ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๗. นหานสิกขาบท นิทานวัตถุ

๖. สุราปานวรรค
๗. นหานสิกขาบท
ว่าด้วยการสรงน้ำนอกสมัย
เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร
[๓๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำในแม่น้ำตโปทา๑- ทีนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จไปแม่น้ำตโปทาด้วยมีพระราชประสงค์จะทรง สนานพระเศียร ประทับรออยู่ด้านหนึ่ง ด้วยพระดำริว่า “เราจะสนานต่อเมื่อพระคุณ เจ้าทั้งหลายสรงน้ำเสร็จแล้ว” ภิกษุสรงน้ำจนพลบค่ำ ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอม ทัพมคธรัฐต้องทรงสนานพระเศียรในเวลาพลบค่ำ เมื่อประตูเมืองปิดจำต้องประทับ แรมอยู่นอกเมือง เช้าตรู่จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับทั้งๆ ที่ เครื่องประทินในพระวรกายยังไม่จางหายเลย ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาคแล้วประทับ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง ณ ที่ สมควรดังนี้ว่า “เหตุไรพระองค์จึงเสด็จมาแต่เช้าทั้งๆ ที่เครื่องประทินในพระวรกาย ยังไม่จางหาย” ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐกราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้ มีพระภาคทรงทราบ ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ มคธรัฐเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้ @เชิงอรรถ : @ แม่น้ำตโปทา คือแม่น้ำสายนี้มีน้ำร้อนเดือดพล่าน ต้นกำเนิดไหลมาจากแอ่งทะเลสาบใต้ภูเขาเวภารบรรพต @ไหลตัดผ่านพระนครราชคฤห์ น้ำในแอ่งต้นกำเนิดใสเย็น แต่พอไหลเป็นสายแม่น้ำแล้วกลายเป็นน้ำร้อน @อรรถกถาอธิบายว่า สาเหตุที่น้ำในแม่น้ำมีความร้อนนั้น เพราะไหลผ่านมาระหว่างมหานรก ๒ ขุม @(ดูพระวินัยปิฎกแปล เล่ม ๑ ข้อ ๒๓๑ หน้า ๒๔๕, สํ.อ. ๑/๒๐/๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๗. นหานสิกขาบท พระบัญญัติ

อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกขึ้นจาก อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ทำประทักษิณแล้วเสด็จไป
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอเห็นพระราชาก็ยัง อาบน้ำไม่รู้ความพอดี จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกโมฆบุรุษ เหล่านั้นเห็นพระราชาแล้วก็ยังอาบน้ำไม่รู้ความพอดีเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระเจ้าพิมพิสาร จบ
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำได้ในสมัยที่ร้อน
[๓๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรง ไม่ยอมอาบน้ำในสมัยที่ร้อน ในสมัยที่อบอ้าว จำวัดทั้งๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระ ภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เราอนุญาตให้อาบ น้ำในสมัยที่ร้อน ในสมัยที่อบอ้าวได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๗. นหานสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดูฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำได้ในสมัยที่เป็นไข้
[๓๕๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการไข้ ได้กล่าวกับพวกภิกษุเป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ” พวกภิกษุผู้เป็นไข้ตอบว่า “เมื่อก่อนยังไม่ถึงครึ่งเดือน พวกกระผมอาบน้ำ กันได้ ดังนั้นจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า ‘พระผู้มี พระภาคทรงห้ามไว้’ จึงไม่ได้อาบน้ำ ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก’’ ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มี พระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เราอนุญาต ให้ภิกษุผู้เป็นไข้อาบน้ำได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่ง ฤดูฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็น ไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำได้ในสมัยที่ทำงาน
[๓๖๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทำงาน มีความยำเกรง จึงไม่อาบน้ำ จำวัด ทั้งๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๗. นหานสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา อนุญาตให้อาบน้ำได้ในสมัยที่ทำงาน” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดู ฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็นไข้ (๓) สมัยที่ทำงาน นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำได้ในสมัยที่เดินทางไกล
[๓๖๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเดินทางไกล มีความยำเกรง จึงไม่อาบน้ำ จำวัดทั้งๆ ที่เนื้อตัวยังชุ่มเหงื่อ จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา อนุญาตให้อาบน้ำได้ในสมัยที่เดินทางไกล” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท นี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ใน สมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรกแห่งฤดูฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัยที่เป็นไข้ (๓) สมัยที่ทำงาน (๔) สมัยที่เดินทางไกล นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๗. นหานสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำได้ในสมัยที่มีพายุฝุ่น
[๓๖๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายตัดเย็บจีวรอยู่กลางแจ้ง ถูกลมฝุ่นเปรอะเปื้อน ฝนก็ตกประปราย พวกภิกษุมีความยำเกรง จึงไม่อาบน้ำ จำวัดทั้งๆ ที่เนื้อตัวยัง เปรอะเปื้อน จีวรก็ดี เสนาสนะก็ดีเสียหาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่ถึงครึ่งเดือน เรา อนุญาตให้อาบน้ำในสมัยที่มีพายุฝุ่นได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๓๖๓] อนึ่ง ภิกษุใด ยังไม่ถึงครึ่งเดือน อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์เว้น ไว้แต่ในสมัย สมัยในข้อนั้น คือ (๑) ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง และเดือนแรก แห่งฤดูฝน รวมเป็น ๒ เดือนครึ่ง เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว (๒) สมัย ที่เป็นไข้ (๓) สมัยที่ทำงาน (๔) สมัยที่เดินทางไกล (๕) สมัยที่มีพายุฝุ่น นี้เป็นสมัยในข้อนั้น
สิกขาบทวิภังค์
[๓๖๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ฯลฯ ชื่อว่าภิกษุ เพราะว่าเป็นผู้ขอ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า ยังไม่ถึงครึ่งเดือน คือ หย่อนกว่าครึ่งเดือน คำว่า อาบน้ำ ได้แก่ ภิกษุอาบน้ำถูตัวด้วยจุรณหรือดินเหนียว ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ ครั้งที่ถู อาบเสร็จ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๗. นหานสิกขาบท บทภาชนีย์

คำว่า เว้นไว้แต่ในสมัย คือ ยกเว้นแต่ในสมัย ที่ชื่อว่า สมัยที่ร้อน คือ ท้ายฤดูร้อน ๑ เดือนครึ่ง ที่ชื่อว่า สมัยที่อบอ้าว คือ เดือนแรกแห่งฤดูฝน ภิกษุพึงอาบน้ำได้เพราะ ถือว่า ๒ เดือนครึ่งนี้เป็นสมัยที่ร้อน เป็นสมัยที่อบอ้าว ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ ภิกษุใดไม่ได้อาบน้ำจะไม่มีความผาสุก ภิกษุพึง อาบน้ำได้เพราะถือว่า เป็นสมัยที่เป็นไข้ ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำงาน คือ โดยที่สุดแม้การกวาดบริเวณ ภิกษุพึงอาบน้ำได้ เพราะถือว่า เป็นสมัยที่ทำงาน ที่ชื่อว่า สมัยที่เดินทางไกล คือ ภิกษุคิดว่า “เราจะเดินทางครึ่งโยชน์” พึง อาบน้ำได้ ภิกษุนั้นเมื่อจะไปพึงอาบน้ำได้ ไปแล้วพึงอาบน้ำได้ ที่ชื่อว่า สมัยที่มีพายุฝุ่น คือ ภิกษุทั้งหลายถูกลมฝุ่นเปรอะเปื้อนหรือหยาด ฝนตกถูกกาย ๒-๓ หยด ภิกษุพึงอาบน้ำได้เพราะถือว่า เป็นสมัยที่มีพายุฝุ่น
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๖๕] หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า อาบน้ำ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในสมัย หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุไม่แน่ใจ อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ ในสมัย หย่อนกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่า อาบน้ำ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ในสมัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๗. นหานสิกขาบท อนาปัตติวาร

ทุกทุกกฏ
เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าหย่อนกว่า ต้องอาบัติทุกกฏ เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ เกินกว่าครึ่งเดือน ภิกษุสำคัญว่าเกินกว่า ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๓๖๖] ๑. ภิกษุอาบน้ำในสมัย ๒. ภิกษุอาบน้ำช่วงครึ่งเดือน ๓. ภิกษุอาบน้ำช่วงเกินกว่าครึ่งเดือน ๔. ภิกษุผู้ข้ามฝั่งจึงอาบน้ำ ๕. ภิกษุอาบน้ำในปัจจันตชนบททุกแห่ง ๖. ภิกษุผู้มีเหตุขัดข้อง ๗. ภิกษุวิกลจริต ๘. ภิกษุต้นบัญญัติ
นหานสิกขาบทที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๘๓-๔๘๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=93              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=12275&Z=12411                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=610              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=610&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9599              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=610&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9599                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc57/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc57/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :