บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
| |
ฉบับหลวง ฉบับมหาจุฬาฯ บาลีอักษรไทย PaliRoman |
๑. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี [๓๔๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตรัฐ อาฬวี. ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวรัฐอาฬวีช่วยกันทำนวกรรม ขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้างซึ่งปฐพี. คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ ขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้างซึ่งปฐพี? พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ย่อมเบียดเบียนอินทรีย์ อย่างหนึ่ง ซึ่งมีชีวะ. ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุชาวรัฐอาฬวีจึงได้ขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้างซึ่งปฐพีเล่า? แล้วกราบ ทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกเธอขุดเองบ้าง ให้คนอื่นขุด บ้างซึ่งปฐพี จริงหรือ? ภิกษุชาวรัฐอาฬวีทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้ขุด เองบ้าง ให้คนอื่นขุดบ้างซึ่งปฐพีเล่า? เพราะคนทั้งหลายสำคัญในปฐพีว่ามีชีวะ การกระทำ ของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๕๙. ๑๐. อนึ่ง ภิกษุใด ขุดก็ดี ให้ขุดก็ดี ซึ่งปฐพี, เป็นปาจิตตีย์.เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๓๕๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า ปฐพี ได้แก่ปฐพี ๒ อย่าง คือ ปฐพีแท้อย่างหนึ่ง ปฐพีไม่แท้อย่างหนึ่ง. ที่ชื่อว่า ปฐพีแท้ คือ มีดินร่วนล้วน มีดินเหนียวล้วน มีหินน้อย มีกรวดน้อย มีกระเบื้องน้อย มีแร่น้อย มีทรายน้อย มีดินร่วนมาก มีดินเหนียวมาก แม้ดินที่ยังไม่ได้เผาไฟ ก็เรียกว่า ปฐพีแท้. กองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี ที่ฝนตกรดเกิน ๔ เดือนมาแล้ว แม้นี้ก็เรียกว่า ปฐพีแท้. ที่ชื่อว่า ปฐพีไม่แท้ คือเป็นหินล้วน เป็นกรวดล้วน เป็นกระเบื้องล้วน เป็นแร่ล้วน เป็นทรายล้วน มีดินร่วนน้อย มีดินเหนียวน้อย มีหินมาก มีกรวด มีกระเบื้อง มีแร่ มีทรายมาก แม้ดินที่เผาไฟแล้ว ก็เรียกว่า ปฐพีไม่แท้. กองดินร่วนก็ดี กองดินเหนียวก็ดี ที่ฝนตกรดยังหย่อนกว่า ๔ เดือน, แม้นี้ก็เรียกว่า ปฐพีไม่แท้. [๓๕๑] บทว่า ขุด คือ ขุดเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บทว่า ให้ขุด คือ ใช้ให้คนอื่นขุด ต้องอาบัติปาจิตตีย์. สั่งครั้งเดียว เขาขุดแม้หลายครั้ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.บทภาชนีย์ [๓๕๒] ปฐพี ภิกษุสำคัญว่า ปฐพี ขุดเองก็ดี ใช้ให้เขาขุดก็ดี ทำลายเองก็ดี ใช้ให้เขาทำลายก็ดี เผาไฟเองก็ดี ใช้ให้เขาเผาไฟก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ปฐพี ภิกษุสงสัย ขุดเองก็ดี ใช้ให้เขาขุดก็ดี ทำลายเองก็ดี ใช้ให้เขาทำลายก็ดี เผาไฟเองก็ดี ใช้ให้เขาเผาไฟก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ. ปฐพี ภิกษุสำคัญว่า มิใช่ปฐพี ขุดเองก็ดี ใช้ให้เขาขุดก็ดี ทำลายเองก็ดี ใช้ให้ เขาทำลายก็ดี เผาไฟเองก็ดี ใช้ให้เขาเผาไฟก็ดี ไม่ต้องอาบัติ. มิใช่ปฐพี ภิกษุสำคัญว่า ปฐพี ... ต้องอาบัติทุกกฏ. มิใช่ปฐพี ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ มิใช่ปฐพี ภิกษุสำคัญว่ามิใช่ปฐพี ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๓๕๓] ภิกษุกล่าวว่า ท่านจงรู้ดินนี้ ท่านจงให้ดินนี้ ท่านจงนำดินนี้มา เรามีความ ต้องการด้วยดินนี้ ท่านจงทำดินนี้ให้เป็นกัปปิยะ ดังนี้ ๑ ภิกษุไม่แกล้ง ๑ ภิกษุไม่มีสติ ๑ ภิกษุไม่รู้ ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ. ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๑ จบ. ----------------------------------------------------- หัวข้อประจำเรื่อง ๑. มุสาวาทสิกขาบท ว่าด้วยพูดเท็จ ๒. โอมสวาทสิกขาบท ว่าด้วยพูดเสียดสี ๓. เปสุญญสิกขาบท ว่าด้วยพูดส่อเสียด ๔. ปทโสธัมมสิกขาบท ว่าด้วยสอนธรรมว่าพร้อมกัน ๕. ปฐมสหเสยยสิกขาบท ว่าด้วยนอนร่วมกับอนุปสัมบัน ๖. ทุติยสหเสยยสิกขาบท ว่าด้วยนอนร่วมกับมาตุคาม ๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท ว่าด้วยแสดงธรรม ๘. ภูตาโรจนสิกขาบท ว่าด้วยบอกอุตตริมนุสสธรรม ๙. ทุฏฐุลลาโรจนสิกขาบท ว่าด้วยบอกอาบัติชั่วหยาบ ๑๐. ปฐวีขณนสิกขาบท ว่าด้วยขุดดิน----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๘๔๗๑-๘๕๔๑ หน้าที่ ๓๔๔ - ๓๔๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=8471&Z=8541&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?item=352&book=2 อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=46 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=349 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_read.php?B=2&A=4111 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_read.php?B=2&A=4111 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_2
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]