ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๑

หน้าที่ ๑๘๓-๑๘๖.


                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์

ว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ แต่กรณีนี้ไม่ควรกล่าว ว่ามี”๑- ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้ยิ่ง กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นญาณทัสสนะที่ ประเสริฐอันสามารถ ให้น้อมเข้ามาในตนว่า “ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้” ครั้นสมัยต่อจากนั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งโจทก็ตามไม่โจทก็ตาม เธอผู้ต้องอาบัติแล้ว หวังความบริสุทธิ์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้ กล่าวว่ารู้ ข้าพเจ้าไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ข้าพเจ้ากล่าวคำไร้ประโยชน์ เป็นคำเท็จ” เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
เรื่องภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๑๙๘] คำว่า อนึ่ง ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า ไม่รู้ยิ่ง คือ ภิกษุไม่รู้ไม่เห็นกุศลธรรมในตนซึ่งไม่มีอยู่ ไม่เป็นจริง หา ไม่ได้ กล่าวว่า เรามีกุศลธรรม ที่ชื่อว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ภาวะที่จิตปลอดจากกิเลส ความยินดี ในเรือนว่าง @เชิงอรรถ : @ ข้อความนี้ แปลมาจากบาลีว่า “อพฺโพหาริกํ” คือกล่าวไม่ได้ว่ามี มีเหมือนไม่มี มีแต่ไม่ปรากฏ จึงไม่ @ได้โวหารว่ามี นำมากล่าวอ้างไม่ได้ ถือเป็นกรณีพิเศษที่ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้ (ดู วิ.อ. ๑/๑๙๖/๕๒๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๘๓}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ สิกขาบทวิภังค์

คำว่า น้อมเข้ามาในตน ได้แก่ น้อมกุศลธรรมเหล่านั้นเข้าในตน หรือน้อม ตนเข้าในกุศลธรรมเหล่านั้น คำว่า ญาณ ได้แก่ วิชชา ๓ คำว่า ทัสสนะ ได้แก่ ญาณก็คือทัสสนะ ทัสสนะก็คือญาณ คำว่า กล่าวอวด คือ บอกแก่ชายหรือแก่หญิง แก่บรรพชิตหรือแก่คฤหัสถ์ คำว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ความว่า “ข้าพเจ้ารู้ธรรมเหล่านั้น เห็น ธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในข้าพเจ้า และข้าพเจ้าย่อมเห็นชัดธรรมเหล่านั้น” คำว่า ครั้นสมัยต่อจากนั้น คือ ล่วงขณะ ลยะ ครู่ ที่กล่าวอวดนั้น๑- คำว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งโจทก็ตาม คือ มีผู้โจทก์ในเรื่องที่เธอกล่าวอ้างว่า “ท่านบรรลุอะไร บรรลุอย่างไร บรรลุเมื่อไร บรรลุที่ไหน ละกิเลสเหล่าไหนได้ ได้ ธรรมอะไร” คำว่า ไม่โจท คือ ไม่มีใครๆ กล่าว คำว่า ผู้ต้องอาบัติแล้ว ความว่า ภิกษุมีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยาก ครอบงำ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีจริงไม่เป็นจริง ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว คำว่า หวังความบริสุทธิ์ คือ ประสงค์จะเป็นคฤหัสถ์ อุบาสก อารามิก (คนวัด) หรือสามเณร คำว่า ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ข้าพเจ้าไม่เห็น อย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ความว่า ภิกษุกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้ธรรมเหล่านั้น ไม่ เห็นธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้นไม่มี และข้าพเจ้าก็ไม่เห็นชัดธรรมเหล่านั้น” คำว่า กล่าวคำไร้ประโยชน์ เป็นคำเท็จ ความว่า ข้าพเจ้ากล่าวคำไร้ ประโยชน์ กล่าวเท็จ กล่าวไม่จริง กล่าวสิ่งที่ไม่มี ข้าพเจ้าไม่รู้กล่าวไปแล้ว @เชิงอรรถ : @ ดีดนิ้วมือ ๑๐ ครั้งเป็น ๑ ขณะ, ๑๐ ขณะเป็น ๑ ลยะ, ๑๐ ลยะเป็น ๑ ขณลยะ, ๑๐ ขณลยะเป็น ๑ ครู่ @(ดู อภิธา.ฏี. คาถา ๖๖-๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๘๔}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ บทภาชนีย์

คำว่า เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ คือ ยกเว้นการสำคัญว่าได้บรรลุ คำว่า แม้ภิกษุนี้ คือ ภิกษุที่พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบกับภิกษุรูปก่อนๆ คำว่า เป็นปาราชิก ความว่า ภิกษุมีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยาก ครอบงำ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีอยู่ไม่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นสมณะไม่เป็น เชื้อสายศากยบุตร เปรียบเหมือนต้นตาลยอดด้วนที่ไม่อาจงอกได้ต่อไป ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เป็นปาราชิก” คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่กรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทศที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุ รูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “หาสังวาสมิได้”
บทภาชนีย์
[๑๙๙] ที่ชื่อว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ภาวะที่จิตปลอดจาก กิเลส ความยินดีในเรือนว่าง คำว่า ฌาน ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน คำว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ คำว่า สมาธิ ได้แก่ สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ คำว่า สมาบัติ ได้แก่ สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ คำว่า ญาณ ได้แก่ วิชชา ๓ คำว่า มรรคภาวนา ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ คำว่า การทำผลให้แจ้ง ได้แก่ การทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง การทำ สกทาคามิผลให้แจ้ง การทำอนาคามิผลให้แจ้ง การทำอรหัตตผลให้แจ้ง คำว่า การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ คำว่า ภาวะที่จิตปลอดจากกิเลส ได้แก่ ภาวะที่จิตปลอดจากราคะ ภาวะ ที่จิตปลอดจากโทสะ ภาวะที่จิตปลอดจากโมหะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๘๕}

                                                                 พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์]

                                                                 ปาราชิกสิกขาบทที่ ๔ บทภาชนีย์

คำว่า ความยินดีในเรือนว่าง ได้แก่ ความยินดีในเรือนว่างด้วยปฐมฌาน ความยินดีในเรือนว่างด้วยทุติยฌาน ความยินดีในเรือนว่างด้วยตติยฌาน ความ ยินดีในเรือนว่างด้วยจตุตถฌาน
สุทธิกวารกถา
สุทธิกฌาน
ปฐมฌาน
[๒๐๐] ภิกษุกล่าวเท็จทั้งที่รู้ว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ (๑) เบื้องต้นเธอรู้ว่า จักกล่าวเท็จ (๒) กำลังกล่าว ก็รู้ว่ากำลังกล่าวเท็จ (๓) ครั้นกล่าวแล้ว ก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุกล่าวเท็จทั้งที่รู้ว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” ด้วยอาการ ๔ อย่าง คือ (๑) เบื้องต้นเธอรู้ว่า จักกล่าวเท็จ (๒) กำลังกล่าว ก็รู้ว่ากำลังกล่าวเท็จ (๓) ครั้นกล่าวแล้ว ก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว (๔) อำพรางความเห็น ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุกล่าวเท็จทั้งที่รู้ว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ (๑) เบื้องต้นเธอรู้ว่า จักกล่าวเท็จ (๒) กำลังกล่าว ก็รู้ว่ากำลังกล่าวเท็จ (๓) ครั้นกล่าวแล้ว ก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว (๔) อำพรางความเห็น (๕) อำพราง ความเห็นชอบ ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุกล่าวเท็จทั้งที่รู้ว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” ด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ (๑) เบื้องต้นเธอรู้ว่า จักกล่าวเท็จ (๒) กำลังกล่าว ก็รู้ว่ากำลังกล่าวเท็จ (๓) ครั้นกล่าวแล้ว ก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว (๔) อำพรางความเห็น (๕) อำพราง ความเห็นชอบ (๖) อำพรางความพอใจ ต้องอาบัติปาราชิก ภิกษุกล่าวเท็จทั้งที่รู้ว่า “ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว” ด้วยอาการ ๗ อย่าง คือ (๑) เบื้องต้นเธอรู้ว่า จักกล่าวเท็จ (๒) กำลังกล่าว ก็รู้ว่ากำลังกล่าวเท็จ (๓) ครั้นกล่าวแล้ว ก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว (๔) อำพรางความเห็น (๕) อำพรางความเห็น ชอบ (๖) อำพรางความพอใจ (๗) อำพรางความประสงค์ ต้องอาบัติปาราชิก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า : ๑๘๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๘๓-๑๘๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=1&page=183&pages=4&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=1&A=5192 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=1&A=5192#p183 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 1 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_1 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu1 https://84000.org/tipitaka/english/?index_1



จบการแสดงผล หน้าที่ ๑๘๓-๑๘๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]