ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยความเห็นชอบ
[๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย มากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึง ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีคนกล่าวกันว่า ‘สัมมาทิฏฐิ๑- สัมมาทิฏฐิ’ ด้วยเหตุ อะไรบ้าง พระอริยสาวกจึงชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอัน แน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้” ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึง เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส ขอท่านพระสารีบุตรจงอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลาย ได้ฟังคำอธิบายของท่านแล้วจักทรงจำไว้ได้” @เชิงอรรถ : @ สัมมาทิฏฐิ มี ๒ อย่าง คือ (๑) โลกิยสัมมาทิฏฐิ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณหยั่งรู้ว่าสัตว์มีกรรม @เป็นของตน) และสัจจานุโลมิกญาณ (ญาณหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ) (๒) โลกุตตร- @สัมมาทิฏฐิ หมายถึงปัญญาที่ประกอบด้วยอริยมรรค และอริยผล ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ @(ม.มู.อ. ๑/๘๙/๒๐๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
เรื่องอกุศลและกุศล
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่ง อกุศล รู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก ก็ชื่อว่า มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่ พระสัทธรรมนี้ อกุศล เป็นอย่างไร รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร กุศล เป็นอย่างไร รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร อกุศล เป็นอย่างไร คือ การฆ่าสัตว์ เป็นอกุศล การลักทรัพย์ เป็นอกุศล การประพฤติผิดในกาม เป็นอกุศล การพูดเท็จ เป็นอกุศล การพูดส่อเสียด เป็นอกุศล การพูดคำหยาบ เป็นอกุศล การพูดเพ้อเจ้อ เป็นอกุศล การเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นอกุศล การคิดปองร้ายผู้อื่น เป็นอกุศล มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล นี้เรียกว่า อกุศล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร คือ โลภะ(ความโลภ) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล โทสะ(ความคิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล โมหะ(ความหลง) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งอกุศล กุศล เป็นอย่างไร คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นกุศล เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นกุศล เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นกุศล เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นกุศล เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นกุศล เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นกุศล เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นกุศล การไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นกุศล การไม่ปองร้ายผู้อื่น เป็นกุศล สัมมาทิฏฐิ เป็นกุศล นี้เรียกว่า กุศล รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร คือ อโลภะ(ความไม่โลภ) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล อโทสะ(ความไม่คิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล อโมหะ(ความไม่หลง) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งกุศล เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศลอย่างนี้ รู้ชัดกุศลและ รากเหง้าแห่งกุศลอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือราคะ) บรรเทาปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือปฏิฆะ) ถอนทิฏฐานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่อง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

คือทิฏฐิ)และมานานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือมานะ)ที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการ ทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องอาหาร
[๙๐] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร๑- และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ อาหาร เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอาหาร เป็นอย่างไร ความดับแห่งอาหาร เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร เป็นอย่างไร คือ อาหาร ๔ ชนิดนี้ ย่อมมีเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ ๑. กวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ๒. ผัสสาหาร(อาหารคือการสัมผัส) ๓. มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือความจงใจ) ๔. วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ) @เชิงอรรถ : @ ความดับแห่งอาหาร จะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อดับตัณหาที่เป็นปัจจัยแห่งอาหารทั้งที่เป็นอุปาทินนกะและ @อนุปาทินนกะได้ กล่าวคือ เมื่อเหตุดับไปโดยประการทั้งปวง แม้ผลก็ย่อมดับไปโดยประการทั้งปวง @(ม.มู.อ. ๑/๙๐/๒๒๘, ม.มู.ฏีกา ๑/๙๐/๓๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอาหารจึงมี เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอาหารจึงมี อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ ๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ ๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ ๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารได้ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องสัจจะ
[๙๑] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์(สภาวะที่ทน ได้ยาก) ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่า มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ทุกข์ เป็นอย่างไร ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ- คามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร ทุกข์ เป็นอย่างไร คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทาน- ขันธ์๑- ๕ เป็นทุกข์ นี้เรียกว่า ทุกข์ ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา(ความทะยานอยากในกาม) ภวตัณหา (ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่) วิภวตัณหา(ความทะยานอยากไม่เป็น นั่นเป็นนี่) นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา @เชิงอรรถ : @ อุปาทานขันธ์ หมายถึงอุปาทาน + ขันธ์ คำว่า อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น (อุป = มั่น + อาทาน = ถือ) @หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ บ้าง (ดู สํ.ข.อ. ๒/๒/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) หมาย @ถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิบ้าง (ดู สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) หมายถึงตัณหาบ้าง (ดู ม.มู.อ. @๑/๑๔๑/๓๓๐) คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง (ตามนัย อภิ.สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึง @“กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่น” ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๕/๒๐๔, @ขุ.ป. ๓๑/๓๓/๔๐-๔๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖, อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๑๗, สํ.ข.ฏีกา ๒๒/๒๕๔, @วิสุทฺธิ. ๒/๕๐๕/๑๒๒ ประกอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธ- คามินีปฏิปทาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอน ทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำ วิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องชราและมรณะ
[๙๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความ ดับแห่งชราและมรณะ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ ชราและมรณะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ความ ดับแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ เป็น อย่างไร ชรา เป็นอย่างไร คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมี หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของ เหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า ชรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

มรณะ เป็นอย่างไร คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้นๆ จากหมู่สัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า มรณะ ชราและมรณะดังกล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่า ชราและมรณะ เพราะชาติเกิด เหตุเกิดแห่งชราและมรณะจึงมี เพราะชาติดับ ความดับแห่งชราและมรณะจึงมี อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับ แห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุ เพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องชาติ
[๙๓] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ๑- จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชาติ เหตุเกิด แห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เมื่อนั้น แม้ด้วย เหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ ชาติ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชาติ เป็นอย่างไร ความดับแห่งชาติ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เป็นอย่างไร @เชิงอรรถ : @ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๙๒ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้ เรียกว่า ชาติ เพราะภพเกิด เหตุเกิดแห่งชาติจึงมี เพราะภพดับ ความดับแห่งชาติจึงมี อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อ ปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องภพ
[๙๔] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดภพ เหตุเกิด แห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เมื่อนั้น แม้ด้วย เหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ ภพ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งภพ เป็นอย่างไร ความดับแห่งภพ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เป็นอย่างไร ภพ ๓ เหล่านี้ คือ ๑. กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร) ๒. รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร) ๓. อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๘๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะอุปาทานเกิด เหตุเกิดแห่งภพจึงมี เพราะอุปาทานดับ ความดับแห่งภพจึงมี อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับแห่งภพอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องอุปาทาน
[๙๕] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอุปาทาน เหตุ เกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่งอุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ อุปาทาน เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไร ความดับแห่ง อุปาทาน เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไร อุปาทาน ๔ ประการนี้ คือ ๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ) ๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร) ๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอุปาทานจึงมี เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอุปาทานจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่ง อุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทานอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละ ราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องตัณหา
[๙๖] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดตัณหา เหตุ เกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ ตัณหา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งตัณหา เป็นอย่างไร ความดับแห่งตัณหา เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เป็นอย่างไร ตัณหา ๖ ประการนี้ คือ ๑. รูปตัณหา (ความทะยานอยากในรูป) ๒. สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง) ๓. คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น) ๔. รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส) ๕. โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในโผฏฐัพพะ) ๖. ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในธรรมารมณ์) เพราะเวทนาเกิด เหตุเกิดแห่งตัณหาจึงมี เพราะเวทนาดับ ความดับแห่งตัณหาจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดย ประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องเวทนา
[๙๗] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดเวทนา เหตุ เกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ เวทนา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งเวทนา เป็นอย่างไร ความดับแห่งเวทนา เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เป็นอย่างไร เวทนา ๖ ประการนี้ คือ ๑. จักขุสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา) ๒. โสตสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู) ๓. ฆานสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก) ๔. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น) ๕. กายสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย) ๖. มโนสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ) เพราะผัสสะเกิด เหตุเกิดแห่งเวทนาจึงมี เพราะผัสสะดับ ความดับแห่งเวทนาจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดย ประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ใน ธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องผัสสะ
[๙๘] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดผัสสะ เหตุ เกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ ผัสสะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร ความดับแห่งผัสสะ เป็น อย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร ผัสสะ ๖ ประการนี้ คือ ๑. จักขุสัมผัส (สัมผัสทางตา) ๒. โสตสัมผัส (สัมผัสทางหู) ๓. ฆานสัมผัส (สัมผัสทางจมูก) ๔. ชิวหาสัมผัส (สัมผัสทางลิ้น) ๕. กายสัมผัส (สัมผัสทางกาย) ๖. มโนสัมผัส (สัมผัสทางใจ) เพราะอายตนะ ๖ เกิด เหตุเกิดแห่งผัสสะจึงมี เพราะอายตนะ ๖ ดับ ความดับแห่งผัสสะจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการ ทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก ก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระ สัทธรรมนี้”
เรื่องอายตนะ
[๙๙] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอายตนะ ๖ ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ อายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร อายตนะ ๖ ประการนี้ คือ ๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา) ๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู) ๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก) ๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น) ๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย) ๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ) เพราะนามรูปเกิด เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะนามรูปดับ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการจึงมี อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอายตนะ ๖ ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่ง อายตนะ ๖ ประการ อย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องนามรูป
[๑๐๐] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ นามรูป เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งนามรูป เป็นอย่างไร ความดับแห่งนามรูป เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป เป็นอย่างไร เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่า นาม มหาภูตรูป ๔ (ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ) และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ (อุปาทายรูป ๒๔) นี้เรียกว่า รูป นามและรูปดังกล่าวนี้ เรียกว่า นามรูป เพราะวิญญาณเกิด เหตุเกิดแห่งนามรูปจึงมี เพราะวิญญาณดับ ความดับแห่งนามรูปจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูปอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องวิญญาณ
[๑๐๑] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ วิญญาณ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไร ความดับแห่ง วิญญาณ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไร วิญญาณ ๖ ประการนี้ คือ ๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา) ๒. โสตวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู) ๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก) ๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น) ๕. กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย) ๖. มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ) เพราะสังขารเกิด เหตุเกิดแห่งวิญญาณจึงมี เพราะสังขารดับ ความดับแห่งวิญญาณจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่ง วิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องสังขาร
[๑๐๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดสังขาร เหตุ เกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ สังขาร เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งสังขาร เป็นอย่างไร ความดับแห่งสังขาร เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เป็นอย่างไร สังขาร ๓ ประการนี้ คือ ๑. กายสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกาย) ๒. วจีสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งวาจา) ๓. จิตตสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งใจ) เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งสังขารจึงมี เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งสังขารจึงมี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดสังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขารอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องอวิชชา
[๑๐๓] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอวิชชา เหตุ เกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ อวิชชา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร ความดับแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร ความไม่รู้ในทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับแห่งทุกข์ นี้เรียกว่า อวิชชา เพราะอาสวะเกิด เหตุเกิดแห่งอวิชชาจึงมี เพราะอาสวะดับ ความดับแห่งอวิชชาจึงมี อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
เรื่องอาสวะ
[๑๐๔] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็น เหตุชี้บอกว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาสวะ๑- เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ อาสวะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร ความดับแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร อาสวะ ๓ ประการนี้ คือ ๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม) ๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ) ๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา) เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งอาสวะจึงมี เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งอาสวะจึงมี @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๙๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ ๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ ๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ ๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้นแล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้” ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล
สัมมาทิฏฐิสูตร ที่ ๙ จบ
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ใน ๖ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร คือ ทุกข์ ชราและมรณะ อุปาทาน อายตนะ ๖ นามรูป วิญญาณ ใน ๔ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร คือ ชาติ ตัณหา เวทนา อวิชชาเป็นที่ ๔ ใน ๕ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร คือ อาหาร ภพ ผัสสะ สังขาร อาสวะเป็นที่ ๕ ๖ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ๔ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็กล่าวแล้ว ๕ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็กล่าวแล้ว และบทแห่งสังขารทั้งปวงมี ๑๕ บท ดังกล่าวมานี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๐๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๘๑-๑๐๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=9              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=1518&Z=1753                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=110              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=110&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=5349              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=110&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=5349                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i110-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i110-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.009.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.009.ntbb.html https://suttacentral.net/mn9/en/sujato https://suttacentral.net/mn9/en/bodhi https://suttacentral.net/mn9/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :