ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑
๒. ทุติยอนิยตสิกขาบท
ว่าด้วยการนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง
เรื่องพระอุทายี
[๔๕๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีคิดว่า “พระผู้มีพระ ภาคทรงห้ามการนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับพอจะทำการได้กับมาตุคามสองต่อสอง” จึงนั่งเจรจา กล่าวธรรมเหมาะแก่กาลกับหญิงสาวคนเดิม
นางวิสาขามิคารมารดาตำหนิพระอุทายี
แม้ครั้งที่ ๒ นางวิสาขามิคารมารดาได้รับเชิญไปสู่ตระกูลนั้น ได้เห็นท่านพระ อุทายีนั่งในที่ลับกับหญิงสาวสองต่อสอง จึงกล่าวกับท่านพระอุทายีว่า “พระคุณเจ้า การที่ท่านนั่งในที่ลับกับหญิงสาวเช่นนี้ ไม่เหมาะ ไม่สมควร ท่านไม่ปรารถนาเมถุนก็จริง ถึงอย่างนั้น ชาวบ้านที่ยังไม่เลื่อมใสก็จะทำให้เชื่อยาก” ท่านพระอุทายีถูกนางวิสาขาว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่เชื่อ นางวิสาขาจึงออกไปบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน พระอุทายีจึงนั่งในที่ลับกับหญิงสาวสองต่อสองเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่าน พระอุทายีโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุทายีว่า “อุทายี ทราบว่า เธอนั่งในที่ลับกับหญิงสาวสองต่อสอง จริงหรือ” ท่านทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนั่งในที่ลับกับหญิงสาวสองต่อสองเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๗๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๓. อนิยตกัณฑ์]

๒. ทุติยอนิยตสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

อย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๕๓] ก็ สถานที่ไม่ใช่อาสนะที่กำบัง ไม่พอจะทำการได้ แต่เป็นสถาน ที่พอจะพูดเกี้ยวมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้ ก็ภิกษุใดนั่งบนอาสนะเช่นนั้น ในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสอง อุบาสิกามีวาจาเชื่อถือได้ ได้เห็นภิกษุนั่งกับ มาตุคามนั้นแล้วกล่าวโทษด้วยอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ ภิกษุยอมรับการนั่ง พึงถูกปรับด้วยอาบัติอย่าง ใดอย่างหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อีกอย่างหนึ่ง อุบาสิกาผู้มีวาจาเชื่อถือได้นั้นกล่าวโทษด้วยอาบัติใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วย อาบัตินั้น อาบัตินี้ชื่อว่า อนิยต
เรื่องพระอุทายี จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๕๔] คำว่า ก็ สถานที่ไม่ใช่อาสนะที่กำบัง อธิบายว่า อาสนะเปิดเผยคือ ที่ไม่ได้กำบังด้วยฝา บานประตู เสื่อลำแพน ม่านบัง ต้นไม้ เสา หรือพ้อมอย่างใด อย่างหนึ่ง คำว่า ไม่พอจะทำการได้ คือ ไม่อาจจะเสพเมถุนกันได้ คำว่า แต่เป็นสถานที่พอจะพูดเกี้ยวมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบได้ คือ อาจพูดเกี้ยวมาตุคามด้วยคำชั่วหยาบ คำว่า ก็... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า บนอาสนะเช่นนั้น คือ บนอาสนะเห็นปานนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๘๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๓. อนิยตกัณฑ์]

๒. ทุติยอนิยตสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่สัตว์ ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต คำ หยาบและคำสุภาพ คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน คำว่า สองต่อสอง ได้แก่ ภิกษุกับมาตุคาม ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตาและลับหู ที่ชื่อว่า ที่ลับตา หมายถึง สถานที่ซึ่ง เมื่อบุคคลขยิบตา ยักคิ้ว หรือผงกศีรษะขึ้นใครๆ ก็ไม่สามารถเห็นได้ ที่ชื่อว่า ที่ลับหู หมายถึง ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตามปกติได้ คำว่า นั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่ง ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ เมื่อ ภิกษุนั่ง มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ หรือนั่งทั้งสองคน หรือนอนทั้งสองคน อุบาสิกาชื่อว่า มีวาจาเชื่อถือได้ คือ หญิงผู้บรรลุผล ผู้ตรัสรู้ธรรม ผู้เข้าใจ ศาสนาดี ที่ชื่อว่า อุบาสิกา ได้แก่ หญิงผู้ถึงพระพุทธเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ คำว่า ได้เห็น คือ ได้พบ อุบาสิกามีวาจาเชื่อถือได้ กล่าวโทษด้วยอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ ภิกษุยอมรับการนั่ง พึงถูกปรับอาบัติอย่างใด อย่างหนึ่ง บรรดาอาบัติ ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อีกประการหนึ่ง อุบาสิกาผู้มีวาจาเชื่อถือได้นั้น กล่าวโทษด้วยอาบัติใด ภิกษุนั้น พึงถูกปรับด้วย อาบัตินั้น
บทภาชนีย์
ปฏิญญาตกรณะ
เห็นกำลังนั่งถูกต้องกาย
[๔๕๕] ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ากำลังนั่งถูก ต้องกายกับมาตุคาม” และภิกษุนั้นก็ยอมรับการนั่ง พึงปรับตามอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๓. อนิยตกัณฑ์]

๒. ทุติยอนิยตสิกขาบท บทภาชนีย์

ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ากำลังนั่งถูกต้องกายกับ มาตุคาม” ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “อาตมานั่งจริง แต่ไม่ได้ถูกต้องกาย” พึงปรับ อาบัติเพราะนั่ง ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ากำลังนั่งถูกต้องกายกับ มาตุคาม” ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “อาตมาไม่ได้นั่ง แต่นอนอยู่” พึงปรับอาบัติ เพราะนอน ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ากำลังนั่งถูกต้องกายกับ มาตุคาม” ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “อาตมาไม่ได้นั่ง แต่นอนอยู่” ไม่พึงปรับอาบัติ
เห็นกำลังนอนถูกต้องกาย
ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ากำลังนอนถูกต้องกายกับ มาตุคาม” และภิกษุนั้นยอมรับการนอนนั้น พึงปรับตามอาบัติ ฯลฯ “อาตมานอนจริง แต่ไม่ได้ถูกต้องกาย” พึงปรับอาบัติเพราะนอน ฯลฯ “อาตมาไม่ได้นอน แต่นั่งอยู่” พึงปรับอาบัติเพราะนั่ง ฯลฯ “อาตมาไม่ได้นอน แต่ยืนอยู่” ไม่พึงปรับอาบัติ
ได้ยินกำลังนั่งพูดเกี้ยว
ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันได้ยินพระคุณเจ้ากำลังนั่งพูดเกี้ยวมาตุ คามด้วยวาจาชั่วหยาบ” และภิกษุนั้นยอมรับการนั่ง พึงปรับตามอาบัติ ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันได้ยินพระคุณเจ้ากำลังนั่งพูดเกี้ยวมาตุ คามด้วยวาจาชั่วหยาบ” ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “อาตมานั่งจริง แต่ไม่ได้พูด เกี้ยวหญิงด้วยวาจาชั่วหยาบ” พึงปรับอาบัติเพราะนั่ง ฯลฯ “อาตมาไม่ได้นั่ง แต่ นอนอยู่” พึงปรับอาบัติเพราะนอน ฯลฯ “อาตมาไม่ได้นั่ง แต่ยืนอยู่” ไม่พึงปรับ อาบัติ
ได้ยินกำลังนอนพูดเกี้ยว
ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันได้ยินพระคุณเจ้ากำลังนอนพูดเกี้ยว มาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ” และภิกษุนั้นยอมรับการนอน พึงปรับตามอาบัติ ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๘๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๓. อนิยตกัณฑ์]

๒. ทุติยอนิยตสิกขาบท บทภาชนีย์

“อาตมานอนจริง แต่ไม่ได้พูดเกี้ยวมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบ” พึงปรับอาบัติเพราะ นอน ฯลฯ “อาตมาไม่ได้นอน แต่นั่งอยู่” พึงปรับอาบัติเพราะนั่ง ฯลฯ “อาตมาไม่ ได้นอน แต่ยืนอยู่” ไม่พึงปรับอาบัติ
เห็นนั่งในที่ลับ
[๔๕๖] ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านั่งในที่ลับกับ มาตุคามสองต่อสอง” และภิกษุนั้นก็ยอมรับการนั่ง พึงปรับอาบัติเพราะนั่ง ฯลฯ “อาตมาไม่ได้นั่ง แต่นอนอยู่” พึงปรับอาบัติเพราะนอน ฯลฯ “อาตมาไม่ได้นั่ง แต่ ยืนอยู่” ไม่พึงปรับอาบัติ
เห็นนอนในที่ลับ
ถ้าอุบาสิกานั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ดิฉันเห็นพระคุณเจ้านอนในที่ลับกับมาตุคาม สองต่อสอง” และภิกษุนั้นยอมรับการนอน พึงปรับอาบัติเพราะนอน ฯลฯ “อาตมา ไม่ได้นอน แต่นั่งอยู่” พึงปรับอาบัติเพราะนั่ง ฯลฯ “อาตมาไม่ได้นอน แต่ยืนอยู่” ไม่พึงปรับอาบัติ คำว่า แม้นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบสิกขาบทก่อน คำว่า อนิยต คือ ไม่แน่ว่าจะเป็นสังฆาทิเสส หรือเป็นปาจิตตีย์ [๔๕๗] ภิกษุยอมรับการไป ยอมรับการนั่ง ยอมรับอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ ภิกษุยอมรับการไป ไม่ยอมรับการนั่ง ยอมรับอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ ภิกษุยอมรับการไป ยอมรับการนั่ง ไม่ยอมรับอาบัติ พึงปรับอาบัติเพราะการนั่ง ภิกษุยอมรับการไป ไม่ยอมรับการนั่ง ไม่ยอมรับอาบัติ ไม่พึงปรับอาบัติ ภิกษุไม่ยอมรับการไป ยอมรับการนั่ง ยอมรับอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ ภิกษุไม่ยอมรับการไป ไม่ยอมรับการนั่ง ยอมรับอาบัติ พึงปรับตามอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๔๘๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๓. อนิยตกัณฑ์]

๒. ทุติยอนิยตสิกขาบท รวมสิกขาบทที่มีในอนิยตกัณฑ์

ภิกษุไม่ยอมรับการไป ยอมรับการนั่ง ไม่ยอมรับอาบัติ พึงปรับอาบัติเพราะการนั่ง ภิกษุไม่ยอมรับการไป ไม่ยอมรับการนั่ง ไม่ยอมรับอาบัติ ไม่พึงปรับอาบัติ
ทุติยอนิยตสิกขาบท จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๗๙-๔๘๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=1&siri=59              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=1&A=19395&Z=19558                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=644              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=1&item=644&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3239              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=1&item=644&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3239                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-ay2/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :