ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
ไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑

หน้าที่ ๑.

พระวินัยปิฎก
เล่ม ๔
มหาวรรค ภาค ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มหาขันธกะ
โพธิกถา ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ
[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน และทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลม และปฏิโลม ตลอดปฐมยามแห่งราตรี ว่าดังนี้:
ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒.

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้.
ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่าดังนี้:-
พุทธอุทานคาถาที่ ๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรม พร้อมทั้งเหตุ.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๓.

[๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท เป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ว่าดังนี้:-
ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้.
ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๔.

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่าดังนี้:-
พุทธอุทานคาถาที่ ๒
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความ สิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย. [๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท เป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ว่าดังนี้:-
ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๕.

เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้.
ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่าดังนี้:-
พุทธอุทานคาถาที่ ๓
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น ย่อม กำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัย ทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น.
โพธิกถา จบ
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๖.

อชปาลนิโครธกถา
เรื่องพราหมณ์หุหุกชาติ
[๔] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากควงไม้ โพธิพฤกษ์ เข้าไปยังต้นไม้อชปาลนิโครธ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้อชปาลนิโครธตลอด ๗ วัน. ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติคนหนึ่ง ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พราหมณ์นั้นได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้ แด่ผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ก็แล ธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์? ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่าดังนี้:-
พุทธอุทานคาถา
พราหมณ์ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่ ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด มีตน สำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น ในอารมณ์ไหนๆ ในโลก ควรกล่าวถ้อยคำว่า ตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม.
อชปาลนิโครธกถา จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๑-๑๓๖ หน้าที่ ๑-๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=1&Z=136&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=1&items=4&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=4&item=1&items=4&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=4&item=1&items=4&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=4&item=1&items=4&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4 https://84000.org/tipitaka/english/?index_4

ไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]