ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๕. สัญจริตตสิกขาบท นิทานวัตถุ

ไฉนเธอจึงชักสื่อเล่า การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๒๙๙] ก็ ภิกษุใดทำหน้าที่ชักสื่อ คือ บอกความประสงค์ของชายแก่ หญิงก็ดี บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี เพื่อให้เป็นภรรยาหรือเป็นชู้รัก เป็นสังฆาทิเสส สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระอุทายี จบ
เรื่องนักเลงหญิง
[๓๐๐] สมัยนั้น พวกนักเลงจำนวนมากพากันไปเที่ยวรื่นเริงในอุทยาน ส่ง ชายสื่อไปสำนักหญิงแพศยาคนหนึ่งด้วยสั่งว่า “เชิญนางมาเถิด พวกเราจักไปเที่ยว รื่นเริงในอุทยานด้วยกัน” หญิงแพศยาตอบว่า “นายจ๋า ดิฉันไม่ทราบว่าพวกท่านเป็นใครหรือเป็นพวก พ้องของใคร อีกประการหนึ่ง ดิฉันมีทรัพย์สมบัติมาก มีเครื่องประดับมาก ถ้าจะ ต้องออกไปนอกเมือง ดิฉันไม่ไป” ครั้นแล้วชายสื่อแจ้งเรื่องนั้นให้พวกนักเลงทราบ เมื่อชายสื่อพูดอย่างนั้น ชายอีกคนหนึ่งบอกพวกนักเลงว่า “พวกท่านไปอ้อนวอนหญิงแพศยาทำไม ควร บอกพระอุทายีมิดีกว่าหรือ ท่านจะส่งนางมาให้พวกเราเอง” เมื่อเขาพูดอย่างนั้น อุบาสกคนหนึ่งพูดแย้งว่า “คุณอย่าพูดอย่างนั้น การทำ อย่างนั้นไม่เหมาะแก่พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร พระคุณเจ้าอุทายีจะไม่ทำเช่นนั้น” เมื่ออุบาสกพูดอย่างนี้ พวกนักเลงจึงพนันกันว่า “พระคุณเจ้าอุทายีจะทำ หรือไม่ทำ” นักเลงเหล่านั้นเข้าไปหาพระอุทายีถึงที่อยู่แล้วกราบเรียนท่านว่า “พระ คุณเจ้า พวกกระผมเข้าไปเที่ยวรื่นเริงในอุทยาน ส่งชายสื่อไปหาหญิงแพศยาชื่อโน้น ว่า ‘ขอให้นางมา พวกเราจะเที่ยวรื่นเริงในอุทยาน’ นางตอบว่า ‘นายจ๋า ดิฉันไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๔๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๕. สัญจริตตสิกขาบท นิทานวัตถุ

ทราบว่าพวกท่านเป็นใครหรือเป็นพวกพ้องของใคร อีกประการหนึ่ง ดิฉันมีเครื่อง ประดับมาก ถ้าจะต้องออกไปนอกเมือง ดิฉันไม่ไป’ ขอพระคุณเจ้าโปรดส่งหญิง แพศยาคนนั้นมาให้พวกกระผมด้วยเถิด” ลำดับนั้น พระอุทายีเข้าไปหาหญิงแพศยาถึงที่อยู่ถามว่า “ทำไมเธอไม่ไปหา คนพวกนั้นเล่า” นางตอบว่า “ดิฉันไม่ทราบว่า คนพวกนี้เป็นใครหรือเป็นพวกพ้องของใคร อีกประการหนึ่งดิฉันมีทรัพย์สมบัติมาก มีเครื่องประดับมาก ถ้าจะต้องออกไปนอก เมือง ดิฉันไม่ไป เจ้าค่ะ” “เธอไปหาคนพวกนี้เถิด อาตมารู้จักพวกเขาดี” “ถ้าพระคุณเจ้ารู้จัก ดิฉันก็จะไป เจ้าค่ะ” ลำดับนั้น พวกนักเลงพาหญิงแพศยาคนนั้นไปเที่ยวในอุทยาน ต่อมา อุบาสก ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระอุทายีจึงชักสื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราวเล่า” พวกภิกษุได้ยินอุบาสกตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุทายีจึงชักสื่อให้อยู่ ร่วมกับชั่วคราวเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิท่านพระอุทายีโดยประการต่างๆ แล้ว จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอชักสื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว จริงหรือ” พระอุทายีทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรง ตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ ไม่สมควร ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงชักสื่อ ให้อยู่ร่วมกันชั่วคราวเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๔๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๕. สัญจริตตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระอนุบัญญัติ
[๓๐๑] อนึ่ง ภิกษุใดทำหน้าที่ชักสื่อ คือ บอกความประสงค์ของชายแก่ หญิงก็ดี บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี เพื่อให้เป็นภรรยาหรือเป็นชู้รัก โดยที่สุดแม้เพื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว เป็นสังฆาทิเสส
เรื่องนักเลงหญิง จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๓๐๒] คำว่า อนึ่ง... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า ทำหน้าที่ชักสื่อ ความว่า ไปหาฝ่ายชายตามที่หญิงขอร้อง หรือไปหา ฝ่ายหญิงตามที่ชายขอร้อง คำว่า บอกความประสงค์ของชายแก่หญิงก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของ ชายแก่หญิง คำว่า บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายก็ดี คือ แจ้งความปรารถนาของ หญิงแก่ชาย คำว่า เพื่อให้เป็นภรรยา คือ บอกว่า เธอจักเป็นภรรยา คำว่า เพื่อให้เป็นชู้รัก คือ บอกว่า เธอจักเป็นชู้รัก คำว่า โดยที่สุดแม้เพื่อให้อยู่ร่วมกันชั่วคราว คือ บอกว่า เธอจักเป็นภรรยา ชั่วคราว คำว่า เป็นสังฆาทิเสส ความว่า สำหรับอาบัตินั้น สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ฯลฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า “เป็นสังฆาทิเสส” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๔๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๕. สัญจริตตสิกขาบท บทภาชนีย์

บทภาชนีย์
มาติกา
หญิง ๑๐ จำพวก
[๓๐๓] หญิง ๑๐ จำพวก คือ ๑. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของมารดา ๒. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของบิดา ๓. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของมารดาบิดา ๔. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของพี่ชายน้องชาย ๕. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของพี่สาวน้องสาว ๖. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของญาติ ๗. หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของตระกูล ๘. หญิงที่มีธรรมคุ้มครอง ๙. หญิงที่มีคู่หมั้น ๑๐. หญิงที่มีกฎหมายคุ้มครอง
ภรรยา ๑๐ จำพวก
ภรรยา ๑๐ จำพวก คือ ๑. ภรรยาสินไถ่ ๒. ภรรยาที่อยู่ด้วยความพอใจ ๓. ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ ๔. ภรรยาที่อยู่เพราะแผ่นผ้า ๕. ภรรยาที่เข้าพิธีสมรส ๖. ภรรยาที่ถูกปลงเทริด ๗. ภรรยาที่เป็นทั้งคนรับใช้เป็นทั้งภรรยา ๘. ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างเป็นทั้งภรรยา ๙. ภรรยาที่เป็นเชลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๔๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๕. สัญจริตตสิกขาบท บทภาชนีย์

๑๐. ภรรยาชั่วคราว [๓๐๔] ที่ชื่อว่า หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของมารดา ได้แก่ หญิงที่มี มารดาคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ ที่ชื่อว่า หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของบิดา ได้แก่ หญิงที่มีบิดาคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ ที่ชื่อว่า หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของมารดาบิดา ได้แก่ หญิงที่มี มารดาบิดาคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ ที่ชื่อว่า หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของพี่ชายน้องชาย ได้แก่ หญิงที่มีพี่ ชายน้องชายคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ ที่ชื่อว่า หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของพี่สาวน้องสาว ได้แก่ หญิงที่มี พี่สาวน้องสาวคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ ที่ชื่อว่า หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของญาติ ได้แก่ หญิงที่มีญาติคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ ที่ชื่อว่า หญิงที่ยังอยู่ในความปกครองของตระกูล ได้แก่ หญิงที่มีบุคคล ร่วมตระกูลคอยระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ ที่ชื่อว่า หญิงที่มีธรรมคุ้มครอง ได้แก่ หญิงที่มีผู้ประพฤติธรรมร่วมกันคอย ระวัง ควบคุม ห้ามปราม ให้อยู่ในอำนาจ ที่ชื่อว่า หญิงที่มีคู่หมั้น ได้แก่ หญิงที่ถูกหมั้นหมายไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดย ที่สุดกระทั่งหญิงที่ชายสวมพวงดอกไม้ให้ด้วยกล่าวว่า “หญิงนี้เป็นของเรา” ที่ชื่อว่า หญิงที่มีกฎหมายคุ้มครอง ได้แก่ หญิงที่มีพระราชาบางองค์ทรง กำหนดโทษไว้ว่า “ชายที่ล่วงเกินหญิงคนนี้ ต้องได้รับโทษเท่านี้” ที่ชื่อว่า ภรรยาสินไถ่ ได้แก่ หญิงที่ชายเอาทรัพย์ซื้อมาอยู่ร่วมกัน ที่ชื่อว่า ภรรยาที่อยู่ด้วยความพอใจ ได้แก่ หญิงอันเป็นที่รักซึ่งชายคู่รักรับ ให้อยู่ร่วมกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๓๔๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๒. สังฆาทิเสสกัณฑ์]

๕. สัญจริตตสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า ภรรยาที่อยู่เพราะสมบัติ ได้แก่หญิงที่ชายยกสมบัติให้แล้วอยู่ร่วมกัน ที่ชื่อว่า ภรรยาที่อยู่เพราะแผ่นผ้า ได้แก่หญิงที่ชายมอบผ้าให้แล้วอยู่ร่วมกัน ที่ชื่อว่า ภรรยาที่เข้าพิธีสมรส ได้แก่ หญิงที่ชายจับมือจุ่มลงในภาชนะน้ำ ด้วยกันแล้วอยู่ร่วมกัน ที่ชื่อว่า ภรรยาที่ถูกปลงเทริด ได้แก่ หญิงที่ชายถอดเทริดลงแล้วอยู่ร่วมกัน ที่ชื่อว่า ภรรยาที่เป็นทั้งคนรับใช้เป็นทั้งภรรยา ได้แก่ หญิงที่เป็นทั้งทาส เป็นทั้งภรรยา ที่ชื่อว่า ภรรยาที่เป็นทั้งลูกจ้างเป็นทั้งภรรยา ได้แก่ หญิงที่เป็นทั้งลูกจ้าง เป็นทั้งภรรยา ที่ชื่อว่า ภรรยาที่เป็นเชลย ได้แก่ หญิงที่ถูกนำมาเป็นเชลย ที่ชื่อว่า ภรรยาชั่วคราว ได้แก่ หญิงที่อยู่ร่วมกันเป็นครั้งคราว

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๔๒-๓๔๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=1&A=9633&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=42              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=14568&Z=14821&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=421              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=421&items=11              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=421&items=11              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]