ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

๒. อิทธิกถา
ว่าด้วยฤทธิ์
[๙] ฤทธิ์เป็นอย่างไร ฤทธิ์มีเท่าไร ภูมิแห่งฤทธิ์มีเท่าไร บาทแห่งฤทธิ์มีเท่าไร บทแห่งฤทธิ์มีเท่าไร มูลแห่งฤทธิ์มีเท่าไร ถาม : ฤทธิ์เป็นอย่างไร ตอบ : ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะมีสภาวะสำเร็จ ถาม : ฤทธิ์มีเท่าไร ตอบ : ฤทธิ์มี ๑๐ อย่าง ถาม : ภูมิแห่งฤทธิ์มีเท่าไร ตอบ : ภูมิแห่งฤทธิ์มี ๔ อย่าง ... บาทแห่งฤทธิ์มี ๔ อย่าง ... บทแห่งฤทธิ์มี ๘ อย่าง ... มูลแห่งฤทธิ์มี ๑๖ อย่าง ฤทธิ์ ๑๐ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. ฤทธิ์ที่อธิษฐาน ๒. ฤทธิ์ที่แสดงได้ต่างๆ ๓. ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ ๔. ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ ๕. ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ ๖. ฤทธิ์ของพระอริยะ ๗. ฤทธิ์ที่เกิดจากผลกรรม ๘. ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ ๙. ฤทธิ์ที่สำเร็จมาจากวิชชา ๑๐. ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะมีสภาวะสำเร็จด้วยการประกอบโดยชอบในส่วน นั้นๆ เป็นปัจจัย ภูมิแห่งฤทธิ์ ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. ปฐมฌานเป็นภูมิเกิดจากวิเวก ๒. ทุติยฌานเป็นภูมิแห่งปีติและสุข ๓. ตติยฌานเป็นภูมิแห่งอุเบกขาและสุข ๔. จตุตถฌานเป็นภูมิแห่งอุเบกขา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

ภูมิแห่งฤทธิ์ ๔ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ เพื่อความได้เฉพาะฤทธิ์ เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เพื่อความสำเร็จแห่งฤทธิ์ เพื่อความชำนาญในฤทธิ์ เพื่อ ความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์ บาทแห่งฤทธิ์ ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร ๒. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร ๓. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร ๔. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร บาทแห่งฤทธิ์ ๔ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ เพื่อความได้เฉพาะฤทธิ์ เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เพื่อความสำเร็จแห่งฤทธิ์ เพื่อความชำนาญในฤทธิ์ เพื่อ ความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์ บทแห่งฤทธิ์ ๘ อย่าง อะไรบ้าง คือ ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต ฉันทะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่ ฉันทะ ฉันทะเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าภิกษุอาศัยวิริยะได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต วิริยะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่ วิริยะ วิริยะเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าภิกษุอาศัยจิตตะได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต จิตตะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่ จิตตะ จิตตะเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าภิกษุอาศัยวิมังสาได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต วิมังสาไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ ใช่วิมังสา วิมังสาเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง บทแห่งฤทธิ์ ๘ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ เพื่อความได้เฉพาะฤทธิ์ เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เพื่อความสำเร็จแห่งฤทธิ์ เพื่อความชำนาญในฤทธิ์ เพื่อ ความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

มูลแห่งฤทธิ์ ๑๖ อย่าง อะไรบ้าง คือ ๑. จิตไม่ฟุบลงย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา (ไม่หวั่นไหว) ๒. จิตไม่ฟูขึ้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอุทธัจจะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อาเนญชา ๓. จิตไม่ยินดีย่อมไม่หวั่นไหวเพราะราคะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อาเนญชา ๔. จิตไม่มุ่งร้ายย่อมไม่หวั่นไหวเพราะพยาบาท เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อาเนญชา ๕. จิตอันทิฏฐิไม่อาศัยย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา ๖. จิตไม่พัวพันย่อมไม่หวั่นไหวเพราะฉันทราคะ เพราะเหตุนั้น จึง ชื่อว่าอาเนญชา ๗. จิตหลุดพ้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกามราคะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อาเนญชา ๘. จิตไม่เกาะเกี่ยวย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกิเลส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อาเนญชา ๙. จิตปราศจากเครื่องครอบงำย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความครอบงำ กิเลส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา ๑๐. จิตที่เป็นเอกัคคตารมณ์ย่อมไม่หวั่นเพราะกิเลสต่างๆ๑- เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา ๑๑. จิตที่กำหนดด้วยศรัทธาย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความไม่มีศรัทธา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา ๑๒. จิตที่กำหนดด้วยวิริยะย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา @เชิงอรรถ : @ กิเลสต่างๆ ในที่นี้หมายถึงกิเลสที่เป็นไปในอารมณ์ต่างๆ (ขุ.ป.อ. ๒/๙/๓๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

๑๓. จิตที่กำหนดด้วยสติย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความประมาท เพราะ เหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา ๑๔. จิตที่กำหนดด้วยสมาธิย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอุทธัจจะ เพราะเหตุ นั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา ๑๕. จิตที่กำหนดด้วยปัญญาย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอวิชชา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา ๑๖. จิตที่ถึงความสว่างไสวย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความมืดคืออวิชชา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา มูลแห่งฤทธิ์ ๑๖ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ เพื่อความได้เฉพาะ ฤทธิ์ เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ เพื่อความสำเร็จแห่งฤทธิ์ เพื่อความเป็นผู้ชำนาญ ในฤทธิ์ เพื่อความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์
ทสอิทธินิทเทส
แสดงฤทธิ์ ๑๐ อย่าง
[๑๐] ฤทธิ์ที่อธิษฐาน เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในที่นี้แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏก็ได้ แสดงให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือน ดำลงในน้ำก็ได้ เดินไปบนน้ำโดยน้ำไม่แยกเหมือนเดินไปบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไป ในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มี อานุภาพมากอย่างนั้นก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ คำว่า ในที่นี้ อธิบายว่า ในความเห็นนี้ คือ ในความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในที่นี้ คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน เป็นพระเสขะ หรือเป็น พระอรหันต์ผู้มีธรรมไม่กำเริบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

คำว่า แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง อธิบายว่า แสดงฤทธิ์ได้มีประการต่างๆ คำว่า แม้คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ อธิบายว่า ท่านผู้มีฤทธิ์โดย ปกติเป็นผู้เดียว ย่อมนึกให้เป็นหลายคน คือ นึกให้เป็น ๑๐๐ คน ๑,๐๐๐ คน ๑๐๐,๐๐๐ คน แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า “จงเป็นหลายคน” ก็เป็นหลายคนได้ ท่านผู้มีฤทธิ์ถึงความเป็นผู้ชำนาญแห่งจิต แม้คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ เปรียบเหมือนท่านพระจุลปันถกรูปเดียวแสดงเป็นหลายรูปก็ได้ ฉะนั้น คำว่า หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ อธิบายว่า ท่านผู้มีฤทธิ์โดยปกติ เป็นหลายคน ย่อมนึกให้เป็นคนเดียวแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า “จงเป็นคนเดียว” ก็เป็นคนเดียวได้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้น ถึงความชำนาญแห่งจิต หลายคนแสดงเป็นคน เดียวก็ได้ เปรียบเหมือนท่านจุลปันถกหลายรูปแสดงเป็นรูปเดียวก็ได้ ฉะนั้น [๑๑] คำว่า แสดงให้ปรากฏก็ได้ อธิบายว่า ที่ใครๆ ไม่ปิดบังไว้ ทำให้ ไม่มีอะไรปิดบัง ให้เปิดเผยปรากฏก็ได้ คำว่า แสดงให้หายไปก็ได้ อธิบายว่า ที่ใครๆ เปิดไว้ ทำให้เป็นที่ปิดบัง มิดชิดก็ได้ คำว่า ทะลุฝา ทะลุกำแพง ฯลฯ เหมือนไปในอากาศก็ได้ อธิบายว่า ท่านผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ได้อากาสกสิณสมาบัติ โดยปกติย่อมนึกถึงฝา กำแพง ภูเขา แล้ว อธิษฐานด้วยญาณว่า “จงเป็นที่ว่าง” ก็เป็นที่ว่างได้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นย่อมทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิตย่อมทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่แจ้ง เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์ โดยปกติไปในที่ไม่มีอะไรปิดบังกั้นไว้โดยไม่ติดขัด ฉะนั้น คำว่า ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เหมือนเดินไปบนน้ำก็ได้ อธิบายว่า ท่าน ผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ได้อาโปกสิณสมาบัติ โดยปกติย่อมนึกถึงแผ่นดินแล้วอธิษฐานด้วย ญาณว่า “จงเป็นน้ำ” ก็เป็นน้ำได้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินก็ได้ ท่าน ผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิตผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนเดินไปบนน้ำก็ได้ เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปกติผุดขึ้นดำลงในน้ำได้ ฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

คำว่า เดินไปบนน้ำ ฯลฯ เหมือนเดินไปบนแผ่นดินก็ได้ อธิบายว่าท่าน ผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัติ โดยปกติย่อมนึกถึงน้ำแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า “จงเป็นแผ่นดิน” ก็เป็นแผ่นดินได้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นเดินไปบนน้ำโดยน้ำไม่แยกก็ได้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิตเดินไปบนน้ำโดยน้ำไม่แยกเหมือนเดินไป บนดินก็ได้ เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปกติเดินไปบนแผ่นดินโดย แผ่นดินไม่แตก ฉะนั้น คำว่า เหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ อธิบายว่า ท่านผู้มีฤทธิ์เป็น ผู้ได้ปฐวีกสิณสมาบัติ โดยปกติย่อมนึกถึงอากาศแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า “จง เป็นแผ่นดิน” ก็เป็นแผ่นดินได้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นเดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ในกลางอากาศ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญแห่งจิต เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ในกลางอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ เปรียบเหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์ โดยปกติเดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บนแผ่นดิน ฉะนั้น [๑๒] คำว่า ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพ มากอย่างนี้ก็ได้ อธิบายว่า ท่านผู้มีฤทธิ์ในศาสนานี้ถึงความชำนาญแห่งจิต นั่งหรือ นอนก็ตาม นึกถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์แล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า “ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์จงมีในที่ใกล้มือ” ก็มีในที่ใกล้มือได้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นนั่งหรือนอน ก็ตาม ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นี้ ท่านผู้มีฤทธิ์นั้นถึงความชำนาญ แห่งจิต นั่งหรือนอนก็ตาม ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นี้ เปรียบ เหมือนพวกมนุษย์ผู้ไม่มีฤทธิ์โดยปกติย่อมสัมผัสรูปอะไรๆ ที่ใกล้มือได้ ฉะนั้น คำว่า ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ อธิบายว่า ท่านผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้น ถ้าประสงค์จะไปยังพรหมโลก ก็อธิษฐานที่ไกลให้เป็นที่ ใกล้ว่า “จงเป็นที่ใกล้” ก็เป็นที่ใกล้ได้ อธิษฐานที่ใกล้ให้เป็นที่ไกลว่า “จงเป็นที่ไกล” ก็เป็นที่ไกลได้ อธิษฐานของมากให้เป็นของน้อยว่า “จงเป็นของน้อย” ก็เป็นของ น้อยได้ อธิษฐานของน้อยให้เป็นของมากว่า “จงเป็นของมาก” ก็เป็นของมากได้ ย่อมเห็นรูปพรหมนั้นได้ด้วยทิพพจักขุ ย่อมฟังเสียงพรหมนั้นได้ด้วยทิพพโสตธาตุ ย่อมรู้จิตของพรหมนั้นได้ด้วยเจโตปริยญาณ ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

ประสงค์จะไปยังพรหมโลกด้วยกายที่ปรากฏ ก็น้อมจิตอธิษฐานด้วยอำนาจกาย ครั้นหยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาแล้วก็ไปยังพรหมโลกได้ด้วยกายที่ปรากฏอยู่ ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้นประสงค์จะไปยังพรหมโลกด้วยกายที่ไม่ ปรากฏ ก็น้อมกายอธิษฐานด้วยอำนาจจิต ครั้นหยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา แล้วก็ไปยังพรหมโลกได้ด้วยกายที่ไม่ปรากฏ ท่านผู้มีฤทธิ์เนรมิตรูปที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบทุกส่วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่องไว้ข้างหน้าของพรหมนั้น ถ้าท่านผู้มี ฤทธิ์เดินอยู่ รูปกายเนรมิตนั้นก็เดินอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ยืนอยู่ รูปกาย เนรมิตก็ยืนอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ รูปกายเนรมิตก็นั่งอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์นอนอยู่ รูปกายเนรมิตก็นอนอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์บังหวน ควันอยู่ รูปกายเนรมิตก็บังหวนควันอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ให้ไฟลุกอยู่ รูป- กายเนรมิตก็ให้ไฟลุกอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์กล่าวธรรมอยู่ รูปกายเนรมิต ก็กล่าวธรรมอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ถามปัญหาอยู่ รูปกายเนรมิตก็ถาม ปัญหาอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ถูกรูปกายเนรมิตถามปัญหาก็แก้ปัญหาอยู่ รูป- กายเนรมิตถูกท่านผู้มีฤทธิ์ถามปัญหาก็แก้ปัญหาอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ยืน สนทนาปราศรัยกับพรหมนั้นอยู่ รูปกายเนรมิตก็ยืนสนทนาปราศรัยกับพรหม นั้นอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ทำกิจใดอยู่ รูปกายเนรมิตก็ทำกิจนั้นๆ นั่นเอง นี้ฤทธิที่อธิษฐาน (๑) [๑๓] ฤทธิ์ที่แสดงได้ต่างๆ เป็นอย่างไร คือ พระเถระชื่ออภิภูเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี สถิตอยู่ในพรหมโลก เปล่งเสียงให้พันโลกธาตุทราบชัด ท่านแสดง ธรรมด้วยกายที่ปรากฏก็มี ด้วยกายที่ไม่ปรากฏก็มี ด้วยกายครึ่งหนึ่งส่วนล่าง ปรากฏก็มี ด้วยกายครึ่งหนึ่งส่วนบนไม่ปรากฏก็มี ด้วยกายครึ่งหนึ่งส่วนบนปรากฏ ก็มี ด้วยกายครึ่งหนึ่งส่วนล่างไม่ปรากฏก็มี ท่านละเพศปกติแล้วแสดงเพศกุมาร บ้าง แสดงเพศนาคบ้าง แสดงเพศครุฑบ้าง แสดงเพศยักษ์บ้าง แสดงเพศอสูรบ้าง แสดงเพศพระอินทร์บ้าง แสดงเพศเทวดาบ้าง แสดงเพศพรหมบ้าง แสดงรูปสมุทร บ้าง แสดงรูปภูเขาบ้าง แสดงรูปป่าบ้าง แสดงรูปราชสีห์บ้าง แสดงรูปเสือโคร่งบ้าง แสดงรูปเสือเหลืองบ้าง แสดงรูปช้างบ้าง แสดงพลม้าบ้าง แสดงพลรถบ้าง แสดง พลราบบ้าง แสดงกองทัพตั้งประชิดกันต่างๆ บ้าง นี้ฤทธิ์ที่แสดงได้ต่างๆ (๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

[๑๔] ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในศาสนานี้เนรมิตกายอื่นจากกายนี้มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะ ครบทุกส่วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เปรียบเหมือนบุรุษชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาพึงมีความหมายรู้อย่างนี้ว่า “นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ ก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ไส้ก็ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง” อีกประการหนึ่ง บุรุษชัก ดาบออกจากฝัก เขาพึงมีความหมายรู้อย่างนี้ว่า “นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบเป็นอย่างหนึ่ง ฝักก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ดาบก็ชักออกจากฝักนั่นเอง” อีกประการหนึ่ง บุรุษเอางู ออกจากกระทอ เขาพึงมีความหมายรู้อย่างนี้ว่า “นี้งู นี้กระทอ งูเป็นอย่างหนึ่ง กระทอก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่งูก็ออกจากกระทอนั่นเอง” ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้น เหมือนกัน เนรมิตกายอื่นนอกจากกายนี้มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบทุกส่วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ (๓) [๑๕] ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ เป็นอย่างไร คือ สภาวะที่ละนิจจสัญญาย่อมสำเร็จได้ด้วยอนิจจานุปัสสนา เพราะเหตุนั้น จึงเป็นฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ สภาวะที่ละสุขสัญญาย่อมสำเร็จได้ด้วยทุกขานุปัสสนา ฯลฯ สภาวะที่ละอัตตสัญญาย่อมสำเร็จได้ด้วยอนัตตานุปัสสนา ฯลฯ สภาวะที่ ละนันทิย่อมสำเร็จได้ด้วยนิพพิทานุปัสสนา ฯลฯ สภาวะที่ละราคะย่อมสำเร็จได้ ด้วยวิราคานุปัสสนา ฯลฯ สภาวะที่ละสมุทัยย่อมสำเร็จได้ด้วยนิโรธานุปัสสนา ฯลฯ สภาวะที่ละอาทานะย่อมสำเร็จได้ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา เพราะเหตุนั้น จึงเป็น ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ ท่านพระพากุละ ท่านพระสังกิจจะ ท่านพระภูตปาละมี ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ นี้ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ (๔) [๑๖] ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ เป็นอย่างไร คือ สภาวะที่ละนิวรณ์ย่อมสำเร็จได้ด้วยปฐมฌาน เพราะเหตุนั้น จึงเป็น ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ สภาวะที่ละวิตกวิจารย่อมสำเร็จได้ด้วยทุติยฌาน เพราะ เหตุนั้น จึงเป็นฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ สภาวะที่ละปีติย่อมสำเร็จได้ด้วยตติยฌาน ฯลฯ สภาวะที่ละสุขและทุกข์ย่อมสำเร็จได้ด้วยจตุตถฌาน ฯลฯ สภาวะที่ละ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา

รูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญาย่อมสำเร็จได้ด้วยอากาสานัญจายตน- สมาบัติ ฯลฯ สภาวะที่ละอากาสานัญจายตนสัญญาย่อมสำเร็จได้ด้วยวิญญาณัญ- จายตนสมาบัติ ฯลฯ สภาวะที่ละวิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมสำเร็จได้ด้วย อากิญจัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ สภาวะที่ละอากิญจัญญายตนสัญญาย่อมสำเร็จได้ ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เพราะเหตุนั้น จึงเป็นฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ ท่านพระสารีบุตรมีฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ ท่านพระสัญชีวะมีฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ ท่านพระขาณุโกณฑัญญะมีฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ อุตตราอุบาสิกามีฤทธิ์ที่แผ่ไป ด้วยสมาธิ สามาวดีอุบาสิกามีฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ นี้ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ (๕) [๑๗] ฤทธิ์ของพระอริยะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในศาสนานี้ ถ้าหวังว่า “เราพึงมีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลว่า เป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่” ก็มีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า “เราพึงมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่” ก็มีความ หมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า “เราพึงมีความหมายรู้ ในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่” ก็มีความหมายรู้ในสิ่งที่ ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า “เราพึงมีความ หมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่” ก็มีความหมายรู้ ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังว่า “เราพึงเว้น สิ่งทั้งสองนั้น มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่” ก็เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ ภิกษุมีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุแผ่ไปด้วยเมตตา หรือน้อมเข้าไปโดยความเป็นธาตุ ในสิ่งที่ไม่น่า ปรารถนา ภิกษุมีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่อย่างนี้ ภิกษุมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุแผ่ไปโดยความไม่งาม หรือน้อมไปโดยความไม่เที่ยงในสิ่งที่น่าปรารถนา ภิกษุมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่อย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๗๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๒. อิทธิกถา ทสอิทธินิทเทส

ภิกษุมีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุแผ่ไปด้วยเมตตา หรือน้อมเข้าไปโดยความเป็นธาตุในสิ่งที่ไม่น่า ปรารถนาและน่าปรารถนา ภิกษุมีความหมายรู้ในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่า เป็นสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่อย่างนี้ ภิกษุมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุแผ่ไปโดยความไม่งาม หรือน้อมเข้าไปโดยความไม่เที่ยง ในสิ่งที่ น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ภิกษุมีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและในสิ่งที่ ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอยู่อย่างนี้ ภิกษุเว้นสิ่งทั้งสองนั้น มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะในสิ่งที่ปฏิกูลและใน สิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในศาสนานี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติ- สัมปชัญญะ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มี อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ภิกษุเว้นสิ่งทั้งสองนั้น มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ ในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่อย่างนี้ นี้ฤทธิ์ของพระอริยะ (๖) [๑๘] ฤทธิ์ที่เกิดจากผลกรรม เป็นอย่างไร คือ นกทุกชนิด เทวดาทุกจำพวก มนุษย์บางพวก วินิปาติกเปรตบางพวก มีฤทธิ์เกิดจากผลกรรม นี้ฤทธิ์ที่เกิดจากผลกรรม (๗) ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ เป็นอย่างไร คือ พระเจ้าจักรพรรดิเสด็จเหาะไปในอากาศพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา๑- ตลอดจน พวกคนเลี้ยงม้าเป็นที่สุด ฤทธิ์ของโชติยคหบดีผู้มีบุญ ฤทธิ์ของชฏิลคหบดีผู้มีบุญ @เชิงอรรถ : @ จตุรงคินีเสนา หมายถึงกองทัพประกอบด้วยองค์ ๔ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า @(ขุ.ป.อ. ๒/๑๘/๓๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๗๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๓. ปัญญาวรรค]

๓. อภิสมยกถา

ฤทธิ์ของเมณฑกคหบดีผู้มีบุญ ฤทธิ์ของโฆสิตคหบดีผู้มีบุญ ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ มาก ๕ คน๑- เป็นฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ นี้ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ (๘) ฤทธิ์ที่สำเร็จมาจากวิชชา เป็นอย่างไร คือ พวกวิทยาธรร่ายวิชชาแล้วเหาะไปได้ แสดงพลช้างบ้าง แสดงพลม้าบ้าง แสดงพลรถบ้าง แสดงพลราบบ้าง แสดงกองทัพตั้งประชิดกันต่างๆ บ้าง ใน กลางอากาศ นี้ฤทธิ์ที่สำเร็จมาจากวิชชา (๙) ชื่อว่าฤทธิ์เพราะมีสภาวะสำเร็จด้วยการประกอบโดยชอบในส่วนนั้นๆ เป็นปัจจัย เป็นอย่างไร คือ สภาวะที่ละกามฉันทะ ย่อมสำเร็จได้ด้วยเนกขัมมะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าฤทธิ์เพราะมีสภาวะสำเร็จด้วยการประกอบโดยชอบในส่วนนั้นๆ เป็นปัจจัย สภาวะแห่งการละพยาบาทย่อมสำเร็จได้ด้วยอพยาบาท ฯลฯ สภาวะที่ละ ถีนมิทธะย่อมสำเร็จได้ด้วยอาโลกสัญญา ฯลฯ สภาวะที่ละกิเลสทั้งปวงย่อม สำเร็จได้ด้วยอรหัตตมรรค เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าฤทธิ์เพราะมีสภาวะสำเร็จด้วย การประกอบโดยชอบในส่วนนั้นๆ เป็นปัจจัย ชื่อว่าฤทธิ์เพราะมีสภาวะสำเร็จ ด้วยการประกอบโดยชอบในส่วนนั้นๆ เป็นปัจจัยอย่างนี้ (๑๐) ฤทธิ์ ๑๐ อย่างนี้
ทสอินทธินิทเทส จบ
อิทธิกถา จบ
๓. อภิสมยกถา
ว่าด้วยการตรัสรู้
[๑๙] คำว่า การตรัสรู้ อธิบายว่า ตรัสรู้ด้วยอะไร คือ ตรัสรู้ด้วยจิต ตรัสรู้ด้วยจิตหรือ ถ้าอย่างนั้น บุคคลผู้ไม่มีญาณ ก็ตรัสรู้ได้ บุคคลผู้ไม่มี ญาณตรัสรู้ไม่ได้ ตรัสรู้ด้วยญาณ @เชิงอรรถ : @ ผู้มีบุญมาก ๕ คน ได้แก่ (๑) เมณฑกเศรษฐี (๒) จันทปทุมาภริยาของเมณฑกเศรษฐี (๓) ธนัญชัยเศรษฐี- @บุตร (๔) สุมนาเทวีลูกสะใภ้ (๕) นายปุณณทาส (ขุ.ป.อ. ๒/๑๘/๓๕๐-๓๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๗๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ หน้าที่ ๕๖๒-๕๗๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=31&siri=81              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=31&A=10090&Z=10320                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=679              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=31&item=679&items=16              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=6954              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=31&item=679&items=16              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=6954                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu31



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :