ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๖. โชติกสิกขาบท นิทานวัตถุ

๖. สุราปานวรรค
๖. โชติกสิกขาบท
ว่าด้วยการก่อไฟผิง
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๓๕๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน เขตเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ครั้งนั้นในฤดูหนาว พวกภิกษุก่อไฟที่ขอนไม้ใหญ่ ขอนหนึ่งซึ่งมีโพรงแล้วผิง งูเห่าในโพรงไม้นั้น พอถูกไฟร้อน ได้เลื้อยออกมาไล่ พวกภิกษุ ภิกษุทั้งหลายวิ่งหนีไปในที่นั้นๆ บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ ทั้งหลายจึงก่อไฟผิงเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าภิกษุทั้งหลายก่อไฟผิง จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงก่อไฟผิงเล่า ภิกษุทั้งหลาย การ กระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้ เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ก็ ภิกษุใดต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุหลายรูป จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๗๙}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๖. โชติกสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ผิงไฟได้
[๓๕๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นไข้ พวกภิกษุผู้มีหน้าที่สอบถามอาการไข้ ได้กล่าวกับพวกภิกษุเป็นไข้ดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลายสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้ หรือ” พวกภิกษุตอบว่า “เมื่อก่อนพวกกระผมก่อไฟผิง ดังนั้นจึงมีความผาสุก แต่เดี๋ยวนี้พวกกระผมมีความยำเกรงอยู่ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงห้ามไว้’ จึงไม่ผิงไฟ ดังนั้นจึงไม่มีความผาสุก” ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระ ภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้ก่อไฟ หรือใช้ให้ก่อไฟผิงได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
ทรงอนุญาตให้ตามประทีป
[๓๕๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงการตามประทีปบ้าง การก่อไฟ บ้าง การติดไฟในเรือนไฟบ้าง จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อไฟหรือ ใช้ให้ก่อไฟเพราะมีเหตุผลที่สมควร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๓๕๓] อนึ่ง ภิกษุใดไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้อง อาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลที่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๐}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๖. โชติกสิกขาบท บทภาชนีย์

สิกขาบทวิภังค์
[๓๕๔] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า ไม่เป็นไข้ คือ ภิกษุผู้เว้นจากไฟก็มีความผาสุก ที่ชื่อว่า เป็นไข้ คือ ภิกษุผู้เว้นจากไฟจะไม่มีความผาสุก คำว่า ต้องการผิงไฟ คือ ต้องการให้ร่างกายอบอุ่น ที่ชื่อว่า ไฟ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงอัคคี คำว่า ก่อ คือ ภิกษุก่อเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า ใช้ให้ก่อ คือ ภิกษุสั่งผู้อื่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุผู้รับคำสั่งครั้งเดียวแต่ก่อไฟหลายครั้ง ภิกษุผู้สั่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น คือ ยกไว้แต่มีเหตุผลที่สมควร
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๓๕๕] ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น ไม่เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น ไม่เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ต้องการผิงไฟ ก่อหรือใช้ให้ก่อไฟ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่มีเหตุผลเช่นนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๖. สุราปานวรรค ๖. โชติกสิกขาบท อนาปัตติวาร

ติกทุกกฏ
ภิกษุเก็บดุ้นไฟที่ตกเข้าที่เดิม ต้องอาบัติทุกกฏ เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าไม่เป็นไข้ ต้องอาบัติทุกกฏ เป็นไข้ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ เป็นไข้ ภิกษุสำคัญว่าเป็นไข้ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๓๕๖] ๑. ภิกษุเป็นไข้ ๒. ภิกษุผิงไฟที่ผู้อื่นก่อไว้ ๓. ภิกษุผิงไฟถ่านที่ไม่มีเปลว ๔. ภิกษุตามประทีป ก่อไฟหรือติดไฟในเรือนไฟเพราะมีเหตุผลเช่นนั้น ๕. ภิกษุผู้ก่อไฟในคราวมีเหตุขัดข้อง๑- ๖. ภิกษุวิกลจริต ๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
โชติกสิกขาบทที่ ๖ จบ
@เชิงอรรถ : @ “เหตุขัดข้อง” ในที่นี้หมายถึงจะมีสัตว์ร้าย เนื้อร้าย และอมนุษย์มาทำร้าย (วิ.อ. ๒/๓๕๖/๔๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๘๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๗๙-๔๘๒. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=2&siri=92              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=12198&Z=12274                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=604              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=604&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9582              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=604&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9582                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc56/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc56/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :