ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

๑๒. อุรุเวลปาฏิหาริยกถา
ว่าด้วยปาฏิหาริย์ที่ตำบลอุรุเวลา
เรื่องชฎิล ๓ พี่น้อง
[๓๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ลุถึงตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น ชฎิล ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ อาศัยอยู่ที่ ตำบลอุรุเวลา ในชฎิล ๓ คนนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน ชฎิลนทีกัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน ของชฎิล ๓๐๐ คน ชฎิลคยากัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน ของชฎิล ๒๐๐ คน ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปยังอาศรมของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ครั้นถึงแล้ว ได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะดังนี้ว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่หนักใจ เราจะขอพัก ในโรงไฟคืนหนึ่ง” ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่านมหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย หากแต่ว่า ในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย มันอย่าได้ทำร้ายท่าน” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แม้ครั้งที่ ๒ ว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่หนักใจ คืนนี้ เราจะขอพักในโรงไฟ” ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ท่านมหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย หากแต่ว่า ในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย มันอย่าได้ ทำร้ายท่าน” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แม้ครั้งที่ ๓ ว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่หนักใจ คืนนี้ เราจะขอพักในโรงไฟ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย หากแต่ว่าในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย มันอย่าได้ทำร้ายท่าน” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า “พญานาคไม่ทำร้ายเรา ท่านกัสสปะท่าน โปรดอนุญาตโรงไฟเถิด” ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ นิมนต์ท่านอยู่ตามสบาย เถิด” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปสู่โรงไฟ ทรงปูเครื่องลาดหญ้า ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
ปาฏิหาริย์ที่ ๑
เรื่องโรงบูชาไฟ
[๓๘] ครั้งนั้น พญานาคนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไป ก็โกรธขึ้ง ไม่พอใจ บังหวนควัน ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ถ้ากระไร เราพึงครอบงำเดช ของพญานาคนี้ด้วยเดชของเรา ไม่ให้ระคายผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และ เยื่อกระดูก” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำแดงอิทธาภิสังขารเช่นนั้นบังหวนควัน พญานาคทนการลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟใส่ทันที ฝ่ายพระผู้มีพระภาคก็ทรงเข้าเตโชกสิณ แล้วโพลงไฟสู้บ้าง เมื่อทั้งสองฝ่ายบันดาลให้เกิดไฟขึ้น เรือนไฟได้ลุกโพลงโชติช่วงดุจทะเลเพลิง ลำดับนั้น ชฎิลเหล่านั้นพากันล้อมเรือนไฟกล่าวกันว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มหาสมณะรูปงามคงจะถูกพญานาคทำร้ายเป็นแน่” ครั้นราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคก็ทรงครอบงำเดชของพญานาคนั้นด้วย เดชของพระองค์ ไม่ให้ระคายผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และเยื่อกระดูกแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ทรงจับพญานาคขดลงในบาตรแสดงแก่ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ นี่พญานาค ของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราได้แล้ว” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “มหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ถึงกับครอบงำเดชของพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายได้ด้วยเดช ของพระองค์ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”
คาถาสรุป
[๓๙] ณ ที่แม่น้ำเนรัญชรา พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่หนักใจ คืนนี้เราจะขอพักในโรงไฟ” ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย ข้าพเจ้าหวังความผาสุก จึงห้ามท่านว่า ที่โรงไฟนี้ มีพญานาค เป็นสัตว์ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย มันอย่าได้ทำร้ายท่าน” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มันคงไม่ทำร้ายเรา กัสสปะ ท่านโปรดอนุญาตโรงไฟเถิด” พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้อนุญาตให้แล้ว ไม่ทรงครั่นคร้าม ทรงปราศจากความกลัว เสด็จเข้าไป พญานาคเห็นพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณเสด็จเข้าไป ก็ไม่พอใจ จึงบังหวนควัน ฝ่ายพระผู้มีพระภาคทรงเป็นมนุสสนาคะ มีพระทัยชื่นบาน มีพระทัยไม่ขัดเคือง ก็ทรงบังหวนควันในโรงไฟนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๔๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ส่วนพญานาคทนการลบหลู่ไม่ไหว จึงพ่นไฟราวกับไฟไหม้ป่าสู้ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคทรงเป็นมนุสสนาคะทรงฉลาดในเตโชกสิณ ทรงโพลงไฟสู้บ้าง เมื่อทั้งสองฝ่ายโพลงไฟขึ้น เรือนไฟก็ลุกโพลง โชติช่วงดุจทะเลเพลิง พวกชฎิลกล่าวกันว่า “แน่ะผู้เจริญ มหาสมณะรูปงามคงจะถูกพญานาค ทำร้ายเป็นแน่” ครั้นราตรีนั้นผ่านไป เปลวไฟของพญานาคถูกทำลาย ส่วนเปลวไฟหลากสีของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงฤทธิ์ยังอยู่ พระรัศมีหลากสี คือ สีเขียว สีแดง สีแสด สีเหลือง สีแก้วผลึก ปรากฏที่พระกายของพระอังคีรส พระผู้มีพระภาค ทรงจับพญานาคขดลงในบาตรแล้ว ทรงแสดงแก่ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ นี่พญานาค ของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราได้แล้ว” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์นี้ของพระผู้มีพระภาค ยิ่งนักแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ โปรดประทับอยู่ที่ นี่แหละ ข้าพเจ้าจักบำรุงพระองค์ด้วยภัตตาหารประจำ”
ปาฏิหาริย์ที่ ๑ จบ
ปาฏิหาริย์ที่ ๒
เรื่องท้าวมหาราชทั้ง ๔
[๔๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ไม่ไกลจาก อาศรมของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว๑- ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้น ให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี พระภาคแล้วได้ยืนเฝ้าทั้ง ๔ ทิศ ดุจกองไฟใหญ่ฉะนั้น ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านพระมหาสมณะ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว พวกนั้นคือใครกันหนอ เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืนเฝ้าทั้ง ๔ ทิศ ดุจกองไฟใหญ่ฉะนั้น” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ พวกนั้น คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาหา เราเพื่อฟังธรรม” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาเฝ้าเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็น พระอรหันต์เหมือนเราแน่” พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ ไพรสณฑ์แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๒ จบ
ปาฏิหาริย์ที่ ๓
เรื่องท้าวสักกะ
[๔๑] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ เปล่งรัศมีงาม ยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งาม และประณีตกว่ารัศมีก่อน @เชิงอรรถ : @ เมื่อราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงราตรีในช่วงแห่งปฐมยาม(ยามที่ ๑)ผ่านไป เพราะเวลาเที่ยงคืน @เป็นช่วงที่เทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า (ขุ.ขุ.อ. ๙๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ ผู้นั้น คือใครกันหนอ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและประณีตกว่ารัศมีก่อน” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผู้นั้น คือท้าวสักกะจอมเทพ เข้ามาหาเรา เพื่อฟังธรรม” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวสักกะจอมเทพเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็นพระ อรหันต์เหมือนเราแน่” พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ ไพรสณฑ์แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๓ จบ
ปาฏิหาริย์ที่ ๔
เรื่องท้าวสหัมบดีพรหม
[๔๒] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหม เปล่งรัศมีงามยัง ไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับยืน ณ ที่ควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและ ประณีตกว่ารัศมีก่อน ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่มหาสมณะ ผู้นั้นคือใครกันหนอ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและประณีตกว่ารัศมีก่อน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผู้นั้น คือท้าวสหัมบดีพรหม เข้ามาหาเรา เพื่อฟังธรรม” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็นพระ อรหันต์เหมือนเราแน่” พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๔ จบ
ปาฏิหาริย์ที่ ๕
เรื่องชาวอังคะและมคธ
[๔๓] สมัยนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่ ประชาชนชาวอังคะและชาวมคธทั้งสิ้น ต่างถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากมุ่ง หน้าไปหา ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “บัดนี้ เราได้ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่ ประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นจักถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากมุ่งหน้ามาหา ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชนไซร้ ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่ พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจักเสื่อม ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะ จึงจะไม่เสด็จมาฉัน” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ด้วยพระทัย จึงเสด็จไปยังอุตตรกุรุทวีป ทรงนำบิณฑบาตจากทวีปนั้นมาเสวยที่ริม สระอโนดาต๑- ประทับพักกลางวัน ณ ที่นั้น @เชิงอรรถ : @ สระอโนดาต มีขนาดยาว กว้าง และลึก ๕๐ โยชน์ มีอาณาบริเวณโดยรอบ ๑๕๐ โยชน์ ตั้งอยู่ @ในป่าหิมพานต์แวดล้อมด้วยยอดเขาทั้ง ๕ คือ สุทัสสนกูฏ จิตรกูฏ กาฬกูฏ คันธมาทนกูฏ และเกลาสกูฏ @(ม.ม.อ. ๓/๓๑/๒๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่มหา สมณะ ทำไมหนอ วานนี้พระองค์จึงไม่เสด็จมา อีกอย่างหนึ่ง พวกข้าพเจ้า ระลึกถึงพระองค์ว่า ทำไมหนอ พระมหาสมณะจึงไม่เสด็จมา แต่ส่วนแห่งของเคี้ยว ของฉัน ข้าพเจ้าได้จัดไว้เพื่อพระองค์แล้ว” พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามว่า “กัสสปะ ท่านได้ดำริไว้มิใช่หรือว่า บัดนี้เราได้ ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่ ประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นจักถือของ เคี้ยวของฉันเป็นอันมากมุ่งหน้ามาหา ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ใน หมู่มหาชนไซร้ ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจัก เสื่อม ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะจึงจะไม่เสด็จมาฉัน กัสสปะ เราได้ทราบ ด้วยใจถึงความรำพึงในใจของท่าน จึงไปยังอุตตรกุรุทวีป นำบิณฑบาตจากทวีปนั้น มาฉันที่ริมสระอโนดาต พักกลางวัน ณ ที่นั้น” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มากจริง ถึงกับทรงทราบความนึกคิดแม้ด้วยใจได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือน เราแน่” พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๕ จบ
เรื่องผ้าบังสุกุล
[๔๔] สมัยนั้น ผ้าบังสุกุลเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้ทรงพระดำริ ดังนี้ว่า “เราจะพึงซักผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ” ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค ด้วยพระทัย จึงทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ขุดสระโบกขรณีแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงซักผ้าบังสุกุลในสระนี้เถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงขยำผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ” ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค ด้วยพระทัย จึงทรงยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ องค์โปรดทรงขยำผ้าบังสุกุลบนศิลานี้เถิด” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงพาดผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหน หนอ” ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มี พระภาคด้วยใจ จึงได้น้อมกิ่งกุ่มลงมา กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ โปรดทรงพาดผ้าบังสุกุล ที่กิ่งกุ่มนี้เถิด” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ” ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค ด้วยพระทัย จึงทรงยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ องค์โปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้บนศิลานี้เถิด” ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ เมื่อก่อนสระโบกขรณีนี้ไม่มีที่ตรงนี้ ทำไม ที่ตรงนี้จึงมีสระโบกขรณีอยู่ เมื่อก่อนศิลาเหล่านี้ไม่มีวางอยู่ ศิลาเหล่านี้ ใครยกมา วางไว้ เมื่อก่อนกิ่งกุ่มต้นนี้ไม่น้อมลง(เดี๋ยวนี้)กิ่งกุ่มต้นนี้กลับน้อมลง”
เรื่องสระโบกขรณี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผ้าบังสุกุลเกิดขึ้นแก่เราที่นี่ เราได้คิดดังนี้ว่า จะพึงซักผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความรำพึง ในใจของเราด้วยพระทัย จึงทรงใช้พระหัตถ์ขุดสระโบกขรณีแล้วทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงซักผ้าบังสุกุลในสระนี้เถิด’ สระโบกขรณีนี้ อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ใช้มือขุด
เรื่องขยำผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลา
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงขยำผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความดำริในใจของเราด้วยพระทัย จึงยกศิลาแผ่นใหญ่ มาวางไว้ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงขยำผ้าบังสุกุลบนแผ่น ศิลานี้เถิด’ ศิลานี้อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ได้ยกมาวางไว้
เรื่องพาดผ้าบังสุกุลบนต้นกุ่ม
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงพาดผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มทราบความดำริในใจของเราด้วยใจ จึงได้น้อมกิ่งกุ่มลงมา กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงพาดผ้าบังสุกุลไว้ ที่กิ่งกุ่มนี้เถิด’ ต้นกุ่มนี้ได้น้อมลงดุจจะกราบทูลว่า ‘โปรดทรงเอื้อมพระหัตถ์มาเถิด’
เรื่องผึ่งผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลา
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความดำริในใจของเราด้วยพระทัย จึงยกศิลาแผ่นใหญ่ มาวางไว้ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ บนแผ่นศิลานี้เถิด’ ศิลานี้อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ได้ยกมาวางไว้ ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มากจริง ถึงกับท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงทำการช่วยเหลือ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนเราแน่” พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ แห่งนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ปาฏิหาริย์เก็บผลหว้า
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้ว จึงกราบทูลบอกภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ไปเถิด กัสสปะ เราจะตามไป” ทรงส่งชฎิลอุรุเวล กัสสปะไป ทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีป แล้วเสด็จมาประทับ นั่งในโรงไฟก่อน ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในโรงไฟ ครั้นเห็นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พระองค์เสด็จมาทางไหน ข้าพเจ้า กลับมาก่อนพระองค์ แต่พระองค์เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วก็เก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่ มีอยู่ในชมพูทวีป แล้วมานั่งในโรงไฟนี้ก่อน กัสสปะ ผลหว้านี้แลสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ถ้าท่านต้องการ ก็เชิญบริโภคผลหว้าเถิด” ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลว่า “อย่าเลย มหาสมณะ, พระองค์นั่นแหละย่อมควรกับ ผลหว้านั้น โปรดเสวยผลหว้านั้นเถิด” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จริง ถึงกับส่งเรากลับมาก่อน ทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีปแล้ว เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่” พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์เก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ดอกปาริฉัตร
[๔๕] ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ครั้นถึงแล้วจึงกราบทูลบอกภัตตกาลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ไปเถิด กัสสปะ เราจะตามไป” ทรงส่งชฎิลอุรุเวล กัสสปะไป ทรงเก็บผลมะม่วง ฯลฯ ผลมะขามป้อม ฯลฯ ผลสมอ ณ ที่อันไม่ ไกลจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีป ฯลฯ เสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ ทรงเก็บดอก ปาริฉัตรแล้วเสด็จลงมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในโรงไฟ จึงทูลถามว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พระองค์เสด็จมาทางไหน ข้าพเจ้ากลับมาก่อนพระองค์ แต่ พระองค์เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วก็ไปยังภพดาวดึงส์ เก็บ ดอกปาริฉัตร แล้วลงมานั่งในโรงไฟก่อน กัสสปะ ดอกปาริฉัตรนี้สมบูรณ์ด้วยสี และกลิ่น” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มากจริง ถึงกับส่งเรากลับมาก่อน เสด็จไปยังภพดาวดึงส์ทรงเก็บดอกปาริฉัตร แล้วเสด็จลงมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”
เรื่องพวกชฎิลผ่าฟืน
[๔๖] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นต้องการจะบำเรอไฟ แต่ไม่อาจจะผ่าฟืนได้ ครั้งนั้น ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะผ่าฟืนได้ คงเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวก ชฎิลจงผ่าฟืนเถิด” ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงผ่าฟืน” ชฎิลทั้งหลายได้ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อน โดยการผ่าครั้งเดียวเท่านั้น ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มากจริง ถึงกับให้พวกชฎิลผ่าฟืนได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

เรื่องพวกชฎิลก่อไฟ
[๔๗] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นต้องการจะบูชาไฟ แต่ไม่อาจจะก่อไฟให้ลุกได้ ครั้งนั้น ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะก่อไฟให้ลุกได้ คงเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวกชฎิล จงก่อไฟให้ลุกขึ้นเถิด” ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงก่อไฟ ให้ลุกขึ้น” ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ลุกขึ้นพร้อมกันทีเดียว ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จริงถึงกับให้ไฟลุกขึ้นได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”
เรื่องพวกชฎิลดับไฟ
[๔๘] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นบูชาไฟกันแล้ว แต่ไม่อาจจะดับไฟได้ ลำดับนั้น ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะดับไฟได้ คงเป็น อิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวกชฎิล จงดับไฟเถิด” ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงดับไฟ” ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ดับพร้อมกันทีเดียว ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จริงถึงกับให้พวกชฎิลดับไฟได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”
เรื่องพวกชฎิลดำน้ำ
[๔๙] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นพากันดำลงบ้าง ผุดขึ้นบ้าง ทั้งดำทั้งผุดบ้าง ในแม่น้ำเนรัญชรา ในราตรีเหมันตฤดูอันหนาวเย็นคราวหิมะตก อยู่ในระหว่างปลาย เดือน ๓ กับต้นเดือน ๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๕๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

เรื่องภาชนะใส่ไฟ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้ ๕๐๐ ชุด สำหรับให้ ชฎิลเหล่านั้นขึ้นจากน้ำจะได้ผิง ลำดับนั้น ชฎิลเหล่านั้นมีความคิดดังนี้ว่า “การที่ภาชนะใส่ไฟเหล่านี้ได้ถูก เนรมิตไว้ คงเป็นเพราะอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย” ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มากจริง ถึงกับเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้มากมายถึงเพียงนั้น แต่ไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนเราแน่”
เรื่องฝนตกน้ำท่วม
[๕๐] สมัยนั้น ฝนใหญ่นอกฤดูกาลตกลง เกิดห้วงน้ำใหญ่ สถานที่ที่พระผู้มี พระภาคประทับอยู่ก็ถูกน้ำท่วม ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ถ้ากระไร เราพึงขับน้ำให้ออกไป โดยรอบ แล้วจงกรมบนพื้นดินที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรงกลาง” ทรงขับน้ำให้ออกไปโดยรอบ เสด็จจงกรมบนพื้นดินที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรงกลาง ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า “พระมหาสมณะอย่าได้ถูกน้ำพัดไปเลย” พร้อมด้วยชฎิลเป็นอันมาก ลงเรือไปยังสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้เห็น พระผู้มีพระภาคทรงขับน้ำให้ออกไปโดยรอบ เสด็จจงกรมบนพื้นที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรง กลางจึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ พระองค์ยังประทับอยู่ที่นี่หรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ถูกละ กัสสปะ เรายังอยู่ที่นี่” แล้วเสด็จเหาะขึ้นไป ปรากฏอยู่บนเรือ ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ มากจริง ถึงกับทรงบันดาลไม่ให้น้ำไหลไปได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๖๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

ชฎิล ๓ พี่น้องทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
[๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “โมฆบุรุษนี้คงจักมีความคิด อย่างนี้ไปอีกนานว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง แต่ไม่เป็น พระอรหันต์เหมือนเราแน่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงให้ชฎิลนี้สลดใจ” จึงได้ตรัสกับ ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์แน่ ทั้งยังไม่ถึงอรหัตตมรรค แม้ปฏิปทาของท่านอันจะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์หรือถึงอรหัตตมรรคก็ยังไม่มี” ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้ซบศีรษะลงแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพเจ้าพึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน สำนักของพระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ท่านเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็น หัวหน้า เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน ท่านจงบอกลาพวกเขาก่อน ให้พวก เขาทำตามที่พวกเขาเข้าใจ” ต่อมา ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปหาชฎิลเหล่านั้นถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ ท่านทั้งหลาย จงทำตามที่พวกท่านเข้าใจ” ชฎิลเหล่านั้นกราบเรียนว่า “พวกกระผมเลื่อมใสยิ่งในสำนักพระมหาสมณะ มานานแล้ว ขอรับ ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ พวกกระผมทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะเช่นกัน” จึงเอา ผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ แล้วซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนัก ของพระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๖๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

[๕๒] ชฎิลนทีกัสสปะได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟลอย น้ำมาแล้วคิดว่า “อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายของเราเลย” จึงส่งชฎิลทั้งหลายไป ด้วยสั่งว่า “พวกเธอจงไป จงรู้ความเป็นไปของพี่ชายของเรา” และตนเอง พร้อมชฎิล ๓๐๐ คน ได้เข้าไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสปะถึงที่อยู่แล้วเรียนถามว่า “ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่าหรือ” ท่านพระอุรุเวลกัสสปะตอบว่า “ถูกละ ผู้มีอายุ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่า” หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นจึงเอาผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ ลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การ อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดย ชอบเถิด” พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น [๕๓] ชฎิลคยากัสสปะได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ ลอยน้ำมาแล้วคิดว่า “อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายทั้งสองของเราเลย” จึงส่งชฎิล ทั้งหลายไปด้วยสั่งว่า “พวกเธอจงไป จงรู้ความเป็นไปของพี่ชายทั้งสองของเรา” และตนเอง พร้อมชฎิล ๒๐๐ คน ได้เข้าไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสปะถึงที่อยู่แล้ว เรียนถามว่า “ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่าหรือ” ท่านพระอุรุเวลกัสสปะตอบว่า “ถูกละ ผู้มีอายุ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่า” หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นจึงเอาผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ ลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูล ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การ อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๖๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฎิหาริยกถา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดย ชอบเถิด” พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น ชฎิลเหล่านั้นผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนไม่ได้ กลับผ่าได้ ก่อไฟไม่ติด กลับก่อไฟติด ดับไฟไม่ได้ กลับดับได้ ด้วยการอธิษฐานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้ ๕๐๐ ชุด ปาฏิหาริย์ ๓,๕๐๐ วิธี ย่อมมีโดยนัยนี้
อาทิตตปริยายสูตร๑-
[๕๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ตามพระอัธยาศัยได้เสด็จจาริกไปยังตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ราว ๑,๐๐๐ รูป ล้วนเคยเป็นชฎิลทั้งนั้น ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ตำบล คยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ณ ที่นั้น พระผู้มี พระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน ภิกษุทั้งหลาย รูปทั้งหลายเป็นของร้อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุวิญญาณเป็นของร้อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุสัมผัสเป็นของร้อน แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้น เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะ ไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะ ความแก่ เพราะความตาย เพราะความโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะทุกข์ เพราะโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ @เชิงอรรถ : @ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๘/๒๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๖๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๒. อุรุเวลปาฏิหาริยกถา

โสตะ(หู)เป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ ฆานะ(จมูก)เป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ ชิวหา(ลิ้น)เป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะ(สิ่งที่กายสัมผัสถูกต้อง)ทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ มนะ(ใจ)เป็นของร้อน ธรรม(อารมณ์)ทั้งหลายเป็นของร้อน มโนวิญญาณ (ความรู้ทางใจ)เป็นของร้อน มโนสัมผัส(การกระทบทางใจ)เป็นของร้อน แม้ความ เสวยอารมณ์ ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่เพราะ ความตาย เพราะความโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะทุกข์ เพราะโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในจักขุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือที่มิ ใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความ เสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ชาติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๖๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑. มหาขันธกะ]

๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา

สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี” ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
อาทิตตปริยายสูตร จบ
อุรุเวลปาฏิหาริยกถา จบ
ภาณวารที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๗-๖๕. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=16              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=4&A=864&Z=1215                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=37              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=37&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=552              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=37&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=552                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic15 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:15.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.14.6



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :