ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ุต ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
[129] อภิสังขาร 3 (สภาพที่ปรุงแต่ง, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานอันปรุงแต่งผลแห่งการกระทำ, เจตนาที่เป็นตัวการในการทำกรรม — volitional formation; formation; activity)
       1. ปุญญาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นบุญ, สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร — formation of merit; meritorious formation)
       2. อปุญญาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญคือเป็นบาป, สภาพที่ปรุงแต่กรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย — formation of demerit; demeritorious formation)
       3. อาเนญชาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นอเนญชา, สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร 4 หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน — formation of the imperturbable; imperturbability-producing volition)

       อภิสังขาร 3 นี้ เป็นความหมายของสังขารในหลักปฏิจจสมุปบาท ท่านแสดงไว้อีกนัยหนึ่งเพิ่มจากนัยว่าสังขาร 3 ดู [120] สังขาร 3

Ps.II.206;
Vbh.135.
ขุ.ปฏิ. 31/280/181;
อภิ.วิ. 35/257/181.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[131] อัคคิ 3 หรือ อัคคิปาริจริยา (ไฟที่ควรบำรุง, บุคคลที่ควรบูชาด้วยใส่ใจบำรุงเลี้ยงและให้ความเคารพนับถือตามควรแก่ฐานะ ดุจไฟบูชาของผู้บูชาไฟ — fires to be revered or worshipped)
       1. อาหุโนยัคคิ (ไฟอันควรแก่ของคำนับบูชา ได้แก่บิดามารดา — fire worthy of reverential gifts, i.e. mother and father)
       2. คหปตัคคิ (ไฟของเจ้าบ้าน ได้แก่ บุตรภรรยา และคนในปกครอง — fire of the householder, i.e. children, wife and dependents)
       3. ทักขิโณยัคคิ (ไฟอันควรแก่ทักษิณา ได้แก่สมณพราหมณ์ ท่านผู้ทำหน้าที่สั่งสอนผดุงธรรม ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ — fire worthy of offerings, i.e. monks and other religious men)

       ไฟ 3 อย่างนี้ เลียนศัพท์มาจากไฟบูชาในศาสนาพราหมณ์ แต่ใช้ในความหมายใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง.

D.III.217;
A.IV.44
ที.ปา. 11/228/229;
องฺ.สตฺตก. 23/44/46.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[154] ปฏิปทา 4 (แนวปฏิบัติ, ทางดำเนิน, การปฏิบัติแบบที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดหมาย คือความหลุดพ้นหรือความสิ้นอาสวะ - modes of practice; modes of progress to deliverance)
       1. ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะ แรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น อีกทั้งอินทรีย์ก็อ่อนจึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า พระจักขุบาลอาจเป็นตัวอย่างในข้อนี้ได้ - painful progress with slow insight)
       2. ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะแรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น แต่มีอินทรีย์แก่กล้า จึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว บาลียกพระมหาโมคคัลลานะเป็นตัวอย่าง - painful progress with quick insight)
       3. สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสบาย แต่รู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะ นั้น เนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน 4 อันเป็นสุขประณีต แต่มีอินทรีย์อ่อนจึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า - pleasant progress with slow insight)
       4. สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสบาย ทั้งรู้ได้ไว เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นเนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน 4 อันเป็นสุขประณีต อีกทั้งมีอินทรีย์แก่กล้าจึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว บาลียกพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง - pleasant progress with quick insight)

A.II.149-152,154-5 องฺ.จตุกฺก. 21/161-163/200-204; 167-168/207-209.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[155] ปฏิสัมภิทา 4 (ปัญญาแตกฉาน - analytic insight; discrimination)
       1. อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย, เห็นข้อธรรมหรือความย่อ ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถคิดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่อออกไปได้จนล่วงรู้ถึงผล - discrimination of meanings; analytic insight of consequence)
       2. ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งในหลัก, เห็นอรรถาธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เห็นผลอย่างหนึ่ง ก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้ - discrimination of ideas; analytic insight of origin)
       3. นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ, ปรีชาแจ้งในภาษา, รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่างๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจ้งให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้ - discrimination of language; analytic insight of philology)
       4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ, มีไหวพริบ ซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงเข้าสร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ ใช้ประโยชน์ได้สบเหมาะ เข้ากับกรณีเข้ากับเหตุการณ์ - discrimination of sagacity; analytic insight of ready wit; initiative; creative and applicative insight)

A.II.160;
Ps.I.119;
Vbh.294.
องฺ.จตุกฺก. 21/172/216;
ขุ.ปฏิ. 31/268/175;
อภิ.วิ. 35/784/400.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[158] ประมาณ หรือ ปมาณิก 4 (บุคคลที่ถือประมาณต่างๆ กัน, คนในโลกผู้ถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใส - those who measure, judge or take standard)
       1. รูปประมาณ (ผู้ถือประมาณในรูป, บุคคลที่มองเห็นรูปร่างสวยงาม ทรวดทรงดี อวัยวะสมส่วน ท่าทางสง่า สมบูรณ์พร้อม จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by from or outward appearance; one whose faith depends on good appearance)
       2. โฆษประมาณ (ผู้ถือประมาณในเสียง, บุคคลที่ได้ยินได้ฟังเสียงสรรเสริญ เกียรติคุณหรือเสียงพูดจาที่ไพเราะ จึงชอบใจเลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures by voice or reputation; one whose faith depends on sweet voice or good reputation)
       3. ลูขประมาณ (ผู้ถือประมาณในความคร่ำหรือเศร้าหมอง, บุคคลที่มองเห็นสิ่งของเครื่องใช้ความเป็นอยู่ที่เศร้าหมองเช่น จีวรคร่ำๆ เป็นต้น หรือมองเห็นการกระทำคร่ำเครียดเป็นทุกรกิริยา ประพฤติเคร่งครัดเข้มงวดขูดเกลาตน จึงชอบใจ เลื่อมใสน้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by shabbiness, mediocrity or hard life; one whose faith depends on shabbiness or ascetic or self-denying practices)
       4. ธรรมประมาณ (ผู้ถือประมาณในธรรม, บุคคลที่พิจารณาด้วยปัญญาเห็นสารธรรมหรือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จึงชอบใจเลื่อมใส น้อมใจที่จะเชื่อถือ - one who measures or judges by the teaching or righteous behavior; one whose faith depends on right teachings and practices)

       บุคคล 3 จำพวกต้น ยังมีทางพลาดได้มาก โดยอาจเกิดความคิดใคร่ ถูกครอบงำชักพาไปด้วยความหลง ถูกพัดวนเวียนหรือติดอยู่แค่ภายนอก ไม่รู้จักคนที่ตนมองได้อย่างแท้จริงและไม่เข้าถึงสาระ ส่วนผู้ถือธรรมเป็นประมาณ จึงจะรู้ชัดคนที่ตนมองอย่างแท้จริง ไม่ถูกพัดพาไป เข้าถึงธรรมที่ปราศจากสิ่งครอบคลุม
       พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสี่ข้อ (เฉพาะข้อ 3 ทรงถือแต่พอดี) จึงทรงครองใจคนทุกจำพวกได้ทั้งหมด คนที่เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ที่จะไม่เลื่อมใสนั้น หาได้ยากยิ่งนัก
       ในชั้นอรรถกถา นิยมเรียกบุคคล 4 ประเภทนี้ว่า รูปัปปมาณิกา โฆสัปปมาณิกา ลูขัปปมาณิกา และ ธัมมัปปมาณิกา ตามลำดับ

A.II.71;
Pug.7,53;
DhA.114;
SnA.242.
องฺ.จตุกฺก. 21/65/93;
อภิ.ปุ. 36/10/135; 133/204;
ธ.อ. 5/100;
ุตฺต.อ. 1/329.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[159] ปัจจัย 4 (สิ่งค้ำจุนชีวิต, สิ่งจำเป็นเบื้องต้นของชีวิต, สิ่งที่ต้องอาศัยเลี้ยงอัตตภาพ - the four necessities of life; requisites)
       1. จีวร (ผ้านุ่งห่ม - robes; clothing)
       2. บิณฑบาต (อาหาร - almsfood; food)
       3. เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย, ที่นั่งที่นอน - lodging)
       4. คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือ เภสัช (ยาและอุปกรณ์รักษาโรค - medicine; medical equipment)

       สี่อย่างนี้ สำหรับภิกษุ จำกัดเข้าอีกเรียกว่า นิสสัย 4 แปลว่า เครื่องอาศัยของบรรพชิต (resources; means of support on which the monastic life depends)
       1. ปิณฑิยาโลปโภชนะ (โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง - almsfood of scraps; food obtained by going on the alms-gathering)
       2. บังสุกุลจีวร (ผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะหรือตามป่าช้า - discarded cloth taken from the rubbish heap or the charnel ground; rag-robes)
       3. รุกขมูลเสนาสนะ (อยู่อาศัยโคนไม้ - dwelling at the foot of a tree)
       4. ปูติมุตตเภสัช (ยาน้ำมูตรเน่า - medicines pickled in stale urine; ammonia as a medicine)

       ส่วนที่อนุญาตนอกเหนือจากนี้ เป็น อติเรกลาภ (extra acquisitions; extra allowance)

Vin.1.58 วินย. 4/87/106

[***] ปัญญาวุฒิธรรม 4 ดู [179] วุฒิธรรม 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[162] ภูมิ 4 (ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต - planes of consciousness; planes of existence; degrees of spiritual development)
       1. กามาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม, ระดับจิตใจที่ยังปรารภกามเป็นอารมณ์ คือยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ, ระดับจิตใจของสัตว์ในกามภพทั้ง 11 ชั้น - sensuous plane)
       2. รูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป, ระดับจิตใจที่ปรารภรูปธรรมเป็นอารมณ์, ระดับจิตใจของท่านผู้ได้ฌานหรือผู้อยู่ในรูปภพทั้ง 16 ชั้น - form-plane)
       3. อรูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป, ระดับจิตใจที่ปรารภอรูปธรรมเป็นอารมณ์, ระดับจิตใจของท่านผู้ได้อรูปฌาน หรือผู้อยู่ในอรูปภพทั้ง 4 ชั้น - formless plane)
       4. โลกุตตรภูมิ (ชั้นที่พ้นจากโลก, ระดับแห่งโลกุตตรธรรม, ระดับจิตใจของพระอริยเจ้าอันพ้นแล้วจากโลกียภูมิ 3 ข้างต้น - supramundane plane) ข้อนี้ในบาลีที่มาเรียกว่า อปริยาปันนภูมิ.

       ดู [98] ภพ 3 และ [351] ภูมิ 4, 31 ด้วย.

Ps.I.83. ขุ.ปฏิ. 31/171/122.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[163] โภควิภาค 4 (การแบ่งโภคะเป็น 4 ส่วน, หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น 4 ส่วน - fourfold division of money)
       1. เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย (1 ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุง และทำประโยชน์ - On one part he should live and do his duties towards others.)
       2-3. ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย (2 ส่วน ใช้ลงทุนประกอบการงาน - With two parts he should expand his business.)
       4. จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย (อีก 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น - And he should save the fourth for a rainy day.)

D.III.188. ที.ปา. 11/197/202

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[172] ลีลาการสอน หรือ พุทธลีลาในการสอน หรือ เทศนาวิธี 4 (การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง แม้ที่เป็นเพียงธรรมีกถา หรือการสนทนาทั่วไป ซึ่งมิใช่คราวที่มีความมุ่งหมายเฉพาะพิเศษ ก็จะดำเนินไปอย่างสำเร็จผลดีโดยมีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะ 4 ประการ - the Buddha's style or manner of teaching)
       1. สันทัสสนา (ชี้แจงให้เห็นชัด คือ จะสอนอะไร ก็ชี้แจงจำแนกแยกแยะอธิบายและแสดงเหตุผลให้ชัดเจน จนผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง เห็นจริงเห็นจัง ดังจูงมือไปดูเห็นกับตา - elucidation and verification)
       2. สมาทปนา (ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรปฏิบัติหรือหัดทำ ก็แนะนำหรือบรรยายให้ซาบซึ้งในคุณค่า มองเห็นความสำคัญที่จะต้องฝึกฝนบำเพ็ญ จนใจยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ - incitement to take upon oneself; inspiration towards the Goal)
       3. สมุตเตชนา (เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า คือ ปลุกเร้าใจให้กระตือรือร้น เกิดความอุตสาหะ มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จจงได้ สู้งาน ไม่หวั่นระย่อไม่กลัวเหนื่อย ไม่กลัวยาก - urging; encouragement; animation; filling with enthusiasm)
       4. สัมปหังสนา (ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง คือ บำรุงจิตให้แช่มชื่นเบิกบาน โดยชี้ให้เห็นผลดีหรือคุณประโยชน์ที่จะได้รับและทางที่จะก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จยิ่งขึ้นไป ทำให้ผู้ฟังมีความหวังและร่าเริงเบิกบานใจ - gladdening; exhilaration; filling with delight and joy)

       อรรถกถาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ข้อ 1 ปลดเปลื้องความเขลาหรือความมืดมัว ข้อ 2 ปลดเปลื้องความประมาท ข้อ 3 ปลดเปลื้องความอืดคร้าน ข้อ 4 สัมฤทธิ์ การปฏิบัติ จำ 4 ข้อนี้สั้นๆ ว่า ชี้ให้ชัด ชวนให้ปฏิบัติ เร้าให้กล้า ปลุกให้ร่าเริง หรือ แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

D.I.126; ete.;
DA.II.473;
UdA.242,361, 384
ที.สี. 9/198/161; ฯลฯ,
ที.อ. 2/89;
อุ.อ. 304,457,490

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[188] สังเวชนียสถาน 4 (สถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช, สถานที่เนื่องด้วยพุทธประวัติ ซึ่งพุทธศาสนิกชนควรไปดูเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดความไม่ประมาท จะได้เร่งขวนขวายประกอบกุศลกรรม และสำหรับผู้ศรัทธาจะได้จาริกไปชม เพื่อเพิ่มพูนปสาทะ กระทำสักการบูชา อันจะนำให้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ - places apt to cause the feeling of urgency; places made sacred by the Buddha's association; places to be visited with reverence; the four Buddhist Holy Places)
       1. ชาตสถาน (ที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือ อุทยานลุมพินี - birthplace of the Buddha)
       2. อภิสัมพุทธสถาน (ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ควงโพธิ์ที่ตำบลพุทธคยา - place where the Buddha attained the Enlightenment)
       3. ธัมมจักกัปปวัตตนสถาน (ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เรียกปัจจุบันว่า สารนาถ - place where the Buddha preached the First Sermon)
       4. ปรินิพพุตสถาน (ที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน คือ ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา - place where the Buddha passed away into Parinibbana)

D.II.140. ที.ม. 10/131/163.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[199] อบายมุข 4 (ช่องทางของความเสื่อม, ทางที่จะนำไปสู่ความพินาศ, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ - causes of ruin; sources for the destruction of the amassed wealth)
       1. อิตถีธุตตะ (เป็นนักเลงผู้หญิง, นักเที่ยวผู้หญิง - seduction of women; debauchery)
       2. สุราธุตตะ (เป็นนักเลงสุรา, นักดื่ม - drunkenness)
       3. อักขธุตตะ (เป็นนักการพนัน - indulgence in gambling)
       4. ปาปมิตตะ (คบคนชั่ว - bad company)

       อบายมุข 4 อย่างนี้ ตรัสกับผู้ครองเรือนที่มีหลักฐานแล้ว และตรัสต่อท้ายทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 มุ่งความว่าเป็นทางพินาศแห่งโภคะที่หามาได้แล้ว

A.IV.283. องฺ.อฏฺฐก. 23/144/292.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[200] อบายมุข 6 (ช่องทางของความเสื่อม, ทางแห่งความพินาศ, เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ - causes of ruin; ways of squandering wealth)
       1. ติดสุราและของมึนเมา (addiction to intoxicants) มีโทษ 6 คือ
           1) ทรัพย์หมดไปๆ เห็นชัดๆ
           2) ก่อการทะเลาะวิวาท
           3) เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
           4) เสียเกียรติเสียชื่อเสียง
           5) ทำให้ไม่รู้อาย
           6) ทอนกำลังปัญญา
           a) actual loss of wealth
           b) increase of quarrels
           c) liability to disease
           d) source of disgrace
           e) indecent exposure
           f) weakened intelligence.
       2. ชอบเที่ยวกลางคืน (roaming the streets at unseemly hours) มีโทษ 6 คือ
           1) ชื่อว่าไม่รักษาตัว
           2) ชื่อว่าไม่รักษาลูกเมีย
           3) ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
           4) เป็นที่ระแวงสงสัย
           5) เป็นเป้าให้เขาใส่ความหรือข่าวลือ
           6) เป็นทางมาของเรื่องเดือดร้อนเป็นอันมาก
           a) He himself is without guard and protection.
           b) So also is his wife and children.
           c) So also is his property.
           d) He is liable to be suspected of crimes.
           e) He is the subject of false rumors.
           f) He will meet a lot of troubles.
       3. ชอบเที่ยวดูการละเล่น (frequenting shows) มีโทษ โดยกายงานเสื่อมเสียเพราะใจกังวลคอยคิดจ้อง กับเสียเวลาเมื่อไปดูสิ่งนั้นๆ ทั้ง 6 กรณี คือ
           1) รำที่ไหนไปที่นั้น
           2-6) ขับร้อง-ดนตรี-เสภา-เพลง-เถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น*
* คำแปลภาษาไทยถือตามที่แปลกันมา ส่วนภาษาอังกฤษแปลต่างหาก ไม่ได้มุ่งให้ตรงกัน

           (He keeps looking about to see)
           a) Where is there dancing ?
           b-f) Where is there singing ? -choral music?-story-telling?-cymbal playing?-tam-tams?
       4. ติดการพนัน (indulgence in gambling) มีโทษ 6 คือ
           1) เมื่อชนะย่อมก่อเวร
           2) เมื่อแพ้ก็เสียดายทรัพย์ที่เสียไป
           3) ทรัพย์หมดไปๆ เห็นชัดๆ
           4) เข้าที่ประชุม เขาไม่เชื่อถือถ้อยคำ
           5) เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนฝูง
           6) ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะหาคู่ครองให้ลูกของเขา เพราะเห็นว่าจะเลี้ยงลูกเมียไม่ไหว
           a) As winner he begets hatred.
           b) As loser he regrets his lost money.
           c) There is actual loss of wealth.
           d) His word has no weight in an assembly.
           e) He is scorned by his friends and companions.
           f) He is not sought after by those who want to marry their daughters, for they would say that a gambler connot afford to keep a wife.
       5. คบคนชั่ว (association with bad companions) มีโทษ โดยนำให้กลายไปเป็นคนชั่วอย่างคนที่ตนคบทั้ง 6 ประเภท คือ ได้เพื่อนที่จะนำให้กลายเป็น
           1) นักการพนัน (gamblers)
           2) นักเลงหญิง (rakes; seducers)
           3) นักเลงเหล้า (drunkards)
           4) นักลวงของปลอม (cheater with false things)
           5) นักหลอกลวง (swindlers)
           6) นักเลงหัวไม้ (men of violence)
       6. เกียจคร้านการงาน (habit of idleness) มีโทษ โดยทำให้ยกเหตุต่างๆ เป็นข้ออ้างผัดเพี้ยนไม่ทำการงาน โภคะใหม่ก็ไม่เกิด โภคะที่มีอยู่ก็หมดสิ้นไป คือให้อ้างไปทั้ง 6 กรณีว่า
           1-6 หนาวนัก-ร้อนนัก-เย็นไปแล้ว-ยังเช้านัก-หิวนัก-อิ่มนัก* แล้วไม่ทำการงาน
* บางฉบับเป็น กระหายนัก (too thirsty)

           a-f) He always makes an excuse that it is too cold, - too hot, - too late, - too early, he is too hungry, - too full and does no work.

       อบายมุขหมวดนี้ ตรัสแก่สิงคาลกมาณพ ก่อนตรัสเรื่องทิศ 6

D.III.182-189. ที.ปา. 11/178-184/196-198.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[201] วัฒนมุข 6 (ธรรมที่เป็นปากทางแห่งความเจริญ, ธรรมที่เป็นดุจประตูชัยอันจะเปิดออกไปให้ก้าวหน้าสู่ความเจริญงอกงามของชีวิต - channels of growth; gateway to progress)
       1. อาโรคยะ (ความไม่มีโรค, ความมีสุขภาพดี - good health)
       2. ศีล (ความประพฤติดี มีวินัย ไม่ก่อเวรกัน ได้ฝึกในมรรยาทอันงาม - moral conduct and discipline)
       3. พุทธานุมัต (ศึกษาแนวทาง มองดูแบบอย่าง เข้าถึงความคิดของพุทธชนเหล่าคนผู้เป็นบัณฑิต - conformity or access to the ways of great, enlightened beings)
       4. สุตะ (ใฝ่เล่าเรียนหาความรู้ ฝึกตนให้เชี่ยวชาญและทันต่อเหตุการณ์ - much learning)
       5. ธรรมานุวัติ (ดำเนินชีวิตและกิจการงานโดยทางชอบธรรม - practice in accord with the Dhamma; following the law of righteousness)
       6. อลีนตา (เพียรพยายามไม่ระย่อ, มีกำลังใจแข็งกล้า ไม่ท้อถอยเฉื่อยชา เพียรก้าวหน้าเรื่อยไป - unshrinking preseverance)

       ธรรม 6 ประการชุดนี้ ในบาลีเรียกว่า อัตถทวาร (ประตูแห่งประโยชน์, ประตูสู่จุดหมาย) หรือ อัตถประมุข (ปากทางสู่ประโยชน์, ต้นทางสู่จุดหมาย) และอรรถกถาอธิบายคำอัตถะ ว่า หมายถึง “วุฒิ” คือความเจริญ ซึ่งได้แก่ วัฒนะ ดังนั้นจึงอาจเรียกว่า วุฒิมุข หรือที่คนไทยรู้สึกคุ้นมากกว่าว่า วัฒนมุข
       อนึ่ง ในฝ่ายอกุศล มีหมวดธรรมรู้จักกันดีที่เรียกว่า อบายมุข 6 ซึ่งแปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อม จึงอาจเรียกธรรมหมวดนี้ด้วยคำที่เป็นคู่ตรงข้ามว่า อายมุข 6 (ปากทางแห่งความเจริญ)

J.I.366 ขุ.ชา. 27/84/27

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[206] ธรรม 4 (ธรรมทั้งปวงประดามี จัดประเภทตามลักษณะความสัมพันธ์ที่มนุษย์พึงปฏิบัติหรือเกี่ยวข้องเป็น 4 จำพวก อันสอดคล้องกับหลักอริยสัจจ์ 4 และกิจในอริยสัจจ์ 4 - all dhammas [states, things] classified into 4 categories according as they are to be rightly treated)
       1. ปริญโญยธรรม - ธรรมที่เข้ากันกิจในอริยสัจจ์ที่ 1 คือ ปริญญา (ธรรมอันพึงกำหนดรู้, สิ่งที่ควรรอบรู้ หรือรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ได้แก่ อุปาทานขันธ์ 5 กล่าวคือ ทุกข์และสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในจำพวกที่เป็นปัญหาหรือเป็นที่ตั้งแห่งปัญหา - things to be fully understood, i.e. the five aggregates of existence subject to clinging)
       2. ปหาตัพพธรรม - ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 2 คือ ปหานะ (ธรรมอันพึงละ, สิ่งที่จะต้องแก้ไขกำจัดทำให้หมดไป ว่าโดยต้นตอรากเหง้า ได้แก่ อวิชชา และภวตัณหา กล่าวคือธรรมจำพวกสมุทัยที่ก่อให้เกิดปัญหา เป็นสาเหตุของทุกข์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า อกุศลทั้งปวง - things to be abandoned, i.e. ignorance and craving for being)
       3. สัจฉิกาตัพพธรรม - ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 3 คือ สัจฉิกิริยา (ธรรมอันพึงประจักษ์แจ้ง, สิ่งที่ควรได้ควรถึงหรือควรบรรลุ ได้แก่ วิชชา และวิมุตติ เมื่อกล่าวโดยรวบยอด คือ นิโรธ หรือนิพพาน หมายถึงจำพวกที่เป็นจุดหมาย หรือเป็นที่ดับหายสิ้นไปแห่งทุกข์หรือปัญหา - things to be realized, i.e. true knowledge and freedom or liberation)
       4. ภาเวตัพพธรรม - ธรรมที่เข้ากับกิจในอริยสัจจ์ข้อที่ 4 คือ ภาวนา (ธรรมอันพึงเจริญหรือพึงปฏิบัติบำเพ็ญ, สิ่งที่จะต้องปฏิบัติหรือลงมือทำ ได้แก่ ธรรมที่เป็นมรรค โดยเฉพาะสมถะ และวิปัสสนา กล่าวคือ ประดาธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติ หรือเป็นวิธีการที่จะทำหรือดำเนินการเพื่อให้บรรลุจุดหมายแห่งการสลายทุกข์หรือดับปัญหา - things to be developed, i.e. tranquillity and insight, or, in other words the Noble Eightfold Path)

M.III.289;
S.V.52;
A.II.246.
ม.อุ. 14/829/524;
สํ.ม. 19/291-295/78;
องฺ.จตุกฺก. 21/254/333.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[210] อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ 4 (ตามบาลีว่า ภัยสำหรับกุลบุตรผู้บวชในธรรมวินัยนี้ อันเป็นเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาไป - perils or terrors awaiting a clansman who has gone forth from home to the homeless life; dangers to newly ordained monks or novices)
       1. อูมิภัย (ภัยคลื่น คือ อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เกิดความขึ้งเคียดคับใจ เบื่อหน่ายคำตักเตือนพร่ำสอน - peril of waves, i.e. wrath and resentment caused by inability to accept teaching and advice)
       2. กุมภีลภัย (ภัยจรเข้ คือ เห็นแก่ปากแก่ท้อง ถูกจำกัดด้วยระเบียบวินัยเกี่ยวกับการบริโภค ทนไม่ได้ - peril of crocodiles, i.e. gluttony)
       3. อาวฏภัย (ภัยน้ำวน คือ ห่วงพะวงใฝ่ทะยานในกามสุข ตัดใจจากกามคุณไม่ได้ - peril of whirlpools, i.e. desire for sense-pleasures)
       4. สุสุกาภัย (ภัยปลาร้าย หรือภัยฉลาม คือ เกิดความปรารถนาทางเพศ รักผู้หญิง - peril of sharks, i.e. love for women)

M.I.460;
A.II.123.
ม.ม. 13/190/198;
องฺ.จตุกฺก. 21/122/165.

[***] อัปปมัญญา 4 ดู [161] พรหมวิหาร 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
ปัญจกะ - หมวด 5
Groups of Five
(including related groups)
[***] กัลยาณธรรม 5 ดู [239] เบญจธรรม.
[***] กามคุณ 5 ดู [6] กามคุณ 5.
[***] กำลัง 5 ของพระมหากษัตริย์ ดู [230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์

[216] ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — the Five Groups of Existence; Five Aggregates)
       1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ — corporeality)
       2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ — feeling; sensation)
       3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น — perception)
       4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต — mental formations; volitional activities)
       5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6 — consciousness)

       ขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น 2 คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, 4 ขันธ์ นอกนั้นเป็นนาม. อีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม 4 : วิญญาณขันธ์เป็น จิต, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก, รูปขันธ์ เป็น รูป, ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5

       เรื่องขันธ์ 5 พึงดูประกอบในหมวดธรรมอื่นๆ เช่น
       1. รูปขันธ์ ดู [38] รูป 2, 28; [39] มหาภูต 4; [40] อุปาทายรูป 24.
       2. เวทนาขันธ์ ดู [110] เวทนา 2; [111] เวทนา 3; [112] เวทนา 5; [113] เวทนา 6.
       3. สัญญาขันธ์ ดู [271] สัญญา 6.
       4. สังขารขันธ์ ดู [119] สังขาร 3; [120] สังขาร 3; [129] อภิสังขาร 3; [263] เจตนา 6.
       5. วิญญาณขันธ์ ดู [268] วิญญาณ 6.

       นอกนี้ ดู [356] จิตต์ 89; [355] เจตสิก 52

S.III.47;
Vbh.1.
สํ.ข. 17/95/58;
อภิ.วิ. 35/1/1.

[***] คติ 5 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[217] จักขุ 5 (พระจักษุอันเป็นสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า — the Five Eyes of the Blessed One)
       1. มังสจักขุ (ตาเนื้อ คือ ทรงมีพระเนตรอันงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว และเห็นไกล — the physical eye which is exceptionally powerful and sensitive)
       2. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์ คือ ทรงมีพระญาณอันเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นไปต่างๆ กัน ด้วยอำนาจกรรม — the Divine Eye)
       3. ปัญญาจักขุ (ตาปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้สามารถตรัสรู้อริยสัจจธรรม เป็นต้น — the eye of wisdom; Wisdom-Eye)
       4. พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า คือ ทรงประกอบด้วยอินทรีย์ปโรปริยัตตญาณ และอาสยานุสยญาณ เป็นเหตุให้ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์ — the eye of a Buddha; Buddha-Eye)
       5. สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ — the eye of all-round knowledge; All-seeing Eye; omniscience)

Ndii 235. ขุ.ม. 29/51/52.

[***] ฌาน 5 ดู [9] ฌาน 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[218] ธรรมขันธ์ 5 (กองธรรม, หมวดธรรม, ประมวลธรรมทั้งปวงเข้าเป็นหัวข้อใหญ่ — bodies of doctrine; categories of the Teaching)
       1. สีลขันธ์ (กองศีล, หมวดศีล ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น อปจายนมัย เวยยาวัจจมัย ปาติโมกขสังวร กายสุจริต สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นต้น — body of morals; virtue category)
       2. สมาธิขันธ์ (กองสมาธิ, หมวดสมาธิ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นต้น — body of concentration; concentration category)
       3. ปัญญาขันธ์ (กองปัญญา, หมวดปัญญา ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ธัมมวิจยะ วิมังสา ปฏิสัมภิทา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น— body of wisdom or insight; understanding category)
       4. วิมุตติขันธ์ (กองวิมุตติ, หมวดวิมุตติ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ปหาน วิราคะ วิโมกข์ วิสุทธิ สันติ นิโรธ นิพพาน เป็นต้น — body of deliverance; deliverance category)
       5. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ (กองวิมุตติญาณทัสสนะ, หมวดธรรมเกี่ยวกับการรู้ การเห็นในวิมุตติ ประมวลธรรมทั้งหลาย เช่น ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เป็นต้น — body of the knowledge and vision of deliverance; knowing-and-seeing-of-deliverance category)

       ธรรมขันธ์ 4 ข้อต้น เรียกอีกอย่างว่า สาระ 4 (แก่น, หลักธรรมที่เป็นแกน, หัวใจธรรม — essences)

D.III.279;
A.lll.134;
A.II.140
ที.ปา. 11/420/301;
องฺ.ปญฺจก. 22/108/152;
องฺ.จตุกฺก. 21/150/189.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[221] ธรรมสวนานิสงส์ 5 (อานิสงส์ในการฟังธรรม — benefits of listening to the Dhamma)
       1. อสฺสุตํ สุณาติ (ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง, ได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้ — He hears things not heard.)
       2. สุตํ ปริโยทเปติ (สิ่งที่เคยได้ฟัง ก็ทำให้แจ่มแจ้ง เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น — He clears things heard.)
       3. กงฺขํ วิหนติ (แก้ข้อสงสัยได้, บรรเทาความสงสัยเสียได้ — He dispels his doubts.)
       4. ทิฏฺฐึ อุชุํ กโรติ (ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ — He makes straight his views.)
       5. จิตฺตมสฺส ปสีทติ (จิตของเขาย่อมผ่องใส — His heart becomes calm and happy.)

A.III.248. องฺ.ปญฺจก. 22/202/276.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[223] นิยาม 5 (กำหนดอันแน่นอน, ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; the five aspects of natural law)
       1. อุตุนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดินน้ำอากาศ และฤดูกาล อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์ — physical inorganic order; physical laws)
       2. พีชนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรมเป็นต้น — physical organic order; biological laws)
       3. จิตตนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต — psychic law)
       4. กรรมนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือ กระบวนการให้ผลของการกระทำ — order of act and result; the law of Kamma; moral laws)
       5. ธรรมนิยาม (กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย — order of the norm; the general law of cause and effect; causality and conditionality)

       ดู [86] ธรรมนิยาม 3; [177] สมบัติ 4; [176] วิบัติ 4.

DA.II.432;
DhsA.272.
ที.อ. 2/34;
สงฺคณี.อ. 408.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ุต&detail=on&nextseek=224
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D8%B5&detail=on&nextseek=224


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]