บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]
๒. ภูตคามวรรค ๔. ปฐมเสนาสนสิกขาบท นิทานวัตถุ
๒. ภูตคามวรรค ๔. ปฐมเสนาสนสิกขาบท ว่าด้วยเสนาสนะข้อที่ ๑ เรื่องภิกษุหลายรูป [๑๐๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในฤดูหนาว ภิกษุทั้งหลาย จัดตั้งเสนาสนะในที่กลางแจ้งผึ่งกายกัน ครั้นเขาบอกเวลาภัตตาหาร เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น ไม่บอกมอบหมายพากันจากไปแล้ว เสนาสนะจึง ถูกน้ำค้างและฝนตกรด บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุ ทั้งหลายจัดตั้งเสนาสนะในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไปจึงไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะ นั้น ไม่บอกมอบหมายพากันจากไปเล่า เสนาสนะถูกน้ำค้างและฝนตกรด ครั้น ภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายจัดตั้งเสนาสนะใน ที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไปไม่เก็บ ไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น ไม่บอกมอบหมายพากัน จากไป เสนาสนะถูกน้ำค้างและฝนตกรด จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน โมฆบุรุษเหล่านั้น จัดตั้งเสนาสนะไว้ในที่กลางแจ้งแล้ว เมื่อจะจากไป จึงไม่เก็บเอง ไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น ไม่บอกมอบหมาย พากันจากไป จนเสนาสนะถูกน้ำค้าง และฝนตกรดเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้ เลื่อมใส ฯลฯ แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๙๑}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]
๒. ภูตคามวรรค ๔. ปฐมเสนาสนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์
พระบัญญัติ [๑๐๙] ก็ ภิกษุใดวางไว้ หรือใช้ให้วางไว้ซึ่งเสนาสนะ คือ เตียง ตั่ง ฟูก หรือเก้าอี้ของสงฆ์ในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บ เสนาสนะนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้เรื่องภิกษุหลายรูป จบ ทรงอนุญาตให้เก็บเสนาสนะ [๑๑๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่กลางแจ้ง รีบเก็บเสนาสนะก่อนเวลา อันสมควร พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นรีบเก็บเสนาสนะก่อน เวลาอันสมควร ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ ทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บเสนาสนะไว้ในมณฑป โคนไม้ หรือใน ที่ซึ่งกาหรือเหยี่ยวจะไม่ถ่ายมูลรดได้ตลอด ๘ เดือนที่ไม่ใช่ฤดูฝนสิกขาบทวิภังค์ [๑๑๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า ของสงฆ์ ได้แก่ ของที่มีผู้ถวาย บริจาคแก่สงฆ์ ที่ชื่อว่า เตียง ได้แก่ เตียง ๔ ชนิด คือ (๑) เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าในขา (๒) เตียงมีแคร่ติดกับขา (๓) เตียงมีขาดังก้ามปู (๔) เตียงมีขาจดแม่แคร่ ที่ชื่อว่า ตั่ง ได้แก่ตั่ง ๔ ชนิด คือ (๑) ตั่งมีแม่แคร่สอดเข้าในขา (๒) ตั่งมี แม่แคร่ติดกับขา (๓) ตั่งมีขาดังก้ามปู (๔) ตั่งมีขาจดแม่แคร่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๙๒}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]
๒. ภูตคามวรรค ๔. ปฐมเสนาสนสิกขาบท บทภาชนีย์
ที่ชื่อว่า ฟูก ได้แก่ ฟูก ๕ ชนิด คือ (๑) ฟูกขนสัตว์ (๒) ฟูกเศษผ้า (๓) ฟูกเปลือกไม้ (๔) ฟูกหญ้า (๕) ฟูกใบไม้ ที่ชื่อว่า เก้าอี้ ได้แก่ เก้าอี้ที่เขาถักพื้นสำหรับนั่งภายใน ทำด้วยเปลือกไม้ก็มี ทำด้วยหญ้าแฝกก็มี ทำด้วยหญ้ามุงกระต่ายก็มี ทำด้วยหญ้าปล้องก็มี คำว่า วางไว้ คือ วางไว้ด้วยตนเอง คำว่า ใช้ให้วางไว้ คือ ใช้ให้ผู้อื่นให้วางไว้ ภิกษุใช้อนุปสัมบันให้วางไว้ เป็นภาระของภิกษุนั้น ใช้อุปสัมบันให้วางไว้ เป็น ภาระของผู้วางไว้ คำว่า เมื่อจะจากไปไม่เก็บ...เสนาสนะนั้น คือ ไม่เก็บด้วยตนเอง คำว่า ไม่ใช้ให้เก็บ คือ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ คำว่า หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ความว่า ภิกษุไม่บอกมอบหมาย ภิกษุ สามเณรหรือคนวัด เดินล่วงเลฑฑุบาต๑- ของบุรุษมีกำลังปานกลางไป ต้อง อาบัติปาจิตตีย์บทภาชนีย์ ติกปาจิตตีย์ [๑๑๒] เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ วางไว้หรือใช้ให้วางไว้ ในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น หรือไม่บอก มอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุไม่แน่ใจ วางไว้ หรือใช้ให้วางไว้ในที่กลางแจ้ง เมื่อ จะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ @เชิงอรรถ : @๑ คำว่า เลฑฑุบาต ได้แก่ ระยะโยนหรือขว้างก้อนดินไปตก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๙๓}
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]
๒. ภูตคามวรรค ๔. ปฐมเสนาสนสิกขาบท อนาปัตติวาร
เสนาสนะของสงฆ์ ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล วางไว้ หรือใช้ให้วางไว้ ในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ให้เก็บเสนาสนะนั้น หรือไม่บอก มอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกกฏ ภิกษุวางไว้ หรือใช้ให้วางผ้าปูรักษาผิวพื้น ผ้าปูเตียง ผ้าปูพื้น เสื่ออ่อน ท่อนหนัง ที่เช็ดเท้า ตั่งกระดานไว้ในที่กลางแจ้ง เมื่อจะจากไป ไม่เก็บ หรือไม่ใช้ ให้เก็บผ้าปูรักษาผิวเป็นต้นนั้น หรือไม่บอกมอบหมาย ไปเสีย ต้องอาบัติทุกกฏ เสนาสนะส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของสงฆ์ ต้องอาบัติทุกกฏ เสนาสนะส่วนบุคคล ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ เสนาสนะส่วนบุคคล ภิกษุสำคัญว่าเป็นของส่วนบุคคล ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะเป็นของส่วนบุคคลของผู้อื่น เสนาสนะเป็นของส่วนบุคคลของตน ไม่ต้องอาบัติอนาปัตติวาร ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๑๑๓] ๑. ภิกษุเก็บไว้แล้วจึงไป ๒. ภิกษุใช้ให้เก็บไว้แล้วจึงไป ๓. ภิกษุบอกมอบหมายไว้แล้วจึงไป ๔. ภิกษุนำออกผึ่งแดดไว้ จากไปด้วยคิดว่าจะกลับมาเก็บ ๕. ภิกษุผู้มีเหตุบางอย่างขัดขวาง ๖. ภิกษุผู้มีเหตุขัดข้อง ๗. ภิกษุวิกลจริต ๘. ภิกษุต้นบัญญัติปฐมเสนาสนสิกขาบทที่ ๔ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๒๙๔}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๙๑-๒๙๔. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=50 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=8799&Z=8881 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=374 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=374&items=5 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=6983 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=374&items=5 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=6983 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc14/en/brahmali
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]