ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
             ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน.
             ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้.
             ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย.
             ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย
เครื่องตวงวัด.
             ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง.
             ๒๖. เธอเว้นขาดจาการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบจุลศีล.
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง จำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่อง ประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การ เล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่นอย่าง ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่น หมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่น เป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่น ธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้ เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มี สัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายที่มีสีหะและ เสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงิน แกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้า ๑๖ คน เครื่องลาด หลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมี ขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉัน โภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่อง โจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่อง ที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับ ไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง จำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่นว่าท่าน ไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าว ก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง มาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะ เสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูด หว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบมัชฌิมศีล
มหาศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธี ซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำ พลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็น หมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทาย ลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทาย ลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทาย ลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทาย ลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายใน จักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายใน จักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชา ภายนอกจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็ เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาว นักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผล เป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมอง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญ หาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์ พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยา ทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง. ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะ ศีลสังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุข อันปราศจากโทษในภายใน ดูกรโปฏฐปาทะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยศีล.
จบมหาศีล.
อินทรียสังวร
ดูกรโปฏฐปาทะ อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุ ฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะ เช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรโปฏฐปาทะ ด้วยประการดังกล่าว มานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
สติสัมปชัญญะ
ดูกรโปฏฐปาทะ อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ? ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดูกรโปฏฐปาทะ ด้วยประการ ดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ.
สันโดษ
ดูกรโปฏฐปาทะ อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ? ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรโปฏฐปาทะ นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทาง ทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรโปฏฐปาทะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ สันโดษ. ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษอันเป็นอริยะ เช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านมีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ได้ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
อุปมานิวรณ์ ๕
ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึง สำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะพึงมี เหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบากเจ็บหนัก บริโภค อาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และมี กำลังกาย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรค นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้น จากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเรา ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีการพ้นจาก เรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหน ตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความ ปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้น เป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติจะพึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้าน อันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุ ถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือน หนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เป็นทางไกลกันดาร และเธอพิจารณา เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือน การพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.
เหตุเกิดและเหตุดับสัญญา
เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์ แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ สัญญาเกี่ยวด้วยกามที่มีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและ สุขเกิดแต่วิเวกในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น เพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง. [๒๘๐] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่. สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกมีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญา อันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษา อย่างหนึ่ง. [๒๘๑] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิในก่อนของเธอ ย่อมดับไป สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขาย่อมมีในสมัยนั้น เธอชื่อว่า เป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขาในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง. [๒๘๒] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขามีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญา อันละเอียด ประกอบด้วยอทุกขมสุขย่อมมีในสมัยนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยอทุกขมสุข ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง. [๒๘๓] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจซึ่งสัญญาต่างๆ โดยประการทั้งปวงอยู่ รูปสัญญามีในก่อนของเธอย่อมดับสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วย อากาสานัญจายตนฌานย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วย อากาสานัญจายตนฌานในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง. [๒๘๔] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการ ทั้งปวง ได้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่า วิญญาณไม่มีที่สุดดังนี้อยู่ สัจจสัญญา อันละเอียด ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานมีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษา อย่างหนึ่ง. [๒๘๕] ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ได้บรรลุ อากิญจัญญายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่า ไม่มีอะไร สัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจาย- *ตนฌานที่มีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน ย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะ การศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง.
การเข้าอภิสัญญานิโรธ
[๒๘๖] ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มิสกสัญญา เธอพ้นแล้วจากปฐมฌาน จากทุติยฌานนั้นๆ แล้ว ย่อมได้บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยลำดับ เมื่อเธอตั้งอยู่ใน อากิญจัญญายตนฌานแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เมื่อเราคิดอยู่ก็ยังชั่ว เมื่อเราไม่คิดอยู่ จึงจะดี แต่ถ้าเรายัง ขืนคิดขืนคำนึง สัญญาของเราเหล่านี้พึงดับ สัญญาอย่างหยาบเหล่าอื่น พึงเกิดขึ้น ถ้ากระไร เราไม่พึงคิด ไม่พึงคำนึง. ครั้นเธอปริวิตกอย่างนี้แล้ว เธอก็ไม่คิด ไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิด ไม่คำนึง สัญญาเหล่านั้นก็ดับไป สัญญาที่หยาบเหล่าอื่นก็ไม่เกิดขึ้น เธอก็ได้ บรรลุนิโรธ. ดูกรโปฏฐปาทะ การเข้าอภิสัญญานิโรธแห่งภิกษุผู้มีสัมปชัญญะโดยลำดับ ย่อมมี ด้วยประการอย่างนี้แล. พ. ดูกรโปฏฐปาทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเข้าอภิสัญญานิโรธแห่งภิกษุ ผู้มีสัมปชัญญะโดยลำดับเช่นนี้ ก่อนแต่นี้เธอเคยได้ยินบ้างหรือ? ป. หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เพิ่งรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อย่างนี้แล. ดูกรโปฏฐปาทะ เพราะเหตุที่ภิกษุเป็นผู้มีสกสัญญา พ้นจากปฐมฌานเป็นต้นนั้นแล้ว ย่อมบรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยลำดับ เธอย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เมื่อเรายังคิดอยู่ก็ยังชั่ว เมื่อเราไม่คิดอยู่จึงจะดี ถ้าเรายังขืนคิด ขืนคำนึง สัญญาของเราเหล่านี้พึงดับไป และสัญญา ที่หยาบเหล่าอื่นพึงเกิดขึ้น ถ้ากระไร เราไม่พึงคิด ไม่พึงคำนึง ครั้นเธอปริวิตกอย่างนี้แล้ว เธอก็ไม่คิด ไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิด ไม่คำนึง สัญญาเหล่านั้นก็ดับไป และสัญญาที่หยาบเหล่าอื่น ก็ไม่เกิดขึ้น เธอก็ได้บรรลุนิโรธ การเข้าอภิสัญญานิโรธแห่งภิกษุผู้มีสัมปชัญญะโดยลำดับ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล. [๒๘๗] อย่างนี้แหละ โปฏฐปาทะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนะไว้อย่างเดียวหรือหลาย อย่าง. ดูกรโปฏฐปาทะ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานอย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระองค์จึงทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานไว้อย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี. ดูกรโปฏฐปาทะ พระโยคีย่อมบรรลุนิโรธด้วยประการใดๆ เราก็บัญญัติอากิญจัญญายตน- *ฌานด้วยประการนั้นๆ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานอย่างเดียวบ้าง หลายอย่างบ้าง ด้วย ประการอย่างนี้แล. [๒๘๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง หรือว่าญาณเกิดก่อน สัญญาเกิดทีหลัง หรือทั้งสัญญาและญาณเกิดไม่ก่อนไม่หลังกัน. ดูกรโปฏฐปาทะ สัญญาแลเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึงเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า ญาณเกิดขึ้นแก่เราเพราะสัญญานี้เป็นปัจจัย ดูกรโปฏฐปาทะ เธอพึงทราบ ความข้อนี้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึง เกิดขึ้น.
ว่าด้วยสัญญาและอัตตา
[๒๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง? ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านต้องการอัตตาเช่นไร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการอัตตาอย่างหยาบๆ ที่มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภคกวฬิงการาหาร ดูกรโปฏฐปาทะ อัตตาของท่านหยาบ มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภค กวฬิงการาหาร เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของท่านจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านพึงทราบความข้อนี้แม้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตา จักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาที่หยาบ มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภคกวฬิงการาหารนี้ ยกไว้ เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของบุรุษนี้เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านพึง ทราบความข้อนี้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. [๒๙๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการอัตตาที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง. ดูกรโปฏฐปาทะ อัตตาของท่านก็จักสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ ไม่บกพร่อง. เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจักมีสัญญาอย่างหนึ่ง มีอัตตาอย่างหนึ่ง ท่านพึงทราบความข้อนี้ โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะ น้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่องนี้ ยกไว้ เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของบุรุษนี้เกิดขึ้น อย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง. ท่านพึงทราบความข้อนี้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. [๒๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการอัตตาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา. ดูกรโปฏฐปาทะ ก็อัตตาของท่านจักไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา. เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญา ของท่านจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. ท่านพึงทราบความข้อนี้แม้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. ดูกรโปฏฐปาทะ อัตตาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วย สัญญานี้ ยกไว้ แต่ว่าสัญญาของบุรุษนี้ เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง ท่านพึงทราบความ ข้อนี้แม้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. [๒๙๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อาจทราบความข้อนี้ได้หรือว่า สัญญาเป็น อัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านมีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจ ไปทางหนึ่ง มีความพยายามไปทางหนึ่ง มีลัทธิอาจารย์อย่างหนึ่ง ยากที่จะรู้ความข้อนั้นได้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์มีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจไปทางหนึ่ง มีความพยายามไปทางหนึ่ง มีลัทธิอาจารย์อย่างหนึ่ง ยากที่จะรู้ความ ข้อนั้นได้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง ก็คำว่าโลกเที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้นหรือ.
อัพยากตปัญหา
ดูกรโปฏฐปาทะ แม้คำว่าโลกเที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า เราไม่พยากรณ์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คำว่าโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้น หรือ. ดูกรโปฏฐปาทะ แม้คำว่าโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า เราไม่พยากรณ์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คำว่าโลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มี อยู่ ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้นหรือ. ดูกรโปฏฐปาทะ แม้ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่ นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไฉนพระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์ความข้อนั้น. ดูกรโปฏฐปาทะ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็น เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พยากรณ์. [๒๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงพยากรณ์อย่างไร. ดูกรโปฏฐปาทะ เราพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธ- *คามินีปฏิปทา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไฉนพระองค์จึงทรงพยากรณ์ดังนั้น. ดูกรโปฏฐปาทะ เพราะข้อนั้นประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม เป็นเบื้องต้น แห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงพยากรณ์ดังนั้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรเถิด. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว. [๒๙๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ปริพาชกเหล่านั้นได้พากันรุมต่อว่า โปฏฐปาทปริพาชก ด้วยถ้อยคำตัดพ้อต่างๆ ว่า อย่างนี้ทีเดียว ท่านโปฏฐปาทะ พระสมณโคดม ตรัสคำใด ท่านพลอยอนุโมทนาคำนั้นทุกคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ฝ่ายพวกเรามิได้เข้าใจอรรถที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้ว โดยส่วนเดียว แต่สักน้อยหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่. [๒๙๕] เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้บอกปริพาชก เหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าเองก็มิได้เข้าใจธรรมที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดย ส่วนเดียว แต่สักอย่างหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ หรือสัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ แต่ว่าพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็น ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ก็เมื่อพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรม นิยาม ไฉนเล่าวิญญูชนเช่นเราจะไม่อนุโมทนาสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นสุภาษิต
จิตตหัตถิสารีบุตรและโปฏฐปทปริพาชก
[๒๙๖] ครั้นล่วงไปได้ ๒-๓ วัน จิตตหัตถิสารีบุตรกับโปฏฐปาทปริพาชก พากัน เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจิตตหัตถิสารีบุตรถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายโปฏฐปาทปริพาชกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในคราวนั้นเมื่อพระองค์เสด็จหลีกไปไม่นาน พวกปริพาชกได้พากันรุมต่อว่าข้าพระองค์ด้วยถ้อยคำ ตัดพ้อต่างๆ ว่า อย่างนี้ทีเดียวท่านโปฏฐปาทะ พระสมณโคดมตรัสคำใด ท่านพลอยอนุโมทนา คำนั้นทุกคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ฝ่ายพวกเรามิได้เข้าใจธรรมที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดยส่วนเดียว แต่สักน้อยหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพ อย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่ เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้บอกปริพาชกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าเองก็มิได้เข้าใจธรรมที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดยส่วนเดียว แต่สักน้อยหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพ อย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ แต่ว่าพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ก็เมื่อพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ไฉนเล่าวิญญูชน เช่นเราไม่พึงอนุโมทนาสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นสุภาษิต. [๒๙๗] พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสว่า ดูกรโปฏฐปาทะ ปริพาชกเหล่านี้ทั้งหมด ล้วนเป็นคนบอดหาจักษุมิได้ ท่านคนเดียวเท่านั้นเป็นคนมีจักษุในชุมนุมชนนั้น ดูกรโปฏฐปาทะ ธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วก็มี ที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดง แล้ว บัญญัติแล้วก็มี ก็ธรรมที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว เป็นไฉน ได้แก่โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดูกรโปฏฐปาทะ ธรรมที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วอย่างนี้ เหตุไรธรรมที่ไม่เป็นไปโดย ส่วนเดียว เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว เพราะธรรมเหล่านั้นไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบ ด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้น ธรรมที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้วดังนี้ (คือบัญญัติว่าเป็นอัพยากตธรรม ธรรมที่ไม่ควรพยากรณ์).
เอกังสิธรรม
[๒๙๘] ดูกรโปฏฐปาทะ ก็ธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว เป็นไฉน ได้แก่ นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรโปฏฐปาทะ ธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ดังนี้ เหตุไฉนธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้วอย่างนั้น เพราะว่าธรรมเหล่านี้ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วย ธรรม เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้น ธรรมที่ เป็นไปโดยส่วนเดียว เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ดังนี้. [๒๙๙] ดูกรโปฏฐปาทะ มีสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้า แต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้นแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุข โดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่ จริงหรือ. ถ้าสมณพราหมณ์พวกนั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ปฏิญญาว่าจริง เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังรู้เห็นโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหา มิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านรู้ว่าอัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือ กึ่งวัน กึ่งคืน เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่าน ยังรู้ว่า นี้มรรคา นี้ข้อปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถาม อย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้เข้า ถึงโลกมีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กำลังพูดกันว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงแล้ว เพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว แม้ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้ จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดย ส่วนเดียวแล้วดังนี้บ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความ เป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์.
ว่าด้วยทิฏฐิของสมณพราหมณ์
[๓๐๐] ดูกรโปฏฐปาทะ เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าปรารถนา รักใคร่นางชนปทกัลยาณีในชนบทนี้ ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นางชนปท- *กัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักเขาแล้วหรือว่า เป็นนางกษัตริย์หรือนางพราหมณี นางแพศย์หรือนางศูทร เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายพึงกล่าว กะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นางชนปทกัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักเขาแล้วหรือว่า มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูงต่ำ หรือสันทัด ดำคล้ำ หรือสีทอง อยู่ในบ้าน นิคม หรือ นครโน้น เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายก็จะพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ พ่อปรารถนารักใคร่หญิงที่พ่อไม่รู้จักไม่เคยเห็นหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาก็จะตอบว่า อย่างนั้น ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำไม่มี ปาฏิหาริย์. ดูกรโปฏฐปาทะ แม้สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์ พวกนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่จริงหรือ ถ้าสมณพราหมณ์พวกนั้นถูกเราถามอย่างนี้ แล้วปฏิญญาว่าจริง เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ท่านยังรู้เห็นโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อ เขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านรู้ว่าอัตตามีสุขโดย ส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือกึ่งวัน กึ่งคืน เมื่อถูกเขาถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังรู้ว่า นี้มรรคา นี้ข้อปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกมีสุข โดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออ ก็ท่านยังได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้เข้าถึงโลกมีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กำลังพูดกันว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติตรงแล้ว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว แม้ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติ อย่างนี้ จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวแล้ว ดังนี้บ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะ ตอบว่า หามิได้ ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิต ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความ เป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์. [๓๐๑] ดูกรโปฏฐปาทะ เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงทำพะองที่หนทางสี่แพร่งเพื่อขึ้น ปราสาท ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจะทำพะองเพื่อขึ้นปราสาท ท่าน รู้จักปราสาทนั้นแล้วหรือว่า อยู่ทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ทิศตะวันตกหรือทิศเหนือ ตัว ปราสาทสูงหรือต่ำหรือพอปานกลาง เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ ชน ทั้งหลายก็จะกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจะทำพะองขึ้นปราสาทท่านไม่รู้จักไม่เคยเห็น นั้นหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาก็จะตอบว่าเออ ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำ ไม่มีปาฏิหาริย์. ดูกรโปฏฐปาทะ แม้สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้า แต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราเข้าไปหา สมณพราหมณ์พวกนั้นแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่จริงหรือ ถ้าสมณพราหมณ์ พวกนั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ปฏิญญาว่าจริง เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังรู้เห็นว่าโลกมี สุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านรู้ว่าอัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือกึ่งวัน กึ่งคืน เมื่อเขาถูกถาม อย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออ ก็ท่านยังรู้ว่า นี้มรรคา นี้ข้อปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้เข้าถึงโลกมีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กำลังพูด กันว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติตรงแล้ว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว แม้ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้ จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวแล้ว ดังนี้บ้างหรือ เมื่อ เขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความ เป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์.
การได้อัตตา ๓ ประการ
[๓๐๒] ดูกรโปฏฐปาทะ ความได้อัตตา ๓ เหล่านี้ คือ ได้อัตตาที่หยาบ ๑ ได้อัตตา ที่สำเร็จด้วยใจ ๑ ได้อัตตาที่หารูปมิได้ ๑ ความได้อัตตาที่หยาบเป็นไฉน คือ อัตตาที่มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภคกวฬิงการาหาร นี้ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จ ด้วยใจเป็นไฉน คือ อัตตาที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้เป็นไฉน คือ อัตตาอันหารูปมิได้ สำเร็จ ด้วยสัญญา นี้ความได้อัตตาที่หารูปมิได้. [๓๐๓] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาที่หยาบว่า พวกท่าน ปฏิบัติอย่างไรจึงจะละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ได้ แต่ความอยู่ไม่สบาย. ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้. [๓๐๔] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาแม้ที่สำเร็จด้วยใจว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจัก ทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แต่ความอยู่ไม่สบาย. ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้. [๓๐๕] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาแม้ที่หารูปมิได้ว่า พวกท่าน ปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความ บริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แต่ความอยู่ไม่สบาย. ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจะทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้. [๓๐๖] ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะพึงถามเราอย่างนี้ว่า ท่าน ความได้อัตตา ที่หยาบ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้น ว่าพวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึง พยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ ความได้อัตตาที่หยาบ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียนั้นว่า. พวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น. พวกท่านจักทำ ความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้า ถึงอยู่. [๓๐๗] ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราว่า ท่าน ความได้อัตตาที่สำเร็จ ด้วยใจ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึง พยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น. พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และ ความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะพึงถามเราว่า ท่าน ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะ พึงพยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำ ความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้า ถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึง ความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์. [๓๐๘] ดูกรโปฏฐปาทะ เหมือนอย่างว่า บุรุษทำพะองเพื่อขึ้นปราสาทที่ภายใต้ปราสาท นั้น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจะทำพะองเพื่อขึ้นปราสาท ท่านรู้จัก ปราสาทนั้นว่า อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ทิศตะวันตกหรือทิศเหนือ สูงหรือต่ำหรือพอ ปานกลางละหรือ. ถ้าเขาตอบว่า นี้แหละ ปราสาทที่ข้าพเจ้ากำลังพะองเพื่อจะขึ้นอยู่ภายใต้ ปราสาทนั้นเอง. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำ ของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำที่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำที่มี ปาฏิหาริย์. ดูกรโปฏฐปาทะ ฉันนั้นเหมือนกัน หากว่าคนเหล่าอื่นพึงถามเราว่า ความได้อัตตา ที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองใน ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึงพยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งเราแสดงธรรม เพื่อละเสียนั้นว่า ท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองใน ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์. [๓๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว จิตตหัตถิสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ สมัยใดมีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้ อัตตาที่หารูปมิได้ เป็นโมฆะ มีแต่การได้อัตตาที่หยาบเป็นเที่ยงแท้ สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จ ด้วยใจ สมัยนั้น ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ เป็นโมฆะ มีแต่การได้ อัตตาที่สำเร็จด้วยใจเป็นเที่ยงแท้ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้ สมัยนั้น ความได้อัตตา ที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ เป็นโมฆะ มีแต่การได้อัตตาที่หารูปมิได้เป็นเที่ยงแท้. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ไม่นับว่า ได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตา ที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียว ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ อย่างเดียว. [๓๑๐] ดูกรจิตตะ ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านว่า เธอได้มีในอดีตกาล มิใช่ว่าเธอไม่ได้มี ก็หาไม่ เธอจักมีในอนาคตกาล มิใช่ว่าเธอจักไม่มีก็หาไม่ เธอมีอยู่ในบัดนี้ มิใช่ว่าเธอไม่มีอยู่ ก็หามิได้ เช่นนั้นหรือ เมื่อท่านถูกถามอย่างนี้ ท่านจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนั้น ข้าพระองค์พึงพยากรณ์ว่า ข้าพเจ้าได้มีแล้วในอดีตกาล มิใช่ว่าไม่มีก็หามิได้ ข้าพเจ้าจักมีในอนาคตกาล มิใช่ว่าจักไม่มี ก็หามิได้ ข้าพเจ้ามีอยู่ในบัดนี้ มิใช่ว่าไม่มีอยู่ก็หามิได้. [๓๑๑] ดูกรจิตตะ ถ้าเขาพึงถามท่านว่า เธอได้อัตตภาพที่เป็นอดีตแล้ว การที่เธอได้ อัตตภาพเช่นนั้นนั่นแหละ เป็นของเที่ยงแท้ การได้อัตตภาพเป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ เธอจักได้อัตตภาพเป็นอนาคต การได้อัตตภาพเช่นนั้น เท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ การได้ อัตตภาพเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ เธอได้อัตตภาพเป็นปัจจุบันในบัดนี้ การได้อัตตภาพ เช่นนั้นเท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นโมฆะ อย่างนั้น หรือ เมื่อท่านถูกถามอย่างนี้ จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนั้น ข้าพระองค์พึงพยากรณ์ว่า ข้าพเจ้าได้อัตตภาพเป็นอดีตแล้ว การได้อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ในสมัยนั้น การได้อัตตภาพเป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ ข้าพเจ้าจักได้อัตตภาพเป็นอนาคต การได้ อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้นเป็นของเที่ยงแท้ในสมัยนั้น การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็น โมฆะ ข้าพเจ้าได้อัตตภาพเป็นปัจจุบันบัดนี้ การได้อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้นเป็นของเที่ยงแท้ใน สมัยนี้ การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นโมฆะ. [๓๑๒] ดูกรจิตตะ อย่างนั้นแหละ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ไม่นับว่า ได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว. ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียว. ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้อย่างเดียว. ดูกรจิตตะ เหมือนอย่างว่า นมสดจากแม่โค นมส้มจากนมสด เนยข้นจากนมส้ม เนยใสจากเนยข้น หัวเนยใสจากเนยใส สมัยใดเป็นนมสด สมัยนั้น ไม่นับว่านมส้ม เนยข้น เนยใส หัวเนยใส นับว่านมสดอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็นนมส้ม สมัยนั้น ไม่นับว่านมสด เนยข้น เนยใส หัวเนยใส นับว่าเป็นนมส้มอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็นเนยข้น สมัยนั้น ไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยใส หัวเนยใส นับว่าเป็นเนยข้นอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็น เนยใส สมัยนั้นไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยข้น หัวเนยใส นับว่าเป็นเนยใสอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็นหัวเนยใส สมัยนั้น ไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยข้น เนยใส นับว่าเป็นหัวเนยใส อย่างเดียวเท่านั้น ฉันใด ดูกรจิตตะ ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใดมีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว เท่านั้น สมัยใดมีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้ อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดมีการได้อัตตาที่หารูป มิได้ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูป มิได้อย่างเดียวเท่านั้น. ดูกรจิตตะ เหล่านี้แลเป็นชื่อตามโลก เป็นภาษาของโลก เป็นโวหารของโลก เป็นบัญญัติ ของโลก ที่ตถาคตกล่าวอยู่ มิได้ยึดถือ. [๓๑๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีป ในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรม โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้ง พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จิตตหัตถิสารีบุตรบรรลุพระอรหัตตผล
ฝ่ายจิตตหัตถิสารีบุตรก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค เมื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ท่านอุปสมบทแล้วไม่นานหลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ท่านจิตตหัตถิสารีบุตรได้เป็นพระ อรหันต์รูปหนึ่ง ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล.
จบโปฏฐปาทสูตร ที่ ๙.
-----------------------------------------------------
๑๐. สุภสูตร
เรื่องสุภมาณพ
[๓๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. [๓๑๕] ก็สมัยนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตร พักอยู่ในพระนครสาวัตถี ด้วยกรณียกิจ บางอย่าง ครั้งนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตร เรียกมาณพน้อยคนหนึ่งมาว่า มานี่แน่ พ่อมาณพ พ่อจงเข้าไปหาพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้ว เรียนถามพระสมณอานนท์ผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า มีกำลัง อยู่สำราญ ตามคำของเราว่า สุภมาณพโตเทยยบุตร เรียนถามถึงท่าน และจงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอโอกาส ขอท่านพระอานนท์ จงอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ ของสุภมาณพโตเทยยบุตรเถิด มาณพน้อยนั้นรับคำสุภมาณพโตเทยยบุตรแล้ว เข้าไปหาท่าน พระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงเรียนว่า สุภมาณพโตเทยยบุตรถามถึงท่าน และเขาสั่งมาอย่างนี้ว่า ขอท่านพระอานนท์ จงอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพโตเทยยบุตรเถิด. [๓๑๖] เมื่อมาณพน้อยกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะเขาว่า มิใช่กาล เสียแล้วพ่อมาณพ เผอิญวันนี้ ฉันดื่มยาถ่าย ถ้ากระไรไว้พรุ่งนี้เถิด ได้เวลาและสมัยแล้ว เราจึงจะเข้าไปหา. ขอรับคำท่านพระอานนท์แล้วลุกจากที่นั่ง เข้าไปหาสุภมาณพโตเทยยบุตร แล้วบอกว่า ข้าพเจ้าได้บอกพระอานนท์ตามคำของท่านแล้ว เมื่อข้าพเจ้าบอกอย่างนั้นแล้ว ท่านพระสมณอานนท์ ได้กล่าวกะข้าพเจ้าว่า มิใช่กาลเสียแล้วพ่อมาณพ เผอิญวันนี้ ฉันดื่มยาถ่าย ถ้ากระไรไว้พรุ่งนี้ เถิด ได้เวลาและสมัยแล้ว ฉันจึงจะเข้าไป ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้าพเจ้าชื่อว่าทำกิจที่เป็นเหตุ ให้ท่านพระอานนท์ทำโอกาสเพื่อเข้ามาฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว.
สุภสูตร อริยขันธ์ ๓-อริยศีลขันธ์
[๓๑๗] พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้าท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวร มีพระเจตกภิกษุเป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพโตเทยยบุตรแล้ว นั่งบนอาสนะ ที่เขาปูลาดไว้. ครั้งนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตร เข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วปราศรัยกับท่าน ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวว่า ท่านพระอานนท์ เป็นอุปัฏฐากอยู่ในสำนักใกล้ชิดท่านพระโคดมมานาน ท่านพระโคดมได้ตรัสสรรเสริญคุณแห่งธรรม เหล่าใด และทรงยังประชุมชนนี้ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ในธรรมเหล่าใด ท่านพระ อานนท์ควรจะรู้ธรรมนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระโคดม ได้ตรัสสรรเสริญคุณแห่งธรรม เหล่าไหน และทรงยังประชุมชนนี้ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ ในธรรมเหล่าไหน.
อริยขันธ์ ๓
อริยศีลขันธ์
ท่านพระอานนท์ตอบว่า ดูกรมาณพ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสสรรเสริญขันธ์ ๓ และทรง ยังประชุมชนนี้ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ในขันธ์ ๓ นี้ ขันธ์ ๓ เป็นไฉน? คือ สีลขันธ์อันเป็นอริยะ สมาธิขันธ์อันเป็นอริยะ ปัญญาขันธ์เป็นอริยะ ดูกรมาณพ พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสสรรเสริญขันธ์ ๓ นี้ และทรงยังประชุมชนนี้ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ใน ขันธ์ ๓ นี้. [๓๑๘] ข้าแต่ท่านพระอานนท์ สีลขันธ์อันเป็นอริยะ ที่ท่านพระโคดมได้ตรัสสรรเสริญ และทรงยังประชุมชนนี้ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่เป็นไฉน? ดูกรมาณพ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อม ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคต พระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่ง ของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรง แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใด ตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่ม ผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต. เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึง พร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครอง ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.
จุลศีล
[๓๑๙] ดูกรมาณพ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล. ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าว กัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้ พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำ ที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วย ประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่อง ตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบจุลศีล.
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่อง ประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่ กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่า นิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่น ของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่น การพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละ สิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่น ธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะ และเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทอง และเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดี ทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้างแม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตกแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคล- *อวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้า ประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถา เห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับ ไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่น ว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่าน ปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวง และการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่าน- *ล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบมัชฌิมศีล.
มหาศีล
[๓๒๐] ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่าง สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัด รำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่า บูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอ ปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทาย ลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายใน จักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายใน จักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชา ภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาว นักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทร- *คราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาต จักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผล เป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็น อย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้ คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรง หญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ดูกรมาณพ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะศีลสังวร นั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น ดูกรมาณพ ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษ ในภายใน ดูกรมาณพ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.
จบมหาศีล.
ดูกรมาณพ ศีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสรรเสริญ และทรงยัง ประชุมชนนี้ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ อนึ่ง ในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกรณียกิจที่ ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก. ส. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว ศีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้ บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นศีลขันธ์อันเป็นอริยะที่บริบูรณ์อย่างนี้ ในสมณ- *พราหมณ์เหล่าอื่นภายนอกพระศาสนานี้เลย ท่านพระอานนท์ สมณพราหมณ์เหล่าอื่นภายนอก พระศาสนานี้ พึงเห็นศีลขันธ์อันเป็นอริยะที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ในตน เขาเหล่านั้นจะพึงพอใจ เพราะเหตุเพียงเท่านั้นแล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันพอแล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันทำเสร็จ แล้ว สำคัญตนว่า เราได้บรรลุถึงประโยชน์แห่งสามัญคุณแล้วโดยลำดับ ไม่มีกรณียกิจอะไรที่ จะยิ่งขึ้นไปอีก แต่ท่านพระอานนท์ก็ยังกล่าวอย่างนี้ว่า ในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกรณียกิจที่ยิ่ง ขึ้นไปอยู่อีก.
อริยสมาธิขันธ์
[๓๒๑] ส. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ สมาธิขันธ์อันเป็นอริยะที่ท่านพระโคดมได้ตรัส สรรเสริญ และทรงยังประชุมชนนี้ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่นั้น เป็นไฉน. อ. ดูกรมาณพ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย? ดูกรมาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อ สำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและ โทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียง ด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้ง ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะ เช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรมาณพ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. [๓๒๒] ดูกรมาณพ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ? ดูกร มาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการ เหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดูกรมาณพ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อ ว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ. [๓๒๓] ดูกรมาณพ อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ? ดูกรมาณพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทาง ทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรมาณพ นกมีปีก จะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัว เป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วย บิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรมาณพ ด้วย ประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ. [๓๒๔] ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรีย์สังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็ง มีใจปราศจากความเพ่งอยู่ ย่อมชำระจิตให้ บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวัง ประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้ ละ ถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ อยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉา เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
อุปมานิวรณ์
[๓๒๕] ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขา จะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะ พึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบ การงาน บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และ ทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความ โสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภค อาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกาย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้น เป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจาก เรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อน เราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้อง เสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำ นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหน ตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้น แล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ พึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้าน อันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุ ถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความ โสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรมาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณา เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือน การพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.
รูปฌาน ๔
เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละแล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อ ปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่ วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึง ใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำ หมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณสีตัวซึ่งยางซึม ไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ข้อนี้เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง. [๓๒๖] ดูกรมาณพ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใน ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกร มาณพ เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วง น้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้องฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง. [๓๒๗] ดูกรมาณพ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรมาณพ เปรียบ เหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือ ดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอด ตลอดเหง้า ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาวทั่วทุกส่วน ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศ ไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอ ประการหนึ่ง. [๓๒๘] ดูกรมาณพ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอ ทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัว ตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศ ไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอ ประการหนึ่ง. ดูกรมาณพ สมาธิขันธ์อันเป็นอริยะนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสรรเสริญและทรงยัง ประชุมชนนี้ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ อนึ่ง ในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกรณียกิจที่ยิ่งขึ้น ไปอยู่อีก. ส. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว สมาธิขันธ์อันเป็นอริยะนี้ บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นสมาธิขันธ์อันเป็นอริยะของท่านพระอานนท์ ที่ บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกพระศาสนานี้เลย ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ก็สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ภายนอกพระศาสนานี้พึงเห็นสมาธิขันธ์อันเป็นอริยะที่บริบูรณ์แล้ว อย่างนี้ในตน เขาเหล่านั้นจะพึงพอใจด้วยสมาธิขันธ์เพียงเท่านี้ พอแล้วด้วยสมาธิขันธ์เพียง เท่านี้ว่า เราได้ทำสมาธิขันธ์เสร็จแล้ว สำคัญตนว่า เราได้บรรลุถึงประโยชน์แห่งสามัญคุณ ไม่ มีกรณียกิจอะไรๆ ที่ยิ่งขึ้นไปอีก. แต่ท่านพระอานนท์ก็ยังกล่าวอย่างนี้ว่า อนึ่งในธรรมวินัยนี้ยัง มีกรณียกิจที่ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก.
อริยปัญญาขันธ์
[๓๒๙] ส. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ปัญญาขันธ์อันเป็นอริยะที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัส สรรเสริญและยังทรงประชุมชนนี้ ในสมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่นั้น เป็นไฉน.
วิชชา ๘
วิปัสสนาญาณ
อ. ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ. เธอ ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโต ขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็น ธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือน แก้วไพฑูรย์อันงามเกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียวเหลืองแดงขาวหรือนวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุจะพึงหยิบ แก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม ช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียวเหลืองแดง ขาวหรือนวลร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้ม น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลาย กระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ ข้อนี้เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
มโนมยิทธิญาณ
[๓๓๐] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้องอย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักงูออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเอง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ เธอย่อม โน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะ น้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
อิทธิวิธญาณ
[๓๓๑] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุ อิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏ ก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ ทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อ ผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงา ชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือ ของช่างทองผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณ ชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว ก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไป ในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
ทิพยโสตญาณ
[๓๓๒] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ. เธอย่อม ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุอัน บริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียง กลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาจะพึง เข้าใจว่า เสียงกลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียงเปิงมางดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และใกล้ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการ หนึ่ง.
เจโตปริยญาณ
[๓๓๓] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ. เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิต ปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจาก โมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิต ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนใน กระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้า ไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อม จิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจาก โมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่น ยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
[๓๓๔] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ. เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบ ชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด วิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอัน มากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจาก บ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้าน นั้นเราก็ได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้น มาสู่บ้านของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อม จิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก บ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่อนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข ทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อม ระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็น ปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
จุตูปปาตญาณ
[๓๓๕] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของ สัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณ ทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วง จักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อม เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้ง อยู่ ณ ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชน กำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คนเหล่านี้เข้าสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนคร ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่ การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้า ถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลัง อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็น ปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
อาสวักขยญาณ
[๓๓๖] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มี ญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและ ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น แล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้ อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติ สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
สุภมาณพแสดงตนเป็นอุบาสก
[๓๓๗] ดูกรมาณพ ปัญญาขันธ์อันเป็นอริยะนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสรรเสริญ และทรงยังประชุมชนนี้ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ และในพระธรรมวินัยนี้ มิได้มี กรณียกิจที่ยิ่งขึ้นไปอีก. ส. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาแล้ว ปัญญาขันธ์อันเป็นอริยะนี้ บริบูรณ์แล้ว มิใช่ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นปัญญาขันธ์อันเป็นอริยะที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ ในสมณพราหมณ์พวกอื่นภายนอกพระศาสนานี้เลย และในธรรมวินัยนี้ ไม่มีกรณียกิจอะไรที่ ยิ่งขึ้นไปอีก. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คน หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระอานนท์ประกาศ พระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระ- *โคดม พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระอานนท์ จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉะนี้แล.
จบสุภสูตร ที่ ๑๐
-----------------------------------------------------
๑๑. เกวัฏฏสูตร
เรื่องนายเกวัฏฏ (ชาวประมง)
[๓๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขตเมือง นาลันทา. ครั้งนั้น เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ ล้วนแต่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มี- *พระภาคทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อ เป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง สุดที่จะประมาณ เมื่อ เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรกราบทูลดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ เรามิได้แสดง ธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็น ธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ แก่คฤหัสถ์ ผู้นุ่งขาวห่มขาวดังนี้. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตร ได้กราบทูล เป็นคำรบสองว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้จำกัด พระผู้มีพระภาค เพียงแต่กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้ คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ ล้วนแต่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาส เถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่ง ที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง สุดที่จะประมาณ แม้ครั้งที่ ๓ เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรก็ได้กราบทูลอย่างนั้น.
ปาฏิหาริย์ ๓ ประการ-อิทธิปฏิหาริย์
[๓๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงได้ประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ๑ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ๑ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ๑ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว ก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดิน ก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วย ฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจด้วยกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่มี ศรัทธาเลื่อมใส เห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ครั้นแล้วเขาจะบอกแก่คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่า อัศจรรย์จริงหนอ ท่านไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์ มาก ความที่สมณะมีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... เมื่อเป็น เช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนี้ว่า ท่าน มี วิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ได้ด้วยวิชาชื่อว่า คันธารี นั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึง กล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นบ้างไหม พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็น โทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหาริย์.
อาเทสนาปฏิหาริย์
[๓๔๐] ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของ ท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคล ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความ ตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้. ครั้นแล้วเขาบอกแก่คนที่ยังไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่า อัศจรรย์จริงหนอ ท่าน ไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก ความที่สมณะมีอานุภาพ มาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้ทายใจ ทายความรู้สึกนึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรอง ของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ ... เมื่อเป็นเช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น พึงกล่าวกะเขาว่า ท่าน มีวิชาอย่างหนึ่งชื่อว่า มณิกา ภิกษุรูปนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นก็ได้ ... ด้วยวิชาชื่อว่า มณิกานั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะ สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น พึงกล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธา เลื่อมใสกันบ้างไหม? พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์ อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอาเทสนาปาฏิหาริย์.
อนุสาสนีปาฏิหาริย์
[๓๔๑] ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำ สอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าทำในใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด นี้เรียกอนุสาสนีปาฏิหาริย์. [๓๔๒] ดูกรเกวัฏฏ์ อีกข้อหนึ่ง พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก บุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระองค์นั้นทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและ มนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้ เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อ ได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทาง ปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวช เป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและ หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติ- *โมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษา อยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อม ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.
จุลศีล
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้ก็เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่ เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตก ร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อม เพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เรียกอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิง อรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๘. เธอเว้นจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ ตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอม และ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็น ปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่อง ประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคน จัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่น การพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนี- *ปาฏิหาริย์. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มี สัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและ เสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและ เงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาด หลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมีขน อ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับ ข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนี- *ปาฏิหาริย์. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถา เห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องมหา- *อำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่อง ทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง จำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่นว่า ท่าน ไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าว ก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง มาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะ เสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่าน ล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
มหาศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็น ปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธี ซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชา ภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชา ภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาว นักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทร- *คราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหาง จักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผล เป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็น ปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์ พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทย ให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยา แก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวร นั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกกำจัดราชศัตรูได้แล้วย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะ ราชศัตรูนั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุก็ฉันนั้นสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน ดูกรเกวัฏฏ์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
อินทรียสังวร
ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้นรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็น อริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันบริสุทธิ์ ไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วย บิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรเกวัฏฏ์ นกมีปีก จะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษอันเป็น อริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์อุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
อุปมานิวรณ์
ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึง สำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขา จะพึงมี เหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความ โสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และ มีกำลังกาย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมี กำลังกายเป็นปรกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจาก เรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อน เราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้อง เสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจาก เรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหน ตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้น จากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ พึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้าน อันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุ ถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณา เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือน การพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.
รูปฌาน ๔
เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตนย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์ แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ตกเวลาเย็นก้อนจุรณสีตัวซึ่งยาง ซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่ว ทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือน ห้วงน้ำลึก มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำ นั้นแหละให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมดที่ น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่ สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศ ไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือน ในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มแช่เอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอดตลอดเหง้า ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาวทั่วทุกส่วน ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกาย ของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ ไปทั่วกายนี้แหละด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจ อันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะ ด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ แห่งของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุ ก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์.
วิชชา ๘
วิปัสสนาญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัด อย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วย ข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้. ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนแก้ว ไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาว หรือนวลร้อยอยู่ในนั้น บุรุษมีจักษุจะพึง หยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณาเห็นว่า แก้วไพฑูรย์นี้งาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใส แวววาว สมส่วนทุกอย่าง มีด้ายเขียว เหลือง แดง ขาวหรือนวลร้อยอยู่ในแก้วไพฑูรย์นั้น ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมน้อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรา นี้แล มีรูป ประกอบด้วย มหาภูต ๔ เกิด แต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ ในกายนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
มโนมยิทธิญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้อง อย่างหนึ่ง ไส้อย่างหนึ่ง ก็แต่ไส้ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงชักดาบออกจากฝัก เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงชักงูออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออกจากคราบนั่นเอง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อม จิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
อิทธิวิธญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธี หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ใน แผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือน นกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อนวดดินดีแล้ว ต้องการภาชนะชนิดใดๆ พึงทำภาชนะชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือของช่างงาผู้ฉลาด เมื่อแต่งงาดีแล้ว ต้องการเครื่องงาชนิดใดๆ พึงทำเครื่องงาชนิดนั้นๆ ให้สำเร็จได้ อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือของช่างทอง ผู้ฉลาด เมื่อหลอมทองดีแล้ว ต้องการทองรูปพรรณชนิดใดๆ พึงทำทองรูปพรรณชนิดนั้นๆ ให้ สำเร็จได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไป ในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้ อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
ทิพพโสตญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อม ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียงกลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เขาพึงเข้าใจว่า เสียงกลองดังนี้บ้าง เสียงตะโพนดังนี้บ้าง เสียงสังข์ดังนี้บ้าง เสียงบัณเฑาะว์ดังนี้บ้าง เสียง เปิงมางดังนี้บ้าง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
เจโตปริยญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อม กำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็น มหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่น ยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์ สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่า หน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจาก อุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ เจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิต ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็น อันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้ อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืน อย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรากลับจากบ้านนั้นมาสู่บ้าน ของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพ โน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอระลึกถึง ชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
จุตูปปาตญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วง จักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม กรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้ง อยู่ ณ ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลัง เข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คนเหล่านี้เข้าสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ท่ามกลางพระนคร ฉันใด ภิกษุก็ ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไป ตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์.
อาสวักขยญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ เหล่านี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อม หลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรเกวัฏฏ์ เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวด และ ก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดเห็น อย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหิน บ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรเกวัฏฏ์ แม้ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์. ดูกรเกวัฏฏ์ ปาฏิหาริย์ ๓ เหล่านี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้.
เรื่องภิกษุแสวงหามหาภูต
[๓๔๓] ดูกรเกวัฏฏ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง ได้เกิดความ ปริวิตกอย่างนี้ว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหนหนอ. ลำดับนั้น เธอได้เข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่ เทวโลกปรากฏได้. ครั้นแล้วเธอได้เข้าไปหาพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชถึงที่อยู่ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับ ไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว เทวดาชั้นจาตุมหาราชจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้า ก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีหลือ แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้เหมือนกัน แต่ยังมีท้าวมหาราชอยู่ ๔ องค์ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าวเธอคงจะทราบ. ลำดับนั้นภิกษุนั้นจึงไปหาท้าวมหาราช ทั้ง ๔ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ภิกษุนั้นจึงเข้าไปหาเทวดาชั้นดาวดึงส์ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีท้าวสักกะ จอมเทพซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก ท้าวเธอคงจะทราบ. ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้ ไปหาท้าวสักกะจอมเทพแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? ดูกรเกวัฏฏ์ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น แต่ยังมีเทวดาชั้น ยามะ ... ท้าวสุยามะ ... เทวดาชั้นดุสิต ... ท้าวสันดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... ท้าวสุนิมมิต ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ... ท้าวปรนิมมิตวสวดี ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าข้าพเจ้า อยู่อีก ท้าวเธอคงทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ได้. [๓๔๔] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้นแล เธอได้เข้าไปหาวสวดีเทวบุตรแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือใน ที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว วสวดีเทวบุตรตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีเทวดา ผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกเราอยู่อีก เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ลำดับนั้น ภิกษุได้เข้าสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกปรากฏได้. [๓๔๕] ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อนั้น เธอได้เข้าไปหาเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมโลกแล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับ ไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้า ก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพรหมผู้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ ผู้ใช้อำนาจเป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วและยังจะเกิดต่อไป ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าว มหาพรหมนั้นแล คงจะทราบ ก็บัดนี้ท้าวมหาพรหมนั้นอยู่ที่ไหน แม้พวกเราก็ไม่รู้ที่อยู่ของพรหม หรือทิศทางที่พรหมอยู่ แต่ว่านิมิตทั้งหลายย่อมเห็นได้ แสงสว่างย่อมเกิดเอง โอภาสย่อมปรากฏ เมื่อใด พรหมจักปรากฏองค์เมื่อนั้น การที่แสงสว่างเกิดเอง โอภาสปรากฏนั้นแล เป็นบุพพนิมิต สำหรับความปรากฏแห่งพรหม ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อมาไม่นาน มหาพรหมนั้นได้ปรากฏแล้ว. [๓๔๖] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น เธอได้เข้าไปหามหาพรหมแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาพรหมนั้นได้ตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิตร เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว และยังจะเกิดต่อไป แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้น ดังนี้ว่า ข้าพเจ้า มิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ ต่างหาก แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ท้าวมหาพรหมก็ได้ตอบเธออย่างนั้นเหมือนกัน แม้ครั้งที่ ๓ เล่า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้นดังนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ต่างหาก. [๓๔๗] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น จับแขนภิกษุนั้นนำไป ณ ที่ควร ข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุ พวกเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมเหล่านี้เข้าใจเราว่า อะไรๆ ที่พรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ประจักษ์ ไม่มี ดังนี้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตอบต่อหน้า เทวดาเหล่านั้นไม่ได้ว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล การที่ท่านละพระผู้มีพระภาค เสีย แล้วมาเสาะหาการพยากรณ์ปัญหานี้ในภายนอกนั้น เป็นอันท่านทำผิดพลาดแล้ว นิมนต์กลับ เถิด ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามปัญหานี้ พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านฉันใด ท่าน พึงทรงจำข้อนั้นไว้ ฉันนั้น.
อุปมาด้วยนกตีรทัสสี
[๓๔๘] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้หายไปที่พรหมโลก มาปรากฏข้างหน้าเรา เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดไว้เข้ามา ฉะนั้น. ต่อนั้น เธอไหว้เราแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ถามเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าเดินเรือทะเล ย่อมจับนกตีรทัสสี (นกดูฝั่ง) ลงเรือไปด้วย เมื่อไม่เห็นฝั่ง เขาย่อมปล่อยนกตีรทัสสี มันบินไปยังทิศบูรพา ทิศทักษิณ ทิศปัศจิม ทิศอุดร ทิศเบื้องบน ทิศน้อย ถ้ามันแลเห็นฝั่ง โดยรอบมันก็บินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดยรอบ มันก็จะกลับมายังเรือนั้นอีก ดูกรภิกษุ เธอก็ฉันนั้นแล เที่ยวแสวงหาจนถึงพรหมโลก ก็ไม่ได้รับพยากรณ์ปัญหานี้ ในที่สุดก็ต้องกลับ มาหายังสำนักเรานั่นเอง ปัญหาข้อนี้เธอมิควรถามอย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้.
แถลงปัญหามหาภูต
[๓๔๙] ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้. ในปัญหานั้น มีพยากรณ์ดังต่อไปนี้ [๓๕๐] ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใส โดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้. อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ใน ธรรมชาตินี้. นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้. เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรมีใจชื่นชม เพลิดเพลิน ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบเกวัฏฏสูตร ที่ ๑๑.
-----------------------------------------------------
๑๒. โลหิจจสูตร
เรื่องโลหิจจพราหมณ์
------------------------
[๓๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้านสาลวติกา ก็สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์ครองบ้านสาลวติกา ซึ่งคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร ซึ่งเป็นราชสมบัติอันพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นส่วนพรหมไท.
ว่าด้วยพระพุทธคุณ
[๓๕๒] ครั้งนั้น โลหิจจพราหมณ์เกิดมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้ว ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัย ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภ ว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้ โลหิจจพราหมณ์ได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดม ศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกมาในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงบ้าน สาลวติกาโดยลำดับ และกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วย วิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระองค์ ทรงกระทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของ พระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดามนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรง แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์เห็นปานนั้น ย่อมเป็นการ ดีแล. [๓๕๓] ครั้งนั้น โลหิจจพราหมณ์ เรียกโรสิกะช่างกัลบกมาว่า มานี่แน่ะ เพื่อนโรสิกะ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลถามพระสมณโคดมผู้มีอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงพระกำลังอยู่สำราญ ตามคำของเราว่า ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ถามถึงพระองค์ผู้มีอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงพระกำลังอยู่สำราญ อนึ่ง จงทูลอย่างนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรด รับภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้. โรสิกะช่างกัลบกรับคำโลหิจจพราหมณ์ แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ถามถึงพระองค์ผู้มีอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงพระกำลังอยู่สำราญ และให้กราบทูลว่า ขอพระผู้มี- *พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้. พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วด้วยดุษณีภาพ. [๓๕๔] ครั้งนั้น โรสิกะช่างกัลบกทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจาก อาสนะถวายอภิวาททำประทักษิณแล้ว เข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคตามคำของท่านแล้ว และพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับนิมนต์แล้ว. ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์ได้ตกแต่งขาทนียโภชนียะอันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน โดยล่วงไปแห่งราตรี นั้น แล้วเรียกโรสิกะช่างกัลบกมาว่า มานี่แน่ะ เพื่อนโรสิกะ ท่านจงไปเฝ้าพระสมณโคดม ถึงที่ประทับแล้วกราบทูลเวลาแด่พระสมณโคดมว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว. โรสิกะช่างกัลบกรับคำโลหิจจพราหมณ์แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว.
ทรงโปรดโลหิจจพราหมณ์
[๓๕๕] ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วทรงถือบาตรและ จีวรเสด็จเข้าไปยังบ้านสาลวติกาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์. เวลานั้น โรสิกะช่างกัลบก ตามเสด็จ พระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์ เกิดมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุ แล้ว ไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำอื่นขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่า เป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน โอกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงเปลื้องโลหิจจพราหมณ์เสียจากทิฏฐิอันลามกนั้น. พระผู้มี- *พระภาคตรัสว่า ไม่เป็นไร โรสิกะ ไม่เป็นไร โรสิกะ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยัง นิเวศน์ของโลหิจจพราหมณ์แล้ว ประทับเหนืออาสนะอันเขาปูลาดไว้. ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์ จึงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน ให้อิ่มหนำแล้ว. [๓๕๖] ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสวยแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ ออกจากบาตรแล้ว จึงถืออาสนะอันหนึ่งซึ่งต่ำกว่า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะโลหิจจพราหมณ์ว่า จริงหรือ โลหิจจะ ได้ยินว่า ท่านเกิดมีทิฏฐิลามกเห็นปานนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควรบอกผู้อื่น เพราะผู้อื่น จักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำอื่นขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไร ให้แก่ผู้อื่นได้ ดังนี้. โลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญเป็นอย่างนั้น. ภ. ดูกรโลหิจจะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านครองบ้านสาลวติกานี้มิใช่ หรือ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เป็นอย่างนั้น. ดูกรโลหิจจะ เราขอถามท่าน ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โลหิจจพราหมณ์ครองบ้านสาลวติกา อยู่ โลหิจจพราหมณ์ควรใช้สอยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในบ้านสาลวติกานั้นแต่ผู้เดียว ไม่ควร ให้ผู้อื่น ดังนี้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น จะชื่อว่าทำอันตรายแก่ชนที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพอยู่ได้หรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าทำอันตรายได้. เมื่อทำอันตราย จะชื่อว่าหวังประโยชน์ต่อชนเหล่านั้นหรือไม่หวัง. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์. ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์ต่อ จะชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเมตตาไว้ในชนเหล่านั้น หรือจะชื่อว่าเข้าไป ตั้งจิตเป็นศัตรู. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู. เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเป็นสัมมาทิฏฐิ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ. ดูกรโลหิจจะ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง. [๓๕๗] ดูกรโลหิจจะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรง ปกครองแคว้นกาสีและโกศลมิใช่หรือ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เป็นเช่นนั้น. ดูกรโลหิจจะเราขอถามท่าน ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงปกครอง แคว้นกาสีและโกศลอยู่ พระองค์ควรทรงใช้สอยผลประโยชน์ที่เกิดในแคว้นทั้ง ๒ นั้นแต่ พระองค์เดียว ไม่ควรพระราชทานแก่ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำอันตรายแก่พวกท่านและ คนอื่นๆ ซึ่งได้พึ่งพระบารมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเลี้ยงชีพอยู่ได้หรือไม่? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าทำอันตรายได้. เมื่อทำอันตราย จะชื่อว่าหวังประโยชน์ต่อชนเหล่านั้นหรือไม่หวัง. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์. ผู้ที่ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเมตตาไว้ในชนเหล่านั้น หรือจะชื่อว่าเข้าไป ตั้งจิตเป็นศัตรู. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู. เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ. ดูกรโลหิจจะ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง. [๓๕๘] ดูกรโลหิจจะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันฟังได้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โลหิจจพราหมณ์ครองบ้านสาลวติกา ควรใช้สอยผลประโยชน์อันเกิดในบ้านสาลวติกาแต่ผู้เดียว ไม่ควรให้ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำอันตรายแก่ชนที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพอยู่ เมื่อทำ อันตราย ย่อมชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็น ศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฉันนั้นนั่นแล ดูกรโลหิจจะ ผู้ใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควรบอก ผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้. บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่อง จองจำอื่นขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำอันตรายแก่กุลบุตรผู้ที่ได้อาศัย พระธรรมวินัยอันตถาคตแสดงไว้แล้ว จึงบรรลุธรรมวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ คือทำให้แจ้ง โสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตผลบ้าง และแก่กุลบุตรผู้ที่อบรมครรภ์ อันเป็นทิพย์ เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูกรโลหิจจะ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิด เดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง. [๓๕๙] ดูกรโลหิจจะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันฟังได้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระ- *เจ้าปเสนทิโกศลทรงปกครองแคว้นกาสีและโกศล พระองค์ควรใช้สอยผลประโยชน์อันเกิดขึ้นใน แคว้นทั้ง ๒ นั้นแต่พระองค์เดียว ไม่ควรพระราชทานแก่ผู้อื่น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้นั้น ชื่อว่าทำ อันตรายแก่ชนทั้งหลาย คือตัวท่านและคนอื่นๆ ผู้ที่ได้พึงบารมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเลี้ยงชีพ เมื่อ ทำอันตราย ย่อมชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็น ศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรูแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ฉันนั้นนั่นแล ดูกรโลหิจจะ ผู้ใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้ ควรบรรลุกุศลธรรม ครั้นบรรลุแล้วไม่ควร บอกแก่ผู้อื่น เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ บุคคลตัดเครื่องจองจำเก่าได้แล้ว ไม่ควร สร้างเครื่องจองจำอื่นขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรม ลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ผู้กล่าวอย่างนี้นั้น ย่อมชื่อว่าทำอันตรายแก่กุลบุตรผู้ ที่ได้อาศัยพระธรรมวินัยอันตถาคตแสดงไว้แล้ว จึงบรรลุธรรมวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ คือ ทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง สกทาคามิผลบ้าง อนาคามิผลบ้าง อรหัตผลบ้าง และกุลบุตรผู้ที่ อบรมครรภ์อันเป็นทิพย์ เพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ เมื่อทำอันตราย ย่อมชื่อว่าไม่หวัง ประโยชน์ต่อ เมื่อไม่หวังประโยชน์ต่อ ย่อมชื่อว่าเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู เมื่อเข้าไปตั้งจิตเป็นศัตรู แล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูกรโลหิจจะ ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่ามีคติเป็น ๒ คือ นรกหรือกำเนิดเดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง.
ศาสดาที่ควรแก่การท้วง ๓ จำพวก
[๓๖๐] ดูกรโลหิจจะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้ ควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ ท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ ศาสดา ๓ จำพวกนั้นเป็นไฉน? ดูกร โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว เขาไม่ได้บรรลุประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น. แต่ แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อสุขของท่านทั้งหลาย. สาวก ของเขาย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอน ของศาสดา. เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว ท่านไม่ได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านนั้นย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึงและย่อมหลีกเลี่ยง ประพฤติจากคำสอนของศาสดา เหมือนบุรุษที่รุกเข้าไปหาสตรีที่กำลังถอยหลังหนี หรือดุจบุรุษ พึงกอดสตรีที่หันหลังให้ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่าเป็นธรรมอัน ลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดาที่ ๑ ซึ่งควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ. [๓๖๑] ดูกรโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาไม่ได้บรรลุแล้ว เขาไม่ได้บรรลุ ประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อ ความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของเขาย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีก เลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านไม่ได้บรรลุแล้ว ท่านไม่ได้บรรลุ ประโยชน์ของสมณะนั้น แต่แสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้เพื่อ ความสุขของท่านทั้งหลาย สาวกของท่านนั้น ย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และไม่หลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดาเหมือนบุคคลละเลยนาของตนแล้ว สำคัญเห็น นาของผู้อื่นว่าเป็นที่อันตนควรบำรุง ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือความโลภว่า เป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้. ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดาที่ ๒ ซึ่งควร ท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนั้น ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ. [๓๖๒] ดูกรโลหิจจะ อีกข้อหนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น เขาได้บรรลุแล้ว เขาได้บรรลุ ประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย นี้ เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกของเขาไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เขาจะพึงถูกท้วงว่า ท่านผู้มีอายุ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เป็นของสมณะนั้น ท่านได้บรรลุแล้ว ท่าน เองได้บรรลุประโยชน์ของสมณะนั้นแล้ว จึงแสดงธรรมสอนสาวกว่า นี้เพื่อประโยชน์ของท่าน ทั้งหลาย นี้เพื่อความสุขของท่านทั้งหลาย แต่สาวกของท่านนั้นไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง และหลีกเลี่ยงประพฤติจากคำสอนของศาสดา เหมือนบุคคลตัดเครื่องจองจำ เก่าได้แล้ว ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำขึ้นใหม่ ฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เรากล่าวธรรมคือ ความโลภว่าเป็นธรรมอันลามก เพราะผู้อื่นจักทำอะไรให้แก่ผู้อื่นได้ ดูกรโลหิจจะ นี้แลศาสดา ที่ ๓ ซึ่งควรท้วงในโลก และทั้งการท้วงของผู้ที่ท้วงศาสดาเห็นปานนั้น ก็จริงแท้เป็นธรรม ไม่มีโทษ ดูกรโลหิจจะ ศาสดา ๓ จำพวกเหล่านี้แล ควรท้วงได้ในโลก และทั้งการท้วงของ ผู้ที่ท้วงศาสดาทั้งหลายเห็นปานนั้น ก็จริงแท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ.
ศาสดาที่ไม่ควรท้วง
[๓๖๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้วโลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ก็ศาสดาบางคนซึ่งไม่ควรท้วงในโลกมีบ้างหรือ. พ. ดูกรโลหิจจะ ศาสดาที่ไม่ควรท้วงในโลกมีอยู่. ล. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ศาสดาที่ไม่ควรท้วงในโลก เป็นไฉน. ดูกรโลหิจจะ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ไม่มี ผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วย ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและ มนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิด เฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.
จุลศีล
ดูกรโลหิจจะ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล. ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็น หลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนในหมู่โน้น แตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคน ผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำ ที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมาก รักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และ เครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อและการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่อง ตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบจุลศีล.
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่คำ รบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมของหอม สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคม มหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคน จัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่น การพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือเตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาด ที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อ ดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมและขลิบทองเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๖๑๓๙-๘๑๖๕ หน้าที่ ๒๕๖-๓๔๑. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=6139&Z=8165&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [max20]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=9&siri=9              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=275              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [279-363] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=9&item=279&items=85              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=7890              The Pali Tipitaka in Roman :- [279-363] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=9&item=279&items=85              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=7890              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i275-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/dn/dn.09.0.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/digha/dn09.html https://suttacentral.net/dn9/en/sujato https://suttacentral.net/dn9/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :