บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ฉบับภาษาไทย บาลีอักษรไทย บาลีอักษรโรมัน |
๗. สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ เรื่องสมณุทเทสกัณฑกะ มิจฉาทิฏฐิ [๖๗๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น สมณุทเทสชื่อกัณฑกะ มีทิฏฐิทรามเห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่าธรรม เหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุหลายรูป ได้ทราบข่าวว่า สมณุทเทสชื่อกัณฑกะมีทิฏฐิทรามเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้ มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาสมณุทเทสชื่อกัณฑกะ ถึงสำนักแล้วถามว่า อาวุโส กัณฑกะ ข่าวว่า เธอมีทิฏฐิทรามเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ถึงทั่วธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่าธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้ จริงหรือ? ก. จริงอย่างว่านั้นแล ขอรับ ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ที่โดย ประการ ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตราย แก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้ จริงหรือ? ภิ. อาวุโส กัณฑกะ เธออย่าได้ว่าอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การ กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนั้นเลย ธรรมอันทำอันตราย พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษใน กามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนร่างกระดูก ... กาม ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนคบหญ้า ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ... กาม ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนความฝัน ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนของยืม ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนผลไม้ ... กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนแหลนหลาว ... กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบเหมือนศีรษะงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก. สมณุทเทสกัณฑกะ อันภิกษุเหล่านั้นว่ากล่าวอยู่เช่นนี้ ยังยึดถือทิฏฐิทรามนั้น ด้วย- *ความยึดมั่นอย่างเดิม ซ้ำยังกล่าวยืนยันว่า ผมกล่าวอย่างนั้นจริง ขอรับ ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มี- *พระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้น หาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ ดังนี้. เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องสมณุทเทสกัณฑกะจากทิฏฐิอันทรามนั้นได้ จึงพากันไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.ประชุมสงฆ์โปรดให้นาสนะ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามสมณุทเทสกัณฑกะว่า ดูกรกัณฑกะ ข่าวว่า เธอมี ทิฏฐิอันทรามเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้ จริงไม่ ดังนี้จริงหรือ? สมณุทเทสกัณฑกะทูลรับว่า ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสธรรมเหล่าใดว่า ธรรม เหล่านี้ เป็นธรรมทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เพราะเหตุใด เจ้าจึงเข้าใจธรรมที่เราแสดงแล้ว เช่นนั้นเล่า ธรรมอันทำอันตรายเรากล่าวไว้โดยบรรยายเป็นอันมากมิใช่หรือ? และธรรมเหล่า นั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง กามทั้งหลายเรากล่าวว่ามีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความ คับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนร่างกระดูก ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนคบหญ้า ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ..., กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือน ความฝัน ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนของยืม ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือน ผลไม้ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนเขียงสำหรับสับเนื้อ ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่า เปรียบเหมือนแหลนหลาว ... กามทั้งหลายเรากล่าวว่าเปรียบเหมือนศีรษะงู มีทุกข์มาก มีความ คับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนี้มากยิ่งนัก ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิ ที่ตนยึดถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเอง และชื่อว่าประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นแหละ จักเป็นไปเพื่อผลไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อผลเป็นทุกข์แก่เจ้า ตลอดกาลนาน การกระทำ ของเจ้านั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเจ้านั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชุมชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นแล้วทรง ทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงนาสนะ สมณุทเทสกัณฑกะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงนาสนะอย่างนี้ ว่าดังนี้:- เจ้ากัณฑกะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เจ้าอย่าอ้างพระผู้มีพระภาคนั้นว่าเป็นศาสดาของเจ้า และสมณุทเทสอื่นๆ ย่อมได้การนอนด้วยกันเพียง ๒-๓ คืนกับภิกษุทั้งหลายอันใด แม้กิริยา ที่ได้การนอนร่วมนั้นไม่มีแก่เจ้า เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย. ครั้งนั้น สงฆ์ได้นาสนะสมณุทเทสกัณฑกะแล้ว.เกลี้ยกล่อมสมณุทเทส [๖๗๔] ต่อมา พระฉัพพัคคีย์รู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสกัณฑกะ ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ อย่างนั้นแล้ว ให้อุปัฏฐากบ้าง กินร่วมบ้าง สำเร็จการนอนด้วยกันบ้าง. บรรดาภิกษุที่เป็นผู้ มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์รู้อยู่ จึงได้เกลี้ยกล่อมสมณุทเทส กัณฑกะ ผู้ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้ว ให้อุปัฏฐากบ้าง กินร่วมบ้าง สำเร็จการนอน ด้วยกันบ้างเล่าทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกเธอรู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสกัณฑกะ ผู้ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้ว ให้อุปัฏฐากบ้าง กินร่วมบ้าง สำเร็จการนอนด้วยกันบ้าง จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอรู้อยู่ จึงได้ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสกัณฑกะผู้ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้วให้อุปัฏฐากบ้าง กินร่วมบ้าง สำเร็จ การนอนร่วมกันบ้างเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง ไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๑๑๙. ๑๐. ถ้าแม้สมณุทเทสกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มี พระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรมทำอันตรายได้อย่างไร ธรรม เหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่ สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่า กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส สมณุทเทส เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระ- *ผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีดอก พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัส อย่างนั้นเลย. อาวุโส สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดย บรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง และสมณุท- *เทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ขืนถืออยู่อย่างนั้นเทียว สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะอาวุโส สมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มี พระภาคนั้นว่าเป็นพระศาสดาของเธอ ตั้งแต่วันนี้ไป และพวกสมณุทเทสอื่นย่อม ได้การนอนร่วมเพียง ๒-๓ คืน กับภิกษุทั้งหลายอันใด แม้กิริยาที่ได้การนอนร่วม นั้นไม่มีแก่เธอ เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ เกลี้ยกล่อมสมณุทเทสผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้วให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี เป็นปาจิตตีย์.เรื่องสมณุทเทสกัณฑกะ มิจฉาทิฏฐิ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๖๗๕] ที่ชื่อว่า สมณุทเทส ได้แก่บุคคลที่เรียกกันว่าสามเณร คำว่า กล่าวอย่างนี้ คือกล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยประการที่ตรัสว่าเป็นธรรม ทำอันตรายได้อย่างไร ธรรมเหล่านั้นหาอาจทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริงไม่. [๖๗๖] คำว่า สมณุทเทสนั้น ได้แก่สมณุทเทสผู้ที่กล่าวอย่างนั้น. บทว่า อันภิกษุทั้งหลาย ได้แก่ ภิกษุพวกอื่น คือ พวกภิกษุผู้ได้เห็น ผู้ได้ยิน พึงว่ากล่าวว่า อาวุโส สมณุทเทส เธออย่าได้พูดอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีแน่ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย อาวุโส สมณุทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมทำอันตรายไว้โดยบรรยายเป็นอันมาก ก็แลธรรมเหล่านั้นอาจทำอันตราย แก่ผู้เสพได้จริง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สอง พึงว่ากล่าวแม้ครั้งที่สาม ถ้าเธอสละได้ การสละ ได้ดังนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่สละ สมณุทเทสนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส สมณุทเทส เธออย่าอ้างพระผู้มีพระภาคนั้นว่า เป็นพระศาสดาของเธอตั้งแต่วันนี้ไป และพวก สมณุทเทสอื่น ย่อมได้การนอนร่วมเพียง ๒-๓ คืน กับภิกษุทั้งหลายอันใด แม้กิริยาที่ได้การ นอนร่วมนั้นไม่มีแก่เธอ เจ้าคนเสีย เจ้าจงไป เจ้าจงฉิบหายเสีย ดังนี้. [๖๗๗] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ รู้เอง หรือผู้อื่นบอกแก่เธอ หรือเจ้าตัวบอก. บทว่า ผู้ถูกให้ฉิบหายเสียอย่างนั้นแล้ว คือ ผู้ถูกสงฆ์นาสนะอย่างนั้นแล้ว. ที่ชื่อว่า สมณุทเทส ได้แก่บุคคลที่เรียกกันว่าสามเณร. บทว่า เกลี้ยกล่อมก็ดี คือ เกลี้ยกล่อมว่า เราจักให้บาตร จีวร อุเทศ หรือปริปุจฉา แก่เธอ ดังนี้, ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บทว่า ให้อุปัฏฐากก็ดี คือ ยินดี จุรณ ดินเหนียว ไม่ชำระฟัน หรือน้ำบ้วนปาก ของเธอ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บทว่า กินร่วมก็ดี อธิบายว่า ที่ชื่อว่ากินร่วม หมายถึงการคบหา มี ๒ อย่าง คือคบหากันในทางอามิส ๑ คบหากันในทางธรรม ๑ ที่ชื่อว่า คบหากันในทางอามิส คือ ให้อามิสก็ดี รับอามิสก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ที่ชื่อว่า คบหากันในทางธรรม คือ บอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม ภิกษุบอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม โดยบท ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ บท ภิกษุบอกธรรมให้ หรือขอเรียนธรรม โดยอักขระ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ อักขระ. คำว่า สำเร็จการนอนร่วมก็ดี อธิบายว่า ในที่มุงที่บังอันเดียวกัน เมื่อสมณุทเทส ผู้ถูกสงฆ์นาสนะนอนแล้ว ภิกษุจึงนอน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนอนแล้ว สมณุทเทส ผู้ถูกสงฆ์นาสนะจึงนอน ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ หรือนอนทั้ง ๒ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ลุกขึ้นแล้วนอนต่อไปอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์.บทภาชนีย์ [๖๗๘] สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุสำคัญว่าถูกสงฆ์นาสนะแล้ว เกลี้ยกล่อม ก็ดี ให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์. สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุมีความสงสัย เกลี้ยกล่อมก็ดี ให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมกันก็ดี สำเร็จการนอนร่วมกันก็ดี ต้องอาบัติทุกกฏ. สมณุทเทสผู้ถูกสงฆ์นาสนะแล้ว ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ เกลี้ยกล่อมก็ดี ให้อุปัฏฐากก็ดี กินร่วมก็ดี สำเร็จการนอนร่วมก็ดี ไม่ต้องอาบัติ. สมณุทเทสไม่ใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสำคัญว่าผู้ถูกสงฆ์นาสนะ ... ต้องอาบัติทุกกฏ. สมณุทเทสไม่ใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ. สมณุทเทสไม่ใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ ... ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๖๗๙] ภิกษุรู้อยู่ว่า สมณุทเทสไม่ใช่ผู้ถูกสงฆ์นาสนะ ๑ ภิกษุรู้อยู่ว่า สมณุทเทสยอม สละทิฏฐินั้นแล้ว ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.สัปปาณกวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ จบ. ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๗ จบ. ----------------------------------------------------- หัวข้อประจำเรื่อง ๑. สัญจิจจปาณสิกขาบท ว่าด้วยแกล้งฆ่าสัตว์ ๒. สัปปาณกสิกขาบท ว่าด้วยบริโภคน้ำมีตัวสัตว์ ๓. อุกโกฏนสิกขาบท ว่าด้วยฟื้นอธิกรณ์ ๔. ทุฏฐุลลสิกขาบท ว่าด้วยปิดอาบัติชั่วหยาบ ๕. อูนวีสติวัสสสิกขาบท ว่าด้วยอุปสมบทกุลบุตรมีอายุ หย่อน ๒๐ ปี ๖. เถยยสัตถสิกขาบท ว่าด้วยเดินทางร่วมกับพ่อค้าผู้เป็นโจร ๗. สังวิธานสิกขาบท ว่าด้วยชักชวนมาตุคามเดินทางสายเดียวกัน ๘. อริฏฐสิกขาบท ว่าด้วยพระอริฏฐะ ๙. อุกขิตตสัมโภคสิกขาบท ว่าด้วยการคบหากับภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกวัตร ๑๐. กัณฑกสิกขาบท ว่าด้วยสมณุทเทสชื่อกัณฑกะ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๓๑๘๑-๑๓๓๓๘ หน้าที่ ๕๖๔-๕๗๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=13181&Z=13338&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=673&items=7 อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=673&items=7&mode=bracket อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=2&item=673&items=7 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=2&item=673&items=7 ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=673 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 https://84000.org/tipitaka/english/?index_2
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]