บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
๑. ปาราชิกกัณฑ์ ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ ว่าด้วยการเสพเมถุนธรรม สุทินภาณวาร [๒๔] สมัยนั้น ที่หมู่บ้านกลันทคามไม่ห่างจากกรุงเวสาลี มีบุตรชายเศรษฐี ชาวกลันทคาม ชื่อสุทิน วันหนึ่ง เขามีธุระบางอย่างจึงเดินทางไปในกรุงเวสาลีกับเพื่อนๆ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังประทับนั่งแสดงธรรมห้อมล้อมด้วยบริษัทจำนวนมาก เขาได้เห็นแล้ว มีความคิดว่า ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะได้ฟังธรรมบ้าง จึงเข้าไปยัง บริษัทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้มีความคิดดังนี้ว่า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรง แสดงนั้น เราเข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราควรจะ ปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริก ต่อจากนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้ อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว บริษัทก็ลุกขึ้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป [๒๕] หลังจากบริษัทจากไปไม่นาน สุทินกลันทบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ ภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร สุทินกลันทบุตรผู้นั่ง ณ ที่ สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ธรรมตามที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนมา บวช เป็นอนาคาริก ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณาให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชด้วยเถิด สุทิน มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริกแล้วหรือ ยังมิได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๗}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
สุทิน พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่บวชให้กุลบุตรที่มารดาบิดายังไม่อนุญาต ข้าพระพุทธเจ้า จักหาวิธีให้มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจาก เรือนมาบวชเป็นอนาคาริก พระพุทธเจ้าข้าขออนุญาตออกบวช [๒๖] ต่อมา สุทินกลันทบุตรทำธุระในกรุงเวสาลีเสร็จแล้ว กลับไปหา มารดาบิดาที่กลันทคาม ครั้นถึงแล้วจึงกล่าวกับมารดาบิดาดังนี้ว่า คุณพ่อคุณแม่ ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ลูกเข้าใจว่า การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะ ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้วนี้มิใช่ทำได้ง่าย ลูกปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนไปบวชเป็น อนาคาริก คุณพ่อคุณแม่โปรดอนุญาตให้ลูกออกไปบวชเป็นอนาคาริกเถิด เมื่อสุทินกลันทบุตรกล่าวอย่างนี้ มารดาบิดาตอบว่า ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูก คนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการ เลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิดหนึ่งลูกก็ยังไม่รู้จัก ถึงลูกจะตายไป พ่อแม่ ก็ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉน พ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือน ไปบวชเป็นอนาคาริกเล่า สุทินกลันทบุตรได้กล่าวกับมารดาบิดาดังนี้เป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ มารดาบิดาก็ตอบว่า ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคนเดียว ฯลฯ เหตุไฉน พ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริกเล่า [๒๗] ลำดับนั้น สุทินกลันทบุตรวิตกว่า มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เราบวชแน่ จึงนอนบนพื้นที่ไม่มีเครื่องปูลาด ณ ที่นั้นเอง ตัดสินใจว่า เราจักตาย หรือจักได้บวช ก็ที่ตรงนี้แหละ และแล้วเขาก็อดอาหารไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ ๑ มื้อ ๒ มื้อ ๓ มื้อ ๔ มื้อ ๕ มื้อ ๖ มื้อ จนถึง ๗ มื้อมารดาบิดาไม่อนุญาต [๒๘] ถึงกระนั้น มารดาบิดาของเขาก็คงยืนยันว่า ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคน เดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๘}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
เลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิดหนึ่ง ลูกก็ยังไม่รู้จัก ถึงลูกจะตายไป พ่อแม่ก็ ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉนพ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไป บวชเป็นอนาคาริกได้เล่า ลุกขึ้นเถิด ลูกสุทิน จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงพอใจกิน ดื่ม รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญเถิด ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็จะไม่อนุญาตให้ลูก บวชแน่ เมื่อมารดาบิดากล่าวอย่างนี้ สุทินกลันทบุตรได้นิ่งเฉยเสีย มารดาบิดาได้ ยืนยันกะสุทินกลันทบุตรแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ว่า ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคนเดียว เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ ฯลฯ ลูกสุทิน จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงพอใจกิน ดื่ม รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญเถิด ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็จะไม่อนุญาตให้ลูกบวชแน่ สุทินกลันทบุตรก็ได้นิ่งเป็นครั้งที่ ๓พวกเพื่อนช่วยเจรจา ต่อมา พวกเพื่อนของสุทินกลันทบุตร พากันเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้ ปลอบใจว่า สุทินเพื่อนรัก เพื่อนเป็นลูกคนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิด หนึ่ง เพื่อนก็ยังไม่รู้จัก ถึงเพื่อนจะตายไป พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉน พ่อแม่จะยอมให้เพื่อนผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริกได้เล่า ลุกขึ้นเถิด เพื่อนรัก เพื่อนจงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง พอใจกิน ดื่ม รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญ เถิด ถึงจะอย่างไร พ่อแม่ก็ไม่อนุญาตให้เพื่อนบวชแน่ เมื่อพวกเพื่อนกล่าวอย่างนี้ สุทินกลันทบุตรก็ได้แต่นิ่งเฉย พวกเพื่อนได้ ปลอบใจสุทินกลันทบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓ ว่า สุทินเพื่อนรัก เพื่อน เป็นลูกคนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ ฯลฯ พ่อแม่ก็ไม่อนุญาตให้เพื่อนบวช แน่ สุทินกลันทบุตรก็ได้นิ่งเฉยเป็นครั้งที่ ๓ [๒๙] ต่อมา พวกสหายพากันเข้าไปหามารดาบิดาของสุทินกลันทบุตรถึง ที่อยู่ กล่าวว่า คุณพ่อคุณแม่ครับ สุทินนอนบนพื้นที่ไม่มีเครื่องปูลาดตัดสินใจว่า เราจักตาย หรือจักได้บวชก็ที่ตรงนี้แหละ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมให้เขาบวช เขาจัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๙}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
ตาย ณ ที่ตรงนั้นแน่ แต่ถ้ายอมให้เขาออกบวช คุณพ่อคุณแม่ ก็ยังจะได้พบเห็น เขาแม้บวชแล้ว ถ้าไม่ยินดีจะบวชอยู่ต่อไป เขาจะมีทางไปที่ไหนอื่นเล่า จะต้องกลับ มาที่นี้แหละ อนุญาตให้เขาบวชเถิดขอรับ มารดาบิดาของสุทินจึงกล่าวว่า ลูก ทั้งหลาย พ่อและแม่อนุญาตให้เขาบวชได้สุทินกลันทบุตรออกบวช ต่อมา พวกเพื่อนพากันเข้าไปหาเขาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับสุทิน กลันทบุตรดังนี้ว่า ลุกขึ้นเถิดสุทินเพื่อนรัก มารดาบิดาอนุญาตให้เพื่อนบวชแล้ว [๓๐] ทันใดนั้น พอสุทินกลันทบุตรได้ทราบว่า มารดาบิดาอนุญาตให้บวช ก็ร่าเริงดีใจมาก ลุกขึ้นมาใช้ฝ่ามือเช็ดตัว บำรุงกำลังอยู่ ๒-๓ วัน แล้วไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่ สมควร สุทินกลันทบุตรผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจากเรือนมาบวชเป็นอนาคาริกแล้ว ขอ พระผู้มีพระภาคได้โปรดบวชให้ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า สุทินกลันทบุตรได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระพุทธเจ้า เมื่อ บวชได้ไม่นาน ท่านพระสุทินได้ถือธุดงควัตรดังนี้ คือ อยู่ป่าเป็นวัตร ๑ เที่ยว บิณฑบาตเป็นวัตร ๑ ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๑ เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน เป็นวัตร ๑ พักอาศัยอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่งพระสุทินกลันทบุตรไปเยี่ยมบ้าน สมัยนั้น แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาต ยังชีพได้ ท่านพระสุทินได้มีความคิดดังนี้ว่า บัดนี้ แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาว เกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้ แต่ในกรุงเวสาลี เรามีญาติอยู่จำนวน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๐}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
มาก ซึ่งล้วนแต่เป็นครอบครัวมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มี เครื่องประดับมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก๑- อย่ากระนั้นเลย เราควรจะไปอาศัย พวกญาติอยู่ ถึงพวกญาติก็จะอาศัยเราทำบุญถวายทาน ภิกษุทั้งหลายจักมีลาภ และเราก็ไม่เดือดร้อนเรื่องบิณฑบาต ครั้งนั้น ท่านพระสุทินจึงเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวรแล้วจาริกไปทางกรุง เวสาลี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงเวสาลี ทราบว่า ท่านพระสุทินพักอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีนั้น บรรดาญาติของท่านพอทราบข่าวว่า พระสุทินกลันทบุตรกลับมากรุงเวสาลี จึงนำอาหาร ๖๐ สำรับไปถวาย ท่านสละอาหารทั้งหมดถวายภิกษุทั้งหลายแล้ว ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านกลันทคามในตอนเช้า เที่ยวบิณฑบาตไปในหมู่บ้านกลันทคามตามลำดับเรือน เดินตรงไปทางบ้านโยมบิดา [๓๑] พอดีขณะนั้น ทาสหญิงของญาติกำลังจะทิ้งขนมกุมมาสค้างคืน ท่าน บอกทาสหญิงว่า ถ้าจะทิ้งสิ่งนั้น ก็จงใส่บาตรของอาตมาเถิด ขณะที่ทาสหญิง กำลังเกลี่ยขนมกุมมาสค้างคืนลงบาตร นางจำเค้ามือ เท้า และน้ำเสียงของพระสุทิน ได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาของท่านแล้วกล่าวว่า คุณนายเจ้าขา โปรดทราบเถิดว่า พระสุทินบุตรคุณนายกลับมาแล้ว เจ้าค่ะ มารดาของพระสุทินกล่าวว่า ถ้าเธอพูดจริง เราจะปลดปล่อยเธอให้เป็นไท [๓๒] ขณะที่ท่านพระสุทินกำลังนั่งพิงฝาเรือนแห่งหนึ่งฉันขนมกุมมาสค้าง คืนอยู่ พอดีโยมบิดาของท่านเดินกลับจากทำงาน ได้เห็นท่านกำลังนั่งฉันขนมกุม มาสค้างคืนอยู่ ครั้นเห็นแล้วจึงตรงเข้าไปหาถึงที่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับท่านพระ สุทินดังนี้ว่า อะไรกันลูกสุทิน ลูกฉันขนมกุมมาสค้างคืนหรือ ลูกควรไปบ้านของลูก มิใช่หรือ @เชิงอรรถ : @๑ โคธนาทีนญฺจ สตฺตวิธธญฺญานญฺจ ปหูตตาย ปหูตธนธญฺญา มีทรัพย์คือโคเป็นต้น และมีข้าวเจ็ด @ชนิดมาก (สํ.อ. ๑/๑๑๔/๑๓๑), มีทรัพย์คือรัตนะ ๗ และข้าวเปลือกอันสงเคราะห์ด้วยบุพพัณชาติและ @อปรัณชาติมาก (สารตฺถ.ฏีกา ๒/๓๐/๘), ดูข้อ ๑๐๔ หน้า ๘๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๑}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
ท่านพระสุทินตอบว่า อาตมาไปที่บ้านของโยมมาแล้ว ขนมกุมมาสค้างคืน นี้ก็ได้มาจากที่บ้านนั้น ทันใดนั้น บิดาจับแขนท่านพระสุทินกล่าวว่า มาเถิดลูกสุทินไปบ้านด้วยกัน ท่านพระสุทินจึงเดินตรงไปบ้านของโยมบิดา ครั้นถึงแล้ว ได้นั่งบนอาสนะที่ เขาจัดถวาย บิดาของท่านสุทินกล่าวว่า นิมนต์ท่านฉันเถิด ไม่ละโยม วันนี้อาตมาฉันอิ่มแล้ว ขอนิมนต์รับฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้เถิด ท่านพระสุทินรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ แล้วก็ลุกจากอาสนะหลีกไปบิดาวิงวอนให้ลาสิกขา [๓๓] ในคืนนั้น มารดาของพระสุทินสั่งให้เอามูลโคสดมาฉาบทาพื้นดินแล้ว แบ่งทรัพย์ออกเป็น ๒ กอง คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง เป็นกองใหญ่เท่าๆ กัน สูงท่วมศีรษะ คนยืนอยู่ข้างนี้จะมองไม่เห็นคนยืนอยู่ข้างโน้น คนยืนอยู่ข้างโน้นจะ มองไม่เห็นคนยืนอยู่ข้างนี้ ใช้เสื่อลำแพนปิดกองทรัพย์ไว้ ตรงกลางจัดอาสนะใช้ม่าน ล้อมเป็นวงเสร็จแล้วเรียกอดีตภรรยาของท่านพระสุทินมาสั่งว่า ลูกหญิง เธอจง แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ลูกสุทินเคยรักใคร่ชอบใจ ลูกสะใภ้รับคำสั่งแม่ผัวแล้ว [๓๔] พอรุ่งเช้า ท่านพระสุทินครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปถึง เรือนโยมบิดา ครั้นถึงแล้ว ได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ลำดับนั้น โยมบิดาของท่านเข้าไปหาแล้วให้คนเปิดกองทรัพย์ออก กล่าวว่า ลูกสุทิน นี่คือทรัพย์ฝ่ายมารดาเป็นสมบัติฝ่ายหญิงที่ได้รับมาทางฝ่ายมารดา ของ พ่อมีอีกต่างหาก ส่วนของปู่อีกต่างหาก ลูกสุทินจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้ใช้ สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ ท่านพระสุทินตอบว่า โยม อาตมาไม่อาจไม่สามารถ อาตมายังพอใจ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ โยมบิดาของพระสุทินวิงวอนเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ลูกสุทิน นี่ คือทรัพย์ฝ่ายมารดาเป็นสมบัติฝ่ายหญิงที่ได้รับมาทางฝ่ายมารดา ของพ่อมีอีกต่าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๒}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
หาก ส่วนของปู่อีกต่างหาก ลูกสุทินจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้ใช้สอยทรัพย์ สมบัติและทำบุญ ท่านพระสุทินตอบว่า อาตมาขอพูดบ้าง ถ้าโยมไม่ขัดข้อง บิดาของท่านตอบว่า นิมนต์พูดเถิด ลูกสุทิน ท่านพระสุทินกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น โยมพ่อจงสั่งให้ทำกระสอบป่านใบใหญ่ๆ บรรจุเงินทองให้เต็ม บรรทุกเกวียนไปแล้วโยนลงกลางแม่น้ำคงคา เพราะอะไร เพราะโยมพ่อจะไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่ต้องขนพองสยองเกล้า ไม่ต้องมี การดูแลรักษาซึ่งมีสาเหตุมาจากทรัพย์นั้นเลย เมื่อท่านพระสุทินกล่าวอย่างนี้ โยมบิดาของท่านเสียใจด้วยคิดว่า ลูกสุทิน กล่าวอย่างนี้ได้อย่างไร [๓๕] ต่อมา บิดาของพระสุทินเรียกอดีตภรรยาของท่านมาสั่งว่า ลูกหญิง เจ้าเป็นที่รักใคร่พอใจ บางทีลูกสุทินจะเชื่อเจ้าบ้าง ทันใดนั้น นางจึงจับเท้าทั้ง ๒ ของพระสุทินพลางถามว่า หลวงพี่ นางอัปสร พวกไหนเล่าผู้เป็นต้นเหตุให้หลวงพี่ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านพระสุทินตอบว่า น้องหญิง อาตมาไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะ นางอัปสรเป็นเหตุ นางเสียใจด้วยคิดว่า วันนี้ เป็นวันแรกที่หลวงพี่สุทินเรียกเราว่า น้องหญิง จึงล้มสลบลงตรงนั้นเอง ท่านพระสุทินบอกโยมบิดาว่า โยมพ่อ ถ้าโยมจะถวายโภชนะก็จงถวาย อย่าทำให้อาตมาลำบากใจเลย บิดาของท่านจึงนิมนต์ให้ฉัน จากนั้นมารดาบิดา ของท่านประเคนของเคี้ยวของฉันอันประณีต จนกระทั่งอิ่มหนำ จากนั้นมารดาบอก พระสุทินผู้ฉันเสร็จว่า ลูกสุทิน ตระกูลเรานี้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมี ทองมาก มีเครื่องประดับมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ท่านควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ มาเถิดลูกสุทิน กลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้ ใช้สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ ท่านพระสุทินตอบว่า โยมแม่ อาตมาไม่อาจไม่สามารถ อาตมายังพอใจ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๓}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
มารดาพระสุทินวิงวอนแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ นางกล่าวว่า ลูกสุทิน ตระกูลเรานี้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มีเครื่องประดับมาก มี ทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกจงให้ผู้สืบเชื้อสายไว้ เจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบมรดกของ เราที่ขาดผู้สืบสกุล คุณโยม เรื่องนี้อาตมาพอจะทำได้ เวลานี้ ลูกพักอยู่ที่ไหน อาตมาพักอยู่ที่ป่ามหาวัน พระสุทินตอบแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปพระสุทินเสพเมถุนธรรม [๓๖] หลังจากนั้น มารดาของท่านพระสุทินเรียกอดีตภรรยาพระสุทินมาสั่ง ว่า ลูกหญิง เมื่อถึงเวลาที่เจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เจ้าต้องบอกแม่ นางรับคำ ต่อมาเมื่อนางมีระดู ต่อมโลหิตเกิดขึ้นจึงบอกแม่ผัวว่า ดิฉันมีระดู ต่อมโลหิตเกิดแล้ว มารดากล่าวว่า ลูกหญิง ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ลูกสุทิน เคยรักใคร่ชอบใจเถิด นางก็ปฏิบัติตามคำของแม่ผัว ต่อมา มารดาพาสะใภ้ไปหาท่านพระสุทินที่ป่ามหาวัน กล่าวว่า ลูกสุทิน ตระกูลเรามั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มีเครื่องประดับมาก มี ทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติและ ทำบุญ พระสุทินตอบว่า อาตมาไม่อาจ ไม่สามารถ อาตมายังพอใจประพฤติ พรหมจรรย์อยู่ มารดาพระสุทินวิงวอนเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ นางกล่าวว่า ลูก สุทิน ตระกูลเรานี้มั่งคั่ง ฯลฯ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกจงให้ผู้สืบเชื้อสายไว้ เจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบมรดกของเราที่ขาดผู้สืบสกุล พระสุทินตอบว่า โยม เรื่องนี้อาตมาพอจะทำได้ แล้วจับแขนอดีตภรรยา พาเข้าป่ามหาวัน เพราะยังมิได้บัญญัติสิกขาบท จึงเห็นว่าไม่มีโทษ ได้เสพเมถุน ธรรมกับอดีตภรรยา ถึง ๓ ครั้ง นางตั้งครรภ์เพราะเหตุนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๔}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
ทวยเทพกระจายข่าว ทวยเทพชั้นภุมมะ กระจายข่าวว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ไม่เคยมีเสนียดไม่ เคยมีโทษ พระสุทินกลันทบุตร ก่อเสนียด ก่อโทษขึ้นแล้ว ทวยเทพชั้นจาตุมมหาราชสดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจาย ข่าวต่อไป ฯลฯ ทวยเทพชั้นดาวดึงษ์ ฯลฯ ทวยเทพชั้นยามา ฯลฯ ทวยเทพชั้นดุสิต ฯลฯ ทวยเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ ทวยเทพที่ นับเนื่องในหมู่พรหมสดับเสียงแล้วก็กระจายข่าวกันต่อไปว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ ไม่เคยมีเสนียด ไม่เคยมีโทษ พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียด ก่อโทษขึ้นแล้ว เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วย ประการฉะนี้ ต่อมา อดีตภรรยาของพระสุทินครรภ์แก่จึงคลอดบุตร พวกเพื่อนของ พระสุทินตั้งชื่อเด็กคนนั้นว่า เด็กชายพีชกะ๑- เรียกอดีตภรรยาของพระสุทินว่า พีชกมารดา เรียกพระสุทินว่าพีชกบิดา ต่อมาทั้งมารดาทั้งบุตรได้ออกจากเรือนไป บวชเป็นอนาคาริก ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พระสุทินเกิดความเดือดร้อนใจ [๓๗] ต่อมา พระสุทินเกิดความกลุ้มใจเดือดร้อนใจว่า ไม่ใช่ลาภของเรา หนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ ถึงจะเข้ามาบวชใน พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต เพราะความกลุ้มใจ เดือดร้อนใจนั้น ท่านจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง มีเรื่องในใจ ใจหดหู่ เป็นทุกข์ เสียใจ เดือดร้อนใจ เศร้าซึม @เชิงอรรถ : @๑ พีชกะ หมายถึง ผู้สืบเชื้อสาย ที่ตั้งชื่อให้ว่า พีชกะ เพราะย่าได้เคยกล่าวว่า พีชกํปิ เทหิ จงให้ผู้สืบ @เชื้อสาย (วิ.อ. ๑/๓๖/๒๒๔). {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๕}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
[๓๘] ฝ่ายภิกษุผู้เป็นเพื่อนของพระสุทิน กล่าวกับท่านสุทินว่า ท่านสุทิน เมื่อก่อนท่านมีผิวพรรณเปล่งปลั่งกระชุ่มกระชวย หน้าตาสดใส มีน้ำมีนวล แต่บัดนี้ ดูท่านซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง มีเรื่องในใจ ใจหดหู่ เป็นทุกข์ เสียใจ เดือดร้อนใจ เศร้าซึม ท่านไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์กระมัง พระสุทินตอบว่า ท่านทั้งหลาย ความจริงไม่ใช่กระผมจะไม่ยินดีประพฤติ พรหมจรรย์ กระผมมีบาปกรรมที่ทำไว้ คือ ได้เสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา กระผมจึงเกิดความกลุ้มใจเดือดร้อนใจว่า มิใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีหนอ ถึงจะเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระ ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ตลอดชีวิต ภิกษุผู้เป็นเพื่อนกล่าวว่า จริงทีเดียวท่านสุทิน การที่ท่านเข้ามาบวชในพระ ธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วแต่ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต ก็พอที่จะทำให้กลุ้มใจ เดือดร้อนใจได้ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมไว้โดยประการต่างๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อความกำหนัด เพื่อความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อคลายความกำหนัด ท่านก็ยังจะ คิดเพื่อความกำหนัด ทรงแสดงธรรมเพื่อความพราก ท่านก็ยังจะคิดเพื่อความประกอบ ไว้ ทรงแสดงธรรมเพื่อความไม่ถือมั่น ท่านก็ยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น พระผู้มีพระ ภาคทรงแสดงธรรมโดยประการต่างๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับ ความกระหาย เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลาย ความกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกการละ กาม การกำหนดรู้ความสำคัญในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอน ความตรึกในกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่างๆ มิใช่หรือ การกระทำของท่านนั้น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใส อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๖}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
[๓๙] ครั้นภิกษุผู้เป็นเพื่อนเหล่านั้นตำหนิพระสุทินโดยประการต่างๆ แล้ว นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระสุทินว่า สุทิน ทราบว่า เธอเสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา จริงหรือ พระสุทินทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่ คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย เธอบวชในธรรม วินัยที่เรากล่าวดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ตลอดชีวิตเล่า เราแสดงธรรมโดยประการต่างๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อ ความกำหนัด เพื่อความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่ เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อคลายความกำหนัด เธอก็ยังจะคิด เพื่อความกำหนัด เราแสดงธรรมเพื่อความพราก เธอก็ยังจะคิดเพื่อความประกอบไว้ เราแสดงธรรมเพื่อความไม่ถือมั่น เธอก็ยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น เราแสดงธรรม โดยประการต่างๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับความกระหาย เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ เราบอกการละกาม การกำหนดรู้ความสำคัญ ในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกในกาม การระงับ ความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่างๆ มิใช่หรือ โมฆบุรุษ เธอสอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้า องค์กำเนิดสตรี สอดองคชาตเข้าปากงูเห่าเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิด สตรี สอดองคชาตเข้าหลุมถ่านไฟเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดสตรี เพราะอะไรเล่า เพราะผู้สอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเป็นต้น พึงถึงความตาย หรือทุกข์ปางตายเพราะการกระทำนั้นเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วก็ไม่ต้องไปบังเกิด ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนผู้สอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดสตรี หลังจากตาย แล้วต้องไปบังเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๗}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร
โมฆบุรุษ ในการที่เธอเสพอสัทธรรม ซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาท ของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ ต้องทำกัน สอง ต่อสองนี้มีโทษมาก เธอเป็นคนแรกที่ก่ออกุศลธรรมก่อนใครๆ การทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว บางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระสุทินโดยประการต่างๆ แล้ว ได้ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความ เกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ ความ ขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยประการต่างๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้น แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ ๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม ๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๖. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต ๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว ๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๘}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระบัญญัติ
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑- แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้พระบัญญัติ ก็ ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก๒- หาสังวาสมิได้ สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้สุทินภาณวาร จบ เรื่องลิงตัวเมีย [๔๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งให้อาหารเลี้ยงลิงตัวเมียในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี แล้วเสพเมถุนธรรมกับนางลิงนั้น ครั้นเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสก ถือบาตรและ จีวรไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ต่อมาภิกษุหลายรูปจาริกไปตามเสนาสนะ เดินผ่าน ไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น นางลิงเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกลจึงตรงเข้าไปหา แล้วส่ายสะเอว แกว่งหาง โก่งตะโพกขึ้น ทำท่าทางต่างๆ ต่อหน้าภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันสันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นคงจะเสพเมถุนธรรมกับนางลิงตัว นี้แน่ แล้วแอบอยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่งจนกระทั่งภิกษุเจ้าถิ่นเที่ยวบิณฑบาตในกรุง เวสาลี แล้วถืออาหารบิณฑบาตกลับมา @เชิงอรรถ : @๑ ข้อ ๑,๒ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือสงฆ์ @ข้อ ๓,๔ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล @ข้อ ๕,๖ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต @ข้อ ๗,๘ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน @ข้อ ๙,๑๐ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา @ข้อ ๑๐ คำว่า เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย หมายถึง เพื่อเชิดชู ค้ำจุน ประคับประคองพระวินัย ๔ อย่าง คือ @สังวรวินัย ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๖-๒๓๗) @๒ เป็นผู้พ่ายแพ้ ถึงความพ่ายแพ้ คือ เป็นผู้เคลื่อน พลัดตก เหินห่างจากพระสัทธรรม (สารตฺถ.ฏีกา. ๒/ @๕๕/๑๐๓-๑๐๔), ปาราชิกศัพท์นั้น หมายถึงตัวสิกขาบท หมายถึงตัวอาบัติ หมายถึงบุคคล ในที่นี้หมายถึง @บุคคล (วิ.อ. ๑/๕๕/๒๗๗). {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๒๙}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๗-๒๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=2 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=316&Z=670 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=10 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=10&items=11 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=4913 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=10&items=11 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=4913 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pj1/en/brahmali#pli-tv-bu-vb-pj1:5.0.1
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]