อีก” เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสมาธิขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์ เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็น อริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้ สำเร็จแล้ว เราได้บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้ อีก’ แต่ท่านยังบอกว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้น อริยสมาธิขันธ์นี้อีก’
ปัญญาขันธ์
[๔๗๒] อริยปัญญาขันธ์ ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”
วิชชา ๘ ประการ
๑. วิปัสสนาญาณ
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดัง เนิน๑- ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ๒- รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกัน เป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าว สุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็น ธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’ @เชิงอรรถ : @ กิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำ โน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ @เช่น ต้องย้อนกลับไปสู่จตุตถฌานอีก เป็นต้น @ ความรู้และความเห็นตรงตามความเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ @ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. ๒๓๔/๑๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

วิชชา ๘ ประการ ๒.มโนมยิทธิญาณ

เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดี แล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือสีนวลร้อยอยู่ ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า ‘แก้วไพฑูรย์อัน งดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่ การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตก กระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
๒. มโนมยิทธิญาณ
[๔๗๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เปรียบเหมือนคนชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาเห็นว่า ‘นี้คือหญ้าปล้อง นี้คือ ไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ไส้ถูกชักออกมาจากหญ้า ปล้องนั่นเอง’ เปรียบเหมือนคนชักดาบออกจากฝัก เขาเห็นว่า ‘นี้คือดาบ นี้คือฝัก ดาบเป็นอย่างหนึ่ง ฝักก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ดาบถูกชักออกมาจากฝักนั่นเอง’ หรือ เปรียบเหมือนคนดึงงูออกจากคราบ เขาเห็นว่า ‘นี้คืองู นี้คือคราบ งูเป็นอย่างหนึ่ง คราบก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่งูถูกดึงออกจากคราบนั่นเอง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่ การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

วิชชา ๘ ประการ ๔.ทิพยโสตธาตุญาณ

๓. อิทธิวิธญาณ
[๔๗๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลาย คนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง(และ)ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัด สมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือช่างหม้อผู้ชำนาญ เมื่อนวดดินเหนียวดีแล้ว พึงทำภาชนะที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือช่างงาผู้ชำนาญ เมื่อแต่งงาดีแล้ว พึงทำเครื่องงาชนิดที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนช่างทอง หรือลูกมือช่างทองผู้ชำนาญ เมื่อหลอมทองดีแล้ว พึงทำทองรูปพรรณชนิดที่ ต้องการให้สำเร็จได้ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็น หลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง(และ)ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัด สมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
๔. ทิพพโสตธาตุญาณ
[๔๗๕] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

วิชชา ๘ ประการ ๕.เจโตปริยญาณ

จิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เปรียบเหมือนคนเดินทางไกล (มีประสบการณ์มาก) ได้ยินเสียงกลอง เสียง ตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ก็เข้าใจว่า นั่นเสียงกลอง เสียง ตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ มนุษย์ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
๕. เจโตปริยญาณ
[๔๗๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต ไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ หรือ ปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือปราศจากโมหะก็รู้ ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ๑- ก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า เป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น หรือไม่ หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตน ในกระจกใสสะอาดหรือในภาชนะน้ำใส หน้ามีไฝฝ้าก็รู้ว่ามีไฝฝ้า หรือไม่มีไฝฝ้าก็รู้ว่า ไม่มีไฝฝ้า ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก @เชิงอรรถ : @ คำว่า มหัคคตะ แปลว่า ถึงความเป็นใหญ่ มหัคคตจิต หมายถึงจิตที่ถึงฌานสมาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๘}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

วิชชา ๘ ประการ ๖.ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ

ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อม จิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมี ราคะก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ หรือปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือปราศจาก โมหะก็รู้ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็น มหัคคตะก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่น ยิ่งกว่าก็รู้ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็น สมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น หรือไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
[๔๗๗] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ บ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพ โน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และ มีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เปรียบเหมือนคนจากบ้านตนไปบ้านอื่นแล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก เขา จากบ้านนั้นกลับมายังบ้านเดิมของตน ระลึกได้อย่างนี้ว่า ‘เราได้จากบ้านตนไปบ้าน โน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้นๆ เราได้จากแม้บ้านนั้นไปยังบ้าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๐๙}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

วิชชา ๘ ประการ ๗.ทิพพจักขุญาณ

โน้น แม้ในบ้านนั้นเราก็ได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้นๆ แล้วกลับจากบ้านนั้นมา ยังบ้านเดิมของตน’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ บ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ ฉันนั้น ข้อนี้ จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
๗. ทิพพจักขุญาณ
[๔๗๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้น สูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไป บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่ สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวง คนตาดียืนบน ปราสาทนั้นเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง ออกจากเรือนบ้าง สัญจรอยู่ตามถนน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

วิชชา ๘ ประการ ๘.อาสวักขยญาณ

บ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวงบ้าง ก็รู้ว่า ‘คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน คน เหล่านี้ออกจากเรือน คนเหล่านี้สัญจรอยู่ตามถนน คนเหล่านี้นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่ง กลางเมืองหลวง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และ มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตาม ความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่ หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ เห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะ ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่ สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
๘. อาสวักขยญาณ
[๔๗๙] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๑- ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ต่อไป’๒- @เชิงอรรถ : @ กิจที่ควรทำในที่นี้ หมายถึง กิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้ @แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓) @ ไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้นแห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า @การบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐. สุภสูตร]

วิชชา ๘ ประการ สุภมาณพประกาศตนเป็นอุบาสก

เปรียบเหมือนสระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวบนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระนั้น เห็นหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหินหรือฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอย กาบ ก้อนกรวดและก้อนหิน และฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มี ในสระนั้น’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต ไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธ- คามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
สุภมาณพประกาศตนเป็นอุบาสก
[๔๘๐] มาณพ อริยปัญญาขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้ ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่มีกรณียกิจที่ต้อง ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยปัญญาขันธ์นี้อีกแล้ว” เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยปัญญาขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ ใช่ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์ เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยปัญญา ขันธ์นี้อีกแล้ว ท่านอานนท์ ภาษิตของท่านอานนท์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์ ภาษิตของท่านอานนท์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย ประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้ หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพเจ้านี้ขอถึง ท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านอานนท์โปรดจำ ข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
สุภสูตรที่ ๑๐ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๒๑๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๑๙๗-๒๑๒. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=9&siri=10              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=6777&Z=7316                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=314              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=9&item=314&items=24              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=8332              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=9&item=314&items=24              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=8332                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i314-e.php# https://suttacentral.net/dn10/en/sujato https://suttacentral.net/dn10/en/tw_rhysdavids



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :