บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
โกสัมพีขันธกะ เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง [๒๓๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนคร โกสัมพี ครั้งนั้น ยังมีภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ แต่ภิกษุ เหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ สมัยต่อมา ภิกษุรูปนั้นกลับมีความเห็นใน อาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ จึงภิกษุเหล่านั้น ได้ถามภิกษุนั้นว่า อาวุโส ท่านต้องอาบัติ ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือไม่? ภิกษุรูปนั้นตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่จะพึงเห็น ภายหลังภิกษุเหล่านั้นหาสมัครพรรคพวกได้ จึงยก ภิกษุรูปนั้นเสีย เพราะไม่เห็นอาบัติ. แท้จริง ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้คงแก่เรียน ช่ำชองคัมภีร์ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา จึงภิกษุรูปนั้นเข้าไปหา บรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่เป็น อาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องถูกยก ผมต้อง ถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายจงกรุณา เป็นฝักฝ่ายของผมโดยธรรม โดยวินัยด้วยเถิด ภิกษุรูปนั้นได้ภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบ กันมา เป็นฝักฝ่ายแล้ว ได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมาว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องถูกยก ผมเป็นผู้ถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายจงกรุณาเป็นฝักฝ่ายของผมโดยธรรม โดยวินัยด้วยเถิด ดังนี้ ได้พวกภิกษุ ชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา เป็นฝักฝ่าย. ครั้งนั้น พวกภิกษุที่สนับสนุนผู้ถูกยกเหล่านั้น ได้เข้าไปหาภิกษุพวกที่ยก แล้วได้กล่าว คำนี้แก่ภิกษุพวกที่ยกว่า อาวุโสทั้งหลาย นั้นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นไม่ต้อง อาบัติ ภิกษุนั้นต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นไม่ต้องถูกยก ภิกษุนั้นเป็นผู้ถูกยกหามิได้ ภิกษุนั้น ถูกยก ด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ. เมื่อภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกยก ได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุ พวกสนับสนุนผู้ถูกยกว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้น ต้องอาบัติ ไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นต้องถูกยกแล้ว ไม่ต้องถูกยกหามิได้ ภิกษุนั้นถูกยกแล้ว ด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายอย่าสนับสนุน อย่าตามห้อมล้อม ภิกษุผู้ถูกยกนั้นเลย. ภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกเหล่านั้น อันภิกษุพวกยกว่ากล่าวอยู่แม้อย่างนี้แล ก็ยัง สนับสนุน ยังตามห้อมล้อมภิกษุผู้ถูกยกนั้นอย่างเดิมนั่นแหละ.ภิกษุรูปหนึ่งเข้าเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบ [๒๓๙] ครั้นต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นนั่งเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุรูปหนึ่งในวัดโฆสิตารามนี้ต้องอาบัติ ท่านมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่า ไม่เป็นอาบัติ ครั้นต่อมา ท่านกลับมีความเห็นใน อาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ จึงภิกษุเหล่านั้น ได้กล่าวคำนี้แก่ท่านว่า อาวุโส ท่านต้องอาบัติ ท่านต้องอาบัตินั้นหรือไม่ ท่านตอบว่า อาวุโส ทั้งหลาย ผมไม่มีอาบัติที่จะพึงเห็น ภายหลังภิกษุเหล่านั้นหาสมัครพรรคพวกได้แล้ว จึงยกท่าน เสีย เพราะไม่เห็นอาบัติ แท้จริง ท่านรูปนั้นเป็นผู้คงแก่เรียน ช่ำชองคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีความละอาย รังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา จึงเข้าไปหาบรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา แล้วได้กล่าวคำนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องถูกยก ผมต้องถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลาย จงกรุณาเป็นฝักฝ่ายของผมโดยธรรม โดยวินัยด้วยเถิด แล้วได้พวกภิกษุที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา เป็นฝักฝ่าย และส่งทูตไปในสำนักภิกษุชาวชนบท ที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบ กันมาว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ผมไม่ต้องอาบัติ ผมต้องอาบัติ หามิได้ ผมไม่ต้องถูกยก ผมต้องถูกยกหามิได้ ผมถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควร แก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายจงกรุณาเป็นฝักฝ่ายของผมโดยธรรม โดยวินัยด้วยเถิด แล้วได้ภิกษุ พวกชาวชนบทที่เป็นเพื่อนเคยเห็น เคยคบกันมา เป็นฝักฝ่าย. ครั้งนั้น ภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยก เข้าไปหาภิกษุพวกยกแล้ว ได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุ พวกยกว่า อาวุโสทั้งหลาย นั้นไม่เป็นอาบัติ นั่นเป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องอาบัติ ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุรูปนั้นไม่ต้องถูกยก ภิกษุรูปนั้นต้องถูกยกหามิได้ ภิกษุรูปนั้น ถูกยกด้วยกรรมไม่เป็นธรรม กำเริบ ไม่ควรแก่ฐานะ เมื่อภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุพวกยกได้กล่าวคำนี้แก่ภิกษุพวก สนับสนุนผู้ถูกยกว่า อาวุโสทั้งหลาย นั่นเป็นอาบัติ นั่นไม่เป็นอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นต้องอาบัติ ไม่ต้องอาบัติหามิได้ ภิกษุนั้นต้องถูกยก ไม่ต้องถูกยกหามิได้ ภิกษุนั้นถูกยกด้วยกรรมเป็นธรรม ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ขอท่านทั้งหลายอย่าสนับสนุน อย่าตามห้อมล้อมภิกษุผู้ถูกยกนั้นเลย. เมื่อภิกษุพวกสนับสนุนผู้ถูกยกเหล่านั้น อันภิกษุพวกยกว่ากล่าวอยู่แม้อย่างนี้ ก็ยัง สนับสนุน ยังตามห้อมล้อมภิกษุผู้ถูกยกนั้นอย่างเดิมนั่นแหละ พระพุทธเจ้าข้า.ทรงประทานโอวาท ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว จึงทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จเข้าไปทางภิกษุพวกยก ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ ที่เขาจัดถวาย ครั้นพระองค์ประทับนั่งแล้ว ได้ตรัสประทานพระพุทโธวาทแก่ภิกษุพวกยกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าสำคัญภิกษุอันตนพึงยกเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยนึกว่า พวกเราเฉลียวฉลาด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้วมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็น อาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าพวกเธอรู้จักภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้แลเป็นพหูสูต .... ผู้ใคร่ต่อสิกขา ถ้าพวกเราจักยกภิกษุรูปนี้ เพราะไม่เห็นอาบัติ จักทำ อุโบสถร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องทำอุโบสถแยกจากภิกษุรูปนี้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายผู้เกรงแต่ความแตกนั้น ไม่พึงยกภิกษุนั้น เพราะไม่เห็นอาบัติ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้วมีความเห็นในอาบัตินั้นว่า ไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าพวกเธอรู้จักภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้แลเป็นพหูสูต .... ผู้ใคร่ต่อสิกขา ถ้าพวกเราจักยกภิกษุรูปนี้เพราะไม่เห็นอาบัติ จักปวารณาร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องปวารณาแยกจากภิกษุรูปนี้ จักทำสังฆกรรมร่วมกับ ภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องทำสังฆกรรมแยกภิกษุรูปนี้ จักนั่งบนอาสนะร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องนั่งบนอาสนะแยกจากภิกษุรูปนี้ จักนั่งในสถานที่ดื่มยาคูร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้อง นั่งในสถานที่ดื่มยาคูแยกจากภิกษุรูปนี้ จักนั่งในโรงภัตรร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องนั่งใน โรงภัตรแยกจากภิกษุรูปนี้ จักอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียวกันร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องอยู่ใน ที่มุงที่บังอันเดียวกันแยกจากภิกษุรูปนี้ จักทำอภิวาทต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับ ผู้แก่พรรษาร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้ จักต้องทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับ ผู้แก่พรรษาแยกจากภิกษุรูปนี้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย ผู้เกรงแต่ความแตกกัน ไม่พึงยกภิกษุรูปนั้น เพราะไม่เห็นอาบัติ. ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสข้อความนั้นแก่ภิกษุพวกยกแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จ พระพุทธดำเนินเข้าไปทางภิกษุพวกที่สนับสนุนผู้ถูกยก แล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขา จัดถวาย ครั้นพระองค์ประทับนั่งแล้ว ได้ตรัสประทานพระพุทโธวาทแก่ภิกษุพวกที่สนับสนุน ผู้ถูกยกว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติแล้ว อย่าสำคัญอาบัติว่าไม่ต้องทำคืน ด้วยเข้าใจว่า พวกเราไม่ต้องอาบัติ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่ เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าเธอรู้จักภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้แลเป็นพหูสูต .... ผู้ใคร่ต่อสิกขา คงจะไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ เพราะเหตุแห่งเรา หรือเพราะเหตุแห่งภิกษุเหล่าอื่น ถ้าภิกษุเหล่านี้จักยกเรา เพราะไม่เห็นอาบัติ พวกเธอจักทำอุโบสถร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องทำอุโบสถแยกจากเรา ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุผู้เกรงแต่ความแตกกัน พึงยอม แสดงอาบัตินั้นเสีย แม้ด้วยความเชื่อผู้อื่น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่า ไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าเธอรู้จักภิกษุเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้แลเป็นพหูสูต .... ผู้ใคร่ต่อสิกขา คงจะไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ เพราะเหตุแห่งเรา หรือเพราะเหตุแห่งภิกษุอื่น ถ้าภิกษุเหล่านี้ จักยกเราเพราะไม่เห็น อาบัติ จักปวารณาร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องปวารณาแยกจากเรา จักทำสังฆกรรมร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องทำสังฆกรรมแยกจากเรา จักนั่งเหนืออาสนะร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องนั่งเหนืออาสนะ แยกจากเรา จักนั่งในสถานที่ดื่มยาคูร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องนั่งในสถานที่ดื่มยาคูแยกจากเรา จักนั่งในโรงภัตรร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องนั่งในโรงภัตรแยกจากเรา จักอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียว ร่วมกับเราไม่ได้ จักต้องอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียวแยกจากเรา จักทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับผู้แก่พรรษากับเราไม่ได้ จักต้องทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับผู้แก่พรรษาเว้นจากเรา ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุผู้เกรงแต่ความแตกกัน พึงยอมแสดงอาบัตินั้นเสีย แม้ด้วยความเชื่อผู้อื่น. ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสข้อความนั้นแก่ภิกษุพวกที่สนับสนุนผู้ถูกยกแล้ว ทรงลุกจาก ที่ประทับเสด็จกลับ.เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๕๙๓๗-๖๐๕๑ หน้าที่ ๒๔๕-๒๔๙. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=5937&Z=6051&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=5&siri=58 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=238 ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [238-239] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=5&item=238&items=2 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=5476 The Pali Tipitaka in Roman :- [238-239] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=5&item=238&items=2 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=5476 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd10/en/brahmali# https://suttacentral.net/pli-tv-kd10/en/horner-brahmali
บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]