ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ภิกขุนีวิภังค์
นิสสัคคิยกัณฑ์
แม่เจ้าทั้งหลาย อนึ่ง ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบทเหล่านี้แล มาสู่อุเทศ.
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์
[๙๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ พากันสั่งสมบาตรไว้มากมาย ประชาชนเดินเที่ยวชมวิหารเห็นเข้าแล้วพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุณีทั้งหลาย จึงได้สั่งสมบาตรไว้มากมาย ท่านจักทำการขายบาตร หรือจักออกร้านค้าเครื่องภาชนะ. ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงพากันทำการสั่งสมบาตรเล่า ... ครั้นแล้วได้แจ้งเรื่องนั้นแด่ภิกษุทั้งหลายๆ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกภิกษุณี- *ฉัพพัคคีย์ทำการสั่งสมบาตร จริงหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกภิกษุณีฉัพพัคคีย์จึงได้ พากันทำการสั่งสมบาตรเล่า การกระทำของพวกนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๒๖. ๑. อนึ่ง ภิกษุณีใด พึงทำการสั่งสมบาตร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
เรื่องภิกษุณีฉัพพัคคีย์ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๙๔] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุณี ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุณี เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุณี ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า บาตร มีสองชนิด คือบาตรเหล็ก ๑ บาตรดินเผา ๑
ขนาดของบาตร
บาตรมี ๓ ขนาด คือ บาตรขนาดใหญ่ ๑ บาตรขนาดกลาง ๑ บาตรขนาดเล็ก ๑ บาตรที่ชื่อว่าขนาดใหญ่ จุข้าวสุกแห่งข้าวสารกึ่งอาฬหก ของเคี้ยวเท่าส่วนที่สี่แห่งข้าวสุก และกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น. บาตรที่ชื่อว่าขนาดกลาง จุข้าวสุกแห่งข้าวสารหนึ่งนาฬี ของเคี้ยวเท่าส่วนที่สี่แห่งข้าวสุก และกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น. บาตรที่ชื่อว่าขนาดเล็ก จุข้าวสุกแห่งข้าวสารหนึ่งปัตถะ ของเคี้ยวเท่าส่วนที่สี่แห่งข้าวสุก และกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น. ใหญ่กว่านั้นไม่ใช่บาตร เล็กกว่านั้นก็ไม่ใช่บาตร. บทว่า พึงทำการสั่งสม คือ ไม่ได้อธิษฐาน ไม่ได้วิกัป. บาตรเป็นนิสสัคคิยะ คือ เป็นนิสสัคคีย์พร้อมกับเวลาอรุณขึ้น จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือภิกษุณีรูปหนึ่ง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลบาตรเป็นนิสสัคคีย์นั้น ภิกษุณีพึงเสียสละ อย่างนี้.
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
[๙๕] ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุณีผู้แก่ พรรษากว่าทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้าเจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้า ล่วงราตรีแล้ว เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่สงฆ์ ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุณีผู้ฉลาด ผู้สามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนบาตรที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า แม่เจ้าเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า บาตรใบนี้ของภิกษุณีมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้บาตรใบนี้แก่ภิกษุณีมีชื่อนี้ ดังนี้.
เสียสละแก่คณะ
[๙๖] ภิกษุณีรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุณีหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้า ภิกษุณีผู้แก่พรรษากว่าทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้า เจ้าข้า บาตรใบนี้ของข้าพเจ้า ล่วงราตรีแล้ว เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละ บาตรใบนี้แก่แม่เจ้าทั้งหลาย. ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุณีผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนบาตรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า ขอแม่เจ้าทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า บาตรใบนี้ของภิกษุณีมีชื่อนี้ เป็นของ จำจะสละ เธอสละแล้วแก่แม่เจ้าทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของแม่เจ้าทั้งหลายถึงที่แล้ว แม่เจ้า ทั้งหลายพึงให้บาตรใบนี้แก่ภิกษุณีมีชื่อนี้ ดังนี้.
เสียสละแก่ภิกษุณีรูปหนึ่ง
[๙๗] ภิกษุณีรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุณีรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้า เจ้าข้า บาตรใบนี้ของดิฉัน ล่วงราตรีแล้ว เป็นของจำจะสละ ดิฉันสละบาตรใบนี้แก่แม่เจ้า ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุณีผู้รับเสียสละนั้นพึงรับอาบัติ พึงคืนบาตรที่เสียสละให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้บาตรใบนี้แก่แม่เจ้า ดังนี้.
บทภาชนีย์
นิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๙๘] บาตรล่วงราตรีแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่า ล่วงแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรล่วงราตรีแล้ว ภิกษุณีสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรล่วงราตรีแล้ว ภิกษุณีสำคัญว่า ยังไม่ล่วง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุณีสำคัญว่า อธิษฐานแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุณีสำคัญว่าวิกัปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรยังไม่ได้สละให้ไป ภิกษุณีสำคัญว่า สละให้ไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์. บาตรยังไม่สูญ ภิกษุณีสำคัญว่า สูญแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรไม่หาย ภิกษุณีสำคัญว่า หายแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรไม่แตก ภิกษุณีสำคัญว่า แตกแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บาตรไม่ถูกลักไป ภิกษุณีสำคัญว่า ถูกลักไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ติกะทุกกฏ
[๙๙] บาตรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุณียังไม่ได้สละ ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ. บาตรยังไม่ล่วงราตรี ภิกษุณีสำคัญว่า ล่วงแล้ว ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ. บาตรยังไม่ล่วงราตรี ภิกษุณีสงสัย ใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
บาตรยังไม่ล่วงราตรี ภิกษุณีสำคัญว่า ยังไม่ล่วง ใช้สอย ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๑๐๐] ภายในอรุณขึ้น ภิกษุณีอธิษฐาน ๑ วิกัป ๑ สละให้ไป ๑ สูญ ๑ หาย ๑ แตก ๑ ถูกโขมยแย่งชิงเอาไป ๑ เพื่อนถือวิสาสะเอาไป ๑ วิกลจริต ๑ อาทิกัมมิกา ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
เรื่องไม่ยอมคืนบาตรให้
[๑๐๑] สมัยต่อมา ภิกษุณีฉัพพัคคีย์ไม่ยอมคืนบาตรที่เสียสละให้ ภิกษุทั้งหลายกราบ ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บาตรที่ภิกษุณีเสียสละแล้ว จะไม่คืนให้ไม่ได้ รูปใดไม่ยอมคืนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ.
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๓๔๒-๑๔๓๒ หน้าที่ ๕๖-๕๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=3&A=1342&Z=1432&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=3&A=1342&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=3&siri=16              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=3&i=93              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=3&A=1254              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=11125              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=3&A=1254              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=11125              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_3              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- http://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/03i001-e.php#3.093 https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-np1/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bi-vb-np1/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]