ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท นิทานวัตถุ

๔. โภชนวรรค
หมวดว่าด้วยโภชนะ
๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท๑-
ว่าด้วยการฉันภัตตาหารในที่พักแรม
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๒๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในที่ไม่ไกลกรุงสาวัตถี มีสมาคม หนึ่งจัดตั้งภัตตาหารไว้ในที่พักแรม ในเวลาเช้า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เมื่อไม่ได้ภัตตาหารจึงได้ไปยังที่ พักแรม พวกชาวบ้านถวายภัตตาหารด้วยความดีใจว่า นานๆ พระคุณเจ้าจึงมา ครั้งนั้น แม้ในวันที่ ๒ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ฯลฯ แม้ในวันที่ ๓ พวกภิกษุ ฉัพพัคคีย์ครองอันตรวาสก แล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เมื่อ ไม่ได้ภัตตาหารจึงได้ไปยังที่พักแรม แล้วฉันภัตตาหาร ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พวกเราจะกลับไปอารามทำไมกัน พรุ่งนี้ก็ต้องมาที่นี่อีก” จึง อยู่ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเป็นประจำ พวกเดียรถีย์จึงพากันจากไป พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย ศากยบุตรจึงอยู่ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเป็นประจำเล่า ภัตตาหารในที่พักแรมเขา ไม่ได้จัดไว้เพื่อท่านเหล่านี้เท่านั้น แต่ภัตตาหารในที่พักแรมเขาจัดไว้เพื่อสาธารณชน ต่างหาก” @เชิงอรรถ : @ คำว่า “อาวสถ” ท่านอธิบายไว้ว่า “อาคนฺตฺวา วสนฺติ เอตฺถ อาคนฺตุกาติ อาวสโถ คือสถานที่สำหรับ @คนจรมาพักอาศัย (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๘๕/๓๖๙), อาวสโถ นาม กวาฏพทฺโธ วุจฺจติ ท่านหมายเอาที่พัก @อาศัยติดบานประตู (วิ.ภิกฺขุนี. ๓/๑๐๑๐/๑๔๙), อาวสถนฺติ กวาฏพทฺธวิหารํ ที่พักอาศัย คือที่พักอาศัย @ติดบานประตู (กงฺขา.อ. ๓๘๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท พระบัญญัติ

พวกภิกษุได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงอยู่ฉัน ภัตตาหารในที่พักแรมเป็นประจำเล่า” ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธออยู่ฉันภัตตาหาร ในที่พักแรมเป็นประจำ จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธ เจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวก เธอจึงอยู่ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเป็นประจำเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำ อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ภิกษุฉันภัตตาหารในที่พักแรม๑- ได้มื้อเดียว ถ้าฉันเกินกว่านั้น ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องพระสารีบุตร
[๒๐๔] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรเดินทางไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล เข้าไปยังที่พักแรมแห่งหนึ่ง พวกชาวบ้านถวายภัตตาหารด้วยความดีใจว่า นานๆ พระคุณเจ้าจึงมา @เชิงอรรถ : @ อาวสถปิณฺฑ ภัตตาหารในที่พักแรมคืออาหารที่ทายกผู้ต้องการบุญจัดไว้ในที่พักแรมซึ่งสร้างไว้มีรั้วล้อมรอบ @มีห้องหลายห้องมีหน้ามุข ตั้งเตียงตั่งไว้สำหรับคนเดินทาง คนไข้ หญิงมีครรภ์ และบรรพชิต (วิ.อ. ๒/๒๐๓/๓๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ครั้นพระสารีบุตรฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เกิดเป็นไข้อย่างหนักจนไม่สามารถ จะออกไปจากที่พักแรมนั้นได้ ครั้นในวันที่ ๒ พวกชาวบ้านได้กราบเรียนท่าน พระสารีบุตรดังนี้ว่า “นิมนต์ฉันเถิด พระคุณเจ้า” ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการ อยู่ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเป็นประจำ” จึงไม่รับ ยอมอดอาหาร ครั้นท่านพระ สารีบุตรเดินทางถึงกรุงสาวัตถี ได้เล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ภิกษุเหล่านั้น ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตภิกษุเป็นไข้ให้ฉันอาหารในที่พักแรมได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้พักอยู่ฉันภัตตาหาร ในที่พักแรมเป็นประจำได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๐๕] ภิกษุไม่เป็นไข้ พึงอยู่ฉันภัตตาหารในที่พักแรมได้มื้อเดียว๑- ถ้า ฉันเกินกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระสารีบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๐๖] ที่ชื่อว่า ภิกษุไม่เป็นไข้ คือ ภิกษุที่สามารถจะหลีกออกไปจากที่ พักแรมนั้นได้ @เชิงอรรถ : @ คำว่า “มื้อเดียว” ท่านอธิบายไว้ว่า “เอโกติ เอกทิวสิโก มื้อเดียว คือเพียงวันเดียว (กงฺขา.อ. ๒๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๗}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า เป็นไข้ คือ ภิกษุที่ไม่สามารถจะหลีกออกไปจากที่พักแรมนั้นได้ ที่ชื่อว่า ภัตตาหารในที่พักแรม ได้แก่ โภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เขาจัดไว้ที่ศาลา ที่มณฑป ที่โคนไม้ หรือที่กลางแจ้ง อย่างเพียงพอ มิได้เจาะจง ผู้ใด ภิกษุไม่เป็นไข้พึงฉันได้มื้อเดียว หากรับประเคนเกินกว่านั้นด้วยคิดว่า จะฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๐๗] ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเกินกว่า นั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเกินกว่านั้น ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเกินกว่านั้น ต้อง อาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเกินกว่านั้น ต้อง อาบัติทุกกฏ เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเกินกว่านั้น ต้องอาบัติทุกกฏ เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ฉันภัตตาหารในที่พักแรมเกินกว่านั้น ไม่ต้องอาบัติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๘}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๑. อาวสถปิณฑสิกขาบท อนาปัตติวาร

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๒๐๘] ๑. ภิกษุเป็นไข้ ๒. ภิกษุไม่เป็นไข้ฉันมื้อเดียว ๓. ภิกษุเดินทางไปหรือมาแล้วแวะฉัน ๔. ภิกษุที่เจ้าของทานนิมนต์ให้ฉัน ๕. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาจัดไว้จำเพาะ ๖. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาไม่ได้จัดไว้อย่างเพียงพอ ๗. ภิกษุฉันภัตตาหารทุกชนิดยกเว้นโภชนะ ๕ ๘. ภิกษุวิกลจริต ๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
อาวสถปิณฑสิกขาบทที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๖๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๖๕-๓๖๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=67              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10195&Z=10268                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=470              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=470&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8067              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=470&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8067                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc31/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :