ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัจ ”             ผลการค้นหาพบ  10  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 10
[34] ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ 2 (ทางเกิดแห่งแนวคิดที่ถูกต้อง, ต้นทางของความดีงามทั้งปวง : sources or conditions for the arising of right view)
       1. ปรโตโฆสะ (เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียนความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร : another’ s utterance; inducement by others; hearing or learning from others)
       2. โยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย : reasoned attention; systematic attention; genetical reflection; analytical reflection)

       ข้อธรรม 2 อย่างนี้ ได้แก่ ธรรมหมวดที่ [1] และ [2] นั่นเอง แปลอย่างปัจจุบันว่า “องค์ประกอบของการศึกษา” หรือ “บุพภาคของการศึกษา” โดยเฉพาะข้อที่ 1 ในที่นี้ใช้คำกว้างๆ แต่ธรรมที่ต้องการเน้น ก็คือ กัลยาณมิตตตา
       ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ก็มี 2 อย่าง คือ ปรโตโฆสะ และ อโยนิโสมนสิการ ซึ่งตรงข้ามกับที่กล่าวมานี้.

M.I.294;
A.I.87.
ม.มู. 12/497/539;
องฺ.ทุก. 20/371/110.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 10
[50] สัจจะ 2 (ความจริง : truth)
       1. สมมติสัจจะ (ความจริงโดยสมมุติ, ความจริงที่ถือตามความกำหนดตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่นว่า คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น : conventional truth)
       2. ปรมัตถสัจจะ (ความจริงโดยปรมัตถ์, ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น : absolute truth)

AA.I.95;
KvuA.34
องฺ.อ. 1/100;
ปญฺจ.อ. 153,182,241; ฯลฯ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 10
[159] ปัจจัย 4 (สิ่งค้ำจุนชีวิต, สิ่งจำเป็นเบื้องต้นของชีวิต, สิ่งที่ต้องอาศัยเลี้ยงอัตตภาพ - the four necessities of life; requisites)
       1. จีวร (ผ้านุ่งห่ม - robes; clothing)
       2. บิณฑบาต (อาหาร - almsfood; food)
       3. เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย, ที่นั่งที่นอน - lodging)
       4. คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือ เภสัช (ยาและอุปกรณ์รักษาโรค - medicine; medical equipment)

       สี่อย่างนี้ สำหรับภิกษุ จำกัดเข้าอีกเรียกว่า นิสสัย 4 แปลว่า เครื่องอาศัยของบรรพชิต (resources; means of support on which the monastic life depends)
       1. ปิณฑิยาโลปโภชนะ (โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง - almsfood of scraps; food obtained by going on the alms-gathering)
       2. บังสุกุลจีวร (ผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะหรือตามป่าช้า - discarded cloth taken from the rubbish heap or the charnel ground; rag-robes)
       3. รุกขมูลเสนาสนะ (อยู่อาศัยโคนไม้ - dwelling at the foot of a tree)
       4. ปูติมุตตเภสัช (ยาน้ำมูตรเน่า - medicines pickled in stale urine; ammonia as a medicine)

       ส่วนที่อนุญาตนอกเหนือจากนี้ เป็น อติเรกลาภ (extra acquisitions; extra allowance)

Vin.1.58 วินย. 4/87/106

[***] ปัญญาวุฒิธรรม 4 ดู [179] วุฒิธรรม 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 10
[204] อริยสัจจ์ 4 (ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ - The Four Noble Truths)
       1. ทุกข์ (ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ - suffering; unsatisfactoriness)
       2. ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์, สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา - the cause of suffering; origin of suffering)
       3. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป, ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกต้อง ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือนิพพาน - the cessation of suffering; extinction of suffering)
       4. ทุกขนิโรธคามีนิปฏิปทา (ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง มรรคมีองค์ 8 นี้ สรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา - the path leading to the cessation of suffering)

       อริยสัจจ์ 4 นี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การแสดงอริยสัจ 4 นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามุกกังสิกา ธรรมเทศนา (เช่น องฺ.อฏฺฐก. 23/102/190) แปลตามอรรถกถาว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงหยิบยกขึ้นถือเอาไว้ด้วยพระองค์เอง คือ ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ (= ตรัสรู้เอง) ไม่สาธารณะแก่ผู้อื่น (แต่ตามที่อธิบายกันมา มักแปลว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่ต้องปรารภคำถามหรือการทูลขอร้องของผู้ฟัง อย่างการแสดงธรรมเรื่องอื่นๆ; ความจริง จะแปลว่า พระธรรมเทศนาขั้นสุดยอดก็ได้ ซึ่งสมกับเป็นเรื่องที่ทรงแสดงท้ายสุดต่อจาก อนุปุพพิกถา 5 คำแปลอย่างหลังนี้ พึงเทียบ องฺ.ทสก. 24/95/208)

       ดู [216] ขันธ์ 5; [74] ตัณหา 3; [293] มรรคมีองค์ 8 [124] สิกขา 3.

Vin.I.9;
S.V.421;
Vbh.99
วินย. 4/14/18;
สํ.ม. 19/1665/528;
อภิ.วิ. 35/145/127

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 10
[205] กิจในอริยสัจจ์ 4 (หน้าที่อันจะพึงทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละอย่าง, ข้อที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและเสร็จสิ้นในอริยสัจ 4 แต่ละอย่าง จึงจะชื่อว่ารู้อริยสัจหรือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว - functions concerning the Four Noble Truths)
       1. ปริญญา (การกำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์ ตามหลักว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือ ควรศึกษาให้รู้จักให้เข้าใจชัดตามสภาพที่เป็นจริง ได้แก่ การทำความเข้าใจและกำหนดขอบเขตของปัญหา - comprehension; suffering in to be comprehended)
       2. ปหานะ (การละ เป็นกิจในสมุทัย ตามหลักว่า ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ สมุทัยควรละ คือ กำจัด ทำให้หมดสิ้นไป ได้แก่การแก้ไขกำจัดต้นตอของปัญหา - eradication; abandonment; the cause of suffering is to be eradicated)
       3. สัจฉิกิริยา (การทำให้แจ้ง เป็นกิจในนิโรธ ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ นิโรธควรทำให้แจ้ง คือ เข้าถึง หรือบรรลุ ได้แก่การเข้าถึงสภาวะที่ปราศจากปัญหา บรรลุจุดหมายที่ต้องการ - realization; the cessation of suffering is to be realized)
       4. ภาวนา (การเจริญ เป็นกิจในมรรค ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ มรรคควรเจริญ คือ ควรฝึกอบรม ลงมือปฏิบัติ กระทำตามวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย ได้แก่การลงมือแก้ไขปัญหา - development; practice; the path is to be followed or developed)

       ในการแสดงอริยสัจจ์ ก็ดี ในการปฏิบัติธรรมตามหลักอริยสัจจ์ ก็ดี จะต้องให้อริยสัจจ์แต่ละข้อ สัมพันธ์ตรงกันกับกิจแต่ละอย่าง จึงจะเป็นการแสดงและเป็นการปฏิบัติโดยชอบ ทั้งนี้ วางเป็นหัวข้อได้ดังนี้
       1. ทุกข์ เป็นขั้นแถลงปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้ขอบเขต (ปริญญา) - statement of evil; location of the problem.
       2. สมุทัย (เป็นขั้นวิเคราะห์และวินิจฉัยมูลเหตุของปัญหา ซึ่งจะต้องแก้ไขกำจัดให้หมดสิ้นไป (ปหานะ) - diagnosis of the origin.
       3. นิโรธ เป็นขั้นชี้บอกภาวะปราศจากปัญหา อันเป็นจุดหมายที่ต้องการ ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นไปได้ และจุดหมายนั้นควรเข้าถึง ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ (สัจฉิกิริยา) - prognosis of its antidote; envisioning the solution.
       4. มรรค เป็นขั้นกำหนดวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติในการลงมือแก้ปัญหา (ภาวนา) - prescription of the remedy; program of treatment.

       ความสำเร็จในการปฏิบัติทั้งหมด พึงตรวจสอบด้วยหลัก [73] ญาณ 3

Vin. I. 10;
S.V.422.
วินย. 4/15/20;
สํ.ม. 19/1666/529

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 10
[233] มัจฉริยะ 5 (ความตระหนี่, ความหวง, ความคิดกีดกันไม่ให้ผู้อื่นได้ดี หรือมีส่วนร่วม — meanness; avarice; selfishness; stinginess)
       1. อาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่ที่อยู่, หวงที่อาศัย เช่น ภิกษุหวงเสนาสนะ กีดกันผู้อื่นหรือผู้มิใช่พวกของตน ไม่ให้เข้าอยู่ เป็นต้น — stinginess as to dwelling)
       2. กุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล, หวงสกุล เช่น ภิกษุหวงสกุลอุปฐาก คอยกีดกันภิกษุอื่นไม่ให้เกี่ยวข้องได้รับการบำรุงด้วย เป็นต้น — stnginess as to family)
       3. ลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ, หวงผลประโยชน์ เช่น ภิกษุหาทางกีดกันไม่ให้ลาภเกิดขึ้นแก่ภิกษุอื่น — stinginess as to gain)
       4. วัณณมัจฉริยะ (ตระหนี่วรรณะ, หวงสรีรวัณณะ คือผิวพรรณของร่างกาย ไม่พอใจให้ผู้อื่นสวยงาม ก็ดี หวงคุณวัณณะ คือ คำสรรเสริญคุณ ไม่อยากให้ใครมีคุณความดีมาแข่งตน หรือไม่พอใจได้ยินคำสรรเสริญคุณความดีของผู้อื่น ก็ดี — stinginess as to recognition)
       5. ธัมมมัจฉริยะ (ตระหนี่ธรรม, หวงวิชาความรู้ และคุณพิเศษที่ได้บรรลุ ไม่ยอมสอนไม่ยอมบอกผู้อื่น กลัวเขาจะรู้เทียมเท่าหรือเกินตน — stinginess as to knowledge or mental achievements)

D.III.234;
A.III.271;
Vbh.357
ที.ปา. 11/282/246;
องฺ.ปญฺจก. 22/254/301;
อภิ.วิ. 35/978/509.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 10
[247] อภิณหปัจจเวกขณ์ 5 (ข้อที่สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ควรพิจารณาเนืองๆ — ideas to be constantly reviewed; facts which should be again and again contemplated)
       1. ชราธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ — He should again and again contemplate: I am subject to decay and I cannot escape it.)
       2. พยาธิธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ — I am subject to disease and I cannot escape it.)
       3. มรณธัมมตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ — I am subject to death and I cannot escape it.)
       4. ปิยวินาภาวตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น — There will be division and separation from all that are dear to me and beloved.)
       5. กัมมัสสกตา (ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาท ของกรรมนั้น — I am owner of my deed, whatever deed I do, whether good or bad, I shall become heir to it.)

       ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ 5 อย่างนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อละสาเหตุต่างๆ มี ความมัวเมา เป็นต้น ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความประมาท และประพฤติทุจริตทางไตรทวาร กล่าวคือ :-
       ข้อ 1 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความเป็นหนุ่มสาวหรือความเยาว์วัย
       ข้อ 2 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความไม่มีโรค คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี
       ข้อ 3 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในชีวิต
       ข้อ 4 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความยึดติดผูกพันในของรักทั้งหลาย
       ข้อ 5 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความทุจริตต่างๆ โดยตรง

       เมื่อพิจารณาขยายวงออกไป เห็นว่ามิใช่ตนผู้เดียวที่ต้องเป็นอย่างนี้ แต่เป็นคติธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่จะต้องเป็นไป เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้เสมอๆ มรรคก็จะเกิดขึ้น เมื่อเจริญมรรคนั้นมากเข้า ก็จะละสังโยชน์ทั้งหลาย สิ้นอนุสัยได้.

A.III.71. องฺ.ปญฺจก. 22/57/81.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 10
[248] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10 (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ — ideas to be constantly reviewed by a monk; facts which the monk should again and contemplate)
       บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า (เติมลงหน้าข้อความทุกข้อ)
       1. เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว (I have come to a status different from that of a layman.)
๑. ในนวโกวาท มีต่อว่า “อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”

           ข้อนี้บาลีว่า “เววณฺณิยมฺหิ อชฺฌูปคโต” ในที่นี้แปล เววณฺณิย ว่า ความมีเพศต่าง (จากคฤหัสถ์) แต่หลายท่าน แปลว่า ความปราศจากวรรณะ (casteless state) คือเป็นคนนอกระบบชนชั้น หรือ หมดวรรณะ คือ หมดฐานะในสังคม หรือเป็นคนนอกสังคม (outcast) ความต่าง หรือปราศจาก หรือหมดไปนี้ อรรถกถาอธิบายว่า เป็นไปในสองทาง คือ ทางสรีระ เพราะปลงผมและหนวดแล้ว และทางบริขาร คือเครื่องใช้ เพราะแต่ก่อนครั้งเป็นคฤหัสถ์ เคยใช้ผ้าดีๆ รับประทานอาหารรสเลิศในภาชนะเงินทอง เป็นต้น ครั้งบวชแล้ว ก็นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดฉันอาหาร คลุกเคล้าในบาตรเหล็กบาตรดิน ปูหญ้านอนต่างเตียง เป็นต้น
           ส่วนวัตถุประสงค์แห่งการพิจารณาธรรมข้อนี้ อรรถกถาแก้ว่า จะละความกำเริบใจ (ความจู้จี้เง้างอน) และมานะ (ความถือตัว) เสียได้.
       2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น (คือต้องอาศัยผู้อื่น — My livelihood is bound up with other.)
๒. ในนวโกวาท มีต่อว่า “เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย”

           วัตถุประสงค์ ตามอรรถกถาแก้ว่า เพื่อให้อิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม มีอาชีวะบริสุทธิ์ เคารพในบิณฑบาต และบริโภคปัจจัยสี่ด้วยใส่ใจพิจารณา
       3. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ (I have a different way to behave.)
๓. ในนวโกวาท ทรงเรียงเป็นข้อความใหม่ว่า “อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้” จะเห็นว่า ข้อ 1 กับข้อ 3 ทรงตีความต่างออกไป ถ้าแปลตามนัยอรรถกถา ข้อ 1 จะได้ว่า “เราเป็นผู้หมดวรรณะ คือไม่มีฐานะในสังคมแล้ว จะต้องไม่มีความกระด้างถือตัวใดๆ” ข้อ 3 จะได้ว่า “เราจะต้องมีอาการกิริยาต่างจากคฤหัสถ์ สำรวมให้เหมาะกับความเป็นสมณะ” (องฺ.อ. 3/395)

           อรรถกถาอธิบายว่า เราควรทำอากัปป์ (คือกิริยามารยาท) ที่ต่างจากของคฤหัสถ์ เช่น มีอินทรีย์สงบ ก้าวเดินสม่ำเสมอ เป็นต้น และแสดงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้มีอิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม บำเพ็ญไตรสิกขาได้บริบูรณ์
       4. ตัวเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ (Does my not reproach me on my virtue’s account ?)
           ข้อนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดหิริพรั่งพร้อมอยู่ในใจ ช่วยให้มีสังวรทางไตรทวาร
       5. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ (Do my discerning fellows in the holy life, on considering me, not reproach me on my virtue’s account ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ดำรงโอตตัปปะในภายนอกไว้ได้ ช่วยให้มีสังวรทางไตรทวาร
       6. เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น (There will be division and separation from all that are dear to me and beloved.)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท และเป็นอันได้ตั้งมรณสติไปด้วย
       7. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น (I am owner of my deed, whatever deed I do, whether good or bad, I shall become heir to it.)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้กระทำความชั่ว
       8. วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่ (How has my passing of the nights and days been ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความไม่ประมาทให้บริบูรณ์
       9. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ (Do I delight in a solitary place or not?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกายวิเวกให้บริบูรณ์
       10. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้ว มีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถาม ในกาลภายหลัง (Have I developed any extraordinary qualities whereon when questioned in my latter days by my fellows in the holy life I shall not be confounded ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้เป็นผู้ตายเปล่า

A.V.87;
Netti. 185.
องฺ.ทสก. 24/48/97;
องฺ.อ. 3/395.

[***] อรหันต์ 5 ดู [62] อรหันต์ 5.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 10
[340] ปฏิจจสมุปบาท มีองค์หรือหัวข้อ 12 (การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน, ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น — the Dependent Origination; conditioned arising)
       1/2. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี
           (Dependent on lgnorance arise Kamma-Formations)
       3. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี
           (Dependent on Kamma-Formations arise Consciousness)
       4. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป จึงมี
           (Dependent on Consciousness arise Mind and Matter)
       5. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี
           (Dependent on Mind and Matter arise the Six Sense-Bases.)
       6. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะ จึงมี
           (Dependent on the Six Sense-Bases arises Contact)
       7. ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา จึงมี
           (Dependent on Contact arise Feeling)
       8. เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหา จึงมี
           (Dependent on Feeling arise Craving.)
       9. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน จึงมี
           (Dependent on Craving arises Clinging.)
       10. อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพ จึงมี
           (Dependent on Clinging arises Becoming.)
       11. ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติ จึงมี
           (Dependent on Becoming arises Birth.)
       12. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ จึงมี
           (Dependent on Birth arise Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม
           (There also arise sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ.
       ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus arises this whole mass of suffering.)

       แสดงตามลำดับ จากต้นไปหาปลายอย่างนี้ เรียกว่า อนุโลมเทศนา (teaching in forward order) ถ้าแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น ว่า ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขาร มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา (teaching in backward order)

       องค์ (factors) หรือหัวข้อ 12 นั้น มีความหมายโดยสังเขป ดังนี้
       1. อวิชชา ความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ 4 หรือตามนัยอภิธรรม ว่า อวิชชา 8 ดู [208] อวิชชา 4; [209] อวิชชา 8
       2. สังขาร (Kamma-formations) สภาพที่ปรุงแต่ง ได้แก่ [120] สังขาร 3 หรือ [129] อภิสังขาร 3
       3. วิญญาณ (consciousness) ความรู้แจ้งอารมณ์ ได้แก่ [268] วิญญาณ 6
       4. นามรูป (mind and matter) นามและรูป ได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ หรือตามนัยอภิธรรมว่า นามขันธ์ 3 + รูป ดู [216] ขันธ์ 5 (ข้อ 2, 3, 4); [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4; [40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24; [41] รูป 2
       5. สฬายตนะ (six sense-bases) อายตนะ 6 ได้แก่ [276] อายตนะภายใน 6
       6. ผัสสะ (contact) ความกระทบ, ความประจวบ ได้แก่ [272] สัมผัส 6
       7. เวทนา (feeling) ความเสวยอารมณ์ ได้แก่ [113] เวทนา 6
       8. ตัณหา (craving) ความทะยานอยาก ได้แก่ ตัณหา 6 มีรูปตัณหา เป็นต้น (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย และในธัมมารมณ์) ดู [74] ตัณหา 3 ด้วย
       9. อุปาทาน (clinging; attachment) ความยึดมั่น ได้แก่ [214] อุปาทาน 4
       10. ภพ (becoming) ภาวะชีวิต ได้แก่ [98] ภพ 3 อีกนัยหนึ่งว่า ได้แก่ กรรมภพ (ภพคือกรรม — active process of becoming ตรงกับ [129] อภิสังขาร 3) กับ อุปปัตติภพ (ภพคือที่อุบัติ — rebirth-process of becoming ตรงกับ [98] ภพ 3)
       11. ชาติ (birth) ความเกิด ได้แก่ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะ
       12. ชรามรณะ (decay and death) ความแก่และความตาย ได้แก่ ชรา (ความเสื่อมอายุ, ความหง่อมอินทรีย์) กับมรณะ (ความสลายแห่งขันธ์, ความขาดชีวิตินทรีย์)

       ทั้ง 12 ข้อ เป็นปัจจัยต่อเนื่องกันไป หมุนเวียนเป็นวงจร ไม่มีต้นไม่มีปลาย เรียกว่า ภวจักร (วงล้อหรือวงจรแห่งภพ — wheel of existence) และมีข้อควรทราบเกี่ยวกับภวจักรอีกดังนี้
       ก. อัทธา (periods; times) คือ กาล 3 ได้แก่
           1) อดีต = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
           3) อนาคต = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ข. สังเขป หรือ สังคหะ 4 (sections; divisions) คือ ช่วง หมวด หรือ กลุ่ม 4 ได้แก่
           1) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
           2) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล = ชาติ ชรา มรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

       ค. สนธิ 3 (links; connection) คือ ขั้วต่อ ระหว่างสังเขปหรือช่วงทั้ง 4 ได้แก่
           1) ระหว่าง อดีตเหตุ กับ ปัจจุบันผล
           2) ระหว่าง ปัจจุบันผล กับ ปัจจุบันเหตุ
           3) ระหว่าง ปัจจุบันเหตุ กับ อนาคตผล

       ง. วัฏฏะ 3 ดู [105] วัฏฏะ 3
       จ. อาการ 20 (modes; spokes; qualities) คือองค์ประกอบแต่ละอย่าง อันเป็นดุจกำของล้อ จำแนกตามส่วนเหตุ (causes) และส่วนผล (effects) ได้แก่
           1) อดีตเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           2) ปัจจุบันผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
           3) ปัจจุบันเหตุ 5 = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
           4) อนาคตผล 5 = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
       อาการ 20 นี้ ก็คือ หัวข้อที่กระจายให้เต็ม ในทุกช่วงของสังเขป 4 นั่นเอง

       ฉ. มูล 2 (roots) คือ กิเลสที่เป็นตัวมูลเหตุ ซึ่งกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นในวงจรแต่ละช่วง ได้แก่
           1) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ส่งผลถึงเวทนาในช่วงปัจจุบัน
           2) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบัน ส่งผลถึงชรามรณะในช่วงอนาคต

       พึงสังเกตด้วยว่า การกล่าวถึงส่วนประกอบของภวจักรตามข้อ ก. ถึง ฉ. นี้ เป็นคำอธิบายในคัมภีร์รุ่นหลัง เช่น อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น

       การแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท ให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งธรรมต่างๆ โดยอาศัยปัจจัยสืบทอดกันไปอย่างนี้ เป็น สมุทยวาร คือฝ่ายสมุทัย ใช้เป็นคำอธิบายอริยสัจข้อที่ 2 (สมุทัยสัจ) คือ แสดงให้เห็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแบบนี้ เรียกว่า อนุโลมปฏิจจสมุปบาท — direct Dependent Origination)
       การแสดงในทางตรงข้ามกับข้างต้นนี้ เป็น นิโรธวาร คือฝ่ายนิโรธ ใช้อธิบายอริยสัจข้อที่ 3 (นิโรธสัจ) เรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท (reverse Dependent Origination ซึ่งความจริงก็คือ Dependent Extinction นั่นเอง) แสดงให้เห็นความดับไปแห่งทุกข์ ด้วยอาศัยความดับไปแห่งปัจจัยทั้งหลายสืบทอดกันไป ตัวบทของปฏิจจสมุปบาทแบบปฏิโลมนี้ พึงเทียบจากแบบอนุโลมนั่นเอง เช่น
       1/2. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
           (Through the total fading away and cessation of lgnorance, cease Kamma-Formations.)
       3. สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
           (Through the cessation of Kamma-Formations. ceases Consciousness.)
       ฯลฯ
       12. ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
           (Through the cessation go Birth, cease Decay and Death.)
       โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
       ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
           (Also cease sorrow, lamentation, pain, grief and despair.)
       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ.
       ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
           (Thus comes about the cessation of this whole mass of suffering.)

       นี้เป็นอนุโลมเทศนาของปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท ส่วนปฏิโลมเทศนา ก็พึงแสดงย้อนว่า ชรามรณะ เป็นต้น ดับ เพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ฯลฯ สังขารดับเพราะอวิชชาดับ อย่างเดียวกับในอนุโลมปฏิจจสมุปบาท
       ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก ที่สำคัญคือ อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย — specific conditionality) ธรรมนิยาม (ความเป็นไปอันแน่นอนแห่งธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law) และ ปัจจยาการ (อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน — mode of conditionality; structure of conditions) เฉพาะชื่อหลังนี้เป็นคำที่นิยมใช้ในคัมภีร์อภิธรรม และคัมภีร์รุ่นอรรถกถา.

Vin.I.1;
S.II.1;
Vbh.135;
Vism.517;
Comp.188.
วินย. 4/1/1;
สํ.นิ. 16/1/1;
อภิ.วิ. 35/274/185;
วิสุทธิ. 3/107;
สงฺคห. 45.

[***] ปัจจยาการ 12 ดู [340] ปฏิจจสมุปบาท
[***] สันโดษ 12 ดู [122] สันโดษ 3, 12

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 10
[350] ปัจจัย 24 (ลักษณะหรืออาการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย ที่สิ่งหนึ่งหรือสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็นองค์ประกอบที่ช่วยเอื้อ เกื้อหนุน ค้ำจุน เป็นเหตุ หรือเป็นเงื่อนไขให้สิ่งอื่น หรือสภาวธรรมอย่างอื่น เกิดขึ้น คงอยู่ หรือเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง - condition; mode of conditionality or relation)
       1. เหตุปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเหตุ - root condition)
       2. อารัมมณปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ - object condition)
       3. อธิปติปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเจ้าใหญ่ - predominance condition)
       4. อนันตรปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นภาวะต่อเนื่องไม่มีช่องระหว่าง - immediacy condition)
       5. สมนันตรปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นภาวะต่อเนื่องทันที - contiguity condition)
       6. สหชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดร่วมกัน - connascence condition)
       7. อัญญมัญญปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นอาศัยซึ่งกันและกัน - mutuality condition)
       8. นิสสยปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นที่อาศัย - dependence condition)
       9. อุปนิสสยปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเครื่องหนุนหรือกระตุ้นเร้า - decisive-support condition; inducement condition)
       10. ปุเรชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดก่อน - pernascence condition)
       11. ปัจฉาชาตปัจจัย (ปัจจัยโดยเกิดหลัง - postnascence condition)
       12. อาเสวนปัจจัย (ปัจจัยโดยการซ้ำบ่อยหรือทำให้ชิน - repetiton condition)
       13. กรรมปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นกรรมคือเจตจำนง - kamma condition)
       14. วิปากปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นวิบาก - kamma-resuit condition)
       15. อาหารปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นอาหาร คือเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง - nutriment condition)
       16. อินทรียปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นเจ้าการ - faculty condition)
       17. ฌานปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นภาวะจิตที่เป็นฌาน - absorption condition)
       18. มรรคปัจจัย (ปัจจัยโดยเป็นมรรค - path condition)
       19. สัมปยุตตปัจจัย (ปัจจัยโดยประกอบกัน - association condition)
       20. วิปปยุตตปัจจัย (ปัจจัยโดยแยกต่างหากกัน - dissociation condition)
       21. อัตถิปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]มีอยู่ - presence condition)
       22. นัตถิปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ไม่มีอยู่ - absence condition)
       23. วิคตปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ปราศไป - disappearance condition)
       24. อวิคตปัจจัย (ปัจจัยโดย[ต้อง]ไม่ปราศไป - non-disappearance condition)

       ปัจจัย 24 นี้ เป็นสาระของคำอธิบายทั้งหมดในคัมภีร์ปัฏฐานแห่งพระอภิธรรมปิฎก คือพระไตรปิฎกบาลี 6 เล่ม ตั้งแต่เล่ม 40 ถึงเล่ม 45

Pat.1 อภิ.ป. 40/1/1

[***] รูป 28 ดู [38] รูป 28; [39] มหาภูต 4; [40] อุปาทารูป 24


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ัจ
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D1%A8


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]