ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
พระอุบาลีทูลถามอธิกรณ์
[๔๙๙] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ปรารถนาจะรับ อธิกรณ์ที่ตนรับ พึงรับอธิกรณ์ที่ประกอบด้วยองค์เท่าไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ปรารถนาจะรับอธิกรณ์ พึง รับอธิกรณ์ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ:- ๑. ภิกษุผู้ปรารถนาจะรับอธิกรณ์ พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เราปรารถนา จะรับอธิกรณ์นี้ เป็นกาลสมควรหรือไม่ที่จะรับ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เป็นกาลไม่ควรที่จะรับอธิกรณ์ นี้หาใช่เป็นกาลสมควรไม่ อธิกรณ์นั้น ภิกษุ ไม่พึงรับ ๒. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า นี้เป็นกาลควรที่จะรับอธิกรณ์ นี้หาใช่กาลไม่สมควรไม่ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า ที่เราปรารถนาจะรับอธิกรณ์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๔.

นี้ อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้ เป็นเรื่องไม่จริง หาใช่เป็นเรื่องจริงไม่ อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับ ๓. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้เป็นเรื่องจริง หาใช่เป็น เรื่องไม่จริงไม่ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เราปรารถนาจะรับอธิกรณ์นี้ อธิกรณ์ นี้ประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้ ไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ หาใช่ประกอบด้วยประโยชน์ไม่ ภิกษุไม่พึงรับ ๔. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า อธิกรณ์นี้ประกอบด้วยประโยชน์ หาใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ไม่ ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์ นี้ไว้ จักได้ภิกษุผู้เคยเห็นกัน เคยคบกัน เป็นฝ่ายโดยธรรมโดยวินัยหรือไม่ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ จักไม่ได้ภิกษุผู้เคยเห็น กัน เคยคบกัน เป็นฝ่ายโดยธรรมโดยวินัย อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับ ๕. ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ จักได้ภิกษุ ผู้เคยเห็นกัน เคยคบกัน เป็นฝ่ายโดยธรรมโดยวินัย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาต่อไป ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความ วิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความถือต่างแห่งสงฆ์ การ กระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีการนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์หรือไม่ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ อธิกรณ์นั้น ภิกษุไม่พึงรับ ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า เมื่อเรารับอธิกรณ์นี้ไว้ ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่ง สงฆ์ ความถือต่างแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีการนั้นเป็นเหตุ จัก ไม่มีแก่สงฆ์ อธิกรณ์นั้น ภิกษุพึงรับ อุบาลี อธิกรณ์ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล ภิกษุรับไว้จักไม่ทำ ความเดือดร้อนแม้ในภายหลังแล ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๕.

ทูลถามการโจท
[๕๐๐] พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึง พิจารณาธรรมเท่าไรในตน แล้วโจทผู้อื่น พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการในตน แล้วโจทผู้อื่น ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า เรามีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ หรือหนอ เราประกอบด้วยความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีตำหนิ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่ ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ประกอบ ด้วยความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีตำหนิ เธอย่อมมีผู้กล่าวว่า เชิญท่านจงศึกษาความประพฤติทางกายเสียก่อน เธอย่อมจะมีผู้กล่าวดังนี้ ฯ [๕๐๑] ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึง พิจารณาอย่างนี้ว่า เรามีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์หรือหนอ เราประกอบด้วย ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีตำหนิ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่ ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ประกอบด้วยความประพฤติ ทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีช่อง ไม่มีตำหนิ เธอย่อมจะมีผู้กล่าวว่า เชิญท่านจงศึกษา ความประพฤติทางวาจาเสียก่อน เธอย่อมจะมีผู้กล่าวดังนี้ ฯ [๕๐๒] ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึง พิจารณาอย่างนี้ว่า จิตของเรามีเมตตาปรากฏ ไม่อาฆาตในสพรหมจารีทั้งหลาย หรือหนอ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่ ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้มีเมตตาจิตปรากฏ ไม่ อาฆาตในสพรหมจารีทั้งหลาย เธอย่อมจะมีผู้กล่าวว่า เชิญท่านเข้าไปตั้งเมตตาจิต ในสพรหมจารีทั้งหลาย เธอย่อมจะมีผู้กล่าวดังนี้ ฯ [๕๐๓] ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึง พิจารณาอย่างนี้ว่า เราเป็นพหูสูต ทรงสุตะ เป็นที่สั่งสมสุตะหรือหนอ ธรรม เหล่านั้นใด ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๖.

เป็นธรรมอันเราสดับมาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่ ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นพหูสูต ทรงสุตะ เป็นที่สั่งสมสุตะ ธรรมเหล่านั้นใด ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สิ้นเชิง ธรรม เห็นปานนั้น ไม่เป็นธรรมอันเธอสดับมาก ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอด ดีแล้วด้วยปัญญา เธอย่อมจะมีผู้กล่าวว่า เชิญท่านจงเล่าเรียนปริยัติเสียก่อน เธอย่อมจะมีผู้กล่าวดังนี้ ฯ [๕๐๔] ดูกรอุบาลี อนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึง พิจารณาอย่างนี้ว่า เราจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี โดยพิสดาร สวดไพเราะ คล่อง แคล่ว วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะหรือหนอ ธรรมนี้มีแก่เราหรือไม่ ถ้าภิกษุไม่ใช่เป็นผู้จำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดีโดยพิสดาร สวดไพเราะ คล่องแคล่ว วินิจฉัยถูกต้องโดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ เธอถูกถามว่า ท่าน ก็พระผู้มีพระภาค ตรัสสิกขาบทนี้ที่ไหน จะตอบไม่ได้ เธอย่อมจะมีผู้กล่าวว่า เชิญท่านเล่าเรียน วินัยเสียก่อน เธอย่อมจะมีผู้กล่าวดังนี้ ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕ ประการ นี้ในตน แล้วพึงโจทผู้อื่น ฯ [๕๐๕] พระอุบาลีทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนา จะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น คือ:- ๑. เราจักกล่าวโดยกาลอันควร จักไม่กล่าวโดยกาลอันไม่ควร ๒. จักกล่าวด้วยคำจริง จักไม่กล่าวด้วยคำอันไม่เป็นจริง ๓. จักกล่าวด้วยคำสุภาพ จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ ๔. จักกล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยคำไร้ประโยชน์ ๕. จักมีเมตตาจิตกล่าว จักไม่มุ่งร้ายกล่าว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๗.

ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ ไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น ฯ
ผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรมต้องเดือดร้อน
[๕๐๖] พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม พึงถึงความ เดือดร้อนด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม พึงถึง ความเดือดร้อนด้วยอาการ ๕ คือ:- ๑. ท่านโจทโดยกาลไม่ควร ไม่โจทโดยกาลอันควร ท่านต้องเดือดร้อน ๒. ท่านโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่โจทด้วยเรื่องจริง ท่านต้องเดือดร้อน ๓. ท่านโจทด้วยคำหยาบ ไม่โจทด้วยคำสุภาพ ท่านต้องเดือดร้อน ๔. ท่านโจทด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่โจทด้วยเรื่อง ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านต้องเดือดร้อน ๕. ท่านมุ่งร้ายโจท มิใช่มีเมตตาจิตโจท ท่านต้องเดือดร้อน ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยไม่เป็นธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วย อาการ ๕ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุแม้อื่น ไม่พึงสำคัญเรื่องที่โจทด้วย คำเท็จ ฯ
ผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรมไม่ต้องเดือดร้อน
[๕๐๗] พระอุบาลีทูลถามว่า ก็ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม ไม่ต้อง เดือดร้อนด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม ไม่ต้อง เดือดร้อน ด้วยอาการ ๕ คือ:- ๑. ท่านถูกโจทโดยกาลไม่ควร ไม่ถูกโจทโดยกาลอันควร ท่านไม่ต้อง เดือดร้อน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๘.

๒. ท่านถูกโจทด้วยเรื่องไม่จริง ไม่ได้ถูกโจทด้วยเรื่องจริง ท่านไม่ต้อง เดือดร้อน ๓. ท่านถูกโจทด้วยคำหยาบ ไม่ถูกโจทด้วยคำสุภาพ ท่านไม่ต้อง เดือดร้อน ๔. ท่านถูกโจทด้วยเรื่องไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ได้ถูกโจทด้วย เรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน ๕. ท่านถูกโจทด้วยมุ่งร้าย ไม่ถูกโจทด้วยเมตตาจิต ท่านไม่ต้อง เดือดร้อน ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทโดยไม่เป็นธรรม ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยอาการ ทั้ง ๕ นี้ ฯ
ผู้โจทก์โดยเป็นธรรมไม่ต้องเดือดร้อน
[๕๐๘] พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความ ไม่เดือดร้อน ด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความ ไม่เดือดร้อน ด้วยอาการ ๕ คือ:- ๑. ท่านโจทโดยกาลอันควร ไม่ใช่โจทโดยกาลอันไม่ควร ท่านไม่ต้อง เดือดร้อน ๒. ท่านโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ใช่โจทด้วยเรื่องไม่เป็นจริง ท่านไม่ต้อง เดือดร้อน ๓. ท่านโจทด้วยคำสุภาพ ไม่ใช่โจทด้วยคำหยาบ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน ๔. ท่านโจทด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่โจทด้วยเรื่องไม่ ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านไม่ต้องเดือดร้อน ๕. ท่านมีเมตตาจิตโจท ไม่ใช่มุ่งร้ายโจท ท่านไม่ต้องเดือดร้อน ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์โดยเป็นธรรม พึงถึงความไม่เดือดร้อนด้วยอาการ ๕ นี้ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุแม้อื่นก็พึงสำคัญว่าควรโจทด้วยเรื่องจริง ฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔๙.

ผู้ถูกโจทโดยธรรมต้องเดือดร้อน
[๕๐๙] พระอุบาลีทูลถามว่า ก็ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม พึงถึงความ เดือดร้อนด้วยอาการเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม พึงถึงความ เดือดร้อนด้วยอาการ ๕ คือ:- ๑. ท่านถูกโจทโดยกาลอันควร ไม่ใช่ถูกโจทโดยกาลอันไม่ควร ท่าน ต้องเดือดร้อน ๒. ท่านถูกโจทด้วยเรื่องจริง ไม่ใช่ถูกโจทด้วยเรื่องไม่เป็นจริง ท่าน ต้องเดือดร้อน ๓. ท่านถูกโจทด้วยคำสุภาพ ไม่ใช่ถูกโจทด้วยคำหยาบ ท่านต้อง เดือดร้อน ๔. ท่านถูกโจทด้วยเรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ถูกโจทด้วยเรื่อง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ท่านต้องเดือดร้อน ๕. ท่านถูกโจทด้วยเมตตาจิต ไม่ใช่ถูกโจทด้วยมุ่งร้าย ท่านต้อง เดือดร้อน ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทโดยธรรม พึงถึงความเดือดร้อนด้วยอาการ ๕ นี้แล ฯ
ผู้โจทก์พึงมนสิการธรรม ๕ ประการ
[๕๑๐] พระอุบาลีทูลถามว่า ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึง มนสิการธรรมเท่าไรไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรม ๕ อย่างไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น คือ:- ๑. ความการุญ ๒. ความหวังประโยชน์

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๐.

๓. ความเอ็นดู ๔. ความออกจากอาบัติ ๕. ความทำวินัยเป็นเบื้องหน้า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้โจทก์ปรารถนาจะโจทผู้อื่น พึงมนสิการธรรม ๕ อย่าง นี้ไว้ในตน แล้วโจทผู้อื่น ฯ
ผู้ถูกโจทก์พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ
[๕๑๑] พระอุบาลีทูลถามว่า ก็ภิกษุผู้ถูกโจทก์ พึงตั้งอยู่ในธรรมเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอุบาลี ภิกษุผู้ถูกโจทก์ พึงตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ความจริง ๑ ความไม่ขุ่นเคือง ๑ ฯ
ปาติโมกขฐปนขันธกะ ที่ ๙ จบ
ในขันธกะนี้มี ๓๐ เรื่อง ๒ ภาณวาร
-----------------------------------------------------
หัวข้อประจำขันธกะ
[๕๑๒] เรื่องปาปภิกษุในอุโบสถ ถูกไล่ ๓ ครั้ง ไม่ออกไป ถูก พระโมคคัลลานะฉุดออก เรื่องอัศจรรย์ในศาสนาของพระชินะเจ้า ทรงเปรียบเทียบ มหาสมุทร คือ อนุปุพพสิกขา เปรียบด้วยมหาสมุทรอันลุ่มลึกโดยลำดับ พระสาวกไม่ละเมิดสิกขาบท เปรียบด้วยมหาสมุทรตั้งอยู่ตามปกติไม่ล้นฝั่ง สงฆ์ ย่อมขับไล่บุคคลทุศีลออก เปรียบด้วยมหาสมุทรซัดซากศพขึ้นฝั่ง วรรณะ ๔ เหล่า บวชเป็นบรรพชิตแล้ว ละนามและโคตรเดิม ดุจแม่น้ำใหญ่ไหลไปสู่ มหาสมุทรแล้ว ละนามและโคตรเดิม ภิกษุเป็นอันมากปรินิพพาน เปรียบด้วย น้ำไหลไปเต็มมหาสมุทร พระธรรมวินัยมีวิมุตติรสรสเดียว เปรียบด้วยมหา- *สมุทรมีรสเค็มรสเดียว พระธรรมวินัยมีรัตนะมาก เป็นที่อยู่ของพระอริยบุคคล

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๑.

๘ จำพวก เปรียบด้วยมหาสมุทรเป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ แล้วยังคุณในพระศาสนา ให้ดำรงอยู่ เรื่องงดปาติโมกข์ในวันอุโบสถ เรื่องพระฉัพพัคคีย์คิดว่า ใครๆ ไม่รู้เรา เรื่องภิกษุยกโทษก่อน เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๑ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๒ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๓ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๔ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๕ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๖ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๗ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๘ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๙ เรื่องงดปาติโมกข์เป็นธรรม และไม่เป็นธรรม มีมูล ๑๐ เรื่องงดปาติโมกข์เพราะวิบัติ ๔ อย่าง คือ ศีล อาจาระ ทิฐิ และอาชีวะ เรื่องงดปาติโมกข์ในส่วน ๕ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ และทุกกฏ เรื่องงดปาติโมกข์ในส่วน ๖ มีวิธีอย่างนี้ คือ เพราะศีล อาจาระ ทิฐิวิบัติ ที่ภิกษุมิได้ทำและทำ เรื่องงดปาติโมกข์ในส่วน ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาสิต เรื่องงดปาติโมกข์ เพราะศีล อาจาระ ทิฐิ และอาชีววิบัติ ที่ภิกษุ มิได้ทำและทำ รวม ๘ อย่าง เรื่องงดปาติโมกข์มี ๙ วิธี คือ เพราะศีล อาจาระ ทิฐิ ที่ภิกษุมิได้ทำ และทั้งทำและไม่ทำ พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ผู้รู้ตามเป็นจริงอย่างนี้

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๒.

จงทราบการงดปาติโมกข์ ๑๐ อย่าง คือ ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ๑ กถา ปรารภภิกษุผู้ต้องอาบัติปราชิกยังค้างอยู่ ๑ ภิกษุบอกลาสิกขา ๑ กถาปรารภภิกษุ ผู้บอกลาสิกขายังค้างอยู่ ๑ ภิกษุร่วมสามัคคี ๑ กถาค้านสามัคคี ๑ ค้านสามัคคี ที่ค้าง ๑ มีผู้ได้เห็น ได้ยิน และรังเกียจด้วยศีลวิบัติ ๑ ด้วยอาจารวิบัติ ๑ ด้วยทิฐิวิบัติ ๑ เรื่องภิกษุเห็นภิกษุเอง ภิกษุอื่นบอกภิกษุนั้น หรือภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก นั้น บอกความจริงแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นงดปาติโมกข์ เรื่องบริษัทเลิกประชุม เพราะอันตราย ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระ ราชา โจร ไฟ น้ำ มนุษย์ อมนุษย์ สัตว์ร้าย สัตว์เลื้อยคลาน ชีวิต พรหมจรรย์ จงทราบการงดปาติโมกข์ที่เป็นธรรม และไม่เป็นธรรมตามแนวทาง เรื่องโจทโดยกาลอันควร โจทด้วยเรื่องจริง โจทด้วยเรื่องเป็นประโยชน์ จักได้ฝักฝ่าย จักมีความทะเลาะเป็นต้น ผู้เป็นโจทก์มีกาย วาจา บริสุทธิ์ มีเมตตาจิต เป็นพหูสูต รู้ปาติโมกข์ทั้งสอง เรื่องภิกษุโจทโดยกาลอันควร ด้วยเรื่องจริง ด้วยคำสุภาพ ด้วยเรื่อง เป็นประโยชน์ ด้วยเมตตาจิต เรื่องภิกษุเดือดร้อน โดยอธรรม พึงบรรเทาเหมือนอย่างนั้น เรื่องภิกษุผู้โจทก์และถูกโจทเป็นธรรม พึงบรรเทาความเดือดร้อน เรื่อง พระสัมพุทธทรงประกาศข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุผู้โจทก์ไว้ ๕ อย่าง คือ ความการุญ ความหวังประโยชน์ ความเอ็นดู ความออกจากอาบัติ ความทำวินัยเป็นเบื้องหน้า เรื่องตั้งอยู่ในความสัตย์และความไม่ขุ่นเคือง นี้เป็นธรรมดาของ จำเลยแล ฯ
หัวข้อประจำขันธกะ จบ
-----------------------------------------------------

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๓.

ภิกขุนีขันธกะ
เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี
[๕๑๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ ในสักกะชนบท ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจ การที่สตรี ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจ การที่สตรี ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต ประกาศแล้ว มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง พลางถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ เสด็จกลับไป ฯ [๕๑๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ ตาม พระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จหลีกจาริกทางพระนครเวสาลี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ข่าวว่า พระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน เขต พระนครเวสาลีนั้น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๔.

ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ปลงพระเกสา ทรงพระภูษาย้อมฝาด พร้อมด้วยนางสากิยานีมากด้วยกัน เสด็จหลีกไปทางพระนครเวสาลี เสด็จถึงเมือง เวสาลี กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน โดยลำดับ เวลานั้นพระนางมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำ พระเนตร ได้ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำ พระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก ครั้นแล้วได้ถามว่า ดูกร โคตมี เพราะเหตุไร พระนางจึงมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้ว ด้วยธุลีมีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์ชุ่มด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสง อยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก พระนางตอบว่า พระอานนท์เจ้าข้า เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศ แล้ว ฯ พระอานนท์กล่าวว่า ดูกรโคตมี ถ้าเช่นนั้น พระนางจงรออยู่ที่นี่แหละ สักครู่หนึ่ง จนกว่าอาตมาจะทูลขอพระผู้มีพระภาคให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็น- *บรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ฯ [๕๑๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดี- *โคตมีนั้น มีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสีย พระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวาร ภายนอก ด้วยน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ขอประทานวโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต ประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๕.

พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจ การที่ สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย แม้ครั้งที่สอง ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทาน วโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่ พระตถาคตประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจ การที่สตรี ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทาน วโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่ พระตถาคตประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจ การที่สตรี ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรี ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ไฉน หนอ เราพึงทูลขอพระผู้มีพระภาคให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระ ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว โดยปริยายสักอย่างหนึ่ง จึงทูลถามว่า พระ- *พุทธเจ้าข้า สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต ประกาศแล้ว ควรหรือไม่เพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนา- *คามิผล หรืออรหัตตผล พ. ดูกรอานนท์ สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ ตถาคตประกาศแล้ว ควรเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนา- *คามิผล หรืออรหัตตผล อ. พระพุทธเจ้าข้า ถ้าสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรม วินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ควรเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลได้ พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๖.

ของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก ทรงประคับประคอง เลี้ยงดู ทรง ถวายขีรธารา เมื่อพระชนนีสวรรคต ได้ให้พระผู้มีพระภาคเสวยขีรธารา ขอประ ทานวโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ
ครุธรรม ๘ ประการ
[๕๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดี โคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละ จงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง คือ:- ๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณี ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟัง คำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๗.

๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรม แม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทาง ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ดูกรอานนท์ ก็ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละจงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง ฯ [๕๑๗] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เรียนครุธรรม ๘ ประการ ในสำนัก พระผู้มีพระภาค แล้วเข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมี ชี้แจงว่า พระนางโคตมี ถ้าพระนางยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละจักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง คือ:- ๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณี ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟัง คำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๘.

๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ฯ ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษ ภิกษุโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรม แม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ฯ ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิด ทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต พระนางโคตมี ถ้าพระนางยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละ จักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง พระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ดิฉันยอมรับ ครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาว หรือชายหนุ่ม ที่ชอบแต่งกาย อาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวนแล้ว พึงประคองรับด้วยมือทั้งสอง ตั้งไว้เหนือเศียรเกล้าฉะนั้น ฯ
พรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่นาน
[๕๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดี โคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค อุปสม- *บทแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัท- *ธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น ดูกรอานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็น

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕๙.

บรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบ เหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวก โจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงใน นาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือน เพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน ดูกรอานนท์ บุรุษกั้น- *ทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
ครุธรรม ๘ ประการของภิกษุณี จบ
-----------------------------------------------------
พุทธานุญาตให้อุปสมบทภิกษุณี
[๕๑๙] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย บังคม ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉัน จะปฏิบัติในนางสากิยานีพวกนี้อย่างไร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทีนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้อันพระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมี- *กถาแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี ฯ [๕๒๐] ครั้งนั้นภิกษุณีเหล่านั้นได้กล่าวกะพระมหาปชาบดีโคตมีว่า พระ แม่เจ้ายังไม่ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรง บัญญัติไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี ลำดับนั้น พระมหาปชา- *บดีโคตมีเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาทแล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๖๐.

กล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ภิกษุณีเหล่านั้นพูดกะดิฉันอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้ายังไม่ ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่าง นี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธ- *เจ้าข้า พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ ภิกษุณีพวกนี้พูด กะดิฉันอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้ายังไม่ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี พระ ผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ พระมหาปชาบดีโคตมี รับครุธรรม ๘ ประการ แล้วในกาลใด พระนางชื่อว่าอุปสมบทแล้วในกาลนั้นทีเดียว ฯ
ทูลขอพร
[๕๒๑] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิ- *วาท ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะทูลขอ พรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้า ขอพระ พระผู้มีพระภาค พึงทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามี- *จิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าว อย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะขอพรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอ ประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ข้อที่ตถาคตจะอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคามนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่ โอกาส เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ที่มีธรรมอันกล่าวไม่ดีแล้วเหล่านี้ ยังไม่กระทำ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๖๑.

การกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม ก็ไฉนเล่า ตถาคตจักอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
ทูลถามถึงสิกขาบท
[๕๒๒] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย บังคม ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบท ของภิกษุณีเหล่านั้นใด ที่ทั่วถึงภิกษุ พวกหม่อมฉันจะปฏิบัติในสิกขาบทเหล่านั้น อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโคตมี สิกขาบทของภิกษุณีเหล่านั้นใด ที่ ทั่วถึงภิกษุ พวกเธอจงศึกษาในสิกขาบทเหล่านั้น ดุจภิกษุทั้งหลายศึกษาอยู่ ฉะนั้น ม. พระพุทธเจ้าข้า ก็สิกขาบทของภิกษุณีเหล่านั้นใด ที่ไม่ทั่วถึงภิกษุ พวกหม่อมฉันจะปฏิบัติในสิกขาบทเหล่านั้น อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ภ. ดูกรโคตมี สิกขาบทของภิกษุณีเหล่านั้นใด ที่ไม่ทั่วถึงภิกษุ พวก เธอจงศึกษาในสิกขาบทเหล่านั้น ตามที่เราบัญญัติไว้แล้ว ฯ
ลักษณะวินิจฉัยพระธรรมวินัย
[๕๒๓] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อ ที่หม่อมฉันฟังธรรม ของพระผู้มีพระภาคแล้ว เป็นผู้เดียวจะพึงหลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๖๒.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโคตมี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อคลายความกำหนัด เป็นไปเพื่อความประกอบ ไม่ใช่เพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความสะสม ไม่ใช่เพื่อความไม่สะสม เป็นไป เพื่อความมักมาก ไม่ใช่เพื่อความมักน้อย เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่ใช่ เพื่อความสันโดษ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ใช่เพื่อความสงัด เป็นไป เพื่อความเกียจคร้าน ไม่ใช่เพื่อปรารภความเพียร เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ไม่ ใช่เพื่อความเลี้ยงง่าย ดูกรโคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า นั่นไม่ใช่ธรรม นั่นไม่ใช่วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์ ดูกรโคตมี อนึ่ง เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความ คลายกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เป็นไปเพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความ ประกอบ เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่ใช่เพื่อความสะสม เป็นไปเพื่อความ มักน้อย ไม่ใช่เพื่อความมักมาก เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่ใช่เพื่อความไม่ สันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่ใช่เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ เป็นไปเพื่อ ปรารภความเพียร ไม่ใช่เพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ไม่ใช่ เพื่อความเลี้ยงยาก ดูกรโคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า นั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย นั่นเป็นสัตถุศาสน์ ฯ
พุทธานุญาตให้แสดงปาติโมกข์
[๕๒๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่แสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุณี ... ภิกษุ เหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นพระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้แสดงปาติโมกข์ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า ใครหนอ ควรแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแสดงปาติ- *โมกข์แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ฯ [๕๒๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าไปถึงสำนักภิกษุณี แล้วแสดงปาติ- *โมกข์แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ประชาชน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ภิกษุณี

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๖๓.

เหล่านี้เป็นเมียของภิกษุพวกนี้ ภิกษุณีเหล่านี้เป็นชู้ของภิกษุพวกนี้ บัดนี้ ภิกษุ เหล่านี้จักอภิรมย์กับภิกษุณีเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้ง หลาย ภิกษุไม่พึงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุณี รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ เรา อนุญาตให้ภิกษุณีแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุณีด้วยกัน ภิกษุณีทั้งหลายไม่รู้ว่าจะพึง แสดงปาติโมกข์อย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุบอกภิกษุณีทั้งหลายว่า พวกเธอ พึงแสดงปาติโมกข์อย่างนี้ ฯ
พุทธานุญาตให้รับอาบัติ
[๕๒๖] สมัยนั้น ภิกษุณีทั้งหลายไม่กระทำคืนอาบัติ ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีจะไม่ ทำคืนอาบัติไม่ได้ รูปใดไม่ทำคืน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุณีทั้งหลายไม่รู้ว่า จะ พึงทำคืนอาบัติแม้อย่างนี้ ... ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุบอกภิกษุณีทั้งหลายว่า พวกเธอ พึงทำคืนอาบัติอย่างนี้ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า ใครหนอจะพึงรับอาบัติของภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุรับอาบัติของภิกษุณีทั้งหลาย ฯ
รับแสดงอาบัติ
[๕๒๗] สมัยนั้น ภิกษุณีทั้งหลายพบภิกษุที่ถนนก็ดี ที่ตรอกก็ดี ที่ทาง สามแพร่งก็ดี วางบาตรไว้ที่พื้น ห่มผ้าเฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประคองอัญชลี ทำ คืนอาบัติ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ภิกษุณีเหล่านี้เป็นเมียของ- *ภิกษุพวกนี้ ภิกษุณีเหล่านี้เป็นชู้ของภิกษุพวกนี้ ภิกษุณีเหล่านี้ล่วงเกินในราตรี บัดนี้มาขอขมา ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกร

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๖๔.

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงรับอาบัติของภิกษุณีทั้งหลาย รูปใดรับ ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้ภิกษุณีรับอาบัติของภิกษุณีด้วยกัน ภิกษุณีทั้งหลายไม่รู้ว่าจะพึงรับ อาบัติแม้อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุบอกภิกษุณีทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายพึงรับ อาบัติอย่างนี้ ฯ
พุทธานุญาตให้ทำกรรม
[๕๒๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ทำกรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุ เหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้ทำกรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า ใครหนอพึง ทำกรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทำกรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ฯ [๕๒๙] สมัยนั้น ภิกษุณีทั้งหลายที่ถูกทำกรรมแล้ว พบภิกษุที่ถนนก็ดี ที่ตรอกก็ดี ที่ทางสามแพร่งก็ดี วางบาตรไว้ที่พื้น ห่มผ้าเฉวียงบ่า นั่งกระหย่ง ประคองอัญชลี ให้ภิกษุอดโทษพลางตั้งใจว่า จะไม่ทำอย่างนั้นอีก ชาวบ้านเพ่ง โทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ภิกษุณีเหล่านี้เป็นเมียของภิกษุพวกนี้ ภิกษุณีเหล่านี้ เป็นชู้ของภิกษุพวกนี้ ภิกษุณีเหล่านี้ล่วงเกินในราตรี บัดนี้ มาขอขมา ภิกษุเหล่า นั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง ทำกรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ เราอนุญาตให้ภิกษุณีทำกรรมแก่ภิกษุณีด้วยกัน ภิกษุณีทั้งหลายไม่รู้ว่า จะ พึงทำกรรมแม้อย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ... ตรัส ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุบอกภิกษุณีทั้งหลายว่า พวกเธอพึงทำ กรรมอย่างนี้ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๕๘๙๐-๖๔๐๓ หน้าที่ ๒๔๓-๒๖๔. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=5890&Z=6403&pagebreak=1 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=7&item=499&items=31&pagebreak=1              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=7&item=499&items=31&pagebreak=1&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=7&item=499&items=31&pagebreak=1              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=7&item=499&items=31&pagebreak=1              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=499              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_7 https://84000.org/tipitaka/english/?index_7

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]