บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๑. สังขิตตสูตร
๔. กัมมวรรค หมวดว่าด้วยกรรม ๑. สังขิตตสูตร ว่าด้วยกรรมและวิบากแห่งกรรมโดยย่อ [๒๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำ ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม กรรม ๔ ประการ๑- อะไรบ้าง คือ ๑. กรรมดำ๒- มีวิบากดำ๓- ๒. กรรมขาวมีวิบากขาว๔- ๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว ๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว๕- เป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรม ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามสังขิตตสูตรที่ ๑ จบ @เชิงอรรถ : @๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕ @๒ กรรมดำในที่นี้หมายถึงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ที.ปา. ๑๑/๓๖๐/๒๘๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๒/๔๔๐) @๓ วิบากดำ คือ มีผลนำสัตว์ให้เกิดในอบาย (ทางเสื่อม) มี ๔ ประการ คือ (๑) นิรยะ นรก, ภาวะ @เร่าร้อนกระวนกระวาย (๒) ติรัจฉานโยนิ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๓) ปิตติวิสัย แดนเปรต (๔) อสุรกาย @พวกอสูร (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๒/๔๔๐) @๔ กรรมขาว ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ตรงข้ามกับอกุศลกรรมบถ) มีวิบากขาว หมายถึง @มีสุขเป็นผล นำสัตว์ให้เกิดในสวรรค์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๒/๔๔๐) @๕ กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว ในที่นี้หมายถึงมรรคญาณ ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะ @อริยบุคคล ๔ ประการ (โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) ซึ่ง @เป็นเหตุทำให้ หมดกรรม มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาวในที่นี้หมายถึงไม่ให้วิบากทั้ง ๒ อย่าง @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๒/๔๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๔๕}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๒. วิตถารสูตร
๒. วิตถารสูตร ว่าด้วยกรรมและวิบากแห่งกรรมโดยพิสดาร [๒๓๓] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กรรมดำมีวิบากดำ ๒. กรรมขาวมีวิบากขาว ๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว ๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่ง๑- กายสังขาร๒- ที่มีความเบียดเบียน๓- ปรุงแต่ง วจีสังขาร๔- ที่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขาร๕- ที่มีความเบียดเบียน เขา ครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่มีความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่มีความ เบียดเบียนกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เหมือนพวกสัตว์นรก นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ @เชิงอรรถ : @๑ ปรุงแต่ง ในที่นี้หมายถึงการสั่งสมพอกพูน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๓/๔๔๐) @๒ กายสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางกายหรือกายสัญเจตนา คือความจงใจทางกาย @(องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑) @๓ มีความเบียดเบียน หมายถึงมีทุกข์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๓/๔๔๐) @๔ วจีสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วิตกและวิจาร หรือวจีสัญเจตนา @คือความจงใจทางวาจา (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑) @๕ มโนสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา หรือมโนสัญเจตนา @คือความจงใจทางใจ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๔๖}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๒. วิตถารสูตร
กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่ง วจีสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียนและปรุงแต่งมโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน เขา ครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่ไม่มีความ เบียดเบียนกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เหมือนพวกเทวดา๑- ชั้นสุภกิณหะ นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี ความเบียดเบียนบ้าง ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ เบียดเบียนบ้าง และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียน บ้าง เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ เบียดเบียนบ้าง ผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูก ต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เขา ถูกผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างกระทบเข้าย่อมเสวย เวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีสุขและทุกข์ระคนกัน เหมือนมนุษย์ เทวดาบางพวก๒- และวินิปาติกะ๓- บางพวก นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำ และขาวมีวิบากทั้งดำและขาว กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรม เป็นอย่างไร @เชิงอรรถ : @๑ เทวดา ในที่นี้หมายถึงสุภกิณหพรหม (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑) @๒ เทวดาบางพวกในที่นี้หมายถึงกามาวจรเทวดา ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี @และปรนิมมิตวสวัตดี (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๓/๔๔๐-๔๔๑) @๓ วินิปาติกะ หมายถึงเวมานิกเปรต ได้แก่ เปรตผู้อยู่ในวิมาน เสวยสุขและทุกข์สลับกันไป บางตนข้างแรม @เสวยทุกข์ ข้างขึ้นเสวยสุข บางตนกลางคืนเสวยสุข กลางวันเสวยทุกข์ เวลาเสวยสุขอยู่ในวิมานมีร่าง @กายเป็นทิพย์สวยงาม แต่เวลาจะเสวยทุกข์ก็ต้องออกจากวิมานไป และร่างกายก็กลายเป็นร่างกายที่น่า @เกลียดน่ากลัว (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๓/๔๔๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๔๗}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๓. โสณกายนสูตร
คือ บรรดากรรมเหล่านั้น เจตนา๑- เพื่อละกรรมดำที่มีวิบากดำ เจตนาเพื่อ ละกรรมขาวที่มีวิบากขาว และเจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำและขาวที่มีวิบากทั้งดำ และขาว นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไป เพื่อความสิ้นกรรม ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามวิตถารสูตรที่ ๒ จบ ๓. โสณกายนสูตร ว่าด้วยมาณพชื่อโสณกายนะ [๒๓๔] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อสิขาโมคคัลลานะ๒- เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ หลายวันมาแล้ว โสณกายนมาณพ๓- ไปหาข้าพเจ้า ถึงที่อยู่ได้กล่าวว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติกรรมทั้งปวงว่าเป็นอกิริยะ๔- ก็เมื่อ บัญญัติกรรมทั้งปวงว่าเป็นอกิริยะ ชื่อว่ากล่าวความขาดสูญแห่งโลก ข้าแต่พระ โคดมผู้เจริญ โลกนี้มีกรรมเป็นสภาพ ดำรงอยู่ได้ด้วยการก่อกรรมมิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พราหมณ์ เราไม่รู้สึกว่าได้เห็นโสณกายนมาณพเลย ที่ไหนจะได้กล่าวปราศรัยอย่างนี้เล่า กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งเองแล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม @เชิงอรรถ : @๑ เจตนาในที่นี้หมายถึงเจตนาในอริยมรรค ที่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงวิวัฏฏะคือพระนิพพาน @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๓/๔๔๑) @๒ หมายถึงพราหมณ์ตระกูลโมคคัลลานโคตร ที่มีม้วยผมใหญ่อยู่กลางกระหม่อมศีรษะ จึงมีชื่อว่า สิขา @(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๔/๔๔๑) @๓ หมายถึงมาณพผู้เป็นอันเตวาสิกของพราหมณ์สิขาโมคคัลลานโคตร (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓๔/๔๔๑) @๔ อกิริยะ หมายถึงการกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎ @แห่งกรรม (ที.สี.อ. ๑๖๖/๑๔๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๔๘}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๓. โสณกายนสูตร
กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กรรมดำมีวิบากดำ ๒. กรรมขาวมีวิบากขาว ๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว ๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรม กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่ง วจีสังขารที่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียน เขาครั้น ปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่มีความเบียดเบียนย่อมถูก ต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่มีความเบียดเบียน กระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียวเหมือนพวก สัตว์นรก นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ปรุงแต่ง วจีสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน และปรุงแต่งมโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องบุคคลผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียนนั้น เขาถูกผัสสะที่ไม่มีความ เบียดเบียนกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เหมือนพวกเทวดาชั้นสุภกิณหะ นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความ เบียดเบียนบ้าง และปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียน บ้าง เขาครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียน บ้าง ผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างย่อมถูกต้องบุคคลผู้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๔๙}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๔. ปฐมสิกขาปทสูตร
เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เขาถูกผัสสะที่มี ความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างกระทบเข้าย่อมเสวยเวทนาที่มี ความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีสุขและทุกข์ระคนกันเหมือนมนุษย์ เทวดาบางพวกและวินิปาติกะบางพวก นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำ และขาว กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรม เป็นอย่างไร คือ บรรดาเจตนาเหล่านั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำที่มีวิบากดำ เจตนาเพื่อละ กรรมขาวที่มีวิบากขาว และเจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำและขาวที่มีวิบากทั้งดำและขาว นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรม พราหมณ์ กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามโสณกายนสูตรที่ ๓ จบ ๔. ปฐมสิกขาปทสูตร ว่าด้วยสิกขาบท สูตรที่ ๑ [๒๓๕] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กรรมดำมีวิบากดำ ๒. กรรมขาวมีวิบากขาว ๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว ๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๐}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๕. ทุติยสิกขาปทสูตร
กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นผู้ลักทรัพย์ เป็นผู้ประพฤติผิด ในกาม เป็นผู้พูดเท็จ เป็นผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ ประมาท นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการ ลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี ความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรม เป็นอย่างไร คือ บรรดาเจตนาเหล่านั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำ ที่มีวิบากดำ ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามปฐมสิกขาปทสูตรที่ ๔ จบ ๕. ทุติยสิกขาปทสูตร ว่าด้วยสิกขาบท สูตรที่ ๒ [๒๓๖] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม @เชิงอรรถ : @๑ ดูข้อความเต็มในข้อ ๒๓๓ (วิตถารสูตร) หน้า ๓๔๗-๓๔๘ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๑}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๕. ทุติยสิกขาปทสูตร
กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กรรมดำมีวิบากดำ ๒. กรรมขาวมีวิบากขาว ๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว ๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรม กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่ามารดา เป็นผู้ฆ่าบิดา เป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายต่อพระตถาคตยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจาก การลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูด เท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เป็นผู้ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตไม่พยาบาท มีความ เห็นชอบ นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี ความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรม เป็นอย่างไร คือ บรรดากรรมเหล่านั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำที่มีวิบากดำ ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามทุติยสิกขาปทสูตรที่ ๕ จบ @เชิงอรรถ : @๑ ดูข้อความเต็มในข้อ ๒๓๓ (วิตถารสูตร) หน้า ๓๔๗-๓๔๘ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๒}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๖. อริยมัคคสูตร
๖. อริยมัคคสูตร ว่าด้วยอริยมรรค [๒๓๗] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กรรมดำมีวิบากดำ ๒. กรรมขาวมีวิบากขาว ๓. กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว ๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรม กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมขาวมีวิบากขาว กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี ความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรม เป็นอย่างไร คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มี วิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามอริยมัคคสูตรที่ ๖ จบ @เชิงอรรถ : @๑ ดูข้อความเต็มในข้อ ๒๓๔ (โสณกายนสูตร) หน้า ๓๔๙-๓๕๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๓}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๗. โพชฌังคสูตร
๗. โพชฌังคสูตร ว่าด้วยโพชฌงค์ [๒๓๘] ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม กรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กรรมดำมีวิบากดำ ๒. กรรมขาวมีวิบากขาว ๓. กรรมทั้งดำและขาว มีวิบากทั้งดำและขาว ๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ ความสิ้นกรรม กรรมดำมีวิบากดำ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมดำมีวิบากดำ กรรมขาวมีวิบากขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน ฯลฯ๑- นี้เรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มี ความเบียดเบียนบ้าง ฯลฯ๑- นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำและขาวมีวิบากทั้งดำและขาว กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความ สิ้นกรรม เป็นอย่างไร คือ สติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความระลึกได้) ธัมมวิจย- สัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเฟ้นธรรม) วิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรม @เชิงอรรถ : @๑ ดูข้อความเต็มในข้อ ๒๓๔ (โสณกายนสูตร) หน้า ๓๔๙-๓๕๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๔}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๘. สาวัชชสูตร
เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร) ปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือความอิ่มใจ) ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกาย ระงับใจ) สมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น) อุเปกขา- สัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง) นี้เรียกว่า กรรม ทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ ประการนี้แลเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามโพชฌังคสูตรที่ ๗ จบ ๘. สาวัชชสูตร ว่าด้วยกรรมและทิฏฐิที่มีโทษ [๒๓๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ใน นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กายกรรมที่มีโทษ ๒. วจีกรรมที่มีโทษ ๓. มโนกรรมที่มีโทษ ๔. ทิฏฐิที่มีโทษ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กายกรรมที่ไม่มีโทษ ๒. วจีกรรมที่ไม่มีโทษ ๓. มโนกรรมที่ไม่มีโทษ ๔. ทิฏฐิที่ไม่มีโทษ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ใน สวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้สาวัชชสูตรที่ ๘ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๕}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๙. อัพยาปัชฌสูตร
๙. อัพยาปัชฌสูตร ว่าด้วยกรรมและทิฏฐิที่ไม่มีความเบียดเบียน [๒๔๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กายกรรมที่มีความเบียดเบียน ๒. วจีกรรมที่มีความเบียดเบียน ๓. มโนกรรมที่มีความเบียดเบียน ๔. ทิฏฐิที่มีความเบียดเบียน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กายกรรมที่ไม่มีความเบียดเบียน ๒. วจีกรรมที่ไม่มีความเบียดเบียน ๓. มโนกรรมที่ไม่มีความเบียดเบียน ๔. ทิฏฐิที่ไม่มีความเบียดเบียน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมดำรงอยู่ ในสวรรค์เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้อัพยาปัชฌสูตรที่ ๙ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๖}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค ๑๐. สมณสูตร
๑๐. สมณสูตร ว่าด้วยสมณะ [๒๔๑] ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ มีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่น๑- ว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาท๒- โดยชอบเถิด สมณะที่ ๑ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไปจึงเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๓- ในวันข้างหน้า นี้เป็นสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไปและเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จึงเป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้ครั้งเดียวเท่านั้นก็จะทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้ นี้เป็นสมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป จึงเป็น โอปปาติกะ๔- ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอย่างแน่นอน นี้เป็น สมณะที่ ๓ @เชิงอรรถ : @๑ ลัทธิอื่นในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ที่มาในพรหมชาลสูตร คือ สัสสตวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าอัตตาและโลกเที่ยง) @๔, เอกัจจสัสสติกวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง) ๔, อันตานันติกวาท (ลัทธิที่ถือว่า @โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด) ๔, อมราวิกเขปวาทะ (ลัทธิที่พูดหลบเลี่ยง ไม่แน่นอนตายตัว) ๔, อธิจจ- @สมุปปันนวาทะ (ลัทธิที่ถือว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเอง ไม่มีเหตุปัจจัย) ๒, สัญญีวาทะ (ลัทธิที่ถือว่า @หลังจากตายแล้วอัตตามีสัญญา) ๑๖, อสัญญีวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าหลังจากตายแล้วอัตตาไม่มีสัญญา) ๘, @เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าหลังจากตายแล้วอัตตามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่) ๘, อุจเฉท- @วาทะ (ลัทธิที่ถือว่าหลังจากตายแล้ว อัตตาขาดสูญ) ๗, ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ (ลัทธิที่ถือว่ามีสภาวะ @บางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน) ๕, (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๑/๔๔๒) @๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๘ (เวสารัชชสูตร) หน้า ๑๓ ในเล่มนี้ @๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๗๖ (กุสินารสูตร) หน้า ๑๒๒ ในเล่มนี้ @๔ หมายถึงพระอนาคามีไปเกิดในชั้นสุทธาวาสภพใดภพหนึ่ง(องฺ.ติก.(แปล) ๒๐/๘๗/๓๑๔, ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๗}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๔. กัมมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
สมณะที่ ๔ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นสมณะที่ ๔ ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ มีใน ธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาทโดยชอบเถิดสมณสูตรที่ ๑๐ จบ ๑๑. สัปปุริสานิสังสสูตร ว่าด้วยอานิสงส์ที่พึงได้จากสัตบุรุษ [๒๔๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยสัตบุรุษแล้วพึงหวังได้๑- อานิสงส์ ๔ ประการ อานิสงส์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เจริญด้วยอริยศีล ๒. เจริญด้วยอริยสมาธิ ๓. เจริญด้วยอริยปัญญา ๔. เจริญด้วยอริยวิมุตติ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลอาศัยสัตบุรุษแล้วพึงหวังได้อานิสงส์ ๔ ประการนี้สัปปุริสานิสังสสูตรที่ ๑๑ จบ กัมมวรรคที่ ๔ จบ รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. สังขิตตสูตร ๒. วิตถารสูตร ๓. โสณกายนสูตร ๔. ปฐมสิกขาปทสูตร ๕. ทุติยสิกขาปทสูตร ๖. อริยมัคคสูตร ๗. โพชฌังคสูตร ๘. สาวัชชสูตร ๙. อัพยาปัชฌสูตร ๑๐. สมณสูตร ๑๑. สัปปุริสานิสังสสูตร @เชิงอรรถ : @๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๙๑ (โสตานุคตสูตร) หน้า ๒๗๖ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๕๘}
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]
๕. อาปัตติภยวรรค ๑. สังฆเภทกสูตร
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๓๔๕-๓๕๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=21&siri=140 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=6195&Z=6386 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=232 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=21&item=232&items=11 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=10099 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=21&item=232&items=11 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=10099 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i232-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/21i232-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an04/an04.235.than.html https://suttacentral.net/an4.232/en/sujato https://suttacentral.net/an4.233/en/sujato https://suttacentral.net/an4.234/en/sujato https://suttacentral.net/an4.235/en/sujato https://suttacentral.net/an4.236/en/sujato https://suttacentral.net/an4.237/en/sujato https://suttacentral.net/an4.237/en/thanissaro https://suttacentral.net/an4.238/en/sujato https://suttacentral.net/an4.239/en/sujato https://suttacentral.net/an4.240/en/sujato https://suttacentral.net/an4.241/en/sujato https://suttacentral.net/an4.242/en/sujato
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]