ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๙. ปณีตโภชนสิกขาบท นิทานวัตถุ

๔. โภชนวรรค
๙. ปณีตโภชนสิกขาบท
ว่าด้วยการออกปากขอโภชนะอันประณีต
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๒๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ออกปากขอ โภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน พวกชาวบ้านพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา ว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้ว ฉันเล่า ภัตตาหารที่ดีใครจะไม่พอใจ ภัตตาหารอร่อยใครจะไม่ชอบเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้ มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึง ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวก ภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอออกปากขอ โภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันจริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันเล่า โมฆบุรุษ ทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่ เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบท นี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๑๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๙. ปณีตโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๕๘] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการไข้ ได้กล่าวกับพวกภิกษุผู้เป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้ หรือ” พวกภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “เมื่อก่อนพวกกระผมออกปากขอโภชนะอันประณีต มาเพื่อตนแล้วฉัน ดังนั้นจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้” จึงไม่ออกปากขอ ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก” ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอโภชนะอันประณีตได้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอโภชนะ อันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๕๙] อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อ ตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๑๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๙. ปณีตโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

สิกขาบทวิภังค์
[๒๖๐] คำว่า โภชนะอันประณีต ความว่า ที่ชื่อว่า เนยใส ได้แก่ เนยใสที่ ทำจากน้ำนมโค เนยใสที่ทำจากน้ำนมแพะ เนยใสที่ทำจากน้ำนมกระบือ หรือเนยใส ที่ทำจากน้ำนมสัตว์ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ ที่ชื่อว่า เนยข้น ได้แก่ เนยข้นที่ทำจากน้ำนมสัตว์เหล่านั้น ที่ชื่อว่า น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงา น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดพันธุ์ ผักกาด น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดมะซาง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดละหุ่ง น้ำมันที่ทำจาก เปลวสัตว์ ที่ชื่อว่า น้ำผึ้ง ได่แก่ น้ำหวานของแมลงผึ้ง ที่ชื่อว่า น้ำอ้อย ได้แก่ น้ำหวานที่เกิดจากอ้อย ที่ชื่อว่า ปลา ท่านกล่าวถึงสัตว์ที่เที่ยวไปในน้ำ ที่ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่ เนื้อของสัตว์บกที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ ที่ชื่อว่า นมสด ได้แก่ น้ำนมโค น้ำนมแพะ น้ำนมกระบือหรือน้ำนมของสัตว์ ที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะ ที่ชื่อว่า นมส้ม ได้แก่ นมส้มที่ทำจากน้ำนมของสัตว์เหล่านั้น คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า โภชนะอันประณีตเช่นนี้ ได้แก่ โภชนะอันประณีตดังกล่าว ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต ก็เป็นอยู่ผาสุก ที่ชื่อว่า ผู้เป็นไข้ คือ ผู้ที่เว้นโภชนะอันประณีต จะไม่มีความผาสุก ภิกษุไม่เป็นไข้ออกปากขอมาเพื่อตน ต้องอาบัติทุกกฏทุกๆ ครั้งที่พยายาม ภิกษุรับไว้ด้วยตั้งใจว่า จะฉันของที่ได้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๑๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๙. ปณีตโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๖๑] ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีต มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน ต้อง อาบัติปาจิตตีย์ ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้ว ฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องอาบัติทุกกฏ เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๒๖๒] ๑. ภิกษุเป็นไข้ ๒. ภิกษุเป็นไข้ออกปากขอมาแล้วหายเป็นไข้จึงฉัน ๓. ภิกษุฉันโภชนะที่เหลือของภิกษุเป็นไข้ ๔. ภิกษุออกปากขอจากญาติ ๕. ภิกษุออกปากขอจากคนปวารณา ๖. ภิกษุออกปากขอเพื่อภิกษุอื่น ๗. ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๘. ภิกษุวิกลจริต ๙. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปณีตโภชนสิกขาบทที่ ๙ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๑๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๑๐-๔๑๓. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=75              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10989&Z=11072                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=516              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=516&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8934              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=516&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8934                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc39/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :