ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
อัคคาสนาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตอาสนะเลิศเป็นต้น
เรื่องความเคารพ
[๓๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัย แล้วเสด็จจาริกไปยังกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ล่วงหน้าไปก่อนพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จับจองวิหาร จับจองที่นอน โดยกล่าวว่า “ที่นี้เป็นของพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพระ อาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพวกเรา” ต่อมา ท่านพระสารีบุตรไปภายหลังพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อ วิหารถูกจับจองแล้ว เมื่อที่นอนถูกจับจองแล้ว เมื่อไม่ได้ที่นอน จึงนั่ง ณ ควงไม้ ต้นหนึ่ง ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นทรงพระกาสะ แม้ท่านพระสารีบุตร ก็ได้กระแอมรับ @เชิงอรรถ : @ นวกรรมวิหาร คือให้วิหารเพื่อก่อสร้าง หรือให้การก่อสร้างในวิหาร (วิมติ.ฏีกา ๒/๓๐๙/๓๑๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๒๑}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ใครอยู่ที่นั่น” ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า สารีบุตร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “สารีบุตร ทำไมเธอจึงมานั่งที่นี่เล่า” ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
เรื่องผู้ควรได้อาสนะเลิศเป็นต้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุ ฉัพพัคคีย์ไปก่อนภิกษุสงฆ์ แล้วจับจองวิหาร จับจองที่นอนโดยกล่าวว่า ‘ที่นี้เป็น ของพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพระอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพวกเรา’ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษทั้งหลาย จึงไปก่อนภิกษุสงฆ์ แล้วจับจองวิหาร จับจองที่นอนโดยกล่าวว่า ‘ที่นี้เป็นของพระ อุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพระอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็น ของพวกเราเล่า’ ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใครควรได้อาสนะ อันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้บวชจากตระกูลกษัตริย์ ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้บวชจากตระกูลพราหมณ์ ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๒๒}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้บวชจากตระกูลคหบดี ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ทรงสุตตันตะควรได้ อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ทรงพระวินัยควรได้ อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกควรได้ อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้ปฐมฌานควรได้ อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้ทุติยฌานควรได้ อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้ตติยฌานควรได้ อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้จตุตถฌานควร ได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระโสดาบัน ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามี ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามี ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๒๓}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ควร ได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้วิชชา ๓ ควรได้ อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ” ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้อภิญญา ๖ ควร ได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
เรื่องสัตว์ ๓ สหาย
[๓๑๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในแถบเชิงเขาหิมพานต์ มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง สัตว์ ๓ สหาย คือ นกกระทา ลิง และช้างพลาย อาศัยต้นไทรนั้นอยู่ สัตว์ ๓ สหายนั้นอยู่อย่าง ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงกันและกัน มีการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ต่อมา สัตว์ ๓ สหายปรึกษากันว่า “นี่พวกเรา ทำอย่างไรจึง จะรู้ได้ว่า ‘ในพวกเรา ๓ สหาย ผู้ใดคือผู้สูงวัยกว่ากัน’ จะได้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาและเชื่อฟังผู้นั้น” ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น นกกระทาและลิงถามช้างพลายว่า “เพื่อนเอ๋ย ท่านจำ เรื่องราวเก่าๆ อะไรได้บ้างเล่า” ช้างตอบว่า “เมื่อเรายังเล็ก เราเคยเดินคร่อมต้นไทร ต้นนี้ ยอดไทรพอระท้องของเรา เราจำเรื่องเก่านี้ได้” ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น นกกระทาและช้างพลายถามลิงว่า “เพื่อนจำเรื่อง ราวเก่าๆ อะไรได้บ้าง” ลิงตอบว่า “เมื่อเรายังเล็ก เราเคยนั่งบนพื้นดินเคี้ยวกินยอดไทรต้นนี้ เราจำ เรื่องเก่านี้ได้” ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ลิงและช้างพลายถามนกกระทาว่า “เพื่อนจำเรื่อง ราวเก่าๆ อะไรได้บ้าง” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๒๔}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

นกกระทาตอบว่า “เพื่อนทั้งหลาย ที่โน้นมีต้นไทรใหญ่ เรากินผลของต้นไทร นั้นแล้วถ่ายมูลไว้ที่นี้ ไทรต้นนี้เกิดจากผลของต้นไทรนั้น ดังนั้นเราจึงเป็นผู้ใหญ่โดย ชาติกำเนิด” ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ลิงกับช้างพลายได้กล่าวกับนกกระทาดังนี้ว่า “เพื่อน บรรดาเราทั้งหลาย ท่านคือผู้ใหญ่กว่าโดยชาติกำเนิด เราทั้ง ๒ จะสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และเชื่อฟังท่าน” ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น นกกระทาได้ให้ลิงกับช้างสมาทานศีล ๕ ทั้งตนเอง ก็รักษาศีล ๕ สหายทั้ง ๓ นั้นต่างเคารพยำเกรง ดำเนินชีวิตอยู่อย่างเสมอภาคกัน หลังจากสิ้นชีวิตได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัตินี้ เรียกว่า ติตติริยพรหมจรรย์ นรชนเหล่าใดฉลาดในธรรม ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญทั้งหลาย นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน และมีสุคติภพในเบื้องหน้า๑- ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานพวกนั้นยังมีความเคารพยำเกรง ดำเนินชีวิตอยู่ อย่างเสมอภาคกัน ภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอเป็นผู้บวชแล้ว ในธรรมวินัยที่เรา กล่าวดีแล้ว มีความเคารพมีความยำเกรงกันและกัน ดำเนินชีวิตอย่างเสมอภาคกัน จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย การทำเช่นนั้นมิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดง ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศตามลำดับ @เชิงอรรถ : @ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๓๗/๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๒๕}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

พรรษา อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกีดกันเสนาสนะของสงฆ์ตามลำดับพรรษา ภิกษุรูปใดกีดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
อวันทิยาทิปุคคละ
ว่าด้วยบุคคลที่ไม่ควรไหว้เป็นต้น
เรื่องบุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก
[๓๑๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ภิกษุไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก เหล่านี้คือ ๑. ผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ผู้อุปสมบทภายหลัง ๒. ไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน ๓. ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้มีพรรษาแก่กว่า เป็นอธรรมวาที ๔. ไม่ควรไหว้มาตุคาม ๕. ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์ ๖. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้กำลังอยู่ปริวาส ๗. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม ๘. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรแก่มานัต ๙. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้กำลังประพฤติมานัต ๑๐. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ภิกษุไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก เหล่านี้แล
เรื่องบุคคลที่ภิกษุควรไหว้ ๓ จำพวก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ภิกษุควรไหว้ ๓ จำพวก คือ ๑. ผู้อุปสมบทภายหลังควรไหว้ผู้อุปสมบทก่อน ๒. ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้มีพรรษาแก่กว่า เป็นธรรมวาที {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๒๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

๓. ควรไหว้พระตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบในโลกพร้อม ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ภิกษุควรไหว้ ๓ จำพวกเหล่านี้แล
อาสนปฏิพาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามการกีดกันอาสนะ
เรื่องอันเตวาสิกของพระฉัพพัคคีย์
[๓๑๓] สมัยนั้น คนทั้งหลายตกแต่งมณฑป จัดเตรียมเครื่องลาด จัดเตรียม บริเวณไว้เจาะจงพระสงฆ์ พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “เสนาสนะ เฉพาะที่เป็นของสงฆ์เท่านั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตตามลำดับพรรษา ไม่ได้ทรง อนุญาตของที่ทำเจาะจง” ล่วงหน้าไปก่อนพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จับ จองมณฑปบ้าง จับจองเครื่องลาดบ้าง จับจองบริเวณบ้างไว้โดยกล่าวว่า “ที่นี้เป็นของ พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพระอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้ เป็นของพวกเรา” ต่อมา ท่านพระสารีบุตรไปภายหลังพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อ มณฑปถูกจับจองแล้ว เมื่อเครื่องลาดถูกจับจองแล้ว เมื่อบริเวณถูกจับจองแล้ว เมื่อ ไม่ได้ที่นอนจึงนั่ง ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นทรงพระกาสะ แม้ท่านพระสารีบุตร ก็ได้กระแอมรับ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ใครอยู่ที่นั่น” ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า สารีบุตร พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “สารีบุตร ทำไมเธอจึงมานั่งที่นี่เล่า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๒๗}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุ ฉัพพัคคีย์กล่าวว่า ‘เสนาสนะเฉพาะที่เป็นของสงฆ์เท่านั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ตามลำดับพรรษา ไม่ได้ทรงอนุญาตของที่ทำเจาะจง’ แล้วล่วงหน้าไปก่อนพระสงฆ์ ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จับจองมณฑปบ้าง จับจองเครื่องลาดบ้าง จับจอง บริเวณบ้างไว้โดยกล่าวว่า ‘ที่นี้เป็นของพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของ พระอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพวกเรา’ จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริงพระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดง ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกีดกันแม้ของที่เขาทำ เจาะจงตามลำดับพรรษา รูปใดกีดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ”
คิหิวิกตอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตเครื่องใช้อย่างคฤหัสถ์
[๓๑๔] สมัยนั้น คนทั้งหลายตกแต่งที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ไว้ที่โรงอาหารใน ละแวกบ้าน คือ ๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย ๓. พรหมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร ๕. เครื่องลาดขนแกะมีสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้ ๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายเช่นราชสีห์และเสือ ๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๒๘}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสนขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

๑๑. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ ๑๓. เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นางฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำ ๑๔. เครื่องลาดบนหลังช้าง ๑๕. เครื่องลาดบนหลังม้า ๑๖. เครื่องลาดในรถ ๑๗. เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือ ๑๘. เครื่องลาดหนังชะมด ๑๙. เครื่องลาดมีเพดาน ๒๐. เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง๑- ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมนั่ง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องใช้อย่างคฤหัสถ์ ยกเว้นเครื่องลาด ๓ ชนิด คือ ม้านั่งสี่เหลี่ยม เตียงใหญ่ เครื่องลาดยัดนุ่น นอกนั้น นั่งได้ แต่ไม่อนุญาตให้นอน” สมัยนั้น คนทั้งหลายตกแต่งเตียงบ้าง ตั่งบ้างยัดนุ่นไว้ที่โรงอาหารในละแวกบ้าน พวกภิกษุยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมนั่ง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งบนเครื่องใช้อย่าง คฤหัสถ์ได้ แต่ไม่อนุญาตให้นอน”


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๒๑-๑๒๙. http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=34              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=7&A=2170&Z=2313                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=260              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=260&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=7398              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=260&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=7398                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd16/en/brahmali#pli-tv-kd16:6.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd16/en/horner-brahmali#Kd.16.6



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :