ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
ภควโต ปาทปัปฏิกปติตปัญหา ที่ ๖
             ราชา อันว่าสมเด็จบรมขัตติยาธิบดินทร์มิลินทราช มีสุนทรประภาษไต่ถาม ซึ่งอรรถปัญหาอันอื่นสืบไปอีกเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนเจ้าผู้จำเริญ ตุมฺเห ภณถ พระผู้เป็นเจ้าเจรจาไว้กับโยมว่า สมเด็จพระบรมโลกนาถเสด็จลีลาศดำเนินไปสู่คามเขตประเทศ ตำบลใดก็ดี อยํ มหาปฐวี พื้นพิภพปฐพีที่ไสลลุ่มเป็นเลนหล่มประการใดก็ดี พื้นแผ่นดินนี้ สิหาจิตวิญญาณมิได้ เหมือนหนึ่งว่ามีจิตมีใจ ที่ไหนเป็นเลนลุ่มหล่มก็บริบูรณ์เต็มเสมอเหมือน ถมลงใหม่ๆ อุนฺนตํ ที่ไหนสูงโสดเป็นโคกโขดอยู่โดยแท้ ก็ปรวนแปรราบระรื่นเสมอเหมือน ดังหน้ากลองชัยเภรี ปุน จ ปุรํ ครั้นมาครั้งนี้ทำไมเล่า ภณถ พระผู้เป็นเจ้ามาว่าไปใหม่อีก เล่าว่า สะเก็ดก้อนศิลากระเด็นมากระทบพระบวรบาทแห่งสมเด็จพระบรมโลกนาถเจ้า ไฉน เล่าก้อนศิลาจึงไม่กระเด็นกลับไปยังที่ สะเก็ดศิลานี้ใช่ชาติปฐพีดอกหรือ จึงดึงดื้อกระเด็นมา กระทบพระบวรบาทแห่งสมเด็จพระบรมโลกนาถน่าสงสัย ถ้าจะถือเอาคำหลังที่ว่าไว้ว่า สะเก็ดศิลามากระทบพระบาทแห่งสมเด็จพระบรมโลกนาถเจ้านั้น ยังมิได้สิ คำเดิมที่ว่าแผ่นดิน หาจิตวิญญาณมิได้ ก็เสมือนหนึ่งว่ามีจิตวิญญาณ ถึงว่าจะลุ่มเลนหล่มก็บันดาลดอน ถึงจะสูง เป็นแง่ชะง่อนก็เรียบราบเสมอเป็นอันดี เมื่อสมเด็จพระชินสีห์ทรงพระดำเนินไป คำอันนี้ก็ผิด ก็ครั้นว่าจะเชื่อคำที่ว่า แผ่นปฐพีที่ลุ่มกลับเป็นดอน ที่สูงเป็นชะง่อนก็ราบเสมอเป็นอันดี เมื่อ พระชินสีห์พุทธองค์ทรงพระดำเนินไปเหมือนหนึ่งว่าแผ่นพระธรณีมีจิจมีใจนี้เล่า คำหลังที่ว่า สะเก็ดศิลามากระทบพระบาทแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าเข้า คำนี้เล่าก็ผิดเป็นมิจฉา อยํ ปญฺโห อันว่าปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงโปรดวิสัชนาให้แจ้งในกาลบัดนี้              เถโร อันว่าพระนาคเสนเถระ เมื่อจะชี้แจงสำแดงซึ่งอรรถปัญหา จึงมีเถรวาจาว่า มหา ราช ดูกรพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐหาผู้เสมอมิได้ คำที่อาตมภาพถวายพระพรไว้ว่า อยํ มหาปฐวี แผ่นพระธรณีอันใหญ่ อันหาเจตนามิได้นี้ แม้ว่าสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าทรงพระดำเนิน ไป ที่ไหนลุ่มก็เต็มบริบูรณ์ ที่ไหนพูนก็ราบดุจปราบไว้ด้วยเดชพระบารมี คำอันนี้อาตมา ถวายพระพระไว้มิได้ผิด พระองค์อย่าทรงพระวิมัติสงสัย ข้อที่อาตมาถวายพระพร ไว้ว่าสะเก็ด ศิลามากระทบพระบาทแห่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ก็จริงมิได้ผิด แต่ทว่าก้อนศิลาใช่ว่าจะ กระทบกันเองแล้วและกระเด็นมาหามิได้ กระเด็นไปกระทบพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้านี้ ด้วยความเพียรของพระเทวทัต ถ้าว่าศิลากระเด็นมาโดยธรรมดาเองหาเหตุมิได้ ก็ไม่กระทบ พระบาท จะโทษเอาคำที่ถวายพระพรไว้ก่อนว่าหาจริงไม่ ยังไม่ชอบก่อนมิใช่กระนั้น ศิลามา กระทบพระบาทเสด็จพระมหากรุณา เพราะเหตุที่พระเทวทัตกระทำจัณฑาล มหาราช ดูกรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ พระเทวทัตผูกเวรแก่สมเด็จพระพุทธเจ้ามา พหูมิ ชาติ- สตสหสฺสานิ ประมาณแสนชาติเป็นอันมาก แต่อาฆาตของเวรมา ครั้นว่าพระเทวทัตได้ โอกาสก็กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ลงไป เพื่อจะให้ทับสมเด็จพระพุทธเจ้าให้ถึงแก่มรณภาพ ด้วยพระ เทวทัตคิดจะเป็นพระเจ้าแทนพระพุทธองค์ แต่ว่าก้อนศิลาใหญ่ที่กลิ้งมาครั้งนั้น เทฺว เสลา ยังมีภูเขาทั้งสอง ผุดขึ้นจากแผ่นดินเข้าประคองรับรองไว้ ศิลาอันใหญ่ที่กลิ้งมาก็ยุติอยู่ในที่นั้น แต่ทว่ากระทบกันเข้าด้วยกำลังแรง ก็แตกเป็นสะเก็ดออกไป สะเก็ดศิลานั้นกระเด็นไปกระทบ นิ้วพระบาทแห่งสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า              กุฏาคารศิลาที่เทวทัตกลิ้งลงมานั้น ด้วยพระเดชพระพุทธบารมีนี้เห็นเป็นอัศจรรย์ บังเกิดภูเขาทั้งสองขึ้นกางกั้นไว้ ภูเขาทั้งสองนั้นเสมือนหนึ่งว่ามีจิตวิญญาณ โอนาเมตฺวา น้อมค้อมเข้ามาเล่ห์ประหนึ่งว่าเครือเขาเถาวัลย์ ถ้ามิฉะนั้น นาคา วิย พลวนฺตา ดุจพระยา นาคคะนองว่องไว้ในสมุทร และผุดขึ้นกระทำพังพานต้านรับศิลาอันพระเทวทัตกลิ้งมากาลนั้น ดุจหนึ่งมารดา เมื่อบุตรของอาตมาคะนองโผนโจรเข้าหา และเอามือซ้ายขวารับประคองบุตร แห่งตนไว้ ถ้ามิฉะนั้นไซร้ ปิตา วิย ดุจบิดามีน้ำจิตกรุณา เอามือซ้ายขวารับประคองลูกของ ตนไว้ ถ้ามิฉะนั้น สิสฺโส วิย ดุจดังศิษย์รับบริขารแห่งอาจารย์ ถ้ามิฉะนั้น สขา วิย อปริจฺจตา ดุจสหายเพื่อนตายที่รักอย่างสนิท อันมิได้คิดจะทิ้งขว้างเพื่อนกันให้เป็นอันตราย ถ้ามิฉะนั้น เสมือนหนึ่งอำมาตย์ข้าราชการอันรับเสด็จสมเด็จพระบรมกษัตริย์ ถ้ามิฉะนั้น เสมือนหนึ่ง เทวดาคอยรับเสด็จสมเด็จอมรินทราธิราช พฺรหฺมุโน วิย ถ้ามิฉะนั้น ดุจหมู่พรหมอันอุดมไป ในฌาน เข้านบนอบหมอบเฝ้าท้าวมหาพรหมนี้ดูละม่อนละไม ยถา มีครุวนาฉันใด ภูเขาทั้งสอง เข้ารับรองศิลาเท่ากุฏาคารปราสาทไว้ อุปไมยเหมือนดังนั้น              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคเสนผู้จำเริญ ก็ศิลาใหญ่โตเท่ากุฏาคารปราสาททีเดียว ไม่ใช่เล็กน้อย ภูเขา ทั้งสองยังรับรองไว้ได้ ก็ไฉนสะเก็ดศิลาเล็กนิดหนึ่งเท่านั้น ภูเขาทั้งสองนั้นจึงมิป้องกันไว้ให้ได้ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาไปให้สิ้นสงสัยโยมก่อน              พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะพระยาผู้ประเสริฐเลิศในสมบัติ ภูเขาทั้งสองรับรองกุฏาคารศิลานั้นไว้มิให้ตกลงไปถูกพระองค์เจ้า แต่สะเก็ดกระเด็นไปถูกพระ บาทได้นั้น มีครุวนาฉันใด อุปไมยดังบุคคลเอาฝ่ามือเข้ารับรองไว้ซึ่งน้ำนมน้ำมันเปรียงน้ำผึ้งน้ำ อ้อย มีประการต่างๆ ที่เป็นน้ำนั้น ฝ่ามือมีขอบคันหรือจะกั้นได้ อุทกังก็ตั้งแต่จะบ่าไปไหลไป องฺคุลนฺตริเกน ตามระหว่างนิ้วมืออันห่างนั้น ยถา มีครุวนาฉันใด ศิลาทั้งสองรับรองศิลาอัน ใหญ่ไว้ได้ แต่สะเก็ดนั้นกระเด็นลอดไป มีอุปไมยดังบุคคลรองน้ำด้วยซองมือ และน้ำลอดไหล ไปตามระหว่างมือได้ฉะนั้น เหตุฉะนี้สะเก็ดศิลาจึงลอดลอยไปกระทบพระบาทสมเด็จพระ พุทธเจ้าได้              วา ปน แม้อนึ่งโสดเล่า มหาราช ดูกรพระยาผู้ประเสริฐ อาตมาจะขอถวาย อุปมาอีกข้อหนึ่ง สรฺหสุขุมอนุรชสมสทิสา วาลุกา อันว่าทรายทั้งหลายที่ละเอียดสุขุมยิ่งนัก ประหนึ่งว่าปรมาณู บุคคลกำไว้ในกำมือก็มิได้ตั้งติดอยู่ได้ทั้งหมด ย่อมจะลอดร่วงตกไปได้บ้าง ตามระหว่างแห่งนิ้วมือ ยถา มีครุวนาฉันใด สะเก็ดศิลาที่แตกกระเด็นไปกระทบพระบาท สมเด็จพระพุทธเจ้า ก็มีอุปไมยเหมือนฉะนั้น              วา ปน แม้อนึ่งโสดเล่า มหาราช ดูรานะพระยาผู้ประเสริฐ อาตมภาพจะถวาย อุปมาอีกข้อหนึ่ง กพโฬ คหิโต บุรุษถือเอาซึ่งคำข้าว คำข้าวนั้นมิได้ปั้นเป็นก้อนให้แน่น ตั้งแต่จะตกร่วงไป มิได้ตั้งอยู่ที่มือหมด มักกระเด็นไปบ้าง ยถา มีครุวนาฉันใด บพิตรพระราช- สมภารผู้ประเสริฐ ศิลาอันเป็นสะเก็ดน้อยกระเด็นลอยไป ภควโต ปาเท ปตนฺติ ก็ตกต้องพระ บาทแห่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า อุปมาเหมือนเม็ดข้าวอันตกไปฉันนั้น บพิตรพระราชสมภารผู้ ประเสริฐ พระองค์จงทรงสันนิษฐานทราบพระทัยด้วยประการดังนี้              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่พระนาคสนผู้จำเริญ เหตุที่ว่าภูเขาทั้งสองป้องกันซึ่งกุฏาคารศิลาไว้ได้ โยมเข้าใจแล้ว โหตุ ความนี้จงงดไว้ เดี๋ยวนี้สงสัยนักหนาว่า สะเก็ดศิลานี้ล้วนเป็นพื้นปฐพีไม่มีเจตนา ไม่ทำ คารวะเคารพพระพุทธเจ้าเลย ช่างกล้าหาญกระเด็นไปกระทบพระบาทแห่งสมเด็จพระพุทธ- เจ้าได้ และช่างมีพิษฤทธิ์เดชมากมาย กระทำให้พระโลหิตห้อขึ้นได้ โยมนี้สงสัยนักหนา ขอพระผู้เป็นเจ้าวิสัชนา ณ กาลครั้งนี้              เถโร พระนาคเสนจึงมีเสนวาจาว่า มหาราช ดูกรพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ สะเก็ดศิลาใช่ว่ามีฤทธิ์มีเดชเหมือนพระองค์ว่านั้นหามิได้ ก็เหตุที่ไม่เคารพคารวะพระพุทธเจ้า นี้มีอยู่ ๑๒ ประการต่างหาก กตเม ทฺวาทส อคารวา เหตุที่ไม่เคารพ ๑๒ ประการนั้นสิ่งไร บ้าง มหาราช ดูกรพระยาผู้ประเสริฐ อคารวะ ๑๒ นั้น รตฺโต ราควเสน คือบุคคลประกอบ ไปด้วยราคะ มิได้เคารพนบนอบด้วยอำนาจราคะอันกล้าหาญในสันดานประการ ๑ กุฏฺโฐ คนที่ประกอบไปด้วยโทสะมิได้เคารพนบนอมด้วยอำนาจโทสะกล้าหาญประการ ๑ มุฬฺโห คือ บุคคลหลงมิได้เคารพ ด้วยสามารถโมหะประการ ๑ กุปฺปิโต คือบุคคลที่เขายกย่องมีใจ กำเริบฟุ้งไป มิได้กระทำซึ่งเคารพ ด้วยสามารถมานะประการ ๑ นิคฺคุโณ คือบุคคลมิได้รู้ว่า สิ่งนี้เป็นคุณจึงไม่เคารพ ด้วยหาคุณวิเศษมิได้ประการ ๑ อติถทฺโธ คือคนที่กระด้างยิ่งนักไม่รู้ จักเคารพนบนอบ ด้วยไม่มีธรรมเครื่องห้ามทำให้โอนอ่อนประการ ๑ หีโน คือบุคคลหินชาติ ต่ำช้า มิได้กระทำเคารพด้วยภาวะเป็นคนชั่วช้าประการ ๑ วชฺชนกโร คือบุคคลจะกระทำโทษ มิ ได้เคารพด้วยภาวะถือตัวว่าเป็นใหญ่ประการ ๑ ปาโป คือบุคคลมีใจเป็นบาปมิได้กระทำ เคารพด้วยภาวะเป็นคนกระด้างประการ ๑ ทุกฺโข คือบุคคลที่อันใครๆ ให้ถึงความ ทุกข์แล้วมิได้เคารพ ด้วยมุ่งจะตอบแทนให้ทุกข์เกิดแก่ผู้นั้นประการ ๑ ลุทฺโธ คือ บุคคล โลภมิได้กระทำเคารพ ด้วยตนนั้นอันโลภหากครอบงำในสันดานประการ ๑ อายูหิโต คือ บุคคลที่มัวขวนขวายประมวลมาซึ่งประโยชน์ของตนอยู่มิได้เคารพด้วยมุ่งจะทำประโยชน์ให้สำเร็จ กลัวผลประโยชน์ของตนจะเสื่อมไปประการ ๑ สิริเป็นเหตุที่มิได้เคารพ ๑๒ ประการนี้ มหาราช ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ สะเก็ดศิลานั้นถ้าไม่แตกออกจากศิลาใหญ่แล้ว ศิลาทั้งสองก็รับรองไว้ได้ เอสา ปน ปปฺปฏิกา สะเก็ดศิลาแตกกระเด็นออกนั้นด้วยกำลังกระทบกัน กระเด็นไปโดย อากาศนั้นจะได้กำหนดว่าจะไปในทิศนั้นๆ และจะให้ถูกต้องพระพุทธบาทกระนั้นๆ หามิได้ มีครุวนาฉันใด มีอุปไมยเสมือนหนึ่งว่าลมหัวด้วน พัดหวนหันหอบเอาสรรพใบไม้อันแห้งขึ้นไป ในอากาศ สรรพใบไม้จะได้รู้ว่าจะตกทิศนั้นๆ หามิได้ ก็สะเก็ดศิลาที่กระเด็นไปถูกพระ บาทพระพุทธเจ้า ก็เหมือนดังใบไม้นั้น ประการหนึ่งขอถวายพระพร ซึ่งสะเก็ดศิลากระเด็นไป กระทบพระบาทสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เพื่อให้พระเทวทัตผู้เป็นคนอกตัญญูกระด้าง หยาบช้า ได้เสวยทุกขเวทนาในอบาย ด้วยโทษที่ตนกระทำเป็นความผิด พระองค์ได้ทรงฟัง แล้วอย่าลืมหลง จงมนสิการไว้โดยนัยอันอาตมภาพวิสัชนาด้วยประการดังนี้              ราชา ครั้งนั้นพระยามิลินท์ได้ทรงฟังทราบพระทัยก็ซ้องสาธุการสรรเสริญพระ นาคเสนด้วยโสมนัสว่า โยมได้ฟังครั้งนี้ถ้วนถี่จำได้ถนัดแน่นอน โยมจะจำไว้สั่งสอนกุลบุตรภาย หลัง ดุจนัยอันโยมได้ฟังในกาลบัดนี้
ภควโต ปาทปัปปฏิกาปติตปัญหา คำรบ ๖ จบเพียงนี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๒๘๖ - ๒๘๙. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=120              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_120

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]