ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
๙. โปฏฐปาทสูตร
----------------
เรื่องปริพาชกโปฏฐปาทะ
[๒๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชก พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ประมาณ ๓,๐๐๐ อาศัยอยู่ในมัลลิการาม ซึ่ง (เมื่อแรก) มีศาลาหลังเดียวเรียงรายด้วยต้นมะพลับ อันเป็นสถานที่โต้ลัทธิ. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี. พระองค์ทรงดำริว่า เราจะเที่ยวบิณฑบาตไปในกรุง สาวัตถีก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราควรจะเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชกยังมัลลิการาม ซึ่ง (เมื่อแรก) มีศาลาหลังเดียวเรียงรายด้วยต้นมะพลับ อันเป็นสถานที่โต้ลัทธิ จึงเสด็จไป ณ ที่นั้น.
ติรัจฉานกถา
[๒๗๖] สมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ กำลังสนทนา ติรัจฉานกถาต่างเรื่องด้วยเสียงดังลั่นอึกทึก คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ พอโปฏฐปาทปริพาชก ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า ขอท่านทั้งหลายเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก พระสมณโคดมกำลังเสด็จมา พระองค์ท่านโปรดเสียงเบา และกล่าวสรรเสริญ คุณของเสียงเบา บางทีพระองค์ท่านทรงทราบว่าบริษัทมีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเสด็จเข้ามา ก็ได้ เมื่อโปฏฐปาทปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่ง. [๒๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชก ถึงที่อยู่แล้ว. เธอจึง กราบทูลเชื้อเชิญพระผู้มีพระภาคว่า ขอเชิญเสด็จพระเจ้าข้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึงจะมีโอกาสเสด็จมาที่นี้ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะเขาแต่งตั้งไว้แล้ว. พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งบนอาสนะซึ่งเขาแต่งตั้งไว้. ฝ่ายโปฏฐปาทปริพาชกถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ อันสมควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาครับสั่งถามเธอว่า ดูกรโปฏฐปาทะ บัดนี้อันพวกท่านนั่งสนทนา กันด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องอะไรเล่าที่พวกท่านสนทนาค้างอยู่?
ว่าด้วยอภิสัญญานิโรธ
[๒๗๘] เมื่อพระผู้มีพระภาครับสั่งอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่พวกข้าพระองค์สนทนากันบัดนี้นั้นงดไว้ก่อน เรื่องเช่นนี้พระผู้มีพระภาค จะทรงสดับต่อภายหลังก็ได้ ไม่ยากนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ พวกสมณพราหมณ์ ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน ประชุมกันในโกตุหลศาลา ได้สนทนากันในอภิสัญญานิโรธว่า ท่านทั้งหลาย อภิสัญญานิโรธเป็นไฉน? ในสมณพราหมณ์เหล่านั้นบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า สัญญาของบุรุษ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นเอง ดับไปเอง สมัยใดสัญญาเกิดขึ้น สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่ามีสัญญา สมัยใดสัญญาดับไป สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่าไม่มีสัญญา พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธไว้ ด้วยประการฉะนี้. อีกพวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ข้อนี้จักเป็นเช่นนั้นหามิได้ เพราะว่าสัญญาเป็น อัตตาของบุรุษ และอัตตานั้นเข้ามาก็มี ไปปราศก็มี สมัยใดอัตตาเข้ามา สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่า มีสัญญา สมัยใดอัตตาไปปราศ สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่าไม่มีสัญญา พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธ ด้วยประการฉะนี้. อีกพวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ข้อนี้จักเป็นเช่นนั้นก็หามิได้ เพราะว่า สมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก มีอยู่ ท่านเหล่านั้นบันดาลให้มีก็ได้ บันดาลให้พราก ก็ได้ ซึ่งสัญญาของบุรุษนี้ สมัยใดบันดาลให้มี สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่ามีสัญญา สมัยใดบันดาล ให้พราก สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่าไม่มีสัญญา พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธไว้ ด้วยประการฉะนี้. อีกพวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย ข้อนี้จักเป็นเช่นนั้นก็หามิได้ เพราะว่า เทวดาที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นบันดาลให้มีก็ได้ บันดาลให้พรากก็ได้ ซึ่งสัญญาของบุรุษนี้ สมัยใดบันดาลให้มี สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่ามีสัญญา สมัยใด บันดาลให้พราก สมัยนั้นสัตว์ก็ชื่อว่าไม่มีสัญญา พวกหนึ่งบัญญัติอภิสัญญานิโรธ ด้วยประการฉะนี้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีสติปรารภเฉพาะพระผู้มีพระภาคเกิดขึ้นว่า ท่านผู้ฉลาด ในธรรมเหล่านี้เป็นอย่างดีนั้น ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ต้องเป็นพระองค์พระสุคตแน่แท้ พระองค์ทรงฉลาด ทรงรู้ช่ำชองในอภิสัญญานิโรธ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อภิสัญญานิโรธ เป็นไฉน? [๒๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรโปฏฐปาทะ ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัญญาของบุรุษ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นเองดับไปเอง ความเห็น ของสมณพราหมณ์พวกนั้นผิดแต่ต้นทีเดียว. เพราะเหตุไร เพราะสัญญาของบุรุษมีเหตุ มีปัจจัย เกิดขึ้นก็มี ดับไปก็มี สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษาก็มี สัญญาอย่างหนึ่งย่อม ดับไปเพราะการศึกษาก็มี ก็ข้อที่จะพึงศึกษาเป็นไฉน ดูกรโปฏฐปาทะ พระตถาคตเสด็จอุบัติ ในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้วทรง รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทาง มาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อ บวชแล้วสำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษ เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ.
จุลศีล
ดูกรโปฏฐปาทะ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล. ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้น แตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคน ผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำ ที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วย ประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและ เครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจาการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้นและกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบจุลศีล.
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง จำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่อง ประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การ เล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่นอย่าง ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่น หมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่น เป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่น ธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้ เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มี สัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายที่มีสีหะและ เสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงิน แกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้า ๑๖ คน เครื่องลาด หลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมี ขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉัน โภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่อง โจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่อง ที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับ ไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง จำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่นว่าท่าน ไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าว ก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชอง มาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะ เสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูด หว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบมัชฌิมศีล
มหาศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธี ซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำ พลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็น หมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทาย ลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทาย ลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทาย ลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทาย ลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายใน จักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายใน จักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชา ภายนอกจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็ เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาว นักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผล เป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมอง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญ หาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์ พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยา ทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง. ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะ ศีลสังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุข อันปราศจากโทษในภายใน ดูกรโปฏฐปาทะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยศีล.
จบมหาศีล.
อินทรียสังวร
ดูกรโปฏฐปาทะ อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุ ฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะ เช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรโปฏฐปาทะ ด้วยประการดังกล่าว มานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
สติสัมปชัญญะ
ดูกรโปฏฐปาทะ อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ? ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดูกรโปฏฐปาทะ ด้วยประการ ดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ.
สันโดษ
ดูกรโปฏฐปาทะ อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ? ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรโปฏฐปาทะ นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทาง ทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรโปฏฐปาทะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ สันโดษ. ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะและสันโดษอันเป็นอริยะ เช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิต ให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้ายคือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านมีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ได้ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้.
อุปมานิวรณ์ ๕
ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึง สำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะพึงมี เหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบากเจ็บหนัก บริโภค อาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และมี กำลังกาย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรค นั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้น จากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเรา ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีการพ้นจาก เรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหน ตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความ ปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้น เป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติจะพึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้าน อันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุ ถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือน หนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เป็นทางไกลกันดาร และเธอพิจารณา เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือน การพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.
เหตุเกิดและเหตุดับสัญญา
เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์ แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ สัญญาเกี่ยวด้วยกามที่มีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและ สุขเกิดแต่วิเวกในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น เพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง. [๒๘๐] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่. สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกมีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญา อันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษา อย่างหนึ่ง. [๒๘๑] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข สัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิในก่อนของเธอ ย่อมดับไป สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขาย่อมมีในสมัยนั้น เธอชื่อว่า เป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขาในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง. [๒๘๒] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยสุขเกิดแต่อุเบกขามีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญา อันละเอียด ประกอบด้วยอทุกขมสุขย่อมมีในสมัยนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยอทุกขมสุข ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง. [๒๘๓] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจซึ่งสัญญาต่างๆ โดยประการทั้งปวงอยู่ รูปสัญญามีในก่อนของเธอย่อมดับสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วย อากาสานัญจายตนฌานย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วย อากาสานัญจายตนฌานในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง. [๒๘๔] ดูกรโปฏฐปาทะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการ ทั้งปวง ได้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่า วิญญาณไม่มีที่สุดดังนี้อยู่ สัจจสัญญา อันละเอียด ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานมีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษา อย่างหนึ่ง. [๒๘๕] ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ได้บรรลุ อากิญจัญญายตนฌานซึ่งมีอารมณ์ว่า ไม่มีอะไร สัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจาย- *ตนฌานที่มีในก่อนของเธอย่อมดับ สัจจสัญญาอันละเอียดประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน ย่อมมีในสมัยนั้น เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียด ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน ในสมัยนั้น สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะ การศึกษา ด้วยประการอย่างนี้ แม้นี้ก็เป็นข้อที่จะพึงศึกษาอย่างหนึ่ง.
การเข้าอภิสัญญานิโรธ
[๒๘๖] ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มิสกสัญญา เธอพ้นแล้วจากปฐมฌาน จากทุติยฌานนั้นๆ แล้ว ย่อมได้บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยลำดับ เมื่อเธอตั้งอยู่ใน อากิญจัญญายตนฌานแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เมื่อเราคิดอยู่ก็ยังชั่ว เมื่อเราไม่คิดอยู่ จึงจะดี แต่ถ้าเรายัง ขืนคิดขืนคำนึง สัญญาของเราเหล่านี้พึงดับ สัญญาอย่างหยาบเหล่าอื่น พึงเกิดขึ้น ถ้ากระไร เราไม่พึงคิด ไม่พึงคำนึง. ครั้นเธอปริวิตกอย่างนี้แล้ว เธอก็ไม่คิด ไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิด ไม่คำนึง สัญญาเหล่านั้นก็ดับไป สัญญาที่หยาบเหล่าอื่นก็ไม่เกิดขึ้น เธอก็ได้ บรรลุนิโรธ. ดูกรโปฏฐปาทะ การเข้าอภิสัญญานิโรธแห่งภิกษุผู้มีสัมปชัญญะโดยลำดับ ย่อมมี ด้วยประการอย่างนี้แล. พ. ดูกรโปฏฐปาทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเข้าอภิสัญญานิโรธแห่งภิกษุ ผู้มีสัมปชัญญะโดยลำดับเช่นนี้ ก่อนแต่นี้เธอเคยได้ยินบ้างหรือ? ป. หามิได้ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เพิ่งรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อย่างนี้แล. ดูกรโปฏฐปาทะ เพราะเหตุที่ภิกษุเป็นผู้มีสกสัญญา พ้นจากปฐมฌานเป็นต้นนั้นแล้ว ย่อมบรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยลำดับ เธอย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เมื่อเรายังคิดอยู่ก็ยังชั่ว เมื่อเราไม่คิดอยู่จึงจะดี ถ้าเรายังขืนคิด ขืนคำนึง สัญญาของเราเหล่านี้พึงดับไป และสัญญา ที่หยาบเหล่าอื่นพึงเกิดขึ้น ถ้ากระไร เราไม่พึงคิด ไม่พึงคำนึง ครั้นเธอปริวิตกอย่างนี้แล้ว เธอก็ไม่คิด ไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิด ไม่คำนึง สัญญาเหล่านั้นก็ดับไป และสัญญาที่หยาบเหล่าอื่น ก็ไม่เกิดขึ้น เธอก็ได้บรรลุนิโรธ การเข้าอภิสัญญานิโรธแห่งภิกษุผู้มีสัมปชัญญะโดยลำดับ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล. [๒๘๗] อย่างนี้แหละ โปฏฐปาทะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนะไว้อย่างเดียวหรือหลาย อย่าง. ดูกรโปฏฐปาทะ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานอย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระองค์จึงทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานไว้อย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี. ดูกรโปฏฐปาทะ พระโยคีย่อมบรรลุนิโรธด้วยประการใดๆ เราก็บัญญัติอากิญจัญญายตน- *ฌานด้วยประการนั้นๆ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานอย่างเดียวบ้าง หลายอย่างบ้าง ด้วย ประการอย่างนี้แล. [๒๘๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง หรือว่าญาณเกิดก่อน สัญญาเกิดทีหลัง หรือทั้งสัญญาและญาณเกิดไม่ก่อนไม่หลังกัน. ดูกรโปฏฐปาทะ สัญญาแลเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึงเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า ญาณเกิดขึ้นแก่เราเพราะสัญญานี้เป็นปัจจัย ดูกรโปฏฐปาทะ เธอพึงทราบ ความข้อนี้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง เพราะสัญญาเกิดขึ้น ญาณจึง เกิดขึ้น.
ว่าด้วยสัญญาและอัตตา
[๒๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง? ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านต้องการอัตตาเช่นไร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการอัตตาอย่างหยาบๆ ที่มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภคกวฬิงการาหาร ดูกรโปฏฐปาทะ อัตตาของท่านหยาบ มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภค กวฬิงการาหาร เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของท่านจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านพึงทราบความข้อนี้แม้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตา จักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาที่หยาบ มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภคกวฬิงการาหารนี้ ยกไว้ เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของบุรุษนี้เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านพึง ทราบความข้อนี้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. [๒๙๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการอัตตาที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง. ดูกรโปฏฐปาทะ อัตตาของท่านก็จักสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ ไม่บกพร่อง. เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจักมีสัญญาอย่างหนึ่ง มีอัตตาอย่างหนึ่ง ท่านพึงทราบความข้อนี้ โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะ น้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่องนี้ ยกไว้ เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของบุรุษนี้เกิดขึ้น อย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง. ท่านพึงทราบความข้อนี้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. [๒๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการอัตตาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา. ดูกรโปฏฐปาทะ ก็อัตตาของท่านจักไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา. เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญา ของท่านจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. ท่านพึงทราบความข้อนี้แม้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. ดูกรโปฏฐปาทะ อัตตาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วย สัญญานี้ ยกไว้ แต่ว่าสัญญาของบุรุษนี้ เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ดับไปอย่างหนึ่ง ท่านพึงทราบความ ข้อนี้แม้โดยบรรยายนี้ว่า สัญญาจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง. [๒๙๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อาจทราบความข้อนี้ได้หรือว่า สัญญาเป็น อัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านมีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจ ไปทางหนึ่ง มีความพยายามไปทางหนึ่ง มีลัทธิอาจารย์อย่างหนึ่ง ยากที่จะรู้ความข้อนั้นได้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์มีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจไปทางหนึ่ง มีความพยายามไปทางหนึ่ง มีลัทธิอาจารย์อย่างหนึ่ง ยากที่จะรู้ความ ข้อนั้นได้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง ก็คำว่าโลกเที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้นหรือ.
อัพยากตปัญหา
ดูกรโปฏฐปาทะ แม้คำว่าโลกเที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า เราไม่พยากรณ์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คำว่าโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้น หรือ. ดูกรโปฏฐปาทะ แม้คำว่าโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า เราไม่พยากรณ์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คำว่าโลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มี อยู่ ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้นหรือ. ดูกรโปฏฐปาทะ แม้ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่ นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่า. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไฉนพระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์ความข้อนั้น. ดูกรโปฏฐปาทะ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็น เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พยากรณ์. [๒๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงพยากรณ์อย่างไร. ดูกรโปฏฐปาทะ เราพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธ- *คามินีปฏิปทา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุไฉนพระองค์จึงทรงพยากรณ์ดังนั้น. ดูกรโปฏฐปาทะ เพราะข้อนั้นประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม เป็นเบื้องต้น แห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงพยากรณ์ดังนั้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรเถิด. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว. [๒๙๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ปริพาชกเหล่านั้นได้พากันรุมต่อว่า โปฏฐปาทปริพาชก ด้วยถ้อยคำตัดพ้อต่างๆ ว่า อย่างนี้ทีเดียว ท่านโปฏฐปาทะ พระสมณโคดม ตรัสคำใด ท่านพลอยอนุโมทนาคำนั้นทุกคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ฝ่ายพวกเรามิได้เข้าใจอรรถที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้ว โดยส่วนเดียว แต่สักน้อยหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่. [๒๙๕] เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้บอกปริพาชก เหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าเองก็มิได้เข้าใจธรรมที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดย ส่วนเดียว แต่สักอย่างหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ หรือสัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ แต่ว่าพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็น ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ก็เมื่อพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรม นิยาม ไฉนเล่าวิญญูชนเช่นเราจะไม่อนุโมทนาสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นสุภาษิต
จิตตหัตถิสารีบุตรและโปฏฐปทปริพาชก
[๒๙๖] ครั้นล่วงไปได้ ๒-๓ วัน จิตตหัตถิสารีบุตรกับโปฏฐปาทปริพาชก พากัน เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจิตตหัตถิสารีบุตรถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายโปฏฐปาทปริพาชกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในคราวนั้นเมื่อพระองค์เสด็จหลีกไปไม่นาน พวกปริพาชกได้พากันรุมต่อว่าข้าพระองค์ด้วยถ้อยคำ ตัดพ้อต่างๆ ว่า อย่างนี้ทีเดียวท่านโปฏฐปาทะ พระสมณโคดมตรัสคำใด ท่านพลอยอนุโมทนา คำนั้นทุกคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นต้องเป็นเช่นนี้ ฝ่ายพวกเรามิได้เข้าใจธรรมที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดยส่วนเดียว แต่สักน้อยหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพ อย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่ เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้บอกปริพาชกเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย แม้ข้าพเจ้าเองก็มิได้เข้าใจธรรมที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดยส่วนเดียว แต่สักน้อยหนึ่งว่า โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือชีพ อย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ แต่ว่าพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ก็เมื่อพระสมณโคดมบัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ไฉนเล่าวิญญูชน เช่นเราไม่พึงอนุโมทนาสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นสุภาษิต. [๒๙๗] พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสว่า ดูกรโปฏฐปาทะ ปริพาชกเหล่านี้ทั้งหมด ล้วนเป็นคนบอดหาจักษุมิได้ ท่านคนเดียวเท่านั้นเป็นคนมีจักษุในชุมนุมชนนั้น ดูกรโปฏฐปาทะ ธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วก็มี ที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดง แล้ว บัญญัติแล้วก็มี ก็ธรรมที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว เป็นไฉน ได้แก่โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดูกรโปฏฐปาทะ ธรรมที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วอย่างนี้ เหตุไรธรรมที่ไม่เป็นไปโดย ส่วนเดียว เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว เพราะธรรมเหล่านั้นไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบ ด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้น ธรรมที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้วดังนี้ (คือบัญญัติว่าเป็นอัพยากตธรรม ธรรมที่ไม่ควรพยากรณ์).
เอกังสิธรรม
[๒๙๘] ดูกรโปฏฐปาทะ ก็ธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว เป็นไฉน ได้แก่ นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรโปฏฐปาทะ ธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ดังนี้ เหตุไฉนธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้วอย่างนั้น เพราะว่าธรรมเหล่านี้ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วย ธรรม เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อ ความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้น ธรรมที่ เป็นไปโดยส่วนเดียว เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ดังนี้. [๒๙๙] ดูกรโปฏฐปาทะ มีสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้า แต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้นแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุข โดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่ จริงหรือ. ถ้าสมณพราหมณ์พวกนั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ปฏิญญาว่าจริง เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังรู้เห็นโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหา มิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านรู้ว่าอัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือ กึ่งวัน กึ่งคืน เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่าน ยังรู้ว่า นี้มรรคา นี้ข้อปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถาม อย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้เข้า ถึงโลกมีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กำลังพูดกันว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงแล้ว เพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว แม้ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้ จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดย ส่วนเดียวแล้วดังนี้บ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความ เป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์.
ว่าด้วยทิฏฐิของสมณพราหมณ์
[๓๐๐] ดูกรโปฏฐปาทะ เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าปรารถนา รักใคร่นางชนปทกัลยาณีในชนบทนี้ ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นางชนปท- *กัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักเขาแล้วหรือว่า เป็นนางกษัตริย์หรือนางพราหมณี นางแพศย์หรือนางศูทร เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายพึงกล่าว กะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นางชนปทกัลยาณีที่พ่อปรารถนารักใคร่นั้น พ่อรู้จักเขาแล้วหรือว่า มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูงต่ำ หรือสันทัด ดำคล้ำ หรือสีทอง อยู่ในบ้าน นิคม หรือ นครโน้น เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายก็จะพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ พ่อปรารถนารักใคร่หญิงที่พ่อไม่รู้จักไม่เคยเห็นหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาก็จะตอบว่า อย่างนั้น ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำไม่มี ปาฏิหาริย์. ดูกรโปฏฐปาทะ แม้สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์ พวกนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่จริงหรือ ถ้าสมณพราหมณ์พวกนั้นถูกเราถามอย่างนี้ แล้วปฏิญญาว่าจริง เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ท่านยังรู้เห็นโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อ เขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านรู้ว่าอัตตามีสุขโดย ส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือกึ่งวัน กึ่งคืน เมื่อถูกเขาถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังรู้ว่า นี้มรรคา นี้ข้อปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกมีสุข โดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออ ก็ท่านยังได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้เข้าถึงโลกมีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กำลังพูดกันว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติตรงแล้ว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว แม้ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติ อย่างนี้ จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวแล้ว ดังนี้บ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะ ตอบว่า หามิได้ ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิต ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความ เป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์. [๓๐๑] ดูกรโปฏฐปาทะ เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงทำพะองที่หนทางสี่แพร่งเพื่อขึ้น ปราสาท ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจะทำพะองเพื่อขึ้นปราสาท ท่าน รู้จักปราสาทนั้นแล้วหรือว่า อยู่ทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ทิศตะวันตกหรือทิศเหนือ ตัว ปราสาทสูงหรือต่ำหรือพอปานกลาง เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ ชน ทั้งหลายก็จะกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจะทำพะองขึ้นปราสาทท่านไม่รู้จักไม่เคยเห็น นั้นหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาก็จะตอบว่าเออ ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำ ไม่มีปาฏิหาริย์. ดูกรโปฏฐปาทะ แม้สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้า แต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราเข้าไปหา สมณพราหมณ์พวกนั้นแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่าท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว หาโรคมิได้ มีอยู่จริงหรือ ถ้าสมณพราหมณ์ พวกนั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้ว ปฏิญญาว่าจริง เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังรู้เห็นว่าโลกมี สุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านรู้ว่าอัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ชั่ววันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือกึ่งวัน กึ่งคืน เมื่อเขาถูกถาม อย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออ ก็ท่านยังรู้ว่า นี้มรรคา นี้ข้อปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เมื่อเขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ เราจะกล่าวกะเขาว่า เออก็ ท่านยังได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้เข้าถึงโลกมีสุขโดยส่วนเดียว ผู้กำลังพูด กันว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติตรงแล้ว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว แม้ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้ จึงเข้าถึงโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวแล้ว ดังนี้บ้างหรือ เมื่อ เขาถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่า หามิได้ ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความ เป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์.
การได้อัตตา ๓ ประการ
[๓๐๒] ดูกรโปฏฐปาทะ ความได้อัตตา ๓ เหล่านี้ คือ ได้อัตตาที่หยาบ ๑ ได้อัตตา ที่สำเร็จด้วยใจ ๑ ได้อัตตาที่หารูปมิได้ ๑ ความได้อัตตาที่หยาบเป็นไฉน คือ อัตตาที่มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ บริโภคกวฬิงการาหาร นี้ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จ ด้วยใจเป็นไฉน คือ อัตตาที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้เป็นไฉน คือ อัตตาอันหารูปมิได้ สำเร็จ ด้วยสัญญา นี้ความได้อัตตาที่หารูปมิได้. [๓๐๓] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาที่หยาบว่า พวกท่าน ปฏิบัติอย่างไรจึงจะละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ได้ แต่ความอยู่ไม่สบาย. ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้. [๓๐๔] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาแม้ที่สำเร็จด้วยใจว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจัก ทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แต่ความอยู่ไม่สบาย. ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้. [๓๐๕] ดูกรโปฏฐปาทะ เราจะแสดงธรรมเพื่อละความได้อัตตาแม้ที่หารูปมิได้ว่า พวกท่าน ปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความ บริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ บางคราวท่านจะพึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น ผู้มีความเพียรจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แต่ความอยู่ไม่สบาย. ดูกรโปฏฐปาทะ แต่เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกท่านจักละได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้นได้ ผู้มีความเพียรจะทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่ง ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ได้ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้. [๓๐๖] ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะพึงถามเราอย่างนี้ว่า ท่าน ความได้อัตตา ที่หยาบ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้น ว่าพวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึง พยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ ความได้อัตตาที่หยาบ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียนั้นว่า. พวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น. พวกท่านจักทำ ความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้า ถึงอยู่. [๓๐๗] ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราว่า ท่าน ความได้อัตตาที่สำเร็จ ด้วยใจ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไรจึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึง พยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น. พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และ ความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะพึงถามเราว่า ท่าน ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะ พึงพยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำ ความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้า ถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึง ความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์. [๓๐๘] ดูกรโปฏฐปาทะ เหมือนอย่างว่า บุรุษทำพะองเพื่อขึ้นปราสาทที่ภายใต้ปราสาท นั้น ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจะทำพะองเพื่อขึ้นปราสาท ท่านรู้จัก ปราสาทนั้นว่า อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศใต้ ทิศตะวันตกหรือทิศเหนือ สูงหรือต่ำหรือพอ ปานกลางละหรือ. ถ้าเขาตอบว่า นี้แหละ ปราสาทที่ข้าพเจ้ากำลังพะองเพื่อจะขึ้นอยู่ภายใต้ ปราสาทนั้นเอง. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำ ของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำที่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำของบุรุษนั้นย่อมถึงความเป็นคำที่มี ปาฏิหาริย์. ดูกรโปฏฐปาทะ ฉันนั้นเหมือนกัน หากว่าคนเหล่าอื่นพึงถามเราว่า ความได้อัตตา ที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองใน ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เมื่อเราถูกถามอย่างนี้แล้ว เราจะพึงพยากรณ์แก่เขาว่า ท่าน นี้แหละ ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ ซึ่งเราแสดงธรรม เพื่อละเสียนั้นว่า ท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น พวกท่านจักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองใน ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่. ดูกรโปฏฐปาทะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ. ถูกแล้ว พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฏิหาริย์. [๓๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว จิตตหัตถิสารีบุตรได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ สมัยใดมีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ความได้ อัตตาที่หารูปมิได้ เป็นโมฆะ มีแต่การได้อัตตาที่หยาบเป็นเที่ยงแท้ สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จ ด้วยใจ สมัยนั้น ความได้อัตตาที่หยาบ ความได้อัตตาที่หารูปมิได้ เป็นโมฆะ มีแต่การได้ อัตตาที่สำเร็จด้วยใจเป็นเที่ยงแท้ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้ สมัยนั้น ความได้อัตตา ที่หยาบ ความได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ เป็นโมฆะ มีแต่การได้อัตตาที่หารูปมิได้เป็นเที่ยงแท้. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ไม่นับว่า ได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตา ที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียว ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ อย่างเดียว. [๓๑๐] ดูกรจิตตะ ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านว่า เธอได้มีในอดีตกาล มิใช่ว่าเธอไม่ได้มี ก็หาไม่ เธอจักมีในอนาคตกาล มิใช่ว่าเธอจักไม่มีก็หาไม่ เธอมีอยู่ในบัดนี้ มิใช่ว่าเธอไม่มีอยู่ ก็หามิได้ เช่นนั้นหรือ เมื่อท่านถูกถามอย่างนี้ ท่านจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนั้น ข้าพระองค์พึงพยากรณ์ว่า ข้าพเจ้าได้มีแล้วในอดีตกาล มิใช่ว่าไม่มีก็หามิได้ ข้าพเจ้าจักมีในอนาคตกาล มิใช่ว่าจักไม่มี ก็หามิได้ ข้าพเจ้ามีอยู่ในบัดนี้ มิใช่ว่าไม่มีอยู่ก็หามิได้. [๓๑๑] ดูกรจิตตะ ถ้าเขาพึงถามท่านว่า เธอได้อัตตภาพที่เป็นอดีตแล้ว การที่เธอได้ อัตตภาพเช่นนั้นนั่นแหละ เป็นของเที่ยงแท้ การได้อัตตภาพเป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ เธอจักได้อัตตภาพเป็นอนาคต การได้อัตตภาพเช่นนั้น เท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ การได้ อัตตภาพเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ เธอได้อัตตภาพเป็นปัจจุบันในบัดนี้ การได้อัตตภาพ เช่นนั้นเท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นโมฆะ อย่างนั้น หรือ เมื่อท่านถูกถามอย่างนี้ จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนั้น ข้าพระองค์พึงพยากรณ์ว่า ข้าพเจ้าได้อัตตภาพเป็นอดีตแล้ว การได้อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ในสมัยนั้น การได้อัตตภาพเป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ ข้าพเจ้าจักได้อัตตภาพเป็นอนาคต การได้ อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้นเป็นของเที่ยงแท้ในสมัยนั้น การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็น โมฆะ ข้าพเจ้าได้อัตตภาพเป็นปัจจุบันบัดนี้ การได้อัตตภาพเช่นนั้นเท่านั้นเป็นของเที่ยงแท้ใน สมัยนี้ การได้อัตตภาพเป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นโมฆะ. [๓๑๒] ดูกรจิตตะ อย่างนั้นแหละ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ไม่นับว่า ได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว. ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียว. ดูกรจิตตะ สมัยใด มีการได้อัตตาที่หารูปมิได้ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้อย่างเดียว. ดูกรจิตตะ เหมือนอย่างว่า นมสดจากแม่โค นมส้มจากนมสด เนยข้นจากนมส้ม เนยใสจากเนยข้น หัวเนยใสจากเนยใส สมัยใดเป็นนมสด สมัยนั้น ไม่นับว่านมส้ม เนยข้น เนยใส หัวเนยใส นับว่านมสดอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็นนมส้ม สมัยนั้น ไม่นับว่านมสด เนยข้น เนยใส หัวเนยใส นับว่าเป็นนมส้มอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็นเนยข้น สมัยนั้น ไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยใส หัวเนยใส นับว่าเป็นเนยข้นอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็น เนยใส สมัยนั้นไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยข้น หัวเนยใส นับว่าเป็นเนยใสอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดเป็นหัวเนยใส สมัยนั้น ไม่นับว่านมสด นมส้ม เนยข้น เนยใส นับว่าเป็นหัวเนยใส อย่างเดียวเท่านั้น ฉันใด ดูกรจิตตะ ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใดมีการได้อัตตาที่หยาบ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ ไม่นับว่าได้อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่หยาบอย่างเดียว เท่านั้น สมัยใดมีการได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้ อัตตาที่หารูปมิได้ นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจอย่างเดียวเท่านั้น สมัยใดมีการได้อัตตาที่หารูป มิได้ สมัยนั้น ไม่นับว่าได้อัตตาที่หยาบ ไม่นับว่าได้อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ นับว่าได้อัตตาที่หารูป มิได้อย่างเดียวเท่านั้น. ดูกรจิตตะ เหล่านี้แลเป็นชื่อตามโลก เป็นภาษาของโลก เป็นโวหารของโลก เป็นบัญญัติ ของโลก ที่ตถาคตกล่าวอยู่ มิได้ยึดถือ. [๓๑๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โปฏฐปาทปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีป ในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรม โดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้ง พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จิตตหัตถิสารีบุตรบรรลุพระอรหัตตผล
ฝ่ายจิตตหัตถิสารีบุตรก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง นัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค เมื่อจิตตหัตถิสารีบุตรได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ท่านอุปสมบทแล้วไม่นานหลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ท่านจิตตหัตถิสารีบุตรได้เป็นพระ อรหันต์รูปหนึ่ง ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล.
จบโปฏฐปาทสูตร ที่ ๙.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๖๐๒๙-๖๗๗๖ หน้าที่ ๒๕๒-๒๘๒. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=9&A=6029&Z=6776&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=275&items=39              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=9&item=275&items=39&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=9&item=275&items=39              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=9&item=275&items=39              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=275              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_9 https://84000.org/tipitaka/english/?index_9

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]