ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเป็นเช่นกับแผ่นดิน ศิษย์ (เป็นเช่นกับต้นไม้) ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมได้ผลเป็นอมตะ [๓๑๗] แม่น้ำสินธุ แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำจันทภาคา แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำสรภู และแม่น้ำมหี [๓๑๘] เมื่อแม่น้ำหลายสายนั้นไหลไป(ถึงทะเล)ทะเลย่อมรองรับไว้ แม่น้ำเหล่านั้นย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าทะเล ฉันใด [๓๑๙] วรรณะทั้ง ๔ ๑- เหล่านี้ก็ฉันนั้น มาบวชในสำนักของพระองค์แล้ว ก็ย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าพุทธบุตร [๓๒๐] ดวงจันทร์ปราศจากมลทินโคจรอยู่ในอากาศ มีแสงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่ดาวในโลกทั้งหมด ฉันใด [๓๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศิษย์แวดล้อม ก็ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นทั้งหมดในกาลทุกเมื่อ [๓๒๒] คลื่นเกิดขึ้นในน้ำลึกย่อมไม่ล่วงเลยล้นฝั่งไปได้ คลื่นเหล่านั้นกระทบฝั่งเป็นระลอก กระจายหายไปหมด ฉันใด [๓๒๓] เดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น มีทิฏฐิต่างกัน เป็นชนจำนวนมาก พวกเขาต้องการจะกล่าวธรรม แต่ก็ไม่ล่วงเลยพระองค์ผู้เป็นมุนีไปได้ [๓๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ก็ถ้าเดียรถีย์เหล่านั้น เข้ามาหาพระองค์ด้วยความประสงค์จะคัดค้าน ครั้นมาถึงสำนักของพระองค์แล้ว ก็จะกลายเป็นจุรณไป @เชิงอรรถ : @ วรรณะทั้ง ๔ หมายถึงตระกูล ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร (ขุ.อป.อ. ๑/๓๑๗-๓๑๙/๒๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๒๕] ดอกโกมุท ดอกบัวเผื่อน จำนวนมาก เกิดในน้ำแล้วติดอยู่กับน้ำและเปือกตม ฉันใด [๓๒๖] เหล่าสัตว์จำนวนมากก็ฉันนั้น เกิดมาในโลกแล้ว ถูกราคะและโทสะเบียดเบียน ย่อมงอกงาม(ในวัฏฏสงสาร) ดุจดอกโกมุทงอกงามในเปือกตม ฉะนั้น [๓๒๗] ดอกบัวหลวงเกิดในน้ำ งดงามอยู่กลางน้ำ (แต่)ดอกบัวหลวงนั้นยังคงบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันใด [๓๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น เป็นมหามุนี เกิดมาแล้วในโลก (แต่)ไม่ทรงติดอยู่กับโลก ดุจดอกบัวหลวงไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉะนั้น [๓๒๙] ดอกไม้หลายชนิดที่เกิดในน้ำ ย่อมแย้มบานในเดือน ๑๒ ไม่ล่วงเลยเดือน ๑๒ นั้นไป เพราะเดือน ๑๒ นั้นเป็นกาลสมัยที่ดอกไม้จะบาน ฉันใด [๓๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร พระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้ว ฉันนั้น เหล่าศิษย์ของพระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้วด้วยวิมุตติ ไม่ล่วงเลยคำสั่งสอนของพระองค์ไปได้ ดุจดอกบัวหลวงซึ่งแย้มบานด้วยน้ำ ไม่ล่วงเลยกาลสมัยเป็นที่แย้มบานไปได้ ฉะนั้น [๓๓๑] ต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปคล้ายกลิ่นทิพย์ แวดล้อมด้วยไม้สาละชนิดอื่น ย่อมงดงาม ฉันใด [๓๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงแย้มบานด้วยพระพุทธญาณ มีหมู่ภิกษุแวดล้อม ย่อมงดงาม ดุจพญาไม้สาละ ฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๓๓] เปรียบเหมือนภูเขาศิลาล้วนชื่อหิมวา เป็นภูเขาที่มีโอสถสำหรับสรรพสัตว์ เป็นที่อยู่ของพวกนาค อสูร และเทวดาทั้งหลาย [๓๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น ทรงเป็นดุจโอสถของสรรพสัตว์๑- ทรงได้วิชชา ๓ ได้อภิญญา ๖ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ [๓๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาพร่ำสอนแล้วนั้น ย่อมยินดีในธรรม อยู่ในศาสนาของพระองค์ [๓๓๖] ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อพอออกจากถ้ำที่อาศัยแล้ว เหลียวดูทิศทั้ง ๔ จึงบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง [๓๓๗] เมื่อราชสีห์ผู้พญาเนื้อคำราม สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัว อันที่จริง ชาติราชสีห์นี้ ย่อมทำให้เหล่าสัตว์สะดุ้งกลัวทุกเมื่อ ฉันใด [๓๓๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ พื้นพสุธานี้ย่อมหวั่นไหว เหล่าสัตว์ผู้ควรตรัสรู้ก็ย่อมตรัสรู้ เหล่าสัตว์ผู้อยู่ในหมู่มารย่อมสะดุ้ง ฉันนั้น [๓๓๙] ข้าแต่พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ เหล่าเดียรถีย์ทั้งปวงย่อมสะดุ้ง ดุจฝูงกา ฝูงเหยี่ยวบินกระเจิงไป ดุจฝูงสัตว์แตกกระเจิงไปเพราะราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อ ฉะนั้น [๓๔๐] เหล่าคณาจารย์บางพวกประชาชนเรียกกันว่า เป็นศาสดาในโลก ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมที่สืบๆ กันมาแก่ชุมนุมชน [๓๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แต่พระองค์หาเป็นอย่างนั้นไม่ ครั้นทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมทั้งมวลแก่เหล่าสัตว์ @เชิงอรรถ : @ เพราะทรงปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นจากชรา พยาธิ และมรณะ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๓๓-๓๓๔/๒๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๔๒] พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยและอนุสัย ทรงทราบว่าอินทรีย์มีกำลังแก่กล้าและไม่แก่กล้า ทรงทราบบุคคลสมควรและไม่สมควร๑- จึงทรงบันลือดุจมหาเมฆ [๓๔๓] เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของชุมนุมชนที่จะพึงนั่งรอบจักรวาล ผู้มีทิฏฐิต่างกัน มีความคิดคิดต่างกัน [๓๔๔] พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงรู้จิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวง ทรงฉลาดในข้ออุปมา ตรัสแก้ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น ก็ทรงตัดความสงสัยของเหล่าสัตว์เสียได้ [๓๔๕] พื้นแผ่นดินพึงเต็มด้วยมนุษย์ผู้เช่นกับจอกแหน พวกเขาทั้งหมดพึงประคองอัญชลี ประกาศคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๓๔๖] อีกอย่างหนึ่งเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น เมื่อประกาศคุณอยู่ตลอดกัปหนึ่ง๒- พึงประกาศคุณโดยประการต่างๆ ก็ยังไม่สามารถจะประกาศคุณให้สิ้นสุดได้ พระตถาคตมีพระคุณหาประมาณมิได้ [๓๔๗] ก็ข้าพระองค์สรรเสริญพระชินเจ้าด้วยกำลังของตนอย่างไร เหล่าเทวดาและมนุษย์เมื่อสรรเสริญอยู่ตลอดโกฏิกัป ก็พึงสรรเสริญอย่างนั้นเหมือนกัน @เชิงอรรถ : @ สมควรและไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงผู้สามารถบรรลุธรรมและไม่สามารถบรรลุธรรม @(ขุ.อป.อ. ๑/๓๔๒/๒๘๒) @ กัปหนึ่ง ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน กำหนดกันว่าโลกคือสากลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านเปรียบด้วย @อุปมาว่า เหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุกๆ ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อบาง @ละเอียดอย่างดีมาลูบเขานั้นครั้งหนึ่งๆ จนกว่าภูเขาลูกนั้น จะสึกหรอหมดสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่า @นั้นอีก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๔๘] ก็ถ้าใครๆ จะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม ได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว จะพึงกำหนดเพื่อจะประมาณ(คุณ) ผู้นั้นจะพึงได้รับความลำบากเปล่า [๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว สำเร็จปัญญาบารมีอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๓๕๐] ข้าพระองค์จะย่ำยีเหล่าเดียรถีย์ วันนี้ ข้าพระองค์เป็นจอมทัพธรรมในศาสนาของพระศากยบุตร ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า [๓๕๑] กรรมที่ข้าพระองค์ได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้ แสดงผลแก่ข้าพระองค์แล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้ ข้าพระองค์หลุดพ้นดีแล้ว ดุจกำลังลูกศรหลุดพ้นไปจากแล่ง เผากิเลสของข้าพระองค์ได้แล้ว [๓๕๒] มนุษย์คนใดคนหนึ่งพึงทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา เขาต้องลำบากเพราะของหนัก เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักทั้งหลาย [๓๕๓] ข้าพระองค์ถูกไฟ ๓ กอง๑- เผาไหม้อยู่ เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักคือภพ๒- โดยประการนั้น ท่องเที่ยวไปแล้วในภพทั้งหลาย ภูเขาสิเนรุอันบุคคลถอนขึ้นแล้วฉันใด [๓๕๔] ก็ภาระอันหนักข้าพระองค์ยกลงแล้ว ภพทั้งหลายข้าพระองค์ก็เพิกได้แล้ว ฉันนั้น @เชิงอรรถ : @ ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๒/๒๘๓, ๔๘๙-๔๙๐/๓๓๖) @ ของหนักคือภพ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดในภพ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๒-๓๕๓/๒๘๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

กิจที่ควรทำทั้งหมด๑- ในศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตร ข้าพระองค์ก็ได้กระทำสำเร็จแล้ว [๓๕๕] ตลอดพุทธเขตยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์ [๓๕๖] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ วันนี้ เมื่อต้องการจะเนรมิตคน ๑,๐๐๐ คนก็ได้ [๓๕๗] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหามุนี เป็นผู้ชำนาญในอนุปุพพวิหารธรรม ตรัสสอนแก่ข้าพระองค์ นิโรธสมาบัติเป็นที่นอนของข้าพระองค์ [๓๕๘] ข้าพระองค์มีทิพยจักษุบริสุทธิ์หมดจด ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน๒- ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ [๓๕๙] ข้าพระองค์ได้ทำกิจทุกอย่างที่สาวกจะพึงบรรลุแล้ว ยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกเสียแล้ว ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์ [๓๖๐] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ ได้ฌานและวิโมกข์๓- เร็วพลัน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ เป็นผู้บรรลุสาวกบารมีญาณ @เชิงอรรถ : @ กิจที่ควรทำทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงกรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยลำดับแห่งมรรค @(ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๔/๒๘๔) @ สัมมัปปธานมี ๔ คือ (๑) เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น (๒) เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว @(๓) เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (๔) เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว (ที.ปา. ๑๑/๓๑๐/๒๐๑) @ วิโมกข์ คือ ภาวะที่จิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้นๆ อย่างปล่อยตัวเต็มที่ @ในอรรถกถาหมายเอาโลกุตตรวิโมกข์ ๘ (อฏฺฐนฺนํ โลกุตฺตรวิโมกฺขานญฺจ ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๐/๒๘๔) คือ @๑-๒-๓. ผู้เจริญกสิณต่างๆ แล้วได้รูปฌาน ๔; ๔-๖-๗. ผู้ได้อรูปฌาน ๔; ๘. ผู้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ @ดูอีก (สํ.นิ.อ. ๒/๗๐/๑๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๖๑] ข้าพระองค์เป็นคนมีคารวะอย่างสูงสุด๑- เพราะได้บรรลุสาวกบารมีญาณด้วยความรู้ ข้าพระองค์มีจิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี๒- ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ [๓๖๒] ข้าพระองค์ละทิ้งความถือตัวและความเย่อหยิ่งแล้ว ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว๓- (หรือ) ดุจโคอุสภะตัวเขาหักเสียแล้ว เข้าหาหมู่คณะด้วยความเคารพหนักแน่น [๓๖๓] หากปัญญาของข้าพระองค์จะพึงมีรูปร่าง ปัญญาของข้าพระองค์ก็จะต้องเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณของพระผู้มีพระภาค พระนามว่าอโนมทัสสี [๓๖๔] ข้าพระองค์ประพฤติตามโดยชอบซึ่งพระธรรมจักร๔- นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณ [๓๖๕] บุคคลผู้มีความปรารถนาเลวทราม เป็นคนเกียจคร้าน ละความเพียร มีการศึกษาน้อย ไม่มีมารยาท๕- อย่าได้มาสมาคมกับข้าพระองค์ในที่ไหนๆ สักคราวเลย @เชิงอรรถ : @ คำว่า ปุริสุตฺตมคารวา ในฉบับพม่า และ ขุ.เถร.อ. ๒/๔๓๓ (ซึ่งท่านยกคาถาจากอปทานไปกล่าวไว้)เป็น @ปุริสุตฺตมภารวา จึงแปลตามนั้น ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า เพราะคำว่า ปุริสุตฺตมคารวา เป็นพหูพจน์ ดูไม่สม @กับข้อความข้างต้นและข้างท้าย ซึ่งท่านกล่าวเป็นเอกพจน์ ส่วน ปุริสุตฺตมภารวา เป็นเอกพจน์ สมกับ @ข้างต้นและข้างท้าย ในอปทานอรรถกถาท่านมิได้แก้ไว้ @ เพื่อนสพรหมจารี หมายถึงผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพื่อนบรรพชิต @ คำว่า อุทฺธฏทาโฒ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น อุทฺธตวิโส ถูกรีดพิษออกแล้ว (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๒/๒๘๔) @ ธรรมจักร ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม) (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๔/๒๘๕) @ หีน ใช้ในอรรถว่าละ หา จาเค อิโน ทีฆาทิ หีโน = หา ธาตุใช้ในอรรถว่าละ อินปัจจัย ทีฆะต้นธาตุ @สำเร็จรูปเป็นหีโน (อภิธา.ฏีกา ข้อ ๗๕๔), มีความปรารถนาเลวทราม หมายถึงมีความปรารถนาลามกแล้ว @ประพฤติชั่ว, @เป็นคนเกียจคร้าน หมายถึงเกียจคร้านในการทำวัตรปฏิบัติในอิริยาบถมีการยืนและนั่งเป็นต้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

[๓๖๖] ส่วนบุคคลผู้มีการศึกษามาก มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย หมั่นประกอบความสงบทางใจ ขอจงมาดำรงอยู่บนศีรษะของข้าพระองค์เถิด [๓๖๗] (เมื่อพระสารีบุตรเถระจะชักชวนภิกษุอื่นๆ ในคุณสมบัตินั้น จึงกล่าวว่า) เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวกับท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ตามจำนวนที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ยินดีให้ทานทุกเมื่อเถิด [๓๖๘] ข้าพเจ้าพบสาวกรูปใดก่อนแล้ว ได้เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทินคือกิเลส สาวกรูปนั้นมีนามว่าอัสสชิ เป็นนักปราชญ์ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า [๓๖๙] ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระอัสสชิเถระนั้น วันนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นธรรมเสนาบดีถึงความสำเร็จในคุณทั้งปวง จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๓๗๐] พระสาวกรูปใดชื่อว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า อยู่ ณ ทิศใด ข้าพเจ้าจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น [๓๗๑] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพเจ้าแล้ว ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุ ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอัครสาวก [๓๗๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว @เชิงอรรถ : @ละความเพียร หมายถึงละความเพียรในการเจริญฌาณ สมาธิและมรรคเป็นต้น @มีการศึกษาน้อย หมายถึงเว้นจากคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ @ไม่มีมารยาท หมายถึงไม่มีมารยาทในบุคคลมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๕/๒๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค]

๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน

ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้อยู่อย่างอิสระ [๓๗๓] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ ๑- วิโมกข์ ๘ ๒- และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว๓- ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สารีปุตตเถราปทานที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ปฏิสัมภิทา ๔ คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย (๒) ธัมมปฏิ- @สัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งในหลัก (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ @ปรีชาแจ้งในภาษา (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ @มีไหวพริบ (องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๒/๒๔๒-๒๔๓, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๑๐/๑๗๐, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๒๕/๔๖๑) @ วิโมกข์ ๘ คือ (๑) ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย (ได้แก่รูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณที่กำหนด @วัตถุในกายของตน เช่น สีผม) (๒) ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก (ได้แก่ อรูปฌาน @๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณกำหนดอารมณ์ภายนอก) (๓) ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า “งาม” (ได้แก่ ฌานของ @ผู้เจริญวรรณกสิณกำหนดสีที่งาม หรือเจริญอัปปมัญญา) (๔) เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดย @ประการทั้งปวงเพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพระไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดย @มนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ (๕) เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึง @วิญญาณัญจายตนะโดยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ (๖) เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดย @ประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะโดยมนสิการว่าไม่มีอะไรเลย (๗) เพราะล่วงเสียซึ่ง @อากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ (๘) เพราะล่วงเสียซึ่งเนว- @สัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ (ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, @องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-๓๖๙) หรือ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ หรือ รูปฌาน และอรูปฌาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๑/๒๘๖) @ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำให้สำเร็จแล้ว หมายถึงคำสั่งสอนเป็นอนุศาสนีและโอวาท @ของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าให้สำเร็จด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๑/๒๘๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๕๘}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๕๐-๕๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=32&A=1474&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=32&siri=3              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=290&Z=675&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=3              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=3&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=3&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]