ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ภิกขุนีวิภังค์

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์]

๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๔ นิทานวัตถุ

๒. อันธการวรรค
สิกขาบทที่ ๔
ว่าด้วยการส่งเพื่อนภิกษุณีกลับ
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
[๘๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทายืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้าง พูดกระซิบข้างหูบ้างสองต่อสองกับชายในถนนบ้าง ตรอกตันบ้าง ทางสามแพร่งบ้าง ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไปก่อนบ้าง บรรดาภิกษุณีผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ภิกษุณีถุลลนันทายืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้าง พูดกระซิบข้างหูบ้างสองต่อ สองกับชายในถนนบ้าง ตรอกตันบ้าง ทางสามแพร่งบ้าง ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับ ไปก่อนบ้างเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุทั้งหลายให้ทราบ พวกภิกษุจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทายืนเคียงคู่กัน บ้าง สนทนากันบ้าง พูดกระซิบข้างหูบ้างสองต่อสองกับชายในถนนบ้าง ตรอกตัน บ้าง ทางสามแพร่งบ้าง ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไปก่อนบ้าง จริงหรือ” ภิกษุ ทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทายืนเคียงคู่กันบ้าง สนทนากันบ้าง พูด กระซิบข้างหูบ้างสองต่อสองกับชายในถนนบ้าง ตรอกตันบ้าง ทางสามแพร่งบ้าง ส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไปก่อนบ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำ คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณีทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า : ๑๖๔}

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์]

๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ
[๘๕๑] ก็ภิกษุณีใดยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากัน หรือพูดกระซิบข้างหู สองต่อสองกับชายในถนน หรือตรอกตัน หรือทางสามแพร่ง หรือส่งภิกษุณีผู้ เป็นเพื่อนกลับไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๘๕๒] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็ ... ใด คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้ มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า ถนน ได้แก่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงทางเดิน ที่ชื่อว่า ตรอกตัน ได้แก่ คนเข้าไปทางใดต้องเดินออกทางนั้น ที่ชื่อว่า ทางสามแพร่ง ได้แก่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงทางแยก ที่ชื่อว่า ชาย ได้แก่ มนุษย์ผู้ชาย ไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่เปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉาน ตัวผู้ แต่เป็นมนุษย์ผู้ชายที่รู้เดียงสา สามารถยืนร่วมกัน สนทนากันได้ คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน คำว่า สองต่อสอง คือ ชาย และภิกษุณี คำว่า ยืนเคียงคู่กัน คือ ยืนอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า หรือสนทนากัน คือ สนทนากันอยู่ในระยะช่วงแขนชาย ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ คำว่า หรือพูดกระซิบข้างหู คือ บอกเนื้อความใกล้หูชาย ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า : ๑๖๕}

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [๔. ปาจิตติยกัณฑ์]

๒. อันธการวรรค สิกขาบทที่ ๔ อนาปัตติวาร

คำว่า หรือส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไป คือ ประสงค์จะประพฤติไม่สมควร จึงส่งภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนกลับไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนพ้น ระยะที่จะมองเห็น หรือระยะที่จะได้ยิน ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อภิกษุณีผู้เป็นเพื่อน พ้นไปแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับชายพ้นระยะช่วงแขน ต้องอาบัติทุกกฏ ยืนเคียงคู่กัน หรือสนทนากันกับยักษ์ เปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉาน ตัวผู้ที่มีร่างคล้ายมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุณีต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๘๕๓] ๑. ภิกษุณีมีสตรีคนใดคนหนึ่งที่รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ๒. ภิกษุณีผู้ไม่ประสงค์ที่จะอยู่ในที่ลับยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากัน ๓. ภิกษุณีที่ยืนเคียงคู่กันหรือสนทนากันแต่คิดในเรื่องอื่น ๔. ภิกษุณีส่งเพื่อนภิกษุณีกลับเมื่อมีเหตุจำเป็น ๕. ภิกษุณีวิกลจริต ๖. ภิกษุณีต้นบัญญัติ
สิกขาบทที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓ หน้า : ๑๖๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๖๔-๑๖๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=3&siri=42              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=3&A=2817&Z=2867                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=3&i=194              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=3&item=194&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=11407              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=3&item=194&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=11407                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu3              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/03i001-e.php#3.194 https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-pc14/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-pc14/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :