ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๑๐. กัณณกัตถลสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ตำบลกัณณกัตถละ
[๓๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลกัณณกัตถละเป็นที่ให้อภัย หมู่เนื้อ ใกล้นครชื่ออุทัญญา สมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปยังอุทัญญานคร ด้วยพระราชกรณียกิจบางอย่าง ได้รับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด พ่อยอดชาย เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า จงทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าปเสนทิโกศลขอถวายอภิวาท พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมี พระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และจง กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า วันนี้พระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว ภายหลังเวลาพระกระยาหาร จักเสด็จมาเฝ้า พระผู้มีพระภาค” @เชิงอรรถ : @ อาทิพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ ได้แก่ ข้อปฏิบัติเป็นเครื่อง @อบรมกาย วาจา ใจ ตามลำดับ (ม.ม.อ. ๒/๓๗๔/๒๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๕๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

บุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าปเสนทิโกศลขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทรงทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า วันนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารเช้า เสร็จแล้ว ภายหลังเวลาพระกระยาหาร จักเสด็จมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า” พระภคินีทรงพระนามว่าโสมา และพระภคินีทรงพระนามว่าสกุลา ได้ทรงสดับ ข่าวว่า “ได้ยินว่า วันนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว ภายหลังเวลาพระกระยาหารจักเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค” เวลานั้นเอง พระภคินี- โสมา และพระภคินีสกุลา จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลในที่เสวยพระกระยาหาร แล้วได้กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์จงทรงถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ พระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า จงทรงถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำของหม่อมฉัน ทั้งสองว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลา ขอถวาย อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ เพคะ”
พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
[๓๗๖] ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว ภายหลังเวลาพระกระยาหาร เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวาย อภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลา ขอถวายอภิวาท พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมี พระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลา ไม่ทรงได้ผู้อื่นเป็นทูตแล้วหรือ” พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภคินีโสมาและ พระภคินีสกุลา ได้สดับข่าวว่า ‘ได้ยินว่า วันนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลบริโภค อาหารเช้าเสร็จแล้ว ภายหลังเวลาพระกระยาหารจักมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค’ ครั้งนั้น พระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลา ได้เข้ามาหาหม่อมฉันในที่บริโภคอาหารแล้ว รับสั่งว่า ‘ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์ทรงถวายอภิวาทพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ขอจงทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระ โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำของ หม่อมฉันทั้งสองว่า ‘พระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลาขอถวายอภิวาทพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธ น้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ’ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ขอพระภคินีโสมาและพระภคินีสกุลา จงทรงพระสำราญเถิด” [๓๗๗] ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้สดับมาอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมตรัส อย่างนี้ว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จ เหตุนี้เป็นไปไม่ได้’ ชนเหล่าใดกล่าว อย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จ เหตุนี้เป็นไปไม่ได้’ ชนเหล่านั้นชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้น และคำที่กล่าวต่อๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นสัพพัญญู มีปกติ เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จ เหตุนี้เป็นไปไม่ได้’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าพูดตรงตามที่อาตมภาพกล่าวแล้ว ชื่อว่ากล่าวตู่อาตมภาพด้วย คำเท็จ ขอถวายพระพร” [๓๗๘] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งเรียกเสนาบดีชื่อวิฑูฑภะมา ตรัสว่า “เสนาบดี ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ภายในพระราชวัง” วิฑูฑภเสนาบดีกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พราหมณ์ชื่อสัญชัย อากาสโคตร กล่าว พระเจ้าข้า” จากนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด พ่อยอดชาย เธอจงไปเชิญพราหมณ์สัญชัย อากาสโคตรตามคำของเราว่า ‘ท่านผู้เจริญ พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกท่าน” บุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วได้เข้าไปหาพราหมณ์สัญชัย อากาสโคตร ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวกับพราหมณ์สัญชัย อากาสโคตรว่า “ท่านผู้เจริญ พระเจ้า ปเสนทิโกศลตรัสเรียกท่าน” จากนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระดำรัสอย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาเนื้อความบางอย่าง ตรัสไว้ แต่คนกลับเข้าใจพระดำรัสไปอีกอย่างหนึ่ง มีบ้างไหม พระผู้มีพระภาค ยังทรงจำพระดำรัสที่ตรัสแล้วได้อยู่หรือ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วได้ดี คือคำที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวกัน เหตุนี้เป็นไปไม่ได้” พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสสภาพที่เป็นเหตุ ทั้งยังตรัสสภาพที่เป็นผลว่า ‘ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวกัน เหตุนี้เป็นไปไม่ได้’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

วรรณะ ๔ จำพวก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร วรรณะ ๔ จำพวกนี้ จะพึงมีความผิดแผกแตกต่างกันบ้างไหม” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร บรรดาวรรณะ ๔ จำพวกนี้ วรรณะ ๒ จำพวก คือ กษัตริย์และพราหมณ์ อาตมภาพกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ คือเป็นที่ไหว้ เป็นที่ลุกรับ เป็นที่กราบไหว้ เป็นที่กระทำสามีจิกรรม ขอถวายพระพร” พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมิได้ทูลถาม ถึงความแปลกกันในปัจจุบันกับพระผู้มีพระภาค หม่อมฉันทูลถามถึงความแปลกกัน ในสัมปรายภพกับพระผู้มีพระภาคต่างหาก วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร วรรณะ ๔ จำพวกนี้จะพึงมีความผิดแผกแตกต่าง กันบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร
[๓๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร มี ๕ ประการนี้ องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้๑- ของตถาคตว่า ‘แม้ เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ @เชิงอรรถ : @ ปัญญาเครื่องตรัสรู้ (โพธิ) หมายถึงมัคคญาณ (ญาณในอริยมรรคคือความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคล @แต่ละชั้น) ๔ ประการ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๓/๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

๒. เป็นผู้มีสุขภาพมีโรคาพาธน้อย ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหาร สม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน ศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ทั้งหลายอยู่ ๕. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็น ทั้งความเกิดและความดับ อันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้น ทุกข์โดยชอบ มหาบพิตร องค์ของภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้แล๑- วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ ข้อนั้นก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่วรรณะ ๔ จำพวกตลอดกาลนาน ขอถวายพระพร” พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้นเป็นผู้ ประกอบด้วยองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ ในข้อนี้ วรรณะ ๔ จำพวก นั้นจะมีอะไรผิดแผกแตกต่างกันเล่า พระพุทธเจ้าข้า” “มหาบพิตร ในข้อนี้ อาตมภาพกล่าวถึงวรรณะทั้ง ๔ จำพวก มีความ แตกต่างกันด้วยความเพียร เปรียบเหมือนสัตว์คู่หนึ่ง เป็นช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้า ที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาฝึกดีแล้ว แนะนำดีแล้ว หรือว่าสัตว์คู่หนึ่ง @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ปธานิยังคสูตร ใน องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๕๓/๙๒, และเสนาสนสูตร ใน @องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๑/๑๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

คือช้างที่ควรฝึกก็ตาม ม้าที่ควรฝึกก็ตาม โคที่ควรฝึกก็ตาม ที่ยังไม่ได้ฝึก ยังไม่ได้ แนะนำ มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร สัตว์คู่หนึ่งเป็น ช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาฝึกดีแล้ว แนะนำดีแล้ว สัตว์คู่หนึ่งที่ฝึกแล้วเท่านั้น พึงถึงเหตุของสัตว์ที่ฝึกแล้ว พึงบรรลุภูมิ ของสัตว์ที่ฝึกแล้ว มิใช่หรือ ขอถวายพระพร” “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” “มหาบพิตร สัตว์คู่หนึ่งจะเป็นช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้แนะนำ สัตว์ที่เขาไม่ได้ฝึกเลย จะพึงถึงเหตุ ของสัตว์ที่ฝึกแล้ว จะบรรลุถึงภูมิของสัตว์ที่ฝึกแล้ว เหมือนสัตว์คู่นั้นจะเป็นช้างที่ควร ฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม ที่เขาฝึกแล้ว แนะนำดีแล้ว ได้บ้างไหม ขอถวายพระพร” พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้เลย๑- ที่ อิฏฐผลใดอันบุคคลผู้มีศรัทธา มีอาพาธน้อย ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ปรารภความเพียร มีปัญญา พึงถึงอิฏฐผลนั้น บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา๒- มีอาพาธมาก โอ้อวด มีมารยา เกียจคร้าน มีปัญญาทราม จักถึงได้ ขอถวายพระพร” [๓๘๐] พระเจ้าปเสนทิโกศล ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี พระภาคได้ตรัสสภาพที่เป็นเหตุ ทั้งยังตรัสสภาพที่เป็นผลว่า ‘วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้น @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๐ (อุปาลิวาทสูตร) หน้า ๕๘ ในเล่มนี้ @ บุคคลไม่มีศรัทธา หมายถึงบุคคล ๔ จำพวก คือ @๑. ปุถุชนผู้เข้าไม่ถึงศรัทธาของพระโสดาบัน @๒. พระโสดาบันผู้เข้าไม่ถึงศรัทธาของพระสกทาคามี @๓. พระสกทาคามีผู้เข้าไม่ถึงศรัทธาของพระอนาคามี @๔. พระอนาคามีผู้เข้าไม่ถึงศรัทธาของพระอรหันต์ (ม.ม.อ. ๒/๓๗๙/๒๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้และมีความเพียร เหมือนกัน’ ในข้อนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ จะพึงมีความผิดแผกแตกต่างกันบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ในข้อนี้ อาตมภาพกล่าวว่าวรรณะ ๔ จำพวกนี้ ไม่แตกต่างกันแม้แต่น้อย คือวิมุตติกับวิมุตติไม่แตกต่างกัน เปรียบเหมือน บุรุษผู้เก็บไม้สักแห้งมาก่อไฟ ให้ลุกโพลงขึ้น ต่อมาบุรุษอีกคนหนึ่งเก็บไม้สาละแห้ง มาก่อไฟให้ลุกโพลงขึ้น ต่อมาบุรุษอีกคนหนึ่งเก็บไม้มะม่วงแห้งมาก่อไฟให้ลุกโพลงขึ้น ต่อมาบุรุษอีกคนหนึ่งเก็บไม้มะเดื่อแห้งมาก่อไฟ ให้ลุกโพลงขึ้น มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร เปลวกับเปลว สีกับสี แสงกับแสง ของไฟที่เกิดขึ้นมาจากไม้ต่างๆ กันนั้น จะพึงมีความแตกต่างกันบ้างไหม ขอถวายพระพร” “ไม่มีความแตกต่างกันเลย พระพุทธเจ้าข้า” “อย่างนั้นเหมือนกัน มหาบพิตร เดชอันใดถูกความเพียรย่ำยีแล้ว เกิดขึ้นด้วย ความเพียร ในเดชนั้นอาตมภาพไม่กล่าวว่าแตกต่างกัน คือวิมุตติกับวิมุตติไม่แตกต่างกัน ขอถวายพระพร” “พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพที่เป็นเหตุ ทั้งตรัสสภาพอันเป็นผล เทวดามีจริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า” “มหาบพิตร เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสถามอย่างนี้ว่า ‘เทวดามีจริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า” พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเทวดามีจริง เทวดาเหล่านั้นมาสู่โลกนี้หรือไม่มาสู่โลกนี้ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร เทวดาเหล่าใดมีความเบียดเบียน๑- เทวดา เหล่านั้นมาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่าใดไม่มีความเบียดเบียน๒- เทวดาเหล่านั้นไม่มา๓- สู่โลกนี้ ขอถวายพระพร”
วาทะพระอานนท์
[๓๘๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วิฑูฑภเสนาบดีได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาเหล่าใดมีความเบียดเบียนมาสู่โลกนี้ เทวดา เหล่านั้นจักยังเทวดาทั้งหลายผู้ไม่มีความเบียดเบียน ผู้ไม่มาสู่โลกนี้ให้จุติหรือจัก ขับไล่เสียจากที่นั้นหรือ พระพุทธเจ้าข้า” ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้คิดว่า “วิฑูฑภเสนาบดีนี้เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าปเสนทิโกศล เราเป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควรที่โอรส กับโอรสจะพึงปรึกษากัน” ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวกับวิฑูฑภเสนาบดีว่า “เสนาบดี ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจะขอย้อนถามท่านก่อน ท่านพึง ตอบปัญหาตามที่ท่านพอใจ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชอาณาจักร ของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด และในพระราชอาณาจักรใด พระเจ้า ปเสนทิโกศลครองราชย์เป็นอิสราธิบดี ในพระราชอาณาจักรนั้น ท้าวเธอทรง สามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญหรือไม่มีบุญ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่ ประพฤติพรหมจรรย์ ให้ย้ายออก หรือทรงเนรเทศจากที่นั้นได้ มิใช่หรือ” วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า “พระคุณเจ้า พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีประมาณเท่าใด และในพระราชอาณาจักรใด พระเจ้าปเสนทิโกศลครองราชย์เป็น อิสราธิบดี ในพระราชอาณาจักรนั้น ท้าวเธอย่อมทรงสามารถยังสมณะหรือ @เชิงอรรถ : @ ความเบียดเบียน ในที่นี้หมายถึงมีทุกข์ คือทุกข์ทางใจที่ยังละไม่ได้เด็ดขาดด้วยสมุจเฉทปหาณ @(ม.ม.อ. ๒/๓๘๐/๒๖๐) @ ไม่มีความเบียดเบียน หมายถึงตัดทุกข์ได้เด็ดขาด (ม.ม.อ. ๒/๓๘๐/๒๖๐) @ ไม่มา หมายถึงไม่มาอุบัติ(เกิด) อีก (ม.ม.อ. ๒/๓๘๐/๒๖๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

พราหมณ์ ผู้มีบุญหรือไม่มีบุญ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ให้ย้ายออกหรือทรงเนรเทศเสียจากที่นั้นได้” “เสนาบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ที่อันมิใช่พระราชอาณาจักรของ พระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด และในที่ใด พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ครอง ราชย์เป็นอิสราธิบดี ในที่นั้น ท้าวเธอย่อมสามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญ หรือไม่มีบุญ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์หรือไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ให้ย้ายออก หรือทรง เนรเทศเสียจากที่นั้นได้หรือ” “พระคุณเจ้า ที่อันมิใช่พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณ เท่าใดและในที่ใดพระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ครองราชย์เป็นอิสราธิบดี ในที่นั้น ท้าวเธอ ย่อมไม่ทรงสามารถจะยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญหรือไม่มีบุญ ผู้ประพฤติ พรหมจรรย์หรือไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ให้ย้ายออก หรือทรงเนรเทศเสียจาก ที่นั้นได้” “เสนาบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านเคยได้ยินเกี่ยวกับเทพชั้น ดาวดึงส์มาแล้วหรือ” “ใช่แล้ว พระคุณเจ้า โยมได้ยินเกี่ยวกับเทพชั้นดาวดึงส์มาแล้ว แม้ในบัดนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงสดับเกี่ยวกับเทพชั้นดาวดึงส์มาแล้ว” “เสนาบดี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศลจะทรง สามารถยังเทพชั้นดาวดึงส์ ให้เคลื่อนหรือทรงเนรเทศไปเสียจากที่นั้นได้ไหม” วิฑูฑภเสนาบดี ตอบว่า “พระคุณเจ้า พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงสามารถแม้ แต่จะทอดพระเนตรเห็นเทพชั้นดาวดึงส์ ที่ไหนเล่าจะทรงให้เคลื่อน หรือทรงเนรเทศ ไปเสียจากที่นั้นได้” ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “เสนาบดี อย่างนั้นหมือนกัน เทพเหล่าใดมีความ เบียดเบียนมาสู่โลกนี้ เทพเหล่านั้นย่อมไม่สามารถแม้เพื่อจะเห็นเทพผู้ไม่มีความ เบียดเบียน ผู้ไม่มาสู่โลกนี้ ที่ไหนเล่าจักให้เคลื่อนหรือเนรเทศไปเสียจากที่นั้นได้” [๓๘๒] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ภิกษุรูป นี้ชื่ออะไร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุรูปนี้ชื่ออานนท์ ขอถวายพระพร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๑๐. กัณณกัตถลสูตร

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า “พระคุณเจ้าอานนท์รูปก็งาม นามก็เพราะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระคุณเจ้าอานนท์กล่าวสภาพที่เป็นเหตุ และกล่าวสภาพที่ เป็นผล พรหมมีจริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสถาม อย่างนี้ว่า ‘พรหมมีจริงหรือ พระพุทธเจ้าข้า’ เล่า มหาบพิตร” พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพรหมมีจริง พรหมนั้นมาสู่โลกนี้หรือไม่มาสู่โลกนี้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พรหมใดมีความเบียดเบียน พรหมนั้น มาสู่โลกนี้ พรหมใดไม่มีความเบียดเบียน พรหมนั้นก็ไม่มาสู่โลกนี้ ขอถวายพระพร” ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ขอเดชะ พราหมณ์ สัญชัย อากาสโคตรมาแล้ว พระเจ้าข้า” ต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสถามพราหมณ์สัญชัย อากาสโคตรว่า “พราหมณ์ ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ไว้ภายในพระราชวัง” พราหมณ์สัญชัย อากาสโคตรกราบทูลว่า “ขอเดชะ วิฑูฑภเสนาบดี พระเจ้าข้า” วิฑูฑภเสนาบดีกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช พราหมณ์สัญชัย อากาสโคตร พระเจ้าข้า” ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “ขอเดชะ บัดนี้ ยานพาหนะพร้อมแล้ว พระเจ้าข้า”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชื่นชมพระภาษิตของพระพุทธเจ้า
ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความเป็นสัพพัญญู พระผู้มีพระภาค ก็ทรงตอบความเป็นสัพพัญญูแล้ว ข้อที่ทรงตอบนั้นหม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็ชื่นชมด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความบริสุทธิ์ของวรรณะ ๔ จำพวก พระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบความบริสุทธิ์ของวรรณะ ๔ จำพวกแล้ว และข้อที่ทรง ตอบนั้น หม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็ชื่นชมด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๖๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเทวดาที่ยิ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบ เทวดาที่ยิ่ง ข้อที่ทรงตอบนั้นหม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็ชื่นชม ด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงพรหมที่ยิ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบ พรหมที่ยิ่ง ข้อที่ทรงตอบนั้นหม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็ชื่นชม ด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงข้อใดๆ พระผู้มีพระภาคก็ทรง ตอบข้อนั้นๆ ข้อที่ทรงตอบนั้น หม่อมฉันชอบใจและถูกใจนัก และหม่อมฉันก็ ชื่นชมด้วยข้อที่ทรงตอบนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เอาเถิด บัดนี้ หม่อมฉันขอทูลลากลับ เพราะมีกิจ มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ทรงลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจึงเสด็จจากไป ดังนี้แล
กัณณกัตถลสูตรที่ ๑๐ จบ
ราชวรรคที่ ๔ จบบริบูรณ์
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ฆฏิการสูตร ๒. รัฏฐปาลสูตร ๓. มฆเทวสูตร ๔. มธุรสูตร ๕. โพธิราชกุมารสูตร ๖. อังคุลิมาลสูตร ๗. ปิยชาติกสูตร ๘. พาหิติกสูตร ๙. ธัมมเจติยสูตร ๑๐. กัณณกัตถลสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๗๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๕๙-๔๗๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=40              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=8962&Z=9194                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=571              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=571&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=6494              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=571&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=6494                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i571-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.090.than.html https://suttacentral.net/mn90/en/sujato https://suttacentral.net/mn90/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :